ใครคือ ‘สุรศักดิ์ กิ่งไทร’ หนึ่งในสี่เจ้าของเสียงปี่ชวา ในขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค

ใครคือ ‘สุรศักดิ์ กิ่งไทร’ หนึ่งในสี่เจ้าของเสียงปี่ชวา
ในขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

นิยามตัวตน ‘สุรศักดิ์ กิ่งไทร’ ในหนึ่งย่อหน้า เขาเป็นคนจังหวัดลพบุรี ศิษย์เก่าวิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ตำแหน่งหน้าที่งานหลัก คือดุริยางคศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เสียงเครื่องเป่าไทยทั้งปี่/ขลุ่ยผลงานบรรเลงของเขา นอกจากปรากฏในส่วนงานราชการบนพื้นที่ดนตรีไทยในขนบ เขายังเป็นทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังเจ้าของเสียงเครื่องเป่าไทยบนพื้นที่ดนตรีร่วมสมัย โดยเฉพาะกับวง ‘The Sound of Siam’ [SOS] ที่เสียงขลุ่ยของเขาดังใกล้ไกลทำชาวไทยเทศหลงรักมาแล้วหลายทวีปทั่วโลก ทำไมตัวตน ‘สุรศักดิ์ กิ่งไทร’ จึงยืนหนึ่งทั้งสองพื้นที่ พร้อมบทบาทสำคัญที่เขาได้รับในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ติดตามคำตอบได้จากทุกตัวอักษรย่อหน้าต่อไป

“ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ผมลงเรือทำหน้าที่เป่าปี่ชวา แต่เป็นครั้งแรกที่มีรายชื่อเป็นตัวจริง ถือเป็นเกียรติของชีวิต ก่อนถึงวันจริงต้องมีการซ้อม ซ้อมเพื่อความเรียบร้อย ซ้อมเพื่อที่จะได้เจอปัญหาทุกรูปแบบ สมมุติเกิดพายุคลื่นลมจะได้แก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง จากจุดตั้งต้นจนถึงที่หมาย ระยะเวลามากน้อยขึ้นอยู่กับกระแสน้ำกระแสลม เคยใช้เวลาซ้อมนานสุด 3 ชม. ยิ่งถ้าน้ำขึ้นแล้วไหลแรงด้วยนะ ถึงใต้สะพานพระปิ่นฯ มันมีจุดมอง เงยหน้าขึ้นไปเหมือนเรืออยู่กับที่ ไม่ไปจากตรงนั้นสักที วิทยุสื่อสารมีเข้ามาเรื่อยๆ เช่น ‘ระวังมวลลมพุ่งจากคลองบางกอกน้อย’ ลมปะทะเข้าข้างเรือ เรือก็เป๋ไปทางธรรมศาสตร์ อันนี้ประสบการณ์ตรง

“คนปี่จึงต้องผลัดกันเป่าสองคน เสียงห้ามขาด โบราณเป่าคนเดียว ขนาดฝีพายยังตึงแขน ต้องพายเสมอ ล้าไม่ได้ ขึงผ้ากัญญาหรือหลังคาด้วยแล้วยิ่งเหมือนเรือใบ นั่งอยู่ในนั้นรู้เลย ว่าเรือเบี้ยวไม่เบี้ยวเพราะต้านลม ตั้งขบวนกลางแม่น้ำพร้อมแล้วจึงเริ่มเห่เรือ เห่เมื่อไหร่ขบวนเริ่มเคลื่อนเมื่อนั้น สัญญาณแตรจากลำที่ผมนั่งจะเป่าสั่งการ ทุกลำจะเป่าต่อกันเป็นทอดๆ วงปี่ชวากลองแขกจึงเริ่มเป่า โบราณเขานับเป็นโค้งน้ำ ทีนี้ก็ว่ากันในเรื่องของตัวเพลงที่จะเป่า”

ภาพโดย มณรดา ศิลปบรรเลง

เล่าเสริมให้ฟังว่า เรือ 2 ลำ ที่ข้าราชการจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร มีบทบาทรับผิดชอบทำหน้าที่บรรเลง ‘วงปี่ชวากลองแขก’ ในริ้วสายกลาง [1] ของขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ลำหนึ่งเป็นเรือกลองนอก ชื่อเรือ ‘อีเหลือง’ [มีตำแหน่งอยู่ด้านหน้าสุดของริ้วสายกลาง] อีกลำหนึ่งเป็นเรือกลองใน ชื่อเรือ ‘แตงโม’ [มีตำแหน่งอยู่ด้านหน้าเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ใช้สำหรับผู้บัญชาการขบวนเรือ] เรือทั้ง 2 ลำบรรเลงเพลงชื่อ ‘สรหม่าไทย’ หรือเรียก ‘สรหม่าใหญ่’ แต่ต้องปูพื้นฐานความรู้ทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ ก่อนว่า โครงสร้างเพลงสรหม่าไทยประกอบด้วย ตัวสรหม่า-โยน-แปลง เพราะวงปี่ชวากลองแขกของเรือลำอีเหลืองจะบรรเลงเฉพาะตัวสรหม่า-โยนเท่านั้น แล้วหยุดทำหน้าที่เมื่อถึงที่หมาย แต่นอกจากวงปี่ชวากลองแขกของเรือลำแตงโมจะบรรเลงตัวสรหม่า-โยน ยังต้องออกแปลงเมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เข้าเทียบท่าเพื่อส่งเสด็จฯ หรือที่เรียก ‘แปลงส่งเสด็จฯ’ อีกด้วย

ครูปี๊บ คงลายทอง อายุ 65 ปี ข้าราชการบำนาญ ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร อดีตเคยทำหน้าที่เป่าปี่ชวาในขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เล่าความรู้สรหม่าไทย ว่า

“แต่เดิมวงปี่ชวากลองแขกเป่าเพลงสรหม่าไทยใช้บรรเลงอยู่ในวงปี่พาทย์พิธี โดยตั้งอยู่ข้างหน้าวงปี่พาทย์ วงพิธีก็จะมีวงของสำนักพระราชวังเป่าแตรสังข์ด้วย ตั้งอยู่ด้านหลังวงปี่พาทย์ หมายความว่าทั้ง 3 วงบรรเลงพร้อมกัน คำว่า ‘ประโคม’ คือทำให้เสียงมันดังอึกทึก แล้วทำให้ทราบว่าพระราชพิธีนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ครูจิรัส อาจณรงค์ [ศิลปินแห่งชาติ] เคยนำมาแสดงให้ดูครั้งหนึ่งที่โรงละครแห่งชาติ เสียงที่แสดงออกมามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต่อมาด้วยเหตุผลบางประการ หนึ่ง การสั่งการแล้วเสียงมันอาจจะอื้ออึง อีกประการหนึ่งคือจำนวนคนเริ่มจำกัด วงปี่ชวากลองแขกจึงมีบทบาทแต่ในกระบวนเรือพระราชพิธี

“ที่ว่าโบราณเขานับเป็นโค้งน้ำ สมัยก่อนธรรมชาติมันเงียบ เสียงปี่ชวากลองแขกจึงดังไปทั่ว พอกระบวนเรือจะเข้าโค้งน้ำ วงปี่ชวากลองแขกก็ส่งสัญญาณโดยใช้ทำนองช่วง ‘แปลง’ สมัยก่อนโค้งน้ำแล้วแปลง เป็นสัญญาณให้ระวัง คนคัดท้ายกับฝีพายมีความสำคัญ เพราะเรือแต่ละลำมีขนาดลำยาวมาก จะยกหรือชะลอพายอย่างไรให้พอดี แต่ปัจจุบันจะเทียบท่าแล้วจึงแปลง สรหม่าไทยจึงเป็นเรื่องของงานมงคล ฟังแล้วเจิดจ้ารุกเร้าด้วยอารมณ์ฮึกเหิมยั่วยุ อวดฝีไม้ลายมือคนปี่คนกลอง เพราะถ้าไม่ใช่คนเรียนปี่หรือคนเรียนเครื่องหนังโดยเฉพาะ ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าตรงนี้คืออะไร ชื่อไม้อะไร”

แน่นอนว่า ความเข้าใจเนื้อหาดนตรีย่อมอยู่ในเนื้อในตัวผู้ปฏิบัติ หากแต่ไม่ยากต่อความเข้าใจเชิงทฤษฎีผ่านตัวอักษรสำหรับผู้สนใจ ข้อสงสัยต่อคำถามที่ว่า ขณะที่ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคออกดำเนินไปตั้งแต่จุดตั้งต้นจนถึงที่หมาย ปี่ชวาและกลองแขกมีหน้าที่ขั้นตอนอย่างไร เป่าและตีอะไรในเพลงสรหม่าไทย สรุปคำตอบจากคำให้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเครื่องเป่าและเครื่องหนังไทย อย่างครูปี๊บ คงลายทอง ครูอนุชา บริพันธุ์ ความว่า หัวใจสรหม่าไทยอยู่ที่หน้าทับกลองแขก เรียกตัวสรหม่าเป็น ‘ไม้’ โครงสร้างแต่ละไม้ประกอบด้วยเนื้อหารายละเอียดต่างกันและซับซ้อน [2] เรียกไม้หนึ่งว่า ‘ไม้ต้น’ ไม้สองว่า ‘ไม้โปรย’ ไม้สามว่า ‘ไม้แดก’ [กล่าวกันว่ามีมากถึง 20 ไม้]

ในขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อคนกลองแขกตีตัวสรหม่าจบ 1 ไม้ ต้องตีโยนรอเวลาจนกว่าทหารเรือจะเป่าสัญญาณแตรเดี่ยว [3] [เป่าทุกๆ 100 เมตร] จึงตีเข้าตัวสรหม่าไม้ต่อไป [จำนวนไม้ที่ตีตามแต่จะตกลงกัน] ขณะเดียวกันที่ไม่ว่าคนกลองแขกจะตีตัวสรหม่าหรือตีโยน คนปี่ชวาจะเป่าตัวสรหม่าที่เรียกเป็น ‘ท่า’ จำนวน 4 ท่า ทั้งคนปี่ชวาและกลองแขกจะบรรเลงวนรอบไปจนกว่าจะถึงที่หมายจึงแปลงส่งเสด็จฯ หมายความว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน หากแต่เมื่อถึงคราวเปลี่ยนขั้นตอนทำนองบรรเลงต่างก็ต้องฟังกันและกันแล้วจึงยกออกไปทั้งกระบวนเพลง โดยเฉพาะช่วงแปลงส่งเสด็จฯ คนกลองแขกต้องตีหน้าทับแปลงที่เรียกเป็น ‘มือ’ ออกไปเรื่อยๆ จนกว่าเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จะเคลื่อนเข้าเทียบถึงท่า วงปี่ชวากลองแขกจึง ‘พร้อมลง’ หรือเรียก ‘หยดน้ำ’ เป็นภาษาสัญลักษณ์ที่หมายรู้ว่าสิ้นสุดกระบวนเพลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสด็จฯ ขึ้นถึงฝั่ง

ครูอนุชา บริพันธุ์ อายุ 51 ปี ตำแหน่งดุริยางคศิลปินอาวุโส รองหัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร อาจารย์พิเศษวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อดีตเคยทำหน้าที่ตีกลองแขกในขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับถ่ายทอดหน้าทับกลองแขกสรหม่าไทยทางพระพิณบรรเลงราช [แย้ม ประสานศัพท์] เล่าว่า

“สรหม่าไทยเป็นสุดยอดหน้าทับเครื่องหนัง เน้นวิธีการบรรเลงกลเม็ดกลองแขกตัวผู้และตัวเมีย ต่างคนต่างดำเนินจังหวะทำนองของตน แต่เสียงกลองทั้งสองตัวที่ออกมาจะผสานขัดกันอย่างลงตัว เป็นศาสตร์ศิลป์พิสดาร ตัวเมียยากกว่าตัวผู้ เพราะเป็นตัวขัดสร้างสีสัน เวลาเรียนต้องต่อท่องจำทีละตัว แม่นยำแล้วจึงตีเข้าคู่ ไม่ว่ากลองตัวไหนตีเกินหรือขาดเพียงเสียงเดียว ผิดเมื่อไหร่ จากที่ตีขัดกันจะตีพร้อมหรือทับกันทันที ทำอย่างไรก็ตีต่อไปไม่ได้ วิธีแก้ต้องตีโยนแล้วตั้งไม้ใหม่เท่านั้น ผู้ปฏิบัติด้วยกันจะรู้ ว่าตีสำนวนอย่างนี้อีกตัวต้องตีอย่างไร ตัวผู้เป็นคนฉายออกหรือตีกระตุกออกก่อน ตัวเมียจึงรุกตาม บางครั้งตัวเมียกระแทกก่อนก็มี”

สรหม่าไทยยังใช้ออกท้ายเพลงโหมโรงในวงเครื่องสายปี่ชวา [4] และใช้บรรเลงตั้งต้นก่อนรัวประลองเสภาในวัฒนธรรมปี่พาทย์ประชันวง นอกจากสถานภาพบทเพลงยังวัดความสามารถนักดนตรีว่ามีความชำนาญปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด ถามว่าแล้วผู้ฟังฟังอะไรจากผู้ปฏิบัติสรหม่าไทย นอกจากหน้าทับไม้สรหม่าและมือแปลง ผู้ฟังยังต้องฟังลูกเล่นกลองแขกช่วง ‘โยน’ ที่สร้างสรรค์ภายใต้กรอบหลักการ ฟังน้ำหนักรสมือตีหนักตีเบาปรุงเสียงให้ได้อรรถรส โดยเฉพาะความพิเศษที่ผู้เป่าปี่ชวาทุกคนมีโครงสร้างทำนองสรหม่าเนื้อหาเดียวกัน หากแต่อยู่ที่จะสร้างลีลาขึ้นใหม่เฉพาะตนอย่างไรจากเสียงปี่ชวาที่มีอยู่ทั้งหมด นอกจากไม่ซ้ำผู้อื่น ผู้เป่าคนเดียวกันยังเป่าลีลาแต่ละครั้งไม่ซ้ำกันอีกด้วย นักดนตรีวงปี่ชวากลองแขกจึงต้องมีทั้งความรู้ ทักษะความชำนาญ และประสบการณ์ประกอบเข้าด้วยกัน อย่างที่ ‘สุรศักดิ์ กิ่งไทร’ ได้รับเลือกทำหน้าที่ในขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้

ภาพโดย มณรดา ศิลปบรรเลง

กลับมาที่คนต้นเรื่อง ไม่เพียงเท่านั้น เพราะในแวดวงตลาดคนทำงานเพลงและห้องบันทึกเสียง เขายังได้ชื่อว่านำเสนอทำนองเพลงตอบโจทย์เจ้าของงานเพลงได้ดีเสมอ ใส่ใจให้ความสำคัญกับอารมณ์เพลง ด้วยวิธีคัดสรรวัตถุดิบที่มีในขนบดนตรีไทยแล้วปรับซุ่มเสียงให้เข้ากับพื้นที่ใหม่ทางดนตรีและหูผู้ฟังปัจจุบัน ที่ชัดเจนแล้วว่า นี่คือเสน่ห์ตัวตนของเขาในโลกดนตรีร่วมสมัย ยืนยันจากหลายผลงาน ไม่ว่าเป็น เสียงปี่ชวาในเพลงโอ้ละหนอ…My Love เสียงเครื่องเป่าไทยในโชว์ฤดูกาลพิเศษ The Mask Singer อย่าง The Mask วรรณคดีไทย The Mask Line Thai เสียงขลุ่ยในเพลงประกอบละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว ล่าสุดแสดงสดร่วมกับวง ‘The Sound of Siam’ ต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสร่วมพิธีมิสซา ณ สนามศุภชลาศัย

“เริ่มต้นจากฟังแบ็คกิ้งแทร็ค เพลงเขาคิดมาแล้ว รายละเอียดเราเป็นคนออกแบบเอง เขาปล่อยอิสระ ส่วนตัวตามใจเจ้าของงานเพลง ถามก่อนเลย อารมณ์เนื้อหาเพลงเป็นอย่างไร เศร้า แล้วเศร้าขนาดไหน ถึงขั้นรันทดเลยไหม คนไม่รู้จะเข้าใจว่า เพราะกับหวานนี่เหมือนกัน ไม่เหมือน ถ้าเราเป่าตรงจังหวะจะไม่หวาน มันทื่อ ต้องหยอดหรือม้วนให้สละสลวยแล้วไปตกจังหวะเอาข้างหน้า หวานแบบไหน ถ้าหยาดเยิ้มจะได้ย้วยให้ถูก มันอยู่ในโครงสร้างทำนองดนตรีไทยที่เราจัดวาง เป็นความเหมาะสมในแบบที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกที่จะทำงานเพลงลักษณะนี้

“ใจไม่ได้ต่อต้านหรือปฏิเสธ แรกๆ ไม่รู้ว่าต้องเล่นอย่างไรมากกว่า มันไม่ใช่ปี่พาทย์มโหรีที่เราคุ้นเคย เล่นเพลงไทยทั้งเพลง คิดกลอนสวยๆ เอากลอนครูโบราณมาเล่นบ้าง ในวงมโหรีเสียงขลุ่ยก็จะนัวๆ กันไป เวลาไปเล่นต่างประเทศ ที่ว่าจะหาดนตรีไทยไปเล่นอย่างเดียวไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ประกอบการแสดง จั่วหัวกล่อมเข้ารำนิดหน่อย นาทีสองนาที แต่นี่ได้ไปเล่นดนตรีเต็มที่ ถึงท่อนที่ทุกคนหลีกให้เราเป็นพระเอก เราได้โชว์บทบาทเป็นเสียงเครื่องดนตรีหลักในวง บางท่อนเราก็หนุนเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ชอบครับ รู้สึกลงตัวเหมือนอาหารรสกลมกล่อม หรืออย่างในวงเวลาที่พี่โก้ซ้อม เขาซ้อมแค่พอรู้ แล้วไปใส่กันหน้างานเลย”

‘พี่โก้’ หรือที่รู้จักในวงกว้าง ชื่อ ‘โก้ มิสเตอร์แซกแมน’ หัวเรือใหญ่ The Sound of Siam วงดนตรีที่รวมเสียงจากนักดนตรีเบอร์ต้นๆ เพื่อเป็นตัวแทนเสียงของประเทศในเวทีโลก ไม่ว่าเป็น ดวงพร พงศ์ผาสุก [Vocal] เศกพล อุ่นสำราญ [Saxophone] สุทธิพงษ์ ปานคง [Drums] แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ [Piano/Keys] วิชชุเดช เนตรสิน [Bass] พุฒิกร วิทยรัตน์ [Guitar] วุฒิชัย จรุงกลิ่น [ซอไทย] และสุรศักดิ์ กิ่งไทร ที่นอกจากตารางแสดงสดคอนเสิร์ตและร่วมงานเทศกาลดนตรีในประเทศอย่างต่อเนื่อง เดือนกันยายนที่ผ่านมา The Sound of Siam ยังบินลัดฟ้าไปแอฟริกาใต้เพื่อร่วมงาน ‘Joy of Jazz Festival’ ณ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ที่ไม่เพียงได้ร่วมงานกับนักดนตรีฝีมือดีเท่านั้น หากแต่เขายังได้รู้จักผู้ฟังหน้าใหม่ต่างพื้นที่วัฒนธรรมอีกด้วย

“ต่างชาติเขาฟังกันจริงๆ ฟังดนตรีกลางแจ้ง ถึงเขาจะกินเบียร์กินเหล้า แต่มีมารยาท เพราะเขาตั้งใจเสียเงินซื้อบัตรมาฟังดนตรี มันก็ดีต่อใจคนเล่น งานนี้ผมโชว์ทั้งปี่ขลุ่ย คนฟังต้องใช้คำว่าทึ่งมากๆ ทึ่งกับการระบายลม ขยี้ ความพลิ้วไหวของเสียงขลุ่ย ฝรั่งเขาส่งเสียงฮือฮาพอใจกันอยู่แล้ว แรกๆ ก็คนสองคน หลังๆ นี่ดังทั้งโรง ระบายลมด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง เงียบฟังกันทั้งโรง ผมเป่าจากเวทีเดินลงไปหาคนดู สักพักคนดูสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ช่วงที่ผมออกไปเข้าห้องน้ำ โอ้โห คนแห่มาขอถ่ายรูป คุณทำอย่างไรถึงเป่าได้นานขนาดนั้น ร่างกายต้องแข็งแรงมากๆ ใช่ไหม บางคนถึงกับลองทำตามก็มี เขาบอกเขาเหนื่อยเลย

“สำคัญอีกอย่างคือ เพลงที่เราเรียงไว้ต้องปรับเปลี่ยนได้ เล่นเพลงอะไรแล้วเขาถึงจะสนใจ คนกำลังจะเดินออกอยู่ตรงหน้า ต้องใช้เพลงอะไรเรียกให้เขากลับเข้ามา เรียกนะไม่ใช่ไล่ พี่โก้เขาดูคนฟังเป็นหลัก โชว์แต่ละชุดเอาคนอยู่ไม่อยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพิธีกรหลักสำคัญมาก ต้องพูดให้ทั้งสนุกแล้วก็เกิดความเข้าใจ ดนตรีไทยนำมาเรียบเรียงเป็นโชว์ก็ได้ คนเล่นกับคนดูจะได้มีคำถามคำตอบ ง่ายๆ อย่างระบายลม ‘คุณทำได้ไหม ทำไม่ได้ แสดงว่าพลังน้อย เมื่อคืนไปทำอะไรมา’ หรือโชว์ระหว่างเพลงโครงสร้างหลัก โหมโรง เพลงเถา ปรบไก่ ทยอย เพลงลา แทรกได้ไหม ตลกหน้าม่าน การละเล่นไทย ลำตัดรำมะนา เรายังขาดการคิดเรื่องนี้”

นอกจากสิ่งที่เขากล่าวเป็นเหตุเป็นผลข้างต้น ประสบการณ์บนเวทีแสดงสดกว่า 10 ปี ยังบอกเขาอีกว่า หัวใจสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการแสดงสดแต่ละครั้ง นอกจากเสียงที่เกิดขึ้นจากฝีมือผู้เล่นและเครื่องดนตรีที่ดี ต้องดีจากการเลือกใช้ไมโครโฟนให้เหมาะกับเครื่องดนตรีและดีที่ซาวด์เอ็นจีเนียร์ เสียงที่ออกมาจากลำโพงก่อนถึงหูผู้ฟังจึงจะดีตามไปด้วย โดยเฉพาะเขาตัดปัญหาเสียงขลุ่ยที่มีเนื้อเสียงเบากว่าเครื่องดนตรีสากลชิ้นอื่นๆ ในวง โดยลงทุนซื้อไมโครโฟนไร้สายอย่างดีสนนราคาตัวเลข 6 หลักด้วยเงินส่วนตัว เพื่อแลกกับคุณภาพเสียงและผลงานที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งบนเวที

“เวลาพี่โก้ไปแสดงสดต่างประเทศ เขาจะมีซาวด์เอ็นจีเนียร์ไปด้วยทุกครั้ง เพราะรู้ธรรมชาติเสียงของวงเราดีว่าเป็นอย่างไร บางคนรู้ก็รู้ไม่ถึง รู้แค่ว่าอันนี้ดังอันนี้เบา แต่มิกซ์เสียงไม่เป็น แถมไม่รู้ประเภทใช้งานของไมค์ ก่อนเดินทางไปถึงจะคอนเนคกันเรียบร้อยแล้วว่า เครื่องดนตรีชนิดนี้ใช้กับไมค์ประเภทไหน กำหนดของไปก่อน อย่าลืมว่าคนฟังไม่ได้ฟังเสียงแท้จากเครื่องดนตรี เขาฟังผ่านลำโพง ลำโพงยี่ห้อดีขนาดไหน เทคโนโลยีดีแค่ไหนก็ต้องขยับตามให้ทัน สมมุติมีคนหาวงดนตรีไทยไปเล่นงานต่างประเทศ ซ้อมอย่างหนัก 3 เดือน ไมค์อย่างดีจับแต่ละชิ้น แต่มิกซ์เสียงออกลำโพงระนาดดังรางเดียว สามเดือนที่ซ้อมมาถามว่าพังไหม พังแน่นอน

“อย่างมากเวลาไปเล่นงานดนตรีไทย ตั้งวงเสร็จเขาก็แค่ถามว่า ‘ขอไมค์กี่ตัว’ เคยถามบ้างไหม ‘พี่ เครื่องนี้โทนเสียงเป็นอย่างไร ผมจะได้เอาไมค์ให้ถูก กลองทัด เดี๋ยวผมเอาไมค์กระเดื่องให้ดีกว่า เพราะเสียงมันสั้น’ เท่าที่สังเกต เสียงฉิ่งนี่ดังแหลมเลย เพราะเอาไมค์คอนเดนเซอร์ไปจับ ดูดเสียงตาย ไมค์ประเภทนี้ก็รู้อยู่ว่าแค่ลมหายใจมันยังเข้า ฉะนั้น ซาวด์เอ็นจีเนียร์ต้องศึกษามีความรู้ธรรมชาติเสียงเครื่องดนตรีไทยด้วย เป็นอาชีพแล้วก็เปิดสอนรายวิชาในมหาวิทยาลัยได้ งานดนตรีไทยไม่ใช่น้อยๆ นะครับ แต่เราขาดกำลังคนด้านนี้มาก วงของเราจะดังหรือดับก็เพราะซาวด์เอ็นจีเนียร์ด้วย”

รู้จักตัวตน ‘สุรศักดิ์ กิ่งไทร’ เพิ่มเติมในหนึ่งย่อหน้า เขาเป็นอดีตนักเรียนระนาดเอกที่เรียกได้ว่า อนาคตตำแหน่งดาวนักระนาดอยู่ใกล้แค่เอื้อม ตีระนาดไหวและเสียงโตเพราะเป็นคนถนัดซ้าย ก่อนหันเหความสนใจไปทางเครื่องเป่าไทยตามคำแนะนำเพื่อน เคยเป็นครูสอนดนตรีวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี ต่อมาไม่นานมีรายชื่อสอบติดอันดับหนึ่งบรรจุข้าราชการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตำแหน่งปี่ใน ที่ทุกวันนี้นอกจากหน้าที่รับผิดชอบงานหลัก ยังเล่นดนตรีตามที่ได้รับสายโทรศัพท์เป็นงานรอง ติดตามผลงานความเคลื่อนไหวของเขาทั้งแสดงสดและฟังเพลงบรรเลงร่วมกับวง The Sound of Siam ได้ทางยูทูปดอทคอม และแฟนเพจเฟสบุ๊ค ชื่อ ‘SOS’

ภาพโดย มณรดา ศิลปบรรเลง

เชิงอรรถ
[1] ริ้วสายกลาง ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ยังมีเรืออีเหลือง เรือแตงโม เรือตำรวจ 3 ลำ และเรือแซง 1 ลำ
[2] ดู ‘โครงสร้างหน้าทับสรหม่าไทย’ ประกอบเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจเบื้องต้นยิ่งขึ้น ได้จากหนังสือ ‘แม่ไม้เพลงกลอง’ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายมนัส ขาวปลื้ม ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2541 หรือ วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เรื่อง ‘วงกลองแขก : วงปี่กลองในพระราชพิธีไทย’ ของสหวัฒน์ ปลื้มปรีชา สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2544
[3] แตรเดี่ยวเป่าบอกสัญญาณเพื่อให้ขบวนเรือ ‘เดินหน้า’ นอกจากนี้ ยังใช้แตรเดี่ยวเป่าบอกสัญญาณในลักษณะอื่นๆ เช่น พักขบวนเรือ หยุด หรือเลิกขบวนเรือ เป็นต้น
[4] รูปแบบที่บรรเลงคือ โหมโรง ออกสรหม่า โยน แปลง ออกเพลงภาษา แล้วจึงแปลงอีกรอบ

บรรณานุกรม
ขำคม พรประสิทธิ์. 2533. สรหม่า. งานวิจัยปริญญาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต ภาควิชาดุริยางคศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บุญตา เขียนทองกุล. 2548. ดนตรีในพระราชพิธี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ดอกเบี้ย.
มนัส ขาวปลื้ม. 2541. “หน้าทับกลองแขกเพลงสระหม่าไทยหรือสระหม่าใหญ่” ใน แม่ไม้เพลงกลอง. กรุงเทพฯ: บริษัทพิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด.
สหวัฒน์ ปลื้มปรีชา. 2544. วงกลองแขก : วงปี่กลองในพระราชพิธีไทย. งานวิจัยปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2557. วงปี่ชวากลองแขกในพระราชพิธี [เอกสารประกอบโครงการสัมมนา]. (ม.ป.ท.).

สัมภาษณ์
ปี๊บ คงลายทอง. สัมภาษณ์. 18 ตุลาคม 2562.
สุรศักดิ์ กิ่งไทร. สัมภาษณ์. 9 ตุลาคม 2562.
อนุชา บริพันธุ์. สัมภาษณ์. 15 ตุลาคม 2562.
อัมรินทร์ แรงเพ็ชร. สัมภาษณ์. 10 ตุลาคม 2562.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *