สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง (๔)

สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว
คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง
(๔)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง

(๓)
ชีวิตวัยเด็ก

หลานรักหลานชัง

เล่าย้อนถึงแม่คำตอนที่ตั้งครรภ์ครูอ่วน เธอไม่เคยฝันเห็นนางฟ้า ช้างเผือก หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใดมาบอกกล่าว ว่าทารกในครรภ์ต่อมาจะได้เป็นนักดนตรีไทยที่สามารถคนหนึ่ง แต่อาจกล่าวได้อย่างไม่เกินเลยนักว่า ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนกระทั่งแม่คำสิ้นใจ ครูอ่วนไม่เคยทำให้ผู้เป็นแม่ต้องผิดหวังหรือน้ำตาตกเพราะพฤติกรรมไม่ดีของตน

“ครูอายุได้ ๑ ปี แม่ก็คลอดน้องสาวอีกคน น้องได้กินนมแม่ แต่ครูไม่ได้กิน ทีนี้มียายบ้านตรงข้ามชื่อหมาแย้ม แกมีลูกสาวแก่กว่าครูหนึ่งปีชื่อนิ่ม แกเห็นครูร้องไห้จะกินนม แต่ไม่ได้กิน แกก็ตะโกนจากบ้านบอกว่า คำๆ มึงเอามันมากินนมกูนี่ ตั้งแต่นั้นมาครูกินนมยายหมาแย้มมาตลอด

“เด็กๆ ครูเกเรเหมือนกันนะ แต่ว่าเกเรอยู่ในกรอบ มีอยู่วันหนึ่งที่บ้านไปเที่ยววัดไทรกันหมด แม่เขากกน้องอยู่ในเรือน ครูอดนมแม่ตั้งแต่ขวบ เราก็ร้อง ยายก็ไม่ออกมาดู ตะเกียงกระป๋องก็ไม่จุดไว้ให้ ครูร้องไม่ร้องเปล่าฉีกมุ่งที่ปลายตีนรูเบ้อเร่อ ที่บ้านกลับมาหัวเราะกันยกใหญ่

“อีกเรื่องหนึ่งก็ได้ แต่ก่อนหุงข้าวด้วยหม้อดิน ครูเอาทับพีทองเหลืองคดข้าว ทีนี่ทับพีหลุดมือไปโดนหม้อแตก น้าเขากินข้าวทีหลังเขาบอกว่า ‘อ่วน มึงทำหม้อแตกหรือ’ ครูตอบหน้าตาเฉย ‘ครับ ผมทำแตก’ เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร”

แม้ความทรงจำในวัยเด็กบางเรื่องอาจไม่ค่อยแจ่มชัดเท่าใดนัก แต่ทว่ากลับมีเรื่องหนึ่งที่ผังใจครูอย่างแนบแน่น มันว่าด้วยเรื่องความรักและความชังที่ตาแฉ่งยายผันมีต่อครูล้วนๆ

“แม่เล่าให้ฟัง ครั้งหนึ่งเขาไปสวนกันหมด เหลือยายกับครู แล้วก็ลูกคนสุดท้องของยายชื่อน้าสา ครูนอนอยู่ในเปลตะข่าย ทีนี่ยุงมันกัดเราก็ตื่น ยายแกไม่ค่อยดูแลครูหรอก เพราะท่านไม่ค่อยรัก ครูตื่นมาก็ร้องหาแม่ ได้ทียายก็ตีน่ะสิ ยิ่งตียิ่งร้อง ยิ่งร้องเขาก็ยิ่งตี เท่านั้นไม่สาแก่ใจ แกติดไฟเตาถ่านเอาพริกแห้งเผาควันโขมงเลย แกเอาผ้าห่มหนาๆ คลุมครูกับเตาไฟ คิดดูว่ามันแสบตาแค่ไหน ครูร้องลั่นบ้านเลย

“ตอนนั้นครูอายุ ๒ ขวบ ร้องหนักเข้าเขาก็เปิดผ้า น้าสาอายุ ๑๐ ขวบทำอย่างไรรู้ไหม อุ้มครูไปวางกลางนอกชานให้นั่งกลางแดด ไม่พอยังเอาแหเหวี่ยงอีก ตะกั่วแหถูกหัวครูก็ร้อง ตากลับมาเท่านั้นแหละ เป็นเรื่อง” ครูอ่วนเล่าพลางหัวเราะพลางจนน้ำหูน้ำตาไหล

ครูอ่วนเป็นหลานรักของตาแฉ่ง ถ้าเกิดปัญหาอะไรตาแฉ่งจะเข้าปกป้องครูทันที แต่ในทางกลับกัน สำหรับยายผัน ครูเป็นหลานชังที่ได้รับความรักน้อยกว่าพี่ชายของครู คือ นายเชย หนูแก้ว ฉะนั้นบางวันถ้าเกิดเสียงถกเถียงเอะอะจากสองตายาย ชาวบ้านละแวกนั้นมักคาดไม่ผิด ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมักมีเหตุจากครูอ่วนเป็นต้นตอ

ผมถามครูว่า โกรธยายหรือเปล่าที่ทำกับครูสารพัด ครูยิ้มอย่างเต็มยิ้มพร้อมตอบว่า “ไม่หรอก เพราะโตมาท่านก็ไม่ได้เกลียดอะไร ครูก็ไม่ถือด้วย”

ฉายแววนักดนตรี

ขอเล่าแทรกตรงนี้สักหน่อยว่า บ้านที่ครูอ่วนอาศัยอยู่ในปัจจุบันเป็นบ้านเดี่ยว ๒ ชั้น สร้างและต่อเติมเอง ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นไม้ ด้านนอกมีอาณาบริเวณกว้างขวางสำหรับปลูกต้นไม้ทั้งไม้ล้มลุกและยืนต้น โดยเฉพาะพื้นที่ด้านหลังติดกับครัวมีเนื้อที่กว้างยาวออกไปเป็นพิเศษ ท้ายที่ตรงนี้ผมเห็นเปลญวนผูกง่ายๆ ระหว่างไม้ใหญ่ให้ร่มสองต้น ผมสืบทราบภายหลังว่า ครูใช้เปลนี้นอนเล่นเพื่อหย่อนใจยามบ่ายเสมอ

ถามว่า เครื่องดนตรีปี่พาทย์ของครูเก็บไว้ที่ไหน

ขอตอบว่าก็ตรงที่ผมกับท่านนั่งเจียระไนชีวิตกันอยู่นี่แหละ

เตียงไม้สามตัวเรียงชิดติดกันหน้าบันไดทางขึ้นบ้านถัดจากมุมรับแขก วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่ครูใช้เงินออมบางส่วนแลกจากต่างที่วางสงบอยู่ตรงนี้ ครูอ่วนบอกว่า วันทั้งวันท่านหมดเวลาไปกับการนั่งทวนเพลง ซ้อมมือ และต่อเพลงให้ลูกศิษย์ที่มาขอพึ่งความรู้จากท่านด้วยเครื่องดนตรีชุดนี้

จากสายตาที่ผมมองอย่างคร่าวๆ นอกจากเครื่องดนตรีวงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่วางเป็นวงพร้อมบรรเลงแล้ว ครูยังสะสมกลองทัดใบย่อมอีก ๑ คู่ รางระนาดเอกและรางระนาดทุ้มทรงเก่าอย่างละราง และยังมีผืนระนาดเอกทั้งเก่าใหม่แขวนระโยงระยางตามพนังอีกสองสามผืน

ลืมเล่าไปว่า ใครจะรู้บ้าง ว่าใต้ผ้าคลุมสีเขียวเข้มที่คลุมฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็กต่อหน้าผม จะเป็นฆ้องทุบอายุเก่า รูปสวย เสียงใส แถมสภาพดีเยี่ยม ที่ครูมักอวดแก่ผู้มาเยือนทุกครั้งด้วยความภูมิใจ และครั้งนี้ก็เช่นกัน ท่านไม่ลืมที่จะอวดให้ผมร่วมภูมิใจกับฆ้องวงงามคู่นี้ด้วย

“ครูครับ ครูเริ่มเรียนดนตรีไทยได้อย่างไร” ผมทำลายความเงียบด้วยคำถามประเด็นต่อมาพร้อมๆ กับละสายตาจากเครื่องเครา

ครูอ่วนยอมรับว่า ก้าวแรกที่แตะลงถนนสายดนตรีไทย ส่วนสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อเชื่อมบิดาของตน ดังที่ได้เล่าแล้วว่า ทุกค่ำเช้าบรรยากาศบ้านริมคลองเขาควายจะมีเสียงซอเสียงระนาดฝีมือพ่อเชื่อมเป็นพื้นหลัง นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน คือ เมืองอัพวาเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยศิลป์ไทยแขนงต่างๆ

“ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งก็ได้” ครูอ่วนกล่าว

“น้าจีบกับน้าลอ น้องแม่สองคนนี้เขาไม่ได้แต่งงาน เวลาไปไหนก็จะพาครูไปด้วย ทีนี้มันมีงานสลากภัตรประจำปีที่วัดบางคลทีใน ก็อุ้มครูใส่เอวไป พอไปถึงเขาวางครูไว้ที่วงปี่พาทย์รับลิเก นั่งตรงลูกยอดฆ้องวงพอดี ลิกงลิเกไม่ได้ดูหรอก ดูแต่เขาทำปี่พาทย์

“สมัยก่อนลิเกปล่อยตัวประมาณ ๑๑ โมง สักโมงหนึ่งปี่พาทย์จะเล่นเพลงอะไรก็แล้วแต่ แต่โหมจริงๆ ประมาณ ๙ โมงกว่า ตอนที่ครูไปดูเขาปล่อยตัวแล้ว พอดูได้สักพัก แกก็มารับกลับ พอถึงบ้าน น้าสองคนเขาก็ยิ้ม เขาเล่าให้แม่ฟังว่า ‘มันนั่งอยู่เฉย ไม่กวนไม่เกเร ดูแต่ปี่พาทย์’”

หลังกลับจากงานดังกล่าว ครูอ่วนในวัย ๔ ขวบไม่รอช้าที่จะรบเร้าให้พ่อเชื่อมเริ่มสอนดนตรีให้แก่ตน แล้วท่านก็สมใจ

พ่อเชื่อมเริ่มสอนให้ครูอ่วนตีระนาดเอก วิธีการของท่านเป็นอย่างที่ครูดนตรีแต่เก่าก่อนเคยปฏิบัติ จะต่างก็ตรงที่ไม่ได้สอนให้เริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่ และไม่ได้ต่อเพลงชุดสวดมนต์เย็นฉันเช้าเป็นปฐม ท่านผูกด้ายที่ก้านไม้ตีระนาดทั้งสองข้าง วัดความยาวด้ายเท่าคู่แปดบนลูกระนาดพอดิบพอดี แล้วฝึกให้ครูไล่เสียงทั่วทั้งผืน พร้อมต่อเพลงแป๊ะจนจบเพลง

“มึงตีไปให้คล่องแล้วจะต่อเพลงใหม่ให้” นี่คือคำพูดของพ่อเชื่อมที่กล่าวแก่ครูอ่วน

ช่วงเวลาต่อมาหลังจากนั้นไม่นานนัก ประกายนักดนตรีในตัวครูอ่วนก็เริ่มฉายแวว

“วันหนึ่งยายพาครูไปงานประจำปีที่วัดคุณพ่อบ้านแหลม ปี่พาทย์มาจากไหนไม่รู้กำลังโหมอยู่เลย พอตีเสร็จเขาก็ไปพัก ครูเห็นระนาดมันว่างก็เข้าสวม ตีเพลงแป๊ะที่พ่อต่อให้นั่นแหละ โต้โผมาเห็นเขาว่า ‘ไอ้หนูนี่มันตีเป็นโว้ย ทางเพราะเสียด้วย’ มารู้ทีหลังว่าโต้โผชื่อตาเอก อ้วนๆ อยู่วัดบางพรหม อัมพวา

“พอกลับถึงบ้าน ครูอยากมีกลองตีเหมือนเขา ก็เอาลูกมะพร้าวตั้ง เอาไม้เสียบเป็นไม้ขาหยั่ง ตีจนลูกมะพร้าวพัง คราวนี้น้าแกเห็น แกเอาไหมาให้ ๒ ลูก ดินเหนียวพอกเอาผ้าปิดขึงให้ตึง พอแห้งก็ใช้ไม้เล็กๆ ตีก็ดังดีอีกนั่นแหละ

“เพลงเสมอครูจำทำนองได้ตั้งแต่เด็ก เพลงเชิดก็นอยไปตามภาษา ปากก็นอยเพลงมือสองข้างก็ตีกลองเข้าจังหวะ อยากได้ฆ้องวงก็เอากะลามะพร้าวมาเรียง หาไม้มาตี ปากก็ว่าเป็นเพลง เล่นอยู่ได้คนเดียวมันวันยังค่ำ” ใบหน้าครูอ่วนฉายความสุขทันทีเมื่อนึกถึงความซุกซนในวัยเด็กของตน

ตัดสินใจครั้งสำคัญ

ครูอ่วนเริ่มเรียนชั้นมูลหรือที่สมัยนี้เรียกชั้นอนุบาลเมื่ออายุ ๘ ขวบ ที่โรงเรียนวัดต้นมะม่วง หรือโรงเรียนอินทรานุสรณ์ ครูอ่วนเข้าเรียนช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ๑ ปี สาเหตุเพราะพ่อเชื่อมต้องการให้เข้าเรียนพร้อมน้องสาวของครูอีกคน คือ ส้มเกลี้ยง หนูแก้ว

ทุกเช้า สองคนพี่น้องจะเดินจากบ้านไปโรงเรียนที่ห่างกันไม่ไกลนัก และจะรอกลับบ้านพร้อมกันในช่วงเย็นของทุกวัน

ครูอ่วนให้ข้อมูลว่า โรงเรียนวัดต้นมะม่วงสมัยนั้น เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมูลถึงชั้น ป.๔ ชั้นมูลเรียนที่ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ส่วนชั้น ป. ๑ ถึง ป.๔ เรียนที่ตึกเรียน ครูเสงี่ยม คือครูใหญ่ ครูชุมสาย คือครูประจำชั้น ป.๒ ครูชุมสายเดิมเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดบางคลทีใน กล่าวขวัญกันว่าดุและเจ้าระเบียบ ท่านเป็นเจ้าของไม้บรรทัดอย่างหนาพิเศษทำด้วยไม้จริงสำหรับกำราบเด็กดื้อในโรงเรียน

“สมัยก่อนต้องเรียนวิชาศีลธรรม พลเมืองดี วิทยาการ การบ้านภาษาไทยเขาให้คัดไทยเต็มบรรทัด ครูชุมสายเห็นก็นำของครูไปโชว์หน้าชั้น เพราะลายมือสวย ‘นี่ ต้องคัดให้เหมือนเด็กชายอ่วน คัดแบบนี้สวยมาก’ ครูได้เป็นหัวหน้าชั้นทุกชั้น สอบแต่ละครั้งถ้าไม่ได้ที่ ๑ ก็ได้ที่ ๒ ผลัดกับเพื่อนอีกคน ชื่อประไพ เจริญผล” ครูอ่วนเล่าความหลังอย่างภาคภูมิ

บ่ายนี้ท้องฟ้ามืดครึ้มด้วยเมฆฝนที่ตั้งเค้ามาแต่ไกล แต่บรรยากาศภายในบ้านครูอ่วน ณ ช่วงสนทนาที่กำลังดำเนินนี้ กลับแจ่มใสด้วยความสุขที่ครูได้รำลึกถึงอดีตที่ผ่านเลย ไม่ผิดเพี้ยนจากคำปราชญ์ที่ผมเคยอ่านพบ ท่านกล่าวว่า “ความสุขของเด็กอยู่ที่เล่น ของหนุ่มสาวอยู่ที่รัก ของกลางคนอยู่ที่งาน และของคนแก่อยู่ที่นึกความหลัง”

แต่แล้วการนึกความหลังในบางเรื่อง มันทำให้ลูกผู้ชายที่นั่งต่อหน้าผมต้องหลั่งน้ำตาอย่างที่ผมไม่คาดคิดมาก่อน…

เมื่อเรียนจบชั้น ป.๔ ด้วยผลการเรียนที่น่าพอใจ และความประพฤติที่ไม่เคยด่างพร้อย กอปรกับทางบ้านไม่มีปัญหาด้านการเงิน สำหรับครูอ่วนแล้วการเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นคงไม่มีอุปสรรคใดที่อาจขวาง ทั้งพ่อเชื่อมก็ตั้งความหวังกับลูกชายคนนี้ไว้ไม่น้อยเหมือนกัน

“เรียนจบ ป. ๔ ครูเสงี่ยมมาหาพ่อที่บ้าน แกบอกว่า ‘อ่วนมันเรียนดีนะให้มันเรียนต่อเถอะ วิชามันเก่งทำได้ดีทุกอย่าง’ พ่อตอบว่า ‘ต้องถามเจ้าตัวดูก่อนว่าเขาจะเอาหรือเปล่า’ ตอนเย็นพอครูกลับถึงบ้าน พ่อเล่าให้ฟังว่า ‘ครูใหญ่มาหาข้าที่บ้าน เขาจะให้เอ็งเรียนต่อ แล้วข้าก็อยากให้เอ็งเรียนต่อด้วย’”

ครูอ่วนเว้นวรรคคำพูด นิ่งและอึ่งอยู่นาน ก่อนจะเล่าต่อด้วยเสียงสั่นเทาและน้ำตาคลอหน่วย ว่า “ครูตอบพ่อไปว่า…’พ่อ ผมรักดนตรีไทยมาก แล้วจะทำอย่างไร ผมอยากเรียนดนตรีให้เก่ง’… แต่ในใจตอนนั้นนึกกลัวว่าท่านจะไม่ให้ พ่อตอบครูว่า ‘เดี๋ยวจะส่งไปเรียนปี่พาทย์ที่เขามีเครื่องครบ’ จากนั้นท่านก็ไม่ได้พูดอะไร แต่ครูมองดูท่านเสียใจนะ นึกถึงเรื่องนี้ทีไรน้ำตาไหลทุกที” ครูอ่วนกล่าวพลางปาดน้ำตา

หลังจากนั้นไม่นาน พ่อเชื่อมทำตามสัญญาที่มอบแก่ครู ท่านพาครูไปฝากเรียนดนตรีปี่พาทย์กับครูเท สุขนันข์

มุมหนึ่งในบ้าน เเละโซฟาสีเเดงที่ครูใช้นั่งพูดคุยกับผม

มุมหนึ่งในบ้าน เเละโซฟาสีเเดงที่ครูใช้นั่งพูดคุยกับผม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *