ทองเยี่ยม ประสมพืช กับ “สภาพปัญหาหมอลำในปัจจุบัน”

ทองเยี่ยม ประสมพืช
กับ “สภาพปัญหาหมอลำในปัจจุบัน”
พิชชาณัฐ ตู้จินดา

“สมัยนี้วัยรุ่นพากันกินเหล้าเมายา เมาแล้วก็เต้นหน้าเวที เต้นไปเต้นมาก็ตีกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาคุมไม่ไหว ก็ต้องให้หมอลำเลิกเล่น แต่คิดดูนะ เงินจ้างหมอลำคืนละแสนสองแสน เล่นได้ไม่ถึง ๖ ทุ่ม มันไม่คุ้มเงินหรอก อย่าว่าแต่ขอนแก่นเลย จังหวัดไหนๆ ก็เหมือนกัน มีหมอลำที่ไหนต้องมีคนตีกันที่นั่น”

เสียงสะท้อนจากหมอลำอาวุโสวัย ๗๕ ปี หมอลำทองเยี่ยม ประสมพืช หรือพ่อเฒ่าทองเยี่ยม เปิดประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมหมอลำในปัจจุบัน

หมอลำทองเยี่ยม อดีตเจ้าของคณะหมอลำเทพประสิทธิ์ศิลป์ ด้วยพื้นฐานเป็นคนรักสนุก ชื่นชอบการร้องเพลง และครั้งหนึ่งมีโอกาสรับฟังการลำของ “หมอลำอินตา บุดทา” จึงตัดสินใจย่างก้าวสู้เส้นทางหมอลำอย่างเต็มตัวตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี

ด้วยความที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหมอลำมายาวนานกว่า ๕๐ ปี หมอลำทองเยี่ยม จึงทันได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้ชมผู้ฟัง ในกรณี “เยาวชนเลือดร้อน” ใช้เวทีหมอลำแทนสนามรบ

เหตุการณ์วัยรุ่นยกพวกตีกัน ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับคอนเสิร์ตหรือเทศกาลสำคัญต่างๆ อย่างคอนเสิร์ตคาราบาว หรือเทศกาลสงกรานต์ หากแต่ลุกลามถึงหน้าเวทีหมอลำด้วย และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะไม่จบลงง่ายๆ เพียงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าระงับเหตุให้กลับสู่ภาวะปกติ

แต่นี่เป็นปัญหาลูกโซ่ ที่ส่งผลให้คนว่าจ้างหมอลำลดน้อยลง เพื่อเลี่ยงปัญหาเสียเงินฟรี และตัดฉนวนเหตุทะเลาะวิวาท เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลย ว่านั่นหมายถึงรายได้ที่หมอลำจะได้รับนั้น ย่อมน้อยลงเช่นกัน

แต่ก็เป็นเรื่องยากทีเดียว ที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

“ในการแก้ไข ผมว่ามันแก้ไขไม่ได้หรอก เพราะคนหนุ่มคนสาวเขาต้องการเพลง ต้องการดนตรี ถ้าอย่างนั้นก็ต้องไม่ให้มีดนตรีเลย มีแต่ลำล้วนๆ อย่างที่ผมเคยเล่นเคยลำ ถ้าทำอย่างนั้นก็ไม่มีคนดู มีก็มีแต่คนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาวเขาไม่ดูหรอก หมอลำมันก็ตายอีก”

ในช่วงวัยหนุ่ม หมอลำทองเยี่ยมได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ประเภทที่ว่าจะเดินทางไปไหนมาไหนก็มีแต่คนรู้จัก และด้วยชื่อเสียงและฝีมือในการลำ จึงทำให้มีงานแสดงหมอลำเข้ามามาก ซึ่งงานโดยส่วนใหญ่เป็นงานบุญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานกฐิน งานบุญพระเวส งานบุญบั้งไฟ หรืองานทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ การฟังหมอลำของผู้คนในสมัยนั้นจึงอยู่ในบรรยากาศงานบุญ ไม่มีการตีรันฟันแทงอย่างปัจจุบัน

“ผมไปสร้างความบันเทิงให้แก่พ่อแม่พี่น้องตามจังหวัดต่างๆ อำเภอทุกอำเภอ หมู่บ้านทุกหมู่บ้าน คนดูคนฟังมีทั้งหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วก็เด็กเล็กๆ บรรยากาศมันมีความสุข เพราะคนฟังเขาฟังกันจริงๆ ฟังที่กลอนลำ สนุกสนานแบบชาวบ้านๆ ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง

“บางงานที่ผมไปแสดง ผมเลิกตอนเช้า ๖ โมง ๗ โมง ต้องเตรียมเก็บข้าวของเพื่อเดินทางกลับบ้าน แต่มีพ่อแม่พี่น้องบางบ้านเขายังไม่กลับ เพราะเขายังรอดูเราอยู่ จนพวกผมนั่งรถออกไปแล้ว เขายังหอบลูกหอบหลานวิ่งลัดถนนไปหาผมอีก นี่สิครับ ผมถึงได้ประทับใจคนดูคนฟังในสมัยนั้น”

ในความเป็นจริง เราต้องยอมรับว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกจะดำรงสถานะโดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่มันขึ้นอยู่กับว่า สิ่งนั้นจะ “เจริญ” ขึ้น หรือ “เสื่อม” ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมต่างๆ ด้วย

ศิลปะหลายแขนงของไทยได้รับการวิวัฒน์จนกระทั่งถึงขีดสุด มีความงาม ความพอดี และความปลั่งจำเพาะที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละแขนง และแน่นอน ถ้ารักษาความเจริญนั้นให้คงอยู่ไม่ได้ ความเสื่อมย่อมเข้ามาแทนที่เป็นธรรมดา

นอกจากเรื่องพฤติกรรมผู้ชมผู้ฟังหมอลำที่เปลี่ยนไปแล้ว ในด้านตัวหมอลำเอง หมอลำทองเยี่ยมยังกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีกว่า

“การลำในสมัยนี้มันไม่เหมือนแต่ก่อน สมัยก่อนมันเป็นบทเป็นกลอนจริงๆ เวลาจะโกง จะไล่กัน หรือจะจากบ้านจากเมือง ผมสวมบทตรงนั้นลงไป ผู้เล่นร้องไห้ ผู้ฟังก็ร้องไห้ เพราะมันมีอารมณ์ร่วมระหว่างคนเล่นกับคนดู โดยมีกลอนเพลงเป็นสื่อ

“แต่สมัยนี้กลอนมันไม่เอื้อให้ร้องไห้แล้วครับ เพราะมันไม่สัมผัสกัน มันไม่ลึกซึ้ง อะไรๆ ก็จะร้องเพลงกันหมด เนื้อหาสาระบทกลอนแท้ๆ ที่คนเฒ่าคนแก่จะได้ฟังก็ไม่มี

“แล้วถามว่าผมไปเอากลอนที่ไหนมาร้องมาลำ ก็ครูบาอาจารย์ท่านเขียนให้ผมน่ะสิ มันจึงเป็นกลอนที่มีสัมผัส เพราะท่านเหล่านั้นแตกฉาน มองทะลุไปหมด แต่เวลาเราเล่นจนเต็มที่แล้ว บางกลอนก็คิดออกไปเอง สมองของเรามันสั่งแบบฉับพลัน”

จะว่าไปแล้ว ลักษณะอย่างนี้คงพ้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “ลิเก” ที่ตัวแสดงตัดทอนท่ารำให้ง่ายขึ้น กลอนเพลงที่ใช้มีสัมผัสน้อยลง เน้นร้องเพลงลูกทุ่งมากๆ เพื่อเรียกแฟนเพลง หรือนี่เป็นเพราะผู้คนสมัยนี้ชอบบริโภคสิ่งที่ย่อยง่ายและทันใจ ไม่เว้นแม้แต่การเสพศิลปะ

แต่ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ คงไม่ยิ่งใหญ่มากไปกว่า เรื่อง “หมอลำชั้นครู” กำลังจะหมดลงในไม่ช้า

ในปัจจุบัน จำนวนหมอลำพื้นที่มีความรู้ความสามารถมีจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อย จนอาจกล่าวได้ว่าแทบจะนับตัวคนได้ เพราะนอกจากตัวของหมอลำทองเยี่ยมเองแล้ว เห็นจะมีอยู่อีกหนึ่งท่าน คือ หมอลำสง แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น หมอลำสุภาพสตรีอายุกว่า ๘๐ ปี ซึ่งในปัจจุบันมีความทรงจำไม่สู้ดีนัก ส่วนหมอลำพื้นรุ่นเก่าชั้นครูทั้งหลาย ล้วนแต่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น

หมอลำทองเยี่ยมกล่าวอย่างเศร้าใจ ว่า

“เท่าที่ผมสังเกต หมอลำมันเริ่มลดน้อยลง เหลือแต่คณะที่ใหญ่จริงๆ อย่างนกน้อย ระเบียบ ประถมบันเทิงศิลป์ แต่ถ้าเป็นหมอลำรุ่นกลางๆ มันค่อยๆ หายไป ส่วนผมก็ไม่ได้รับงานแสดงที่ไหนแล้ว เพราะอายุมากขึ้น ไม่มีใครวิ่งเต้นหางาน หาหมอร้อง หรือหาหางเครื่องให้ ก็เลยตัดสิ้นใจเลิก

“นักวิชาการเขาให้ความหวังว่า จะมีการอนุรักษ์หมอลำประเภทต่างๆ ผมว่ามีความสำคัญมาก เพราะปัญหาต่างๆ ที่ผมกล่าวมา มันบั้นทอนสังคมหมอลำทีละน้อย อาจจะไม่เห็นผลวันนี้ แต่อนาคตถ้าไม่แก้ไขหมดแน่ๆ ถ้าหมดรุ่นผมแล้วมันหายจริงๆ ยิ่งหมอลำพื้นด้วยแล้วเป็นอันดับแรกเลยครับ ที่จะสูญก่อน”

(ตีพิมพ์ลงวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๔)

หมอลำทองเยี่ยม ประสมพืช (ภูมิพงศ์ คุ้มวงษ์: ถ่ายภาพ)

หมอลำทองเยี่ยม ประสมพืช (ภูมิพงศ์ คุ้มวงษ์: ถ่ายภาพ)      

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *