ครูสุรินทร์ สงค์ทอง “นักรบ” ผู้มีใจรักดนตรีไทย

ครูสุรินทร์ สงค์ทอง “นักรบ” ผู้มีใจรักดนตรีไทย
พิชชาณัฐ ตู้จินดา

อาชีพที่เลี้ยง “ชีวิต” กับอาชีพที่หล่อเลี้ยง “จิตวิญญาณ”

ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ แต่แฝงความหมายลึกซึ้ง

เพราะเชื่อว่า ชีวิตการทำงานของมนุษย์ทุกคน จุดมุ่งหมายไม่ได้อยู่ที่ “เงิน” เพียงอย่างเดียว แต่ทว่า “ความสุข” ที่ได้ทำในสิ่งที่ตนรัก ย่อมสำคัญยิ่งกว่า…

เหมือนชีวิตของ “ร.ต. สุรินทร์ สงค์ทอง” หรือ “ครูสุรินทร์ สงค์ทอง” ที่รับบทบาททั้ง “นักรบ” และ “นักดนตรีไทย” เพราะเมื่อมองจากด้านหนึ่ง ท่านเป็นชายชาติทหาร มือถือปืนออกรบตลอดชีวิตราชการ แต่อีกด้านหนึ่ง นี่คือคนฆ้องวงใหญ่คนสำคัญในสังคมดนตรีไทย ที่ประกอบด้วยทักษะปฏิบัติอันเป็นเลิศ และเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ด้านทางเพลงอย่างลึกซึ้ง

ดูเหมือนเป็นบทบาทขัดแย้ง แต่ด้วยวันเวลากว่าครึ่งทางชีวิต ที่ครูได้ใช้อาชีพข้าราชการทหารเลี้ยงชีพตนและครอบครัว จนกระทั่งสามารถหยัดยืนในสังคมอย่างมั่นคงสง่างาม ทั้งยังได้ใช้ “เสียงดนตรี” หล่อเลี้ยงและเติมเต็มจิตวิญญาณภายในของตนตลอดมา

จนสามารถกล่าวได้ว่า ครูสุรินทร์ สงค์ทอง คือ “นักรบผู้มีใจรักดนตรีไทย” อย่างแท้จริง

ปฐมบทชีวิต

“ผมเกิดบ้านเลขที่ ๖๒ หมู่ ๑๐ ตำบลหนองแขม กิ่งอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี แต่ปัจจุบันจังหวัดธนบุรีมันล้มไปแล้ว เพราะรวมเข้ากับกรุงเทพฯ พ่อและแม่ของผมเป็นคนจังหวัดนครปฐมทั้งคู่ แม่อยู่แถววัดบางช้างหัวเสือ ริมแม่น้ำนครชัยศรี ส่วนพ่อเป็นคนแถวเกาะศรีจันทร์

“ผมอยู่บ้านไม้หลังคามุงจาก ชั้นเดียว ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวคนจน พ่อและแม่ต้องทำทุกอย่าง ค้าขาย ทำนา เพราะมีที่นาอยู่ที่จังหวัดนครปฐม เป็นสมบัติของปู่ รับจ้าง เช่าที่ทำสวน แต่ก็ได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง เลี้ยงหมู บางทีพ่อก็รับจ้างแจวเรือจ้างส่งผู้โดยสาร แจวจากหนองแขมไปประตูน้ำภาษีเจริญ แล้วก็ทำปี่พาทย์ด้วย

“เท่าที่ทราบ พ่อเรือนมาอยู่กับพระที่วัดหนองแขม เพราะแต่ก่อนที่นี่เป็นสถานที่ฝึกหัด ทั้งลิเก ปี่พาทย์ มีพระชื่อ ‘หลวงพ่อพร’ เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ จนกระทั่งท่านมรณภาพก็ล้มเลิกกันไป พ่อจึงมีความสามารถทางดนตรีปี่พาทย์ บรรเลงได้ทุกเครื่องมือ ตีระนาดได้อะไรได้ แต่ว่าไม้หลักจริงๆ คือ เครื่องหนังกับขับร้อง

“พ่อเรือนเป็นลูกวงปี่พาทย์คณะ ‘ครูแม้น นาควิจิตร’ ด้วย สมัยก่อนผมจะไปงานกับท่านตลอด แทบทุกงานเลยก็ว่าได้ นอกจากทำปี่พาทย์กับวงครูแม้นแล้ว ก่อนเข้าพรรษา พ่อเรือนจะเข้ากรุงเทพฯ มาทำปี่พาทย์กับวงครูถีร์ ปี่เพราะ พอหมดหน้างานท่านก็กลับมาบ้านนอก

“พ่อเป็นคนดุ ผมไปงานปี่พาทย์กับท่าน ถ้ากินข้าวร่วมวงเดียวกัน ผมต้องตักข้าวให้กับผู้ใหญ่ทุกคนในวง ถ้าผมกินเสร็จก่อน ผมต้องนั่งรออยู่อย่างนั้น รอจนกว่าทุกคนในวงจะกินเสร็จ จะลุกก่อนไม่ได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเคยลุกไปก่อน ไปเล่นหลังกองฟาง พ่อตามไปเลย ถามว่าทำไมลุกมาก่อน แล้วก็ทำโทษผม ตั้งแต่นั้นผมจำมาตลอด เพราะระเบียบท่านเยอะ แต่มันก็ได้กับตัวผมเอง เพราะตอนที่ผมเป็นทหารแล้ว ใครก็ชมว่า ลูกทิดเรือนดีมาก”

ครูแม้น นาควิจิตร

“ ‘ครูแม้น นาควิจิตร’ บ้านของท่านติดกับวัดหนองแขม แต่เดี๋ยวนี้บ้านครูแม้นไม่มีแล้ว เพราะลูกหลานตายหมด ในสมัยก่อนถ้าถามว่า วงปี่พาทย์แถวหนองแขมมีวงไหนบ้าง ทุกคนก็ต้องนึกถึงวงนี้ทั้งนั้น ที่กระทุ่มแบนก็มีวงครูแม้น แต่เป็นคนละคนกัน ชื่อเสียงและฝีมือก็ต่างกันด้วย

“พ่อพาผมไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูแม้น ตอนนั้นท่านอายุยังไม่ถึง ๖๐ ผมเริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่ตั้งแต่เพลงสาธุการ โหมโรงเช้า โหมโรงเย็น เพลงเรื่อง พระฉัน เพลงเถา เรียนไปตามปกติ พอเริ่มมีความรู้ก็ออกงานกับวงครูแม้นด้วย และนอกจากงานปี่พาทย์แล้ว งานแตรวงผมก็ไปนะ ผมมีหน้าที่เป่าบาริโทน ยูโฟเนียม ทรอมโบน ผมเรียนกับอาจารย์เล็ก (ไม่ทราบนามสกุล) แถวหนองแขม

“เพลงแตรนี่ผมไม่ต้องไปต่อเพลงไทยเลย ต่อแต่เพลงฝรั่ง เพราะเพลงไทยผมได้จากวงครูแม้นมาแล้ว นี่ไม่ได้คุยนะ แต่ผมเป่าแตรอย่างคนเรียน เพราะแตรวงสมัยนี้เขาโหมโรงกลองทัดไม่ได้ (โหมโรงเย็น – ผู้เขียน) แต่สมัยก่อนแตรวงต้องโหมโรงกลองทัดได้ ว่าไปตั้งแต่สาธุการเลย

“ผมไม่รู้ว่าครูแม้นท่านเรียนปี่พาทย์มาจากใคร ท่านเป็นคนไม่มีฝีมือหรอก แต่ก็ตีเครื่องปี่พาทย์ได้รอบวง ก็เรียกได้ว่าพอหากินได้ ภรรยาของท่านชื่อ ‘แม่กร’ เท่าที่จำได้มีลูกชาย ๒ คน คือ นายหลง นาควิจิตร และนายเฉลียว นาควิจิตร เป็นดนตรีปี่พาทย์ทั้งคู่ หากินได้ แต่ไม่มีฝีมือ

“มีคนมาหัดปี่พาทย์กับครูแม้นเยอะนะ ส่วนใหญ่เป็นคนในย่านนั้น แล้วก็ละแวกใกล้เคียง ครูแม้นท่านตายอายุประมาณ ๖๐ กว่าๆ เป็นโรคคนแก่ พอครูแม้นสิ้นลม พ่อของผมก็เดินร้องไห้ด้วยความเสียใจ ท่านบอกว่า ‘หมดแล้ว คลังเพลงแตกแล้ว’ เพราะหัวหน้าตาย ลูกวงก็แยกย้ายกันหมด เพลงก็จำกันไม่ค่อยได้ เพราะสมัยก่อนเรื่องโน้ตยังไม่แพร่หลายเหมือนสมัยนี้ เครื่องบันทึกเทปก็ไม่มี ต้องใช้สมองทั้งนั้น”

นักดนตรีแนวรบ

“ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ อายุ ๒๐ ปี ผมถูกเกณฑ์ทหารตาม พรบ. พระราชบัญญัติ อยู่ ๒ ปี ที่กรมทหารราบที่ ๑ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ แต่แทนที่จะได้นำปลด เขากักผมต่ออีก ๓ เดือน เพราะขาดแคลนกำลังพล ผมเป็นนายสิบตรีกองประจำการ อยู่หน่วยรบ หลังจากนั้นก็รับราชการเป็นทหารต่อเลย

“ผมออกรบหนักๆ ถึงหลายครั้ง ครั้งแรกที่จังหวัดสกลนคร อยู่ที่นั่นประมาณ ๒ เดือน คือผมมีหน้าที่ไปปราบปรามผู้ก่อการร้าย เพราะปี พ.ศ. ๒๕๑๐ มันมีคอมมิวนิสต์กบดานอยู่ที่นั่น ยิงกันให้แซด มันยิงมาเราก็ยิงไป แต่ก็รอดมาได้

“ครั้งหลังๆ ไปไกลถึงเวียดนาม ออกรบที่นั่นถึง ๓ ครั้ง แต่ก็รอดมาได้อีกเช่นกัน ไปร่วมรบกับประเทศออสเตรเลีย เกาหลี ฟิลิปปินส์ อเมริกา ประเทศในกลุ่มพันธมิตร เพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้าย มันเป็นเรื่องที่กดดันมาก เพราะแน่นอนเรื่องรบ มันเหมือนเรายืนอยู่บนเส้นด้าย จะเป็นจะตายอย่างไรก็ไม่รู้ ต้องเข้าป่าเข้าดง มีบางทีต้องเข้าป่าถึง ๑๕ วัน กลับมาได้ก็รอดไป

“อีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายตรงข้ามมันยิงปืนลงในหลุมที่พัก แต่โชคดีที่ไม่มีคน เพราะมัวแต่พากันไปเล่นไฮโล ยิงมาประมาณ ๑๒ นัด ก็ต่างคนต่างคลาน ผมก็คลานเข้าเต๊นท์ผม ห่างประมาณ ๕๐ เมตรเห็นจะได้ เราต้องคลาน เพราะถ้าวิ่งตัวเราจะกลายเป็นเป้าทันที คลานให้ตัวเตี้ยไว้ก่อน ผมคลานไปที่พักเพื่อเอาปืน เสื้อเกาะ แล้วก็พระเอามาคล้องคอ

“แล้วรู้ไหม ขณะที่ผมคลานไป ด้วยความตกใจน่ะ ผมไม่รู้หรอกว่า ที่พื้นมันมีต้นไมยราบขึ้นอยู่ พอผมกลับที่พักได้ก็เอาเสื้อเกราะมาใส่ เอ็ม ๑๖ แล้วก็หมอบอยู่อย่างนั้น พักใหญ่ๆ พวกมันก็ถอยร่นไป คราวนี้ผมรู้สึกเจ็บๆ ที่หน้าอก พอถอดเสื้อได้เลือดไหลบานเลย ผมนึกว่าผมโดนยิงแล้ว แต่ที่ไหนได้ หนามไมยราบทั้งนั้น ข่วนเต็มทั้งหน้าอกเลย

“หลังจากนั้นกลับมาประเทศไทย มาประจำการอยู่ที่นี่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ผมเป็นจ่ากองร้อยแล้ว ผมไปรบที่กุยบุรีอีก ๑ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ไปรบที่ตาพระยา จังหวัดสระแก้วอีก คราวนี้ผมติดผืนระนาดทุ้มไปด้วย เพราะกลัวว่าจะลืมเพลง ก็เอาผืนแขวนกับต้นไม้บ้างอะไรบ้าง พอได้ครึ่งปีผมก็หารางไปด้วย แต่แทนที่จะได้ท่องเพลง พอผมลงมือซ้อม เพื่อนๆ ทหารก็มาสนุกกับเรา ขอเพลงเย้ยฟ้าท้าดินบ้าง ไอ้นี่บ้างไอ้นั่นบ้าง

“ไอ้เราก็ไม่มีอารมณ์ พอกินเหล้าก็สนุกกันแล้ว ทะเลบ้า คลื่นกระทบฝั่ง ผู้บังคับบัญชามาก็บอกว่า จ่ากองร้อยไปเอาระนาดมา สรุปแล้วก็เลยไม่ได้ท่องเพลงกัน ที่ตั้งใจจะซ้อมก็พลอยสนุกกับเขาไปด้วย พอจบ ๔-๕ ทุ่มก็นอน แต่บางทีเวลาเขาไปจ่ายกับข้าว ผมก็หาเวลาตอนนั้นแหละ แอบท่องเพลง บางทีท่องได้เป็นชั่วโมงๆ เปิดเทปท่องด้วย ผมห่วงเพลงหน้าพาทย์มาก

“ความเป็นนักรบกับนักดนตรี มันเป็นบทบาทที่ขัดแย้งกันมาก ยิ่งดนตรีไทยนี่ยิ่งไม่ได้เลย คุณทำวันทยาวุธ คุณถือปืนมือคุณแข็งไปหมด มันจับไม้ระนาดจับไม้ฆ้องไม่อยู่หรอก มันหลุดหมด กรอก็ไม่ไป สมัยก่อนเขาถึงได้ถนอมกันไง ยิ่งคนระนาดด้วยแล้วห้ามทำงานหนัก ก็อย่างครูประสงค์ พิณพาทย์ ขนาดไปไหนมาไหน แม่ต้องเป็นคนพายเรือให้นะ

“สุดท้ายผมเกษียณราชการทหารในตำแหน่งร้อยตรี คุมพลทหาร ๑๑๔ คน นายสิบอีก ๔๗ คน ที่อยู่ในความปกครองของผม รวมแล้วผมรับราชการทหาร ๔๐ ปี บริบูรณ์”

ได้ดีเพราะมีครู

“ทุกวันนี้ที่ผมได้ดี ก็เพราะครูหลายๆ ท่าน ที่ให้ความเมตตาในเรื่องวิชาความรู้แก่ผม ทั้งครูสมาน ทองสุโชติ ครูบุญยงค์ ครูบุญยัง เกตุคง ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ฯลฯ นอกจากนี้ก็ด้วยความตั้งใจดี ความขยันขันแข็งของผมด้วย แต่ที่แน่ๆ มันมีมูลเหตุอยู่อย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผมต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา ทั้งในเรื่องวิชาความรู้ แล้วก็เรื่องฝีมือความเป็นเลิศ

“เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ตอนที่ผมเป็นทหาร ผมก็เป็นปี่พาทย์อยู่แล้ว ออกงานปี่พาทย์กับวงโน้นวงนี้ ผมไปงานที่กระทุ่มแบน ไปเจอกับวงนายผล เรื่องดนตรีน่ะ พอ ๒ วงมาเจอกัน มันก็เหมือนประชันอยู่ในที ทำเพลงนั้นแก้ทำเพลงนี้แก้ ระนาดเขาเดี่ยวมา ระนาดทางเราก็เดี่ยวตอบ แต่พอเขาเดี่ยวฆ้องวงใหญ่มา ฆ้องทางเราก็อยู่เฉย เพราะตอนนั้นผมมีความรู้แค่พอหากิน เพลงเดี่ยวต่างๆ ผมยังไม่ได้เรียน ผมก็นึกในใจว่า เรามันเรียนน้อย

“งานที่ ๑ ผ่านไป งานที่ ๒ ไปเจออย่างนี้อีกที่ลาดกระบัง วงนั้นมีชื่อเสียงด้วย ก็อย่างนี้อีกนั้นแหละ เจอเหตุการณ์ซ้ำๆ ถึง ๓-๔ ครั้ง ที่ผมไม่สามารถเดี่ยวตอบโต้เขาได้ ตีไม่ได้เราก็อายเขา เพราะนักดนตรีมันรู้กันอยู่ในที แต่ดีหน่อยที่ผมเป็นทหาร ศักดิ์ศรีเราดีกว่าเท่านั้นเอง

“ตั้งแต่นั้นมาผมคิดอยู่ในใจตลอด ว่าผมจะอยู่เฉยอย่างนี้ไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง ผมจึงไปฝากตัวเรียนฆ้องวงใหญ่กับครูสมาน ทองสุโชติ ที่กรมประชาสัมพันธ์ เพราะแต่ก่อนผมเคยไปเป่าแตร ช่วยงานบวชลูกชายของท่าน พอเจอหน้ากันครูก็จำได้ ถามว่ามาทำไม ผมก็บอกจุดประสงค์ไป ว่าจะมาต่อเพลง ท่านก็บอกว่าเอาสิ

“ผมเริ่มเข้าไปเรียนวันพฤหัส พอตกเย็นท่านก็มาต่อเพลงให้ ผมบอกท่านว่าจะขอต่อเพลงเดี่ยว ท่านก็ต่อเดี่ยวเชิดนอกให้เป็นเพลงแรก ทางครูเพชร จรรย์นาฏ แต่ผมตีไม่ได้นะ เพราะมือไม้มันแข็งไปหมด ทางครูเพชรขึ้นมาก็ไขว้มือเลย แล้วผมไม่เคยตีเพลงเดี่ยว จะตีได้อย่างไร ครูสมานท่านก็รำคาญ แต่ด้วยความเมตตา ท่านก็ทำขึ้นมาให้ใหม่

“ผมได้เพลงจากครูสมานเยอะเหมือนกัน ก็คิดดูว่า ๗-๘ ปี ผมไปหาท่านทุกเย็นไม่ได้ขาด กลับบ้าน ๔ ทุ่มนะ รอรถเที่ยวสุดท้าย สาย ๙ บางลำพู – ประตูน้ำภาษีเจริญ เพราะทหารแต่งเครื่องแบบมันไม่เสียค่ารถ ลง ๔ แยกบ้านแขก แล้วก็เดินเข้าบ้าน

“บางทีถ้าครูสมานไม่ว่าง ผมก็ไปต่อเพลงกับครูจำเนียร บางทีครูจำเนียรไม่ว่าง ครูบุญยงค์อยู่ช่อง ๔ ผมก็ตามไปต่อที่ช่อง ๔ วนอยู่อย่างนี้ตลอด ที่ผมเข้าไปเรียนกับครูสมาน ผมอายุประมาณ ๓๐ ส่วนท่านอายุประมาณ ๔๐ กว่าๆ เห็นจะได้ แก่อ่อนกัน ๑๐ กว่าปี ผมเรียกท่านว่าพี่ตลอด เรียกพี่ทั้งหมด

“ครูสมานเป็นครูที่ดีมาก เพราะว่าท่านเก่ง ขนาดครูบุญยงค์ยังยอมรับ ว่ามีความจำเป็นเลิศ มีความละเอียดในการจับเพลง ครูสมานท่านได้ทยอยเดี่ยวทั้งระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ถึงทั้งหมด ผมยังรู้สึกเสียดายถึงทุกวันนี้ ครูท่านพูดว่า ‘นี่สุรินทร์ ชั้นทำกราวในเถาไว้นะ ๒ ชั้น ชั้นเดียว ทำครึ่งชั้นไว้ด้วย’ แต่ผมก็ไม่ได้สนใจที่จะต่อเอาไว้ เพราะมีบางช่วงที่งานราชการยุ่งมาก สุดท้ายครูสมานท่านเสียก่อนเกษียณอายุราชการ เป็นโรคมะเร็งที่ปอด

“พอสิ้นบุญครูสมานแล้ว ผมจึงไปเรียนกับครูบุญยงค์บ่อยขึ้น บางครั้งไปอัดแผ่นเสียงกับท่าน ผมก็ไปด้วย แต่ไปช่วยเรื่องเครื่องประกอบจังหวะ อย่างเพลงของ ‘พร ภิรมย์’ ทั้งหมด ผมก็ไปช่วยเขา แล้วก็ไปร่วมวงกับคณะนักดนตรี วงดนตรีของพร ภิรมย์ อยู่อีกประมาณ ๒ ปี เห็นจะได้

“วงดนตรีคณะพร ภิรมย์ เวลาจะไปแสดงคอนเสิร์ตที่ไหน ทางซ้ายมือของเวทีเป็นวงดนตรีสากล ชื่อว่า ‘วงจุฬารัตน์’ ส่วนทางขวามือเป็นวงดนตรีไทย ครูบุญยงค์เป็นคนควบคุมวง ไปคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง พร ภิรมย์ จะร่วมร้องกับวงดนตรีไทยประมาณ ๕-๖ เพลง

“นักดนตรีก็จะมีครูบุญยงค์ เกตุคง ตีระนาด ครูกิตติพงษ์ มีป้อม ตีระนาดทุ้ม ผมตีฆ้องวงใหญ่ คุณจำลอง (ไม่ทราบนามสกุล) ตีฆ้องวงเล็ก ครูเรืองเดช พุ่มไสวตีฉิ่ง คนเครื่องหนังมี ๒ คน นายสมพงษ์ นุชพิจารณ์ กับนายมณเฑียร สมานมิตร บางทีครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ไปเป่าปี่แทนนายสมนึก บุญจำเริญ บางครั้งผมโดนเวรทหาร ผมก็จ้างคนอื่นเข้าเวรแทน แล้วผมก็ไปงานกับเขา

“แต่พูดตามตรงนะ เวลาไปคอนเสิร์ตทีไร คนดูชอบวงดนตรีไทยมากกว่า เริ่มแรกเลยก็ต้องโหมโรง ครูบุญยงค์ท่านทำชุดภารตะไว้ เริ่มมาตั้งแต่กลองแขก แล้วก็เดี่ยวหางเครื่อง ใช้เวลาประมาณ ๕-๖ นาที เสร็จแล้วจะแหล่หรือจะร้องเพลงอะไรก็สุดแท้แต่ คนจะชอบมาก เพราะฝีมือครูบุญยงค์ท่านเกรี้ยวกราด ใครๆ ก็รู้

“ถ้าจะว่าไปแล้ว ที่ผมออกงานหากินได้ และมีความรู้จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยความเมตตาของครูๆ ที่ท่านได้สั่งสอนมาทั้งนั้น”

ปี่พาทย์ “คเณศรางกูร”

“คเณศรางกูร เป็นชื่อวงปี่พาทย์ของ ‘คุณชวลิสร์ กันตารัติ’ ท่านรับราชการอยู่ที่กรมศิลปากร แผนกหัตถศิลป์ เป็นคนที่มีใจรักดนตรี แล้วก็เป็นลูกคนมีเงิน ก็เลยสะสมนักดนตรี สะสมเครื่องปี่พาทย์ วงปี่พาทย์วงนี้ตั้งอยู่ที่เรือนไทย ‘วิมานคเณศรางกูร’ ซึ่งเป็นบ้านของคุณชวลิสร์ อยู่ข้างๆ วัดทองนพคุณ ปากคลองสาน กรุงเทพฯ

“สมัยนั้นวงปี่พาทย์วงนี้รับงานแพงที่สุด สมมติว่า วงอื่นรับงานคืนละ ๕,๐๐๐ บาท วงนี้ต้องเป็นหมื่น เพราะมีนักดนตรีตั้ง ๔๐ กว่าคน แล้วแต่ละคนก็มีฝีมือทั้งนั้น เช่น ครูบุญยงค์ ครูบุญยัง เกตุคง ครูเผือด นักระนาด พันโทเสนาะ หลวงสุนทร นายหยด ผลเกิด นายกิตติพงษ์ มีป้อม ไปงานทีคนระนาดนั่งเรียงเลย ๖ คน จะเอาใครตีว่าไป

“วงคเณศรางกูร มีทั้งปี่พาทย์ไทย มอญ เครื่องสาย แล้วก็มโหรี วงนี้มีระเบียบและการจัดการที่ดีมาก ถ้าจะถึงบ้านงานทุกคนต้องผูกไท สมัยก่อนนักดนตรีไทยที่ผูกไทก็มี แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าสมัยนี้ ผมออกงานกับวงนี้บ่อย แต่ส่วนใหญ่เป็นงานพี่ๆ น้องๆ คุณชวลิสร์เขา ไม่ใช่งานฟรีนะ เสียเงินเหมือนกัน แต่ก่อนครูเผือดเป็นคนคุมเรื่องดนตรี ตอนหลังท่านตาย ครูบุญยงค์จึงมาคุมแทน

“วงนี้เวลาใครมาหาไปงาน นักดนตรีต้องซ้อมอย่างกับเด็กๆ ถ้าไม่ ๔-๕ ทุ่ม ไม่มีเลิก ต้องแม่นเพลงทุกคน และมีการเตรียมเพลงเป็นอย่างดี เล่นกี่งานๆ เพลงไม่ซ้ำกันสักคืน ชักศพ ๓ โมงเย็น เรารู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อตียกศพแล้วจะออกเพลงอะไร เราจะวางกันไว้เลย จบแล้วก็เป็นประจำทางใหม่ ออกเพลงไปอีก ไม่มีซ้ำ แล้วต่อไปนี้จะไม่มีคำว่าตีประจำอีก คุณต้องฟังเพลงมอญ ตั้งแต่พม่าเล็ก พม่ากลาง พม่าใหญ่ เรียงเลย

“แม้กระทั่งเพลงเรื่องนางหงส์ ๑๒ ภาษามีถึง ๒ ทาง วันนี้ไป พรุ่งนี้เผา แล้วยังมีดับธาตุอีก ต้องฟังนางหงส์อีกทาง ซ้อมกันถึงขนาดนี้ แล้วเพลงก็คนละแบบกัน ครูเผือดท่านทำเอาไว้ เรื่องพวกนี้คุณชวลิสร์ท่านเป็นคนวาง บางทีเราเล่นซ้ำ ท่านถามเลยว่า ทำไมเอาเพลงนี้มาเล่นอีก ตีแล้วหนิเมื่อวาน

“สิ่งที่ผมประทับใจ ผมว่าวงคเณศรางกูร น่าจะเป็นวงปี่พาทย์วงแรกและวงเดียว ที่บรรเลงดนตรีและมีพิธีพูดเรื่องเพลง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ฟังในงานด้วย คุณชวลิสร์ท่านเป็นพิธีกรเองเลย คอยพูดแนะนำเพลงต่างๆ อธิบายว่าเพลงนี้เพลงนั้นเป็นอย่างไร ‘ต่อไปนี้เราจะให้ย่ำค่ำเพลงมอญ ย่ำค่ำเพลงไทย นางหงส์’

“ความจริงแล้วก็คล้ายๆ ดับ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ นั้นแหละ อย่างเดียวกันเลย มีอยู่งานหนึ่งที่ลาดกระบัง คุณชวลิสร์ ท่านเชิญ ดร. อุทิศมาพูดคู่กับท่าน คุยกันคนละไมค์ ตอบโต้กันน่าดู เพราะบางทีเขาก็ค้านกันเอง ออกรสทีเดียว คนชอบและติดใจกันมาก เพราะสนุก ผมว่าเป็นวงปี่พาทย์วงเดียวนะ ที่ทำอย่างนี้”

“ความสุข” ในบั้นปลายชีวิต

“ปัจจุบันนี้อายุผม ๘๒ ปี โรคประจำตัวไม่มี แต่หมอบอกว่าไตกำลังจะไม่ดี เพราะมันเสื่อมไปตามอายุไข ระบบขับถ่ายก็เริ่มไม่ดีด้วยเช่นกัน ถ้าผมท้องผูก ผมต้องกินยาถ่ายให้มันระบาย ชีวิตประจำวันของผม ส่วนใหญ่จะเข้าห้องดนตรีไทยที่บ้าน เพื่อทบทวนบทเพลง แล้วก็ฝึกซ้อมมือ ซ้อมฆ้องไทยบ้าง ฆ้องมอญบ้าง

“เพลงไหนที่ผมยังไม่แม่น ผมก็เปิดเทปฟัง เพื่อให้มันเข้าหู เพราะเวลาผมไปบรรเลงในพิธีไหว้ครู ผมต้องทำการบ้านมาแล้ว มีเทปหนึ่งม้วน แล้วก็นั่งทวนเพลงหน้าพาทย์ไป ท่องให้แม่น ผมเอาระเบียบทหารมาใช้กับเรื่องดนตรี มันเป็นการพัฒนาตัวเองน่ะ

“ถึงผมอายุจะเข้าเลขแปด แต่ผมก็ยังต้องซ้อมดนตรีอยู่ ผมก็จะไล่ไปเรื่อย แล้วก็ตั้งนาฬิกาไว้ พอเทปดับก็ ๑ ชั่วโมงพอดี สมัยนี้ดีหน่อย เพราะผมมีเครื่องดนตรีแล้ว แต่สมัยก่อนเวลาผมซ้อมที่บ้านเก่า ผมไม่มีอะไรสักอย่างเลย ทำไงรู้ไหม ผมก็เอามือมาตีกับหมอน ตีสลับกันซ้ายขวา ตีตั้งแต่ตี ๔ กว่าๆ ถึงตี ๕ แล้วมันก็ได้ผลนะ

“การเรียนดนตรีไทย ต้องเรียนให้ถูกวิธี ต้องถูกมือ ตั้งใจรัก ความเป็นเลิศก็จะมาทีหลัง พรสวรรค์หรือพรแสวงไม่เท่าไหร่หรอก ถ้าใจรักนี่มันจะตีจะซ้อมตลอด เช่น นายไก่ สืบสุด ดุริยประณีต คนระนาด เขาตีกราวในนี่เหงื่อท่วมเลย คนอื่นๆ ไปกันหมดแล้วเขาก็ยังไล่อยู่ ผมเคยไปนอนที่บ้านเขา พอเช้ามืดก็ไล่อีกแล้ว เรานึกถึงว่า ถ้าคนใจมันรักมันก็ตีไม่หยุด เขาถึงได้เก่งไง

“ตกบ่ายผมจะออกกำลังกายอยู่แถวๆ บ้าน ร่างกายเราก็ดีขึ้น ออกกำลังกายนี่ดีที่สุด ในอดีตผมเป็นนักกีฬาด้วย ทั้งดนตรีและกีฬาผมชอบมาก ตอนที่ผมเป็นเด็กวัด คนมายืนดูผมควงบาร์เดี่ยว เขานึกว่าคนหรือว่ากังหัน ผมโดดจากบาร์เดี่ยวมาบาร์คู่ จากบาร์คู่มาบาร์เดี่ยว เป็นทหารแล้วก็ยังได้ถ้วยรางวัลอยู่เรื่อยๆ

“ชีวิตบั้นปลายของผม ผมมีความสุขแล้ว และไม่ต้องการอะไรอีก เพราะจะว่าไปแล้ว ผมอยู่อย่างพอเพียงนะ”

ครูสุรินทร์ สงค์ทอง เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นบุตรคนโตของนายเรือน สงค์ทอง และนางผาด สงค์ทอง (ฮวดพิทักษ์) มีพี่น้องจำนวนทั้งหมด ๘ คน คือ ๑. ครูสุรินทร์ สงค์ทอง ๒. นายจรัญ สงค์ทอง (ถึงแก่กรรม) ๓. นางอำไพ สมพงษ์ ๔. นางสาวสมพงษ์ สงค์ทอง (ถึงแก่กรรม) ๕. นางสมพร แก้วละเอียด ๖. นายณรงค์ สงค์ทอง ๗. นางสาวยะลา สงค์ทอง (ถึงแก่กรรม) ๘. นางอรุณ วุฒิกุล ๙. นางสำเภา เพชรานนท์ และ ๑๐. นางนิภา อัตตะเตโม

บรรพบุรุษของครูสุรินทร์ เท่าที่สืบได้ คือ ปู่ชื่อศร ย่าชื่อเชย ทั้งสองมีบุตรจำนวน ๖ คน คือ นางลอย นายแป้น นายสุข นางสิงห์ นายต๋า และนายเรือน ส่วนตาชื่อแมว และยายชื่อสอย

ครูสุรินทร์ สมรสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ กับนางสมศรี สงค์ทอง (เกมแกแมน) มีบุตรและธิดาจำนวน ๔ คน คือ ๑. นางรัตนาวรรณ ศรปทุม ๒. นางสาวภาวนา สงค์ทอง (ถึงแก่กรรม) ๓. นางรัชทา ยิ้มระยับ และ ๔. พ.อ.อ. เทวรักษ์ สงค์ทอง

ด้านการถ่ายทอดความรู้ ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษ ในรายวิชาปฏิบัติปี่พาทย์และปฏิบัติเพลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ โปรแกรมวิชาดนตรีไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และเป็นอาจารย์สอนปฏิบัติเครื่องมือเอกฆ้องวงใหญ่ แขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๓๖/๑๔ หมู่ ๘ ตำบลบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

ผลงานและเกียรติยศด้านดนตรี

๑. ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมบรรเลงดนตรีไทยในงาน “๑๐๐ ปี สายสกุลบ้านดุริยประณีต” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

๒. ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ สถาบันนาฏดุริยางค์ ขอความอนุเคราะห์ให้เกียรติเป็นผู้บอกทางเพลง “โหมโรงกลางวัน” เพื่อเป็นการอนุรักษ์รูปแบบ และเป็นศูนย์รวมข้อมูลเพลงโหมโรงกลางวัน

๓. ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นผู้ควบคุมวงปี่พาทย์ “ตาตะวาทิต” บันทึกเสียงเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทย จำนวน ๘๐ เพลง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙

๔. ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ร่วมบรรเลงวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่ เพลงโหมโรงเย็น ในงาน “การบรรเลงปี่พาทย์เสภาวังหน้า” เพื่อน้อมถวายเป็นราชสักการะ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงละครแห่งชาติ

๕. ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นผู้ควบคุมวงปี่พาทย์ “บ้านชีวานุภาพ” บันทึกเสียงเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทย จำนวน ๘๔ เพลง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสครบรอบ ๔๘ พรรษา

๖. ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ร่วมบรรเลงวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่ คณะศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง เพลงโหมโรงกลางวัน ในงาน “การบรรเลงปี่พาทย์เสภาวังหน้า” เพื่อน้อมถวายเป็นราชสักการะ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงละครแห่งชาติ

๗. ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

๘. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมบรรเลงดนตรีไทยในงานครบ ๖ รอบ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

Comments

  1. ชาญพิชญ์ ลิมปนะเวช says:

    สนใจข้อมูลเกี่ยวกับวงคเณศรางกูรครับ หากมีข้อมูลด้านอื่นเกี่ยวกับวงคเณศรางกูรเพิ่มเติมอีก อยากติดตามอ่านครับ

    1. Kotavaree says:

      เป็นเรื่องที่น่าสนใจเเละควรบันทึกไว้อีกเรื่องหนึ่งต่างหากครับ ขอบพระคุณสำหรับคำเเนะนำดีๆ โอกาสเเละเวลาเหมาะๆ จะรวมเขียนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *