ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ ครูดนตรีไทยเจ้าของวงสิงห์บุรี

ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ
ครูดนตรีไทยเจ้าของวงสิงห์บุรี
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง
[ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

เนื้อหาสำคัญ
– สละเวลาชีวิต เงินเดือนทั้งหมด ให้ลูกศิษย์นักเรียนดนตรีตั้งแต่แรกบรรจุราชการครู เป็นทั้งค่าอาหารทุกมื้อทุกวัน ค่าน้ำไฟ ยารักษาโรค เอื้อเฟื้อที่พัก ใช้จ่ายจิปาถะกิจกรรมดนตรี ซื้อ ซ่อม สร้างเครื่องดนตรี โดยไม่เคยทำเรื่องของบฯ จากส่วนราชการ เคยถามตอบลูกศิษย์ ว่า ‘มึงอยากเป็นครูดนตรีอย่างข้าไหม ถ้าอยากมึงต้องเหนื่อย’ หมายความว่าต้องสละความสุขส่วนตัว

– การปฏิบัติดนตรี ที่สำคัญคือปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ดูได้ อธิบายให้เห็นความสำคัญการเรียนฆ้อง เครื่องหนัง ขับร้อง นอกจากเครื่องมือเอก คนเครื่องสายต้องตีฆ้องโหมโรงเช้า โหมโรงเย็นได้ คนปี่พาทย์ต้องสีซอดีดจะเข้ได้ ต่อเพลงโดยจับสาระสำคัญของเพลงแต่ละประเภท เหตุผลเพราะปัจจุบันเรียนดนตรีด้วยหลักสูตรระยะสั้น แต่จำเป็นต้องใช้งาน หากเรียนตามลำดับขั้นตอนโบราณจะไม่ทันเหตุการณ์ มักพูดเสมอว่า ‘มีอะไรไว้ก่อน เรียนยากๆ เดี๋ยวง่ายๆ ไปเก็บเอาเอง’

– ฝึกวิชาช่างเครื่องดนตรีให้กับลูกศิษย์ ทุกคนต้องเหลาก้าน พันไม้ฆ้องไม้ระนาดเป็น เหลาผืนระนาดทุ้มได้ คนจะเข้ต้องติดนม ฝังเหล็กสาบนม เปลี่ยนสาย ทำโต๊ะจะเข้ได้ แม้ไม่ได้วิชาด้วยความรู้ก็ได้วิชาด้วยการมองเห็น เพราะวิถีชีวิตประจำวันในบ้านเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าเป็น วิชาเทียบเครื่อง ซ่อมฆ้อง ขึ้นหน้าซออู้ซอด้วง ขุด เจียท้องจะเข้ และสารพัน เมื่อค้นพบวิธีแก้ไขปัญหางานช่างเครื่องดนตรี มักเรียกลูกศิษย์ทุกคนมารับฟังที่มาที่ไปของปัญหา ข้อค้นพบ

– กำไรจากการออกงานเล่นดนตรีไม่ใช่ค่าตอบแทน เพราะรับเงินจากเจ้าภาพเพียง 6 บาทเป็นค่ากำนลครูเท่านั้น แต่อิ่มใจที่ได้เล่นดนตรีแล้วมีคนชื่นชอบ เบื้องหลังความไพเราะคือการซ้อมจัดซ้อมหนัก เพราะวางตารางชีวิตลูกศิษย์นักเรียนดนตรี ว่าต้องตื่นซ้อมช่วงเช้าตี 5 ช่วงเย็นซ้อมถึงค่ำ 4 ทุ่ม สร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ทุกคนซ้อมดนตรีเมื่อว่าง มักพูดเสมอว่า ‘คนว่างคือคนขี้เกียจ’ หรือ ‘ใครว่างมาหาข้า’ [เพื่อที่จะได้หางานให้ทำ]

– หากเปรียบครูเหมือนเรือจ้าง ครูชื่อ ‘ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ’ ไม่เพียงส่งลูกศิษย์ถึงฝั่ง คือเรียนจบมัธยมต้น ปริญญาตรีเท่านั้น หากแต่ยังตามขึ้นไปดูแลบนฝั่งเพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ เพราะจัดส่งเครื่องดนตรีส่วนตัวให้ลูกศิษย์ยืมใช้เมื่อแรกบรรจุข้าราชการครู หมายความว่าวันแรกการทำงานของลูกศิษย์ต้องก็มีเครื่องดนตรีพร้อมใช้ทำงาน ลูกศิษย์หลายคนพูดภายหลังว่า ‘ให้ทุกอย่างที่มี ที่ไม่มีก็หามาให้มี ให้จนตายไปข้างหนึ่ง’

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

ตั้งต้นเรื่องราวด้วยข้อความลายมือเขียนจากคนต้นเรื่อง บนแผ่นกระดาษเก่าขนาด 5A ติดทับบนพื้นที่ว่างข้างฝากระดานไม้ใต้ถุนบ้าน จากตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นทั้งจุดสนใจและอับลับจากสายตา หนึ่งในแผ่นกระดาษปลีกๆ จำนวนไม่มากที่ใช้สื่อสารเตือนสติ เขียนข้อบังคับกฎระเบียบครอบครัว แตกต่างออกไป เพราะน้ำเสียงข้อความฉบับนั้นเฉียบขาดตรงไปตรงมา ทรงพลัง เป็นบทสรุป ‘ความคิดรวบยอด’ ชีวิตคนคนหนึ่ง ที่ขบคิดค้นหาคำตอบให้ตนเองตลอดระยะเวลา 50 ปี จนมั่นใจ ลงท้ายข้อความเจ้าของลายมือ ชื่อ ‘ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ’

…“คำว่า ‘เป็นตัวอย่างในสิ่งที่ดี’ ในความหมายของ นายศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ นั้น หมายความว่า นายศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ เคยตั้งคำถามกับตนเองว่า ‘เกิดมาทำไม’ ในระยะ 20 ปี 30 ปี ก็ยังไม่ได้คำตอบ เป็นที่แน่นอนในระยะ 40-50 ปี เริ่มได้คำตอบที่แน่นอนชัดเจน คือ หลายสิ่งหลายอย่างทั้งดีและชั่วที่เคยทำมาในระยะ 20 ปี 30 ปี 40 ปี จนถึง 50 ปี เริ่มให้ผล ทั้งผลดีและผลชั่ว จึงเข้าใจว่าต่อไปควรจะทำอะไร

“ถามตัวเองต่อไปอีกว่า ‘ศิวศิษฏ์ มึงมีอะไรในตัวในใจมึงที่ทำแล้วเป็นสิ่งดีงาม’ ก็ได้คำตอบจากการพิจารณาหาเหตุผล คือ ‘การทำงานเป็นครูดนตรีไทย’ ก็ยังมีคำถามเกิดขึ้น ‘พอหรือ’ ก็ได้คำตอบว่า ‘ไม่พอ,ไม่ได้’ แล้วจะเอาอะไรอีก ก็ได้คำตอบว่า ‘ศิวศิษฏ์ มึงต้องเติมเป้าหมายความสำเร็จให้สูงๆ’ คืออะไร คือ ลูกศิษย์ลูกหาต้องทำงานแทนมึงได้เมื่อมึงตายไป และมึงต้องยอมลำบาก ยากจน เสียสละ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา เวลาชีวิต ให้ได้มากที่สุดเท่าที่มึงจะทำได้ เพื่อความดีเท่าที่มึงทำได้และเพื่อดนตรี โชคดีอย่างหนึ่ง คือ ในเรื่องการทำงานดนตรีไทยนั้น ได้ตั้งใจดีในการทำงานดนตรีไทยมานานพอสมควร จึงเกิดผลดีที่เป็นสิ่งเสริมกำลังใจให้เกิดความพยายามที่จะทำความดีในเรื่องนี้ต่อไป

“การทำให้เกิดความเป็นเลิศในทางโลกไม่ใช่ของยาก แต่ถ้าเลิศในทางธรรมนั้น ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราท่านทั้งหลายถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในโอกาสนี้จะกล่าวถึงความเป็นเลิศในงานดนตรีไทยของโรงเรียนสิงห์บุรี ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก

“ประการแรก อยู่ที่ครูผู้สอน เช่น นายศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ ชอบดนตรีไทยมากมาตั้งแต่เริ่มจำความได้ หมายความว่า ชอบดู ชอบฟัง ชอบจำ ชอบบรรเลง และเลือกที่จะเรียนดนตรีไทยเพื่อเป็นอาชีพ แต่เดิมต้องการเป็นเพียงศิลปินประจำตามกรมฯ กองฯ หรือแผนกฯ เท่านั้น แต่ชะตาชีวิตหันเห จนต้องมามีอาชีพเป็นครูในที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตแบบโลกๆ แล้ว ที่ว่าดี คือได้มีโอกาสเสียสละ ช่วยเหลือ และเป็นตัวอย่างในสิ่งที่ดี ประการที่สอง อยู่ที่ตัวนักเรียน คือ จะต้องมีคุณสมบัติชอบดู ชอบฟัง ชอบจำ ชอบบรรเลง และเลือกที่จะเรียนดนตรีไทยเพื่อเป็นอาชีพ สิ่งสำคัญ คือ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากทั้งปวงเมื่อเริ่มเรียนดนตรีไทย

“ในท้ายที่สุด ขอเคารพในคุณพระรัตนตรัยและท่านผู้มีคุณต่อจิตวิญญาณและสังขารของ นายศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ ทั้งหมดทั้งสิ้น ที่ได้ช่วยสร้างสม อบรม สิ่งที่ทำให้เกิดความดีงามและประโยชน์ต่อส่วนร่วม ทั้งเคารพต่อวิชาดนตรีไทย วิชาช่าง ครูบาอาจารย์ทั้งสิ้น

“ขอฝากประโยคสุดท้าย คือ คนโง่เรียนดนตรีไทยไม่ได้”…

ทั้งหมดเป็นเบื้องหลังความคิดที่ส่งผลต่อเบื้องหน้าการกระทำ แก้สมการประโยคที่ว่า ‘แรงขับของคนอาจต้องการหาความหมายอะไรบางอย่างให้ตัวเอง’ เข้าทำนองปรัชญาแสวงหาคุณค่าชีวิต ที่มี ‘แรงขับ’ มาจากปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเป็น ‘ตัวอย่างในสิ่งที่ดี’ กระทำผ่าน ‘การทำงานเป็นครูดนตรีไทย’ สร้างความหมายต่อการดำรงอยู่ของตนในสังคม ให้ไม่ตายไปจากความรู้สึกคน อย่างที่ใครหลายๆ คนจดจำรับรู้เรื่องราวการมีอยู่ของครูดนตรีไทยเจ้าของวงสิงห์บุรี ที่เป็นตัวอย่างแม่พิมพ์ ทั้งมิติความเป็นครู งานช่างเครื่องดนตรี ศิลปิน

ครูบ้านนอก

ภาคอีสานเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ยังไม่รู้จักดนตรีไทยเช่นทุกวันนี้ โจทย์ใหญ่ที่ครูดนตรีไทยภาคกลางบรรจุใหม่ โรงเรียนโนนสะอาดวิทยาคาร ตำบลโนนสะอาด อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น อย่างครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ ต้องเผชิญ หากไม่นับหลักดนตรีไทยในนามสถาบันการศึกษาเพียงไม่กี่แห่งในภาคอีสาน กล่าวจนถึงที่สุด จะเข้ในความเข้าใจคนอีสานยุคนั้น คือกีต้าร์ยักษ์ นักเรียนดนตรีไทยยังดีดจะเข้เป็นเพลงด้วยสายเอกสายเดียว ไม้ดีดเข้าไม้ดีดเดียว ภาษาที่ใช้สื่อสาร [นักเรียนยุคนั้นยังพูดภาษาอีสานร้อยเปอร์เซ็นต์] อาหารการกิน น้ำดื่มน้ำใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ผ่านบททดสอบแรกของการเป็น ‘ครูบ้านนอก’

นางกรรณิกา วิพันธุ์เงิน มารดา เป็นผู้หนึ่งที่เห็นลำดับตลอดช่วงชีวิตครูศิวศิษฏ์ ตั้งแต่ในครรภ์ถึงเชิงตะกอน สะท้อนชีวิตครูศิวศิษฏ์ช่วงนั้นว่า “กลับมาเยี่ยมบ้านพูดอีสานเลยมาถึง บรรจุครูอยู่ขอนแก่นเลยสมใจ ร่ำร้องจะเป็นครูบ้านนอกให้ได้ เอาอย่างหนังเรื่อง ‘ครูบ้านนอก’ ปิยะ ตระกูลราษฎร์-พระเอก วาสนา สิทธิเวช-นางเอก เขาชอบหนังเรื่องนี้มาก อยากใช้ชีวิตเป็นครูแบบนั้น ฉันบอกเป็นก็เป็นไปเหอะ ฉันไปเรียน กศน. ทำอาหารตัดเสื้อผ้า บอกเขา เราจะไปเป็นครูบ้านนอกต้องเรียนตัดเสื้อผ้าก่อน เขาก็ไป บรรจุแล้วที่นั่นมีจักรเย็บผ้า ไม่มีครูสอน ทีนี้สบายมาก กับข้าวขนมข้าวต้มก็สอนได้

“บ่นมากเรื่องน้ำกินน้ำใช้ น้ำสระหลังโรงเรียนไม่พอ ต้องเทียมรถเข็นกับมอเตอร์ไซค์ไปหาบน้ำต่างหมู่บ้าน มีทั้งลาบดิบลาบสุก ตัวเขาที่ชอบมากคือทองหยอด ตกเย็นฉันกินแทนข้าวตอนที่แพ้ท้องเขา อยู่ด้วยกันเหมือนเพื่อน บางทีว่า ‘ยายอ้วนๆ ทำไมอ้วนจัง’”

ความมุ่งมั่นทำงานดนตรีไทยตั้งแต่ตั้งต้นชีวิตราชการครูของครูศิวศิษฏ์ หลายเรื่องไม่ใช่ความบังเอิญลองผิดลองถูก หากแต่ลงมือทำอย่างมีแผนลำดับขั้นตอนมุ่งเป้าหวังผลลัพธ์อนาคต ด้วยความตั้งใจที่ ‘เขาจะทำดนตรีไทยที่อีสานให้ดังให้ได้’ ไม่ว่าเป็น นำเครื่องดนตรีส่วนตัวจากบ้านใช้สอนวันแรกที่บรรจุราชการ เพื่อไม่ให้เสียเวลาทำงานขณะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง นักเรียนดนตรีไทยโรงเรียนโนนสะอาดฯ ต้องพักค้างคืนอยู่ซ้อมดนตรีที่โรงเรียน แสดงออก ‘ความเป็นฉัน’ ทำงานโรงเรียนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิชาดนตรีไทยอย่างเข้มข้นเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คิดเห็นคัดค้านตรงไปตรงมาในเรื่องที่ลงความเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างที่ควรเป็น

ครูไกรศรี เวชกร ครูโรงเรียนบ้านไผ่ [ข.ก.๕] ครูคณิตศาสตร์ใจรักดนตรี ผลักดันตั้งวงดนตรีไทยของโรงเรียนและส่วนตัวที่บ้าน ‘เวชกร’ ร่วมกับภรรยา ครูอรสา ครูภาษาอังกฤษโรงเรียนหนองลุมพุก เล่าเพิ่มเติมว่า “คนที่นี่ทึ่งเขานะ ไปที่ไหนก็ช่าง เขาต้องวาดลวดลายทางจะเข้ดุเด็ดเผ็ดมันส์ คนเห็นก็แห่มาดู นี่คือการประชาสัมพันธ์ ถามว่าทางนี้รู้จักดนตรีไทยไหม ไม่รู้ ไม่ใช่ไม่รู้อย่างเดียว ไม่ซาบซึ้งแล้วไม่ใส่ใจด้วย วันแรกที่เจอกัน คุยเรื่องดนตรีกันทั้งคืน มาค้างที่บ้าน ตั้งใจให้ผมพาไปคุยกับผู้บริหารหลายๆ โรงเรียน ว่าถ้าเขาจะทำดนตรีอย่างนี้ ท่านว่าอย่างไร โรงเรียนไหนต้องการเขาจะทำให้ โดนปฏิเสธหมด เพราะเอาแต่วิชาการ ศิวศิษฏ์ก็ถอยหมดเหมือนกัน ทำโนนสะอาดฯ ที่เดียว ยาก เด็กยังฟังภาษากลางไม่ค่อยรู้เรื่องเลย แต่เขาทำวงดนตรีไทยส่งประกวดได้

“ไปเจอเขาขี่มอเตอร์ไซค์อยู่กลางทาง ซื้อขนมปังเป็นปี๊บๆ เลี้ยงเด็ก ซื้อหมูซื้อผักทำกับข้าวให้เด็กกิน น้ำพริกอ่องของเขากินได้เป็นอาทิตย์ เคยไปแข่งที่มหาสารคาม โรงเรียนได้ที่ 1 ตีฉิ่งผิด แต่กรรมการบอก ได้ที่ 1 เพราะชื่อเสียงครูผู้สอน เราฟังก็ว่าศิวศิษฏ์ชนะแน่ ผลออกมาไม่ถูกต้อง ศิวศิษฏ์เขียนจดหมายไปต่อว่ากรรมการเลย นี่คือเขา พบกันเพราะผู้อำนวยการโรงเรียนโนนสะอาดฯ พามาให้ผมรู้จัก มาถึงเห็นเด็กที่บ้านกำลังซ้อมเพลง ศิวศิษฏ์ตาวาวเลย”

เวลา 2 ปี ที่โรงเรียนโนนสะอาดวิทยาคาร แม้ไม่มากพอที่ทำให้ดนตรีไทยภาคอีสานมีชื่อเสียงโดดเด่นขึ้นมาได้อย่างที่เขาตั้งใจ หากแต่ไม่น้อยเกินไปในแง่จุดหมุดหมายตั้งต้นเปิดพื้นที่เชื่อมความสัมพันธ์ เพราะดอกผลงอกเงยเวลาต่อมาโดยการลงทุนลงแรงหว่านไถเมล็ดพันธุ์จากมือครูศิวศิษฏ์ คือฝีมือคนดนตรีไทยภาคอีสานหลายท่านยืนหนึ่งไม่น้อยหน้าภาคอื่นๆ ร่วมยุคสมัย โดยเฉพาะ ครูอดิศร เวชกร อดีตอาจารย์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งประคับประคองวงดนตรีไทยระยะเริ่มต้นตั้งไข่ที่นั่นหลายวง กระทั่งปักหลักมั่นได้ด้วยลำขาตัวเอง ไม่ว่าเป็น โรงเรียนบ้านไผ่ โรงเรียนบ้านหนองลุมพุก โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม โรงเรียนบ้านหนองบัว

เด็กโควต้า

มองจากมุมสายตาคนนอก หลังโอนย้ายกลับบ้านเกิดทำงานครูดนตรีไทยที่โรงเรียนสิงห์บุรี ‘วงสิงห์บุรี’ เป็นที่รู้จักในฐานะที่ครูผู้สอน คือครูศิวศิษฏ์ มีความสามารถรอบตัวเล่นเครื่องดนตรีไทยได้รอบวง ทั้งเครื่องสายปี่พาทย์ ขับร้องและเครื่องหนัง มีพื้นฐานความสัมพันธ์กับนักดนตรีเก่าใหม่ตามหน่วยงานกรมกองดนตรีไทย โดยเฉพาะเป็นวงดนตรีภูธรที่ชำแรกขึ้นแท่นทำเนียบคว้ารางวัลประกวดหลายเวที ยิ่ง 10 ปี แรกการทำงานที่ถือเป็นยุค ‘ล่ารางวัล’ รุ่งเรือง การันตีด้วยหลักฐานผลงานเกียรติยศ ทั้งถ้วยโล้พระราชทานฯ เกียรติบัตรประกวด ทั้งประเภทวง เดี่ยวเครื่องดนตรี นอกจากตั้งใจเปิดโลกกว้างให้เป็นสนามประสบการณ์แก่นักเรียน ยังเปิดโอกาสท้าทายทดสอบฝีมือตน

ครูอุเทน เปียหลอ ลูกศิษย์ขับร้องของครูศิวศิษฏ์ อดีตสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ปัจจุบันตำแหน่งข้าราชการครู ครูชำนาญการพิเศษ [คศ.3] ครูดนตรีไทยโรงเรียนสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นผู้ฝึกซ้อม ควบคุมและดูแลวงสิงห์บุรีต่อจากยุคครูศิวศิษฏ์ เล่ายุคทองวงสิงห์บุรีว่า “เป็นช่วงที่วงสิงห์บุรีแข็งแรงที่สุด เพราะหนึ่ง ติดรางวัลแทบทุกเวทีที่เข้าร่วมประกวด สอง ผลผลิตคือลูกศิษย์มีฝีมือเข้มแข็ง เรียนต่อปริญญาตรีสายดนตรีเกือบทุกคน จบออกมายังทำงานครูสอนดนตรีไทย คนรู้จักมากน่าจะมาจากเวทีศูนย์สังคีตศิลป์ ติดรางวัลทุกครั้งทั้งรวมวงทั้งเดี่ยว มีอยู่ปีหนึ่งไปแข่งอีกรายการที่เวทีจังหวัดชลบุรี รอฟังประกาศผลเดี่ยวขลุ่ยหรืออะไรสักอย่าง โฆษกประกาศ ‘ไม่ต้องเดาแล้วนะครับ ว่าที่ไหนจะได้’ วงสิงห์บุรีได้อีกแล้ว มีประกวดที่ไหนต้องไปที่นั่น ถ้ารู้ข่าว สมัยก่อนประกวดดนตรีไทย โรงเรียนประถมมัธยมยังไม่คึกคักเท่าสมัยนี้

“ประกวดของกรมสามัญศึกษา อาจารย์คนเดียวส่งวงเข้าประกวดได้ถึง 5 วง คิดดูแล้วกัน ที่เราทำวงส่งประกวดตอนนี้ วงเดียวก็แทบแย่แล้วใช่ไหม ย้อนกลับไปว่าอาจารย์ทำได้อย่างไรถึง 5 วง แล้วไม่ใช่วงประเภทเดียวกันหรือเพลงเดียวกัน ทั้งอังกะลุง เครื่องสาย ปี่พาทย์ไม้นวม ต่างวงต่างเพลง จำนวนเด็กนักเรียนในวงช่วงนั้นมากที่สุดน่าจะถึง 30 คน ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นท้ายๆ ยังทันเล่นดนตรีด้วยกัน ทั้งค้างคืน-ไปกลับ อยู่ที่ว่าบ้านใกล้หรือไกล ก่อนประกวดทุกคนต้องเข้าค่ายซ้อมดนตรี ห้ามกลับบ้าน”

ทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า สมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ทั้งหมดเป็นนักเรียนระดับประถมที่ผ่านสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนสิงห์บุรีด้วยวิธีคัดพิเศษ คือทดสอบความสามารถด้านดนตรีไทย มีเงื่อนไขตายตัวที่ต้องรับทราบยอมรับข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครองทางบ้านว่า สมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี หรือที่เรียก ‘เด็กโควต้า’ ต้องพักค้างคืนอยู่ซ้อมดนตรีใช้ชีวิตร่วมกันที่บ้านส่วนตัวครูศิวศิษฏ์ [ยกเว้นกรณีที่บ้านไม่ไกลจากโรงเรียน] เพื่อปฏิบัติกิจกรรมดนตรีตามกำหนดอย่างเคร่งครัด

ครูอุเทน เปียหลอ เล่ายุคก่อตั้งรวมตัวสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรีว่า “อาจารย์ย้ายจากขอนแก่นมาอยู่โรงเรียนสิงห์บุรีเทอม 2 ผมอยู่ชั้น ม.1 ตอนนั้นสมัครเข้าชมรมดนตรีสากล เรียนเป่าคลาริเน็ต อาจารย์มาถึงก็ไล่ถามตามห้องว่า มีนักเรียนคนไหนเป็นดนตรีไทยมาจากโรงเรียนอะไรบ้าง เขารู้อยู่แล้วแต่ปะเหลาะถาม ‘นี่ ไปเรียนดนตรีสากล ร้อนก็ร้อน เดินตากแดดเห็นไหม ถ้าเรียนดนตรีไทยนั่งในร่มสบาย’ ก็เริ่มคล้อยตาม อาจารย์เขามีเทคนิคลูกล่อลูกชน เมื่อก่อนพูดเพราะ ไม่มีกูมึง เคลิ้มเลย

“อาจารย์จำได้อยู่แล้ว ว่าผมเคยร้องเพลงไทย เพราะช่วงที่อยู่ขอนแก่น เขาเคยกลับมาปรับวงให้โรงเรียนวัดพรมสาคร มีผม วิทยา โหจันทร์ สมศักดิ์ สังข์สอน สรนัย สระสม พวกนี้ศิษย์เก่าวัดพรหมสาครทั้งนั้น เจอกันที่โรงเรียนสิงห์บุรี เขาก็จำได้ ว่าไอ้นี่คนขลุ่ย ไอ้นี่คนร้อง ไอ้นี่ดีดจะเข้ หว่านล้อมจนพวกผมตกลงย้ายมาอยู่ชมรมดนตรีไทย”

ครูพรชัย ผลนิโครธ ลูกศิษย์ปี่พาทย์ของครูศิวศิษฏ์ อดีตสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาดนตรี สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เล่าเหตุการณ์สอบโควต้าดนตรีไทยโรงเรียนสิงห์บุรีว่า “กลัวนะ อาจารย์เป็นคนดุ ด้วยบุคลิกชอบแกล้งชอบแหย่เด็กอยู่แล้ว เห็นทีแรกไม่กล้าเข้าใกล้ บางทีแหย่ให้กลัวมากกว่า ผมเป็นรุ่นน้องครูอุเทน 5 ปี รุ่นผม 5 คน จบ ป.6 จากโรงเรียนวัดพรหมสาคร พร้อมใจมาสอบโควต้าโรงเรียนสิงห์บุรี คนสมัครเยอะ เพราะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ก่อนสอบทุกคนต้องเข้าค่ายดนตรี คล้ายๆ ปรับพื้นฐานให้ทำโน้นทำนี่ ดูแววว่าจะเรียนดนตรีต่อได้ไหม ให้ตีสาธุการทางฆ้องตามโน้ตบนกระดาน มีพี่ๆ นั่งประกบ ใครอ่านได้ก็อ่าน ตอนนั้นผมอ่านโน้ตได้อยู่แล้ว เพราะตาที่บ้านเคยสอนให้มาก่อน

“อาจารย์เห็นตีฆ้องได้ก็จับต่อระนาดเลย ถึงวันต้องตีสอบพร้อมกันทั้งหมด ผมตีระนาดคนเดียว ตีได้บ้างไม่ได้บ้าง จำไม่ไหว ตีไม่ทันด้วย นึกในใจไม่ติดแน่ ประกาศผลสอบ เด็กวัดพรหมสาครติดโควต้าทั้งทีม เฮเลย ปีนั้นรับแค่ 5 คน มีจันทร์จิรา สมัครวงษ์ สมเจตน์ วิพันธุ์เงิน นิคม ผูกฉิม คนขลุ่ยชื่อกล้า แล้วก็ผม”

วันธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

น่าสนใจว่า ในอดีตมีนักวิชาการประวัติศาสตร์ดนตรีเคยตั้งข้อสังเกตว่า วงสิงห์บุรีบริหารจัดการความเป็นอยู่ของสมาชิกนักดนตรีในวง ฝึกซ้อม และมีการเรียนรู้ ในรูปแบบที่ใกล้เคียงระบบ ‘สำนักดนตรี’ ได้อย่างประสบผลสำเร็จ ทั้งที่เนื้อตัวองค์ความรู้ครูผู้สอน คือครูศิวศิษฏ์ เติบโตเข้มแข็งมาจากโลกฝั่งคนเครื่องสาย โดยเฉพาะที่เด่นชัดมาก คือรื้อฟื้นวิธีฝึกซ้อมดนตรีที่เคยเป็นที่นิยมของนักดนตรีไทยอาชีพต่างสำนักในอดีต นำกลับมาใช้กับนักเรียนชมรมดนตรีในยุคปัจจุบัน ที่แม้ว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของคนและสภาพสังคมจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

สำคัญที่ครูศิวศิษฏ์สร้างสิ่งแวดล้อมภายนอกรอบตัวลูกศิษย์ให้มีแต่เสียงดนตรี สร้างจิตสำนึกภายในให้ครุ่นคิดคำนึงถึงแต่เรื่องดนตรีเท่านั้นอีกเช่นกัน เพราะไม่ว่ายุคตั้งต้นตั้งแต่นักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรีจะพักค้างคืนซ้อมดนตรีอยู่ที่บ้านพักครูในโรงเรียนสิงห์บุรี หรือต่อมาย้ายไปพักค้างคืนถาวรที่บ้านส่วนตัวครูศิวศิษฏ์ ถนนจีรชน ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ก็ตาม หากแต่หลักการข้อตกลงตารางเวลาชีวิตประจำวันที่กำหนดให้ลูกศิษย์ปฏิบัติ ที่มุ่งเน้นผนวกการเรียนสามัญ กิจกรรมดนตรี กิจวัตรส่วนตัว-หน้าที่รับผิดชอบส่วนรวมเข้าไว้ด้วยกัน ยังคงปฏิบัติเข้มข้นเคร่งครัดเป็นเส้นคู่ขนานเสมอต้นเสมอปลาย

ครูวิทยา โหจันทร์ ลูกศิษย์เครื่องเป่าไทยของครูศิวศิษฏ์ อดีตสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ปัจจุบันตำแหน่งข้าราชการครู ครูชำนาญการพิเศษ [คศ.3] ครูดนตรีไทยโรงเรียนอนุบาลเทศบาล ๓ [พรหมรวมมิตร] จังหวัดสิงห์บุรี ฉายภาพทรงจำชีวิตนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรีว่า “กดดัน กดดันเรื่องซ้อมนี่แหละ เพราะอาจารย์กำหนดเส้นตาย สมมุติกลับจากงานนี้ถ้าไม่ได้เป็นโดน โดนตีจริงๆ ตีชนิดที่เป็นแนวเลือดซึม ยุคแรกค้างคืนที่โรงเรียน เช้าก่อนตี 5 ต้องขวนขวายไปห้องซ้อมดนตรี ตื่นไล่เครื่องดนตรีทุกวัน วันไหนขี้เกียจหนักๆ อาจารย์จะเรียกทำโทษ ถามว่าต้องซ้อมเวลาไหนบ้าง ซ้อมทุกเวลาที่ว่าง ว่างจากงานช่างเครื่องดนตรี ว่างจากชีวิตประจำวัน ว่างจากการบ้าน ซ้อมกระทั่งวันพักผ่อนเสาร์อาทิตย์

“ยุคที่ย้ายมาพักที่บ้าน แรกๆ ทำข้าวเกรียบขายด้วย แม่อาจารย์ทำอาหารเก่ง ข้าวเกรียบกุ้งลายๆ ที่เวลามีงานเลี้ยงโต๊ะจีนจะได้กินใช่ไหม นั่นแหละ แม่อาจารย์ทำส่งขายในตลาด พวกเรามีหน้าที่ช่วยกันหารายได้พิเศษ เพราะเขาเลี้ยงดูลูกศิษย์ทั้งบ้าน ตื่นตี 4 มากวาดลานบ้านหั่นข้าวเกรียบ คนที่ซ้อมก็ซ้อมไป สูตรแม่อาจารย์ นวดแป้งข้าวเกรียบต้องใช้น้ำต้มจากเตาถ่าน เทน้ำใส่แป้งแล้วนวดร้อนๆ มือแดงหมด หนักเข้าก็เริ่มชิน เพราะมือด้าน ปั้นแล้วเอาไปนึ่ง ผึ่งสักพักก็เก็บหมักไว้ในถุง เช้าหั่นลงตะแกรงตากแดด เก็บตุนไว้เป็นโอ่งๆ

“สมัยนั้นเพื่อนในห้องไปเที่ยวกันหมด เราไปไหนไม่ได้เพราะต้องซ้อมดนตรี พูดไปพูดมาอาจารย์ตกลงว่าจะไปเที่ยวกันสักครั้ง ไปน้ำตกกาญจนบุรี อัดอั้นซ้อมหนักมานาน เฮกันเลย เตรียมเสื้อผ้าเรียบร้อย ขนของขึ้นรถเสร็จ อาจารย์ถาม ‘พวกมึงลืมอะไรหรือเปล่า’ เขาให้ขนเครื่องดนตรีไปด้วย เช่าที่พักเสร็จ ขนเครื่องดนตรีลง เรียบร้อย ซ้อมยาว ซ้อมเสร็จกินข้าวนอน ตื่นเช้ามาซ้อมอีก ซ้อมแล้วเครียดด้วย ผิดหูเขา ซ้อมทีไรกลัวทุกที สงสัยไม่ได้เล่นน้ำแล้วมั้ง แม้แต่เที่ยว ถ้านั่งในวงแล้วผิดเมื่อไหร่มีปัญหา ทุกครั้งที่เล่นดนตรีต้องเอาเพราะ เอาให้ดี ผิดไม่ได้ เขาควบคุมคุณภาพตั้งแต่การซ้อม จำได้ถึงทุกวันนี้ พวกมึงลืมอะไรหรือเปล่า”

ครูนิรุตติ์ หนักเพ็ชร์ ลูกศิษย์ปี่พาทย์ของครูศิวศิษฏ์ อดีตสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ปัจจุบันตำแหน่งข้าราชการครู ครูชำนาญการ [คศ.2] ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอำเภอปากพลี [ชุมชนบ้านเกาะหวาย] จังหวัดนครนายก ลำดับชีวิตแต่ละวันของนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรีว่า “วันธรรมดาที่ไปโรงเรียน ทุกเช้าต้องตื่นตี 5 โหมโรงเช้า มันจะงัวเงียนะเด็ก แต่ละวันจะแบ่งหน้าที่กัน ใครเป็นเวรทำกับข้าว เช้าก็ไปรับเงินจากแม่อาจารย์จ่ายตลาด ซื้อของทำกับข้าวเช้าเย็น ไม่ยาก ผัดผัก ไข่เจียว ทำให้ทันกินข้าวพร้อมกัน 7 โมงครึ่ง โหมโรงเช้าโหมเสร็จไม่เกินครึ่งชั่วโมง คนเครื่องสายต้องโหมด้วย บังคับ ทีนี้ก็แยกไปดีดจะเข้สีซอ คนปี่พาทย์อยากซ้อมเดี่ยวหรืออะไรก็ซ้อม เจ็ดโมงสี่สิบห้ากระโดดขึ้นกระบะหลังรถอาจารย์ไปโรงเรียน เลิกเรียนกลับมาถึงก็ทำเวรตามหน้าที่ ซ้อมโหมโรงเย็น ซ้อมเพลงตามตารางแต่ละวัน สามทุ่มถึงให้พักทำภารกิจส่วนตัว เสาร์อาทิตย์ตัดเรื่องเรียนออกไป ใครมีการบ้านก็ต้องซ้อมก่อน ตกเย็นซ้อมเหมือนเดิม”

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

ชีวิตประจำวันที่ใช้ร่วมกันนี่เอง แง่หนึ่งสร้างการเรียนรู้ให้ลูกศิษย์ผ่านการซึมซับด้วยการมองเห็น การฟัง และการทำซ้ำทุกวันจนขึ้นใจ เป็นการเรียนที่ ‘เลียน’ แบบพฤติกรรมทางดนตรีจากครูผู้สอน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ครูศิวศิษฏ์ใช้ความสามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีอย่างมีคุณภาพของตนเป็นต้นแบบสร้างแรงจูงใจให้ลูกศิษย์เกิดแรงบันดาลใจดำเนินรอยตาม หรือที่เรียก ‘ไอดอล’ โดยเฉพาะอธิบายเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญการเรียนหลักของวงดนตรีไทย ที่ไม่จำกัดเฉพาะฝีมือความรู้ปฏิบัติเครื่องมือเอก หากแต่บังคับเรียนรู้ทำนองฆ้อง เครื่องหนัง ขับร้อง ขอบข่ายเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นนักดนตรีครูดนตรีไทยมืออาชีพ

ครูพรชัย ผลนิโครธ ยกตัวอย่างวิธีสอนของครูศิวศิษฏ์ว่า “เน้นปฏิบัติให้ตรงตามเป้าหมายที่เขาต้องการ อาจารย์ตั้งมาตรฐานไว้สูงพอสมควร ถึงบางครั้งยังไม่คล่อง แต่ก็ต้องเอาออกไปใช้งานในสถานการณ์จริง เพราะสถานการณ์จริงจะบอกได้ว่า ถ้าคุณไม่ซ้อม ผลจะออกมาเป็นอย่างไร พูดถึงได้อะไรมามากเหมือนกัน บางครั้งได้โดยที่เราไม่รู้ตัว สมัยนั้นมีซาวด์อะเบาท์คนละเครื่อง บางทีไม่ได้ต่อเพลงตัวต่อตัวกับอาจารย์ เพราะเขาติดธุระ แต่จะอัดเสียงไว้ให้ กลับมาถึงจะตรวจว่าได้หรือไม่ได้ เป็นการฝึกให้เรารู้จักฟัง ฟังอย่างพินิจพิเคราะห์ ฟังอย่างจับรายละเอียดของเสียง

“อาจารย์มีลูกเล่นหลายอย่าง ใช้วิธีค่อยๆ ตะล่อมพูดตะล่อมสอน ล้อมวงกินข้าวเย็นก็เอาเทปมาเปิดให้ฟัง ‘ยอดศิลปินรุ่นเก่า เพราะนะ ลองฟังดูสิ’ ฟังแล้วก็สอน โบราณเขาเล่นกันอย่างนี้ ร้องก็ต้องร้องอย่างนี้ ซอเขาสีกันอย่างไร พาไปดูรายการจุฬาวาฑิตที่จุฬาฯ พาไปดูประกวดดนตรีไทย กลับมาก็จะถาม ดูแล้วคิดอย่างไร อยากไปประกวดกับเขาบ้างหรือเปล่า นี่คือวิธีการ หรืออย่างเช่นไล่ระนาดทุกเย็น อาจารย์เป็นคนไล่ระนาดทน ทุกคนต้องหยุดก่อน เขาถึงจะยอมหยุด ใครมาไล่ด้วยก็ต้องยอมแพ้ไป พูดง่ายๆ เป็นการขึงมาตรฐานคุณภาพด้วยตัวเขาเอง”

คนว่างคือคนขี้เกียจ

ไม่เพียงแต่ครูศิวศิษฏ์จะใช้พื้นที่บ้านของตนให้เป็นที่พักที่ทำการเรียนการสอนดนตรีแก่นักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรีเท่านั้น หากแต่เงินเดือนทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับตั้งแต่บรรจุราชการครู ยังถูกนำไปใช้เพื่อกิจกรรมดนตรีที่ตนบริหารจัดการอีกด้วย ตั้งแต่ค่าอุปโภคบริโภคกินอยู่ทั้งหมดของลูกศิษย์ จำแนกได้เป็น ค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าน้ำ-ค่าไฟ ยารักษาโรค ซ่อมแซมที่พัก ค่าใช้จ่ายจิปาถะจำนวนมากเกี่ยวกับดนตรี ไม่ว่าเป็น ค่าเดินทางน้ำมันรถ ค่าซ่อม สร้าง จัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องดนตรีคุณภาพดี เป็นความจริงที่ว่า ครูศิวศิษฏ์ต่อสู้ด้วยตนเองเพียงลำพังโดยไม่เคยทำเรื่องของบฯ จากโรงเรียนแต่อย่างใด เพราะต้องไม่ลืมว่า การทำงานด้านดนตรีจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวคิดวิสัยทัศน์ผู้บริหารเป็นสำคัญ

นางกรรณิกา วิพันธุ์เงิน เล่าจากสายตาตนที่มองเห็นทุกความเคลื่อนไหวในบ้านว่า “เงินหลวงไม่มีก็เอาเงินบ้าน อังกะลุงไม่มีก็บอกแม่เอาเนอะ เอาก็เอา กระทะที่บ้านหลุดไปหูหนึ่ง พวกอังกะลุงมาถึงก็ล่อไปอีกหู เมื่อก่อนพักบ้านพักที่โรงเรียน จะพังไม่พังแหล่ หุงข้าวใส่หม้อไฟฟ้าไปให้เด็กกิน พอเสร็จฝามันบินไปออกหน้ารถ หมด สิบล้อทับเละ ตาเขาก็ช่วยเอามาซ่อมให้จนใช้ได้ อยากเอาเด็กมาอยู่ที่บ้านก็อยู่ไป ฉันชอบดนตรีอยู่แล้ว เขมรไทรโยคหัดร้องเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ได้ บอกว่าไม่เอาแล้ว ทำกับข้าวดีกว่า ให้เด็กกินได้

“เลี้ยงเด็กหมดเปลืองไปเท่าไหร่ไม่เคยพูด ซื้อเครื่องดนตรีจนฉันต้องเตือน เกิดเป็นตายขึ้นมาแล้วเงินทองจะไม่มีทำศพ ก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อเดี๋ยวก็รู้ งานผู้ว่าฯ ศาลากลางจังหวัด ซ้อมถึงเที่ยงคืนยังไม่ได้เพลง ข้างบ้านไม่พูดพร่ำทำเพลง ขว้างแก้วน้ำเข้ามาในบ้านเลย ทางนี้ก็เงียบ ขว้างมาฉันก็ขว้างกลับ บอกมึงรู้ไหม เขาซ้อมงานอะไรกัน”

ครูศิวศิษฏ์มีวิธีบริหารจัดการเงินที่ลูกศิษย์ในบ้านต่างทราบดีว่า เงินเดือนแต่ละเดือนทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ที่นางกรรณิกา แต่ละครั้งจะเบิกจำนวนพอดีกับความจำเป็นที่ต้องใช้จ่าย ไม่ว่าเงินจำนวนนั้นจะมากหรือน้อย ตนจะให้ลูกศิษย์เป็นคนถือ โดยมีแนวคิดว่า ‘ใจสำคัญกว่าเงิน อย่าให้เงินทำให้เราตกต่ำ’ ด้วยเหตุนี้เองที่ส่วนตัวครูศิวศิษฏ์จึงไม่จดจำตัวเลขการเงิน ขอให้แต่ละเดือนมีเพียงพอเลี้ยงลูกศิษย์ บริหารจัดการกิจกรรมดนตรีได้เท่านั้น โดยมีบำเหน็จนางกรรณิกาเป็นเงินคอยอุดหนุน รับซ่อมบำรุงขายจะเข้เป็นรายได้เสริม ยังได้รับอุปถัมภ์เป็นครั้งคราวจากหลายท่านที่มีบุญคุณ

ครูนิรุตติ์ หนักเพ็ชร์ เล่าว่า “ผมอยู่ในยุคที่ทุกวันอาทิตย์จะมีโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาที่วัดพระนอนจักรสีห์ เขาสร้างสังคมการเรียนรู้ในวัด หลวงพ่อไปซื้อเครื่องดนตรีไทยมาหนึ่งชุด ให้พวกผมไปสอน สอนฟรีๆ ตั้งแต่บ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น แต่ละเดือนท่านจะให้ข้าวสาร ของกินดีๆ ที่เก็บได้นาน พวกแหนมซี่โครงหมู กุนเชียง หมูหยอง คนที่เขารู้ว่าบ้านอาจารย์เลี้ยงลูกศิษย์เยอะ อย่าง มศว. ก็ให้ข้าวมาเป็นกระสอบๆ

“อีกวัดที่ลืมไม่ได้ คือ วัดอัมพวัน หลวงพ่อจรัญบอกอยากช่วยอาจารย์ เคยเอาวงดนตรีไปเล่นงานที่วัด หลังจากนั้นท่านก็เอาของมาให้ หรือวัดสว่างอารมณ์ สิงห์บุรี เมื่อก่อนเป็นศูนย์การเรียนรู้หนังใหญ่ พวกผมมีหน้าที่ทำปี่พาทย์ประกอบสาธิตหนังใหญ่ให้นักท่องเที่ยวดู เป็นคณะทัวร์ งานเท่าไหร่ๆ ค่าตอบแทนจะให้ผ่านแม่อาจารย์ ตัวอาจารย์ไม่รับเงินค่าเล่นดนตรี อยู่บ้านอาจารย์ไม่มีอดอยาก แต่ช่วงที่อดอยากก็มี เงินหมด เคยเก็บผักโขมข้างทางมาผัดกินกัน”

เป็นอีกประเด็นชัดเจนที่คนภายนอกพูดถึงมากเกี่ยวกับวงสิงห์บุรี เพราะไม่ว่างานเล่นดนตรีเดินทางใกล้ไกลกระทั่งเหนือสุดจรดใต้สุดประเทศ โดยเฉพาะงานของครูอาจารย์ดนตรีไทย ผู้ใหญ่ที่เคารพ เครือญาติกัลยาณมิตร ครูศิวศิษฏ์จะรับเงินตอบแทนเล่นดนตรีเพียง 6 บาท พร้อมดอกไม้ธูปเทียนเป็นเงินกำนลครูเท่านั้น จึงปรากฏเป็นปกติว่า เขามักหลีกเร้นหลังถอนวงจากเล่นดนตรีเสร็จทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงรับเงินตอบแทนเดินทางจากเจ้าภาพ กำชับลูกศิษย์ในเรื่องความเสียสละทางดนตรี โดยยกเหตุผลว่า ได้รับสิ่งใดมาอย่างไรก็ควรมอบสิ่งนั้นกลับไปอย่างนั้น เฉกเช่นฝีมือความรู้ดนตรีที่ได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน

คุณธรรมจริยธรรม จรรยามารยาท อุดมการณ์ทางดนตรี ยังเป็นสิ่งเน้นย้ำที่ครูศิวศิษฏ์หยิบยื่นกล่อมเกลาลูกศิษย์ ว่าควรดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายภายใต้กรอบดังกล่าว ด้วยวิธีสั่งสอนที่ทั้งปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างสอดแทรกทางวาจาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเป็น ความกตัญญูรู้คุณคน การปฏิบัติตนต่อผู้อาวุโส เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกับลูกศิษย์ หมายความว่าต้องทั้งลำบาก สบายร่วมกัน หนัก เหนื่อยร่วมกัน สาปแช่งด้วยกุศโลบาย ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน กฎแห่งกรรม ศีลธรรมความดี รักษาเวลาหน้าที่ โดยเฉพาะที่ว่า ‘คนว่างคือคนขี้เกียจ’ และ ‘ใครว่างมาหาข้า’ เพื่อที่จะได้หางานให้ทำ มักถามตอบลูกศิษย์เสมอว่า ‘มึงอยากเป็นครูดนตรีอย่างข้าไหม ถ้าอยากมึงต้องเหนื่อย เป็นครูดนตรีต้องเหนื่อย’ ทั้งเขียนข้อความเตือนสติ และลงโทษหนักเบาหลากหลายรูปแบบ

ครูพรชัย ผลนิโครธ เล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า “ใช้วิธีบำรุงหลายๆ อย่าง ทั้งประชดประชัน สาบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาศัยแบบโบราณ หลายเรื่องคนอื่นทำไม่ได้ แต่อาจารย์ทำได้ ขึ้นอยู่กับผู้กระทำ เพราะตั้งใจจริง ลูกศิษย์เห็นก็เกรงใจ หลังๆ อาจารย์ดุมาก เขาเคยพูด ‘ไม่หยาบก็ต้องหยาบ ไม่หยาบก็เอาไม่อยู่’ เลยเปลี่ยนตัวเอง อาจเกิดจากความเครียดเรื่องลูกศิษย์ บางคนเกเรหนัก ถึงขั้นต้องโยงกับขื่อแล้วลงด้วยหวาย ถือว่าหนักสุด พ่อแม่เขารู้ว่าลูกเป็นอย่างไร ก็มอบให้ทำได้เต็มที่ คนเดิมนี่แหละ กวนอะไรไม่รู้ อาจารย์มัดทิ้งไว้กับต้นไม้ข้างทาง ต้องตะโกนร้องให้ชาวบ้านแถวนั้นช่วยแก้มัดมาส่ง เอาเรื่องเหมือนกัน อาจารย์ก็ไม่ธรรมดา ไม่อย่างนั้นผิดระเบียบก็จะเดือนร้อนกันหมด

“สมมุติโกรธคนหนึ่ง จะพาลบึ้งตึงทั้งบ้าน ไม่เข้าใจว่าโกรธเราเรื่องอะไร ไม่พูดไม่จา ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้ทำผิด เคยน้อยใจ ตกค่ำหนีเลย ไปดีกว่า เก็บเสื้อผ้าเหมารถไปส่งสายเอเชีย นั่งรถตู้เข้ากรุงเทพฯ 3 คนกับเพื่อน หายไปอยู่บ้านญาติเพื่อน 3 วัน มีคนส่งข่าวว่าอาจารย์ป่วยหนัก เครียดมาก เป็นไมเกรนล้มนอน เป็นห่วงว่ารุ่งขึ้นจะสอบกลางภาค ถ้าไม่กลับมาสอบจะเรียนไม่จบ ยอมกลับมาขอโทษอาจารย์ อย่างที่ว่า เขาโกรธเพื่อให้เรารับผิดชอบร่วมกัน

“อาจารย์คอยคุมไม่ให้นอกลู่นอกทาง อย่างวันเสาร์เหมือนรู้ว่าสุมหัวจะทำอะไร ถ้าเลิกซ้อมเร็วต้องไปเที่ยวแน่ๆ เขาก็หาเรื่องซ้อมไปเรื่อยๆ ค่ำๆ ถึงส่งกลับบ้าน นี่วิธีแก้ บางคนเล็งไว้แล้ว มึงเกแน่ ฉะนั้นเป็นพี่ต้องดูแลน้อง ดัดนิสัย มึงเกน้องก็ต้องเก ก็ว่าน้องไม่ได้ ถ้าน้องผิด พี่โดนด้วย หลายคนมารู้ตอนหลัง ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ป่านนี้คงหลุดไปไหนต่อไหน”

นับเป็นเรื่องยากที่จะทราบอุปนิสัยส่วนตัวนักเรียนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกวงดนตรีสิงห์บุรี เพราะเบื้องต้นครูศิวศิษฏ์คัดเลือกโดยพิจารณาความสามารถด้านดนตรีเป็นหลัก การอยู่ร่วมกันของนักเรียนที่มีพื้นฐานครอบครัวเลี้ยงดูอบรมต่างกัน ปฏิเสธไม่ได้ที่ครูศิวศิษฏ์จะต้องใช้พระเดชควบคู่พระคุณในการดูแลคนหมู่มาก หากแต่รูปแบบทำโทษถูกเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลูกศิษย์ที่มีจริตต่างกัน ไม่ว่าเป็น ให้นั่งคาบขลุ่ยอู้หน้าห้องเรียน คลานหรือแบกเครื่องดนตรีเดินไปมา ตีฆ้องร้องเป่าประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ดีของตน แขวนป้ายในคอด้วยข้อความสารภาพผิด ไปเรียนโดยให้นุ่งโจงกระเบนผ้าดิบ กร่อนหรือโกนผม โกนคิ้วข้างเดียว หากหลงลืมทำสิ่งใดจะให้กราบสิ่งนั้นแล้วประกาศจะไม่ทำอีก เช่น ลืมปิดไฟหรือพัดลมในบ้าน

มีอะไรไว้ก่อน

กลับมาที่เรื่องดนตรี เป็นที่น่าสังเกตว่า เป้าหมายเล่นดนตรีของวงสิงห์บุรีหลังผ่านยุคทองบนเวทีประกวดเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะหลายปัจจัย ซึ่งแน่นอนว่า บุคลิกวงสิงห์บุรียึดโยงอยู่กับความคิดผู้ควบคุมวงอย่างครูศิวศิษฏ์ที่ไม่ต่างหางเสือกำหนดทิศทางเรือ แม้อุดมการณ์ความตั้งใจทำงานดนตรีจะไม่เปลี่ยนแปลงสั่นคลอน หากแต่ความคิดเปลี่ยนไปตามยุคสมัยประสบการณ์ที่ได้รับ โดยเฉพาะรสนิยมปรับวงดนตรี ที่ครูศิวศิษฏ์เน้นทักษะฝีมือ ผูกกลอนลึกซึ้ง แตกทางบรรเลงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละชนิดเครื่องดนตรี ที่แม้ด้านหนึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังอย่างชื่นชม หากแต่อีกด้านก็มีกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตีกลับ ว่าลักษณะการบรรเลงดังกล่าวเหมาะสำหรับ ‘ประชัน’ มากกว่า ‘ประกวด’

นอกจากนี้ หากกล่าวตรงไปตรงมา ‘ความเป็นฉัน’ ของครูศิวศิษฏ์ที่แสดงออกทางความคิดผ่านการกระทำ หลายครั้งอาจขัดความเชื่อเดิมและกรรมการบางท่านที่กุมอำนาจกฎเกณฑ์บนเวที การไม่โอนอ่อนผ่อนตามจึงมีความหมายเท่ากับท้าทายโดยปริยาย หลายเวทีที่วงสิงห์บุรีไปแตะไม่ถึงดวงดาวก็อาจเพราะเหตุผลข้างต้นนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อความต้องการเดินทางถึงจุดอิ่มตัวแล้วพบสัจธรรม ว่าการประกวดไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดในการเล่นดนตรี ทั้งลดทอนความคาดหวังจากลูกศิษย์หลายคนที่ล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน เขาจึงเทกำลังกายใจเน้นหนักไปที่ออกงานบรรเลง เพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ชีวิตจากภาคสนาม เล่นดนตรีตามรสนิยมแนวทางปรารถนาชื่นชอบส่วนตน

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

ครูวิทยา โหจันทร์ เล่าเรื่องราวที่อาจเรียกได้ว่าเป็นวีรกรรมของครูศิวศิษฏ์ว่า “เรื่องระนาดเอกมโหรี กำลังขึ้นเวทีประกวด อาจารย์ขึ้นไปเทียบเสียง ทีแรกกรรมการไม่ให้ใช้เครื่องดนตรีส่วนตัว ให้ใช้เครื่องดนตรีส่วนกลางประกวด เกี่ยวกับลูกระนาด ว่าจริงๆ แล้วมีกี่ลูกแน่ เทียบเสียงเสร็จอาจารย์เอาเลย หยิบไมค์ขึ้นถามกลางเวที ว่าที่ถูกต้องระนาดมโหรีมี 21 หรือ 22 ลูก ไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร แต่เหมือนไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากกรรมการ ตอนหลังจึงให้ใช้เครื่องดนตรีส่วนตัวประกวดได้ คนในหอประชุมก็นิ่งฟัง ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์ดังเลย คนชอบก็มี คนไม่ชอบก็หาว่าก้าวร้าว แต่อาจารย์ถามเรียบร้อย ยกมือไหว้นอบน้อม

“อยากรู้อะไรก็ถาม เป็นความตรงไปตรงมามากกว่า ไม่คิดไปท้าทาย ขอความรู้ที่ถูกต้อง ว่าใครจะให้คำตอบฉันได้บ้าง แต่บางท่านคิดว่าไปกล้าเถียงกรรมการ เพราะไม่เคยมีใครทำอย่างนั้น อะไรที่ยอมไม่ได้จริงๆ จะไม่ยอม อาจารย์ไม่ยอมอะไรง่ายๆ ที่เห็นว่าไม่ชัดเจน ภาพลักษณ์ที่ออกมาจึงดูว่าเป็นคนตรงคนแรง บางทีทำอะไรก็ไม่ค่อยเข้าหูเข้าตาผู้ใหญ่มากนัก”

เป็นไปได้ว่า จุดตั้งต้นที่ชักนำความสนใจขยายขอบเขตเล่นดนตรีจากวงเครื่องสายมโหรีและเพลงเถาเพื่อฟัง เปลี่ยนบุคลิกวงสิงห์บุรีเล่นดนตรีวงปี่พาทย์และเพลงหน้าพาทย์เกี่ยวข้องพิธีกรรม ทั้งริเริ่มสะสมสร้างเครื่องดนตรีจำนวนมาก ทั้งวงปี่พาทย์ไทย-มอญ เป็นวงดนตรีภูธรที่มีเครื่องดนตรีวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ถึง 2 สำรับ นอกจากปัจจัยเด็กโควต้าที่มีจำนวนรับเป็นคนปี่พาทย์มากกว่าเครื่องสาย บวกกับพื้นฐานความสนใจของครูศิวศิษฏ์เป็นทุนเดิม คือ สมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี มีโอกาสฝังตัวเรียนรู้ดนตรีไทยในระบบสำนักกับครูสำราญ เกิดผล ที่บ้านตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับเยาวชนในโครงการ ‘สืบทอดศิลปะดนตรีไทยในพระดำริ’ เป็นเวลา 2 ปีเต็ม ต่อมากับครูวิเชียร เกิดผล ที่บ้านตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กอปรกับหลักคิดช่วงท้ายปลายชีวิต ที่มักต่อเพลงปรับวงดนตรีโดยจับสาระสำคัญเพลงแต่ละประเภท เพื่อรวบรัดใจความให้ทันเหตุการณ์ใช้งาน เป็นที่มาของประโยคติดปาก มักพูดกับลูกศิษย์ว่า ‘มีอะไรไว้ก่อน เรียนยากๆ เดี๋ยวง่ายๆ ไปเก็บเอาเอง’ เพลงร้องเพลงบรรเลงวงสิงห์บุรีที่เน้นใช้ออกงานระยะหลังจึงปรากฏเป็นเพลงใหญ่ แม้ด้านหนึ่งจะแสดงศักยภาพความเป็นมืออาชีพจากวงดนตรีที่มีสมาชิกเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยม หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คมด้านหนึ่งที่แม้ไม่ตั้งใจหันหาผู้อื่น คมอีกด้านก็ย่อมหันหาตนเองเช่นกัน

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

ครูเมทะนี พ่วงภักดี ลูกศิษย์ปี่พาทย์ของครูศิวศิษฏ์ อดีตสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ปัจจุบันตำแหน่งข้าราชการครู ครูผู้ช่วย ครูดนตรีไทยโรงเรียนวัดโบสถ์ [อินทร์บุรี] จังหวัดสิงห์บุรี เล่าจากประสบการณ์ว่า “อาจารย์เล่นดนตรีเต็มที่ทุกงาน งานธรรมดาที่ไม่ได้ตั้งเครื่อง 2 วง ยิ่งปล่อยหมด เหมือนซ้อมในตัว ถ้าเป็นงานนักดนตรีจะดูเชิงก่อน ช่วงหลังอาจารย์ติดเล่นเพลงใหญ่ เปรี้ยวมากขึ้น จี๊ดจ๊าดมากขึ้น สุ่มเสี่ยง ตั้งแต่มีเครื่องมอญเจอ 2 วงบ่อย อาจารย์เตรียมเพลงมีเดี่ยวข้างในเสร็จ ก๊อก 1 ก๊อก 2 ก๊อก 3 ก๊อกสุดท้ายคือหน้าพาทย์ บางทีทำให้อีกวงไม่ค่อยพอใจ เป็นที่โจษจัน เหมือนไปเล่นทับเขา แต่เราไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น

“หลายครั้งหมิ่นเหม่คล้ายๆ จะประชันกัน ไม่อยากให้อาจารย์สร้างศัตรู ถ้าเครื่องไทยไหว้ครูจะเล่นตระกริ่งก่อน เครื่องมอญเราไปจั่วหัวเขาอยู่แล้ว บางทีเปิดบัวลอย ถ้ามีวงไหนเดี่ยวก่อน อาจารย์จะให้เราเดี่ยวเลย เหมือนหาประสบการณ์ให้ ถ้าหนักๆ จะรับไว้เอง ไม่คิดว่าเป็นการแข่งขัน ไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องไปเจออย่างนี้ เพราะแข่งกันไม่ได้อยู่แล้ว หลายวงเป็นผู้ใหญ่กว่า เราเป็นเด็ก บางงานเล่นตั้งแต่บ่ายสามยันตี 4 รถออกพร้อมพระบิณฑบาต ถึงบ้านเช้า 7 โมง

“กลับมาถึงอาจารย์ให้พักหนึ่งวันเต็มๆ พักคือให้เปิดแอร์นอน ห้ามเล่นดนตรี ถึงเวลาซ้อมซ้อมเต็มที่ ซ้อมทุกอย่างที่มี ดูสีหน้าแล้วรู้สึกว่าเขาสนุก เหมือนครูโบราณ บางครั้งบอก ดูซิว่าอีกวงจะเล่นอะไร ลองกันก็มี ไม่เคยคิดโกรธเคือง ยิ้มแย้มมีความสุข ผลัดกันเล่นผลัดกันฟังมากกว่า ตัวเขาไม่กลัวใครอยู่แล้ว พวกผมนี่แหละที่จะกลัว ประหม่าก็มี”

ครูบุตรี สุขปาน ลูกศิษย์ขับร้องของครูศิวศิษฏ์ อดีตสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาดนตรี สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก สะท้อนความคิด วิเคราะห์ที่มาที่ไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า “ส่วนหนึ่งที่ต้องบรรเลงให้ดีให้สมบูรณ์ทุกครั้งที่ออกงานหรือประกวด อาจเป็นเพราะมาตรฐานที่อาจารย์ตั้งไว้ แต่ไหนแต่ไรเวลาเล่นดนตรีทุกครั้งห้ามผิด ลูกศิษย์ทุกคนจะรู้ และเมื่อมีมาตรฐานที่ดี ปั้นเด็กได้ดั่งใจ ได้รับการยอมรับอย่างมาก มาตรฐานสูงขึ้นจนเป็นที่ประจักษ์แล้วยิ่งต้องรักษามาตรฐานนั้นไว้ เหมือนขี่หลังเสือ จะให้มาเล่นกระปวกกระเปียกก็ไม่ได้ ทำให้ต้องเครียดต้องตึงไปหมด

“ส่วนเรื่องการวางเพลงบรรเลงเวลาออกงาน ในช่วงหลังมีอะไรที่ขัดกับความคิดเราหลายอย่าง เช่น เล่นเพลงใหญ่ เพลงหน้าพาทย์ เคยพูดเรื่องนี้กับครูสำราญ ครูก็เคยเตือน เด็กในวงอายุยังไม่ถึง ยังไม่สมควร ตัวอาจารย์ก็รู้ แต่ยืนยันที่จะเล่น เหตุผลลึกๆ คืออะไรคงตอบแทนอาจารย์ไม่ได้ แต่ถ้าจะสะท้อนจากสิ่งที่มองเห็น น่าจะมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงไปของบุคคล อย่างแรกคือตัวลูกศิษย์ ที่แต่ละช่วงมีทักษะต่างกัน ช่วงหลังอาจไม่ได้ดั่งใจเหมือนเดิม เด็กเครื่องสายในทางที่ถนัดก็มีเข้ามาน้อย บวกกับความผิดหวังที่สูญเสียลูกศิษย์ที่ได้ดั่งใจมากที่สุดคนหนึ่งไป ถ้าทางเครื่องสายนะ คนนี้เรียกว่าคายพิษก็แล้วกัน คือ อ้น อดิศร เวชกร จึงพลิกไปเลย คือเลี่ยงไปทำอย่างอื่น เล่นอย่างอื่นหมดเรื่องหมดราว เหมือนไม่อยากปั้นใคร แต่การเลี่ยงไปทำอย่างอื่นก็เป็นเรื่องไกลตัว อาจารย์ไม่ใช่คนปี่พาทย์ ยากที่จะไปสู้กับใครเขา จะให้ไปตีระนาดไหวจั๊กๆ แบบจุดประทัดก็คงไม่ได้ เลยฉีกแนวการเล่นออกไปอีกรูปแบบ เขาพูดเสมอ เป็นการป้องกันตัว เหมือนมีอาวุธให้อุ่นใจว่าจะไม่โดนตีหัวอย่างเดียว แต่พอเล่นอะไรที่มันไม่ถูกที่ถูกเวลา ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็นนักเลง

“สอง ตัวอาจารย์เองที่มีความเปลี่ยนแปลงด้านองค์ความรู้ เพิ่มพูนต่อยอดทางเพลงฝั่งธนฯ จากครูสำราญและครูวิเชียร รวมทั้งการสร้างสรรค์เรียบเรียงขึ้นใหม่จากตัวอาจารย์เอง ทำให้เพลงที่ใช้บรรเลงออกงานในช่วงหลังเปลี่ยนตาม แต่เราเข้าใจเหตุจำเป็นนะ ที่บางเพลงยังไม่ถึงเวลาแต่ต้องรีบเรียน เพราะครูสำราญและครูวิเชียรก็มีอายุมากแล้ว อะไรที่ยังเก็บไม่หมดก็ต้องรีบเก็บ รอไม่ได้ และเมื่อเรียนแล้วก็ต้องนำมาใช้ทั้งที่บางอย่างยังไม่สมควรแก่เวลา แม้อาจดูไม่เหมาะสม แต่อาจารย์ก็ยืนหยัดที่จะเล่น เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญู ยกย่องเทิดทูนครูบาอาจารย์ที่ได้สร้างสรรค์และประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ ทางอ้อมคือปรารถนาสร้างพื้นที่ให้เพลงของบ้านนี้ได้มีที่ยืนในสังคมดนตรีไทยต่อไป”

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

ไม่เก่งแต่ชำนาญ
ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ

แม้ครูศิวศิษฏ์จะมีโรคประจำตัวที่ร่างกายต้องการการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ในวันที่เลขอายุเพิ่มมากขึ้น กำลังความแข็งแรงลดหย่อนจากวัยหนุ่ม หากแต่เขายังเคี่ยวกรำงานดนตรีทั้งงานราษฎร์งานหลวงหามรุ่งหามค่ำไม่บกพร่อง ถึงแม้ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ให้หลังเป็นต้นมา ตารางงานวงสิงห์บุรีจะแน่นขนัดขนาดที่ไม่มีวันว่างก็ตาม และเป็นความจริงที่ว่า กว่าโรงเรียนสิงห์บุรีจะได้รับประเมินเป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทาน โดยยอมรับว่าดนตรีไทยเป็นจุดพิจารณาสำคัญ ทั้งยังประสบผลสำเร็จในการจัดตั้งโรงเรียนสิงห์บุรีเป็นศูนย์ดนตรีไทยประจำจังหวัด ตัวครูศิวศิษฏ์ก็ผ่านการทำงานหนักต่อสู้กับความคิดที่หลายคนตั้งคำถามว่าดนตรีไทยเป็นเพียงไม้ประดับหรือไม่เช่นกัน

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

ครูธิติภัทร์ สังข์สอน ลูกศิษย์จะเข้ของครูศิวศิษฏ์ อดีตสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ปัจจุบันตำแหน่งข้าราชการครู ครูชำนาญการพิเศษ [คศ.3] ครูดนตรีไทยโรงเรียนวัดนาคนิมิตร [สว่างนพราษฎร์วิทยา] กรุงเทพมหานคร เล่าว่า “ต้องต่อสู้กับคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจ ตามโรงเรียนมัธยม ดนตรีกับวิชาการไม่ค่อยไปด้วยกัน วิชาการก็จะเอาแต่วิชาการ ดนตรีต้องใช้เวลาฝึกซ้อม เราเป็นเด็กกิจกรรมขาดเรียนบ่อย ครูเก่าๆ เขาจะรู้ว่าอาจารย์ทำอะไร ความสำเร็จชัดเจน ยุคนั้นรับถ้วยพระราชทานฯ บ่อยมาก แล้วอาจารย์ยังเป็นเด็ก เขาเป็นคนน่ารัก ครองใจครูยุคนั้นได้ทั้งหมด แต่พออายุมากขึ้นก็เปลี่ยนเป็นอีกแบบ ครูเด็กๆ เข้ามาใหม่ไม่เข้าใจก็อาจไม่ชอบ เพราะเข้ามาเจอในภาพที่อาจารย์เริ่มเป็นคนแรง โดยไม่ได้มองว่าเขาเคยทำอะไรมาก่อน

“ข้อเสียก็มี คืออาจารย์ไม่ทำเรื่องอื่นเลยในโรงเรียน ให้ไปโฮมรูมก็ไม่ไป เช้าไม่เซ็นชื่อ เวรไม่อยู่ ลูกเสือไม่ลงสอน ไม่ลงประจำชั้น สอนแต่เฉพาะวิชาดนตรี คนอื่นไม่กล้ายุ่ง แล้วก็ยุ่งไม่ได้ด้วย ถ้าไม่ดีจริง ไม่มีผลงาน ไม่มีฝีมือ เป็นอย่างเขานี่อยู่ไม่ได้นะ เขาเคยพูด ‘กูไม่สนใจ กูทำดีมันก็ดี ใครมาทำแทนกูได้ไหม’ อาจารย์มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โรงเรียนชื่นชมกับรางวัลมากกว่าที่จะชื่นชมตัวอาจารย์ บางยุคก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารเท่าที่ควร มีปัญหาฝ่าฟันมากมาย อาจารย์ไม่ใส่ใจอยู่แล้ว ว่าสุดท้ายโรงเรียนจะได้อะไร ตัวเองจะได้อะไร คิดแต่ว่าลูกศิษย์จะได้อะไรเท่านั้น”

โดยเฉพาะงานจังหวัดสิงห์บุรีที่จัดมหกรรมดนตรีไทยต่างวาระสำคัญ ที่ครูศิวศิษฏ์ได้รับมอบหมายให้เป็นหลักประสานงาน จัดหาและซ่อมบำรุงเครื่องดนตรี ควบคุมฝึกซ้อมนักเรียนดนตรีจำนวนมาก ครั้งละ 300-800 คน ด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งจึงเป็นที่มาของเครือข่ายนักเรียนดนตรีไทยที่มุ่งเข้ามารับความอนุเคราะห์ด้านดนตรีจากวงสิงห์บุรี ไม่ว่าเป็น ทางเพลงแต่ละชนิดเครื่องดนตรีสำหรับแข่งขัน ปรับวงดนตรี ซ่อมบำรุงเทียบเสียงเครื่องดนตรีโดยครูศิวศิษฏ์ไม่คิดค่าใช้จ่าย แม้กระทั่งเอื้อเฟื้อบ้านเป็นที่พักฝึกซ้อมดนตรีช่วงปิดภาคเรียนให้กับนักเรียนโรงเรียนทั้งใน และนอกจังหวัดสิงห์บุรี ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดตราด จังหวัดชลบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดขอนแก่น

การทำงานดนตรีของครูศิวศิษฏ์ยังครอบคลุมงานช่างเครื่องดนตรีไทย ที่เป็นที่รู้จักยอมรับในเรื่องซ่อมบำรุงจะเข้ เทียบเสียงเครื่องปี่พาทย์ ทั้งลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและฝึกให้สมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ลงรายละเอียดทุกขั้นตอนตั้งแต่วิธีดูชนิดต้นไม้ ตัด ขุด สร้างเครื่องประกอบ ตั้งนม แก้ไขเสียงจะเข้ โดยเฉพาะทุกคนต้องพันไม้ตีฆ้องตีระนาดได้อย่างมีคุณภาพ ศึกษาตั้งแต่เสาะหาไม้ไผ่คุณภาพดีจากแหล่งธรรมชาติ ฝนไม้ไผ่เป็นก้านด้วยกระดาษทราย พันผ้าและด้ายกระทั่งสำเร็จเป็นไม้ตีหนึ่งคู่ แง่หนึ่งเพื่อให้ลูกศิษย์สัมผัสความลำบากงานช่างเครื่องดนตรีไทย ตระหนักคุณค่าในการที่จะได้มาซึ่งเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งๆ

ครูพรชัย ผลนิโครธ เล่าว่า “งานช่างหลายอย่างเจอปัญหาแบบนี้ เราจะแก้ไขอย่างไร บางทีอุปกรณ์ไม่ครบ เราจะหาอะไรมาทดแทน อย่างน้อยทุกคนต้องได้จับเครื่องมือ จับลูกหนู จับค้อน ถึงช่วงทำตะกั่วเทียบเสียงจะสนุกมาก อาจารย์ใช้ตะกั่วในหม้อแบตเตอรี่เก่ารถยนต์ ขวานจามเอาน้ำกรดออกก่อน ค่อยๆ แงะแผงตะกั่วข้างใน เคาะให้เหลือซี่ตะกั่วจริงๆ ทุบหลายลูกอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นไม่เข้าใจ คิดว่าตะกั่วอื่นก็มี ทำไมอาจารย์ไม่ใช้ ตอนนี้เข้าใจแล้ว คิดนะ อะไรที่ง่ายๆ ทุ่นแรงเขาไม่เอา ขุดจะเข้สว่านไฟฟ้าก็มี ดอกสว่านใหญ่ก็มี ไม่ใช้ ใช้สว่านมือ นั่งบิดนั่งหมุน ใช้สิ่วมาตอก อยู่จนล่ำ”

เช่นกันที่ความรู้งานช่างเครื่องดนตรีไทยของสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรีเกิดจากการมองเห็น เป็นลูกมือหยิบจับ สัมผัสคุ้นชินเป็นวิถีประจำวัน ไม่ว่าเป็น การขึ้นหน้าซออู้ซอด้วง ขึ้นหน้าโทน-รำมะนาจากวัสดุทดแทน กลึงหุ่นกลอง กระทั่งเหลาผืนระนาดเอกระนาดทุ้ม ที่ครูศิวศิษฏ์ให้ลูกศิษย์ใช้วัตถุดิบคือไม้ไผ่ ที่ต่างต้องเตรียมจัดหาเอง โดยพาไปตัดไปเห็นแหล่งต้นตอถึงภูเขาจังหวัดตราด จังหวัดชลบุรี เข้าทำนอง ‘ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ’ เน้นย้ำให้คำนึงถึงอนาคตการเป็นครูดนตรีไทยที่ควรมีความรู้วิชาช่างเครื่องดนตรีเบื้องต้นติดตัว ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าหากถึงคราวจำเป็นต้องทำงานในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนงบประมาณซ่อมสร้างจัดซื้อ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

ครูจิราภรณ์ กันหาชัย ลูกศิษย์จะเข้ของครูศิวศิษฏ์ อดีตสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี ปัจจุบันตำแหน่งข้าราชการครู ครูผู้ช่วย ครูดนตรีไทยโรงเรียนบ้านคลองพร้าว จังหวัดตราด เล่าว่า “อาจารย์เป็นคนชอบงานช่าง ทำแล้วเพลินมีความสุข ทำทุกอย่างเกี่ยวกับเครื่องดนตรี จมอยู่กับสิ่งนั้นได้ทั้งวัน ก่อนนอนจะเดินตรวจเครื่องดนตรีในบ้าน เคาะชิ้นนั้นชิ้นนี้ด้วยความสุข ผูกพันทุกชิ้น เป็นคนทำอะไรทำสุดโต่ง อย่างฆ้องก็ไปทุบมาแล้ว แต่ยังไม่ได้กลึง ความรู้งานช่างเรื่องไหนที่เจอปัญหาแล้วค้นพบวิธีแก้ได้ เขาก็จะอธิบาย ว่าอันนี้เป็นแบบนี้ๆ เรียกคนทั้งบ้านมาดู ดูแล้วก็จะถามว่าเห็นอะไร อธิบายหมด บอกหมด ไม่มีคำว่าหวงหรือกั๊กสำหรับอาจารย์ เขาบอก มึงเป็นผู้หญิงไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง เห็นแล้วบอกได้อธิบายได้ พอ แต่อันไหนที่สมควรทำได้ก็ต้องทำ”

ของกูรัก

ขยายความเพิ่มเติมสักน้อยหนึ่งเกี่ยวกับความพิถีพิถันเรื่องเครื่องดนตรีของครูศิวศิษฏ์ ทั้งการปฏิบัติตนต่อเครื่องดนตรีอย่างให้ความเคารพทะนุถนอม ทุกครั้งที่ขนย้ายออกงานบรรเลงต้องห่อเครื่องดนตรีทุกชิ้นด้วยผ้าห่มหนาๆ ยกขึ้นวางลงอย่างเบามือห้ามมีเสียงกระแทก มีบทลงโทษกำกับให้จดจำหากลูกศิษย์ขาดความระมัดระวัง เป็นที่มาของประโยค ‘ของกูรัก อย่าทำร้ายจิตใจกู’ ปลูกผังเตรียมความพร้อมก่อนใช้งานเครื่องดนตรีทุกครั้งแม้อยู่ในสภาพดี ต้องสาวเชือกหนังเช็ดน้ำมันลูกฆ้อง เช็ดลูกระนาดเหล็กทั้งก่อนหลังใช้งาน ให้ความสำคัญมากเรื่องเทียบเสียงเครื่องตีและคลึงตะกั่วใต้ผืนระนาดใต้ลูกฆ้องให้กลมกลึงแม้เป็นจุดลับตาคน

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

ครูนิรุตติ์ หนักเพ็ชร์ เล่าว่า “อาจารย์ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วจำ อย่างติดตะกั่วบ้านเราไม่เหมือนที่อื่น ที่อื่นใช้ไฟรนขอบตะกั่ว ตั้งเหมือนกำแพงรนให้ละลาย แปะกับผืนกดๆ จบ ของอาจารย์ห้ามใช้ไฟ ความประณีตต่างกัน ใช้ไฟโดยตรงแล้วไม่ละมุน ขี้ผึ้งเสื่อมสภาพเร็ว ให้ใช้ไอร้อนจากไดร์เป่าผม เป่าละลายแล้วค่อยๆ ปั้นให้กลมเหมือนลูกกระสุน กดลงไปที่จุดเดิมที่หลุด เป่าแล้วกดอีกครั้งให้เป็นรูปเหมือนเดิม เขาบอกวิธีนี้จะไม่มีฟองอากาศ หลุดยาก ถ้าคว่ำแบบขนมครกวิธีแรก มีฟองอากาศทำให้ติดไม่ดี ไม่เชื่อลองได้”

ครูพรชัย ผลนิโครธ เล่าเสริมว่า “ละเอียดถี่ถ้วนมากเรื่องเทียบเสียง เพี้ยนไม่เพี้ยนต้องเทียบเช็คทุกครั้งจนพอใจ อาจารย์ไม่ใช้จูนเนอร์เทียบ ใช้หูล้วนๆ เป็นคนหูดีมาก เคยเอาจูนเนอร์จับเสียงเครื่องตี 4 ชิ้นในวงที่เขาเทียบ ค่าแทบไม่ต่างกัน วิธีเขาคือ ใช้เสียงลูกเหล็กลูกเดียวเป็นตัวตั้ง จากนั้นเทียบเกลี่ยจากทางต่ำไปสูง ตีให้ได้คู่ห้าบ้าง คู่แปดบ้าง บางทีตีเปลี่ยนกลุ่มเสียง ฟังว่าแปร่งไม่แปร่ง ช่วงห่างแต่ละเสียงจะพิจารณาจากหูเขาเอง ใช้วิธีเฉลี่ย เคล็ดลับอยู่ตรงนี้ คือคู่แปดเสียงสูง 3-4 ลูกทางยอด เขาจะเทียบให้ถ่างสูงเกินออกไป กับทางต่ำคู่แปดเหมือนกัน เทียบถ่างให้ต่ำลงไป ตีทางต่ำจะฟังดูลึก ทางสูงจะดูเหิน ฟังมีมิติไม่ราบเรียบ

“เรื่องคลึงตะกั่วเรียบร้อย ได้แนวคิดจากครูสำรวย แก้วสว่าง อาจารย์เล่าว่าตอนฝึกสอน ครูสำรวยมาดูที่โรงเรียน มาถึงก็หงายผืนระนาดก่อนเลย เห็นตะกั่วไม่เนียนเรียบร้อยก็ว่า ‘หยาบคายที่สุด’ อาจารย์จึงติดมาตั้งแต่นั้น ว่าต้องคลึงตะกั่วให้เนี๊ยบ ครั้งหนึ่งไปประกวดเวที สยช. พักไม่ได้ซ้อม อาจารย์หงายผืนระนาดวางขึ้นบนราง วางให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาเห็น เห็นว่านี่นะ คลึงให้กลมให้สวย เหมือนเป็นการบอก ว่าคุณควรดูแลเครื่องดนตรีของตัวเองให้ดี โชว์เขาด้วย ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง”

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ

โดยเฉพาะรสนิยมส่วนตัวที่เพิ่มตะกั่วเครื่องตีในวงปี่พาทย์เพราะต้องการเสียงนวลกลมโต เป็นที่มาของเครื่องดนตรีหลายชิ้นในวงสิงห์บุรีที่สร้างขนาดขยายใหญ่กว่าปกติ ทั้งกลองทัดเถาใบใหญ่ให้เสียงกว้างลึก เพิ่มท้ายลูกฆ้องหุ่ยเสียงฟาในชุดฆ้องหุ่ยดึกดำบรรพ์ เน้นสะสมเครื่องดนตรีไทยฝีมือช่างโบราณที่ถูกทิ้งร้างตามบ้านดนตรี โดยตั้งใจหาซื้อนำกลับมาใช้งานเพื่อฟื้นชีวิตเครื่องดนตรีให้มีเสียงดังเดิม จึงปรากฏเป็นปกติว่า มักพาลูกศิษย์ออกตระเวนลงพื้นที่ถามไถ่เครื่องดนตรีเก่าจากบ้านปี่พาทย์และพ่อค้าคนกลาง จากการสำรวจเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ ปัจจุบันวงสิงห์บุรีมีเครื่องดนตรีไทยรวม 46 รายการ จำนวนกว่า 300 ชิ้น

นอกจากนี้ ยังใส่ใจคัดชนิดและคุณภาพวัสดุที่ใช้สร้างเครื่องดนตรี กำหนดมาตรฐานคุณลักษณะเสียงเครื่องดนตรีในอุดมคติ โดยเฉพาะพาลูกศิษย์แวะเวียนเสาะหาช่างเครื่องดนตรีตามความเชี่ยวชาญหลายบ้าน ทั้งช่างจะเข้ ช่างแกะเครื่องปี่พาทย์ ช่างแกะกะโหลกซออู้ ช่างกลึงเครื่องสาย ช่างเหลาผืนระนาด ช่างเครื่องหนัง ช่างประดับมุก ไม่เพียงครองใจช่างในฐานะลูกค้าที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ขาย หากแต่จุนเจือเอื้อเฟื้อน้ำใจไม่ต่างเครือญาติ แลกเปลี่ยนความรู้งานช่างกระทั่งผสานความรู้จากตนเองและคำบอกเล่า ตกผลึกเป็นความเรียงถ่ายทอดประสบการณ์งานช่างเผยแพร่เป็นประโยชน์ กระทั่งได้รับมอบเครื่องมือกลึงไม้ทั้งหมดจากช่างช่วง แก้วสัตยา เพื่อให้สานงานต่อในอนาคต

ช่างสุวรรณ โพธิปิน เล่าว่า “เดือนหนึ่งๆ มาบ่อย ของที่ทำไว้จะคัดให้เป็นพิเศษ ไม้ร้อย คือไม่แตก ไม่ร้าว ไม่มีตำหนิ ไม่ติดกระพี้ บางคนมาแล้วชอบติ ติแต่เอา จะได้ต่อราคาถูกๆ อย่างนี้เรียกเอาเปรียบ อาจารย์เขาไม่เรื่องมาก แต่ความละเอียดละเอียดจริง ผมทนความละเอียดเขาได้ กลองต้องขึ้นอย่างนี้ หนังต้องอย่างนี้ กลึงรูปร่างลักษณะนี้ บางทีมาขอกลึงเองผมก็ให้ เวลาเดือนร้อนผ่าไม้จะทำจะเข้ อยู่ไกลแถวบ้านหาเครื่องมือไม่ได้ โทรมาบอกผมให้ช่วย เอารถมารับก็ไป ส่วนมากจะขนไม้มาให้ผ่า ตัดทั้งรากทั้งเหง้า ตุ้งตังไม่เอาก็ไม่ยอม เราอึ้งน้ำใจเขาตรงนี้

“บางทีนะ มีหุ่นตะโพนไม้ขนุน 2 ลูก เขาเรียกผมครูๆ ตะโพนลูกนี้ผมเลือกหนังเองได้ไหม ได้ แต่หนังที่อาจารย์เลือกขึ้นตะโพนไม่ดังนะ เขาว่าไม่ดังก็เอา ปรากฏไม่ดังจริงๆ เอาอย่างนี้ดีกว่า ทีนี้อีกลูกผมเลือกบ้าง ผลัดกัน ลูกที่ผมเลือกกลับดัง เขาก็เงียบ ทุกวันนี้ตะโพนลูกนั้นเอากลับมาแก้ แก้แล้วก็ดัง ลองกันก็มี”

ช่างกลึงหุ่นและขึ้นหน้ากลอง ผลิตและจำหน่ายกลองไทยคุณภาพดีทุกชนิด ทั้งปลีกและส่ง ไม่ว่าเป็น ตะโพนไทย กลองคู่ กลองแขก โทน-รำมะนา ตะโพนมอญ เปิงมาง กลองตุ๊ก กลองโทน กลองยาว กลองเพล ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 17/2 หมู่ 6 ตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง [พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ]

ช่างกลึงหุ่นและขึ้นหน้ากลอง ผลิตและจำหน่ายกลองไทยคุณภาพดีทุกชนิด ทั้งปลีกและส่ง ไม่ว่าเป็น ตะโพนไทย กลองคู่ กลองแขก โทน-รำมะนา ตะโพนมอญ เปิงมาง กลองตุ๊ก กลองโทน กลองยาว กลองเพล ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 17/2 หมู่ 6 ตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง [พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ]

ช่างช่อ วุฒิราชา เล่าว่า “ซื้อของที่นี่ไปเยอะ ผืนระนาด ฆ้องตาป่วน อย่างรางเจ๊กฮุยเมื่อก่อนผมไม่รู้จัก เขาสอนให้เสร็จ ตอนหลังบอกให้ผมขายแพงหน่อย ผืนทุ้มเมื่อก่อนก็ขายถูก เขาบอกคุณภาพอย่างนี้ต้องสี่หรือห้าพัน มีความรู้สึกว่าบางมุมเขาไม่ค่อยพิถีพิถันนะ หมายความว่าตรงไหนเลอะตรงไหนเปื้อน ใส่ชุดราชการนุ่งทับอย่างดี บ้านผมฝุ่นไม้เต็มไปหมด มาถึงเขานั่งเลย ง่ายๆ ไม่ต้องปัดต้องกวาด แล้วชอบที่ว่าเขาน้ำใจงาม

“เอาวงดนตรีมาช่วยเรื่อย ให้รู้เถอะว่าผมทำอะไร ให้เงินให้ทองเขาก็ไม่รับ เต็มที่ เช่นงานไหว้ครูบ้านผม บางทีหลายวง แต่ผมให้เขาโชว์เป็นพิเศษ วงนี้จะเดี่ยวเดี่ยวได้ ไม่ต้องเกรงใจ ฟังตีแล้วไม่มีกระเซ็น เรียบร้อย หรือถ้ารู้ว่าผมเจ็บไข้ได้ป่วยจะมาก่อนเลย กลางค่ำกลางคืนมืดๆ ก็มา เป็นคนอย่างนี้ เขารักผมมากกว่าที่ผมรักเขาอีก”

[เสียชีวิต] นักปี่พาทย์ ช่างแกะเครื่องปี่พาทย์ ช่างเหลาผืนระนาดเอกระนาดทุ้ม ผลิตและจำหน่ายเครื่องดนตรีไทย [เครื่องปี่พาทย์] ไม่ว่าเป็น รางระนาดเอก รางระนาดทุ้ม ร้านฆ้องมอญ เท้าตะโพนไทย-ตะโพนมอญ คอกเปิงมาง ผืนระนาดเอก ผืนระนาดทุ้ม นอกจากนี้ ยังเป็นคนกลางซื้อขายเครื่องดนตรีฝีมือช่างโบราณ เช่น ลูกฆ้องไทยที่สร้างด้วยกรรมวิธีทุบ รางระนาดฝีมือเจ๊กฮุย อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 45 ตำบลคู้สลอด อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา [พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ]

[เสียชีวิต] นักปี่พาทย์ ช่างแกะเครื่องปี่พาทย์ ช่างเหลาผืนระนาดเอกระนาดทุ้ม ผลิตและจำหน่ายเครื่องดนตรีไทย [เครื่องปี่พาทย์] ไม่ว่าเป็น รางระนาดเอก รางระนาดทุ้ม ร้านฆ้องมอญ เท้าตะโพนไทย-ตะโพนมอญ คอกเปิงมาง ผืนระนาดเอก ผืนระนาดทุ้ม นอกจากนี้ ยังเป็นคนกลางซื้อขายเครื่องดนตรีฝีมือช่างโบราณ เช่น ลูกฆ้องไทยที่สร้างด้วยกรรมวิธีทุบ รางระนาดฝีมือเจ๊กฮุย อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 45 ตำบลคู้สลอด อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา [พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ]

เป็นตัวอย่างในสิ่งที่ดี

ครูศิวศิษฏ์เคยกล่าวยอมรับในแง่ที่ว่า ตนเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่มีชีวิตการกระทำสองด้านคู่ขนาด คือส่วนดีงามและอีกด้านตรงข้าม ยิ่งไปกว่านั้น คือกล้าหาญที่จะใช้ความจริงสอนลูกศิษย์ด้วยชีวิตความประพฤติที่ผ่านมาของตน กางออกให้เห็นว่า สิ่งใดเป็นส่วนดียังประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมก็ควรปฏิบัติดำเนินรอยตาม สิ่งใดเห็นส่วนเสียเป็นข้อบกพร่องก็ควรละเว้นก้าวข้าม โดยเฉพาะรูปแบบสอนดนตรีที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประสิทธิผล คือสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรี เกือบเต็มหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เล่นดนตรีได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งยังต่อยอดความสามารถเมื่อจบออกไปเป็นครู โดยสอนลูกศิษย์ตนเองให้มีคุณภาพได้อีกเช่นกัน

ครูอุเทน เปียหลอ เล่าว่า “วินัยในการเล่นดนตรีสำคัญ วินัยทำให้วงอยู่ได้ สมัยก่อนไปงานถ้าใครเล่นผิด โดนนะ อะไรอยู่ใกล้มือไม่ได้ อาจารย์ขว้างเลย ถึงจะซ้อมก็ต้องนั่งตัวตรง ฟังร้อง คุยเล่นในวงไม่ได้เด็ดขาด สิ่งนี้ทำให้เกิดความระมัดระวัง ไม่เผลอเรอ มีสมาธิจดจ่อในการบรรเลง ดุคือตี เล่นไม่ได้คือตี ตีจริงๆ ตีจนเนื้อแตก บางคนถึงกับโดนกลองทุ่มใส่ สำหรับอาจารย์ เราใช้คำว่าเกรงใจมากกว่ากลัว อาจารย์ไม่ได้กดให้ลูกศิษย์กลัว เกรงใจแล้วก็เคารพ ไม่ได้เกรงกลัวแล้วเกลียด แบบไม่อยากเข้าใกล้ ด้วยความที่อยากให้ทุกอย่างออกมาดี ตัวเขาเองหลายๆ ครั้งก็เครียด เครียดมากถึงกับอาเจียน

“วางตัวในบทบาทของการเป็นครู ทำให้เห็นว่าทุ่มเทเพื่อใคร เพื่อลูกศิษย์ กับลูกศิษย์มีทั้งจริงจังและผ่อนคลาย จำได้ว่ามีช่วงให้ออกกำลังกายด้วย เป็นคนถ้าอารมณ์ดีจะดีมาก ชอบแหย่ชอบเล่นไม่ถือตัว ถ้าเล่นคือเล่นแบบสุดโต่ง อย่างที่ว่าไปขโมยเรือพระมาพายกัน พายจนล่มอยู่หน้าวัดให้พระดุ พากันเล่นผีถ้วยแก้ว ช่วงซ้อมซ้อมเต็มที่ กินกินเต็มที่ กองทัพเดินด้วยท้อง ส่วนหนึ่งที่ต้องการให้ทุกอย่างออกมาดี คิดว่าเป็นการสร้างแบรนด์ สร้างสำนักอย่างหนึ่ง ถือว่าเป็นสำนักนะ”

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กับลูกศิษย์ ครูศิวศิษฏ์ให้ทุกอย่างที่มี แม้ที่ไม่มีก็หามาให้จนมี ไม่ว่าเป็นวิชาความรู้ขั้นสูงหรือเครื่องดนตรีคุณภาพดี กระทั่งลูกศิษย์หลายคนพูดภายหลังตรงกันว่า ‘ให้จนตายกันไปข้างหนึ่ง’ แม้กฎเหล็กในบ้านข้อเดียวที่สมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงสิงห์บุรีต้องปฏิบัติตามเมื่อจบมัธยมปลาย คือเรียนต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี นอกจากต้องการทดแทนบุญคุณสถาบัน ยังต้องการพิสูจน์ให้สังคมเห็น ว่าบัณฑิตราชภัฏเป็นครูน้ำดีคุณภาพเทียบเท่าหลายมหาวิทยาลัย สำคัญที่เป็นหลักประกันเบื้องต้น ว่าเส้นทางชีวิตลูกศิษย์จะไม่เดินหนีออกจากเป้าหมายอาชีพครูอย่างที่ตนคาดหวัง

ครูบุตรี สุขปาน กล่าวสรุปว่า “อาจารย์เป็นต้นแบบทั้งการเป็นครู เป็นช่าง เป็นศิลปิน เป็นตัวอย่างใช้ชีวิต ว่าการเป็นครูดนตรีควรมีชีวิตแบบไหน ทำหน้าที่ครูก็ทำได้อย่างสมบูรณ์ สมบูรณ์มากจนถ้าจะเปรียบแบบด้านต่อด้าน ชั่วชีวิตนี้ไม่รู้จะเจอครูแบบนี้อีกหรือเปล่า ไม่ได้เข้าข้างครู แต่การที่เรามองย้อนกลับไป แล้วจะทำให้ได้อย่างเขา เป็นเรื่องที่ต้องอุทิศตนมากๆ ต้องเหนื่อยเสียสละทุ่มเท ทั้งสอนทั้งซ้อมดนตรี ทำงานช่าง เป็นศิลปินด้วย ออกงานสารพัดสารเพกับลูกศิษย์

“ทุกสิ่งทุกอย่างลมหายใจเข้าออกเป็นดนตรี ตั้งแต่ตื่นมาไม่อะไรก็อะไรสักอย่าง ต้องดนตรี คิดวางแผนกิจกรรมดนตรีในบ้านตลอดเวลา นอนคือได้พัก อย่างเรายังไม่ได้ขี้เล็บ ไม่ว่าจะไปต่างจังหวัดหรือธุระอะไรที่ไม่ใช่ดนตรี เดินทางก็ต้องมีซออยู่หลังรถ หรือเอาขลุ่ยไปด้วยเลาหนึ่งก็สบายใจเขาแล้ว แม้แต่นอนโรงพยาบาลตอนเจ็บหนัก ก็ยังเอาเครื่องดนตรีไปซ้อมไปเล่น ไปทำทางให้เด็กนักเรียนแข่งขัน

“ถึงจะด่าจะว่าแต่สุดท้ายก็รัก กับลูกศิษย์นะ ไม่เคยพูดว่ารัก ไม่ชมต่อหน้า แต่ลับหลังได้ยินจากคนอื่น คนนี้มันดีอย่างนี้นะ คนนั้นมันดีเรื่องนั้นเรื่องนี้ เจ็บไข้ได้ป่วยอาจารย์ดูแลเราทุกอย่างเหมือนลูกคนหนึ่ง ทำให้เราเท่าที่เขาจะทำได้ หลายๆ เรื่องทั้งต่อหน้าลับหลัง ถึงไม่พูดให้เราได้ยิน แต่การกระทำของเขาเรารู้สึกได้ ทั้งรักทั้งห่วงว่าอนาคตมึงจะเป็นอย่างไร เขาตั้งใจอยากให้เราเป็นอย่างเขา เป็นครูที่เสียสละ ทุ่มเทชีวิตจิตใจ”

งานที่ลุล่วง

ถามว่าอย่างมากที่สุด คนอาชีพครูที่ตลอดชีวิตกระทำตนเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ อุทิศตนทำงานดนตรีไทย อย่างครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ สูญเสียเรื่องใดบ้างในชีวิต ตอบจากมุมมองคนที่ไม่อาจสละความสุขส่วนตัวได้มากเท่าเขา อาจเป็นทรัพย์สินเงินทอง เวลาชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพจิต โอกาสพัฒนาตนเอง โอกาสดูแลคนในครอบครัว สังคม เหล่านี้ไม่ได้สูญเสียอย่างว่างเปล่า เมื่อเทียบกับผลงานยิ่งใหญ่ที่ปรากฏเป็นบุคลากรทางการศึกษากระจายตัวทำงานดนตรีไทยทั่วภูมิภาค ที่เติบโตจากการเป็นสมาชิกนักเรียนดนตรีไทยวงเล็กๆ จังหวัดหนึ่ง

หากแต่จะหาคำตอบ ก็ชัดเจนจากข้อความลายมือเขียนบนแผ่นกระดาษเก่าใต้ถุนบ้านใบนั้นอยู่แล้ว ว่าแท้จริงสิ่งที่ครูศิวศิษฏ์ทำไม่ได้สูญเสียสิ่งใด กลับกันที่ว่า เป็น ‘สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตแบบโลกๆ แล้ว ที่ว่าดี คือได้มีโอกาสเสียสละ ช่วยเหลือ และเป็นตัวอย่างในสิ่งที่ดี’

เวลา 21.25 30 พฤษภาคม 63
โพธิ์สามต้น อิสรภาพ ธนบุรี

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

กันต์ อัศวเสนา : ถ่ายภาพ

บรรณานุกรม
ประวัติชีวิตและผลงาน อาจารย์ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ ครูดีเด่นของกรมสามัญศึกษา ศิลปินดีเด่นประจำ จังหวัดสิงห์บุรี (ครู คศ.3 วิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษ) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 5 กระทรวงศึกษาธิการ. สิงห์บุรี. (อัดสำเนา).
ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ. 2554. วิธีการประดิษฐ์จะเข้ให้มีคุณลักษณะเสียงดัง กังวาน ใส และการตกแต่งคุณภาพเสียง. กรุงเทพฯ: บริษัทแอคทีฟ พริ้น จำกัด.
สุรศักดิ์ ทองคำศรี. 2559. บันทึกอาการป่วยอาจารย์ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ. สิงห์บุรี. (เอกสารบันทึกลายมือ).

สัมภาษณ์
กฤติน ศิริพุฒ, กรรณิกา วิพันธุ์เงิน, ไกรศรี เวชร, เกรียงศักดิ์ เริงศิริ, จิราภรณ์ กันหาชัย, ช่วง แก้วสัตยา, ช่อ วุฒิราชา, ธิติภัทร์ สังข์สอน, นิรุตติ์ หนักเพ็ชร, บุญศรี เกิดทรง, บุตรี สุขปาน, ประสิทธิ์ ดนตรี, พิเชษฐ์ เกิดทรง, พรชัย ผลนิโครธ, มนัส สุริยรังสี, เมทะนี พ่วงภักดี, ยรรยง เกลี่ยกล่อม, วิทยา โหจันทร์, ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ, สนอง จันทร์ประสาท, สำราญ เกิดผล, สุวรรณ โพธิปิน, อุเทน เปียหลอ, อรสา เวชกร,

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *