การเดินทางจากอดีต
ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)
(๒)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง
บ้านเกาะ บ้านโรง
บ้านตระกูลเกิดผลในอดีต
บ้านตระกูลเกิดผล เลขที่ ๕๗ หมู่ ๔ ตำบลบ้านใหม่ฯ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานที่ตั้งติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปลูกสร้างบนเนื้อที่ ๕ ไร่ (นายวน เกิดผล เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์) ซึ่งเป็นทั้งสถานที่พักอาศัยของครอบครัวตระกูลเกิดผลและเป็นสถานที่ตั้งของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ
ในสมัยโบราณชาวบ้านละแวกใกล้เคียงจะเรียกบ้านตระกูลเกิดผลที่ก่อสร้างรวมตัวกันเป็นกลุ่มว่า “บ้านเกาะ” หรือ “บ้านโรง” เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ บ้านของสมาชิกตระกูลเกิดผลทุกหลังคาเรือนมีทางเดินหรือนอกชานที่เชื่อมต่อบ้านแต่ละหลังทำให้สามารถเดินติดต่อถึงกันได้ทั้งหมด เมื่อขึ้นบันไดจากบ้านหนึ่งก็สามารถเดินไปยังบ้านหลังอื่นๆ โดยไม่ต้องลงเดินบนพื้นดิน
สภาพทั่วไปของบ้านแต่ละหลังปลูกสร้างด้วยไม้สักอย่างดี ลักษณะเป็นเรือนไทยฝาเฟี้ยมยกใต้ถุนสูง ในอดีตกลุ่มบ้านตระกูลเกิดผลประกอบด้วยบ้านหลังต่างๆ ดังนี้
๑. บ้านนายหงส์ และนางสังวาล เกิดผล
๒. บ้านนางศิริ และนายผวน บุญจำเริญ
๓. บ้านนายจำรัส เกิดผล
๔. บ้านนางชด และนายเผือด พวงประดับ
๕. บ้านนางชื่น กุหลาบแย้ม (เกิดผล)
๖. บ้านนายสังเวียน เกิดผล (เป็นทั้งที่พักอาศัยและเป็นสถานที่เก็บรักษาเครื่องดนตรีปี่พาทย์ตระกูลเกิดผล)
๗. บ้านนายวน และนางช้อน เกิดผล (เดิมเป็นยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือก ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นที่พักอาศัย ภายหลังเมื่อท่านทั้ง ๒ เสียชีวิตได้ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาชุดหนังใหญ่ตระกูลเกิดผล)
๘. บ้านนายพวง และนางทองอาบ เกิดผล
๙. บ้านนายเป๋า เกิดผล
๑๐. บ้านนายไซ้ฮู้ (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้)
ครูสำเริง เกิดผล กล่าวว่า “ปู่วนเป็นคนออกเงินสร้างบ้านให้ลูกทุกคน นอกจากเลือดเนื้อเชื้อไขตระกูลเกิดผล ยังมีอีกหลายหลังที่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติ หลังจากที่ปู่วนเสียชีวิต พ่อสังเวียนได้เป็นคนถือโฉนด เพราะมีอาวุโสที่สุด สมัยก่อนอาณาเขตกว้างขวางกว่านี้ ปลูกโรงลิเกได้หนึ่งโรง หลังบ้านยังมีพื้นที่ทำสนามวิ่งวัวได้อีก”
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “ท้ายบ้านมีคลองไปวัดนนทรีย์ ตรงนั้นมีน้ำวนเป็นวนใหญ่ เรียกวนตาวน ชาวบ้านเขาว่า วนบ้านตาวนนี่แรงจัง สมัยก่อนไม้ซุงต้องล่องผ่านมาทางนี้ เรือพ่วงเรืออะไรก็มาชนกันที่วนนี้แหละ เพราะน้ำแรง สมัยนั้นถนนหน้าบ้านยังไม่มี ต้องใช้เรือยนต์ไปขึ้นที่ตลาดหัวแหลม ถ้าไปกรุงเทพฯ ต้องขึ้นเรือ ๒ ชั้น สมัยก่อนหน้าบ้านเป็นหาดทรายลาดไปตลอดแนวแม่น้ำ สมัยนี้ตลิ่งพังหมด ถ้าบ้านครูยังอยู่ก็พังลงแม่น้ำแล้ว”
ตระกูลเกิดผล
ตระกูลนักดนตรี
สิ่งสำคัญที่ควรกล่าวถึงและได้รับการจดบันทึกเป็นหลักฐานไว้ที่นี้ ซึ่งจะทำให้ความเป็นมาของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในยุคเริ่มต้นมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ ประวัติชีวิตและความรู้ความสามารถด้านดนตรีของบุตรชายทั้ง ๔ คนของนายวน เกิดผล เพราะหากขาดบุคคลกลุ่มนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักดนตรีในยุคแรกเริ่มและเป็นรุ่นบุกเบิก วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ อาจไม่มั่นคงและไม่มีชื่อเสียงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
นายหงส์ เกิดผล สามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีได้ทุกชนิด โดยเฉพาะระนาดทุ้มจะมีความถนัดมากที่สุด (ไม่สามารถสืบค้นได้ว่าศึกษามาจากครูท่านใด) นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการเชิดหนังใหญ่ และการแสดงโขน ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ให้มีความเจริญทัดเทียมวงปี่พาทย์คณะอื่นๆ ในย่านนั้น บั้นปลายชีวิตล้มป่วยลงด้วยโรคอัมพาต
นายหงส์ เกิดผล สมรสกับนางสังวาล เกิดผล (พื้นเพเดิมเป็นคนบ้านสาย อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีอาชีพค้าขายและเป็นแม่เพลงพื้นบ้านที่มีฝีปากกล้าคนหนึ่งในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงแอ่วลาว และเพลงเกี่ยวข้าว เสียชีวิตวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้) ทั้งสองมีบุตรธิดาร่วมกันทั้งหมด ๙ คน คือ นางศิริ บุญจำเริญ (เกิดผล) นายสวง เกิดผล นางสาวสวัสดิ์ เกิดผล นายกิ่ม เกิดผล นางสมถวิล กลิ่นสุคนธ์ (เกิดผล) ครูแสวง ตันฑะตนัย (เกิดผล) ครูสำราญ เกิดผล นางลออ มีวีรสม (เกิดผล) และครูจำลอง เกิดผล ที่มีชื่อเสียงด้านดนตรีไทย ได้แก่ นายสวง ครูสำราญ และครูจำลอง
นายจำรัส เกิดผล สามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีได้ทุกชนิด มีความเชี่ยวชาญในการบรรเลงระนาดเอกเป็นอย่างมาก ในอดีตรับหน้าที่เป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ
นายจำรัส เกิดผล สมรสกับนางเผื่อน บัวประดับ (มีความรู้ความสามารถทางนาฏศิลป์ ละคร และเพลงพื้นบ้าน) ทั้งสองไม่มีบุตรธิดาร่วมกัน นายจำรัสเสียชีวิตขณะร่วมบรรเลงปี่พาทย์ที่วัดหงษ์ฯ จังหวัดปทุมธานี
ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “อาจำรัสท่านตีระนาดเอกดีมาก ไหวและเรียบ ตีพื้นดีแต่ว่ารัวระนาดไม่ดี พอตกเดี่ยวก็สู้ใครไม่ได้ ครูจางวางทั่วยังบ่นว่า ‘เสียดายไอ้ดำมัน มันจอดผิดท่า’ ความหมายก็คือตีพื้นดีแต่รัวระนาดไม่ดี พวกผู้ใหญ่ในบ้านเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจำรัสตีระนาดเพลงเชิดต่อตัวกับครูทรัพย์ เซ็นพานิช ตีได้สักพักพอแนวไหวเต็มที่ ครูทรัพย์ต้องถอนแนวลงมาเพราะไปไม่ไหว ก็คิดดูสิว่าอารัสท่านไหวขนาดไหน แต่ในจำนวนพี่น้องทั้งหมดอาจำรัสดุที่สุด เพราะครูเคยเรียนกับท่านมาก่อน พอเข้ามาสอนเราก็ใจเสียแล้ว เพราะรู้ว่าต้องโดนตีแน่ๆ”
ครูสำเริง เกิดผล กล่าวว่า “สมัยนั้นลุงจำรัสเป็นคนระนาดอย่างชนิดที่ว่า หาตัวจับได้ยากทีเดียว ปากก็เคี้ยวหมากเจาะๆ มือก็ตีระนาด ท่านไม่ได้ไล่ระนาดอะไรหนักหนาเหมือนปัจจุบัน ก็ทอดแหหาปลาตามภาษาชาวบ้าน มีงานก็ไป สุดท้ายอาจำรัสไปเสียท่า เขาเอาเหล้าให้กินที่ปทุมธานี เลยตายที่นั่น เพราะโดนยาสั่ง”
นายพวง เกิดผล มีความสามารถในการบรรเลงระนาดเอกและฆ้องวงเล็กเป็นอย่างดี ได้รับการถ่ายทอดเพลงเดี่ยวทางฆ้องวงเล็กจากครูเพชร จรรย์นาฏหลายเพลง อาทิเช่น เดี่ยวพญาโศก ๓ ชั้น เดี่ยวเชิดนอก และเดี่ยวกราวใน เถา
นายพวง เกิดผล สมรสกับนางทองอาบ เกิดผล (ไม่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทย) ทั้งสองไม่มีบุตรธิดาร่วมกัน แต่ได้รับบุตรบุญธรรมมาอุปการะ ๑ คน คือ นายวัฒนะ เกิดผล (อดีตคนฆ้องวงใหญ่ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ภายหลังอุปสมบทจำพรรษาอยู่ที่วัดบำรุงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับฉายาว่า จณฺทสโร)
ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “อาพวงเป็นคนขี้น้อยใจ ด้านอารมณ์ไม่ค่อยจะแน่นหนา แต่ว่าทางดนตรีแน่นหนาพอสมควร อาเป็นคนฆ้องวงเล็กประจำวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในสมัยนั้น แต่ก่อนเป็นคนระนาดเอกที่มีฝีมือทีเดียว เสียชีวิตด้วยโรควัณโรค เพราะสูบบุหรี่จัด เผาที่วัดบำรุงธรรม”
ครูวิเชียร เกิดผล กล่าวว่า “ลุงคนนี้เป็นคนระนาด ตีระนาดไหว ตอนหลังท่านไปเป็นทหารมือเลยเสีย ตระกูลฉันถ้าเป็นคนระนาดก็จะไหวๆ กันทั้งนั้น ทางเดี่ยวฆ้องวงเล็กบ้านจรรย์นาฏย์ก็ทางเดียวกับบ้านฉันนี่แหละ การตีของท่านดีมาก ทั้งไหวทั้งร่อน แต่ว่าจะตีรุนจังหวะไปหน่อย”
นายสังเวียน เกิดผล เกิดวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๐ มีความสามารถในการบรรเลงระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่เป็นอย่างดี เสียชีวิตวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒
นายสังเวียน เกิดผล มีภรรยาคนแรก ชื่อนางทองย้อย เกิดผล (ไม่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทย) มีบุตรธิดาร่วมกันทั้งหมด ๓ คน คือ ครูสำเริง เกิดผล นางจุไร นิลมงคล (เกิดผล) และครูเบญจา เกิดผล ที่มีชื่อเสียงด้านดนตรีไทย ได้แก่ ครูเบญจา
ภรรยาคนที่ ๒ ชื่อนางชั้น เกิดผล (มีความรู้ความสามารถด้านขับร้องเพลงไทย ศึกษากับครูเพชร จรรย์นาฏ ในอดีตเป็นนักร้องประจำวังบูรพาภิรมย์) มีบุตรธิดาร่วมกันทั้งหมด ๓ คน คือ ครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) ครูวิเชียร เกิดผล และนางสาวศรีทอง เกิดผล ที่มีชื่อเสียงด้านดนตรีไทย ได้แก่ ครูมาลี และครูวิเชียร
ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “อาสังเวียนเป็นคนฆ้องวงใหญ่ เรียนกับครูเพชร และครูหลวงประดิษฐไพเราะ หลังจากที่อาจำรัสตายท่านก็รับหน้าที่บรรเลงระนาดเอกแทน อาสังเวียนมีฝีมือนะ และเป็นคนสำคัญของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ บั้นปลายชีวิตเข้าวัดถือศีลเป็นประจำ”
นอกจากบุตรชายทั้ง ๔ คนของนายวน เกิดผล ยังมีเครือญาติที่เป็นบุคคลเก่าแก่ของตระกูลเกิดผลรุ่นเดียวกันอีก ๓ ท่าน คือ
นายตึก เกิดผล (นายหมา) สามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีได้ทุกชนิด (ไม่ปรากฏว่าเรียนดนตรีกับครูท่านใด) อดีตเป็นคนระนาดทุ้มประจำวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ
นายเป๋า เกิดผล คนเชิดหนังใหญ่ประจำตระกูลเกิดผล
นายไซ้ฮู้ ช่างไม้ประจำตระกูลเกิดผล
สมัยที่นายวน เกิดผล เป็นผู้ดูแลวงปี่พาทย์ตระกูลเกิดผล ผู้คนส่วนใหญ่มักเรียกชื่อวงปี่พาทย์ของนายวน ว่า “วงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน” “วงปี่พาทย์นายวนลิเกยายช้อน” หรือ “วงปี่พาทย์ตาวนหนังใหญ่ตาวน” ซึ่งคำว่า “บ้านใหม่หางกระเบน” นี้ เป็นชื่อเรียกอาณาบริเวณหมู่บ้านที่เป็นสถานที่ตั้งของบ้านนายวนนั่นเอง
ในเวลาต่อมาเมื่อนายวน และนางช้อน เกิดผล ได้เสียชีวิต ภาระงานต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับดนตรีและนาฏศิลป์จึงตกเป็นหน้าที่ของบุตรชายทั้งสี่ที่จะต้องดูแลและจัดการแทน แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อนายหงส์ นายจำรัส และนายพวง เกิดผล ได้เสียชีวิต นายสังเวียน เกิดผล จึงเป็นผู้สานต่องานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว
ห้วงระยะเวลานี้ งานแตรวง หนังใหญ่ ลิเก และเพลงพื้นบ้านที่ตระกูลเกิดผลดำเนินการอยู่ได้ซบเซาและล้มเลิกลงตามลำดับ เพราะขาดผู้นำและผู้ดูแลที่มีความรู้ความสามารถ กอปรกับศิลปินที่เคยร่วมงานแสดงต่างมีอายุมากและบางท่านได้เสียชีวิต ภายหลังจึงคงไว้แต่งานดนตรีปี่พาทย์เพียงอย่างเดียว
(อ่านต่อตอน ๓)