จุม แสงจันทร์ ลมหายใจสุดท้ายของ “เจรียงจับเปย”

จุม แสงจันทร์
ลมหายใจสุดท้ายของ “เจรียงจับเปย”
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ อรอุมา เวชกร
ภาพ: ยุทธการ สืบสวน

“ถ้าผมตาย เจรียงจับเปยคงหมดจากประเทศนี้”

เสียงสะท้อนจากนักเจรียงจับเปยอาวุโสวัย ๖๖ ปี เจรียงจุม แสงจันทร์ หรือพ่อจุม เปิดประเด็นวิกฤตสังคมเจรียงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เจรียง หรือจำเรียง ดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ ภาษาเขมรแปลว่า ร้อง ใช้ขับลำเรื่องราวในพุทธศาสนา นิทานโบราณ เกี้ยวพาราสี หรือสุภาษิตเตือนใจ ประกอบการเล่นดนตรีในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นเจรียงซันตรูจ เจรียงกันกรอบกัย เจรียงตรัว เจรียงจรวง เจรียงนอรแก้ว เจรียงปังนา เจรียงเบริน เจรียงตรุษ หรือเจรียงกันตรึม

ในอดีตการเล่นเจรียงเคยได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวกัมพูชาถิ่นไทย แต่ปัจจุบันกลับถูกลดบทบาทความสำคัญกระทั่งกำลังเลือนหายจากสังคมจนแทบหาชมหาฟังไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เจรียงจับเปย” การขับลำเดี่ยวประกอบการเล่น “จับเปย ฎอง เวง” หรือพิณกระจับปี่ พ่อจุม แสงจันทร์ ถือเป็นเจรียงจับเปยอาชีพเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศไทย ณ ขณะนี้

พ่อจุมเป็นคนบ้านศรีสะอาด ตำบลศรีสะอาด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มารดาชื่อดำเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนบิดาชื่อเจียมเป็นคนกัมพูชา บรรพบุรุษฝ่ายบิดาสืบทอดการเป็นนักเจรียงจัยเปยมาตั้งแต่ครั้งปู่ทวด

จากวันนั้นถึงวันนี้นับช่วงอายุได้ถึง ๔ ชั่วคน

“พ่อผมเรียนดีดพิณจากปู่ ชื่อตุ้ม ท่านเป็นคนจอมกระสานต์ ประเทศกัมพูชา” พ่อจุมเล่า “ปู่เรียนกับพ่อของท่านอีกทีหนึ่ง ทั้งได้วิชาจากพระภิรมย์งุยและครูกรมที่พนมเปญ ครูกรมเป็นนักเจรียงพิณเก่งด้านสุภาษิตเตือนใจ ประวัติศาสตร์ต่างๆ และเป็นอาจารย์ด้านเลขยันต์

“ส่วนผมเรียนกับพ่อเจียม ท่านเก่งทั้งเจรียงพิณ เจรียงตรัว อาไย กันตรึม มะม๊วด ดีดจ้องหน่อง และเป่าใบไม้”

ในวัยเด็ก ห้องเรียนในระบบของพ่อจุม คือโรงเรียนบ้านศรีสะอาด เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แต่ห้องเรียนในโลกกว้างที่ให้ประสบการณ์ด้านดนตรีอย่างดีเยี่ยม คงหนีไม่พ้นการมีโอกาสติดตามพ่อไปเจรียงตามงานต่างๆ ทั้งใกล้ไกล

และด้วยความชอบการร้องรำทำเพลงทั้งยังรักสนุกเป็นพื้น พ่อจุมในวัย ๑๗ ปี ตัดสินใจสู่เส้นทางเจรียงจับเปยอย่างเต็มตัว โดยเริ่มเรียนดีดจับเปยเพลงพัดเจือย พัดเจือยกลาย สโรเม และบทโศก สี่เพลงหลักซึ่งถือเป็นเพลงครูของเจรียงจับเปย ทั้งยังฝึกกำหนดจดจำบทขับต่างๆ จากผู้เป็นพ่อ

“พ่อคิดว่าผมต้องเป็นนักเจรียงต่อจากท่าน เวลาท่านเจรียงที่บ้านงาน ผมก็สุมไฟให้ที่ใต้ถุน เพราะเป็นหน้าหนาว สุมเสร็จก็นอนฟัง ส่วนใหญ่เป็นนิทานโบราณ เรื่องตุ้มเตียว พระเวสสันดร ลักษณวงศ์ ลักษณวงศ์นี่หนุ่มสาวจะชอบมาก เพราะสนุกครบรส แต่คนแก่จะชอบเรื่องลูกกตัญญูหรือเศรษฐีใจบุญ” พ่อจุมเล่า

“เวลาไปเจรียงเขาขี่เกวียนขี่ช้างมารับ ไปทั้งงานขึ้นบ้านใหม่ ฉลองสระน้ำหมู่บ้าน สารทไทย/เขมร ถ้าเป็นงานศพจะเจรียงตั้งแต่สวดอภิธรรมจบจนถึงเช้า โทรทัศน์วิทยุไม่ต้องพูดถึง เพราะยังไม่มี สมัยก่อนคนดูเต็มศาลาจนศาลาหัก อย่างวัดกลาง ขุขันธ์ ฉายหนังขาวดำรูปจระเข้ คนหัวโตชนกัน แค่นี้ก็ตื่นเต้นแล้ว”

กระทั่งผ่านวันเวลาเข้าสู่วัยทำงาน ด้วยความที่เกิดในครอบครัวยากจน ทั้งยังเป็นพี่ชายคนโตในบรรดาพี่น้อง ๕ คน ภาระหนักในบ้านจึงตกแก่พ่อจุมอย่างปฏิเสธไม่ได้ วันไหนถ้าว่างเว้นจากงานเจรียง พ่อจุมจะรับจ้างทำงานในหมู่บ้านอย่างแข็งขัน ทั้งเลี้ยงควาย ทำนา ปลูกพริก หรือกระทั่งไปรับจ้างขุดมันตัดอ้อยถึงจังหวัดชลบุรี

“หนุ่มๆ ผมจนมาก มีเสื้อกับกางเกงชุดเดียว รุ่นผมรับจ้างเจรียงทั้งคืนได้ ๕๐ บาท ไปถึงสุรินทร์ บุรีรัมย์ ชายแดนช่องจอม จอมพระโน้น เลี้ยงควายตัวหนึ่งก็ขายเอาเงินมาซื้อวิทยุให้พ่อ เพราะยุคนั้นทุกวันอังคารจะมีการกระจายเสียงเจรียงมาจากฝั่งกัมพูชา ส่วนวันจันทร์เป็นการเล่นอาไย”

เส้นทางชีวิตของพ่อจุมด้านเจรียงจับเปย ช่วงที่กำลังได้รับความนิยม ท่านเคยถูกเชิญให้ไปเจรียงที่ประเทศกัมพูชาบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี งานเจรียงในประเทศไทยแถบพื้นที่อีสานใต้จะมีติดต่อกันทุกวันตลอดเดือนเมษายน ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว อีกส่วนหนึ่งเก็บออมสำหรับทำบุญ

“ผมเคยไปเจรียงที่ศูนย์วัฒนธรรมกัมพูชา มีแต่นักศึกษามาดูทั้งนั้น เขาว่าเจรียงคนไทยทำไมเก่งอย่างนี้ กัมพูชาก็มีเจรียงจับเปยครับ แต่ภาษาต่างจากเรา ถ้าผมเจรียงภาษาเขมรแท้ คนไทยที่นี่จะฟังไม่รู้เรื่อง ต้องเจรียงภาษาถิ่น อย่างเขมรถิ่นสุรินทร์หรือศรีสะเกษ แต่คนกัมพูชาเขาฟังรู้ทั้งเขมรถิ่นเขมรแท้

“ผมจะไม่เจรียงเรื่องการเมือง หรือเจรียงว่าคนนั้นดีคนนี้ไม่ดี มันไม่สมควร เวลาผมไปเจรียงที่ไหน ไม่เคยมีใครลุกหนี เพราะฟังแล้วติด เขาว่าเรื่องราวเหมือนชีวิตของเขา บางเรื่องมีแต่บทโศก ฟังแล้วร้องไห้ก็มี บางทีผมเกือบเจรียงไม่ได้ เพราะน้ำตามันจะไหล ถ้าคนดูถูกใจเขาตบรางวัลให้หลายพันบาทนะครับ”

นอกจากนี้ พ่อจุมยังเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อนานมาแล้วตนเคยมีโอกาสเจรียงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน อย่างไม่เป็นทางการที่วัดลำภู เมื่อครั้งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ และอีกครั้งหนึ่งเจรียงถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่จังหวัดศรีสะเกษเช่นเดียวกัน

ทุกวันนี้ พ่อจุมอาศัยอยู่กับภรรยาคู่ชีวิตที่อยู่กินมานานเกือบ ๔๐ ปี คือยายไสว แสงจันทร์ ที่บ้านศรีสะอาด จังหวัดศรีสะเกษ ถึงร่างกายจะทรุดโทรมด้วยเคยประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ร่วม ๒๐ ครั้ง และไม่นับรวมหลายโรคที่รุมเร้า แต่ท่านก็ยังรับจ้างเจรียงเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพอย่างที่เคยทำมาตลอดชีวิต

แม้จะมีลูกชายหญิงถึง ๓ คน แต่ทุกคนต่างแยกย้ายไปทำงานและมีครอบครัวเป็นของตนเอง ทั้งยังไม่มีคนหนึ่งคนใดรับมรดกความรู้และเจตนารมณ์ด้านดนตรีจากผู้เป็นพ่อ

และเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง เมื่อทราบว่านักเจรียงจับเปยหนึ่งเดียวในเมืองไทยผู้นี้ขาดการเหลียวแลจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ยังไม่ปรากฏกระทั่งชื่อหรือข้อมูลของนักเจรียงจัยเปยผู้นี้

พ่อจุมกล่าวปิดท้ายเรื่องผู้สืบทอดวิชาเจรียงจับเปยต่อจากตน ว่า “ตัวผมไม่มีลูกศิษย์ มีคนมาเรียนไม่ถึง ๒ วันก็หนีกลับหมด บางคนเจรียงได้แต่ดีดพิณไม่เป็น บางคนดีดพิณเป็นแต่เจรียงไม่ได้

“อย่างโรงเรียนศรีสะอาดวิทยาคมให้ผมไปสอน สอนได้หนึ่งเดือนเขาก็ให้หยุด เงินเดือนผมไม่ต้องการหรอก แต่อยากเห็นลูกหลานรู้ภาษาบ้านตัวเอง หรือเจรียงได้เท่านั้น เขาว่าเขาไม่มีเวลา นักเรียนต้องเรียนโปงลาง/ร้องเพลง ทุกวันนี้จึงไม่มีผู้สืบทอด

“ถ้าผมตาย เจรียงจับเปยคงหมดจากประเทศนี้” แม้เป็นคำกล่าวสั้นๆ แต่ฟังแล้วสะเทือนใจ

(ชมและฟังเจรียงจับเปย ฝีมือพ่อจุม แสงจันทร์ ได้ที่ www.youtube.com โดยค้นคำว่า “เจรียงจับเปย พ่อจุม เเสงจันทร์”)
(จากกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์จุดประกาย ฉบับวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๕)

ความประทับใจสูงสุดในชีวิตนักเจรียงจับเปย

ความประทับใจสูงสุดในชีวิตนักเจรียงจับเปย

จุม เเสงจันทร์

จุม เเสงจันทร์

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *