ครูไพฑูรย์ เฉยเจริญ อีกหนึ่งตำนานคนดนตรี

ครูไพฑูรย์ เฉยเจริญ
อีกหนึ่งตำนานคนดนตรี
พิชชาณัฐ ตู้จินดา

เบื้องหน้าคืออนุสาวรีย์ครูดนตรีไทยคนสำคัญ พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ตั้งตระหง่านบ่ายหน้าสู่หมู่อาคารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านศาลาทรงร่วมสมัยริมน้ำ ที่พื้นที่ภายในถูกทาบทับด้วยร่มไม้ มีชายคาเป็นเครื่องกำบังแดดอ่อนยามเช้า

วันนี้เราใช้ศาลาครูมีแขกเป็นสถานที่นัดพบครูดนตรีไทย ผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งของสังคมดนตรี “ครูไพฑูรย์ เฉยเจริญ”

ครูไพฑูรย์ เฉยเจริญ เกิดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นบุตรคนโตของนายทม และนางเจริญ เฉยเจริญ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน ๓ คน บิดาประกอบอาชีพเป็นนายวงดนตรีปี่พาทย์ และทำการเกษตร ครูไพฑูรย์เกิดและใช้ชีวิตในวัยเด็กที่บ้านปลายคลองสัตตพงษ์ ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มเรียนดนตรีไทยกับนายเย็น เฉยเจริญ ผู้เป็นปู่ ก่อนจะเดินทางเข้ามาเรียนดนตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป ตามเจตนารมณ์ของบิดา และตั้งรกรากอยู่ที่กรุงเทพมหานครจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ล่าสุด ครูไพฑูรย์ เฉยเจริญ ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน ๕ ครูดนตรีไทย ที่ได้รับมอบกรรมสิทธิ์เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูสาขาดนตรี จาก ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเป็นองค์ประธาน ในพิธีไหว้ครูและสืบทอดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน-ละคร ครูดนตรี และครูช่างของกรมศิลปากร ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา

เจียระไนชีวิต

“พ่อของผมเป็นเจ้าของคณะปี่พาทย์ ชื่อคณะนายทม ตอนหลังใครไปใส่เป็นบรรทมศิลป์ไม่ทราบ ความหมายเลยเปลี่ยน เป็นวงปี่พาทย์ไทย มอญ และแตรวง เชื่อว่าพ่อมีเครื่องปี่พาทย์มอญเป็นคณะแรกๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ปัจจุบันนี้เลิกกิจการไปแล้ว เพราะไม่มีใครสานต่อ ภายหลังเครื่องดนตรีทั้งหมดผมได้มอบให้กับกรมศิลปากรเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

“ปู่ชื่อเย็น มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีปี่พาทย์ ย่าชื่อ นิล ปู่ผมเป็นลูกคนจีน ปู่เรียนดนตรีไทยโดยมีทวดเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งทวดเป็นคนจีนไว้ผมเปีย พวกนี้เป็นคนจีนอพยพเข้ามาทางทะเล จ.ชลบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ทวดของผมเข้ามาทางแม่น้ำบางปะกง แล้วมาแต่งงานกับคนในพื้นที่ นามสกุลของผมมาจากชื่อของทวด สันนิษฐานว่าทวดของผมไม่ได้ชื่อเฉย น่าจะเพี้ยนมาจากเฉิน หรืออะไรสักอย่าง ผมจำนามสกุลเดิมได้ ว่าเป็น ผุงฉอย หรือเซียงผุง เป็นจีนแคระ เฉินอาจจะเกี่ยวข้องกับเฉยตัวนี้ ซึ่งต่อมาเป็นเฉยเจริญ

“บ้านของผมสมัยก่อนทำสวนทำนา รอบๆ บ้านเป็นศาลเจ้าทั้งนั้น เวลาพูดจะพูดจีนปนไทย ปัจจุบันก็คงยังเหลืออยู่ ปู่เย็นก็พูดภาษาจีน การปลูกพืช ขุดท้องร่อง รดปุ๋ย หรือทำอะไรเกี่ยวกับเรือกสวนนาไร่ พูดเป็นภาษาจีนทั้งหมด ตอนเด็กๆ ผมช่วยปู่เลี้ยงควาย ทำนา ถีบระหัดวิดน้ำ เพราะสมัยก่อนต้องใช้แรงคนถีบ ตอนหลังเครื่องญี่ปุ่นเข้ามาก็ใช้น้ำมันก๊าด

“ผมเรียนประถมที่โรงเรียนวัดเทพนิมิต อยู่ในอำเภอเมือง เวลาไปเรียนเดินเท้าจากปลายคลอง ข้ามแม่น้ำบางปะกงไปตลาดบ้านใหม่ ปัจจุบันเรียกตลาดร้อยปี ต้องเดินเท้าเปล่าตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.๔ เพราะไม่มีรองเท้าใส่ อาคารที่เรียนอยู่ใกล้ๆ ป่าช้า เป็นโกดังเก็บศพ และมีฮวงซุ้ยที่คนจีนเอาไว้เก็บศพ ผมชอบไปวิ่งเล่นแถวนั้นตามภาษาเด็ก

“เสื้อนักเรียนของผมปัก ฉช ๑๑ คือฉะเชิงเทรา ๑๑ เพื่อนๆ ที่อยู่ในตลาดมีแต่คนจีนทั้งนั้น ชื่อเซี๊ยะลิ้ม อิ๋วตง กิมฮ้วง ซุ้งเม้ง ถ้าเป็นเด็กในท้องนาก็จะมีสมศักดิ์ หรือประยงค์ พวกนี้คือเพื่อนที่สนิทกัน อย่างซุ้งเม้งเป็นผู้หญิง ผมยังจำได้ว่า ต้องเดินผ่านบ้านเขาทุกวัน

“ผมเป็นเด็กที่โตอยู่แต่เฉพาะท้องถิ่น พูดตรงๆ ก็คือ เด็กบ้านนอก วิ่งเล่นอยู่แถวบ้านกับไปโรงเรียนเท่านั้น เพราะผู้ปกครองไม่ปล่อยให้ไปไหน สมัยนั้นก็นั่งแต่เรือ รถยนต์หายากเต็มที จะเข้าตลาดสักครั้ง ก็ต้องพายเรือข้ามฝั่งแล้วนั่งสามล้อ หลังโรงเรียนเห็นอยู่ลิบๆ มันมีรถไฟวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปปราจีน ไปอรัญประเทศ พอวันหนึ่งผมได้ขึ้นรถไฟ โอ้โหมันตื่นเต้น จากนั้นชีวิตก็เปลี่ยน เปลี่ยนตอนที่คุณพ่อส่งผมเข้ากรุงเทพนี่แหละ”

เข้ากรุง

“เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๑ ตอนนั้นเพิ่ง ๑๑ ขวบ ใหม่ๆ ยอมรับว่า พอพ่อกลับแล้วผมนั่งร้องไห้ อย่าลืมว่าผมมาอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีที่ปรึกษา ไม่มีผู้ปกครอง ใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว กับครูเลิศ จันทรามาน แถวพรานนก ผมสอบตกตอน ม.๑ เพราะวิชาการที่เรียนจากบ้านกับที่นี่มันผิดกัน ภาษาเขียนของผมไม่ดีเท่าที่ควร การเขียนโน้ต ภาษาอังกฤษ เราไม่คุ้นเคย สมัยก่อนถ้าตกสองปีเขาให้ออก แต่ปีต่อๆ มาผมสอบผ่านตลอด

“ตอนหลังผมย้ายมาอยู่วัดโพธิ์ ท่าเตียน กับพระมหาสังวร รอดประเสริฐ ท่านเป็นพระเชื้อสายเขมร สอนนักธรรมบาลีอยู่ที่วัดโพธิ์ไพโรจน์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เพราะฉะนั้นที่วัดจึงมีคนโพธารามเยอะที่สุด มีทั้งเรียนหมอ เรียนนายทหาร เรียนช่างกล เรียนธรรมศาสตร์ เรียนจุฬา สังคมที่วัดมีแต่คนแข่งกันเรียน คนที่ไม่เรียนวัดโพธิ์ไม่รับ

“ทุกๆ วันจะเดินระหว่างวัดกับวิทยาลัยนาฏศิลป ไปทางท่าเตียนบ้าง หลังกระทรวงกลาโหมบ้าง ริมคลองหลอดบ้าง เย็นๆ ก็เดินกลับ จากที่ผมเรียนดนตรีกับปู่ที่บ้าน พอเข้าวิทยาลัยนาฏศิลปก็ถูกเปลี่ยนมือทั้งหมด เพราะต้องใช้ตามหลักสูตรที่กำหนด

“ช่วงนั้นมีครูประจำ คือ ครูประสิทธิ์ ถาวร ครูบาง หลวงสุนทร แล้วก็อีกหลายท่านซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นพี่ที่ช่วยสอน เช่น อ.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อ.สงบศึก ธรรมวิหาร อ.สังเวียน ทองคำ ผมไม่ทันหลวงบำรุง ไม่ทันพระประณีต เพราะท่านเกษียณไปก่อนหน้านี้ อีกอย่างหนึ่ง ผมจะเรียนผิดกับเด็กคนอื่น เพราะถูกคัดออกมาเพื่อรวมกลุ่ม สำหรับบรรเลงในภารกิจต่างๆ ของโรงเรียน ผมจึงไม่ต้องเรียนเพลงตามหลักสูตร แต่ก็เก็บตกเพลงพวกนี้ในภายหลัง

“งานสมัยก่อนจะบรรเลงตามกระโจม ในวันสำคัญต่างๆ งานที่เกี่ยวข้องกับรัฐพิธี หรืองานพระราชพิธีที่มีมหรสพ มีการบรรเลงดนตรีจากหน่วยงานต่างๆ แตรวงบ้าง อังกะลุงบ้าง เพราะสมัยก่อนทั้งหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจตลอดจนบริษัทเอกชน เช่น โรงงานสุรา โรงงานยาสูบ ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทใหญ่ๆ มีนันทนาการเรื่องดนตรีแทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสังคมจึงระงมไปด้วยสิ่งนี้

“ในวงของผมมี อ.ณัฐพงศ์ โสวัตร อ.นิกร จันทศร อ.บุญช่วย โสวัตร อ.สมาน น้อยนิตย์ อ.มนัส ขาวปลื้ม อ.บุญช่วย แสงอนันต์ ภายหลังท่านเหล่านี้ก็ปรากฏนามให้เป็นที่รู้จักในสังคม อ.นิกรเขาเป็นรุ่นพี่ มาจากนครชัยศรี อ.มนัส มาจากพระประแดง อ.ณัฐพงศ์เขาจบโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ สีไวโอลินเก่งมาก โน้ตสากลนี่ไม่ต้องพูดถึง เป็นปี่พาทย์มาจากครอบครัว แต่ลดชั้นมาเรียน ม.๔ ใหม่ พอเข้ามาก็เป็นคนระนาดเลย ผมเรียกเขาว่า พี่จ่า

“พวกผมจะสิงสถิตอยู่ที่บ้านครูโม ปลื้มปรีชา เพราะครูโมกับครูประสิทธิ์ท่านเป็นเพื่อนกัน ครูประสิทธิ์ท่านอนุญาตให้ผมไปบ้านนี้ได้ เพราะสมัยก่อนถ้าเราจะออกงานเล่นดนตรีกับใคร ต้องอยู่ในความเห็นชอบของครูเป็นสำคัญ บ้านครูโมอยู่ศาลาต้นจันทน์ บ้านขมิ้น เวลาเลิกงานผมกลับไปนอนวัด เพราะอยู่ไม่ไกลกัน ข้ามฝั่งวัดระฆังก็ถึง สมัยเรียนจะได้ประสบการณ์จากงานพวกนี้ทั้งนั้น”

ครูประสิทธิ์ ถาวร ในความทรงจำ

“ท่านดุในเชิงวิชาการ แต่ใจดีหลังจากที่ถ่ายทอดแล้ว บางครั้งให้สตางค์หรือพาไปเลี้ยงข้าวด้วย แต่เวลาสอนถ้าไม่จำท่านจะว่าเจ็บๆ ผมจำได้ตอนต่อเดี่ยวสุดสงวนกับท่าน ลักษณะทำนองแบบเด็กๆ มีไขว้มือบ้างแต่ไม่มาก เพราะท่านทำทางเพลงให้เหมาะกับวัย แต่ผมทำไม่ได้ ครูประสิทธิ์เอาไม้ระนาดฟาดที่กลางหัวเลย ไม่ได้สะอึกสะอื้นนะ แต่ว่าน้ำตามันไหลออกมาเอง

“ทุกอย่างเกิดจากเรามองเห็นครูทั้งนั้น ผมจำการเคลื่อนมือ การวางมือ น้ำหนักเสียง ใช้โสตประเมินว่าควรดังหรือเบาอย่างไร สังเกตครูทั้งนั้น เวลาปรับวงท่านจะบอกว่า ตรงนี้ตีเบาๆ สิ เวลารวมกันทั้งวงมันดังอยู่แล้ว โดยเฉพาะผมเป็นคนเครื่องโลหะ เดิมทีตีทุ้มเหล็ก แล้วขยับเป็นฆ้องวงเล็ก

“ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ทุกคืนผมต้องไปเล่นดนตรีกับครูประสิทธิ์ ที่บาร์วิลล่าฟลอร่า เลยสนามเป้า ติดถนนใหญ่ก่อนถึงสะพานควาย เจ้าของชื่อลุงฟ้อน คนสุพรรณบุรี ได้ค่าตอบแทนคืนละ ๒๕ บาท ตอนเป็นนักเรียนได้เงินเดือน ๔๕๐ บาท ทางบ้านส่งให้ ๓๐๐ บาท ทุกคืนต้องไปงานกับครูประสิทธิ์อีก คิดดูว่าสมัยนั้นข้าวราดแกงยังจานละ ๑๐ สลึง ผมอายุ ๑๘ ผมมีมอเตอร์ไซด์ขับแล้ว รุ่นเท่ห์ๆ เลยนะ พวก อ.นิกร อ.สมาน เวลาไปงานไปเป็นฝูง ขับกันคนละคัน”

ชีวิตราชการ สำนักการสังคีต

“ผมรับราชการ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ตอนนั้นยังเป็นนักเรียนอยู่ สมัยนั้นเนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ ทั้งฝ่ายละคร ดนตรีสากล ดนตรีไทย เขาจึงเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าสอบแข่งขัน ผมสอบบรรจุเป็นข้าราชการตอนชั้นสูงปีที่ ๑ เป็นข้าราชการนักเรียน หรือศิลปินสำรอง

“ภาระงานส่วนใหญ่บรรเลงประกอบการแสดง ปี่พาทย์เสภา บรรเลงงานพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง ฉะนั้นนักดนตรีที่รับราชการที่นี่ จึงต้องได้เพลงทุกกลุ่มทุกประเภท คือสามารถรองรับภารกิจได้ทุกอย่าง ใครบรรเลงเครื่องมืออะไร ถามว่าสุดยอดของแต่ละเครื่องมืออยู่ที่ไหน คุณต้องไปหามา ต้องเล่นได้ปฏิบัติได้ ถ้าไม่ได้ แสดงว่าคุณไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่

“ผมเข้ามาไม่ได้เป็นคนระนาดทุ้ม วันหนึ่ง อ.เสรี หวังในธรรม บอกว่า ‘เฮ้ย ไพฑูรย์ไปตีทุ้ม สังคีตศาลา เดี่ยวแขกมอญ’ ตายห่า แล้วจะไปเอาที่ไหน ผมก็ไปคุยกับ อ.นิกร จันทศร พาไปหาครูเตือน พาทยกุล อีกปีเดี่ยวสารถี ผมต้องกลับไปหาครูประสิทธิ์ ถาวร อีก

“ตอนที่รับราชการ ผมเติบโตขึ้นเป็นชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก อ.เสรีเป็นหัวหน้าแผนก ต่อมาท่านขึ้นเป็นผู้อำนวยการกอง ตอนผมจบใหม่ๆ ครูประสิทธิ์ท่านถามว่า ‘ไพฑูรย์ไม่กลับไปโรงเรียนหรือ’ หมายถึงผมไม่กลับไปเป็นครูหรืออย่างไร เพราะพวก อ. ณัฐพงศ์เขาบรรจุในโรงเรียนกันหมด ผมตอบท่านไปว่า ไม่กลับแล้วครับ ขออยู่ที่นี่ ท่านก็บอกว่าตามใจ

“ผมรับราชการเรื่อยมา แต่พอวันหนึ่ง ผมเริ่มมองเห็นอะไรบางอย่าง ผมมองกลับเข้าไปในโรงเรียน พี่ๆ ได้เป็นผู้อำนวยการกอง เพื่อนๆ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ไปเรียนปริญญาโทปริญญาเอก เราจะมานั่งต่อเดี่ยวอยู่ไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำให้เราเจริญก้าวหน้า ควบคู่ไปกับเรื่องดนตรี คือการศึกษา ผมจึงไปเรียนต่อที่บ้านสมเด็จ ไม่นานก็จบปริญญาตรีที่นั้น

“ต่อมาอีกไม่นาน ผมเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ผมอยากเรียนปริญญาเอกต่อ แต่ภาษาอังกฤษไม่ดี จบดอกเตอร์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ มันไม่สมศักดิ์ศรี แต่ความจริงก็พูดได้พอสมควร แต่รู้สึกว่ามันไม่แน่นพอ

“ตอนหลังตำแหน่งจึงถูกขยับขึ้นเรื่อยๆ ช่วงหนึ่งผมเริ่มวางเรื่องปฏิบัติ เพราะเริ่มขยับเข้าสู่แท่นบริหาร อ. สุมน ขำศิริ ท่านเป็น ผอ.กอง ศิษย์เก่าวิทยาลัยนาฏศิลป เรียกผมไปพบแล้วบอกว่า ‘ไพฑูรย์พี่จะทดลองตำแหน่งใหม่ หัวหน้าฝ่ายคลังเครื่องดนตรี’ เพราะเครื่องดนตรีมันเยอะเป็นร้อยๆ ชิ้น นักดนตรีมีหน้าที่เข้าไปปฏิบัติ ฝ่ายคลังมีหน้าที่รับคำสั่งว่า เวลามีงานเขาต้องการเครื่องเท่าไหร่ ไปเล่นที่ไหน ต้องจัดให้ครบ

“ส่วนฝ่ายนาฏศิลป์ มีคลังเครื่องแต่งกาย ปัจจุบันพัฒนาเป็นฝ่ายพัสตราภรณ์ พวกนี้ตำแหน่งเทียบเท่าฝ่ายนาฏศิลป์ ดูแลเครื่องแต่งกายทั้งหมด พวกที่รำก็รำอย่างเดียว เวลาจะแต่งตัวก็ไปยืนกางแขนกางขา เพราะมีเจ้าหน้าที่แต่งให้เสร็จ ปกติเขาจะใช้คนภายในกลุ่มงาน โยกมาทำหน้าที่นี้ พอเขาจะทดลองให้ผมทำ ผมก็เรียนไปตามตรงว่า ผมปฏิบัติดนตรีไม่ได้แล้วหรือ ถึงให้ผมไปทำ ผมไม่ชอบใจนะ

“ท่านสุมนก็บอกว่า ‘เฮ้ยไม่ใช่ พี่มองว่าไพฑูรย์ควรหยุดเรื่องปฏิบัติได้แล้ว เพราะมีคนทำแทนไม่ต้องไปแย่งกับเขา ดูอย่างพี่สิ ถ้าขืนยังร้องเพลงอยู่จะได้เป็น ผอ.หรือเปล่า’ ผมก็ว่าเออจริง เป็นมาเรื่อยจนกระทั่งวันหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ผมขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย

“ตำแหน่งนี้ชื่อเต็มๆ แต่เดิมรุ่นคุณครูหลวงประดิษฐไพเราะ เรียกหัวหน้าแผนก สมัยผมเรียกหัวหน้ากลุ่ม กลุ่มดุริยางค์ไทย กลุ่มดุริยางค์สากล กลุ่มเครื่องแต่งกาย กลุ่มโรงละคร กลุ่มนาฏศิลป์ อยู่ภายใต้สำนักการสังคีต ขึ้นกับกรมศิลปากร กรมศิลปากรก็ขึ้นกับกระทรวงวัฒนธรรมอีกที

“ผมเป็นหัวหน้ากลุ่มระดับ ๘ พอได้หนึ่งปีก็ขึ้นเป็นระดับ ๙ อีกปีเดียวผมขึ้นเป็นระดับ ๑๐ ผมก็หลุดจากหัวหน้ากลุ่ม เพราะซีมันสูง ที่จริงผมจะถ่างขาอยู่ก็ได้ ไม่มีใครว่าหรอก แต่คิดว่าไม่เหมาะเพราะน้องๆ จะไม่โต ผมจึงเขียนหนังสือลาออกจากหัวหน้ากลุ่ม เสนอคุณสมชาย ทับพร ขึ้นรักษาการแทน สุดท้ายผมเกษียณที่ระดับ ๑๐ ตำแหน่งนักวิชาการละครและดนตรี”

บุคคลต้นแบบ ชื่อ “เสรี หวังในธรรม”

“คนนี้เป็นคนที่มีความคิดสุดยอดในหลายๆ เรื่อง เพราะงานกรมศิลปากรที่มันเดินไปได้ ไม่ใช่นั่งแต่งเพลงอย่างเดียว สิ่งสำคัญ ความคิดในเรื่องการปรับปรุงรายการและรูปแบบต่างๆ ให้ทันสมัย เรื่องนี้มีตั้งแต่สมัยท่านธนิต อยู่โพธิ์ แล้ว อ.เสรีท่านอยู่ใกล้ท่านธนิต คงมองเห็นอะไรหลายๆ อย่าง สิ่งที่มันติดสมองผมก็คือ อ.เสรีจะพูดเสมอว่า ‘ประชาชนจะกินอะไร เราต้องรู้ใจ เราเป็นผู้ปรุงให้เขาบริโภค เขาจะกินอย่างนี้เราไปทำอีกอย่าง ก็บ้าเล่นตีไปคนเดียว ไม่มีใครสนใจ’

“วิธีคิดหรือกระบวนการทำงานผมได้จากอ.เสรีเยอะ ส่วนหนึ่งมีความเคารพศรัทธาในฐานะผู้มีพระคุณ ท่านเป็นเสมือนครูผู้ให้ความรู้การทำงานแก่ผม อาจารย์ทำงานอย่างชาญฉลาด ทั้งคิดบท ตัดสินใจ เจรจา เหลี่ยมทุกอย่างสุดยอด เพราะเป็นคนอร่อย

“ท่านกำกับการแสดงยอดเยี่ยม ‘เฮ้ย! เพลงนี้ตัดออกสองจังหวะ ไม่เข้ากับตัวแสดง นั่งตีไปได้อย่างไร การแสดงพังหมดสิ ทำไมไม่หาทางลง ตัดลงไม่เป็นหรืออย่างไร’ มันก็กลายเป็นความพอดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้ดูผู้ฟัง อย่างเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ที่ท่านเขียนบทแล้วโด่งดังขึ้นมา วันหนึ่งเล่นไม่รู้กี่รอบ ท่านสามารถทำให้เป็นการแสดงเงินล้านได้”

ชีวิตปัจจุบันที่ดุริยางคศิลป์

“ระหว่างที่ผมเกษียณ ทางกรมศิลปากรทำเรื่องจ้างผม โดยคุณสมชาย ทับพร แต่ผมบอกว่า ผมไปแล้วนะ จะมาอยู่ที่มหิดล มันเป็นเรื่องท้าทาย เพราะเป็นโลกภายนอกที่เราไม่รู้จัก เพื่อนๆ ของผมเขาไปอยู่ตามมหาวิทยาลัยกันหมด อ.บุญช่วยก็ไปอยู่จุฬาฯ เขาไปตั้งแต่ต้นๆ แต่ผมไม่เคยไปสอนที่ไหน ผมฝังตัวอยู่ที่กรมศิลป์ ตั้งแต่ผมเรียน ๑๑ ปี ทำงานอีก ๓๘ ปี เกือบ ๕๐ ปี ที่อยู่ที่นั้น

“ประเด็นที่คิด คือ หนึ่ง ผมไม่เคยสอน ผมเป็นศิลปินจริงๆ ช่วงหนึ่งของชีวิตก็วางจากดนตรี เพราะทำงานระดับบริหาร สอง ผมต้องสอนปฏิบัติ มันท้าทายว่าผมจะทำได้หรือเปล่า และข้อสำคัญ คือ ต้องสอนเครื่องแปลทำนอง พอมาปุ๊บก็แปลเลย ไม่ได้เรียนฐานกับผม ฉะนั้นการตีทุ้มโดยไม่มีฐานทำนองหลัก มันจะไปอย่างไร ก็ต้องหาเวลาต่อให้เด็ก แต่นี่ก็เป็นชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุข เพราะผมได้ใช้วิชาที่มีสร้างประโยชน์แก่สังคม”

แบบแผนที่ไม่คร่ำครึ

“ผมมองว่า ดนตรีไทยไม่ใช่ของเก่า อย่างที่ใครๆ คิด ก็เหมือนกับเพลงคลาสสิคของฝรั่ง เขาสุดยอดนะ แถมยังมีการเรียนการสอนอยู่ทั่วโลก คิดใหม่ก็คิดเป็น แล้วก็คิดดีบนพื้นฐานแบบแผน แต่ก่อนที่จะดิ้นไปอย่างอื่นเราต้องได้หลักก่อน เอามันลงหรือเปล่า อย่างฆ้องวงกว่าจะเอามันอยู่ไม่ง่ายนะ ระนาดที่ดีดีอย่างไรต้องมองให้ออก

“ผมเรียนตามตรงว่า อย่างขุนอิน ก็ดี หรือชัยยุทธ์ โตสง่า ก็ดี เวลาที่เขาเล่นตามแบบแผนนี่สุดยอด เพราะฉะนั้น บรูซ แกสตัน ผมก็ชอบเขา ถามว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ดนตรีไทยมีวิวัฒนาการไม่รู้จักเท่าไหร่ แต่ก็มีขึ้นบนฐานที่ยังพอมองเห็น

“การคิดใหม่สร้างใหม่ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่อยู่ที่ใครจะทำได้ดีกว่ากัน ไม่ใช่บ้าทำหรือดันทุรังทำ ผลงานที่ดีที่สุดคือใคร อย่างนักประพันธ์เพลงหรือครูดนตรีไทย มีอยู่กี่ท่านที่แต่งแล้วเป็นอมตะถึงทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น ครูบุญยงค์ท่านพูดถึงครูมนตรีว่า ‘โถเจ้าพระคุณสมองแก้ว’ เพราะทำออกมาสั้นๆ เล็กๆ แต่โดน”

ความคิด ความใฝ่ฝัน

“ปัจจัยที่ทำให้ดนตรีไทยค่อยๆ หายไปจากสังคมนี้ อย่างแรกคือ เราต้องมองว่าดนตรีไทยในอดีตได้รับการดูแลจากคนชั้นสูง หรือที่เรียกว่าระบบอุปถัมภ์ แต่ปัจจุบันนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป ในสมัยก่อนสังคมยังเสพและบริโภคสิ่งนี้อยู่ เพราะความบันเทิงมันไม่มีตัวเลือกมากเท่าปัจจุบัน

“สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นักดนตรีไทยไม่มีพื้นที่แสดงออก อย่าลืมว่าเป้าหมายสูงสุดของนักดนตรีมันคือ เวที ถ้าคุณไม่มีเวทีแสดง คุณจะเรียนจะเล่นไปทำไม เหมือนนักฟุตบอลไม่มีสนามเตะ ต้องเตะอัดกำแพงอยู่คนเดียว มันสนุกไหมล่ะ มีเวทีก็ต้องมีคนดูคนวิจารณ์ด้วย เพราะสิ่งนี้คือตัวชี้วัดของสังคม

“ผมจึงอยากเห็นศูนย์หรือสมาคมดนตรี เพราะสมาคมดนตรีที่ว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏชัดเจน ผมอยากให้มีศูนย์เฉพาะสำหรับดนตรีตามจังหวัดต่างๆ ไปเก็บหลอมรวมศิลปะด้านดนตรีทั้งไทยและพื้นบ้าน โขน ลิเก หนังใหญ่ ละคร อยากเห็นโรงมหรสพขึ้นทุกจังหวัด ให้มันเป็นเครือข่ายทางวัฒนธรรม เชื่อมโยงกันเหมือนใยแมงมุม มันคงเป็นเรื่องที่ดีทีเดียว ถ้าประเทศของเราทำได้อย่างที่ว่า”

(ตีพิมพ์ลงวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๔)

ครูไพฑูรย์ เฉยเจริญ ถ่ายภาพร่วมกับครูสุรินทร์ สงค์ทอง ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ปี ๒๕๕๕ มศว. (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: บันทึก)

ครูไพฑูรย์ เฉยเจริญ ถ่ายภาพร่วมกับครูสุรินทร์ สงค์ทอง ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ปี ๒๕๕๕ มศว. (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: บันทึก)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *