สมศักดิ์ ไตรย์วาสน์
ศิษย์พาทยโกศล
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: กันต์ อัศวเสนา
กว่าครึ่งชีวิตที่ครูสมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ ใช้เวลาทั้งหมดอยู่ที่นี่ สำนักดนตรี “พาทยโกศล” ครูเป็นศิษย์รักในบ้านที่รับใช้ใกล้ชิดครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เจ้าสำนัก และครูพังพอน แตงสืบพันธุ์ ครูอาวุโสสมัยนั้น แม้ออกตัวว่าตนเองไม่ทราบที่มาสำนักนี้ เพราะถ่อมตนและมารยาทอันควร หากถามไถ่เรื่องราวในอดีต ด้วยเป็นคนนอก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ครูเป็นส่วนหนึ่งของสำนักพาทยโกศลยุคร่วมสมัยอย่างแยกออกไม่ได้
หลังมรณกรรมคุณยุพาและครูอุทัย พาทยโกศล(๑) นอกจากคุมวงดนตรี ถ่ายทอดทางเพลงและประสานข่าวสารในหมู่ศิษย์ เป็นหูเป็นตาดูแล “เรือนเครื่อง” เรือนไม้กว่าร้อยปี ชุมชนหลังวัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ พร้อมเครื่องมโหรีปี่พาทย์จำนวนมากบนนั้น ครูยังคอยบอกเล่าความรู้ เอื้อเฟื้อสถานที่และต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยือน ภายใต้บุคลิกสุขุม คำพูดสุภาพ น้ำเสียงบ่งบอกว่าครูเป็นคนเรียบง่าย
“อายุ ๒๗ มาจากต่างจังหวัด ประโยคแรกที่ป้ายุพาบอกผม ‘อยู่บ้านนี้ใจต้องหนักแน่น’ ลึกๆ ผมผูกพันกับบ้านนี้อย่างไรไม่ทราบ ครูพังพอนช่วงใกล้เสียท่านว่า ‘ต่อไปบ้านเราไม่มีผู้ใหญ่ก็ม้วนเสื่อ’ แสดงว่าเลิกใช่ไหม ผมก็รับปากสานต่อ อุทัยย้ายไปเขาชะโงก นครนายก ฝากดูแลที่นี่กระทั่งเขาเสีย นึกดูไม่มีใคร ถ้าไม่อยู่อาจต้องปิด ผมช่วยได้คือประคองวงไม่ให้ล้ม บ้านช่องไม่ให้เงียบ บ้านนี้เขาทำชื่อเสียงไว้มาก”
เบื้องหลังส่วนตัว ครูสมศักดิ์เติบโตที่อยุธยา เป็นหลานชายตาอุ่น สุทธิรักษ์ โต้โผปี่พาทย์ไทย-มอญ ผักไห่ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเครือญาติกับสกุลดนตรีรส นักดนตรีสองสกุลจึงไปมาหากันไม่ขาด ครูเรียกครูพริ้ง ดนตรีรส ว่า ปู่ เรียกครูเชื้อ ดนตรีรส ว่า อา โดยเฉพาะหลักวิชาปี่พาทย์คณะตาอุ่นที่ได้ครูพริ้งเป็นครูใหญ่ ครูสมศักดิ์สัมผัสซึมซับและเริ่มต้นโลกดนตรีที่นี่ ความฝันเป็นนักปี่พาทย์ของครูก็เกิดขึ้นที่นี่เช่นกัน
“สาธุการผมเรียนได้เอง คุ้นหู เกิดมาแดงๆ ได้ยินแล้ว ไปงานกับตาตั้งแต่เด็ก ตีฉิ่งตีฉาบ สมัยก่อนโต้โผปี่พาทย์มีลูกครบวง ตามีภรรยาสองคน ยายผมชื่อชั๊ว คนอยุธยา บั้นปลายตายุบวงขายเครื่องให้คนลพบุรี คุณต้องเข้าใจ โต้โผบ้านนอก งานไม่มีเงินไม่มี กู้หนี้ยืมสิน มีงานก็เอาเงินใช้หนี้ อายุมากเข้าต้องขายเครื่อง จำได้ตอนขนไปแกร้องไห้ แกว่า ‘เหมือนพ่อแม่ตายอีกคน’
“หนุ่มๆ เคยคิด โตขึ้นถ้าลืมตาอ้าปาก ผมจะซื้อเครื่องตาคืน เครื่องมอญ ๒ โค้ง ๔ ราง เอกทุ้มกับรางเหล็กหัวท้าย ฝีมือช่างฮุย พร้อมเครื่องไทย เคยคิดกระทั่งตั้งวงใหม่ สืบสานปี่พาทย์ตาอุ่น ผักไห่ แต่ไม่เป็นตามคิด หลายอย่างนะ สร้างเครื่องสร้างคน เงินทองผมก็น้อย ต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อม เพราะอาชีพปี่พาทย์แข่งขันสูง น้องผมชื่อสมทรงเรียนพร้อมกัน เดี๋ยวนี้เป็นคนกลองเวทีมวยราชดำเนิน ผมอายุสิบห้า ครูสำรวย แก้วสว่าง ขอให้ไปอยู่ด้วย แต่พ่อปฏิเสธ ถ้าไปคงไม่นั่งอยู่ตรงนี้”
กล่าวอย่างกระชับ หลังจบประถมโรงเรียนวัดโพธิ์ผักไห่และโรงเรียนวัดกระโดงทอง เสนา อยุธยา ครูสมศักดิ์ควรเรียนจบชั้นมัธยม ๗ โรงเรียนราษฎร์บำรุงศิลป์ ที่เริ่มต้นเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยม ๑ เมื่อจบอาจเรียนต่อหรือทำงานอย่างที่ควรเป็น ถ้าไม่มีเหตุซ้ำชั้นมัธยม ๕ เสียก่อน ครั้งนั้นครูเลือกหันหลังให้การศึกษาในระบบอย่างเด็ดเดี่ยว ตัดสินใจไปเรียนรู้วิชาชีวิตทำปี่พาทย์อาชีพที่ลพบุรีเพียงลำพัง หลายเดือนจึงเขียนความในใจส่งบอกทางบ้าน
๕ ปี เต็มที่ครูสมศักดิ์อยู่วงปี่พาทย์นายสุพัฒน์ ภมรศิลป์ (คนเดียวกับที่ซื้อเครื่องปี่พาทย์ตาอุ่น) ตระเวนทำลิเกทั่วลพบุรีและใกล้เคียง ทั้งปิดวิก บันทึกเทป เล่นออกวิทยุ ไม่ว่าจะเป็นลิเกทุเรียนเล็ก, นายเต๊ก ลูกรบ, หรือนายต๋า อายุครบบวชบวชที่วัดกระโดงทอง หลังสึกได้งานหน่วยปราบโรคมาเลเรีย เงินเดือน ๔๕๐ บ. ทิ้งอาชีพนักดนตรีถึง ๑๐ ปี ก่อนจากบ้านอีกครั้งเพื่อเข้ากรุงเทพฯ ฝากตัวเป็นศิษย์สำนักพาทยโกศล นับเป็นการจากบ้านเกิดในชีวิตครูอย่างถาวรถึงวันนี้ร่วม ๔๐ ปี
“คิดเลิกปี่พาทย์หลายครั้ง แต่หนีครูไม่พ้น ออกจากงานเพลงการลืมหมด พี่แสวง เจ้าหน้าที่วัดโสมฯ คนระนาดวงตาอุ่น เห็นผมว่างงานก็ชวนอยู่บ้านครูเทวาฯ แต่ปฏิเสธ ทีนี้ยายผมว่า ‘ไปหาวิชา กลับมาจะได้คุมเครื่อง’ คำนี้เป็นแรงบันดาลใจ ฝากตัวครั้งแรกกับป้ายุพาที่วัดโสมฯ อยู่เรือนเครื่องไม่นานก็เจอดี มุมนี้เลย เผลอหลับ ละเมอเหมือนคนเหยียบอก ถาม ‘จะเอาดีทางไหน’ พูดแล้วขนลุก
“ผมเริ่มสาธุการใหม่ที่นี่ ต่อเพลงกับครูพังพอน ต่อหนักซ้อมหนัก ครั้งหนึ่งว่าจะขึ้นวัดพระพิเรนทร์ เพลงแขกลพบุรี ครูเทวาฯ ได้ข่าวจากไหนไม่ทราบ ‘อย่าให้รู้ว่าขึ้นวัดพระพิเรนทร์’ พวกผมเก็บเครื่องเงียบ อยู่พักใหญ่ได้ทำปี่พาทย์วัดโสมฯ เวลาละ ๑๕๐ บ. ตกคน ๑๐ บ. เหล้าแบน ๑๒ บ. สองคนกับพี่ใบ (ทองใบ คล่องฝีมือ) กินแถวสะพานพุทธ โซดาขวดได้หมูแกล้ม ๒๐ บ. ก็หมดแล้ว”
นอกจากฟื้นวิชาปี่พาทย์ใหม่ทั้งหมดเมื่ออายุย่างต้นสามสิบ ปรับความเคยชินเรื่องทางเพลงและข้อปฏิบัติเคร่งครัดเฉพาะสำนัก ควบคู่ “ฝึกฝีมือ” ครูยัง “ฝึกใจ” ต้อนรับสิ่งใหม่อย่างท้าทาย อีกทั้งหลายเรื่องลองใจจากครูเทวาประสิทธิ์ เป็นบทพิสูจน์ว่าจะถอยหรือเดินหน้า ศิษย์ในบ้านที่ผ่านร้อนผ่านหนาวร่วมกับครูช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นสละ จอนแจ้งจันทร์ (เพื่อนรัก) สุรธี สวนชูผล บุญสม รัตนประหาด บุญรอด ทองวิวัฒน์ กิ่ง คชาภัย ศก อนันตศัพท์ ประวิทย์ เชยนิ่ม ฯลฯ
“ครั้งหนึ่งผมกินข้าวในครัว ครูเทวาฯ บอก ‘กินให้อิ่ม กลับเรือนจะได้ซ้อมตระนอน’ หมายถึงกินแล้วนอน หรืองานที่วัดเบญฯ ผมใส่กางเกงน้ำตาลไป เสื้อขาวเนคไทดำ แกว่า ‘งานในหลวงเสด็จ ไม่ใช่ศพกงเต็ก’ ครูเทวาฯ ไม่ชอบดำๆ ด่างๆ เสื้อยืดรองเท้าแตะ หรือยีนส์นี่ไม่ได้ เล่นดนตรีต้องนั่งขัดสมาธิชั้นเดียว เพื่อ ‘ให้เกียรติเครื่องดนตรี’ ที่รู้มา ครูเทวาฯ ไปบ้านพระยาประสาน (พระยาประสานดุริยศัพท์) ๓ เดือน ยังไม่ได้เพลง ไปทุกวันจนพระยาประสานชม ‘เด็กคนนี้มีมานะ’ นี่วิธีลองใจ
“ครูเทวาฯ เป็นกันเองกับศิษย์ ว่างก็พาเที่ยวชลบุรี ผมประหม่าทุกครั้งที่เจอหน้า งานวัดประยูรฯ ผมตีระนาดมูล่ง แกเข้าทุ้ม มือไม้ผมสั่น จบเพลงแกถาม ‘คนระนาดเป็นอะไร’ แล้วมีฝีมือทุกชิ้น กลอนระนาดล้ำลึก คนฆ้องว่าแม่นยังล้ม ไปอัดเสียงที่สถานีวิทยุทุ่งมหาเมฆ เพลงเชิดจีน พี่ใบตีระนาด แกจะตีทุ้ม พี่ใบไหว้เลย บอกครูอย่าตี กลัว แต่ไปไหนมาไหนใช้ผมเสมอ พาไปงานแซยิดหลวงไพเราะฯ (หลวงไพเราะเสียงซอ) ให้สอนแทนที่สตรีวิทยา คงไว้ใจ”
ตลอดช่วงเวลาที่สำนักพาทยโกศล บ่อยครั้งที่ครูได้ยินคนนอกกล่าวขวัญถึงศิษย์สำนักฯ “หวงเพลง” ไม่ใช่ศิษย์แท้ไม่ง่ายจะร่ำเรียน ทั้งไม่เล่นเพลงอื่นนอกสำนัก ครูฟังซ้ำจนเป็นธรรมดา โดยเฉพาะครูเทวาประสิทธิ์ที่โจษปากต่อปากว่าหวงนัก แม้ป่วยครั้งสุดท้ายที่ศิริราชยังรำพึงอยากตายแต่ตัว ไม่อยากให้วิชาตายตาม(๒) เขียนถึงตรงนี้ คงไม่มีคำอธิบายใดดีเท่าคำจากปากคนในอย่างครู
“เพลงไม่หวง แต่กลัวเปลี่ยนมือ เพลงบ้านนี้มือยากแล้วยาว กินข้อ ไม่รู้กำลัง เสร็จ บางคนฉาบฉวยแกะจากเทป เล่นอัดเทปมันตีสบาย ไม่เหมือนต่อมือ เพราะเป็นมือกำกับ ครั้งหนึ่งงานวัดมกุฎ ผมตีระนาด คนฆ้องขึ้นยอเร ช่วงนั้นกำลังนิยม จบเพลงครูเทวาฯ ถาม ‘เฮ้ย เพลงที่บ้านได้หมดหรือยัง เอาเพลงอื่นมาตี’ แกว่า ‘ตีได้ แต่เราไม่ได้ต่อ กลัวผิดมือ เดี๋ยวเขาจะว่า’ ก็จริงของแก
“แต่ก่อนไปอัดเสียงได้อาทิตย์ละร้อย ไม่น้อยนะ มีผมกับหลายคน หลังๆ ครูพังพอนถาม ‘เอาเพลงไปขายกินหรือ’ ก็เลิกกัน อย่างโน้ตที่บ้าน ผมเห็นครูพังพอนเอามาแกะ ได้บรรทัดก็ต่อ จบเพลงวัดหน้าทับ เห็นอีกทีอุทัยเอามา โล้ เถา เป็นลายมือ เพลงลั่นถัน ท้ายเพลงเขียน ‘แต่งเป็นเถากลัวจะหลุกหลิก’ เคยมีคนนอกมาขอโน้ตกับป้ายุพา นี่ได้ข่าวว่าจะขออีกแล้ว ต้องพูดอย่างครูจางวางทั่ว ‘อันไหนไม่ใช่ของเรา อย่าไปอยากได้’”
ปี ๕๗ สำนักพาทยโกศล จัดพิธีไหว้ครูดนตรี วันที่ ๒๕ กันยายน ครูสำราญ เกิดผล (ศิลปินแห่งชาติ) อ่านโองการ เมื่อเสร็จพิธี วงปี่พาทย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จฯ บรรเลงถวายมือถวายครู เพลงช้า ๒ เรื่อง คือแขกไหว้พระและแขกมอญ วงปี่พาทย์ศิษย์สำนักฯ บรรเลงเสภาเพลงเถา โหมโรงประเสบัน แขกมอญบางช้าง น้ำลอดใต้ทราย เขมรใหญ่ โอ้ลาว ทยอยเขมร นอกจากเกร็ดความรู้ที่ว่า สำนักฯ ไม่ใช้หน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครู ครูสมศักดิ์ยังเล่าเติมประเด็นอื่นที่น่าสนใจ
“สมัยครูเทวาฯ ไหว้ครูทุกปี แกอ่านเอง แต่ไม่แต่งชุดขาว นุ่งผ้าม่วงเสื้อราชปะแตน กองดุริยางค์ทหารบกเชิญไปอ่านก็ชุดนี้ กำหนดพิธีแปลกกว่าบ้านอื่น เช้าพฤหัสไหว้ครู ตกเย็นสวดมนต์เย็น ศุกร์เช้านิมนต์พระรับบาตรร้อยกว่ารูป เพลนิมนต์ฉัน หลวงปู่โต๊ะยังเคยมา เข้าใจว่าครูเทวาฯ ฉลองวันเกิดด้วย หมดครูเทวาฯ คนอ่านเป็น อ.ภาวาส บุนนาค ครูพังพอน คุณหญิงไพฑูรย์เคยอ่านครั้งหนึ่ง แล้วมาอุทัย ปัจจุบันเชิญครูสำราญกับครูสนอง อ่ำแสง มาช่วย”
ทุกวันนี้ รายได้หลักของครูสมศักดิ์ได้จากเงินค่าสอนดนตรีที่โรงเรียนราชินี ที่ครูสอนตั้งแต่ปี ๒๖ ทั้งได้เสริมตามโอกาสจากทำปี่พาทย์ที่วัดย่านฝั่งธน เงินส่วนหนึ่ง ครูกินใช้ในครอบครัวทั้งส่วนตัวและภรรยา อีกส่วนเจียดสะสมสำหรับซ่อมบำรุงพยุงเรือนเครื่อง นอกจากกรณีเวนคืนที่ดินชุมชนหลังวัดกัลยาณมิตร ปัญหาเรื้อรังที่อาจส่งผลต่อสำนักพาทยโกศล ครูยังเผยข่าวปรับปรุงเรือนเครื่องครั้งใหญ่ที่กำลังมาถึง
“ล่าสุด หัวหน้าชุมชนบอก ที่ดินตรงนี้เขายกเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เขาไม่ไล่ที่ผมก็สบายใจ เมื่อไม่นานได้ข่าวว่าจะซ่อมเรือนเครื่อง โครงการจะรักษารูปแบบเดิม แต่ยกใต้ถุนสูง ชั้นล่างเป็นที่พักที่ซ้อมพวกผม เมื่อก่อนใต้ถุนเป็นอิฐแดงแผ่นใหญ่ปูเต็ม ทำครัว เดินเล่นได้ เดี๋ยวนี้ขี้เลนถมหมด เห็นว่าจะให้เทศบาลมาลากออก ผมจะอยู่ทันซ่อมเสร็จหรือเปล่าไม่รู้นะ”
บันทึกว่า ผลงานบรรเลงของครูสมศักดิ์ร่วมกับวงพาทยโกศลที่ควรกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นบันทึกเสียง โดยเฉพาะผลงานส่วนหนึ่งที่วังบ้านปลายเนิน, บันทึกเพลงพระนิพนธ์ในทูลกระหม่อมบริพัตรฯ, เพลงตับมโหรีของเก่าที่พระตำหนักสวนจิตรลดา, บรรเลงถวายสมเด็จพระเทพรัตน์เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ พระตำหนักเรือนต้น, เป็นนักดนตรีในงาน ๑๒๐ ปี ๓ ครูดนตรีไทย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, งาน ๑๐๐ ปี จางวางทั่ว พาทยโกศล โรงละครแห่งชาติ, ที่สำคัญ คือ บรรเลงประโคมในงานพิธีพระบรมศพสมเด็จย่า พระศพพระพี่นางฯ และพระศพเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ ท้องสนามหลวง
“ใครๆ ถาม บ้านนี้ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางไหม ผมตอบไม่ ยึดของเดิม ความรู้ที่นี่ไปอยู่ที่ไหนบ้าง มีบ้านใหม่หางกระเบน บ้านพี่กาหลง พึ่งทองคำ สายจางวางสวน ชิตท้วม บ้านปู่คำ แสงสี นักดนตรีรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานที่นี่ รุ่นใหญ่ตอนนี้มีผม บุญรอด ทองวิวัฒน์ อุษา แสงไพโรจน์ สุรธี สวนชูผล จรินทร์ คำโสภา กฤษณา พิทักษ์พงศ์ ชัยพร ทับพวาธินท์ ที่มือไม้คอยจะเข้ากัน
“มีอยู่วันหนึ่ง งานซ้อน บวชนาคกับสวดศพ ผมตื่นตี ๕ ไปปลุกคนรถขนเครื่อง เขาไม่ลุกผมก็ฉุน เปลี่ยนใจไปงานศพแทน เพราะสายได้ ทีนี้พี่ฉ่ำอยู่งานบวชคนเดียว ไม่มีคนช่วยก็เป็นเรื่อง เรื่องถึงหูครูเทวาฯ แกเรียกผมไปพบ ว่าทำไมไม่ไป แต่ไม่รู้ว่าปลุกคนรถแล้วไม่ตื่น แกว่า ‘ชั้นยังอยู่ ช่วยประคับประคองไปหน่อย ถ้าตายแล้วจะว่าอย่างไรก็ว่าไป’
“ถามผมว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมจะพูดแบบครูเทวาฯ ฉันตายแล้วจะว่าอย่างไรก็ว่าไป”
เชิงอรรถ
๑ ภรรยาและบุตรชายคนเดียวของครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล
๒ ที่มาข้อมูล “ข้อเขียนไม่มีชื่อ” ของ รศ.พิชิต ชัยเสรี จากหนังสือที่ระลึกไหว้ครู ชมรมดนตรีไทยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี ๑๘
ครูสมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ ชาวผักไห่ อยุธยา เกิด ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๘๗ บิดามารดาชื่อประเสริฐและชลอ ไตรย์วาสน์ (สกุลเดิม สุทธิรักษ์) มีน้องชาย ๒ คน และน้องสาว ๑ คน สมรสกับนางสุดารัตน์ (สกลุเดิม มีทองคำ) มีบุตรชายหญิง ชื่อธวารัตน์ภาวิณี และบวร เรียนรู้ดนตรีปี่พาทย์เบื้องต้นจากครอบครัว เคยเป็นลูกวงทำปี่พาทย์ลิเก ลพบุรี อยู่หน่วยปราบโรคมาเลเรีย อยุธยา หลังฝากตัวเป็นศิษย์สำนักพาทยโกศล ต่อเพลงกับครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ครูพังพอน แตงสืบพันธุ์ ครูเอื้อน กรเกษม ครูนพ ศรีเพชรดี ครูทองใบ คล่องฝีมือ
(เรียบเรียงจากคำสัมภาษณ์ครูสมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ เมื่อ ๑๔ และ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗)