การเดินทางจากอดีตของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์) (๓)

การเดินทางจากอดีต
ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)

(๓)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง

จากทางเพลงฝั่งพระนคร
สู่ทางเพลงบ้านฝั่งธน

เมื่อนายสังเวียน เกิดผล รับหน้าที่เป็นผู้นำวงวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ต่อจากบิดา นายสังเวียนได้วางแนวทางการศึกษาดนตรีให้แก่บุตรหลานของตน โดยจัดให้มีการเรียนการสอนดนตรีขึ้นภายในครอบครัว และที่สำคัญ ได้ส่งครูสำราญ เกิดผล (หลานชาย) ไปเรียนดนตรีปี่พาทย์ที่สำนักพาทยโกศล กรุงเทพฯ

ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “ก่อนที่อาสังเวียนจะพาครูเข้ากรุงเทพฯ ท่านนำครูไปฝากที่บ้านครูเพชรก่อน เพราะนักดนตรีที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในสมัยก่อนเป็นลูกศิษย์บ้านครูเพชรทั้งนั้น หลังจากนั้นไม่นาน อาจึงพาไปฝากกับครูเทียบ คงลายทอง เพราะตระกูลเกิดผลกับตระกูลคงลายทองมีความรักใคร่มาแต่เดิม

“อาสังเวียนปรึกษากับครูเทียบว่า จะพาครูไปฝากเรียนที่ไหน ครูเทียบท่านบอกว่า น่าจะพักอยู่ที่นี่ แล้วไปเรียนที่บ้านครูจางวางทั่วซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน เพราะทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีรู้สึกจะมีความแน่นหนา น่าจะต่อเพลงการอะไรต่างๆ ได้มาก ครูจางวางทั่วเสียชีวิตก่อนหน้าที่ครูจะเข้าไปประมาณ ๒-๓ เดือน ครูจึงต้องเรียนกับครูเทวาประสิทธิ์ (บุตรชายครูจางวางทั่ว พาทยโกศล) ครูฉัตร และครูช่อ สุนทรวาทิน”

สำนักพาทยโกศลที่ครูสำราญ เกิดผล กล่าวถึง เป็นสำนักดนตรีเก่าแก่ล้ำลึกที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ มีที่ตั้งอยู่หลังวัดกัลยาณมิตร แขวงบุปผาราม บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ สำนักนี้มีนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงและมีคุณูปการต่อสังคมดนตรีไทยหลายท่าน เช่น หลวงกัลยาณมิตตาวาส หรือเจ้ากรมทับ (ทับ พาทยโกศล) ครูทองดี ชูสัตย์ จางวางทั่ว พาทยโกศล ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จางวางทั่ว พาทยโกศล” ได้รับการยกย่องว่าเป็นครูดนตรีไทยผู้หนึ่งที่มีความรู้และมีฝีมือเป็นเลิศ ผลงานดนตรีและทางเพลงของท่านมีเอกลักษณ์เฉพาะที่เรียกขานว่า “ทางบ้านวัดกัลยาณ์” หรือ “ทางฝั่งธน”

ครูสำราญ เกิดผล เขียนถึงเบื้องหลังมูลเหตุสำคัญที่นายสังเวียน เกิดผล ตัดสินใจเลือกส่งตนเข้าเรียนดนตรีที่สำนักพาทยโกศล ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนายสังเวียน เกิดผล ปรากฏความตอนหนึ่ง ว่า

“ข้าพเจ้าเคยได้ยินอาสังเวียนปรารภกับเพื่อนฝูงที่เป็นนักดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกัน อาสังเวียนกล่าวถึงสำนักดนตรีพาทยโกศล ของครูจางวางทั่ว พาทยโกศล วัดกัลยาณ์ ว่า เคยได้ฟังปี่พาทย์ประชันวงกันที่วังบางขุนพรหม ๓ วง อาสังเวียนชอบทางเพลงของครูจางวางทั่วมาก ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย หนักแน่น มีกฏเกณฑ์ที่ดี การรับร้องและส่งเสียงให้ร้องอย่างไร ไม่เลอะเทอะเปรอะประ ไม่อยู่ในประเภทที่ว่า ใครนึกจะรับก็รับ นึกจะส่งเสียงก็ส่งตรงไหนก็ได้

“ครูจางวางทั่วท่านวางกฏเกณฑ์ของท่านไว้ไม่เหมือนทั่วๆ ไปในปัจจุบัน อย่างที่ใครนึกจะทำอย่างไรก็ได้ ทีท่าจะอยู่จะไปอย่างท่านครูโบราณของเราเคยสอนไว้ไม่มีเลย อาสังเวียนกล่าวว่า ท่านครูสมัยก่อนเคยพูดเคยสอนไว้ว่า ท่าจะอยู่ทีจะไปนะลูกนะต้องระวังให้ดี เพราะดนตรีบอกกันด้วยวาจาไม่ได้ เราต้องรู้ว่าเราจะอยู่หรือจะไป จากท่าทีลักษณะของการบรรเลง จะบอกให้เรารู้ได้ดีว่าควรจะเป็นอย่างไร และอาสังเวียนเคยบ่นเสียใจว่าไม่มีโอกาส ไม่สามารถเรียนได้ด้วยตนเอง แต่ต้องได้สักวัน”

การที่นายสังเวียน เกิดผล พาครูสำราญ เกิดผล ไปฝากตัวที่สำนักพาทยโกศล โดยมีครูเทียบ คงลายทองเป็นผู้นำฝาก ถือเป็นก้าวแรกของความสัมพันธ์อันดีระหว่างสำนักพาทยโกศลกับวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ และนี่เป็นจุดหักเหที่นำไปสู่การเปลี่ยนเเปลงสำคัญ เพราะในเวลาต่อมา องค์ความรู้และทางบรรเลงจากสำนักพาทยโกศล อันเป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติของจางวางทั่ว พาทยโกศล ได้ถ่ายโอนสู่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ อย่างมั่นคง แทนที่ทางบรรเลงของครูเพชร จรรย์นาฏและครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หรือที่เรียกขานว่า “ทางฝั่งพระนคร” ที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เคยใช้บรรเลงในอดีต

(อ่านต่อตอน ๔)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *