ข้างหลังดวงจันทร์มีอะไรในดวงใจ เผยชีวิตสามัญนอกวงการน้ำหมึกของ ‘เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์’

ข้างหลังดวงจันทร์มีอะไรในดวงใจ
เผยชีวิตสามัญนอกวงการน้ำหมึกของ ‘เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์’
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[ภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลงานเขียนและสืบค้นไขปริศนาชีวิตครูดนตรีไทยบรรดาศักดิ์และสามัญชนของ ‘เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์’ นอกจากทุ่มเททำงานหนักค้นคว้าเอกสารเก่าใหม่ทุกหอสมุด เขายังเดินทางสัมภาษณ์นักดนตรีอย่างกว้างขว้างทั้งในเชิงพื้นที่และตัวบุคคล เก็บข้อมูลควบคู่กับการปฏิบัติปี่พาทย์ในฐานะลูกศิษย์และครูดนตรีต่างสำนักที่ไม่เคยแสดงตนในบทบาทนักเขียนนักวิชาการ แม้เป็นคนเก็บงำเบื้องลึกเบื้องหลังความรู้สึกและประสบการณ์ชีวิตที่มีความคิดสันโดษรักสงบเป็นที่ตั้ง หากแต่ในสนามข้อมูลเขาคือเสือนักถามที่ไม่เคยพลาดคำตอบ เป็นนักอธิบายความบนหน้ากระดาษผ่านถ้อยคำสำนวนภาษาน่าสนใจ

นายรัก ปิ่นช้าง หรือ ‘ลุงแดง’ โต้โผปี่พาทย์คณะ ‘สามัคคีดนตรีไทย’ คุ้นเคยกันมากกับอาจารย์เสถียรเพราะติดตามรู้เห็นกันและกันในหลายช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วยเหลือขับรถรับส่งเข้ากรุงเทพฯ ออกต่างจังหวัดเพื่อติดต่อธุระต่างเรื่องอย่างเสมอต้นปลายตั้งแต่เริ่มรู้จัก เล่า

“น้าเถียรผ่านหน้าบ้านใครแล้วต้องคุย ผมยังไม่กล้า แต่เขาทักถามไปเรื่อย อยู่ด้วยกันที่ลำปางนี่ไม่คุยเปล่า คุยบ้านไหนก็ไปจัดสวนหินให้เขาหน้าบ้านนั้น ปากคุยแต่มือจัด เพราะช่วงว่างแกจะหาหินบนเขาใส่ย่ามกลับลงมาด้วย ไม่รู้จักหรอก แต่ถามสารทุกข์สุกดิบ พื้นบ้านอาหารกินอยู่อย่างไร เชื่อไหม หลังน้าเถียรกลับจากเที่ยวลำปาง ทั้งหมู่บ้านสวยด้วยสวนหินที่แกจัด หมายความว่าไม่ได้ทำทุกหลัง แต่แต่งเป็นหย่อมบ้านโน้นบ้านนี้ ทีนี้บ้านข้างๆ เห็นสวยเลยทำตาม จากบ้านป่าธรรมดาร้อยกว่าหลังคาเรือน ชาวบ้านเลยตั้งฉายา ‘มหาหิน’ คือแกชอบเดินมาหาหินบนเขา ไปอยู่นครสวรรค์สร้างบ้านได้ทั้งหลัง

“ถ้าไม่ปรึกษากันเรื่องดนตรี วันทั้งวันแทบไม่คุย คำพูดคำถามเขาละเอียด สมัยพักกับผมที่บ้านบางขุนเทียน เช้าขึ้นต้องเดินไปหาครูบุญยงค์ เกตุคง คุยเหมือนลูกหลานในบ้านครึ่งค่อนวัน สมุดเล่มคอยจด ฝั่งธนฯ เข้าใจว่าน้าเถียรไปแล้วทุกวง ปทุม ปากเกร็ด สุพรรณบุรีหลายบ้าน เพชรบุรี อยุธยา แล้วที่ผมไม่รู้อีก จบเรื่องหนึ่งเขาถึงเข้าบ้านกลับมาป้อนข้อมูลลงคอมพ์สักครั้ง อยู่บ้านไม่ถึงอาทิตย์ออกตระเวนอีก อย่างราชบุรีกับตาคลีกินนอนด้วยกันกับผม ได้เวลาอาทิตย์สองอาทิตย์ชวนแล้ว ‘พี่แดง เข้ากรุงเทพฯ ธุระกับผมหน่อย’ สองคนกับสุวรรณ โตล่ำ พอถึงกรุงเทพฯ ต่างแยกย้ายบ้านใครบ้านมัน”

นอกจากเป็นศิษย์ต่อเพลงปี่พาทย์และฝังตัวอยู่สำนักครูรวม พรหมบุรี จังหวัดราชบุรี นานนับสิบปี จนเป็นที่ศรัทธากล่าวขวัญถึงขุมคลังปัญญาเพลงเรื่องเพลงช้าที่เขาฝักใฝ่สะสม ทั้งช่วยงานช่างสำนักกลิ่นบุปผาและพำนักอยู่บ้านลาวบางไส้ไก่กระทั่งสำเร็จวิชาช่างขลุ่ยไทย อาจารย์เสถียรยังรับเชิญเป็นครูหัดดนตรีถ่ายทอดทางเพลงแก่คณะปี่พาทย์ที่มีความสัมพันธ์เครือข่ายกับสำนักครูรวม ทั้งคณะกุหลาบเมาะรำเริงบรรเลง จังหวัดราชบุรี คณะผู้ใหญ่ประจวบ บุญมาสูงทรง จังหวัดนครปฐม หรือวงปี่พาทย์เก่าแก่คู่ตำบลตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อย่างปี่พาทย์คณะแก่นจันทร์ ที่เขาใช้ชีวิตเป็นโต้โผคุมคนคุมเครื่องรับงานปี่พาทย์ที่นั่นเป็นเวลากว่าเจ็ดปี

นายสิทธิชัย ศิริผ่องแผ้ว ครูดนตรีโรงเรียนราชวินิตบางแคปานขำ ศิษย์ในบ้านที่ต่อเพลงปี่พาทย์ไทยมอญกับอาจารย์เสถียร ตั้งต้นตั้งแต่อยู่จังหวัดนครปฐมและเดินทางตามไปรับใช้ใกล้ชิดถึงจังหวัดนครสวรรค์ เล่า

“ชีวิตส่วนตัวเขาไม่ค่อยบอก บางทีเล่าปัดไปพาลจะโดนดุ ครั้งหนึ่งที่โรงเรียนตาคลีประชาสันต์ ประจำอำเภอ ครูห้องสมุดปรึกษากับครูเสถียร ว่าจะเชิญใครมีชื่อเสียงมาร่วมงานโรงเรียน เพราะเขาใช้เด็กที่บ้านช่วยจัดงานเป็นประจำ ปรากฏเป็นใครรู้ไหมที่มา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คนที่นั่นตะลึงมาก ว่าเขาไปรู้จักกันได้อย่างไร ครูปี่พาทย์ชาวบ้านกับนักเขียนระดับประเทศ แต่ก็เฉยไม่ยอมบอก ไปไหนมาไหนใส่กางเกงสามส่วน สวมเสื้อลายสก็อตผ้าขาวม้าคาดพุง ก่อนซ้อมให้เด็กขุดมันสำปะหลังเผาไฟ ซ้อมเสร็จนั่งล้อมกันกิน บางทีเงินร้อยเดียวซื้อข้าวเลี้ยงทั้งวง นี่คือความสมถะของครู”

เป็นความจริงว่า แม้อาจารย์เสถียรจะเคยเสียทีให้โชคชะตาเพราะพลาดโอกาสเข้าศึกษาในรั้วสถาบัน หากแต่เขาใช้เป็นแรงขับผลักดันส่งลูกศิษย์ดนตรีปี่พาทย์ในความเกื้อกูลถึงฝั่งฝันใบปริญญา ที่ทุกวันนี้หลายท่านมีหน้ามีตากระจายตัวทำงานสังกัดหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ตั้งแต่กรมศิลปากร วงเทศบาลกรุงเทพมหานคร อาจารย์มหาวิทยาลัย ครูประถมมัธยม วิทยาลัยนาฏศิลป และนักดนตรีอาชีพ โดยเฉพาะเคยชุบชีวิตเยาวชนติดยาเสพติดในชุมชนท่าเสา อำเภอเมืองราชบุรี ด้วยใส่ใจนำมาบำบัดโดยการชักชวนให้เล่นดนตรีไทยอย่างประสบความสำเร็จมาแล้วหลายคน

นายพงศ์พันธ์ เพชรทอง หรือ ‘อ้น เพชรจรัสแสง’ ดุริยางคศิลปินอาวุโส กลุ่มดุริยางค์ไทย สังกัดสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ศิษย์เก่าวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช เจ้าของรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รายการ ‘คนไทยขั้นเทพ’ และแข่งขันในรายการ ‘ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์’ ได้รับแรงบันดาลใจไฟฝันและโอกาสจุดตั้งต้นทำโชว์ดนตรีไทยร่วมสมัยพร้อมความช่วยเหลืออื่นจากอาจารย์เสถียร เล่า

“สองปีเรียนกับพี่เถียรที่บ้านลุงแดง มันส์มาก ซ้อมเพลงกับแกตั้งแต่เช้ายันตีสี่ กลับจากมหา’ลัยทุกวันแกต้องนั่งดักรอหน้าบ้าน ไม่สามารถหลบได้ เพลงเรื่องสามสิบกว่าเรื่องพี่เถียรเป็นคนต่อ ระหว่างที่นั่งประกบอยู่อย่างนี้ แกจะเป็นกุนซือวางแผนชีวิต สอนวิธีคิดวิธีพูด วิสัยทัศน์หรือการมองคน พูดง่ายๆ ว่าตอนนั้นพี่ยังไม่มีจินตนาการ มีแต่ความบ้าระห่ำที่จะไปข้างหน้า หากสงสัยอะไรในหลายเรื่อง ยกหูโทรหาพี่เถียรกระจ่างหมด จำได้นอนบ้านลุงแดง วันนั้นเงินในกระเป๋าไม่มี มองลูกมะพร้าวแก่ว่าจะผ่ากิน อยู่ๆ พี่เถียรเดินมาจากไหน ‘มึงเอาเงินไปซื้อผัดกระเพราไข่เจียวกับโค้กถุง’ โห สวรรค์เลย

“ก่อนเป็นเพชรจรัสแสงอย่างที่ทุกคนเห็น โชว์แรกเพราะพี่เถียรประสานให้ งานมติชนธีมท้าวฮุ่งขุนเจือง แล้วทุกอย่างก็ต่อยอดจากตรงนั้น ทั้งทัวร์บริษัทเบียร์สิงห์ทั่วประเทศ ชุด ‘เภรีก้องหล้า เทพเทวาแซ่ซ้อง’ หรือไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ แกเป็นที่ปรึกษาทั้งหมด รวมถึงกลอนที่ใช้ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง แต่งไวแต่งคมแล้วดี ยกตัวอย่าง ‘นาคาอวยชัย’ ที่พี่เถียรแต่งให้สำหรับใช้แข่งรายการคนไทยขั้นเทพ

“สิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ดเสร็จพรรษา เทพนาคาสาธุการบันดาลฉลอง เลื้อยระบำรำเต้นละเล่นกลอง นาคคะนองสองฝั่งโขงโยงอัคคี สำแดงตนพ่นพิษผ่านบาดาลพิภพ สยามสยบเคารพนิยามงามดิถี บวงสรวงฤิทธิ์พิษนาคาเพลิงนาคี แผ่นปฐพีดีอุดมสุขสมบูรณ์”

ขณะเดียวกันอาจารย์เสถียรยังเคี่ยวเข็ญพิสูจน์ตนเองในโลกค้นคว้าวิชาการและแวดวงการน้ำหมึก ลับคมปัญญาความคิดและเรียนรู้ขั้นตอนทำงานเขียนจากสำนักบ้านช่างหล่อ เป็นผู้สื่อข่าวมีบทความตีพิมพ์ลงหนังสือศิลปวัฒนธรรมและถนนดนตรีตั้งแต่ยังไม่ปลดประจำการเป็นพลทหารที่จังหวัดราชบุรี เป็นแฟนเพลงช่วยงานจิปาถะที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เข้าออกหอสมุดแห่งชาติเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความรู้ที่ตนสนใจด้วยการอ่านซ้ำและย้ำข้อมูลตั้งแต่อายุไม่ครบบวช กระทั่งต่อมาฝากงานเขียนสารคดีชีวิตครูดนตรีไทยที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้หลายชิ้น

โดยเฉพาะเรียบเรียงชีวิตระหกระเหินของคตีกวีสยามแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ : ระนาดไข่มุกหล่นบนจานหยก สุพจน์ โตสง่า “ระนาดน้ำค้าง” ลมหายใจไม่ยอมแพ้ หรือครูรวม พรหมบุรี ระนาดน้ำผึ้งแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ประกาศศักดิ์ศรีนักประวัติศาสตร์ดนตรีไทยที่ถึงแม้จะไม่เคยผ่านการศึกษางานวิจัยในระบบ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล หนึ่งในแบบอย่างการทำงานที่อาจารย์เสถียรเคยเดินตามในฐานะผู้ช่วยวิจัยตั้งแต่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นชั้นมัธยม ชิ้นแรกคืองานนามานุกรมนักดนตรีไทยในรอบสองร้อยปีกรุงรัตนโกสินทร์ เล่า

“ขนาดหมอพูนพิศยังวิ่งไล่ตามในบางเรื่อง ถึงมาทีหลังแต่เขาก็แซงหน้าไปแล้ว ความเป็นต้นแบบคือละเอียดถี่ถ้วน ความรู้ความสามารถเก่งในการเจาะข้อมูล อันนี้ไม่มีใครเท่า ฉะนั้นบทความสยามสังคีตที่ผมเขียนลงสยามรัฐ เสถียรตามอ่านตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ไม่ทราบว่าเขาได้ตัดเก็บไว้หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเขียนถึงใคร เมื่อถึงเวลาก็ต้องถามเขา ซึ่งจะเสริมได้ว่าตรงนั้นตรงนี้ควรเพิ่มอะไร แต่เราก็ผูกพันกันด้วยรายการวิทยุกลางคืน คือรายการสังคีตสยามที่ผมจัด ตั้งแต่ทำงานอยู่โรงพยาบาลรามาฯ ทราบว่าเสถียรแอบฟังอยู่เสมอ เพราะสัญญาณมันกระจายไปถึงราชบุรี

“คนๆ นี้ลึกในทางประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ราชกิจจานุเบกษาสมัยไหนๆ เขาก็ตามไปอ่านแล้วทั้งนั้น เพราะเป็นมอดหนังสือ สำคัญที่สุดคือเขียนภาษาไทยแม่น ไม่มีพลาด แม้วิธีพลิกปากกาเขียนกลอนยังออกเป็นดอกดวง เป็นศิลปินแล้วยังเป็นวรรณศิลป์ด้วย คนอ่านเขารู้ว่ามันมีไฟอยู่ในนั้น ขนาดหม่อมราชวงศ์อรฉัตรยังออกปากชม ผมจำได้ครั้งหนึ่ง ว่าเคยซื้อคอมพิวเตอร์ยกให้เขาไปทั้งชุด รู้สึกเหมือนถวายของพระ คือมันเป็นมรรคเป็นผลจริงๆ เป็นเรื่องที่มีคุณค่าและเกิดประโยชน์มหาศาล ถามว่าการศึกษาสมัยนี้จะสร้างคนอย่างเสถียรได้อย่างไร ยากมาก”

อาจารย์เสถียรใช้ชีวิตวัยเด็กที่บ้านสวนริมคลองบางขุนศรี เติบโตเลี้ยงดูจากข้าวก้นบาตรของหลวงตาญาติสนิทที่วัดบางสะแกนอก หลงใหลนวนิยายจีนกำลังภายในที่มักจินตนาการเลิศลอยถึง ‘ปากกาวิเศษ’ เล่าอวดเพื่อนร่วมก๊วนฟังอย่างสนุกสนานตามประสาเด็ก หลังเดินทางท่องเที่ยวและย่ำไปทั่วทุกหนแห่งบนโลกยุทธภพดนตรีไทย ใน พ.ศ. 2549 อาจารย์เสถียรกลับบ้านเกิดและใช้ชีวิตส่วนตัวกับภรรยาที่เข้าอกเข้าใจวิถีทางศิลปิน อย่างคุณพรรณิภา สังวาลย์เดช นำประสบการณ์ความรู้ที่มีทำงานในอีกบทบาท คือเป็นนักวิจัยประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งรับเชิญบรรยายในชั้นเรียนและงานสำคัญของสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านดนตรี

คุณพรรณิภา สังวาลย์เดช คนจังหวัดนนทบุรี ผูกพันมากกับอาจารย์เสถียรตั้งแต่ พ.ศ. 2529 เล่า “เวลาทำงานของป๋าสวนทางกับชีวิตคนปกติ เช่นตีห้าพี่ลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัว แต่แกเพิ่งเซฟงานปิดคอมพ์ล้มตัวนอน วันหนึ่งกินกาแฟกี่ซองนับไม่ได้ กินตลอดต่างน้ำ กินน้ำเมื่อกินข้าวหรือร้อนหนักๆ ช่วงหัวค่ำพี่กลับจากทำงาน หาข้าวหาน้ำ แต่แกเพิ่งเริ่มเปิดคอมพ์ ถ้าติดพันบางเรื่องมากๆ ถึงขนาดไม่ยอมกินนอน เป็นคนใจเย็นแต่ทำสม่ำเสมอ อย่างตัดหญ้าตอนบวชพระ หลวงพี่ในวัดด้วยกันเล่า ยังตัดไม่ทันจะเสร็จแถว หญ้าที่เคยตัดไว้ก่อนหน้าแทงยอดอ่อนตามหลังมาติดๆ แล้ว

“ช่วงพักชอบดูหนังฝรั่งเก่า พี่ดูไม่รู้เรื่องกับเขาเพราะไม่มีซับไทย น้อยคนที่จะรู้ว่าป๋าพูดอังกฤษคล่อง อ่านนี่ไม่ต้องพูดถึง สมุดโน้ตบางเล่มยังจดเป็นภาษาอังกฤษ หลายครั้งพี่เคยตามไปช่วยเก็บข้อมูล ครั้งหนึ่งไปค้นประวัติครูที่คลองขุด นนทบุรี มืดแล้วล่ะ แต่สืบแน่แล้วว่าเป็นที่นี่ เที่ยวคุ้ยตามโกศรอบฐานเจดีย์ จนชาวบ้านเขาว่าเราไปขุดของมีค่า ผู้ใหญ่บ้านถือปืนมาเลย พี่ต้องเจรจาขอโทษบอกเจตนา บางบ้านมีแต่ผู้หญิงคนแก่กับเด็ก เห็นป๋าเข้าไปเขาไม่เปิดประตูรับหรอก ขนาดแสดงบัตร ป๋าอยู่กับสิ่งที่รักที่ทุ่มเทมาโดยตลอด ทั้งชีวิตไม่มีเรื่องอื่น นอกจากหนังสือ ความรู้ แล้วก็ดนตรีไทย”

นอกจากบทความด้านดนตรีวิทยาที่ตีพิมพ์ลงวารสารเพลงดนตรี ผลงานสำคัญที่สำเร็จเป็นรูปเล่มและอยู่ระหว่างการสืบค้นหลายชิ้นที่ควรกล่าวถึงของอาจารย์เสถียรในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าเป็น เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จากสาส์นสมเด็จ เพลงดนตรี : จากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ถึง พระยาอนุมานราชธน คณะนักเขียนหนังสือจดหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล บัญชีนามสกุลศิลปินข้าราชการดนตรีจากอยุธยาถึงรัชกาลที่ 5 ร้อยปีสกุลอมาตยกุล ความเป็นมากรมมหรสพรัชกาลที่ 5 ถึงสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ชีวิตและงานครูนาซซาริโอ ที่เดินทางไปศึกษามาแล้วถึงประเทศอิตาลี ประพันธ์คำร้อง ‘ภูมิใจภักดิ์รักพระราชา’ [ทำนองตระเชิญ] และประสานงานวงดนตรี ‘สารคดีเทิดพระเกียรติ เพลงสรรเสริญพระบารมี’

แม้อาจารย์เสถียรจะได้รับการยกย่องแต่เขาก็ไม่เคยถือตัววางท่าว่าเก่งหรือโอ้อวดคุณวิเศษสูงส่งของตนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามคือแสดงออกไปในทางอัธยาศัยนุ่มนวลถ่อมเนื้อถ่อมตนแม้หลายครั้งจะรู้แน่ว่าตนโดนเอารัดเอาเปรียบ ตรวจสอบความคิดและน้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เสมอ ทั้งพยุงรุ่นน้องนักวิชาการที่เดินตามรอยอย่างใจกว้างไม่กีดกัน หากจะมีข้อตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตของเขาอยู่บ้างก็เพราะปริศนาไม่ต่างดวงจันทร์ที่ไม่เคยเผยเงาอีกด้านให้ใครเห็น

*****************
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์
[ครูดนตรีและนักประวัติศาสตร์ดนตรีของไทย]

เกิดและเติบโต ณ บ้านเลขที่ 896/4 แขวงริมคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เกิดวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 บุตรนายสถิต อาชีพทำงานไปรษณีย์ แขวงสำเหร่ และนางสมบัติ [สกุลเดิม ธารีถ้อย] อาชีพครูโรงเรียนวัดเกาะ ในจำนวนพี่น้อง 8 คน คือ นายยุทธนา นางขนิษฐา [เสียชีวิต] นางผกามาศ นางผกากรอง นายเสถียร [เสียชีวิต] นางพรจันทร์ นายสันติ นายเกรียงไกร [เสียชีวิต]

สาแหรกเครือญาติที่สามารถสืบค้นได้ ปู่ชื่อเลา ย่าชื่อวิก คนมหาสารคาม ตาชื่อชวาล [อ้อน] อาชีพทำงานรถไฟ ยายชื่อเลื่อน ปู่ทวดย่าทวดฝั่งมารดาเป็นคนพระนครศรีอยุธยา อาชีพร่องเรือค้าขายผลไม้ [หมาก/มะพร้าว] ตาทวดยายทวดฝั่งมารดาเป็นคนคลองมอญ ธนบุรี อาชีพหมอรักษาโรคด้วยสมุนไพรและหมอตำแย

สำเร็จการศึกษาชั้น ม.ศ.3 โรงเรียนวัดปากน้ำฝั่งเหนือ สอบเข้าระดับชั้นปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรจุเป็นพลทหารกองร้อยที่ 3 กองพันทหารช่างที่ 52 สังกัดกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ค่ายภาณุรังษี 2 จังหวัดราชบุรี [เลขที่บัตร 94/27 ออกบัตรวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 บัตรหมดอายุวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529] เคยทำงานโรงงานกลึงเครื่องยนต์หัวจักรและซ่อมเครื่องโรเนียว เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช [อายุบัตรตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541] เป็นนักวิจัยประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล [บรรจุเข้าทำงานวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2550 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554]

เสียชีวิตวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 เวลาประมาณ 20.00 น. ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน สิริอายุ 54 ปี

สัมภาษณ์
ผกามาศ ดวงจันทร์ทิพย์. สัมภาษณ์. 20 พฤษภาคม 2560.
พงศ์พันธ์ เพชรทอง. สัมภาษณ์. 10 มิถุนายน 2560.
พูนพิศ อมาตยกุล. สัมภาษณ์. 30 พฤษภาคม 2560.
พรรณิภา สังวาลเดช. สัมภาษณ์. 11 มิถุนายน 2560.
ภานุวัฒน์ ไม้ทองงาม. สัมภาษณ์. 17 พฤษภาคม 2560.
สิทธิชัย ศิริผ่องแผ้ว. สัมภาษณ์. 8 มิถุนายน 2560.
รัก ปิ่นช้าง. สัมภาษณ์. 6 มิถุนายน 2560.
สุวรรณ โตล่ำ. สัมภาษณ์. 17 พฤษภาคม 2560.
อุดมศักดิ์ พรหมบุรี. สัมภาษณ์. 17 พฤษภาคม 2560.

[จากสูจิบัตรที่ระลึกงานพิธีไหว้ครูดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร]

เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ [ถ่ายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2526]

งานสายสัมพันธ์เจ้าพระยา พ.ศ. 2526 มหาวิทยาลัยศิลปากร [เจ้าภาพ] ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละโรงพยาบาลศิริราช ข้อความหลังภาพเขียนบันทึกด้วยลายมือว่า ‘บรรเลงที่สวนเเก้ว วังท่าพระ : ครูสมภพ ขำประเสริฐ ตีฉิ่ง ครูอุดม อรุณรัตน์ ซออู้ วงศิลปากรกำลังบรรเลงเพลงโหมโรงวชิรมงกุฏ คนเป่าขลุ่ยกำลังหลับตาหาทางพิสดาร’

เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ [ซ้ายด้านหน้า] สมัยทำงานโรงงานกลึงเครื่องยนต์หัวจักร

เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ กับลูกศิษย์ดนตรีปี่พาทย์ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ กำลังบรรเลงระนาดเอกทำเพลงเรื่องเพลงช้าที่เขาฝักใฝ่เรียนรู้มาตลอดชีวิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *