ชวนพิศพลางชม
ความงามหอไตร วัดสีสะเกด เมืองเวียงจันทน์
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
“ศิลปะนี่ต้องมีความคิด ต้องรู้สึก พูดอย่างภาษาธรรมดา รู้สึกอย่างไร คล้ายๆ มีชีวิตก็ได้ ความคิดและความรู้สึกนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างองค์ประกอบทางศิลปะให้สัมพันธ์กัน ประสานกัน จึงจะน่าดู มีพลัง ซึ่งถ้าดูแล้วจะเกิดความรู้สึก มันไม่เฉยๆ ดูแล้วสวยเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้รู้สึกว่าเร้าใจเรา สะดุดใจเรา เวลาเห็นแล้วรู้สึกมีพลังประหลาด ดูแล้วพูดไม่ถูก”
คำกล่าวเฟื้อ หริพิทักษ์ จากหนังสือ “ยังเฟื้อ” ของนรา หนังสือเล่มแรกๆ ที่ช่วยพยุงผมเมื่อเริ่มสนใจศิลปกรรมและจิตรกรรมไทยประเพณี โดยเฉพาะให้รู้จักรูปเขียนฝีมือพระอาจารย์นาคและลวดลายเลือนรางบนบานหน้าต่างหอไตร วัดระฆังฯ ที่ได้เฟื้อผู้นี้เป็นสดมภ์หลักชุบชีวิต
ผมแจ้งใจประโยคดังกล่าว เมื่อได้เที่ยวชมหอไตร วัดสีสะเกด* ด้วยสามารถอธิบายความรู้สึกครอบคลุมความในใจต่อศิลปกรรมแห่งนั้น อันเป็นหนึ่งในโบราณสถานตัวเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่ตรึงใจตั้งแต่แรกเห็น
หอไตรยกฐานสูง ตัวเรือนทรงจตุรทิศระเบียงรอบ เสาย่อมุมไม้สิบสองจำนวน ๑๒ ต้นสอบเข้า มีประตูทางเข้าด้านในโดยรอบ ๔ ด้าน บันไดทางขึ้นเพียงทางเดียว หอไตรนี้ตั้งอยู่ซีกขวานอกระเบียงคดพระอุโบสถ อีกด้านล้ำกำแพงวัดออกนอกริมถนนล้านช้าง ฝั่งตรงข้ามเป็นกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา
ผมเดินไปชมหอไตรแห่งนี้ ๒ วัน เพราะไม่ไกลจากที่พัก วันแรกได้แต่ถ่ายภาพด้านนอก เพราะเมื่อไปถึงก็ล่วงเวลากว่า ๒ ทุ่ม จึงไม่สามารถเข้าได้ ลวดลายและส่วนประกอบต่างๆ ไม่กระจ่างตาด้วยมืดสลัว เย็นรุ่งขึ้นจึงกลับไปชมซ้ำอย่างใกล้ชิด ความงามความประณีตจึงปรากฏขึ้น
โดยมติส่วนตัว สิ่งสำคัญที่ควรกล่าวถึงบนหอไตรแห่งนี้ คือรูปทรงและลายจำหลักไม้หน้าบันหลังคา ลายปูนปั้นบนเสามุมผนังทั้งสี่ และที่วิเศษสุดคือลายเส้นภาพเขียนเพียงภาพเดียวที่เหลืออยู่ แต่ขอยังไม่บอกว่าคือภาพอะไร
หลังคายังคงความสมบูรณ์ตามแบบดั้งเดิม โครงสร้างเป็นไม้และปูนซ้อนกัน ๓ ชั้น ลักษณะคล้ายคลึงศิลปะพม่า รวมถึงหัวนาคปูนปั้นทั้ง ๔ มุม เพราะแต่เดิมลาวอยู่ในเขตอาณาจักรล้านช้างที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมอญ พม่า และจีน
หน้าบันทั้ง ๔ ทิศ เป็นไม้จำหลักลายพรรณพฤกษา ขึ้นล้อมรอบเทพนมนั่งขัดสมาธิบนฐานสูง สังเกตดีๆ มีนกคล้ายกระยางอยู่กลางเครือเถาที่ตวัดรัดไปมาข้างละ ๒ ตัว หน้าบันพระอุโบสถ ระเบียงคด และกุฏิ เป็นลายจำหลักอย่างนี้เช่นกัน ด้วยคงสร้างร่วมสมัยเดียวกัน
ผมมีความเห็นว่าลายจำหลักนี้ไม่ถือเป็นงานละเอียด แต่แกะอย่างประณีตให้อารมณ์ ดูแล้วเคลื่อนไหวโลดเต้นมีชีวิตชีวา รวมถึงเครื่องไม้อื่นๆ เช่นคันทวย ลายรวงผึ้งและลายสาหร่าย เข้าใจเองว่าเดิมพื้นหลังคงประดับกระจก ตัวลายปิดทองอร่าม ก่อนจะถูกบูรณะด้วยการทาสีน้ำตาลเข้มทับอย่างปัจจุบัน ที่เข้าใจอย่างนั้นเพราะหน้าบันระเบียงคดของเดิมหลงเหลือเศษกระจกและร่องลอยสีทองให้เห็น จึงอนุมานไปอย่างนั้น
ลายปูนปั้นมีให้เห็นตามส่วนต่างๆ ทั้งบัวหัวเสา ๑๒ ต้น ซุ้มประตูทางเข้า ๔ ด้าน แต่ก็เป็นไปอย่างดาษๆ ผมชอบใจลายปูนปั้นบนเสามุมผนังทั้งสี่มากกว่า ด้วยผูกเป็นรูปดอกไม้แปลกตา วางลายบนพื้นสีชาดตั้งแต่ฐานถึงยอด สีปูนอมชมพูระเรื่อด้วยดูดสีพื้นเข้าไป ช่วงล่างรับด้วยลายกาบเชิงอ่อนช้อย มีเศษกระจกหลงเหลือให้รู้ว่าเคยมีการประดับกระจกมาก่อน ลวดลายคล้ายศิลปะพม่าเช่นกัน
เมื่อเขียนถึงตรงนี้ ผมปักใจเชื่อแน่ว่า หอไตรหลังนี้คงไม่ได้มีช่างแค่สกุลเดียวหรือสองสกุลเท่านั้นที่แสดงปัญญาและฝีมือ หากแต่ทับซ้อนด้วยพลังสร้างสรรค์อย่างลงตัวของหลายสกุลช่าง อย่างน้อยก็กลุ่มวัฒนธรรมไทย ลาวเวียงจันทน์ และพม่า
งานชิ้นเอกต่อมาถือว่าเป็นยอด และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมลงนั่งพิมพ์ต้นฉบับนี้ด้วยความตั้งใจ เป็นภาพเซี่ยวกางบนบานประตูด้านหลังหอไตร
ผมพบความวิเศษนี้โดยบังเอิญ เพราะประตูบานอื่นเป็นไม้กระดานขัดเรียบธรรมดาจึงไม่สะกิดใจ ต่อเมื่อเดินวนรอบสุดท้ายก่อนกลับ สายตาสะดุดเข้ากับรอยเปื้อนคราวสีดำและลายเส้นสีขาว เมื่อพิจารณาจึงเห็นว่าเป็นทวารบาลจีนรักษาประตู สะท้านก็เพราะสายตาเขม็งเกลียวของท่านจ้องมองมาทางผมพอดี
ความรู้สึกแรกขณะจิต ผมคิดถึงเฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นอันดับแรก นึกถึงความพยายามของท่านในการอ่านลวดลายเลือนรางบนบานหน้าต่างหอไตร วัดระฆังฯ ทำไมจึงนึกไปอย่างนั้นก็ไม่ทราบ ความคิดต่อมาคือลวดลายต่างๆ ทำไมช่างละม้ายคล้ายคลึงกับงานไทยยิ่งนัก
เดิมเป็นงานลายรดน้ำ แต่ด้วยเวลาล่วงเลยจึงทรุดโทรมเต็มที เห็นเพียงเค้ารอยเส้นลางๆ และสังเกตยาก บานประตูด้านขวาลบเลือนเกือบทั้งหมด หลงเหลืออยู่บ้างก็แต่ด้านซ้ายเท่านั้น เซี่ยวกางองค์นี้ทรงมงกุฎยอดเดินหนอย่างไทย หนวดเคราและคิ้วยาว มือถือทวน
พื้นหลังผูกลายดอกไม้และล้อมกรอบภาพดอกไม้ทั้งบาน ลายเสื้อผ้าอาภรณ์ปรากฏก็เพียงแต่ช่วงล่างเท่านั้น ถัดลงมามีรูปสิงห์ ๒ ตัวเคียงคู่อยู่ด้วย พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ภาพนี้สวยมาก ที่ว่าประณีตพิสดารเพราะงามด้วยลายเส้นและการจัดองค์ประกอบ ความยอดเยี่ยมอยู่ที่ท่วงท่าขึงขัง และความน่าเกรงขามดุดันของเซี่ยวกางที่แสดงออกทางสีหน้าและสายตาอย่างมีพลัง
นี่ไม่ใช่ฝีมือช่างธรรมดาเป็นแน่ ใจผมบอกอย่างนั้น
ผมใช้เวลาชมและถ่ายภาพอยู่นานจึงลากลับ ระหว่างทางนึกขอบคุณเทวดาเซี่ยวกางที่ดลใจให้ผมเห็นท่าน นึกต่อไปอีกว่า ภาพนี้ได้รับการคัดลอกหรือยัง ประตูบานอื่นถูกโยกย้ายไว้ที่ไหน หรือเพราะชำรุดหนักจึงขัดลวดลายออกเสีย เหลือเพียงกระดานไม้ดิบๆ คิดไปสารพัดเพราะไม่มีข้อมูล ทั้งต้องรีบกลับไทยด้วยความจำเป็น
นิมิตดีที่วันนี้หอไตร วัดสีสะเกด ยังคงเหลือฝีมือช่างเดิมให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน แม้จะเจือด้วยงานใหม่ที่ไม่ถึงขนาดก็ตาม เพราะมีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ แต่ก็เป็นส่วนน้อยที่ไม่พาให้ส่วนใหญ่ฉิบหายลง
อย่าให้ต้องเคราะห์เหมือนวัดเก่าแห่งหนึ่งในราชบุรี ที่ถูกมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นหน่วยงานรัฐเข้าซ่อมรูปเขียนเก่าบนผนังโบสถ์ โดยขอค่าตอบแทนเป็นเงินหลายแสน ไม่นานก็ออกลายเชิดเงินทั้งหมดหลบหนี ทิ้งไว้แต่แผ่นวอลเปเปอร์ขาวดำพิมพ์ลายรามเกียรติ์ปิดทับภาพเขียนเก่ากว่าครึ่งอย่างอุจาดตา
นี่ไม่รวมศิลปวัตถุอีกหลายชิ้นในประเทศที่ถูกทิ้งร้างบุบสลาย และด้วยน้ำมือคนร่วมสมัยที่ไม่รู้ค่าความดี ความจริง และความงาม
ความงามเป็นเรื่องภายในส่วนบุคคล บังคับกันไม่ได้จริงๆ
*วัดนี้ เรียกว่า วัดสีสะเกด สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๑๘ สมัยเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เวียงจันทน์ เมื่อสร้างได้ ๑๐ ปี ถูกสงครามจากศักดินาต่างด้าวมารุกรานและทำลายไปพร้อมกับนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อสงครามผ่านพ้นไป ประชาชนชาวลาวได้พร้อมใจฟื้นฟูบูรณะวัดนี้ให้กลับมีสภาพดังเดิม ได้รักษารูปลักษณะการสร้างแบบเดิมไว้ ต่อมาปี ค.ศ.๑๙๓๕ ได้มีการบูรณะรูปเขียนศิลปะไว้อย่างเก่าอย่างที่พบเห็นในปัจจุบัน (จากป้ายคำอธิบายวัดสีสะเกด ถอดความจากภาษาลาวโดยเชาวน์มนัส ประภักดี)