ประวัติชีวิตและผลงาน
ครูจำลอง เกิดผล
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ “จำลอง เกิดผล” ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับคนดนตรีไทย แต่ทว่าเมื่อย้อนเวลากลับไปประมาณ ๕๐ – ๖๐ ปีที่แล้ว ชื่อนี้ย่อมเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะคนฆ้องวงใหญ่มือฉกาจประจำวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน และในฐานะศิษย์ก้นกุฏิคนสำคัญของครูดนตรีผู้มากความสามารถแห่งสำนักพาทยโกศล อย่าง “ครูช่อ สุนทรวาทิน”
ภายในศาลาโปร่งทรงปั้นหยาที่แวดล้อมไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ชายชราสูงวัยกำลังถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตด้วยน้ำเสียงและท่าทางอย่างออกรส แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะผ่านพ้นกาลเวลามาเนิ่นนานนับ ๑๐ ปี หากแต่ความทรงจำเหล่านั้นยังดูแจ่มใส ชัดเจน และมั่นคงเสมอ
ชาติกำเนิดและเครือญาติ
ครูจำลอง เกิดผล เกิดวันเสาร์ เดือน ๘ ปีมะแม ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นบุตรลำดับที่ ๙ ของนายหงส์และนางสังวาล เกิดผล เกิดที่บ้านเลขที่ ๕๗ หมู่ ๔ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นามสกุล “เกิดผล” ถือได้ว่าเป็นนามสกุลนักดนตรีไทยโดยแท้จริง เพราะบรรพบุรุษในตระกูลเกิดผลและเครือญาติต่างประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทยและนาฏศิลป์ทั้งสิ้น แม้แต่นางสังวาล เกิดผล ผู้เป็นมารดา ยังมีความรู้ความสามารถในการร้องเพลงพื้นบ้านได้อย่างเชี่ยวชาญ
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “สมัยก่อนที่บ้านของครูเป็นแหล่งรวมศิลปินด้านดนตรีและนาฏศิลป์ เล่นกันตั้งแต่หนังใหญ่ ลิเก ละคร หรือแม้แต่แตรวงก็ยังมี เพราะโดยมากเป็นพี่ๆ น้องๆ ที่อยู่ด้วยกันทั้งวง พ่อของครูเป็นคนปี่พาทย์และคนเชิดหนังใหญ่ ส่วนแม่มีความรู้ด้านเพลงพื้นบ้าน เวลามีงานในตัวจังหวัดก็ต้องมาจ้างแม่ไปเล่นทั้งนั้น”
ชีวิตในวัยเด็ก ฐานะทางเศรษฐกิจภายในครอบครัวตระกูลเกิดผลค่อนข้างขัดสน ซ้ำร้าย เมื่อนายหงส์ เกิดผล ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวได้เสียชีวิตขณะที่ครูจำลองมีอายุเพียง ๘ เดือน ภาระด้านการเงินรวมถึงการเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้ง ๙ คนจึงตกอยู่กับนางสังวาลแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งนางสังวาลต้องหารายได้โดยการพายเรือไปค้าขายตามเส้นทางสัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงเป็นค่าเล่าเรียนแก่บุตรธิดาทั้ง ๙ คน ที่โรงเรียนวัดจันทร์ประเทศ
บุคคลสำคัญต่อฐานรากทางดนตรี
เนื่องจากบรรยากาศภายในครอบครัวตระกูลเกิดผลแวดล้อมไปด้วยเหล่าศิลปินนักดนตรีและนาฏศิลป์เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ครูจำลอง เกิดผล ได้ซึมซับประสบการณ์ดนตรีปี่พาทย์จากการเรียนการสอนและการฝึกซ้อมของนักดนตรีภายในบ้าน ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ครูจำลองสามารถเรียนรู้และพัฒนาฝีมือการบรรเลงฆ้องวงใหญ่ได้รวดเร็วกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน
ครูจำลอง เกิดผล เริ่มเรียนดนตรีไทยตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ โดยได้รับการจับมือฆ้องวงใหญ่เพลงสาธุการจากครูเพชร จรรย์นาฏ ในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยตระ กูลจรรย์นาฏ จากนั้นจึงเริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่อย่างจริงจังกับญาติผู้ใหญ่ในตระกูลเกิดผล
ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๕๐๐ นายสังเวียน เกิดผล ผู้เป็นอา ได้เชิญครูฉัตร และครูช่อ สุนทรวาทิน สองพี่น้องครูดนตรีไทยจากสำนักพาทยโกศลมาถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีปี่พาทย์แก่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ครูจำลอง เกิดผล จึงได้รับการถ่ายทอดทางเพลงสายฝั่งธนและซึมซับความรู้จากครูทั้งสองท่านอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะอาจกล่าวได้ว่า ครูช่อ สุนทรวาทิน คือครูดนตรีที่มีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการและชีวิตด้านดนตรีปี่พาทย์ของครูจำลอง เกิดผล เพราะท่านเป็นผู้วางแนวทางในการบรรเลงฆ้องวงใหญ่และถ่ายทอดวิชาดนตรีให้แก่ครูจำลองอย่างมั่นคง
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “ถ้าครูฉัตรอยากให้ครูได้เพลงอะไร วิธีของท่าน ท่านจะต่อมือฆ้องเพลงนั้นให้ง่ายเข้าไว้ เมื่อครูช่อเข้ามาได้ยิน ท่านจะถามว่า ‘หัวอีโต้มันต่ออะไรให้มึง มันจำไปจากกูทั้งนั้น มาเอาจากกูไปนี่ เดี๋ยวกูจะต่อของจริงๆ ให้’ จากนั้นครูช่อจะต่อให้ครูอีกครั้งจนจบ
“ครูช่อเรียกพี่ชายท่านว่า ‘หัวอีโต้’ ครูฉัตรท่านเก่ง แต่ท่านรู้ว่าน้องชายมีวิชาดีๆ และอยากให้ครูได้วิชาจากครูช่อ จึงทำอย่างนั้น ครูฉัตรบอกกับครูว่า ‘กูจะต่อเพลงนี้ให้มึง มึงอยู่เฉยๆ เดี๋ยวเจ้าช่อมาเห็น เขาก็มาต่อให้มึงเองแหละ’”
ฝีมือและชื่อเสียงไม่ได้มาโดยง่าย
ในสังคมดนตรีไทยเป็นที่ทราบกันดีว่า นักดนตรีไทยที่มีฝีมือและชื่อเสียงนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ละท่านล้วนผ่านกระบวนการฝึกซ้อมอย่างหนักและยาวนาน เพื่อบ่มเพาะฝีมือ ประสบการณ์ และความรู้ จนกระทั่งไปสู่ความเป็นเลิศในที่สุด
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวถึงประสบการณ์ฝึกซ้อมฆ้องวงใหญ่ในช่วงที่เรียนกับครูช่อ สุนทรวาทิน ว่า “มีลูกศิษย์ตั้งใจเดินทางมาเรียนกับท่านหลายคน แต่ครูช่อท่านจะดูแลและเคี่ยวเข็ญครูเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน”
ขั้นตอนและกลวิธีในการฝึกซ้อมฆ้องวงใหญ่ เคล็ดวิธีที่ครูจำลอง เกิดผล ได้รับการถ่ายทอดจากครูช่อ สุนทรวาทิน มีดังนี้
๑. สวมกำไลตะกั่ว การสวมกำไลข้อมือตะกั่วในการฝึกซ้อม ไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมของนักระนาดเอกเท่านั้น หากแต่ปรากฏในวิธีการไล่ฆ้องวงใหญ่ของครูช่อ สุนทรวาทินด้วย โดยท่านจะนำตะกั่วมาหลอมแล้วปั้นเพื่อทำเป็นกำไลข้อมือขนาดต่างๆ สวมให้แก่ครูจำลองขณะฝึกซ้อม เพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและข้อมือ
๒. ซ้อมบนผ้า ครูช่อ สุนทรวาทิน ได้นำวิธีการนี้ซึ่งเป็นวิธีการฝึกซ้อมของนักระนาดเอกมาปรับใช้กับการฝึกซ้อมฆ้องวงใหญ่ โดยท่านจะนำผ้านวมหนาๆ มาปูทับบนลูกฆ้องทุกลูก จากนั้นจึงให้ครูจำลองไล่เพลงต่างๆ เมื่อครบเวลาที่กำหนดจึงนำผ้าออกและฝึกซ้อมตามปรกติ
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “เวลาครูตีฆ้องบนผ้าเสียงเหมือนคนชกกระสอบทราย ดังตึกๆ อยู่อย่างนั้น วิธีนี้มันเหมือนคนวิ่งบนพื้นทรายแล้วเปลี่ยนมาวิ่งบนพื้นซีเมนต์ เป็นวิธีฝึกให้เราคล่องตัวมากยิ่งขึ้น”
๓. ซ้อมในที่มืด สมัยก่อนตามเขตบ้านชานเมืองยังไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างปัจจุบัน อาศัยเพียงแสงสว่างจากตะเกียงหรือเทียนเท่านั้น ครูช่อ สุนทรวาทิน จึงนำประโยชน์จากความมืดมาประยุกต์ใช้กับการฝึกซ้อมฆ้องวงใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้มีความแม่นยำในการบรรเลงให้ถูกเสียงถูกปุ่มฆ้องมากยิ่งขึ้น
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “ที่สว่างๆ ท่านก็ไม่ให้ครูไปตี ต้องไปหามุมมืดๆ ในบ้าน มืดตรงไหนก็ไปตีตรงนั้น”
๔. ช่วงเวลาในการฝึกซ้อม ครูจำลอง เกิดผล จะตื่นนอนตั้งแต่ตี ๓ เพื่อลุกขึ้นมาฝึกซ้อมฆ้องวงใหญ่จนถึงเวลา ๙ โมงเช้าเป็นประจำทุกวัน หรืออาจจะซ้อมจนกว่าผ้าขาวม้าที่นุ่งเปียกเหงื่อจนชุ่ม แล้วเปลี่ยนให้ได้ถึง ๓ ผืน จึงเลิก ซึ่งถือเป็นกฎระเบียบในการฝึกซ้อมที่ลูกศิษย์ทุกคนภายในบ้านต้องถือปฏิบัติ
๕. บทเพลงมาตรฐาน สำหรับเพลงที่ใช้ฝึกซ้อมฆ้องวงใหญ่ ครูช่อ สุนทรวาทิน แนะนำให้ครูจำลอง เกิดผล เริ่มต้นการฝึกซ้อมด้วยเพลงช้าเรื่องต่างๆ จนครบถ้วน จากนั้นจึงไล่มือด้วยเพลงมุล่งชั้นเดียวและเพลงเร็วแขกมัดตีนหมู (ครูจำลองอธิบายว่า การแจกมือและกระสวนทำนองของทั้งสองเพลงนี้ สามารถฝึกความคล่องตัวและความอดทนให้แก่ผู้บรรเลง) จากนั้นจึงซ้อมเพลงเดี่ยวทุกเพลงที่ได้เรียนมาทั้งหมด เพื่อทบทวนให้เกิดความแม่นยำและความชำนาญ
ครูช่อ สุนทรวาทิน
จากคำให้การของศิษย์
เหตุการณ์อันน่าประทับใจที่ทำให้ครูจำลอง เกิดผล มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์ของครูช่อ สุนทรวาทิน และมั่นใจในฝีมือของท่านว่าเป็นคนฆ้องที่คนในวงการดนตรีไทยสมัยนั้นให้การยอมรับนับถืออย่างมากที่สุดคนหนึ่ง คือ ครูจำลองได้มีโอกาสติดตามครูช่อไปงานศพที่วัดหัวลำโพง กรุงเทพฯ ภายในงานมีแขกเหรื่อและนักดนตรีเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทุกคนต่างมีความประสงค์ให้ครูช่อแสดงฝีมือบรรเลงฆ้องวงใหญ่ จึงพากันนำพานกำนลซึ่งประกอบด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และรวบรวมเงินค่ากำนลมอบแด่ท่าน
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “เขาอยากจะฟังท่านตีกราวใน จึงพากันนำพานกำนลมาให้ มีแต่แบงค์ร้อยทั้งนั้น รวมแล้วพันบาทเห็นจะได้ วันนั้นครูช่อใส่เสื้อแขนยาว ท่านกวาดลูกฆ้องไปเนี่ย ตั้งแต่ลูกทั่งยันลูกยอด ตะปูฆ้องที่ตอกหวายมันดันไปเกี่ยวแขนเสื้อ ฉีกยันรักแร้นี่เลย ตอนแรกตกใจนึกว่าเนื้อครูฉีก ที่ไหนได้ แขนเสื้อต่างหากที่ฉีก”
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวเพิ่มเติม ว่า “ครูไปบรรเลงที่ไหนก็มีแต่คนชม แต่ท่านไม่เคยชมครูเลยนะ กลับบอกว่า ‘มีแต่ไอ้พวกหูกระทะนี่แหละที่ชมมึง’ ท่านว่าอย่างนั้น เพราะท่านกลัวครูจะได้ใจ แถมยังว่าอีกว่า ‘มึงอย่าดีใจไปว่าตีดี อย่างมึงตีดีกว่าหมาหน่อย’ โอ้โหตีแทบตาย ใครๆ ก็ชมเรา แต่เวลามีวิชาอะไรดีๆ ท่านก็ให้ครู”
จากคำบอกเล่าดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นอกจากครูช่อ สุนทรวาทิน จะถ่ายทอดวิชาด้านดนตรีปี่พาทย์แล้ว ท่านยังอบรมบ่มเพาะด้านจิตใจแก่ศิษย์ให้เป็นผู้มีที่ความหนักแน่น ไม่หลงไปกับคำพูดสรรเสริญเยินยอซึ่งเป็นประหนึ่งดาบสองคม หากคิดว่าตนดีแล้ว เก่งแล้ว ก็อาจจะหยุดพัฒนาตนเองไปโดยปริยาย
ฉายานี้ครูศรตั้งให้
เรื่องราวอันน่าประทับใจของครูจำลอง เกิดผล ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตมีโอกาสบรรเลงฆ้องวงใหญ่ต่อหน้าครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในงานพิธีไหว้ครูดนตรีไทย บ้านครูเพชร จรรย์นาฏ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวด้วยน้ำเสียงอันประทับใจว่า “ครูเคยพบครูหลวงประดิษฐไพเราะนะ เพราะครูเคยตีฆ้องเดี่ยวแขกมอญให้ท่านฟัง เดี่ยวที่งานไหว้ครูบ้านครูเพชร ครูเพชรท่านเชิญครูหลวงประดิษฐไพเราะมาด้วย พี่ยงค์พี่ยังก็มา (ครูบุญยงค์ ครูบุญยัง เกตุคง)
“ตอนนั้นครูฉัตรครูช่อขึ้นไปอยู่เชียงใหม่แล้ว จึงให้ครูอาจ สุนทรมาคุมแทน ครูอาจท่านให้เดี่ยวฆ้องวงใหญ่เพลงแขกมอญ ครูหลวงประดิษฐ์ท่านก็มานั่งฟังข้างหน้าเลยนะ
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีนักดนตรีมาเล่าให้ครูจำลอง เกิดผล ฟังว่า ครูหลวงประดิษฐไพเราะได้ชื่นชมฝีมือการตีฆ้องของครูจำลองให้ลูกศิษย์ของท่านฟังว่า “ที่อยุธยามีแมวน้ำอยู่หนึ่งตัว ครูช่อท่านไปสอนของท่านไว้ ซุ่มเงียบอยู่ที่นั่น”
น้อยใจในวาสนา
ครั้งหนึ่งครูจำลอง เกิดผล มีโอกาสบรรเลงฆ้องวงใหญ่ร่วมกับนักดนตรีวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร หรือเสด็จพระองค์ชายกลาง ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อการบรรเลงเสร็จสิ้นเสด็จพระองค์ชายกลางมีความพอใจในฝีมือการตีฆ้องวงใหญ่ของครูจำลองมาก ภายหลังจึงเชิญครูอาจ สุนทร และนายสังเวียน เกิดผล ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการบรรเลงในวันนั้นเข้าพบ
เสด็จพระองค์ชายกลางได้สอบถามกับครูอาจและนายสังเวียนถึงนักดนตรีที่บรรเลงฆ้องวงใหญ่ว่าเป็นใครและได้ร่ำเรียนมาจากครูท่านใด ทั้งยังประสงค์จะนำตัวไปเป็นนักดนตรีประจำวงปี่พาทย์ในความปกครองของท่านอีกด้วย ซึ่งครูอาจและนายสังเวียนได้ขอเวลาเพื่อไปปรึกษากับครูจำลองก่อนที่จะให้คำตอบ
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “พองานเลิก ครูอาจกับอาเวียนก็เรียกครูเข้าไปพบ ท่านบอกว่าจำลองมานี่ซิ ครูก็ถามว่าครูจะใช้อะไรผมครับ ท่านบอกว่ามีเรื่องจะถามหน่อย ตอนนั้นท่านไม่ได้บอกว่าเป็นพระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ ท่านบอกว่ามีคนจะขอตัวมึง แล้วมึงจะไปไหม ครูบอกว่าใครครับที่มาขอ ท่านบอกว่าเออไม่ต้องรู้หรอก ครูก็ว่า ไม่รู้แล้วผมจะไปได้อย่างไร ผมก็อยู่ของผมอย่างนี้ ท่านบอกว่าอย่างนั้นก็เท่านี้”
ในเวลาต่อมา ครูจำลองได้ทราบความจริงจากครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏ (บุตรครูเพชร จรรย์นาฏ) ว่าแท้จริงแล้วคนที่ขอตัวครูจำลองในครั้งนั้น คือเสด็จพระองค์ชายกลาง
รับมอบโองการไหว้ครู
ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ณ วัดจุฬามณี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระองค์ทรงเจิมครูจำลอง เกิดผล และเป็นสักขีพยานในการรับมอบกรรมสิทธิ์เพื่อเป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทยจากครูสำราญ เกิดผล ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้ได้รับมอบโองการประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทยจำนวน ๕ ท่าน ดังนี้
๑. ครูสำเริง เกิดผล
๒. ครูจำลอง เกิดผล
๓. ครูกาหลง พึ่งทองคำ
๔. ครูวิเชียร เกิดผล
๕. ครูศิวศิษฎ์ นิลสุวรรณ
ไม้ฆ้องคู่มือครูช่อ สุนทรวาทิน
นอกจากองค์ความรู้ต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับดนตรีปี่พาทย์และฆ้องวงใหญ่ที่ครูช่อ สุนทรวาทินได้ถ่ายทอดให้แก่ครูจำลอง เกิดผล เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับหาเลี้ยงชีพแล้ว ท่านยังได้มอบสมบัติชิ้นสำคัญส่วนตัว คือ “ไม้ฆ้อง” คู่มือให้แก่ครูจำลองเป็นผู้เก็บรักษาอีกด้วย
ไม้ฆ้องคู่มือครูช่อ สุนทรวาทิน ทำจากหนังช้างขนาดปานกลาง ปัจจุบันอยู่ในสภาพเก่าคร่ำคร่าและแห้งจัดทั้ง ๒ ข้าง ก้านทำจากไม้ไผ่สีสุก ๕ ข้อ ซึ่งเนื้อไม้สึกกร่อนไปมากจนคอดกิ่วระหว่างข้อแต่ละข้อ บ่งบอกถึงอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน
ครูช่อ สุนทรวาทินได้ฝากไม้ฆ้องคู่มือของท่านไว้กับครูเอื้อน กรเกษม เพื่อนำไปมอบแก่ครูจำลอง เกิดผล พร้อมกล่าวสำทับ ว่า “ไม้คู่มือของข้าคู่นี้ ข้าจะฝากเอ็งไปให้นายจำลอง แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเขาเลิกเล่นดนตรีแล้ว เอ็งก็เก็บเอาไว้บูชา แต่ถ้ายังไม่เลิกก็นำไปมอบให้เขา”
ครูเอื้อน กรเกษม ได้เก็บรักษาไม้ฆ้องคู่นี้มาเป็นระยะเวลานาน โดยที่ครูจำลอง เกิดผล ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน จนกระทั่งครูเอื้อนและครูจำลองได้พบกันอีกครั้งที่งานไหว้ครูดนตรีไทยบ้านอรรถกฤษณ์หลังจากที่ห่างการติดต่อมานาน จึงได้มีโอกาสพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ ในอดีตร่วมถึงเรื่องไม้ฆ้องคู่มือครูช่อ สุนทรวาทิน
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “พอตกกลางคืน พวกปี่พาทย์ที่มาร่วมงานก็ขอให้ครูตีฆ้อง ครูบอกว่าไม่ตี เพราะเลิกเล่นดนตรีมานานแล้ว เขาบอกว่าไม่ได้ ยังไงจำลองต้องตี ผลสุดท้ายพี่เอื้อนถามครูว่า ตีได้หรือเปล่า ถ้าตีไม่ได้อย่าไปตี ครูตอบไปว่า ตีมันตีได้แต่จะถูกหรือผิดไม่รู้นะ เอาก็เอา วันนั้นครูตีเพลงกราวใน พี่เอื้อนตีสองหน้าให้”
หลังจากครูจำลอง เกิดผล บรรเลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่เพลงกราวในจบ ครูเอื้อนกล่าวกับครูจำลอง ว่า “เอ็งยังตีได้อย่างเก่า อย่างนั้นก็ต้องคืนของให้” ครูจำลองตอบว่า “คืนอะไรพี่” ครูเอื้อนตอบกลับไปว่า “ไม้ฆ้องน่ะสิ ครูช่อท่านฝากข้าเอาไว้ ถ้าเอ็งเลิกตีฆ้อง เป็นอันว่าไม้ฆ้องคู่นี้เป็นของข้า ข้าจะเก็บเอาไว้บูชา แต่เอ็งยังตีได้อยู่ ข้าก็ต้องมอบคืนให้เจ้าของ”
หลังเสร็จสิ้นจากงานไหว้ครู ครูเอื้อน กรเกษม จึงนำไม้ฆ้องดังกล่าวมามอบให้ครูจำลอง เกิดผล ตามที่ได้รับคำฝากฝังจากครูช่อ สุนทรวาทิน และตั้งแต่นั้นมาไม้ฆ้องคู่มือของครูช่อ สุนทราทิน จึงเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่ครูช่อฝากไว้ให้กับศิษย์ ซึ่งครูจำลองได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ข้อคิดแก่อนุชนรุ่นหลัง
เมื่อถามถึงทัศนคติของครูจำลองเกิดผล ต่อวงการดนตรีไทยในปัจจุบัน ครูจำลองได้ให้แง่คิดที่มีประโยชน์อย่างน่าสนใจว่า “สมัยนี้ที่เขาบรรเลงกันอยู่ ครูว่ามันไม่เหมือนอย่างดั้งเดิมแบบโบราณ คำว่าอนุรักษ์ไม่ควรจะมีด้วยซ้ำ เพราะคนสมัยนี้ทำอะไรก็รู้สึกจะไม่ถึงของโบราณ โบราณท่านทำพร้อมไว้หมดแล้ว แล้วก็เป็นของดีเสียด้วย
“อย่างเพลงการต่างๆ ของครูที่ครูเก็บรักษา มือไม้ทุกเพลงที่ร่ำเรียนมาครูอนุรักษ์เอาไว้ ถึงบอกว่า ใครจะเอาอะไรของครูไป จะต้องเอาไปให้ถูกต้อง และต้องอนุรักษ์ของเก่า เพราะของเก่าของโบราณนั้นของดี ไม่ใช่ของไม่ดี สมัยนี้ดูสิตีกันแบบลิงแบบค่าง ฟังกันรู้เรื่องที่ไหน
“เพลงทุกเพลงดีทั้งนั้น แต่จะดีตรงไหน เราต้องอ่านของเขาให้ขาด มันมีหวาน มีเผ็ด มีเปรี้ยว มีรสชาติอยู่ในเนื้อเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงสามชั้นหรือเพลงเถา ตรงนี้ผู้แต่งเขาอยากจะให้ดุ เราต้องตีให้ดุ ตรงนี้มันหวาน เราต้องทำให้หวาน ทำให้มันสมเหตุสมผล ไม่ใช่เวลาดุ แต่เราไปทำให้มันหวาน แล้วพอถึงเวลามันต้องหวาน กลับทำให้มันดุ ขอฝากไว้เท่านี้”
ผลงานและรางวัลเกียรติยศครั้งสำคัญ
เนื่องจากครูจำลอง เกิดผล เป็นครูดนตรีไทยที่มีความสามารถอยู่ในระดับสูง ทั้งยังมีประสบการณ์การบรรเลงดนตรีไทยในวาระต่างๆ ร่วมกับวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ไม่ว่าจะเป็นการประชันวงปี่พาทย์ ผลงานการบันทึกเสียงเพลงไทย หรือการบรรเลงถวายหน้าพระที่นั่ง จึงสมควรได้รับการบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบต่อไป ดังนี้
๑. ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ร่วมประชันวงปี่พาทย์ ในงานไหว้ครูดนตรีไทยครั้งปฐมฤกษ์ วัดพระพิเรนทร์ เขตวรจักร กรุงเทพฯ
๒. ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ร่วมประชันวงปี่พาทย์หน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ
๓. ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๔ ร่วมบันทึกเสียงการบรรเลงและขับร้อง เพลงพระนิพนธ์ในทูลกระหม่อมบริพัตรฯ งานฉลองครบ ๑๐๐ ปี วันประสูติทูลกระหม่อมบริพัตรฯ
๔. วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เดี่ยวฆ้องวงใหญ่เพลงกราวในชั้นเดียว ออกเดี่ยวสรรเสริญพระบารมี งานมหกรรมเดี่ยวเพลงไทยชัยมงคล ในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายโดยมหาวิทยาลัยมหิดล กรมศิลปากร และสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ
๕. วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ร่วมบรรเลงวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่ งานมหกรรมรามายณะนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๓๖ พรรษา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
๖. วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับรางวัลโล่เกียรติคุณ “ครูดนตรีในดวงใจ” จากสมาคมครูดนตรี (ประเทศไทย) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ครูจำลอง เกิดผล อายุ ๘๒ ปี นอกจากเรียนดนตรีปี่พาทย์จากครูช่อ และครูฉัตร สุนทรวาทิน แล้ว ยังได้รับความรู้จากครูนพ ศรีเพชรดี ครูเอื้อน กรเกษม และครูสำราญ เกิดผล จนมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติฆ้องวงใหญ่เป็นอย่างดี ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางกิมลี้ เกิดผล (สุเมธี) มีบุตรธิดาร่วมกันทั้งหมด ๔ คน คือ นางเสาวลักษณ์ เกิดผล นางศักดิ์ศรี เกิดผล นายทรงยศ เกิดผล และนายทรงศักดิ์ เกิดผล ปัจจุบันอาศัยบ้านเลขที่ ๑๓๔ หมู่ ๔ ซอยพะยอม ๒๐ (สมัครเพลส) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(คัดจาก “ครูจำลอง เกิดผล” ใน วารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ พิชชาณัฐ ตู้จินดา ผู้เขียน)
สาธุๆๆๆ อนุโมทนามิ สื่งดีๆอันควรอนุรักษ์ยิ่ง ขอบคุณผู้เขียนและผู้จัดทำพร้อมทั้งคณะ ที่คงความดีแผ่ประกาศให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ว่า การทำความดี ปิดทองหลังพระนั้น ดีอย่างไร ประเสริฐอย่างไร สมควรที่อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และอนุรักษ์ และนำไปปฎิบัติสืบทอดต่อไปข้างหน้าว่าของดี ของแท้ ของโบราณ ของไทย ยังมีอยู่ให้เห็น ควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้ยิ่งๆขึ้นไป
อยากฟังเพลง ‘ ลาวแพน ‘ ของครู จำลอง เกิดผล จัง ถ้าเป็นไปได้ ช่วยนำมาลงให้ได้ชมและฟังด้วยนะคะ ทั้งหวานและไพเราะ จนหาที่ติมิได้
ปู่ลองเสียชีวิตแล้วนะคะ
ทราบข่าวพร้อมทั้งไปร่วมงานฌาปนกิจศพของครูที่วัดบำรุงธรรม อยุธยา เเล้วครับ ขอบพระคุณมากครับผม