สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง (๑)

สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว
คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง
(๑)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง

โหมโรง

“ก่อนจรดไม้ตีลงผืนระนาดเพื่อบันทึกทำนองเพลงและฝีมือครูดนตรีวัยล่วง ๘๐ ปี ครูอ่วน หนูแก้ว แถลงว่า เพลงที่กำลังจะบรรเลงเป็นทางของครูดนตรีอันเลื่องชื่อแห่งจังหวัดสมุทรสงคราม ‘ครูปาน นิลวงศ์’ ที่น้อยคนจะได้รับการถ่ายทอด หรือแม้แต่ชื่อเพลงก็ยังไม่คุ้นชินต่อความรับรู้ของคนดนตรีในปัจจุบัน

‘เพลงเรื่องมาลีหวล’ ครูเอ่ยขึ้นเพื่อคล้ายข้อสงสัยพร้อมกล่าวสำทับว่า ‘เพลงนี้แหละ พวกกรุงเทพฯ อยากได้นัก’

เพลงเรื่องมาลีหวลเป็นหนึ่งในจำนวนเพลงหลายสิบเพลง ไม่ว่าจะเป็นเก็กเหม็ง เถา เขมรน้อย เถา เพลงเรื่องจีนไซ้ฮู้ เจดีย์เก้ายอด ชมสวนสวรรค์ แขกบรรทมไพร นางกราย ฯลฯ ที่ครูอ่วนได้รับการถ่ายทอดจากครูเท สุขนันข์ โต้โผปี่พาทย์ย่านวัดปากน้ำ อัมพวา สมุทรสงคราม ผู้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ครูปาน นิลวงศ์

หากจะถามว่าครูอ่วนได้เพลงเหล่านี้มาได้อย่างไร คงต้องเท้าความย้อนอดีตไปเมื่อกว่า ๖๐ ปีที่แล้ว ด้วยบรรยากาศศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่สมุทรสงครามที่อุดมไปด้วยหมู่นักดนตรีและนาฏศิลป์ หล่อหลอมและชักนำให้ครูอ่วนในวัย ๑๔ ปี ตัดสินใจเลือกลัทธิดนตรีเป็นสรณะ ออกเดินทางจากบ้านไปฝากตัวเรียนปี่พาทย์จากสำนักครูเท สุขนันข์ โดยมีนายเชื่อม หนูแก้ว ผู้เป็นบิดาและเป็นเกลอกับเจ้าสำนักเป็นผู้นำฝาก…”

ข้างต้นคัดบางส่วนจากบทความ เรื่อง “ครูอ่วน หนูแก้ว ทายาทดนตรีครูเท สุขนันข์” ที่ผมเขียนลงวารสารเพลงดนตรี ฉบับเดือนกันยายน ๕๔ ในคอลัมน์ “คนกับดนตรี”

เพลงดนตรีฉบับนี้ปกเป็นรูปหนุ่มน้อยนักโปงลางที่เพิ่มคว้าชัยในรายการ The 12th Osaka International Music Competition วางท่าตีโปงลางอย่างขะมักเขม้น พร้อมบทสัมภาษณ์ที่กองบรรณาธิการเขียนถึงเขาเป็นเรื่องจากปก

คอลัมน์คนกับดนตรี เป็นสัมปทานหน้ากระดาษที่นิวัติ กองเพียร บรรณาธิการบริหารเพลงดนตรีในสมัยนั้นเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ผมเขียนถึงคนดนตรีไทยท่านใดก็ได้ ไม่จำกัดเพศ วัย สำนักหรือทางเพลง แต่ต้องมีดีสำหรับอวดผู้อ่าน นำเสนอผ่านบทความเชิงบทสัมภาษณ์ประวัติชีวิต กำหนดตีพิมพ์ฉบับละหนึ่งท่าน

อันที่จริงเพลงดนตรีเคยทำเรื่องแนวนี้มายาวนานแล้ว นานพอๆ กับอายุของวารสาร คือเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ มีทั้งบทสัมภาษณ์ครูดนตรีไทย/สากล ศิลปินนักดนตรี ช่างทำเครื่องดนตรี ถ่ายทอดผ่านปลายปากกาและมุมมองนักเขียนรุ่นใหญ่เล็กมากหน้าหลายตา ล้วนน่าอ่านและได้สาระประโยชน์ทั้งสิ้น
ผมจึงเป็นเพียงแต่ผู้เจริญรอยตามแบบอย่างที่ท่านเหล่านั้นทำไว้ดีแล้ว

ครูไพฑูร อุณหะกะ คือคนดนตรีท่านแรกที่ผมเขียนถึง ลงเพลงดนตรีฉบับมกราคม ๕๓ ต่อมาได้เขียนถึงครูอีกหลายท่าน ได้แก่ ครูขำคม พรประสิทธิ์ ครูทัศนัย พิณพาทย์ ครูประมวล ครุฑสิงห์ ครูจำลอง เกิดผล ครูสุเชาว์ หริมพานิช ครูนิติธร หิรัญหาญกล้า ครูบุญชู รอดประสิทธิ์ ครูไพฑูรย์ เฉยเจริญ ครูสอน อยู่ประคอง และครูสุรินทร์ สงค์ทอง เป็นอาทิ

ผมมีความตั้งใจจะทำเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่จนแล้วจนรอดเรื่องครูอ่วนก็ได้ลงเป็นเรื่องสุดท้าย ลงตีคู่กับบทสัมภาษณ์ครูโกวิทย์ ขันธศิริ ที่ผมเขียนถึงเช่นกัน

สาเหตุมาจากเพลงดนตรีหยุดดำเนินการ เรียกได้ว่ายุบทั้งหนังสือและคนทำงาน (ปัจจุบันเริ่มดำเนินการใหม่แล้ว) แล้วต้องบอกกันไหมว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร เมื่อเพลงดนตรีล้ม แต่ความต้องการเขียนหนังสือของผมไม่ได้ล้มไปด้วย จึงคิดนำเรื่องคนดนตรีเก่าๆ มาเขียนขึ้นใหม่ เพิ่มเติมเนื้อหาสาระและใส่รายละเอียดลงไปให้มากกว่าเดิม

ผมลงมือเขียนเรื่องครูอ่วน หนูแก้วเป็นปฐมฤกษ์ เพราะเท่าที่เขียนลงในเพลงดนตรีเนื้อหาหนักไปที่ครูของท่านเสียมาก คือครูเท สุขนันข์

ครูอ่วน หนูเเก้ว

ครูอ่วน หนูเเก้ว ที่บ้านราชบุรี (ภาพ: พิชชาณัฐ ตู้จินดา)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *