สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง (๒)

สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว
คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง
(๒)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง

(๑)
อารัมภบท

เสียงจากปลายสาย

ปลายฝนต้นหนาว ปี ๒๕๔๔ ผมได้รับโทรศัพท์จากรุ่นพี่คนหนึ่ง เมื่อทักทายถามสารทุกข์สุขดิบดีแล้ว เขาเล่าให้ฟังว่า เขาตั้งใจจะทำหนังสือรวมเล่มโน้ตเพลงไทยสองชั้นที่เขาสะสมไว้เป็นร้อยเพลง พร้อมบันทึกที่มาที่ไปเกี่ยวกับบทเพลงสั้นๆ เป็นส่วนเสริม

เขาเล่าให้ฟังอีกว่า เขาใช้เวลาหลายปีตระเวนเดินทางไปทั่ว เพื่อขุดล่าเพลงไทยสองชั้นเก่าๆ ที่บรรจุอยู่ในเพลงเรื่อง เพลงโขนละคร เพลงหุ่นกระบอก หรือเพลงเกร็ดที่แยกตัวอย่างเอกเทศ ตกสำรวจหรือไม่มีคนเล่นแล้วจากครูดนตรีไทยทั้งเขตพระนครและตามเขตบ้านชานเมือง โดยเฉพาะครูดนตรีในจังหวัดราชบุรี จังหวัดบ้านเกิดของเขา

“รู้จักครูอ่วน หนูแก้วไหม” เสียงจากปลายสายถามขึ้น

“ใครครับ” ผมถามกลับอย่างไม่รีรอ

แล้วเขาก็เล่าแจ้งแถลงไขเสียยืดยาว ซึ่งผมพอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่า ครูอ่วนท่านนี้เป็นครูดนตรีอาวุโสลุ่มน้ำแม่กลอง คลังเพลงเก่า ศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกของครูรวม พรหมบุรี และที่สำคัญ ท่านเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขทางดนตรีสายครูปาน นิลวงศ์ อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าเข้มข้นทีเดียว

ผมถามเรื่องครูอ่วนด้วยความใคร่รู้ และไม่ลืมที่จะถามเบอร์โทรศัพท์พร้อมทางไปบ้านท่านอย่างละเอียด ก่อนลงเอยด้วยความตั้งใจไปกราบครูอ่วนที่บ้านในอาทิตย์ถัดมา

ออกเดินทาง

บ้านครูอ่วน หนูแก้ว ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไม่ไกลนัก คนถนัดเดินบ้านอยู่หน้าโรงเรียนดรุณาราชบุรีอย่างผมจึงเดินไปกลับอย่างสบาย

จากตลาดเทศบาล ผมนั่งเรือข้ามฝากแม่น้ำแม่กลองมาฝั่งทหาร (ค่ายภาณุรังษี) ค่าโดยสาร ๔ บาท จากนั้นเดินลัดเลาะผ่านทิวสนมาหน้าถนนใหญ่ ด้านหน้ามีป้ายขนาดเขื่องเขียนว่า “กรมการทหารช่าง” จากจุดนี้สังเกตฝั่งตรงข้ามทางซ้ายมือให้ดีจะเห็นอุโมงค์ทาสีแดงสลับขาวใต้คันดินทางรถไฟ คนราชบุรีเรียกอุโมงค์นี้อย่างไม่เป็นทางการว่า “อุโมงค์ศาลหลักเมือง”

เดินรอดอุโมงค์ผ่านไปอีกฝั่ง ด้านหน้าเป็นทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดราชบุรี มีงานสักการะประจำปีช่วงเดือนเมษายนที่จัดอย่างเอิกเกริกไม่เคยขาด แยกขวาไปสโมสรทหารช่าง แต่ถ้าจะไปบ้านครูอ่วนต้องเลี้ยวซ้ายแล้วเดินตามถนนเลียบกำแพงเมืองเก่าไปเรื่อยๆ พบทางแยกเลี้ยวซ้ายอีกครั้ง สังเกตสองข้างทางข้างหน้าจะอุดมไปด้วยบ้านพักนายทหารหลายช่วงตึก

บ้านครูอ่วนตั้งอยู่ในซอยเล้าไก่ ชื่อเดิม หรือซอยพงสวาย ๑๐ ชื่อในปัจจุบัน ซอยนี้อยู่ตรงข้ามโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ หรือโรงเรียนโยธินวิทยา ทางเข้าบ้านครูเป็นซอยเกร็ดเล็กและแคบแอบอยู่หลังร้านค้ากลางซอยเล้าไก่อีกที ต้องสังเกตให้ดีจึงจะเห็นไม่อย่างนั้นจะหลง

บ้านหลังแรกคือจุดหมายปลายทางของเรา บ้านครูอ่วน หนูแก้ว

ประตูรั้วหน้าบ้านมีภาพเขียนแม่ธรณีบีบมวยผมยิ้มรับแขกผู้มาเยือน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มไม้เลื่อยทิ้งดอกแดงแซมขาวเป็นช่อๆ อยู่สะพรั่ง

ไม่ผิดหลังแน่ เพราะตรงตามข้อมูลที่ผมได้รับมาทุกประการ

ผมจำได้ถนัด ว่าผมเดินทางไปบ้านครูอ่วนครั้งแรกวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๕๔ วันนั้นหวังใจว่าจะไปสัมภาษณ์และพูดคุยเรื่องราวในอดีต ประวัติชีวิต และประสบการณ์ดนตรีของท่านเพื่อเขียนลงวารสารเพลงดนตรี

แรกเห็น ครูเป็นคนรูปร่างสันทัดสมส่วนคือสูงปานกลาง ตัดผมสั้นสีดอกเลา ทราบว่าข้อที่เคยเป็นคนระนาดเอกและช่วงหนึ่งรับราชการทหารมาก่อน ลำข้อลำแขนจึงล่ำสันพอเป็นส่วนพิจารณาให้รู้ว่า ครั้งหนุ่มๆ ครูคงตีระนาดไหวไม่เบา

แม้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกัน แต่ครูก็ให้ความเมตตาและไม่ถือเนื้อถือตัวกับผม คุณวิเศษข้อนี้ช่วยลดอาการเกร็งและความประหม่าของคนที่อายุน้อยกว่าท่านถึงห้าสิบห้าปีอย่างผมได้เป็นอย่างดี ครูพาผมไปนั่งที่โซฟารับแขกส่วนหน้าชั้นล่างของบ้าน หลังแนะนำตัวให้ครูรู้จักคร่าวๆ บทสนทนาชีวิตก็เริ่มบรรเลงขึ้น

บ่ายวันนั้นเราพูดคุยออกรสออกชาติทีเดียวครับ

ครูเป็นคนพูดเพราะ สำเนียงการพูดบอกให้รู้ว่า พื้นเพเดิมครูไม่ใช่คนราชบุรี ครูอ่วน หนูแก้ว เป็นคนสมุทรสงคราม เกิดท่ามกลางสวนมะพร้าว และเป็นลูกชาวสวนแท้ๆ โดยกำเนิด

ครูอ่วน หนูเเก้ว วัยหนุ่ม

ครูอ่วน หนูเเก้ว วัยหนุ่ม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *