‘เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี’
Ex-dean of Faculty of Fine and Applied Arts,
Khon Kaen University
เรื่อง : พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ ภาพ : ชิษณุพงศ์ อินทร์แก้ว
ด้านหนึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี คืออดีตนักดนตรีที่ใช้วิถีชีวิตจริงในสนามปี่พาทย์อาชีพแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดปทุมธานี เป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและนักศึกษาไทยคนแรกที่เรียนจบปริญญาโทและปริญญาเอก สาขา Musicology จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย ที่ถึงทุกวันนี้ยังคงทำงานดนตรีเชิงพื้นที่ภาคสนามโดยเฉพาะประเทศเขตลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเสมอต้นเสมอปลายและมีผลงานจับต้องได้
อีกด้านหนึ่ง เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเขาคืออาจารย์สอนดนตรีไทยหนึ่งในคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทั่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยถึง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยทักษิณ ก่อนจะวางมือจากงานบริหารเมื่อเดือนเมษายนปี 2559 ที่ผ่านมา
ผลงานบริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับตั้งแต่วาระแรก (2543-2547) และอีกสองวาระ (2551-2559) นอกจากริเริ่มหลายโครงการงานรูปธรรมที่เด่นชัด ไม่ว่าเป็น จัดตั้งกองทุนตำราและวิจัยระดับคณะ วารสารวิชาการที่ทุกวันนี้มีบทความรอตีพิมพ์ล่วงหน้าถึง 2 ปี เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีถึงระดับปริญญาเอก รวมทั้งผลักดันพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ด้านการศึกษาและการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ ความสำเร็จนามธรรมยังสามารถบริหารใจคนให้เกิดความสุขเมื่ออยู่กับงานและองค์กร
แม้ออกตัวตั้งแต่ต้นว่า ตนทำงานบริหารโดยบุคลิกครูดนตรีไทย คืออ่อนน้อมไม่แข็งกร้าวทั้งทางวาจาและปฏิบัติกับผู้น้อยใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานหมู่คณะ หากแต่ต้องไม่ลืมว่า อุปนิสัยครูดนตรีไทยที่มาพร้อมควบคู่กับบุคลิกข้างต้นด้วยเช่นกัน คือความเนี้ยบมีระเบียบและดุในที เพราะฉะนั้น ‘เสือยิ้มยาก’ จึงเป็นการอธิบายตัวตนและฉายาที่ใครหลายคนรู้จักเขาผ่านคำๆ นี้
……………………………………………….
ที่ผ่านมาอาจารย์เฉลิมศักดิ์มีประสบการณ์เป็นนักดนตรีไทยอาชีพ มีฝีมือและความรู้ทางดนตรีปี่พาทย์ แต่คนรุ่นใหม่รู้จักอาจารย์เฉลิมศักดิ์ในบทบาทนักวิชาการและผู้บริหารมากกว่า ถามว่าจุดเริ่มต้นของการทำงานวิชาการเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่วนหนึ่งเพราะพ่อเป็นคนสะสมและอ่านหนังสือมาก พ่อผมเป็นนักศึกษาปริญญาโทรุ่นแรกของธรรมศาสตร์ บัตรนักศึกษาท่านยังอยู่ แต่เรียนได้ปีเดียวเพราะล้มเลิกกลางคันไปเสียก่อน พื้นเดิมท่านเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต วุฒิ ธบ. เขาเรียกทนายความชั้นหนึ่ง ว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร ถ้าคุณทันยุคอาจารย์สงัด ภูเขาทอง คุณจะเห็นชัดเลยว่า คนสมัยนั้นให้ความสนใจงานวิชาการน้อยมาก อาจารย์สงัดชอบเรียกผมเข้าไปนั่งคุยความรู้ความคิด ผมมีหน้าที่ฟังท่านคุย เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างแต่ก็ซึมซับ เพราะอาจารย์อยู่กับงานเอกสารมาโดยตลอด เทปเพลง อัลบั้มรูปกิจกรรมดนตรีเก็บเป็นระบบระเบียบเต็มห้อง
สมัยนั้นโน้ตอักษรไทย โด เร มี ซอล ลา ของอาจารย์สงัดถือได้ว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด มีเพลงหลากหลายตั้งแต่สองชั้นยันประเภททยอย สำคัญมากว่ามันเกิดความประทับใจจากตรงนั้น คำพูดของอาจารย์สงัดที่ผมยังจำจดได้ดี คือ ‘เล่นดนตรีก็เล่นไป เพราะเรื่องดนตรีก็ต้องพูดถึงการบรรเลงอยู่แล้ว แต่อย่าเล่นเฉยๆ คิดไปด้วยนึกไปด้วย เพื่อให้รู้ว่าไอ้เพลงที่เราเล่นมันมีอะไรซ่อนอยู่ มันอาจเป็นความรู้ที่ช่วยเกื้อหนุนกัน ทฤษฎีช่วยปฏิบัติ ปฏิบัติช่วยทฤษฏี ดีไม่ดีทฤษฎีบางอย่างอาจทำให้การปฏิบัติสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น’
ไม่น่าเชื่อนะครับว่า ‘สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย’ หนังสือเล่มแรกของผม สำเร็จทั้งเนื้อหาและรูปเล่มตั้งแต่ปีแรกที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โอเค ยอมรับว่าส่วนหนึ่งย่อมต้องมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นแน่นอน เพราะพื้นฐานข้อมูลที่มีอย่างจำกัด ภาพประกอบก็ต้องหาคนมาช่วยเขียนรูปให้ เพราะกล้องสมัยนั้นหายาก ถึงมีกล้องก็ไม่มีเครื่องดนตรีหรือวงดนตรีให้ถ่าย ทำด้วยเหตุผลเพราะต้องการให้ลูกศิษย์มีเอกสารประกอบการเรียนรู้ สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทยพิมพ์กับสำนักพิมพ์โอเดียน-สโตร์ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่สำนักหนึ่งในขณะนั้น
หลักคิดอย่างหนึ่งในการทำงานวิชาการของผม คือทำเสร็จต้องเผยแพร่ให้คนรู้จักและกล้ารับคำวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ทำเก็บหรือแอบซุกตู้ให้ฝุ่นจับ เพราะฉะนั้นหนังสือก็เหมือนลูก คุณต้องส่งลูกของคุณให้ได้ดีทุกคนถึงจะถูกต้องใช่ไหม
สงสัยว่าทำไมถึงตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตเป็นอาจารย์สอนดนตรีไทยปักหลักมั่นอยู่ที่ภาคอีสาน
ผมเป็นครูดนตรีรุ่นแรกๆ ของประเทศที่จบเอกดนตรีแล้วบรรจุเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลัก ก่อนหน้านั้นศิษย์เก่าบ้านสมเด็จฯ เอกดนตรีส่วนใหญ่บรรจุอยู่ในวิทยาลัยครูแทบทั้งนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเก่งกว่า ผมมาทราบภายหลังว่า ความตั้งใจเดิมของอาจารย์สงัด ภูเขาทอง ท่านต้องการให้ผมอยู่ช่วยงานที่บ้านสมเด็จฯ แต่เมื่อเพื่อนท่านที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องการครูดนตรีไทย ท่านจึงส่งผมมาอยู่ที่นี่ อาจารย์สงัดบอกว่า ‘ที่บ้านสมเด็จฯ ฉันก็ทำอะไรไว้มากพอสมควรแล้ว ถ้าเอ็กซ์ (หมายถึงอาจารย์เฉลิมศักดิ์) ไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นอาจทำอะไรได้มากกว่า’
อาจารย์วาสิษฐ์ จรัณยานนท์ ยังพูดอีกว่า ‘บ้านสมเด็จฯ รุ่นแรกจบไปทำงาน ควรไปเป็นกลุ่ม เพื่อที่จะได้ไปต่อยอด ถ้าไปคนเดียวโอกาสจะถูกละลายแล้วไม่ได้ทำอะไรมีสูงมาก’ ตัวอย่างง่ายๆ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ คนบ้านสมเด็จฯ ไปบรรจุกันสี่คน ดนตรีไทยสองคนดนตรีสากลสองคน เขาก็เปิดวิชาเอกดนตรีได้ แต่ผมกลับทำตรงกันข้ามกับที่อาจารย์วาสิษฐ์แนะนำ แรกเริ่มที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นผมจึงไปสอนวิชาพื้นฐาน ‘สังคีตนิยม’ ไม่ได้สอนวิชาเอกเพราะยังไม่มีวิชาเอกดนตรีโดยตรง เสียเวลาไปพอสมควรกว่าจะจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่นั่นได้สำเร็จ แต่การสังกัดอยู่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ก็เป็นข้อดีสำหรับผม เพราะมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์ทางความคิดและประสบการณ์กับอาจารย์วิชาเอกอื่นๆ
ขณะเดียวกันที่คณะมนุษย์ศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะนั้นมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า ถ้าคุณเรียนเป็นอะไร คุณต้องเรียนต่อในสายวิชานั้น เช่น จบภาษาอังกฤษคุณต้องเรียนต่อภาษาอังกฤษ ซึ่งต่างจากอาจารย์ในกลุ่มวิทยาลัยครูรุ่นเดียวกันที่ส่วนใหญ่จบวุฒิทางการศึกษาด้านการวัดประเมินผลหรือเทคโนโลยีทางการศึกษาแทบทั้งนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นขณะนั้นไม่ใช่อย่างที่คุณเห็นทุกวันนี้ที่ใครอยากจะเรียนอะไรที่ไหนในจักรวาล มหาวิทยาลัยมีเงินทุนสนับสนุนให้หมด แต่ยุคนั้นไม่ใช่ โชคดีที่ภาควิชามีอาจารย์ท่านหนึ่งด้านปรัชญาศาสนาเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย ท่านแนะนำและช่วยติดต่อประสานงาน สุดท้ายผมจึงไปจบปริญญาโทและปริญญาเอก สาขามิวสิคโคโลจีส์ ที่นั่น
ย้อนถึงคำพูดอาจารย์วาสิษฐ์ที่บอกว่า ไปคนเดียวแล้วอาจสูญเสียอะไรบางอย่าง เสียจริงๆ อย่างที่อาจารย์ว่า แต่ข้อดีคือผมมีเวลาในการพัฒนาตัวเอง ฉะนั้นช่วงแปดถึงสิบปีแรกของผมนอกจากทำงานสอนแล้วยังเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดียเต็มเวลา หลังจากช่วยงานมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเต็มกำลังในการเป็นเจ้าภาพงานดนตรีไทยอุดมศึกษาในปี 2535 ในปีถัดมาผมจึงได้ร่วมก่อตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ขึ้นที่นี่ ซึ่งขณะนั้นผมมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์และเรียนจบปริญญาเอกแล้วเรียบร้อย
ผมใช้หลักคิดกับตัวเองอย่างนี้ว่า เมื่อเรายังไม่สามารถดูแลตัวเองได้แล้วเราจะไปดูแลใครคนอื่นๆ เขาได้อย่างไร ถ้าตัวเองยังยืนไม่มั่นคงเพราะยังกังวลซ้ายกังวลขวา ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้นำทางฝ่ายวิชาการ แล้วเราจะผลักดันรุ่นน้องคนทำงานกับเราได้อย่างไร จะไปแนะนำเขาก็คงทำไม่ได้เพราะตัวเองยังไปไม่ถึงไหน กระทั่งผมมีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ประมาณปี 2537 เป็นต้นมา
ก่อนจะไปถึงเรื่องโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ถามว่าดนตรีไทยเป็นอยู่อย่างไรในภาคอีสานตั้งแต่แรกเห็นที่เข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชัดเจนเลยว่าเกือบทั้งภาคอีสานไม่มีครูดนตรีไทย เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ขาดแคลน โดยเฉพาะนอกกลุ่มวิทยาลัยครู มีบ้างที่เป็นกลุ่มครูจากภาคกลางมาตั้งรกรากที่นี่ อย่างโรงเรียนประจำจังหวัดที่จังหวัดอุดร เขาให้เป็นครูสอนดนตรีไทยแต่ตำแหน่งคนทำความสะอาดหรือนักการภารโรง โรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดภาคอีสานยุคต้นๆ เป็นอย่างนี้ โรงเรียนที่จังหวัดนครราชสีมาก็เช่นเดียวกัน เป้าประสงค์จริงเขาต้องการให้เป็นครูสอนดนตรีไทย แต่คุณวุฒิไม่พร้อมจึงต้องยอมบรรจุในตำแหน่งนักการฯ แทน
ที่ถามว่ายุคนั้นคนอีสานให้ความสนใจดนตรีไทยมากน้อยแค่ไหน ตอบได้ว่าน้อย น้อยมากครับ แน่นอนว่ายุคนั้นจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน มีทีวีช่องสี่ขอนแก่นเพียงช่องเดียวเท่านั้นที่ออกอากาศทั่วทั้งภาค ส่งตรงถึงบางส่วนของประเทศลาวด้วย เพราะฉะนั้นคนที่นั่นสมัยก่อนจึงรู้จักขอนแก่นมากกว่ากรุงเทพฯ ซึ่งโอกาสที่คนจะได้สัมผัสฟังงานดนตรีไทยดีๆ ก็ทางทีวีช่องสี่นี่แหละ วงดนตรีไทยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นบรรเลงงานสิบสองสิงหากับห้าธันวาเป็นประจำทุกปี นานๆ ครั้งถึงจะได้ฟังวงดนตรีไทยจากกรุงเทพฯ ยกวงมาบรรเลงออกอากาศสด
เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้วเกิดความคิดวิธีอย่างไรบ้าง
กิจกรรมหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นแวดวงดนตรีไทยในภาคอีสานได้เป็นอย่างดี คือผมริเริ่มจัดเวทีการประกวดดนตรีไทยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสมัยนั้นเป็นเวทีใหญ่อันดับหนึ่งในภาคอีสาน จัดมาพร้อมๆ กับการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่เจ้าภาพตัวจริงคือชมรมดนตรีไทยสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะสะดวกเรื่องงบประมาณ แต่ทุกวันนี้จัดในนามคณะศิลปกรรมศาสตร์แล้วล่ะ รวมถึงช่วงนั้นเรามีโครงการอบรมครูดนตรีไทยด้วย
ผมมีแนวคิดว่า การพัฒนาดนตรีไทยในระบบการศึกษาที่ภาคอีสานต้องทำให้ครบวงจร ผมจึงจัดการอบรบครู หมายถึงอบรมวิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้เขานำไปสอนลูกศิษย์ พอสอนลูกศิษย์แล้วเราจึงเชิญชวนเขาเข้ามาร่วมการประกวดอวดกันฟัง เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเห็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นเขาก็จะรัก ไม่มีทางที่เขาจะหนีเราไปไหน ถ้าเขาเลือกเรียนดนตรีเขาก็จะเลือกที่นี่
นอกจากนี้ นักศึกษาทุกคณะต้องได้เรียนวิชาสังคีตนิยมที่ผมสอน สนุกสนานกันมาก ทั้งคณะแพทยศาสตร์ทั้งวิศวกรรมศาสตร์เป็นพันคน แต่สิ่งที่ทำควบคู่มาโดยตลอดตั้งแต่แรกจนกระทั้งถึงทุกวันนี้ คือผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมดนตรีไทย สโมสรนักศึกษาฯ ด้วย เมื่อเสร็จงานสอนในชั้นเรียน ค่ำๆ ผมก็จะไปสอนปฏิบัติอยู่ชมรมดนตรีไทยที่นั่นแทบทุกวัน อาจารย์อีกท่านหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างมากในเวลานั้น ท่านสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ เข้ามาช่วยผมสอนขับร้องเพลงไทย คือรองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญณี แนรอท ลูกศิษย์ขับร้องของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ที่เล่าว่าวงดนตรีไทยมหาวิทยาลัยขอนแก่นบรรเลงออกทีวีช่องสี่ ก็เป็นผลงานบรรเลงของนักศึกษาในชมรมดนตรีไทยสโมสรนักศึกษาฯ นี่แหละ
อาจารย์เฉลิมศักดิ์เป็นอาจารย์สอนดนตรีเพียงคนเดียวที่เป็นคณะกรรมการในโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ถามว่าต่อสู้นานมากน้อยแค่ไหนกว่าวิชาเอกดนตรีและคณะศิลปกรรมศาสตร์จะเกิดขึ้นที่นี่ได้สำเร็จ
มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก่อน เพราะฉะนั้นการจะจัดตั้งคณะเพื่อทำการเรียนการสอนศิลปะนั้นคงไม่ง่าย ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เขามีพื้นฐานทางนี้อยู่แล้ว อย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ คนคุมบังเหียนย่อมต้องมีเชื้อทางนี้อยู่
มหาวิทยาลัยขอนแก่นโชคดีไม่ต่างมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีผู้บริหารเป็นคนวิทยาศาสตร์สายสุขภาพ พูดง่ายๆ ว่าหมอเขามีภูมิความรู้ทางด้านจิตวิทยาสูง ปี 2537 คณะศิลปกรรมศาสตร์จึงเกิดขึ้นในยุคที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีอธิการบดีเป็นหมอ แล้วชอบดนตรี ไม่น่าเชื่อว่าเป็นหมอคนคนเดียวกันกับที่ก่อตั้งงานดนตรีไทยอุดมศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ ซึ่งทุกวันนี้ตัวท่านเองก็มีโรงเรียนศิลปะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นด้วย ชื่อ ‘ฮักสคูล’ สอนทั้งศิลปะ ดนตรี และการแสดง
เมื่อสภาพความเป็นจริงของดนตรีไทยในภาคอีสานเป็นอย่างที่เล่า แล้วนักเรียนนักศึกษาเอกดนตรีช่วงแรกๆ ของโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นอย่างไร
แน่นอนว่าเด็กปี่พาทย์ภาคอีสานไม่ได้มาจากเด็กบ้าน เด็กบ้านหมายถึงเด็กบ้านปี่พาทย์ที่เขาฟูมฟักมาแต่อ้อนแต่ออก ที่นี่จึงเป็นเด็กโรงเรียนหรือเด็กชมรมดนตรีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากเด็กในกลุ่มเครื่องสายที่เรียนเพลงเฉพาะทาง ดังนั้นจึงไม่มีข้อแตกต่างระหว่างเด็กบ้านกับเด็กโรงเรียนเหมือนกับเด็กด้านปี่พาทย์ แต่เด็กปี่พาทย์มีกระบวนการเรียนรู้เพลงมากกว่า นานๆ ถึงจะมีเด็กจากวิทยาลัยนาฏศิลป์มาสอบเข้าเรียน เด็กปี่พาทย์ของเราจึงไม่แกร่งแข็งแรงมาตั้งแต่แรกเข้า แต่ทางเครื่องสายของเรานี่สุดยอด เพราะฉะนั้นวงดนตรีไทยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่บรรเลงออกมาแล้วลงตัวที่สุด คือวงเครื่องสายผสมวงปี่พาทย์ไม้นวม กระทั่งครั้งหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดประกวดวงดนตรีไทยระดับอุดมศึกษาประเภทวงเครื่องสายผสมวงปี่พาทย์ไม้นวมที่กรุงเทพฯ รางวัลชนะเลิศได้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เด็กภาคอีสานในสมัยก่อนถ้าอยากเรียนดนตรีไทยแล้วไม่ได้เข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ เมื่อไหร่ เราคือเบอร์หนึ่ง ทุกวันนี้กระแสการสอบเข้ารับราชการครูจะต้องได้วุฒิครู ด้วยความเป็นศิลปกรรมศาสตร์จึงมีข้อกำจัดด้านนี้ หลายคนเบนเข็มไปคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกหลายแห่งในภาคอีสานที่เขามีวุฒิ คบ. แต่ถึงอย่างไรก็ตามเด็กที่เข้ามาเรียนที่นี่ก็ยังเป็นเด็กเกรดเอ เพราะคำว่า ‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ สำหรับคนภาคอีสานมันเต็มอกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นที่เราประสบปัญหาและเห็นได้ชัดมากข้อหนึ่ง คือคนสมัครสอบเข้าลดน้อยลง แต่น้อยในที่นี้เรามีโอกาสคัดคนทุกปี นั่นหมายความว่ายอดคนสมัครมากกว่าเกณฑ์รับเรียน
นี่คือปัญหาของสาขาวิชาดนตรีในคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่ประสบกันทั่วประเทศ
เพราะเราไม่มีวุฒิครู แต่ความเป็นจริงคือเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักศึกษาสาขาดนตรีไทยที่จบไปล้วนไปเป็นครูแทบทั้งนั้น อีกสามสิบเปอร์เซ็นต์ไปตามสายวิชาชีพ เช่นหลายคนไปทำงานอยู่ภูเก็ตแฟนตาซี ทุกวันนี้พัฒนาตัวเองจนได้เป็นผู้จัดการใหญ่ หรือแยกตัวออกไปเป็นนักดนตรีอาชีพอยู่แถบโคราชก็หลายคน ซึ่งบัณฑิตดนตรีไทยทั่วทั้งภาคอีสานยังอยู่ในภาวะที่หางานได้ทุกคน ผมยังไม่เห็นว่าจะประสบปัญหาบัณฑิตล้นตลาดงาน แต่จบออกไปแล้วทำอะไรนั้นนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ขอเสริมเรื่องหลักสูตรดนตรี เมื่อเราเทียบกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ อย่างศึกษาศาสตร์ก่อนจบการศึกษาเขามีการฝึกสอน วิศวกรรมศาสตร์ไปฝึกงาน หรือแพทยศาสตร์ก็ไปฝึกงาน ศิลปะท้ายเทอมมีการแสดงผลงาน หลักสูตรดนตรีมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงจัดให้มีการแสดงดนตรีก่อนจบการศึกษา เป็นวิชาเรียน 5 หน่วยกิต ในลักษณะเปิดกว้างให้สาธารณะชนได้มีโอกาสได้ดูได้ฟัง ที่ไม่ใช่สอบแบบปิดดูกันเองฟังกันเอง ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมภาคภูมิใจ เพราะต้องย้ำว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเราถือเป็นหลักสูตรแรกๆ ที่วางแนวคิดอย่างนี้
หนึ่ง คุณต้องแสดงทักษะให้เกิดในการแสดงครั้งนั้น นักศึกษาทุกคนจึงต้องจบด้วยการสอบเดี่ยว สอง ต้องแสดงให้เห็นถึงผลงานการสร้างสรรค์ในเรื่องการประพันธ์เพลง สาม ต้องแสดงให้เห็นถึงการเป็นนักบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่ต้นจนจบการแสดงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เพราะฉะนั้นฤดูหนาวที่นี่ของทุกปีก็จะมีเทศการดนตรีตะวันตก ดนตรีไทย และดนตรีพื้นเมือง เกิดขึ้นพร้อมๆ กันด้วยฝีมือนักศึกษาล้วนๆ
นอกจากวางแนวคิดหลักสูตรและทำงานสอนวิชาดนตรีไทยที่คณะศิลปกรรมศาสตร์มาตั้งแต่ต้น ยังเคยดำรงตำแหน่งทำงานบริหารมาแล้วนานถึง 20 ปี ถามจากประสบการณ์ว่า งาน เงิน และคน อะไรบริหารยากที่สุด
‘คน’ คนแน่นอน แต่อย่าลืมว่าคณบดีก็เป็นคน เพราะฉะนั้นเราต้องบริหารตัวของเราเองให้ได้เสียก่อน การดูแลคนหมู่มากให้ทำงานไปด้วยกันให้ได้นี่สำคัญมากที่สุด ถ้าจุดนี้นิ่งแล้วทุกอย่างมันจะดำเนินไปเอง หลังจากที่เป็นคณบดีวาระแรกซึ่งพูดง่ายๆ ว่าเป็นคณบดีฝึกหัดเพราะอยู่ในระหว่างการค้นหา หลักคิดของผมอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไรให้เป้าหมายองค์กรสัมฤทธิ์ผล คณบดีจึงเป็นเพียงแต่ผู้รับใช้เชิงประสานงานอุดมการณ์มากกว่า เพราะฉะนั้นบุคลิกที่ผมจะไปแข็งกร้าวกับใครนั้นไม่มีแน่นอน
จุดหนึ่งที่สำคัญมากคือผมสามารถดูแลคณะให้มีความสงบเรียบร้อยด้วยดีเสมอมา ซึ่งไม่ใช่ง่ายนะครับ ทฤษฏีการบริหารก็เป็นเรื่องของทฤษฎี แต่การนำไปใช้ปฏิบัติจริงต้องอาศัยศิลปะคือไม่ตายตัว ผมเคยผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง วิทยากรเก่งระดับชาติ วันดีคืนดีวิทยากรท่านนั้นได้ไปเป็นผู้บริหารระดับประเทศ ผลออกมาคือเละไม่เป็นท่า หมายถึงตัววิทยากรเองก็ไปไม่เป็น บอกหมอไม่รับเย็บให้ไปนู่นเลย วัด ผมถึงบอกกับทุกคนว่า ‘ผมทำงานบริหารโดยบุคลิกครูดนตรีไทย’
ในยุคที่อาจารย์เฉลิมศักดิ์เป็นคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แน่นอนว่าผลงานตำรา งานวารสารวิชาการ และงานวิจัยของคณะย่อมเกิดขึ้นและได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี เพราะส่วนหนึ่งมีคณบดีเป็นนักวิชาการ ถามว่าทุกวันนี้เมื่อพ้นจากตำแหน่งงานบริหารแล้ว ยังมีโครงการในฝันที่ต้องการสานต่อให้สำเร็จบ้างไหม
เรื่องหนึ่งที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ยังไปไม่ถึงและต้องการทำให้สำเร็จ คือความเป็นนานาชาติในความหมายและในทางปฏิบัติที่แท้จริง ทั้งวารสารวิชาการนานาชาติ ประชุมวิชาการนานาชาติ และท้ายที่สุดคือหลักสูตรนานาชาติ
แล้วความหมายที่ไม่แท้จริงเป็นอย่างไร
แวดวงดนตรีในไทยเป็นนานาชาติแบบตั้งหลอก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เช่นประชุมวิชาการนานาชาติแต่ไปเชิญฝรั่งแถวพัทยามาหลอกร่วม ส่วนใหญ่ก็ใช้ฝรั่งแถวรัสเซียทั้งนั้น แบบเดียวกันอย่างนี้แล้วบอกว่าเป็นอินเตอร์ ประชุมวิชาการนานาชาติดูที่คนจัดงานไม่ใช่ดูที่เอาคนร่วมงานเพียงอย่างเดียว ต้องมีโซนยุโรป อเมริกา เอเชียที่ไม่ใช่ชาติอาเซียน ถ้าเจ้าภาพร่วมจัดงานมาจากหลายประเทศ แน่นอนว่าคนร่วมงานก็จะตามมาจากชาตินั้นๆ โดยอัตโนมัติ ท้ายที่สุดนานาชาติของไทยก็อยู่แถบนี้ เวียดนาม ลาว เขมร พม่า แล้วรู้ไหมที่เลวร้ายที่สุดนะ บางแห่งเชิญเขามาเพื่อจะทำโครงการหลอกกิน เพราะตรวจสอบสังกัดที่มาที่ไปของคนนานาชาติเหล่านั้นไม่ได้
เกณฑ์ประกันคุณภาพวัดความเป็นนานาชาติจากหัวเด็ก มหาวิทยาลัยเซียงเมี้ยง (ภาษาอีสาน ‘เซียงเมี้ยง’ แปลว่า ศรีธนญชัย) ต่างจังหวัดเยอะมาก อยากเป็นนานาชาติโดยขอให้คนเวียดนามมาเรียนปริญญาโททั้งชั้นสามสิบคน หัวนักเรียนต่างชาติกระฉูดเลย แต่คุยไปคุยมามีอยู่รายหนึ่ง ในทางพฤตินัยเขาจบแล้วล่ะ แต่ในทางนิตินัยยังไม่จบเพราะไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาเต็มคิวก็ใช้วิธีสอบหลอกเพื่อที่จะได้จบไปก่อนแล้วการดำเนินการทางนิตินัยทำขึ้นภายหลัง หลังๆ นานาชาตินี่มาจากจีนประเทศเดียวเลย เพราะปริมาณประชากรในประเทศเขามาก สุดท้ายเมื่อมาถึงเมืองไทยก็ไม่ได้มาเรียนหรอก มาหาลู่ทางธุรกิจทำกิน นี่คือความเป็นนานาชาติในความหมายที่ไม่แท้จริงของระบบการศึกษาไทย
ยกตัวอย่างงานประชุมวิชาการนานาชาติในความหมายที่แท้จริงให้ฟังได้ไหม
งาน ‘ไอซีทีเอ็ม’ (International Council for Traditional Music) เวทีประชุมวิชาการนานาชาติทางดนตรีที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก องค์กรภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การยูเนสโก้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างประเทศถึงเจ็ดสิบแปดสิบประเทศ โดยเจ้าภาพการจัดงานจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปแต่ละประเทศทั่วโลกทุกๆ สองปีเหมือนการจัดกีฬาโอลิมปิกทุกๆ สี่ปี แต่ระหว่างนั้นจะมีการจัดสตาร์ทดี้กรุ๊ป (Study Group) หลายครั้ง หมายความว่าคนกลุ่มเล็กๆ ในภูมิภาคจับกลุ่มความสนใจในเรื่องเดียวกันประมาณสิบกว่ากลุ่ม กลุ่มทวีปเอเชียจัดตั้งเมื่อหกปีที่แล้วที่เซาท์อเมริกา ซึ่งผมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งครั้งนั้นด้วย
งานนี้น่าภูมิใจตรงที่ว่าอย่างน้อยมีคนไทยไปร่วมทุกปี ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ เป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ไปร่วมงานนี้อย่างต่อเนื่อง อาจารย์อานันท์ นาคคง ก็เคยไปนำเสนอบทความ เรื่อง การเดินทางของเดวิด มอร์ตัน กับข้อมูลเสียงเพลงของคุณครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ผมจำได้ว่าเคยมีการจัดประชุมครั้งหนึ่งที่ประเทศคาซัคสถานมีคนไทยไปเสนอผลงานครั้งนั้นสามคน ปรากฏว่าคนไทยที่มาจากประเทศไทยคืออาจารย์เฉลิมศักดิ์ อีกสองคนเป็นคนไทยมาจากประเทศอังกฤษและเอมริกา คือ ดร.กฤษฏิ์ เลกะกุล กับ ดร.จิตตพิมพ์ แย้มพราย
ถามว่าบรรยากาศงานเป็นอย่างไร เหมือนกับเราไปเดินห้างสรรพสินค้า สนใจช็อปปิ้งกรุ๊ปไหนคุณก็เดินเข้าไปร่วมฟัง ห้าวันเต็มๆ ที่คุณจะได้อยู่กับกิจกรรมดนตรีตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่มทุกวัน บางคนนำเสนอเรื่องเจนเดอร์ทางดนตรีหรือเพศสภาวะกับดนตรี ส่วนใหญ่ผมจะสนใจงานวัฒนธรรมดนตรีกับการลงพื้นที่ภาคสนาม สามสี่เดือนที่แล้วไอซีทีเอ็นสตาร์ทดี้กรุ๊ปจัดที่ไต้หวัน เขาสนใจเรื่องหลักฐานประวัติศาสตร์ทางดนตรี ในจำนวนหลายๆ หัวข้อที่ชาวต่างชาติร่วมกันนำเสนอ ผมนำเสนอบทความ เรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ดนตรีราชสำนักล้านช้างกับสยาม หลักฐานที่ถูกลืม’
สังเกตว่างานวิจัยวิชาการของอาจารย์เฉลิมศักดิ์ส่วนใหญ่ไม่เคยทิ้งงานภาคสนามและดนตรีลาวเดิม
ส่วนตัวให้ความสำคัญกับงานภาคสนามมาก เพราะความรู้เกิดจากสนาม สนามเป็นครู เมื่อเกิดปัญหาให้ใช้หลังพิงสนาม ปัญหาของคนทำงานวิจัยส่วนมากคือลงสนามผิวเผิน การฝังตัวอยู่กับสนามหรือไปทำซ้ำๆ บ่อยๆ การเชื่อมโยงข้อมูลระดับจุลภาคถึงมหภาคย่อมชัดเจนขึ้น
ความจริงกระบวนการในการศึกษาดนตรีของอาจารย์สงัด ภูเขาทอง นั่นแหละ เป็นแบบมิวสิคโคโลจีส์ คือสตาร์ทดี้อินแอนด์อเบาต์มิวสิค (In music and about music) ศึกษาสิ่งที่มันอยู่ล้อมรอบดนตรี ไม่ใช่สนใจตัวดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่เป็นอเบาต์มิวสิคแทบทั้งนั้น คือวนไปรอบๆ ไม่ยอมแตะหัวใจดนตรี อย่าลืมนะครับว่าอินมิวสิคคนอื่นเขาศึกษาได้ไม่ลึกเท่าคนดนตรี เพราะมันทำความเข้าใจยากและซับซ้อน เขาจึงศึกษาสิ่งที่มันอยู่รอบๆ ดนตรีเท่านั้น คราวนี้คนดนตรีไปเห็นเขาศึกษาอย่างนั้นก็เอาตามอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าเราทำในสิ่งเดียวกันกับที่คนอื่นที่ไม่ใช่คนดนตรีเขาศึกษา อย่างนั้นเราก็ไม่ต้องไปเสียเวลาเรียนดนตรีใช่ไหม
ย้อนกลับมาที่ว่า ถ้าพื้นที่ภาคสนามหมายถึงประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ผมไปมาแล้วทุกประเทศ ประเทศละหลายครั้ง โดยเฉพาะประเทศลาวช่วงระยะเวลาสักสิบกว่าปีที่แล้วมาผมเข้า-ออกนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงจีนตอนใต้และพม่า ส่วนหนึ่งผลักดันลูกศิษย์หลักสูตรปริญญาเอกให้ไปทำงานวิจัยในพื้นที่นั้นด้วย เพราะยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ของมหาลัยขอนแก่น และในฐานะที่ผมมีพื้นฐานดนตรีปี่พาทย์ราชสำนักไทย จึงไปด้วยกันได้ดีกับการหันมาสนใจดนตรีลาวเดิม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับปี่พาทย์ไทย
แล้วเห็นอะไรในสิ่งที่คนอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสลงพื้นที่ภาคสนามแถบนี้ได้เห็น
ในภาพรวมประเทศไทยมีกระบวนการศึกษาดนตรีก้าวหน้ากว่าชาติอื่นๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง ก้าวหน้าในที่นี้หมายถึงมีวุฒิการศึกษาและสถาบันการศึกษาสนับสนุน อย่างประเทศลาวการศึกษาดนตรีในสถาบันการศึกษาของเขาจัดการเรียนการสอนสูงสุดเพียงแค่มัธยมเท่านั้น เทียบเท่าวิทยาลัยนาฏศิลป์ชั้นต้นของไทย หรือเทียบเท่าโรงเรียนมัธยมสังคีต กัมพูชาสูงสุดระดับปริญญาตรี เวียดนามสูงสุดระดับปริญญาโทหรือบางพื้นที่อาจถึงระดับปริญญาเอก ในฐานะที่เราเปิดสอนดนตรีถึงระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทั่วประเทศ วิธีคิดการศึกษาควรต้องกว้าง ลึก และเป็นสากลมากกว่าด้วย
สิ่งที่น่าเสียดายตรงที่ถึงแม้เราจะมีการศึกษาระดับสูงแล้วในระดับหนึ่ง แต่ผลจากการศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้นยังไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนมุมมองด้านดนตรีไทยในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมดนตรีร่วมในภูมิภาค ตัวอย่างง่ายๆ สังเกตว่าเรามีวิธีคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีที่แคบมาก ไม่ลืมว่าอิทธิพลวิธีคิดแบบเดิมค่อนข้างแข็งแรง บวกกับการเรียนการสอนดนตรีไทยนั้นสอนให้เชื่อ เชื่อง และท่องจำอยู่แล้ว เบ็ดเสร็จและขยับเขยื้อนไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะประวัติศาสตร์ดนตรีไทยเท่านั้น ประวัติศาสตร์ชาติภาพรวมของประเทศไทยก็เป็นอย่างนั้นด้วยเช่นเดียวกัน เราไม่สนใจประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านที่เขามองย้อนเข้ามาหาเรา แต่ก็ใช่ว่าการศึกษาของเขาจะเชื่อถือได้เสมอไป เพราะขณะเดียวกันที่ลาวเองก็อาจศึกษาประวัติศาสตร์ของเขาเช่นเดียวกับเรากระทำอยู่โดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ขยายความได้ไหม
เมื่อไหร่ที่ประเทศลาวเขามองมาที่เรา สายตาของเขาจะระแวงระวังเรามากเกือบทุกเรื่อง เพราะที่ผ่านมาเขาเป็นผู้ถูกเรากระทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะผ่านมุมมองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าคุณได้อ่านประวัติศาสตร์ดนตรีลาวหรือวิธีคิดนักวิชาการลาวเรื่องพัฒนาการดนตรีลาวเมื่อไหร่ เขาจะบอกชัดเจนเลยว่า ดนตรีลาวได้รับอิทธิพลมาจากเขมร ไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่บอกว่าได้รับอิทธิพลมาจากไทยเลย ซึ่งยึดอ้างข้อมูลตำนานนางแก้วธิดากษัตริย์เขมรตั้งแต่สมัยเจ้าฟ้างุ้มเป็นหลัก รายละเอียดมีมากและคงจบยากถ้าพูดอธิบายตรงนี้ แต่การศึกษาจะต้องไม่ใช่การศึกษาเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งแล้วสรุปตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างโดยภาพรวม
เช่นเดียวกันกับประวัติศาสตร์ดนตรีไทยกระแสหลักที่ไม่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักล้านช้างเวียงจันทน์กับสยามในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์กลายเป็นกบฏในสายตาของไทย ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าอนุวงศ์ท่านขอสามสิ่งจากเราในตอนนั้น หนึ่งในนั้นคือครูสอนละครดนตรีให้แก่ราชสำนักเวียงจันทน์ เห็นไหมว่ามันมีภาพความสัมพันธ์ทางเพลงดนตรีกันอยู่ แต่ความสัมพันธ์เหล่านี้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีไทยเพราะเราศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีแบบกระดาษหน้าเดียว ไม่ใช่ไม่พูด แต่คนดนตรีไทยไม่สนใจ พูดอยู่แต่เรื่องกำเนิดเพลงบุหลันลอยเลื่อนวนอยู่เพียงเรื่องเดียว
พูดง่ายๆ ว่าเราเรียนประวัติศาสตร์ดนตรีแบบม้าวิ่ง ปิดตาให้วิ่งตรงตามลู่โดยไม่สนใจมองไปโดยรอบ ประวัติศาสตร์สังคมกับดนตรีมันมีความสัมพันธ์กันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วล่ะ แต่คนดนตรีไทยนี่แหละที่ทำให้มันไม่เป็นธรรมชาติ อย่าไปแยกเขาออกจากกันก็เท่านั้น นอกจากสังคมไทยแล้วยังสัมพันธ์กับสังคมเพื่อนบ้านและสังคมโลกอย่างไร อันนี้ต้องเชื่อมให้ได้
ดูเอาเถอะครับ ประวัติศาสตร์ดนตรีไทยสมัยอยุธยาก็มีสูตรสำเร็จ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หนึ่งมีอะไร รัชกาลที่สองเกิดเสภา กลองสองหน้า เพลงบุหลันลอยเลื่อน รัชกาลที่สามเกิดระนาดทุ้ม เป็นสูตรสำเร็จรูป กระจายสอนท่องจำทั่วประเทศ คุณต้องสอนประวัติศาสตร์ให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ ถ้าไม่คิดวิเคราะห์มันก็อยู่ในรูปประวัติศาสตร์ความทรงจำ แน่นอนว่าประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่ชุดความรู้ที่เรียนกันอยู่ในชั้นเรียนมันอาจนำเสนอและไม่นำเสนออะไรบางอย่าง และอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป แล้วข้อเท็จจริงที่ว่าก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ดนตรีไทยจึงไม่ควรสอนให้ ‘ทรงจำ’ แต่ควรสอนให้ ‘คิด’ และไม่ควรสรุปในบางเรื่อง
มองว่าเป็นข้อสำคัญที่ควรปรับปรุง
สำคัญในฐานะที่เราบอกคนอื่นว่าเราก้าวหน้ากว่าเขา
ที่เล่าว่าสายตาเจ้าหน้าที่รัฐประเทศลาวมองเราอย่างระแวงระวัง ถามกลับกันว่าการเดินทางลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อศึกษาข้อมูลดนตรีลาวเดิมในช่วงแรกๆ เราต้องระแวดระวังเขาด้วยมากน้อยแค่ไหน
ตั้งต้นผมลงพื้นที่ภาคสนามที่ประเทศลาวมาตั้งแต่ปี 2537 ไม่ได้ไปแบบเป็นทางการอย่างทุกวันนี้ ผมใช้วิธีสังเกตในฐานะนักท่องเที่ยว ขืนไปศึกษาสุ่มสี่สุ่มห้าเป็นทางการอาจโดนจับ เพราะสมัยนั้นเขาห้าม แล้วที่ด่าน ตม. เขาจะเขียนเตือนคนไทยชัดเจนเลยว่า ‘ห้ามค้างคืนบ้านคนลาว’ นัยยะหนึ่งเขากลัวคนไทยไปปลุกปั่นคุยเรื่องสิทธิเสรีภาพทางความคิด นัยยะที่สอง ความเป็นอยู่หรือสุขอนามัยของเขาตอนนั้นค่อนข้างไม่สมบูรณ์ เขาเกรงคนไทยกลับไปพูดทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเขาเสียหาย ที่เขาระวังมากเพราะอย่าลืมว่า เราอยู่ในฐานะที่มีความก้าวหน้าในระบบวิธีการศึกษามากกว่า เพราะฉะนั้นเขาจะตั้งคำถามการไปของเราทุกครั้งในช่วงนั้นเสมอว่า มันจะมาทำอะไรอีกพวกนี้ ซึ่งพวกนี้หมายถึงคนไทย
เคยได้ยินข่าวไหมว่า ยี่สิบกว่าปีที่แล้วลือกันที่ประเทศลาวว่า เท่ห์ อุเทนพรหมมินทร์ เม้าท์ว่าแม่หญิงลาวสกปรก ปรากฏเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริงแต่เป็นข่าวโคมลอย ลือกันจนกระทั่งเจ้าตัวเข้าประเทศลาวไม่ได้สักพักใหญ่ อันนี้พูดถึงทัศนคติเชิงลบที่อยู่ในใจเขา เพราะคนไทยไปกระทำเขาเอาไว้มาก ปลุกกระแสเมื่อไหร่จึงขึ้นทันที ช่วงหลังมานี้ผมเข้าไปศึกษาได้สบายเพราะครูโรงเรียนดนตรีที่นั่นเป็นเพื่อนกันทั้งหมด แต่ใช้เวลาเข้าๆ ออกๆ นานพอสมควร ถึงได้บอกว่าต้องให้ความสำคัญกับสนามมาก เราไปสนามแบบสัญจรหรือไปเที่ยวแบบนักท่องเที่ยวไม่ได้ สนามที่เราไปเห็นบางทีอาจไม่ใช่สนามที่แท้จริงด้วยซ้ำ
นอกจากวิธีคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรี ความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมดนตรีในประเทศเขตลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอย่างไรบ้าง
เราเข้มข้นกว่าในเรื่องการศึกษาที่เรียกว่า อินมิวสิค คือดีด สี ตี เป่า แต่การศึกษาด้านพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงดนตรีของเราอย่างน้อย ในชีวิตนี้ได้เห็น เช่นระนาดเอกสมัยก่อนใช้ผืนไม้ไผ่บง ไม้ตีที่ใช้ก็ต้องไม่แข็งเกินไปด้วย เพราะผิวไผ่มันจะพัง ทุกวันนี้เปลี่ยนผืนไม้ไผ่ไปเป็นผืนไม้จริง ไม้ตีระนาดแกร่งแข็งยิ่งกว่าหิน ขณะเดียวกันที่เขมรยังใช้ไม้กระเทยอยู่ คือเบาและแข็งไม่มาก อีสานใต้ของไทยก็ยังใช้ไม้ในลักษณะเดียวกันนี้ รวมถึงปี่พาทย์ของลาวด้วย
เสียงระนาดของเขาถึงฟังไพเราะดังก้องไปไกล ไม่เหมือนเสียงระนาดไทยทุกวันนี้ที่ดังแง็งๆ ใกล้ๆ หมดกังวานความนุ่มนวล เพราะไม้ตีแข็งเกินความจำเป็นด้วยต้องการตีไหวตีเร็ว หรือการพัฒนาเทคนิคการบรรเลงที่แพรวพราวอลังการมากขึ้น ชัดเจนที่สุดคือการตีระนาดทุ้มในสมัยนี้เมื่อเทียบกับอดีต สิ่งเหล่านี้เราพัฒนาเข้มข้นกว่าเขามาก
ลาวเองก็ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ศิลปะเพลงดนตรีจึงขาดสะบั้น เขมรแม้บอบช้ำแต่ก็ยังดีกว่าในฐานะที่มีองค์กรทั้งที่เป็นของเขมรและชาวต่างชาติเข้าช่วยเหลือ คนเขมรที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศก็เริ่มหันกลับมาช่วยเหลือประเทศตัวเองแล้ว แต่ลาวไม่มีองค์กรช่วยฟื้นฟู ตัวอย่างง่ายๆ ทุกวันนี้ประเทศลาวไม่มีคนเป่าปี่ได้ ปี่ในเรานี่แหละ ยืนยันได้ว่าไม่มี แต่ต่อไปถ้าจะมีก็คือเขามาเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ดของเรา ระนาดเอกในโรงเรียนดนตรีของเขาก็เริ่มจะบรรเลงเดี่ยวได้บ้างแล้ว จากเดิมที่ไม่เคยมี อันนี้เพราะได้รับอิทธิพลละครโทรทัศน์ไทยเรื่องโหมโรง นี่คือธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับโขนพะลัก-พะลามที่ได้รับอิทธิพลเสื้อผ้าเครื่องประดับจากโขนไทย เดี๋ยวนี้ไปดูได้ ของเขาเริ่มแพรวพราวเหมือนไทยเราแล้ว สมัยก่อนเขาแต่งกายอีกแบบหนึ่งนะ เพราะเห็นของไทยสวยจึงเปลี่ยนตาม
คำถามสุดท้ายคือพอใจกับชีวิตและความสำเร็จที่ผ่านมาในวันวัย 58 ขวบปีนี้มากน้อยแค่ไหน
หนึ่ง พอใจมากที่มีส่วนสนับสนุนและได้เห็นพัฒนาการด้านดนตรีไทยในภาคอีสานมีมาอย่างต่อเนื่อง สอง เคยคุยกับลูกศิษย์ว่า ถ้าเปรียบชีวิตเป็นการค้าขาย จากนี้เป็นต้นไปเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลกำไร แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไปไม่ถึงและตั้งใจมากในอายุราชการต่อไปนี้ เหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่คิดว่าสำคัญและเป็นงานที่รัก ซึ่งที่ถามว่า ผมรักการเป็นนักดนตรี นักวิชาการ หรือผู้บริหารมากกว่ากัน บอกตรงนี้แบบไม่อ้อมค้อม ผม ‘รักงานวิชาการ’ ตำแหน่งสูงสุดในการบริหารองค์กรทางวิชาชีพก็เป็นมาแล้ว แต่งานวิชาการยังไปไม่ถึงจุดที่ตั้งใจ เพราะฉะนั้นผมจะยังไม่หยุดสิ่งนั้นไว้แต่เพียงเท่านี้
เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี
อายุ 58 ปี รองศาสตราจารย์ ดร. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บุตรคนเล็กของครอบครัวหนึ่งในจังหวัดนครนายก เติบโตในครอบครัวนักดนตรีไทยในจังหวัดปทุมธานี ศิษย์ดนตรีไทยของครูหน่าย ธรรมมิกะ ครูสุบิน จันทร์แก้ว และครูมงคล พงษ์เจริญ เคยขึ้นเวทีประชันวงปี่พาทย์มาแล้วร่วมกับนักศึกษาวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ ในแวดวงวิชาการดนตรีเขาเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของผลงานหนังสือดนตรีเอเชียหลายเล่ม ไม่ว่าเป็น ดนตรีอินเดีย ดนตรีจีน ดนตรีเอเชียตะวันออก ดนตรีเกาหลี ดนตรีลาวเดิม ฯลฯ
ทุกวันนี้ นอกจากทำงานวิชาการและรับผิดชอบสอนนักศึกษาชั้นเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชีวิตส่วนตัวยังชื่นชอบท่องเที่ยวภูเขา แม่น้ำ มีความสุขกับการจัดสวนตกแต่งภายในบริเวณบ้านที่ตั้งชื่อ ‘สาธุการ’ หยอกล้อและให้ความอบอุ่นกับแมวในปกครองอีก 3 ตัว คือ ข้าวทิพย์ ยักษ์ และข้าวปุ้น
[หมายเหตุ: สัมภาษณ์ครั้งแรกก่อนเที่ยงวันที่ 1 พฤศจิกายน 59 ม้าหินริมสระน้ำเลี้ยงปลาคราฟ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 2 เช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน 59 ห้องทำงานส่วนตัวชั้น 1 อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น]