ชลอ ใจชื้น ช่างเครื่องดนตรีไทย

ชลอ ใจชื้น
ช่างเครื่องดนตรีไทย
เรื่อง/ ภาพ: พิชชาณัฐ ตู้จินดา

“ครูมีเมตตาจริงๆ” ผมบอกกับตัวเองอย่างนั้นขณะพูดคุยกับครูชลอ ใจชื้น

สองครั้งกับการเดินทางไปสัมภาษณ์ครูถึงบ้านข้างโรงเรียนวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธน สามชั่วโมงกว่ากับการซักถามประสบการณ์ชีวิตและผลงานดนตรีในอดีต ซ้ำขนเครื่องดนตรีของรักของหวงบางชิ้นของครูออกมาถ่ายภาพและวัดสัดส่วนเพื่อเผยแพร่ ยังไม่มีทีท่าหรือประโยคใดที่แสดงอาการว่าครูหวงวิชาหรือไม่สะดวกใจให้ข้อมูล

แม้ความรู้งานช่างที่ควรปกปิดอย่างใครๆ ด้วยเป็นเรื่องลับเฉพาะวิชาชีพ ครูก็ตอบตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผย

ด้านหนึ่ง ครูเป็นนักดนตรีไทยประจำสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เกษียณอายุราชการเมื่ออายุ ๖๐ ปี ตำแหน่งดุริยางคศิลปิน ๕ อีกด้านหนึ่ง ครูเป็นช่างสร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์ที่คุณภาพครองใจนักดนตรีมากว่า ๓๐ ปี โดยเฉพาะความรู้เรื่องการต่อรางระนาดที่ซึมซับถ่ายทอดจากเจ๊กฝน ช่างไม้ชาวจีนที่ร่วมงานร่วมรุ่นกับเจ๊กฮุย เจ้าของตำนานช่างต่อรางระนาดที่กล่าวขวัญว่าสวยงามได้สัดส่วน กระทั่งปัจจุบันเป็นของหายากและเป็นที่ต้องการของนักสะสม

ก่อนลงลึกรายละเอียดความเป็นช่างเครื่องดนตรีไทย ผมขอเล่าชีวิตบางส่วนของครูเพื่อปูพื้นความหลัง

70 ปีก่อน ปี่พาทย์นายพิณ วงเผือก เป็นที่นิยมของชาวบ้านร้านตลาดกว่าปี่พาทย์วงอื่นในตัว อ.ศรีประจัน สุพรรณบุรี ไม่ว่าจะเป็นปี่พาทย์นายสำริดหรือปี่พาทย์นายเปรื่อง ที่พิเศษเพราะเป็นปี่พาทย์วงเดียวในตัวอำเภอที่มีเครื่องมอญเครื่องคู่สำหรับบริการงานศพ และดูเหมือนนักดนตรีในวงจะมีฝีมือเด่นกว่าใครเขา โดยเฉพาะนายพิณเจ้าของคณะ และนายบัวบุตรชายที่ช่ำชองการตีระนาด

ครูชลอ ใจชื้น เป็นเด็กหนึ่งในกว่าสิบคน (ศิษย์รุ่นสุดท้ายของนายพิณ) ที่เริ่มต้นเรียนรู้โลกดนตรีไทยที่นี่

“บ้านผมเป็นชาวนา ตาพิณเป็นญาติข้างพ่อ บ้านใกล้กัน ผมอายุ ๕-๖ ขวบ เขาชวนไปตีจังหวะ ได้เงินมาเราก็ชอบ แปดขวบถึงได้เริ่มเรียน ผมหัดพรรษาเดียวหากินได้ สวดมนต์เย็นฉันเช้า ทำลิเก โขนสดโขนพากย์ งานชุกมาก คืนกับวันได้ห้าร้อยบาททั้งวง อย่างไม้ฆ้องไม้ระนาดที่มันขาดเกิน ผู้ใหญ่ก็เอามาให้ซ่อม เลยจับตั้งแต่นั้นมา”

บันทึกเป็นหมายเหตุว่า ชีวิตส่วนตัว นายพิณมีบุตรธิดา ๔ คน เกิดจากภรรยาคนแรกที่ชื่อตลับหนึ่งคน คือนายบัว (ใช้สกุลแสงจันทร์) และเกิดจากภรรยาคนที่สองอีกสามคน ครูชลอสันนิษฐานว่า นายพิณคงเรียนปี่พาทย์รอบวงจากวัดสามจุ่น สุพรรณบุรี หลังมรณกรรมของนายพิณด้วยโรคฝีในท้อง นายบัวรับช่วงกิจการปี่พาทย์ต่อจากบิดา เพราะเป็นผู้เดียวในครอบครัวที่มีความรู้ด้านนี้ ต่อมากิจการได้เลิกไปในที่สุด

สิ่งที่ควรเป็น หลังจบประถมศึกษาปีที่ ๔ วัดน้อยชมภู่ ครูชลอควรได้ศึกษาต่อเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตการงานอย่างที่หวัง หากความเป็นจริง ครูต้องแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยเป็นบุตรคนโต ที่นา ๓๐ ไร่ ที่ต้องผลิดอกออกผลเป็นเมล็ดข้าวเพื่อผันเป็นเม็ดเงิน และการค้าทางเรือที่บรรทุกสินค้าทั้งข้าวสารข้าวเปลือก เสาบ้าน ฝืนหลา ระหว่างสุพรรณบุรี-กรุงเทพฯ จึงมีครูเป็นกำลังหลัก

เหตุการณ์ที่ผันชีวิตครูสู่สังคมดนตรีปี่พาทย์อีกครั้ง เพราะความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับบ้าน “ดุริยประณีต” ตั้งแต่เป็นเด็กติดตามปี่พาทย์คณะนายพุฒ สุพรรณบุรี มาซื้อขายเครื่องดนตรีจากบ้านนี้ จึงมักคุ้นกับนายสืบสุด ดุริยประณีต (นายไก่) ด้วยอายุเท่ากัน ขึ้นล่องค้าขายที่กรุงเทพฯ แต่ละครั้งจึงแวะเวียนทบทวนวิชาปี่พาทย์จากนายไก่เสมอ กระทั่งปี ๒๕๐๙ ครูชลอเข้ารับราชการที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร โดยการชักชวนของครูโชติ ดุริยประณีต หัวหน้าแผนกดนตรีไทยฯ สมัยนั้น

หนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ เรื่อง “บ้านบางลำพู ชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของกรุงเทพฯ” ของณรงค์ เขียนทองกุล กล่าวถึงครูชลอ ใจชื้น ว่า “ระยะปัจจุบัน ครูชลอ ใจชื้น เป็นลูกศิษย์เข้ามาเรียนปี่พาทย์ ได้ฝึกหัดเป็นลูกมือช่วยในการซ่อมเครื่องดนตรี การพันไม้ระนาดทั้งไม้นวมและไม้แข็ง รวมทั้งแต่งเสียง เทียบเสียง และเรื่องเล็กน้อยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องดนตรี”

ครูชลอ จึงเป็นส่วนหนึ่งของบ้านดุริยประณีตตั้งแต่นั้น และเริ่มต้นชีวิตช่างเครื่องดนตรีไทยที่นี่ด้วยเช่นกัน

“เจ๊กฮุย เจ็กฝน ต่อรางขายที่ดุริยประณีต ทำเช้ากลับเย็น เขาเป็นเพื่อนทำงานด้วยกัน แต่ก่อนมีสามเจ๊ก เจ๊กหงวนอีกคน อายุต่างกันไม่มาก คนหลังเลิกไปก่อน เปลี่ยนมากลึงหลอดด้ายตราสมอแทน เป็นจีนเลย พูดจีนปนไทย เจ๊กฮุยตายก่อน ตอนหลังเหลือเจ๊กฝนคนเดียว

“เจ๊กฝนบ้านอยู่พรานนก ซอยนพมาศ เข้าไปอยู่ซ้ายมือ ติดบ้านครูโชติ ดุริยประณีต ตอนนั้นเขาแยกกับดุริยประณีตแล้ว ผมก็ตามไป เวลานั่งคุยกับแก ครูโชติว่า ‘เจ๊กฝน นี่หลานอั๊วนะ ฝากด้วย’ ผมเป็นคนช่างสังเกต ไปทีก็ดูวิธีต่อรางของแกที อาศัยถามบ้าง เจ๊กฝนว่า ‘ถ้าลื้ออยากเป็น ลื้อทำคิ้วระนาดให้อั๊ว อั๊วให้คิ้วละร้อย’ แกบอกถ้าแกตาย แกจะให้เครื่องมือช่างผม”

นอกจากช่างทั้งสามที่ครูชลอกล่าวถึง ยังมีช่างจีนชำนาญงานไม้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเครื่องดนตรีไทยอีกหลายท่าน แต่เท่าที่สืบทราบได้ความว่า “เจ๊กเว๊ง” อาศัยอยู่แถววัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพฯ “ไซ้ฮู้” คนออกแบบและสร้างโต๊ะเก้าอี้ตั้งเครื่องปี่พาทย์ วงปี่พาทย์บ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา “ช่างตุ๊กตา” ช่างต่อเครื่องปี่พาทย์มอญย่านวัดสังข์กระจาย กรุงเทพฯ “เปล่งเซี๊ยะ” ช่างแกะไม้ ทำงานอยู่หน้าโบสถ์วัดพระ พิเรนทร์

กล่าวอย่างไม่เกินเลย เจ๊กฮุยเจ๊กฝนถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่พัฒนารูปแบบรางระนาดเอกจากอดีตที่เป็นรางขุดสู่รางต่อ โดยเฉพาะสัดส่วนที่คำนวณลงตัวมีมาตรฐาน โดยใช้วิชาชีพช่างเครื่องเรือนไม้ที่ตนมีประยุกต์เข้ากับการสร้างเครื่องดนตรีไทยจนออกมาเป็นงานศิลป์ ทั้งยังเป็นแนวทางให้ช่างรุ่นหลังเดินตามถึงปัจจุบัน

ครูจักรี มงคล เป็นช่างเครื่องดนตรีไทยอีกท่านที่ผมขอความเห็นเรื่องรางระนาดเจ๊กฮุยเจ๊กฝน เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์แก่บทความนี้ “มองแง่ศิลปะ เส้นโค้ง โค้งได้รูปท้องเรือ ลักษณะแอ่นท้องช้าง โขนรางทรงจอมแห ก่อนหน้านั้นมันตรงๆ ตัดๆ คิ้วรางไม่มีก็ใส่กัน อวดฝีมือช่างที่คิ้วนี่แหละ ชั้นเชิงบัวคว่ำบัวหงายโขนรางก็อ่อนช้อย กาบรางไม่อ้วนปล่องอย่างสมัยนี้ มันค่อยๆ ผายออกเหมือนกาบเรือ เข้าผืนเข้ารางก็สวย เสียงดังดีด้วย

“ช่างเดิมเขาก็มี เช่นวังต่างๆ ล้วนทำได้ดี แต่อยู่ในวงจำกัด ถ้าเจ้านายไม่สั่ง แอบทำขายนี่เป็นเรื่อง เหมือนสงวนลิขสิทธิ์ คนนอกอย่างเราๆ ก็เสาะหา คราวนี้ช่างเครื่องเรือนมีมาก เขาก็หาทางเลี่ยง ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำเงินให้เขาได้ ทำดีเงินก็เข้ากระเป๋า งานไม่ดีคนก็ไม่หา”

กลับมาที่ครูชลอ ใจชื้น หัวใจความงามและมาตรฐานรางระนาดของเจ๊กทั้งสอง จึงอยู่ที่สัดส่วนกระสวนรางและความหนาบางกว้างยาวของไม้ที่ทำ

“ระนาดเอก ไม้กาบรางหนาสามนิ้ว กว้างสิบสองนิ้ว ยาวเมตรสิบเซนติเมตร หนาจริงแต่เขาเลื่อยช้อน ไสข้างในข้างนอกเป็นกระพุ้ง เสียงออกไม่ออกอยู่ตรงนี้ ผมเรียกห้องเสียง ถ้าห้องเสียงป่องมันก็อับ เหมือนคนพูดในโอ่ง มันต้องขยายออกถึงจะดัง กาบรางต่อเข้ากับโขน สมัยนี้ทำหน้าเต็ม แต่เจ๊กฝนมีเดือยสองชิ้นยื่นออกมาหน่อย สลักด้วยตะปู มันง่ายกว่าเวลาซ่อม

“ความถ่างของโขนก็สำคัญ เอามือปาดใต้ราง ถ้าเจ๊กฝนท้องผืนจะเรียบเสมอกัน อีกอย่างสวยไม่สวยอยู่ที่ปากราง มีคนไม่เชื่อว่าผมเป็นศิษย์เจ๊กฝน เขาบอกถ้าจริงต้องมีรูปถ่าย ผมจะเอากล้องจากไหนสมัยนั้น เชื่อไม่เชื่อดูฝีมือดีกว่า ต่อเลยว่าใช่ไม่ใช่ รางที่กรมฯ รางทองน้ำเงินกับสีแดง ลายใหญ่ ร้านฆ้อง ๔ ร้าน นั่นแหละผมช่วยเจ๊กฝนทำ ผมลอกกระสวนไว้ทั้งหมด นี่ไม่ได้คุยหรอก แต่ผมต่อแล้วเหมือน”

แม้กระสวนไม้ทำรางจะเท่ากัน หากความต่างอยู่ที่การไสไม้หรือที่ครูเรียก “เลื่อยช้อน” บริเวณกาบรางทั้งด้านนอกด้านใน กาบรางจะโค้งมนได้รูปหรือไม่อยู่ที่ขั้นตอนนี้เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพิจารณา ประสบการณ์ และความช่ำชองของช่างแต่ละคน รางระนาดฝีมือเจ๊กฮุยเจ๊กฝน หรือเจ๊กหงวนที่ปรากฏ จึงมีความคล้ายคลึง หากต่างที่ลักษณะกาบรางและลายละเอียดปลีกย่อย

สมัยที่ก๋วยเตี๋ยวราคาต่อชามไม่กี่บาท รางระนาดเอกทุ้มฝีมือเจ๊กฝนเริ่มต้นราคารางละหกร้อยบาทกระทั่งขึ้นถึงเก้าร้อย นอกจากนี้ เจ๊กฝนยังกลึงลูกมะหวดทำร้านฆ้อง คว้านท้องลานนาฬิกาเหลาผืนเอกเหล็กทุ้มเหล็กขายอีกด้วย

อีกเรื่องที่ควรเล่าสู่กันฟังเพื่อประดับความรู้ วัสดุดั้งเดิมที่ใช้ติดคิ้วเข้ากับตัวราง ก่อนเป็นกาววิทยาศาสตร์หรือกาวร้อน เดิมใช้ “กาวหนังควาย” แม้สะดวกน้อยกว่าเพราะต้องนำไปต้มก่อนใช้งาน หากมีข้อดีกว่ากาวร้อนอย่างปัจจุบัน

ครูจักรี มงคล ให้ความรู้เรื่องนี้ว่า “กาวหนัง เอาหนังสัตว์เคี่ยวน้ำด่าง แผ่นแข็งๆ ซื้อตามร้านยาจีน ต้องต้มน้ำให้เป็นวุ้น เจ๊กฮุยเจ๊กฝนใช้อย่างนี้ พูดถึงวัสดุที่ติด งาช้างมีความยืดหยุ่น ไม้ก็เหมือนกัน แต่กาวร้อนถ้าแห้งจะแข็งตายตัว พองาหดหรือขยายตัวจึงทำให้แตก แต่กาวหนังยืดหยุ่นตามวัสดุที่ติด โดนชื้นก็ไปด้วยกัน ร้อนหรืออากาศแห้งก็หดเข้าด้วยกัน มันถึงไม่แตก ฝรั่งใช้คุณภาพดีกว่า เป็นกาวหนังกระต่าย”

กลับมาที่ครูชลออีกครั้ง ครูแนะนำว่า รางระนาดเจ๊กฮุยที่ว่าฝีมือขึ้นถึงขีดสุดในช่วงท้ายชีวิต ตอนนี้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ครอบครอง แต่ครูไม่ระบุว่าอยู่ที่สาขาไหนอย่างไร ฝีมือต่อรางระนาดเจ๊กฝนยังหาชมได้ที่บ้านดุริยประณีต บางลำพู ส่วนสมบัติส่วนตัวที่ครูหวงแหนนักหนา เป็นรางระนาดเอกไม้ขนุนเลี่ยมไม้ดำดงฝีมือเจ๊กหงวน และรางระนาดทุ้มฝีมือเจ๊กฮุย ที่ครูใช้เป็นต้นแบบงานช่าง

“ช่วงนั้นผมเข้างานใหม่ๆ ทำงานด้วยต่อรางไปด้วย ถึงวันนี้ร่วมร้อยราง สมัยนั้นยังไม่มีโรงงานใหญ่อย่างเดี๋ยวนี้ ไม้ฆ้องผมซื้อไปแล้วใช้ได้เลย เหมือนไม้ใช้แล้ว ไม่แข็งอย่างไม้ใหม่ๆ ไม่ต้องเสียเวลาแต่ง เพราะผมนวดกับขอนไม้ก่อน พันไม้ระนาดขายตั้งแต่คู่ละสามสิบบาท ไม้ฆ้องร้อยเดียว เดี๋ยวนี้ไม้หนังไม้ฆ้องสามพันสามพันห้า ไม้นวมระนาดหกร้อย ไม้แข็งระนาดสองพัน

“คนเห็นราคาสูงก็อยากทำกัน แพงจริงแต่ให้ได้คุณภาพ ของผมถ้าเอาไปแล้วไม่ดี กลับมาเปลี่ยนได้”

ชีวิตสามัญในวันวัยใกล้เลขแปดนำหน้าเลขอายุ นอกจากสอนดนตรีที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เชิงสะพานพระปิ่นฯ เสาร์อาทิตย์ใช้เวลาที่บ้านดุริยประณีตเพื่อสอนดนตรีแก่เยาวชน และทำสาธารณประโยชน์อื่นโดยไม่คิดค่าตอบแทนที่โรงเรียนวัดกัลยาณมิตร ครูยังใช้เวลาว่างคลุกตัวอยู่โรงช่างเล็กๆ หน้าบ้านเพื่อทำงานที่ครูรัก

แม้จำนวนผลิตน้อย เมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีจากธุรกิจโรงงานใหญ่ที่มากทั้งคน เครื่องจักร และการตลาด หากแต่ครูไม่เคยทิ้งคุณภาพและเอารัดเอาเปรียบลูกค้า ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพช่างนานกว่า ๓๐ ปี ที่ครูหยัดยืน

นักปี่พาทย์เก่าใหม่ที่ยังคงแวะเวียนซื้อหาเครื่องดนตรีจากครูกระทั่งปัจจุบัน คงเป็นคำตอบนั้นได้ดี

ครั้งที่สองที่ผมเข้าไปพบครู ก่อนกลับผมถามว่า “ถ้ามีคนมาขอถอดกระสวนรางระนาดเจ๊กฮุยเจ๊กฝน ครูจะให้ไหม” ครูตอบ “เอาสิ ไม่หวงหรอก จะได้เผยแพร่”

“ครูมีเมตตาสมเป็นครูผู้ใหญ่” อีกครั้งที่ผมบอกกับตัวเองอย่างนั้น

อ้างอิง
ณรงค์ เขียนทองกุล. (๒๕๔๑). บ้านบางลำพู ชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: บริษัทพิฆเณศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด.

สัมภาษณ์
จักรี มงคล. สัมภาษณ์. ๒ มีนาคม ๒๕๕๗.
ชลอ ใจชื้น. สัมภาษณ์. ๒๘ กันยายน ๒๕๕๖, ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗.

ครูชลอ ใจชื้น เกิดวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๗๘ ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี บุตรนายผล และนางลิ้ม (สกุลเดิมบุญมี) มีน้องสาวแท้ๆ ชื่อเฉลา ใจชื้น ครูชลอสมรสกับนางมาลี (สกุลเดิมกลั่นพจน์) มีบุตรธิดา ๓ คน ก่อนรับราชการที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เคยทำนา ค้าขาย และทำปี่พาทย์ประจำคณะนายพิณ วงเผือก จังหวัดเดียวกัน เรียนรู้ดนตรีปี่พาทย์และงานช่างเครื่องดนตรีจากบ้านดุริยประณีต โดยเฉพาะการต่อรางระนาดจากช่างฝน (ชาวจีน) นอกจากรับราชการจึงต่อรางระนาด พันไม้ระนาดเอกทุ้มและฆ้องวงจำหน่ายด้วย ปัจจุบันอายุ ๗๘ ปี อาศัยอยู่บ้านข้างโรงเรียนวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธน

ครูชลอ ใจชื้น เกิดวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๗๘ ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี บุตรนายผล และนางลิ้ม (สกุลเดิมบุญมี) มีน้องสาวแท้ๆ ชื่อเฉลา ใจชื้น

ครูจักรี มงคล ให้ทัศนะวิจารณ์เรื่องรางระนาดเอกเจ๊กฮุยเจ๊กฝน เเละความรู้เรื่องกวาหนัง (กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ)

ครูจักรี มงคล ให้ทัศนะวิจารณ์เรื่องรางระนาดเอกเจ๊กฮุยเจ๊กฝน เเละความรู้เรื่องกาวหนัง (กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๑)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๑)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๒)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๒)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๓)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๓)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๔)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๔)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๕)

รางระนาดเอก ฝีมือต่อรางโดยเจ๊กหงวน (๕)

 

 

 

 

 

 

Comments

  1. อนุรักษ์ นิลฉาย says:

    ดีครับผม สามารถให้ใครต่อใครได้ศึกษา โดยไม่ต้องลงพื้นที่จริงครับ ครูเติ้ล

  2. พระไพบูลย์ สุธมฺมฐิติญาโณ says:

    อยากรบกวนขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อครูชลอ ใจชื้น และครูจักรี มงคล
    จะไปขอรบกวนครูช่วยดูรางระนาดเก่ามา ๒ ราง(ระนาดเอกและระนาดทุ้ม)
    เนื่องจากมีโยมถวายเข้ามาไว้ที่โรงเรียน
    มีคนบอกว่าเป็นรางของเจ็กฮุย แต่คล้ายกับรางเจ็กหงวนในรูปครูชลอ
    จะได้ทำประวัติให้ชัดเจน ให้คนรุ่นหลังได้รู้คุณค่า

    1. Kotavaree says:

      ตอบ ท่านไพบูลย์ สุธมฺมฐิติญาโณ เนื่องด้วยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สาธารณะ จึงไม่สะดวกให้ข้อมูลเรื่องเบอร์โทรศัพท์ของครูทั้งสองท่านได้ เพราะเป็นเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว จึงขอความกรุณาส่งข้อความติดต่อกลับมาที่่ เพจ Kotavaree – โคธาวารี ตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/Kotavaree?ref=ts&fref=ts เเทนครับ

  3. ภรภัทร กฤดาภร says:

    ทำอย่างไรจึงจะติดต่อครูชลอ ใจชื่น ได้คะ เมื่อวานไปดูการแสดงดนตรีไทย โดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ ที่ สมเด็จพระเทพฯ เป็นองค์ประธานมา มีโอกาสได้ซื้อไม้ระนาดจากครูชลอ 1 คู่ แต่อยากได้เพิ่ม และมีเพื่อนๆลูก ก็อยากได้ด้วยแต่ไม่ทราบจะติดต่อครูได้อย่างไรค่ะ รบกวนด้วยนะคะ

    1. Kotavaree says:

      ตอบ คุณภรภัทร กฤดาภร เนื่องด้วยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สาธารณะ จึงไม่สะดวกให้ข้อมูลเรื่องเบอร์โทรศัพท์ของครูชลอ ใจชื่นได้ เพราะเป็นเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว จึงขอความกรุณาส่งข้อความติดต่อกลับมาที่่ เพจ Kotavaree – โคธาวารี ตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/Kotavaree?ref=ts&fref=ts เเทนครับ

  4. Tan says:

    ต้องการติดต่อช่างเครื่องดนตรีไทยที่มีฝีมือ หรือนัดเพื่อพูดคุย เนื่องจากมีลูกค้าชาวต่างชาติสนใจในเครื่องดนตรีไทย และต้องการติดต่อเพื่อสั่งทำเครื่องดนตรีกับศิลปินโดยตรง
    ไม่แน่ใจว่าจะสามารถนัดเจอศิลปินได้หรือไม่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้

    ติดต่อ แตน
    เบอร์ 082 2748289

Leave a Reply to Anonymous Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *