พินิจชีวิต ‘พินิจ ฉายสุวรรณ’

พินิจชีวิต ‘พินิจ ฉายสุวรรณ’
[สารคดีขนาดสั้นฉายภาพชีวิตนักปี่พาทย์และครูดนตรีไทยสามัญชน
ผู้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง [ดนตรีไทย] พ.ศ. 2540]

พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง
[วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

‘ไก่จะบินสำคัญที่คนเลี้ยง’ ข้อความสั้นๆ จากปากคำชมของครูหลวงประดิษฐไพเราะ [ศร ศิลปบรรเลง] ส่งผ่านครูเชื้อ ดนตรีรส ฝากถึงเด็กหนุ่มนักระนาด ‘สนม ฉายสุวรรณ’ จากท้องทุ่งอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยสายตาแหลมคมถึงแววความสามารถทางดนตรีปี่พาทย์ ที่ไม่ต่างเพชรน้ำดีต้องผ่านฝีมือช่างเจียระไนเหลี่ยมคมและวางประดับในที่เหมาะสมต้องกับแสง น่าสนใจว่า ต้นทุนความรู้ความชาญฉลาดของครูได้รับต่อเติมขัดเกลาจากครูท่านใดในอดีต ผ่านประสบการณ์ต่างหน่วยงานใดที่เปิดโอกาสให้สร้างงานอย่างถูกที่ถูกทาง

ก่อน ‘สนมระนาดเอก’ หรือ ‘พินิจ ฉายสุวรรณ’ กับถ้อยคำเปรียบเปรยในวันนั้นจะเป็นพินิจอย่างที่หลายคนรู้จักเช่นทุกวันนี้

– 1 –
ผีเสื้อและดอกไม้

หลังปักหลักทำกินพำนักอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2506 ครูพินิจ ฉายสุวรรณ ย้ายครอบครัวกลับภูมิลำเนาอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกครั้งในปี 2548 เป็นการกลับสู่อ้อมกอดบ้านเกิดเดิมในบั้นปลายอย่างสมสง่าภาคภูมิ พร้อมด้วยความสำเร็จสูงสุดหลายด้าน ทั้งฐานะเศรษฐกิจครอบครัว ชื่อเสียงการยอมรับ ผลรางวัลเกียรติยศ และลูกศิษย์บริวาร เป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษ นับตั้งแต่ก้าวย่างแรกที่ออกเดินทางเหยียบโลกดนตรีเมืองหลวงในปี 2484 ก่อนฝ่ายพันธมิตรบุกทางอากาศปล่อยระเบิดโจมตีทำลายสะพานพระราม 6 เป็นผลสำเร็จ

มกราคมต้นปี 2548 ปีเดียวกัน ครูพินิจลำดับจังหวะหนักเบาอย่างพินิจพิเคราะห์เป็นฉากตอนว่า “เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกเหมือนตกกระไดพลอยโจน แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อมา โดยเฉพาะเวลา 4 ปี ตอนนั้นที่พักอยู่บ้านพ่อขุนสมานเสียงประจักษ์ ท่านอาศัยอยู่กับแม่แนบเมียรอง ลูกแม่แนบคนหนึ่งกับลูกแม่เยื้อนเมียหลวงอีกสองคน เพราะพ่อขุนสมานฯ ท่านมีภรรยามาก ตอนนั้นไม่ได้ใส่ใจเรื่องภรรยาท่าน จึงลำดับไม่ได้ว่าใครเป็นใคร ลูกสาวท่านสามคนชื่อเล่นแป๊ว อู๊ด สมร แม่แนบไม่มีลูกผู้ชาย ท่านจึงรักใคร่ให้สิทธิ์เราเหมือนลูกคนหนึ่ง เครื่องดนตรีปี่พาทย์ในบ้านไม่มี มีแต่ปี่สก็อต

“สำคัญตรงที่ความเอาใจใส่ของพ่อขุนสมานฯ เพราะกลับจากกรมศิลปากรทุกเย็น ท่านไม่ให้เราว่าง ตามธรรมดาเช้าขึ้นกินข้าวเสร็จ ต้องหยิบไวโอลินไปหลังสวน สมัยก่อนแถวเจริญพาศน์ ฝั่งธนฯ บ้านท่านเป็นสวนทั้งนั้น ปัจจุบันคือซอยบ้านช่างหล่อใกล้ศิริราชนั่นแหละ ครูเข้าสวนคนเดียวกับแบบฝึกหัดหนึ่งเล่ม อ่านโน้ตสีไวโอลินคล่องแล้วต้องคัดให้ขึ้นใจ จบเล่มเก่าขึ้นเล่มใหม่ เขียนหมดแล้วต้องวนเขียนซ้ำอย่างนี้ทุกวัน เขียนไม่เขียนเปล่า ต้องร้องออกเสียงเป็นตัวโน้ตให้ได้ด้วย อันนี้ภาคบังคับ เหตุที่ไม่ลืมโน้ตสากลถึงทุกวันนี้ก็เพราะพ่อขุนสมานฯ ท่าน”

แม้ผิดความตั้งใจเดิมจากบ้านมหาราชที่คาดหวังเป็นนักเรียนปี่พาทย์กรมศิลปากร เพราะหลังฟังวิทยุกรมโฆษณาการประกาศข่าวกรมศิลปากรเปิดรับสมัครนักเรียนดนตรี ครูพินิจในวัย 10 ปี พร้อมครอบครัวและวุฒิการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดรุ้ง [วิบูลย์วิทยาคาร] จังหวัดอ่างทอง โดยสารเรือแดงสายแก้วนิลกาฬจากอ่างทองถึงท่าเตียนเพื่อสมัครเรียนตามข่าว แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะแท้จริงนักเรียนดนตรีในความเข้าใจ เป็นนักเรียนวงจุลดุริยางค์สากลตามโครงการ ‘สร้างนักดนตรีสากลให้กับกรมศิลปากร’

ครูพินิจเล่าจุดเปลี่ยนความสนใจตามคำแนะนำของขุนสมานเสียงประจักษ์ [เถา สินธุนาคร] ว่า “เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรบอก ไม่เปิดรับดนตรีปี่พาทย์ เปิดรับแต่เครื่องสายฝรั่ง ทีนี้จะทำอย่างไร ผ้าขาวม้าผืน เสื้อกางเกงสองชุด เงิน 14 บาท เสื่อจันทบูรทำกระเป๋า คิดกลับบ้าน สมัยนั้นเดินทางสะดวกที่ไหน พอดีลัดโบสถ์วังหน้าออกสนามหลวง เดินสวนพ่อขุนสมานฯ ท่านเป็นคนเสียงดังทักคนง่าย ถามที่มาที่ไปแล้วชวนไปพักด้วยกันกับท่านที่บ้าน ท่านพูดอยู่คำ ‘ดนตรีสากลก็มีประโยชน์ เพลงไทยเยอะแยะ อ่านโน้ตให้ได้แล้วกัน’ จุดนี้มาทราบภายหลัง ว่าพ่อขุนสมานฯ ท่านเป็นลูกครูสิน สินธุนาคร เจ้าของสำนักปี่พาทย์วัดระฆัง บ้านขมิ้น

“สำนักครูสินเป็นคลังใหญ่อีกแห่งในธนบุรี เพียงแต่ครูผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟัง ว่าที่นี่เป็นแหล่งชุมนุมครูปี่พาทย์ พระเพลงไพเราะ [โสม สุวาทิต] ครูมิ ทรัพย์เย็น ครูวิษณุคนเครื่องหนัง นายเริญคนระนาด โดยมากเข้าใจกันผิด ว่าครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ อยู่ฝั่งธนฯ ก็เหมารวมว่าอยู่วัดกัลยาฯ ฝั่งธนฯ จริง แต่สังกัดสำนักนี้ด้วย ที่พ่อขุนสมานฯ บอก ‘เพลงไทยเยอะแยะ’ ก็โน้ตสากลเพลงไทยที่บ้านท่านวางเป็นตั้งเต็มชั้น ลายมือสวยแล้วเขียนไว เท่าที่ครูรวบรวมปัจจุบันเป็นพันเพลง แต่คิดว่าที่นั่นมากกว่า เสียดายว่าตอนที่อยู่บ้านท่านครูยังเด็ก กว่าจะทราบเรื่องก็เข้าทำงานที่กรุงเทพมหานครแล้ว”

นักเรียนวงจุลดุริยางค์สากลแต่งกายสีกากีสวมหมวกหนีบ รับเบี้ยประจำเดือนตั้งต้น 7 บาท ในปีแรก และเพิ่มเติมขึ้นแต่ละปีถัดมา เป็น 14 บาท 20 บาท 24 บาท ช่วงเศรษฐกิจประเทศซื้อขายข้าวสารในราคาท้องตลาด 14 บาท ต่อเกวียน ครูพินิจยังรับหน้าที่จัดโน้ตเพลงเตรียมเครื่องดนตรีให้วงครูกรมศิลปากรก่อนแสดงทุกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รับงานพิเศษในฐานะนักดนตรีวงเครื่องสายฝรั่งประจำโรงหนังเฉลิมบุรี เขตสัมพันธวงศ์ ร่วมกับเพื่อนรักร่วมชั้นเรียนเวลานั้น คือ ครูสมพงษ์ โรหิตาจล ที่ทั้งคู่บรรจุเป็นนักดนตรีรุ่นแรกพร้อมกันที่วงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพมหานคร

ครูพินิจเล่าเพิ่มเติม “ครูโฉลก เนตตะสุต เวลากำกับวงเครื่องสายท่านยืนมือเท้าเอว ส่วนครูพระเจนดุริยางค์สีเพี้ยนไม่ได้ รำคาญหู ท่านวางไม้กำกับวงเดินหนีเลย หูเป็นเยี่ยม ซ้อมดนตรีอุปรากรในวังหลวง นักดนตรีสามเหล่าทัพร่วมร้อยคน สายไวโอลินขาดแป๊งเดียวยังได้ยิน ทีนี้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าลูกระเบิดลงตูมที่ไหน เจ้าแฟง สมพงษ์ โรหิตาจล ต้องไปสำรวจที่นั่น คอยวิ่งเหมือนนักข่าวมารายงาน ว่าลงที่ไหนตายเจ็บกี่คน เพราะช่วงนั้นระเบิดลงทั้งกลางวันกลางคืน ครั้งสุดท้ายลงสะพานพระราม 6 ยังยืนมองดู เช้ารุ่งขึ้นพ่อกับแม่รีบมารับตัวกลับอยุธยาเพราะเป็นห่วง จากนั้นก็ไม่ได้เข้ากรมศิลปากรอีก”

– 2 –
พนมไพร

ทักษะอ่านเขียนโน้ตสากลที่ครูพินิจได้รับช่วง 4 ปี จากกรมศิลปากร ต่อมาไม่เพียงใช้บันทึกโน้ตเพลงไทยช่วยจำส่วนตัวเพิ่มเติมจากวิธีทรงจำในสมองแบบเดิม หากใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ขุมคลังปัญญาสื่อสารกับโลกดนตรีอย่างเป็นระบบสากล ที่นับได้ว่า ครูพินิจเป็นครูดนตรีไทยสามัญชนเพียงไม่กี่ท่านในยุคร่วมสมัยเดียวกันที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ และแม้สงครามโลกครั้งนั้นจะยุติลงหลังเดินทางกลับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่นาน แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ชีวิตนักเรียนดนตรีปี่พาทย์นอกระบบการศึกษาในรั้วสถาบันได้ตั้งต้นขึ้นใหม่อีกครั้งที่มหาราชบ้านเกิด

ครูพินิจเล่า “วงปี่พาทย์อยุธยาอ่างทอง เรียกได้ว่ามีทุกย่านหย่อมหญ้า สร้างเครื่องตั้งวงแล้วส่วนมากมีนักดนตรีประจำวงไม่กี่คน เพราะต่างวงต่างถ่ายเทใช้นักดนตรีในพื้นที่ร่วมกัน วงนั้นติดก็หาวงนี้มาเสริมเอื้อเฟื้อ เพราะเขามุ่งทำมาหากิน หลักๆ คือสวดมนต์เย็นฉันเช้า โกนจุกบวชนาคเผาผี ทำลิเกละครโขนไม่ต้องพูดถึง ง่ายสำหรับคนยุคนั้น เพราะลีลาไม่มีอะไรมากที่ต้องเสริม โอด รัว เวลาเชิดก็ตุ๊งๆ ไป อย่างนี้เรียกเรียนภาคสนาม ถ้าเปรียบปี่พาทย์ภาคสนามก็เหมือนทหารหน่วยรบ รบในบ้านกับรบในป่ายุทธวิธีผิดกัน ทีหนีทีไล่ รู้กำลังข้าศึก ปี่พาทย์แต่ละวงมีทุนความรู้เท่าไหร่อันนี้ต้องทราบ

“ปฏิภาณเฉพาะหน้า การโกหกพกลมนี่ครูสอนในสนาม เพลงบางเพลงปี่พาทย์อ่อนหัด ลิเกส่งร้องแล้วจะรับอย่างไรให้กลมกลืน บอกเคล็ดวิธีในวงนี่แหละ ลิเกเริ่มร้องเอยคำแรก ถ้าปี่พาทย์ไม่ได้เพลงให้นับหนึ่งถึงแปด โดยมากเสียงลูกตกลงสี่กับลงแปด นึกในใจถึงแปดแล้วหักลง บางทีระนาดลงเสียงฆ้องลงเสียง คือไม่ให้เงียบ ถ้าเงียบรับไม่ได้มันอายคนดูเขา ปี่พาทย์โบราณถึงไม่กลัวจนเพลง เพราะจนแล้วได้ความรู้ โดยมากลิเกไม่ได้มือฆ้องก็นอยปากบอก มือไม้มาจัดหาทีหลัง กลับจากกรุงเทพฯ นี่รับงานด้วยต่อเพลงด้วย เพราะเครื่องปี่พาทย์เราเอง คนไม่มีก็หามาเสริม ช่วงว่างก็ได้อาศัยต่อเพลงบ้างอะไรบ้าง”

น่าสนใจว่า ตลอดเวลากว่าค่อนชีวิตที่ครูพินิจโลดแล่นมีชื่อเสียงในฐานะข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชั้นนำแนวหน้า อย่างมหาวิทยาลัยมหิดล ครูมักกล่าวยกย่องอย่างให้เกียรติภูมิใจอาชีพปี่พาทย์หากินอันเป็นภูมิหลังที่มาของตนเสมอ ใช้นามจริงและนามแฝง คือ ‘ปี่พาทย์หากิน’ ‘ปี่พาทย์บ้านนอก’ ‘ปี่พาทย์กรุงเก่า’ บอกเล่าประสบการณ์ปี่พาทย์ภาคสนามต่างจังหวัดที่ตนเคยสัมผัสคลุกคลีผ่านงานเขียนบทความและถ้อยคำในวงสนทนา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดตั้งต้นความสนใจเรียนรู้ดนตรีปี่พาทย์ของครูเกิดจากปี่พาทย์พิธีในงานโกนผมจุกตนเอง

ครูพินิจเล่า “จำได้ตอนนั้นพี่สาวเสีย เหลือครูคนเดียวเป็นลูกโทน พ่อแม่แบ่งขายที่ไร่ที่นานำเงินทำบุญทั้งหมด ถ้วยโถโอชามจัดถวายวัด สมัยนั้นนา 50 ไร่ ไม่ใช่น้อย เพราะคนแต่ก่อนไม่ได้โลภโมโทสัน มีที่ดินเฉพาะทำมาหารับประทาน ส่วนมากแปดสิบเปอร์เซ็นต์ฐานะพอกิน อีกยี่สิบตั้งหน้าตั้งตารวยกอบโกยจากคนจน ไม่ได้รวยด้วยลำแข็ง แต่รวยด้วยมันสมอง อาทิมีเงินชั่งสองชั่ง ใครยากจนแต่มีไร่นาก็บอกให้เขามาจำนำ ไม่มีต้นจะส่งก็ให้ผ่อนส่งดอกเบี้ยก่อน ดอกมากเข้าก็ถามกดดันจะเอาเงินต้นคืน ยังไม่ยึดทีเดียว ผลสุดท้ายดอกทบต้นก็ต้องโอนที่นาให้ อย่างนี้เรียกโกงมีมารยาท ไม่ใช่โกงกู้ร้อยแต่เขียนหมื่น โกงสนิท

“อายุสามขวบร่างกายไม่ปกติ เหมือนคนเป็นพุงโลก้นปอด รักษายาหม้อสมุนไพรเท่าไหร่ก็อย่างนั้น ทีนี้ย้อนไปตั้งแต่ก่อนโกนผมจุก หลวงพ่อวันสมภารวัดกลางทุ่ง อดีตเป็นเสือเรืองวิชาไสยศาสตร์ ได้ยินข่าวว่าครูเจ็บก็ให้ไปพบ เตรียมหีบระฆังไม้สักมีฝาปิด ผ้าขาวกว้างยาวเท่าตัวกับขมิ้นชัน พอไปถึงท่านอาบน้ำให้เหมือนอาบน้ำศพ เอาผงขมิ้นชันมาชโลมให้ทั่ว ผ้าขาวที่เตรียมไปก็เอามาแปะๆ ขมิ้นตามหน้าตาเนื้อตัว เสร็จแล้วเอาผ้าใส่หีบปิดฝาล็อคกุญแจ ท่านให้สังเกตนิมิตต่างๆ ที่หีบ ถ้าเจ็บไข้เพราะหีบมัวหมอง หรือมีฝุ่นจับให้ปัดกวาดทำความสะอาด แปลกว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็หายเป็นปกติ

“เด็กๆ ครูเลี้ยงวัวควายตามภาษา หน้าไถ่ไถ่นา ตกเย็นเอาควายลงน้ำแล้วเอาฟางให้มันกิน ลูกเล็กเด็กแดงสามวันดีสี่วันไข้ เขาจะปั้นตุ๊กตาไว้ผมทรงต่างๆ ให้เด็กจับ ผมแกละ ผมเปีย หรือผมโก๊ะ ครูจับได้ตุ๊กตาผมเปียก็ไว้เปียกลางหัว กำหนดโกนผมจุกเก้าขวบมีงานคืนกับวัน หาลิเกสีนวล กันสถิต มาแสดง ปี่พาทย์วงครูหลา ทรัพย์มุข มาทำเพลงประกอบพิธี ต้นเหตุอยู่ที่ครูหลาฝากเครื่องดนตรีไว้ที่บ้าน เพราะเสร็จงานแล้วท่านต้องข้ามไปทำปี่พาทย์ต่ออีกตำบล จำได้ระนาดผืนไผ่บง นึกสนุกอย่างไรไม่ทราบไปคลี่มาขึงตี ไม้ตีไม่มีก็ใช้ไม้ปิ้งปลาเสียบหลอดด้าย พ่อมาได้ยินเข้าเห็นว่ามีเชาว์ปัญญา ไม่นานก็ซื้อวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ให้หัด”

ครูพินิจจับมือตะโพนกับนายผัน กองโชค ต่อโหมโรงเย็นกับเจ้าของเดิมเครื่องปี่พาทย์สี่ราง ที่ขายให้ครอบครัวหลังงานโกนผมจุก คือหลวงพี่พร ใช้เวลาปีกว่าออกรับงานบรรเลงปี่พาทย์หากินพร้อมกับเรียนรู้เพลงดนตรีจากครูนักดนตรีในวง ไม่ว่าเป็น นายยอด พูลสมบัติ นายเหียน นายเอียง นายขาวครอกคนปี่ นายแหวงคนกลอง ก่อนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นนักเรียนวงจุลดุริยางค์สากล กรมศิลปากร และกลับมาทบทวนความรู้ดนตรีปี่พาทย์พร้อมกับรับงานบรรเลงอีกครั้งกับครูนักดนตรีชุดเดิม กระทั่งฝากตัวเป็นศิษย์นายทวนและนายเจ๊ก อ่อนละมูล

ครูสุจินต์ เฟื่องฟุ้ง คนมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการบำนาญ อดีตนักดนตรีรุ่นแรก [คนเครื่องหนัง] วงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพมหานคร และหัวหน้างานดนตรีไทย กองนันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร ผูกพันมากกับครูพินิจเพราะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและใช้ชีวิตรู้เห็นกันและกันในหลายช่วงเวลา เล่าว่า

“บ้านที่มหาราชอยู่กันเป็นกลุ่มสามหลัง ชั้นเดียวใต้ถุนสูง พื้นที่กว้างมีไร่นารอบ บ้านพินิจกับบ้านผมนอกชานบ้านเชื่อมติดกัน เพราะผมเป็นลูกพี่ชายแม่ของเขา อีกหลังหนึ่งเจ้าของบ้านชื่อนางฟัก แม้นทอง เด็กๆ แถวบ้านรุ่นนั้น พินิจจับหัดปี่พาทย์เป็นลูกวงเขาหมด มีผม นายเบิก แม้นทอง ทิดยูร นายจ้อนบ้านขวาง นายเงียบ นายไหว กลุ่มนี้เต็มวง สมัยก่อนเรียนปี่พาทย์ลำบาก ถ้าตีไม่ถูกลูก ครูเอาไม้ฟาดมือเข้าให้ ครูทวนครูเจ๊กบ้านเขาเป็นละครชาตรีด้วย ยายบางเจ้าของละครวัดจำปาหล่อ จังหวัดอ่างทอง ยังเอาเด็กผู้หญิงมาหัดที่นี่ คราวนี้ครูทวนนี่แหละ ที่พาผมกับพินิจไปฝากบ้านพ่อพริ้ง ดนตรีรส ไม่อย่างนั้นคงไม่มีวันนี้ และคงไม่มีโอกาสเข้าทำงานที่ กทม. ด้วยกันทั้งคู่”

– 3 –
ย่ำหอกลอง

พื้นฐานภูมิปัญญาครูพินิจเป็นคนเฉลียวฉลาดช่างสังเกตตั้งแต่เด็ก ไม่เพียงต่อเพลงฉับไวและจดจำมั่นคง หากแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าทางดนตรีได้ดีด้วยไหวพริบปฏิภาณอย่างกล้าได้กล้าเสีย ทั้งเวลาต่อมายังแสดงออกผ่านชั้นเชิงผลงานเรียบเรียงทำนองเพลงไทยจำนวนมากที่การันตีโดยผู้ฟัง และแม้เลขอายุจะก้าวล่วงเข้าสู่วัยกว่าแปดสิบปี หากแต่วันเวลาไม่มีผลกระทบต่อหน่วยความทรงจำที่ยังให้รายละเอียดต่างๆ อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเหตุการณ์ฉายแววความสามารถหลายครั้งในฐานะนักดนตรีประจำบ้าน ‘ดนตรีรส’

ครูพินิจเล่า “สุกดิบไหว้ครูบ้านบาตรปีหนึ่ง ข่าวลือว่าบ้านดนตรีรสจะจัดวงไปบรรเลง ครูสำรวย แก้วสว่าง อาสาตีระนาดเอกเอง ครูโองการ กลีบชื่น เป็นคนปรับวงจัดคน ถึงวันจริงชุดสี่คนบ้านดนตรีรสไม่ไปบรรเลงตามกำหนด ไอ้เราก็ไม่รู้เขาตกลงไว้อย่างไร สองคนกับสมพงษ์ นุชพิจารณ์ นัดไปฟังปี่พาทย์บ้านคุณครูหลวงประดิษฐฯ พอเดินพ้นกำแพงบ้านบาตรเท่านั้น เขาว่าบ้านดนตรีรสมาถึงแล้ว งงกันสองคนเพราะไม่รู้อีโหน่อีเหน่ จำไม่ได้ใครพูด บ้านดนตรีรสมาถึงต้องขึ้นบรรเลง ทีนี้วงอื่นเขาเตรียมพร้อมซ้อมเพลงกันเรียบร้อย วงครูช่อ อากาศโปร่ง ผู้พันเสนาะ หลวงสุนทร ตีระนาดโหมโรงชุมนุมเทวราช ครูช่อตีฆ้องเอง

“ตีเป็นตี คนเดียวสบายมากว่าอย่างนั้น โหมโรงไอยเรศ พม่าห้าท่อนไม่ได้ซ้อม คุณครูท่านให้เล่นพม่าเห่เถาแทน พอเสร็จเดี่ยวระนาดเอกแขกมอญท่อนละเที่ยว ทางพ่อพริ้ง ดนตรีรส ตีผืนระนาดเอกชื่อผืนจำปาของคุณครู หลังงานนั้นได้ยินข่าวแว่วๆ คุณครูบอกเราใจสู้ แต่เหนือวงอื่นอยู่แค่รัวประลองเสภา ยังดีว่าไม่แพ้เขาเสียหมด ตอนนั้นตีด้วยกำลังใจ เพราะเข้าออกที่ไหนไม่ค่อยประหม่า จริงๆ เคยไปตีที่บ้านบาตรก่อนหน้านี้ ลูกศิษย์คุณครูซ้อมพม่าห้าท่อน 6 ชั้น โหมโรงกันแล้วแต่หาคนทุ้มไม่ได้ก็ให้ไปช่วย บางคนถามว่านี่ได้เพลงกับเขาหรือเปล่า ไม่ได้ แต่มองลู่ทางออกก็รอดตัวไปงานหนึ่ง”

นับว่าการเดินทางเหยียบโลกดนตรีเมืองหลวงครั้งนี้เป็นไปตามตั้งใจ เพราะนอกจากต่อเพลงดนตรีและฝึกปรือฝีไม้ลายมือระนาดเชิงกลอนทั้งทางพื้นและทางเดี่ยว เป็นศิษย์ในบ้านก้นกุฏิรุ่นสุดท้องของครูพริ้ง และครูเชื้อ ดนตรีรส ครูพินิจยังต่อทางเดี่ยวระนาดเอกกราวใน เถา ทยอยเดี่ยว และอีกหลายเพลงสำคัญจากครูสอน วงฆ้อง ต่อมาความสามารถยังฉายแววเข้าตาครูหลวงประดิษฐไพเราะ ที่มักเอ่ยปากคำชมส่งกำลังใจและแผ่ความเมตตาผ่านลูกศิษย์ไปถึงครูพินิจเสมอ ไม่ต่างนายจรัล กลั่นหอม มือระนาดเอกบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ กับถ้อยคำเปรียบเปรยที่เคยได้รับจากคุณครูมาก่อนว่า ‘ไอ้เหลืองหางขาวตัวนี้ยังไม่มีใครให้น้ำ’

ครูพินิจเล่า “ครูเชื้อจัดเครื่องมอญไปช่วยงานศพพ่อครูช่อ อากาศโปร่ง ที่วัดพระพิเรนทร์ งานนั้นคนเครื่องผู้ใหญ่แข็งๆ ทั้งนั้น นอกจากเราฆ้องเล็กคนเดียวที่ยังเด็ก คนฆ้องตั้งเพลงก็ไม่นึกถึงคนฆ้องเล็ก จำได้เพลงมะละแหม่งยังไม่ได้ต่อ ซ้ำตกชั้นเดียวครูเชื้อยังให้เดี่ยวรอบวง ปี่ตั้งต้นเราฟังทำนองเที่ยวแรกออก ทีนี้ฟังระนาดอีกเที่ยวก็แม่นสิ ตกฆ้องใหญ่คิดทางฆ้องเล็กเสร็จ สวมรับจากฆ้องนึกอย่างไรไม่ทราบเที่ยวกลับได้ไขว้เลย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เพลง คุณครูนั่งฟังอยู่ในงาน ท่านว่าคนฆ้องเล็กไม่ได้เพลง แต่ทำไมตกเดี่ยวมันแม่น ถามหากับครูเชื้อว่าเด็กคนนี้ใคร ครูเชื้อว่าลูกบุญธรรมอาพริ้ง คุณครูพูดคำเดียว ‘ไก่จะบินสำคัญที่คนเลี้ยง’”

แม้ไม่ได้เป็นศิษย์ต่อเพลงโดยตรงกับครูหลวงประดิษฐไพเราะ แต่ครูพินิจยอมรับว่า ตนถือเป็นศิษย์ทางเพลงสำนักบ้านบาตรผ่านการถ่ายทอดของครูพริ้งและครูเชื้อ ดนตรีรส รวมถึงเพื่อนนักดนตรีศิษย์บ้านบาตรด้วยกันอีกหลายคน ช่วงเวลาเดียวกันครูพินิจยังท่องยุทธภพปี่พาทย์ประชันจนเป็นที่รู้จักและยอมรับในฉายา ‘สนมระนาดเอก’ เคยตีระนาดช่วยปี่พาทย์นายทองใบ กองโชค ประชันวงกับนายผวน กองโชค ที่วัดน้ำเต้าบ้านเกิด กระทั่งครูเผชิญ กองโชค บุตรนายผวนคิดอยากสึกจากผ้าเหลืองมาตีระนาดต้านทัพให้บิดาแต่ถูกห้ามปรามไว้มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะวีรกรรมปะทะฝีมือระนาดเอกกับนักเลงปี่พาทย์ประชันอย่างนายไก่ หรือนายสืบสุด ดุริยประณีต

อาจารย์เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เขียนเล่าในหนังสือ “สุพจน์ โตสง่า ‘ระนาดน้ำค้าง’ ลมหายใจไม่ยอมแพ้” ว่า “แน่นอนว่าคนที่เคยขับเคี่ยวมากับนายไก่ในอดีตนั้น ย่อมไม่ใช่มือระนาดชั้นพื้นๆ ที่มีอยู่ดาษดื่นมากมายในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่กลายเป็นครูคนสำคัญของสถาบันดนตรีมีชื่อเลื่องลือต่อมาแทบทั้งสิ้น และในบรรดานี้ก็มีครูพินิจ ฉายสุวรรณ แห่งวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร [วงเทศบาล] รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

“ครูพินิจคนนี้มีสายเลือดชาวบ้านทุ่งมหาราช อยุธยา อายุมากกว่านายไก่ 4 ปี ด้านวิชาฝีมือก็ถือว่ากล้าแข็งพอตัวไม่กลัวใคร ในเขตอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี แกก็ตีประชันจนลือลั่นมาแล้วตลอดทุ่ง สั่งสมความรู้จากครูต่างๆ ทั้งที่อยู่ทางหัวเมืองและกรุงเทพฯ ไว้มากทีเดียว กระบวนเพลงเดี่ยวและเพลงหมู่ก็นับว่าสู้กับนายไก่ได้ เท่าที่เห็นจะเป็นรองก็เพียงเรื่องของความไหวเท่านั้นเอง

“ส่วนเพลงหมู่แกรู้เท่าทันว่านายไก่มีจุดอ่อนตรงความใจร้อน ตีไหวแต่ไม่ถอนแนวคอยใครในวงเดียวกัน ถึงกระนั้นอาศัยความใจสู้ของแก ก็ยังเล่นเอาถูกขยำจนย่ำแย่ไปเหมือนกัน เคยประชันกันที่วัดเชิงท่า อำเภอเมืองลพบุรีครั้งเดียว แต่เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ทีไรแกก็ยังอดเสียวไส้ฝีมือของนายไก่อยู่ไม่หาย”

ครูพินิจเล่าเสริม “งานนั้นไปตีระนาดเครื่องมอญให้วงครูสำรวย แก้วสว่าง ไก่สืบสุดมากับวงอาเบี่ยง บุญเพิ่ม ลพบุรี พระฉันเพลวันชักศพ ครูสำรวยให้เดี่ยวลาวแพนแหย่วงอาเบี่ยงไปหน่อย ไก่มันนั่งรถไฟมาถึงก็เดี่ยวระนาดลาวแพนโต้กลับทันที ทีนี้ย่ำค่ำครูย่ำก่อน ครูสำรวยบอกเอ็งลองแหย่ไปอีกซิ พอเท่งทึงปะ ครูขยี้ประจำวัดตั้งแต่ต้นจนถอนออกเพลงเร็วกระทั่งจบ ไก่มันบอก ‘ไอ้นี่เอาไว้ไม่ได้แล้ว’ มันขึ้นขยี้ประจำวัดทับแนวเดิมที่ครูตี เพราะเขาไหวกว่าอยู่แล้ว พอขยี้รุกเข้าจังหวะมันก็เร็ว คนเครื่องตั้งรับไม่ทันเลยล้มไม่ถึงจบ

“ล้มแล้วเขาตีทยอยเดี่ยวทับเลย ตีทยอยเดี่ยวมาเราก็รับทยอยเดี่ยว ตีกราวในระนาดสองรางเราก็รับระนาดกราวใน ถึงม้าย่องเขาเล็งว่าเราไม่ได้แน่ แต่เคยต่อไว้แล้วเที่ยวเดียวกับสมพงษ์ นุชพิจารณ์ เห็นตัวอย่างเขาตีก่อนก็คิดได้เดี่ยวได้เดี๋ยวนั้น ตกพญาโศกครูกับเขาเดี่ยวรับสลับกันคนละเที่ยว ปีนั้นหน้าหนาว ยิ่งดึกยิ่งเย็นแต่ข้อยิ่งร้อน คนดูเขาว่า ‘นี่มันตีกันอย่างกับแมวจับหนู’ ตีเพลงเดี่ยวที่นิยมกันจนหมด ยากบ้างง่ายบ้าง ทีนี้ครูสำรวยอีกแหละ ท่านว่าเอานี่สิ จระเข้หางยาว แขกมอญบางช้าง เต่ากินผักบุ้ง แขกบรเทศ เดี่ยวยันสว่างคาตาต่างคนต่างเลิก เลิกแล้วมานั่งคุยกันไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไร”

– 4 –
หงส์พลัดฟ้า

นับเป็นเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 หลังครูพินิจสมรสกับนางสาวการะเวก อิศรัตน์ บุตรีกำนันปุ่น ตำบลบ้านขวาง อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมการมาถึงของทายาทหัวแก้วหัวแหวนในสายเลือดทั้งห้าตามลำดับ ตั้งแต่อรพัช ฐาณิตา วินัย นันท์นภัส และณัทชัย ที่นอกจากจะทำกินเป็นนักปี่พาทย์เดินทางขึ้นอยุธยามหาราชและล่องเข้ากรุงเทพฯ เพื่อช่วยงานบ้านดนตรีรส ครูพินิจยังจับคันไถทำไร่นาหาเลี้ยงครอบครัวควบคู่เพราะพิษเศรษฐกิจวิชาชีพปี่พาทย์ตกต่ำ แม้แยกทางเดินชีวิตจะมีทางเลือกทางรอดให้เผชิญไม่มากนัก หากแต่ดูเหมือนโชคชะตาจะจัดสรรวางเส้นทางอนาคตให้ครูแล้วอย่างลงตัว

ครูพินิจเล่า “ห้องแถวไม้บ้านพ่อพริ้งอยู่ถนนดำรงรักษ์ เชิงสะพานมหาดไทยอุทิศ หน้าบ้านหันเข้าคลองมหานาค ครัวหลังบ้านติดกับหลังบ้านครูสุ่ม ดนตรีเจริญ ครูไปทำปี่พาทย์ให้ละครยายหนอมเสาชิงช้าเป็นประจำ ไปบ่อยอีกที่คือบ้านกระถางซอยนานา เล่นดนตรีรับทัวร์ฝรั่ง ปีสองพันห้าร้อยปี่พาทย์บ้านนอกตกซบเซา ทางกรุงเทพฯ ตกก่อนแล้วล่ะ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านนิยมดนตรีสากล ปี่พาทย์ด้วยกันดันมาตัดราคารับงานสวดมนต์เย็นฉันเช้าเหลือร้อยห้าสิบบาท แถมทำลิเกฟรีอีกคืน ตัดสินใจจุดธูปเทียนลาครูอาจารย์ ลูกฆ้องแตกไปลูกเลยทำนาดีกว่า เหนื่อยหน่อยแต่รายได้ดี มือไม้เลยไม่ได้ท่องบ่นเพลงดนตรี

“ทีนี้วงปี่พาทย์ท่าหลวง อำเภอท่าเรือ เขาส่งคนมาตามให้ไปช่วย ช่วงนั้นค่อยหายใจทั่วท้อง รักใคร่สนิทสนมกันดีจึงตั้งชื่อคณะ ‘สี่ ส.ท่าหลวง’ แต่ก็ถูกทดสอบลองใจอยู่นาน ลองทั้งฝีมือความรู้นิสัยใจคอ ที่นั่นผู้หญิงสวยมาก ถึงยังหนุ่มมีเมียแล้วแต่ก็ไว้ใจไม่ได้ เพราะพวกปี่พาทย์ปากเปราะ ครูนั่งตีระนาดทำลิเก คนที่นั่นเขาว่า ‘อีหนูผู้หญิง มึงมีพัดก็พัดให้คนระนาดหน่อยสิวะ’ พัดให้ก็เย็นดี นั่งคุยกันสองคนกับพี่บุญยงค์ กล่ำบุญ คนระนาดลพบุรี ว่าถึงอย่างไรก็ตายเปล่า ประเภทจะมาหยั่งรู้นิสัยว่าเป็นคนอย่างไร ยาก เพราะพื้นเดิมไม่มี ไม่อย่างนั้นเสียคนตั้งแต่อยู่กับพ่อขุนสมานฯ แล้ว เพราะหากินขึ้นสายไวโอลินให้ระบำโป้ชั้นเจ็ดเยาวราช ตาหรั่ง เรืองนาม แกคัดของแกมาสวยๆ”

นางสาวอรพัช ฉายสุวรรณ ข้าราชการบำนาญ โรงเรียนบดินทรเดชา [สิงห์ สิงหเสนี] บุตรสาวคนหัวปลีเล่าแรงบุกบั่นมานะของครูพินิจในฐานะหัวหน้าครอบครัวและบทบาทพ่อของลูกทั้งห้า ว่า

“พ่อสู้ชีวิตเพราะหาเงินทำงานหนักคนเดียว เรื่องในบ้านทั้งหลายทั้งปวงมีแม่เป็นคนจัดการ หนักหน่อยเพราะส่งลูกเรียนเอกชนสองคน แต่ไม่ถึงกับขัดสน เลี้ยงลูกไม่อดอยาก ยุคนั้นหลายเรื่องในสังคมยังไม่ตึงมาก ถ้ามีงานปี่พาทย์อย่างน้อยก็เจ็ดคืนเต็มที่ บางทีพ่อหายไปไม่กลับบ้านจนคนแซว แซวว่าพ่อคงไปมีแม่ใหม่ แต่พวกเราทราบดีว่าท่านไม่มีเรื่องนี้แน่นอน พ่อเป็นคนพูดน้อยตามแบบฉบับผู้ชาย นิ่ง การอบรมบ่มนิสัยลูกๆ จึงเป็นหน้าที่หนักของแม่ ท่านเริ่มพูดบ้างดุบ้างตอนอายุมากแล้ว โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ลูกเต้ามีงานทำก่อร่างสร้างตัวเป็นหลักฐาน”

หากแต่วิกฤตความทุกข์ยากครั้งนั้นต่อมาเป็นโอกาสตั้งต้นแสดงความสามารถบนเวทีรัฐราชการ เพราะ พ.ศ. 2506 ครูพินิจสอบเข้าทดลองงานเป็นนักดนตรีไทยรุ่นแรกของวงเทศบาลกรุงเทพมหานครและบรรจุเป็นข้าราชการวิสามัญในปีถัดมา เปลี่ยนแปลงวิถีความเป็นอยู่เดิมที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตอย่างไม่มีวันหวนกลับ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับกลุ่มนักปี่พาทย์ต่างวงที่ยังคงเหนียวแน่นตรงเส้นตรงวา ไม่เพียงชักนำนักระนาดฝีมือดีจากวงปี่พาทย์ท่าหลวง อย่างนายกฐิน วงษ์เชื้อ เข้าทำงานสังกัดเดียวกัน ครูพินิจยังออกเชื่อมโยงร่วมวงบรรเลงกับปี่พาทย์เอกชนเครือข่ายวงเทศบาลกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าเป็น ปี่พาทย์วัดพระพิเรนทร์ ปี่พาทย์ พ.นักระนาด ปี่พาทย์นายสมพล มันเทศ

ครูพินิจเขียนเล่าในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพครูพริ้ง ดนตรีรส โดยใช้ชื่อลงท้ายข้อความ ‘ส.ฉายสุวรรณ’ เนื้อหาสำคัญตอนหนึ่ง ว่า “สมัยที่กรุงเทพมหานครยังเป็นเทศบาล นายชำนาญ ยุวบูรณ์ เป็นนายกเทศมนตรี นายศิลป์ชัย ศิรินาม เป็นหัวหน้ากองการศึกษา นายภิญโญ บุญยรัตพันธุ์ เป็นหัวหน้าแผนก ได้ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งวงดนตรีไทย [วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่] ขึ้นหนึ่งวง เพื่อเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กในโรงเรียนสังกัดเทศบาล ทางกองการศึกษาได้ให้ครูสง่า ศศิวนิช เป็นผู้ติดต่อประสานงาน โดยมอบให้คุณพ่อพริ้ง ดนตรีรส เป็นผู้ดำเนินการจัดหานักดนตรีไทยและมอบตำแหน่งให้เป็นผู้ควบคุมวง [หัวหน้าวง]

“ข่าวการจัดตั้งวงดนตรีไทยของเทศบาลได้แพร่สะพัดไปทั่วพระนคร บรรดานักดนตรีไทยทั้งหลายทั้งในเขตพระนครและต่างจังหวัด ต่างก็มาหาคุณพ่อพริ้งแทบทุกวันก็ว่าได้ แต่ท่านก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธ เพียงแต่บอกกับบรรดานักดนตรีที่มาหาว่า ‘ให้เป็นที่แน่นอนเสียก่อน ตอนนี้ยังไม่แน่นอนอะไร’ ก็เพราะท่านต้องการเอาลูกศิษย์ที่ท่านได้อบรมสั่งสอนไว้ ซึ่งอยู่ตามต่างจังหวัดบ้างในกรุงเทพฯ บ้าง ที่ยังไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นฐานจะได้มีงานทำให้เป็นหลักฐานเสีย [เช่นผู้เขียนเป็นต้น]

“ท่านได้ให้ลูกศิษย์ [นายสมพงษ์ นุชพิจารณ์] ไปตามผู้เขียนมาเพื่อจะได้มีงานทำให้เป็นหลักแหล่งมั่นคงเสียที ไม่ต้องไปทำไร่ไถนาใช้ชีวิตตรากตรำ โดยไม่ได้ใช้วิชาทางดนตรีไทยที่ได้ร่ำเรียนไว้ใช้ดำรงชีพเลย ซึ่งในระยะนั้นผู้เขียนเปรียบเสมือนปลาที่อยู่ในบ่อกำลังจะขาดน้ำ คุณพ่อพริ้งท่านก็ได้จับเอามาปล่อยไว้ในสระใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยน้ำอันเย็นฉ่ำ จากนั้นชีวิตการครองชีพของผู้เขียนก็ค่อยๆ เริ่มมีความสุขตราบจนถึงทุกวันนี้”

เพียงเวลา 3 ปี นอกจากครูพินิจจะลงหลักปักที่มั่นสร้างที่พำนักหลังแรกในกรุงเทพฯ ได้ใน พ.ศ. 2509 ร่วมกับครูสุจินต์ เฟื้องฟุ้ง โดยอาศัยอยู่ย่านวัดไทร บางโคล่ เขตบางคอแหลม จากเดิมที่เคยใช้ชีวิตร่วมชายคาใบบุญครอบครัวครูพริ้ง ดนตรีรส ทั้งที่บ้านหน้าถนนดำรงรักษ์และซอยพระเจน ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน ปีเดียวกันครูพินิจยังรับตำแหน่งคนระนาดเอกและผู้ช่วยหัวหน้าวงคนใหม่ ไม่เพียงสร้างชื่อชั้นประกาศความกล้าแข็งวงเทศบาลกรุงเทพมหานครร่วมกับยอดฝีมือนักดนตรีขณะนั้น หากแต่มากกว่าเกียรติยศและเงินรายได้ประจำเดือนที่ได้รับ คือประสบการณ์ความรู้นอกตำราเรียนและแนวคิดทำงานประพันธ์เพลงไทยจากกุนซือใหญ่ในวง อย่างครูบุญยงค์ เกตุคง

อาจารย์เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เขียนเล่าในหนังสือ “ชีวิตระหกระเหินของคีตกวีสยามแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา บุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ : ระนาดไข่มุกหล่นบนจานหยก” ว่า “ความหมกมุ่นกังวลในเรื่องเพลงของครูบุญยงค์นั้น เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งที่ไปงานปี่พาทย์แล้วต้องนอนค้างคืนเพื่อทำต่อในเช้าวันรุ่งขึ้น คืนนั้นครูก็ดื่มเหล้านั่งทำเพลงแล้วคุยกับพวกนักดนตรีภายในวงไปจนถึงดึกดื่น แล้วก็เลยม่อยหลับไปในวงปี่พาทย์ อีกด้านหนึ่งของวงก็มีครูพินิจ ฉายสุวรรณ เมาหลับพับอยู่เช่นกัน

“พอใกล้สว่างตอนเช้ามืดก็มีคนได้ยินเสียงครูบุญยงค์กับครูพินิจส่งเสียงเถียงกันดังๆ พอลุกขึ้นมาดูก็เห็นว่า ครูบุญยงค์นั้นนอนละเมอพูดออกมาว่าเพลงนั้นมันจะต้องมีทำนองไปอย่างนี้ๆ จังหวะต้องเป็นอย่างโน้นๆ ข้างครูพินิจเองก็ตะโกนออกมาเรื่องเพลงเหมือนกัน แต่เป็นคนละเพลง พูดทำนองคล้ายๆ กัน ถ้าไม่ลุกขึ้นดูก็นึกว่าสองคนกำลังถกเถียงกันเรื่องเพลง ไม่รู้ว่าที่จริงนั้นนอนละเมอด้วยกันทั้งคู่”

ครูพินิจเล่าเสริมเพิ่มเติมความในใจถึงครูบุญยงค์ เกตุคง ว่า “เรียกว่าสนิทมากแล้วก็ทะเลาะกันมากที่สุด บางทีโดนตำหนิลุ่มๆ ดอนๆ แต่ถึงจะโกรธอย่างไรท่านก็ต่อเพลงให้ตามปกติ ถ้าวันไหนไม่หาไปงาน เช่นอัดเสียงหรือมีงานนอกแล้วไม่บอก วันนั้นจะรู้ทันทีว่าครูโกรธ ยกย่องครูบุญยงค์ท่านอย่างหนึ่ง อย่างเราต่อเพลงที่ท่านแต่ง สองคนกับมณเฑียร สมานมิตร ปรึกษาว่าลูกนั้นลูกนี้ไม่ดี ท่านเปลี่ยนให้ใหม่ทันที คือติแล้วไม่ถือโกรธ ครั้งหนึ่งท่านเคยถาม ‘ทำไมเอ็งไม่แต่งเพลงบ้าง รุ่นเดียวกับเอ็งเขาแต่งเพลงกันได้แล้ว’ พูดอย่างนั้นเราก็รับฟัง ย้ำอีกสองสามครั้งเป็นอันว่าต้องแต่ง เพลงแรกคือโหมโรงเทพเวหา ตีที่สังคีตศาลา เพลงที่สองสดายงค์ คนฟังบ่อยเข้าก็ติดตลาด

“ทีนี่มันมีพวกประจบสอพลอ พูดไปต่างๆ นาๆ หาว่าเราวัดรอยเท้าครูบ้าง ตีเสมอท่านบ้าง ฟ้องว่าเราเริ่มปีกกล้าขาแข็งเทียบชั้น อยู่ไปอยู่มาครูบุญยงค์ไม่หางานอีกแล้ว จังหวะวันว่างพอไม่มีใคร นึกขึ้นได้ก็เข้าไปถามปรับความเข้าใจ ว่าที่โกรธเพราะเรื่องแต่งเพลงใช่หรือไม่ แล้วคนๆ นั้นเขาไปฟ้องว่าอย่างไร ครูพูดกับท่านว่า ‘ต้นเหตุก่อนที่ผมจะแต่งเพลง ใครเป็นคนให้ผมแต่ง พี่ยงค์ใช่ไหม ผมเป็นลูกศิษย์พี่ยงค์ เพลงเข้าหูเข้าตลาดคนฟัง พี่ยงค์ไม่ภูมิใจหรอกหรือ’ ท่านพยักหน้ารับฟังเป็นอันเข้าใจกัน บอกเดี๋ยวกลางวันไปกินเหล้ากับพี่นะไอ้น้อง นี่ตัวอย่างแค่เรื่องเดียว

“ช่วงหลังต่อเดี่ยวระนาดกับท่านมาก เพราะเพลงหมู่เริ่มอิ่มตัว แรกๆ ยังไม่มุ่งเดี่ยว ไม่รู้จะไปเดี่ยวประชันกับใคร พญาโศกหกชั้นย้อนเกล็ด เวลาไล่ท่านว่า ‘อย่าตีเที่ยวสองเที่ยว พญาโศกต้องตีขึ้นลงแบบวัวล้อมคอก’ ระนาดรุ่นนั้นพอตกพญาโศกก็เกรงกันว่าเราทนกว่า ต่อพญารำพึงห้าเที่ยวไปตีที่สังคีตศาลา โหมโรงเทพเวหา พม่าห้าท่อนทางครูบุญช่วย ชิดท้วม เดี่ยวรับร้องพญารำพึง เดี่ยวแรกไม่ขอตีข้างวัดข้างวา ตีแล้วต้องตีถึงถิ่น เมื่อก่อนยังบอกท่าน คือเน้น ว่าพญารำพึงทางนี้ขอสงวนเฉพาะตัว ขึ้นหัวเพลงให้ใครคนอื่นเหมือนกันไม่ว่า แต่เนื้อในดำเนินทำนองห้ามเหมือน เพราะมองการณ์ไกลข้างหน้าอนาคต”

– 5 –
ตีหนังวังช้าง

ครูพินิจมีฝีมือพัฒนาและปัญญาแก่กล้าเพราะเป็นคนมุมานะขยันฝึกซ้อมและต่อเพลง แม้คู่ชกเชิงระนาดประชันสมน้ำสมเนื้ออย่างผู้ใหญ่ประเสริฐ สดแสงจันทร์ ที่ห้ำหั่นกัดฟันด้วยกันมาบนสังเวียนสนามปี่พาทย์ ไม่ว่าเป็น เวทีงานประจำปีวัดต้นสน จังหวัดอ่างทอง หรือประลองฝีมือครั้งสุดท้ายในงานประโคมศพมัคทายกจ่าทองอยู่ วัดปากเพรียว จังหวัดสระบุรี ‘สิงห์สามจังหวัด’ อย่างผู้ใหญ่ประเสริฐยังเคยประกาศก้องออกลำโพงในงานประชันปี่พาทย์ครั้งหนึ่งที่วัดรุ้งว่า ‘นักดนตรีที่มาจากกรุงเทพฯ ทั้งหมดวันนี้ ผมยอมยกให้พี่หนมคนเดียว’

ครูพินิจเล่า “ปี่พาทย์โบราณเขาประชันหลักความรู้ วงตั้งตั้งเพลงเสภากี่ท่อน วงประชันต้องเล่นเพลงเสภาตอบเท่านั้นท่อน อันนี้เรียกประชันท่อนเพลง คือแสดงภูมิรู้ว่าร่ำเรียนมามากน้อยแค่ไหน เขาหลบกันแต่ชื่อเพลงเท่านั้น ไม่ตีทับกันเพราะรักษามารยาท อีกอย่างคือหลบสำเนียงเพลง เช่นเล่นแขกตอบมอญ หรือเล่นลาวตอบเขมร ทีนี้เพลงท่อนเดียวจริงแต่กี่จังหวะ ชาวบ้านคนฟังไม่รู้ แต่นักดนตรีเขาหยั่งความรู้กันออก บางทีเอาคนฆ้องคนทุ้มมาตีระนาด ต่างวงก็ต่างอ่านว่าใครคนระนาดแน่ จนเลิกประชันแล้วยังหาคนระนาดไม่เจอ เพราะไม่ถึงคราวหนักหนาเขาไม่เอาคนระนาดตัวจริงออก อันนี้กุศโลบาย

“ฉะนั้นเพลงทุกเพลงมุ่งเรียนเก็บไว้เป็นดี เรียนกระทั่งเข้าออกวงการไหน เข้าไปแล้วก็แสดงภูมิรู้อย่างสง่าผ่าเผย ไม่ใช่หวาดระแวง อย่างครูเก็บเพลงฉิ่ง สองไม้เพลงเร็ว พอนำออกใช้ในวงการดนตรี เขาก็อึ้งว่าได้มาจากไหน ถามหากันว่าเพลงนั้นเพลงนี้ชื่ออะไร เพราะถึงเวลาสมควรเปิดก็ต้องเปิด ให้ทราบว่าเรามีภูมิปัญญานำเขาได้ ไม่อย่างนั้นลำบาก เพราะนักดนตรี กทม. รุ่นนั้นล้วนแล้วแต่หัวกะทิดีดดังเป๋งๆ อายุเท่ากันก็มี อายุมากกว่าเราก็มี รู้สึกว่าถ้ามีความรู้แล้วทีท่าหลายคนจะเปลี่ยน เปลี่ยนจากที่เคยเรียกไอ้มาเรียกเราพี่ ทั้งๆ ที่อายุเขาอาจมากกว่าเรา”

โดยเฉพาะใน พ.ศ. 2524 หลังครูพินิจขึ้นเป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพมหานครคนใหม่หมาดต่อจากครูบุญยงค์ เกตุคง ต้องนับว่าสถานการณ์คับขันในชีวิตทำงานรอดพ้นมาได้ด้วยทุนความรู้ที่ครูเก็บงำสะสมจากทั้งมหาราชบ้านเกิดและบ้านดนตรีรส อย่างคราวนำทัพประชันเพลงตับนางลอยกับปี่พาทย์คณะดุริยประณีต ณ สังเวียนวัดพระพิเรนทร์ และประชันปี่พาทย์ต่างเพลงกับคณะเดียวกันที่หน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตน์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือประชันในนามคณะวัดไก่จ้นกับปี่พาทย์ต่างวงที่หน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตน์ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ครูพินิจเล่าเหตุการณ์จับจ้องลองใจลองความรู้ความสามารถตนว่า “ฝีมือแพ้ชนะอยู่ที่ผู้บรรเลง แต่วงจะแพ้ชนะอยู่ที่ผู้ปรับ มวยถนัดออกหมัดซ้ายขวาต้องแก้ได้ ไม่ใช่เห็นคนระนาดไหวแล้วกลัว ไหวแล้วละเอียดถี่ถ้วนไหม เสียงระนาดสม่ำเสมอหรือเปล่า อย่างกฐิน วงษ์เชื้อ เขามีดีพอสมควร เรามาอบรมความฉลาดให้เขาทีหลัง ตอนนั้นลูกวงไม่มีใครได้เพลงตับนางลอย เราบอก ‘บ๊ะ เวลาซ้อมไม่ถึงสองอาทิตย์’ แต่ต้องรับด้วยศักดิ์ศรี กระทั่งหลายคนปรามาส ‘นี่มึงเอาหมูไปขึ้นเขียงชัดๆ’ เพราะรู้ว่ากฐินคนระนาดไม่เคยตีเพลงตับ ใครว่าอย่างไรช่าง ก้มหน้าก้มตาซ้อมที่วัดไทร บางโคล่ โดยกำหนดให้ตีอย่างไรต้องตีอย่างนั้น ทุกเพลงห้ามเปลี่ยน

“ถึงวันจริงครูบุญยงค์ไปนั่งฟังโน้น หายใจไม่ทั่วท้องเพราะกลัวเราพลาด ดุริยประณีตจับฉลากเป็นวงตั้ง ขึ้นวาไปแล้วจนถึงสร้อยเพลง ทางเปลี่ยนเราไม่ใช้ทางกรุงเทพฯ เราใช้ทางบ้านนอกตีเปลี่ยนให้คนกรุงเทพฯ ฟัง ทองย่อนสี่คำเปลี่ยนทั้งสี่คำ เขมรปากท่อ ถึงโอ้ชาตรีตกมาที่เราเปลี่ยนทั้งหมด ตีเนื้อทีเปลี่ยนที เปลี่ยนกระทั่งหรุ่มกับโอ้ปี่ตอนเบญจกายลอยไปท่าน้ำ แขกลพบุรีคำสองเราตีทยอยแขกใส่เลย ผู้ฟังไม่เคยได้ยินก็กระดากหู เลิกประชันแล้วครูบุญยงค์เดินยกแก้วเหล้ามาให้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรียบร้อยดี ผ่านงานนั้นมาได้ไม่มีใครท้าวิชาการอีก”

สำคัญมากว่า ช่วงเวลาคาบเกี่ยวก่อนหลังครูพินิจเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2534 ถือเป็นเวลาทองทำงานสมเกียรติฐานะตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพมหานคร เพราะไม่เพียงรักษามาตรฐานคุณภาพชื่อเสียงวงไว้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี หากแต่ยังเปิดพื้นที่สร้างงานดึงความสามารถนักดนตรีในวงให้แสดงออกได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งงานบันทึกเสียงออกรายการวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ หรืองานบันทึกเสียงเพลงไทยเก่าใหม่ร่วม 384 รายการ ในโครงการ ‘อนุรักษ์ดนตรีไทย’ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำหรับออกรายการวิทยุ ‘สังคีตภิรมย์’ ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ที่นับได้ว่า ผลงานดังกล่าวถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมดนตรีไทยร่วมยุคสมัย

นายรุ่งสรวง ทัพพันธุ์ คนบ้านรี จังหวัดอ่างทอง เจ้าของเสียงเครื่องตีและเสียงขับร้องรับปี่พาทย์ไทย-มอญ ที่ร่วมบันทึกเสียงต่างวาระกับนักดนตรีไทยวงเทศบาลกรุงเทพมหานคร ในความควบคุมของครูพินิจ เล่า

“กฐินเข้าไปช่วยครูประสิทธิ์ ถาวร เทียบเครื่องดนตรีที่บ้านซอยจรัญ 23 จากนั้นก็ทาบทามครูพินิจเรื่องอัดเสียงของจุฬาฯ ผ่านกฐินนี่แหละ ครูประสิทธิ์คุยกับครูพินิจว่า ขอหนักเพลงเรื่องเพลงช้ากับนางหงส์ ตอนนั้นมาช่วยครูประสิทธิ์กันหลายคน ทั้งอัดเสียงอัดวีดิโอ ครูบุญช่วย โสวัตร ครูสมาน น้อยนิตย์ คุณกรรชิต จิตระทาน เพลงที่อัดส่วนใหญ่ได้กันอยู่แล้ว ต่อเพิ่มเติมเฉพาะเพลงแต่งใหม่กับเพลงที่ยังไม่ได้ เพราะพวกผมเป็นเด็กนักดนตรีรุ่นเล็กยุคนั้น เข้ามาครูก็จับต่อเพลงเลย โดยมากอาบุหงา นาคพลั้ง จะร้องเพลงที่ครูพินิจแต่ง ครูเขียนเนื้อเองใส่ทำนองเอง มีหลายเพลงที่เขียนโน้ตให้อาบุหงามาต่อให้ผมร้องโดยเฉพาะ”

ช่วงเวลาเดียวกันครูพินิจยังสร้างงานประพันธ์เพลงไทยต่างประเภท ที่แสดงถึงความสุกงอมทางปัญญาความคิด ทั้งเพลงเรื่องเพลงช้าและเพลงเรื่องนางหงส์ ที่ต้องอาศัยทุนความรู้ของผู้เรียบเรียงเป็นสำคัญ หรือผลงานเพลงที่อวดทักษะการบรรเลงอย่างเพลงทยอยมอญ เถา ทั้งยังประพันธ์บทร้องด้วยตนเองอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากได้รับรางวัลดีกรีรองชนะเลิศอันดับหนึ่งและรางวัลชนะเลิศจากเพลงประพันธ์ใหม่ คือ กบเต้น เถา และร่มฉัตร เถา จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานเพลงหลายชิ้นของครูยังติดตลาดหูผู้ฟังและนักดนตรี ที่สำคัญอาทิ เพลงชุดตามรอยพระยุคลบาท พญาลำพอง เถา พม่าชมเดือน เถา

ครูชาตรี อบนวล คนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี อดีตหัวหน้าวงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพมหานครเป็นอีกท่านที่มีผลงานประพันธ์เพลงไทยออกแสดงสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ได้รับแนวคิดแนวทางการทำงานเพลงจากทั้งครูบุญยงค์ เกตุคง และครูพินิจ ฉายสุวรรณ เล่าทัศนวิจารณ์ว่า

“ครูพินิจเป็นคนไม่แสดงตัว นับถือครูบุญยงค์มากแต่เก็บในใจ ความสนิทสนมของทั้งสองท่าน พูดง่ายๆ คือ ท่านทานเหล้าด้วยกัน ครูพินิจบอกผมเสมอ หนึ่ง ทำเพลงกรออย่าลืมปรับมือฆ้อง สอง เพลงที่ทำต้องตีได้ทั้งไม้นวมไม้แข็ง อย่างพม่าชมเดือนก็ตีได้ทั้งไม้นวมไม้แข็ง เล่นกับเครื่องสายก็เพราะไปอีก โดยมากครูพินิจนิยมทำเพลงสำเนียงภาษา ครูบุญยงค์เคยบอก สำเนียงเพลงต้องทำออกมาให้ชัด ดูอย่างลิเกละครออกตัว ชัดเจนทั้งท่าทางรำการแต่งตัว คนดูก็ดูออกว่าตัวละครชาติไหน มอญ พม่า แขก ลาวเหนือหรือลาวอีสาน เช่นเดียวกับทำนองภาษาเพลงดนตรี ครูพินิจก็ได้รับแนวคิดนี้มาด้วยเช่นกัน

“ทยอยมอญนี่แกลับคมปัญญามาเต็มที่แล้ว เนื้อหามันพ่วงอยู่ท้ายยกศพนิดเดียว แกจัดการขยายเป็นลูกล้อลูกขัดไม่ให้ซ้ำ ถามว่าทยอยใหญ่ทำไมถึงไม่ค่อยมีใครทำ หนึ่ง ใช้ปัญญาความคิดมาก สอง มันหมดภาษาที่จะทำ เชิดจีน ทยอยญวน เขมรราช แขกโอดเลี่ยงไปแขกลพบุรี คิดว่าต้องแน่จริงๆ ถึงทำออกมาได้อีกอันหนึ่ง หรืออย่างเพลงลาวมีห้าเสียงหลัก โด เร มี ซอล ลา ถ้าครูพินิจทำจะใส่ทำนองครบทั้งเจ็ดเสียง สีสันมันจึงอยู่ในนั้น เดี๋ยวไปโดนเสียงนั้นเสียงนี้ แล้วย้อนกลับมาเสียงเดิม ละเอียด เพราะพวกนี้เขาคนระนาด ตีระนาดก็ต้องตีกลอนให้ทั่วทั้งผืน ฉันใดฉันนั้น”

– 6 –
สักการะ

เกียรติยศสูงสุดในชีวิตทำงานอย่างรางวัล ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ที่ครูพินิจได้รับแต่งตั้งใน พ.ศ. 2540 แน่นอนว่า ด้านหนึ่งครูเป็นที่ยอมรับในฐานะนักดนตรีที่ผ่านสนามจริงและนักประพันธ์ที่มีผลงานเชิงประจักษ์ หากแต่อีกด้านต้องไม่ลืมว่า ครูประสบความสำเร็จในฐานะผู้ถ่ายทอดหลักปฏิบัติผ่านความรู้เชิงวิชาการด้วยฐานวิธีคิดเป็นระบบ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ที่ทำหน้าที่อบรมครูในกรุงเทพมหานครจำนวนกว่า 30 โรงเรียน ฝึกหัดนักเรียนชั้นประถมศึกษาเพื่อขึ้นเวทีแสดงในงาน ‘ดนตรีไทยประถมศึกษา’ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 และอีกหลายครั้งต่อมา โดยมีนักเรียนและนักแสดงเข้าร่วมกว่า 500 คน

อาจารย์โกสุม บุญสร้าง ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ หนึ่งในผู้ร่วมอบรมดนตรีไทยกับกรุงเทพมหานครและครูพินิจ ตั้งต้นตั้งแต่ปีแรกที่สถานีวิทยุ ปชส. 7 สำนักงานสวัสดิการสังคม ใกล้วัดประยุรวงศาวาส เล่า

“ต้องพูดว่าคนที่ถ่ายทอดเก่งคือครูพินิจ ทำให้บรรดาครูที่ไม่เป็นดนตรีกลับไปสอนเด็กต่อได้ เพิ่งทราบความจริงเกี่ยวกับครูที่อบรมด้วยกัน ว่าตัวเขาเองเล่นดนตรีไทยไม่เก่งหรอก แต่เด็กที่โรงเรียนเขาเล่นดนตรีเก่งทุกคน เพราะถ่ายทอดตามแนวทางที่ครูพินิจบอก ครูจะแจกเทปแจกโน้ตแล้วท่องให้ฟัง มีวิธีไล่มือฆ้องมือระนาดแบบต่างๆ ประทับใจเพราะสอนเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ไม่เบื่อ ถึงกำหนดจัดมหกรรมฯ ก็นัดซ้อมรวมตัวที่โรงเรียนวัดดอกไม้ ปรับวงอยู่นานเป็นอาทิตย์ๆ กว่าจะลงตัว ครูพินิจยืนตีฉิ่งกำกับหน้าวงด้วยตนเอง ท่านถึงเป็นที่รู้จักของครูทั่วกรุงเทพฯ เพราะเป็นแม่งานทำเรื่องนี้มาโดยตลอด”

ครูพินิจยังเป็นที่พักพึ่งพิงร้อยโยงกับโลกการศึกษาวิชาการดนตรีบนเวทีสังกัดที่ทำงานใหม่ อย่างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลัง พ.ศ. 2539 ได้รับเชิญเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยและบรรจุเป็นอาจารย์ประจำแขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออกในอีกสองปีต่อมา ไม่เพียงทำหน้าที่ผู้สอนได้ดีอย่างเข้าอกเข้าใจนักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่หลายระดับ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ครูพินิจยังถือเป็นก้อนเส้าหลักความรู้ดนตรีไทยช่วงตั้งต้นของวิทยาลัยแห่งนี้ นอกจากอาจารย์สงัด ภูเขาทอง ที่เป็นหลักด้านงานวิชาการ และศาสตราจารย์อุดม อรุณรัตน์ ที่เป็นหลักด้านเครื่องสายไทย

ครูพินิจเขียนเล่าในหนังสือที่ระลึกครบรอบ 15 ปี ก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า “จนกระทั่งถึงวันที่ไม่เคยคาดฝัน วันนั้นมีโอกาสไปร่วมงานกับวงนายชาตรี อบนวล โดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ นำไปบรรเลงในงานเปิดร้านขายเครื่องดนตรีของ ดร.สุกรี เจริญสุข ที่ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ขับเสภาเปิดป้ายตามบทกลอนที่คุณสุจิตต์ประพันธ์ ก่อนการบรรเลง ดร.สุกรี ได้เข้ามาทักทายไต่ถามผู้เขียนว่า ‘เกษียณอายุแล้วจะไปทำอะไร’ ก็ตอบท่านไปตามตรงว่า ‘คงอยู่บ้านเลี้ยงหลานตามประสาคนแก่’ ดร.สุกรี ถามอีก ‘มาอยู่ด้วยกันไหม’ ก็ตอบไปว่า ‘ตกลง’ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะให้ไปอยู่ที่ไหนอย่างไร

“กระทั่งได้มาสอนดนตรีไทยที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้มีโอกาสรู้จักครูผู้ใหญ่อีกสองท่าน ท่านหนึ่งคือครูสงัด ภูเขาทอง อีกท่านคือ ศ.อุดม อรุณรัตน์ โดยผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ สมัยนั้น คือ ดร.สุกรี เจริญสุข ได้ตั้งให้ผู้เขียนและครูทั้งสองท่าน เป็น ‘สามครูผู้เฒ่า’ หรือ ‘ฤๅษีสามตน’ ประจำวิทยาลัยฯ ครูสงัดเป็นคนที่น่าเคารพนับถือมาก คำพูดประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนยังจดจำได้ดีถึงทุกวันนี้ คำพูดนี้ถ้าเรียนรู้ความหมายแล้วจะไม่ถือโกรธผู้พูด เพราะท่านได้แสดงการยกย่องว่าผู้เขียนเป็นคนที่มีคุณค่า ครูสงัดเคยพูดกับผู้เขียนว่า ‘ครูพินิจมาอยู่ด้วยกันก็เท่ากับมีไม้ไว้กันหมา’”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สนอง คลังพระศรี อดีตประธานแขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก หนึ่งในคณาจารย์นักวิชาการที่เติบโตมาพร้อมการทำงานร่วมกับครูพินิจและครูดนตรีไทยอาวุโสท่านอื่นๆ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าเสริมว่า

“ผมชื่นชมหัวใจสุภาพบุรุษของครูพินิจ แม้ยุคที่ดุริยางคศิลป์จะสอนดนตรีไทยสายฝั่งธน โดยครูสำราญ เกิดผล ครูกาหลง พึ่งทองคำ แน่นอนว่าถ้ามองในเชิงพื้นที่ หากครูพินิจไม่เปิดทางแบ่งปันให้ในฐานะที่ตนมาก่อน ลองนึกถึงครูสำราญกับครูกาหลงว่าจะคิดอย่างไร แต่นี่ทุกคนเห็นได้ชัด ว่าครูพินิจรับได้ ท่านดำเนินชีวิตทำงานตามปกติ มีความสุขรักใคร่กลมเกลียวมากกับครูสำราญ ต่างให้เกียรติเคารพเรียกกันและกันว่า ‘ครู’ แม้ในอดีตท่านทั้งสองจะเคยประชันกันมาก่อนก็ตาม ฉะนั้น ภาพที่ครูพินิจน้อมตัวไหว้ครูสำราญในฐานะที่ตนอาวุโสน้อยกว่า ผมว่ายังอยู่ในใจทุกคน

“อาจารย์สงัดมีแนวคิดอยากทำอะไร ครูพินิจตอบสนองได้ทันที เพราะเขาเอาหัวใจมาคุยกัน อาจารย์อยากได้โหมโรงปิตุลานุสรณ์สำหรับมหิดล ครูพินิจก็จัดการให้ ครั้งหนึ่งฮือฮามาก ว่ามหิดลอุตริแหกคอกนอกประเพณี ใช้ผู้หญิงทำหน้าพาทย์ไหว้ครูสลับวงผู้ชาย แต่ครูพินิจก็ให้เหตุผลไพเราะน่าฟัง เหตุผลที่ไม่มีใครโต้เถียงได้ ถือเป็นความก้าวหน้าและความกล้าหาญของครูอย่างหนึ่ง เพราะครูเชื่อมั่นในตัวอาจารย์สงัด ผมถึงกล้าพูดได้เต็มคำว่า ‘หัวใจครูพินิจกว้างขวางมาก’ สามารถกราบหัวใจท่านได้อย่างสนิทใจ”

นับเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ที่ครูพินิจผูกพันกับการทำงานถ่ายทอดความรู้และสร้างผลงานความคิดฝากฝังไว้ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งงานสอนบุคคล งานบันทึกโน้ตเพลงไทยเข้าเล่มต่างประเภทเพลงและเครื่องดนตรีรวมกว่าพันเพลง และงานเขียนบทความดนตรี ทั้งต่อมายังได้รับเชิญเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ [สาขาดนตรี] ทั้งจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา แม้เป็นการทำงานในห้วงยามบั้นปลายที่หลักประกันชีวิตหลายด้านของครูมั่นคงแล้วก็ตาม หากแต่ตอบโจทย์ทางใจในฐานะ ‘ผู้ให้’ ส่งต่อถึงมือผู้รับสืบสานงานดนตรีที่จุดสิ้นสุดมีจริงแต่ในโลกอุดมคติ

นายติณณภพ ถนอมธรรม คนสมุทรปราการ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ศิษย์เก่าหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศิษย์ครูพินิจ เล่า

“ที่ผ่านมาถือว่าได้รับความรู้จากครูพอสมควร อาจน้อยหรือมากกว่าท่านอื่นๆ แต่ภูมิใจ เพราะเวลาที่อยู่กับท่านเราทำเต็มที่ ครูพูดประโยคหนึ่งเสมอว่า ‘เด็กสมัยนี้เรียนดนตรีไทยผิดหลัก เรียนจากยอดย้อนไปหาโคน ทิ้งรากฐานเพราะมุ่งกันแต่เดี่ยว’ เป็นไปได้ไหม ที่จะมาร่วมกันสังคายนาเพลงครูสักครั้ง เพราะเอาเข้าจริง อย่างเพลงช้าเรื่องวิเวกเวหา เท่าที่สำรวจสำนวนเพลงเร็วมีสี่ถึงห้ารูปแบบ และอีกมากที่ยังกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ จัดระบบรวบรวมแล้วต่อยอดความเป็นครูพินิจ ในฐานะที่ผมเป็นนักศึกษาปี่พาทย์ อย่างน้อยก็อยากให้เสียงเพลงของครูดังแผ่ต่อไปไม่ขาดช่วง”

– 7 –
ดอกไม้ทอง

ตั้งแต่ก้าวย่างแรกที่ออกเดินทางผจญโลกมายาชีวิต ครูพินิจกลับสู่อ้อมกอดท้องทุ่งมหาราชอย่างแท้จริงด้วยย่างก้าวสุดท้ายในวันวัยแปดสิบหกปี สมสง่าภาคภูมิด้วยรางวัลเกียรติยศความสำเร็จ แต่ทว่าไม่มีคุณค่าเกียรติยศใดที่ได้รับจะยิ่งใหญ่เสมอเท่านักปี่พาทย์และครูดนตรีไทยสามัญชนผู้นี้

และนี่เป็นบทสรุปย่อหน้าสุดท้ายที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักระนาดเรืองนาม ‘พินิจ ฉายสุวรรณ’

“ดนตรีปี่พาทย์ หลักทรัพย์ความรู้หล่อเลี้ยงรากฐานชีวิต ที่ยึดมั่นทำนองเพลงเป็นเครื่องมือทำกิน เช่นเดียวกับทำนองชีวิตที่มีขึ้นลงคล้ายท้องน้ำมหาสมุทร จุดหมายปลายทางจึงยากคาดหวังและกำหนดได้ว่า จุดสิ้นสุดจะหยุดลงตรงไหนเวลาใด ครูโบราณกล่าวไว้ ‘วิชาดนตรีปี่พาทย์ดุจน้ำซึมบ่อทราย ใช้กินอาบเท่าไหร่ก็ไม่หมด’ หากผู้ใดหิวกระหายไม่ว่าวิชาใด ผู้นั้นย่อมอิ่มเอมในรสวิชานั้น ภาคภูมิใจในผลงานความสำเร็จด้วยความมานะบากบั่นแห่งตน ทั้งยังเชิดหน้าชูตาครูอาจารย์ บิดามารดา ตลอดจนกัลยาณมิตรญาติพี่น้องและครอบครัว”

[ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานเสด็จฯ พระราชทานเพลิงครูพินิจ ฉายสุวรรณ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา]

เอกสารอ้างอิง
กรุงเทพมหานคร. (2529). มหกรรมดนตรีไทยนักเรียนประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2. (สูจิบัตร). กรุงเทพฯ: กรุงเทพมหานคร.
กรุงเทพมหานคร. (2530). มหกรรมดนตรีไทยนักเรียนประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3. (แผ่นพับ). กรุงเทพฯ: กรุงเทพมหานคร.
ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์. (2552). องค์ความรู้ศิลปินแห่งชาติ: นายพินิจ ฉายสุวรรณ. รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.
นพดล คลำทั่ง. (2549-2550). อาศรมศึกษา: ครูพินิจ ฉายสุวรรณ. งานนิพนธ์อาศรมศึกษา สาขาวิชาดุริยางค์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประภัสสร์ ชูวิเชียร, พิชชาณัฐ ตู้จินดา และคณะ. (2559). ศิลปวัฒนธรรม ชุมชนและดนตรีไทย ลุ่มน้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. รายงานวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
พูนพิศ อมาตยกุล และศิขิน พงษ์พิพัฒน์. (2557). “สังคีตภิรมย์ รายชื่อเพลงไทยเดิมประมาณ 2700 รายการ บรรดาบันทึกเสียงไว้ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาผ่านฟ้า เพื่อจัดทำรายการวิทยุสังคีตภิรมย์ เผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค.” กรุงเทพฯ. เอกสารอัดสำเนา.
พินิจ ฉายสุวรรณ. (2552). ก่อนเข้าสู่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. ใน สนอง คลังพระศรี (บรรณาธิการ). หนังสือที่ระลึกครบรอบ 15 ปี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ: หจก.หยินหยางการพิมพ์.
พินิจ ฉายสุวรรณ. (2524). พระคุณครู. ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายพริ้ง ดนตรีรส ณ ฌาปนสถานวัดพระพิเรนทร์ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2524. (ม.ป.ท.).
ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดอรุณการพิมพ์.
สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “ทะเบียน DVD – VDO.” กรุงเทพฯ. เอกสารอัดสำเนา.
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. (2556). สืบสานตำนานระนาด 50 ปี วงปี่พาทย์กรุงเทพมหานคร. (สูจิบัตร). กรุงเทพฯ: กรุงเทพมหานคร.
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์. (2537). สุพจน์ โตสง่า “ระนาดน้ำค้าง” ลมหายใจไม่ยอมแพ้ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสุพจน์ โตสง่า. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ดอกเบี้ย.
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์. (2535). ชีวิตระหกระเหินของคีตกวีสยามแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา บุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ : ระนาดไข่มุกหล่นบนจานหยก. กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด.

สัมภาษณ์
กฤษฏิ์ เลกะกุล. สัมภาษณ์. 6 เมษายน 2560.
โกสุม เกตุปัญญา. สัมภาษณ์. 8 เมษายน 2560.
ชาตรี อบนวล. สัมภาษณ์. 2 เมษายน 2560.
ติณณภพ ถนอมธรรม. สัมภาษณ์. 19 เมษายน 2560.
นันท์นภัส ฉายสุวรรณ. สัมภาษณ์. 8 เมษายน 2560.
พินิจ ฉายสุวรรณ. สัมภาษณ์. 19 มกราคม 2548, 6 เมษายน 2558, 10 กรกฎาคม 2559.
รุ่งสรวง ทัพพันธุ์. สัมภาษณ์. 19 เมษายน 2560.
สมพงษ์ พงษ์พรหม. สัมภาษณ์. 10 เมษายน 2560.
สนอง คลังพระศรี. สัมภาษณ์. 30 มีนาคม 2560.
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์. สัมภาษณ์. 28 เมษายน 2559.
สุจินต์ เฟื่องฟุ้ง. สัมภาษณ์. 5 เมษายน 2560.
สุทัศน์ แก้วกระหนก. สัมภาษณ์. 10 เมษายน 2560.
สุวรรณ โตล่ำ. สัมภาษณ์. 10 เมษายน 2560.
สิทธิพงษ์ เพ็งพานิช. สัมภาษณ์. 23 เมษายน 2560.
อรพัช ฉายสุวรรณ. สัมภาษณ์. 8 เมษายน 2560.

ครูพินิจ ฉายสุวรรณ [ระนาดเอก] มักกล่าวยกย่องอย่างให้เกียรติภูมิใจอาชีพปี่พาทย์หากินอันเป็นภูมิหลังที่มาของตนเสมอ

สังสรรค์กับครูอาจารย์และเพื่อนร่วมงานที่วงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพมหานคร [จากซ้าย : มานพ ชัมภูทะ บุญยงค์ เกตุคง สมพงษ์ นุชพิจารณ์ บุญยัง เกตุคง และพินิจ ฉายสุวรรณ]