ใครคือ ‘นายสอนผ่านฟ้า’ ศิษย์เจ้าคุณประสานฯ
เจ้าของตระโหมโรง 33 ตัว ที่ครูบุญยงค์ เกตุคง กล่าวขวัญถึง
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]
ตั้งต้นเรื่องราวความสนใจจากคำให้สัมภาษณ์ของครูบุญยงค์ เกตุคง บนเวทีการแสดงศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาผ่านฟ้า โดยมีพยานหลักฐานร่วมรู้เห็นส่วนหนึ่ง คือครูบุญยัง เกตุคง น้องชายผู้ร่วมรายการ ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล ผู้ซักถาม และผู้เข้าชมการแสดงสดครั้งนั้นในอดีต รวมถึงยอดคลิกจำนวนกว่า 7,000 ครั้ง บนคลิปวีดิโอบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ยูทูปดอทคอม ชื่อเรื่อง ‘ศูนย์สังคีตศิลป์ ครั้งที่ 586 ครูเตือน พาทยกุล ครูบุญยงค์ ครูบุญยัง เกตุคง (2/3)’ เริ่มนาทีที่ 34:05 ดังเนื้อความสำคัญบางช่วงตอนต่อไปนี้
“พระเดชพระคุณเอ๊ย เรียนด้วยความจริงใจ ตระสามชั้นใครก็สู้ตระเมืองเพชรไม่ได้ สมัยหนึ่งครูพุ่ม บาปุยวาทย์ เล่าให้ฟัง ‘ตระเมืองเพชรมีถึง 33 ตัว’ ตระในกรุงเทพฯ หมายถึงครูบาอาจารย์หลายๆ ท่าน จะต้องยอมรับเลยว่า ตระไม่ถึง 33 ตัว แต่ตระเมืองเพชร 33 ตัว ผมยังได้ไว้ไม่ถึง ตอนนี้ก็ยังไม่ถึง ยอมรับว่า 18-19 ตัวพอได้ แต่เกินจากนั้นไม่ได้อีกแล้ว ครูพุ่มท่านบอกอย่างไรรู้ไหมครับ ‘ยงค์ไม่ต้องไปต่อหรอก ตระอื่นๆ เธอไปเอาตระ 20 ไม้ไว้สักตัวก็แล้วกัน’ จะให้พูดว่าอย่างไรดี เยินยอแค่ไหนดี เพราะตระอื่นๆ มี 4 ไม้ลา 8 ไม้ 10 ไม้ 12 ไม้ลา แต่ตระ 20 ไม้เขาเรียก ‘ไตรตรึงษ์’ ได้ชื่อไว้แต่ไม่ได้เพลง ครูสอนเพชรบุรีนั่นแหละแกได้ไว้”
‘ครูสอนเพชรบุรี’ ที่ครูบุญยงค์กล่าวทิ้งท้ายไว้เป็นเบาะแส สืบสาวราวเรื่องแล้วแน่นอนว่าไม่ใช่ครูหลวงประดิษฐไพเราะ [ศร ศิลปบรรเลง] ครูสอน วงฆ้อง หรือครูสอน อยู่ประคอง [บางขุนเทียน] หากแต่เป็นนายสอน สุวรรณเสวก [อ่านว่า สุ-วรรณ-นะ-เส-วก] รกรากเป็นคนพื้นที่ใต้วัดใหม่สุทธาวาส ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี คนคนเดียวกันกับที่แวดวงดนตรีปี่พาทย์เขตพระนครในอดีต เรียก ‘นายสอนผ่านฟ้า’ เพราะเคยตั้งครอบครัวหากินอยู่ย่านผ่านฟ้า กรุงเทพฯ หากแต่มีความสำคัญและเป็นมาอย่างไรจึงทรงภูมิปัญญาความรู้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะเพลงตระโหมโรง ที่แม้แต่ครูพุ่ม บาปุยวาทย์ ซึ่งได้รับกล่าวขวัญว่าบรรเลงเพลงตระโหมโรงได้มากตัวยังให้การยอมรับ
ประเดิมข้อมูลแรกเริ่มด้วยคำให้สัมภาษณ์เบื้องต้นจากบุคคลใกล้ชิด อย่างบุตรชายคนสุดท้องของครูสอน คือนายวนัส สุวรรณเสวก อายุ 81 ปี ที่ปัจจุบันเป็นผู้รักษาเรื่องราวและมรดกเครื่องดนตรีปี่พาทย์และไม้ฆ้องคู่มือของพ่อ พร้อมทั้งรูปเขียนดินสอภาพครูสอนเพียงชิ้นเดียวที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน เล่าเท้าความให้ฟังว่า
“เดิมอยู่เพชรบุรี พ่อเป็นคนไม่ชอบทำนา ชอบงานเบา เจอวงปี่พาทย์ก็เลยจูงกันมาทางนี้ พ่อตั้งต้นเรียนดนตรีกับครูภู่ทางวัดพริบพรี [ข้อมูลอีกกระแสว่าครูภู่อยู่ตรอกป่าไหม ตั้งอยู่ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี] ก่อนย้ายไปกรุงเทพฯ ก็ทำปี่พาทย์หากินอยู่ที่นี่แล้ว รู้สึกว่าจะซื้อเครื่องต่อจากครูภู่ ระนาดไม้ไผ่ปัจจุบันยังอยู่ เข้ากรุงเทพฯ ก็เอาเครื่องจากบ้านเราไปด้วย พ่อเรียนกับพระยาประสานดุริยศัพท์ พ่อเรียกครูแปลก ไม่เคยถามเหมือนกันว่าทำไมถึงได้เป็นลูกศิษย์พระยาประสานฯ เรียนสองคนพี่น้อง ทั้งพ่อกับอาแถม เรียนนานพอควรที่วังจันทร์ พ่อเป็นเจ้าหน้าที่เก็บเงินส่งพระคลังข้างที่ด้วย เก็บเงินค่าเช่าห้องอะไรทำนองนั้น
“ตัวผมเกิดที่กรุงเทพฯ แถวผ่านฟ้า ติดบ้านครูพริ้ง ดนตรีรส เพราะเขาหากินด้วยกันอยู่ที่นั่น ครูพริ้งเรียกพ่อว่า ‘พี่สอน’ ใครต่อใครที่มียศ อย่างหมื่นประโคมเพลงประสานก็หากินอยู่ก๊กนี้ อาแถมน้องชายของพ่ออยู่บ้านอีกหลัง ตั้งครอบครัวต่างหาก ตกเย็นก็ไปมาหาสู่กัน คนคอเหล้าน่ะ เจ้าคุณเสนาะดุริยางค์มาที่บ้านที่นั่นเรื่อย โดยมากคุยปรึกษาหารือกันเรื่องดนตรี ตรงนั้นเหมือนเป็นศูนย์กลาง แขกไปใครมาก็ผ่านผ่านฟ้า แวะหาพี่สอนหน่อยว่าอย่างนั้น เป็นห้องแถวไม้ อยู่ได้ไม่กี่มากน้อยก็ย้าย เพราะพี่น้องผมเกิดที่นั่น 6 คน ครอบครัวชักใหญ่ก็เลยย้ายมาอยู่ถนนดินสอ ทางวัดบวรนิเวศนี่”
![นายวนัส สุวรรณเสวก อายุ 81 ปี บุตรชายครูสอน ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านติดแม่น้ำเพชรบุรี [ฝั่งตรงข้ามวัดเขาตะเครา] ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ]](https://kotavaree.com/wp-content/uploads/2019/09/2-481x640.jpg)
นายวนัส สุวรรณเสวก อายุ 81 ปี บุตรชายครูสอน ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านติดแม่น้ำเพชรบุรี [ฝั่งตรงข้ามวัดเขาตะเครา] ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ]
นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 30 หน้าที่ 1238 ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2456 เรื่อง ‘ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 5’ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ดังรายนามลำดับที่ 390 ความว่า “พระยาอรรคเทวินทร์ (คำ) เจ้ากรมขอเฝ้า รับราชการในพระราชสำนักสมเด็จพระบรมราชินี พระพันปีหลวง พระราชทานนามสกุลว่า ‘สุวรรณเสวก’ [Suvarnasevaka]” จึงไขอีกข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดเด็กต่างจังหวัดอย่างครูสอนจึงมีโอกาสร่ำเรียนเพลงดนตรีและเข้าถึงตัวพระยาประสานดุริยศัพท์ เจ้ากรมปี่พาทย์หลวง ทั้งยังเข้านอกออกในวังจันทรเกษม ซึ่งเป็นที่ตั้งทำการกรมปี่พาทย์หลวงและสำนักงานใหญ่กรมมหรสพสมัยนั้น ก็เพราะพระยาอรรคเทวินทร์ [คำ] ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพระราชสำนัก เจ้ากรมของพระราชมารดาในรัชกาลที่ 6 เป็นพี่ชายแท้ๆ ของพ่อครูสอน [นายเปลี่ยน] หรือมีศักดิ์เป็นลุงของครูสอนนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่เรื่องเล่าขานกล่าวขวัญถึงครูสอนท่านนี้ต่อมา นอกจากมีความรู้ดีเรื่องเพลงโบราณ ยังชำนาญตีปี่พาทย์รับโขนละครด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า วังจันทรเกษมเป็นแหล่งรวมข้าราชการศิลปิน ทั้งกรมโขนหลวง กรมปี่พาทย์หลวง กรมช่างมหาดเล็ก กองเครื่องสายฝรั่งหลวง และเป็นที่ตั้งโรงเรียนพรานหลวงฯ ในสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างที่อาจารย์เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ครูดนตรีและนักประวัติศาสตร์ดนตรีของไทย เคยตั้งข้อสันนิษฐานพูดคุยเป็นจดหมายโต้ตอบทางเว็บไซต์ฮอทเมล์ดอทคอม กับอาจารย์สุรินทร์ เจือหอม ครูดนตรีโรงเรียนวัดคงคาราม จังหวัดเพชรบุรี [3] ความว่า “บางทีนายสอนก็น่าจะเคยรับราชการเป็นนักดนตรีอยู่ในกรมมหรสพสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วย แต่เมื่อสิ้นเจ้าคุณประสานฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2467 แล้ว ก็รับราชการต่ออีกไม่นาน อาจถูกดุลยภาพพร้อมกับข้าราชการในกรมนี้ ที่ต้องออกจากราชการตอนต้นรัชกาลที่ 7 จำนวนมากในคราวเดียวกัน”

อาจารย์สุรินทร์ เจือหอม ครูดนตรีและคนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้สนใจติดตามและสืบค้นประวัติครูดนตรีไทยจังหวัดเพชรบุรีในอดีต โดยเฉพาะเคยสัมภาษณ์ประวัติครูสอน สุวรรณเสวก จากนายวนัสตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2550 [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ]
“ครูสอนทำงานโรงโขน ตีปี่พาทย์โขนละคร สมัยนั้นยังไม่ได้ปรับเป็นข้าราชการ โรงละครเดิมก่อนจะเป็นกรมศิลป์ปัจจุบัน เพลงที่ใช้ผมก็เคยได้ต่อ ไม่ค่อยจะเหมือนสมัยนี้ เพลงเท่ากันแต่วิธีเดินกลอนคนละอย่าง ระนาดนี่โดยส่วนมากถ้าผมจะตีรับโขน ผมจะใช้ทางครูสอน โขนตัวนี้จะต้องตีกราวแบบไหน ลิง ยักษ์ มนุษย์ เขาแบ่งเป็นประเภท ไม่ได้ตีอย่างเดี๋ยวนี้ เช่นว่าจะออกศึกต้องตรวจพลก่อน สุครีพเป็นนายทหารเอกใช่ไหม ต้องใช้ตรวจพลสุครีพ เขามีของเขาเฉพาะแบบนั้น แต่สมัยนี้รู้แค่ว่าเพลงนี้คือกราวนอก เพลงนี้คือกราวใน เพลงนี้คือกราวพระ แต่ครูสอนเขาแยกแยะละเอียดลงไปอีก
“ครูสอนเขาเรียนรู้แบบโบราณ สิ่งไหนควรไม่ควรทำ วิธีการใช้ปี่พาทย์ เช่นว่าทำเทศน์มหาชาติต้องเริ่มจากตรงไหน โหมโรงอะไร เพลงนี้ต้องขึ้นต้นลงท้ายอย่างไร แล้วมีฝีมือทุกอย่าง ปี่เป่าดีมาก แต่ครูคนนี้มีฝีมือทางฆ้อง ขนาดครูแย่ง ทางมีศรี ที่ว่าตีฆ้องดี ยังมาต่อวิธีตีฆ้องกับคนๆ นี้ แกตีทางฆ้องสอดให้คนระนาดหลงได้ เอาสิ ระนาดที่ว่าเก่งๆ แน่ๆ หลง หาทางออกไม่ถูก เพลงที่มีแกคิดตีทางได้หมด แล้วที่ผมแม่นเพลงตับมาก อย่างพรหมมาศ นาคบาศ นางลอย เพราะแกต่อทางร้องเอง มีตำราบทร้องโดยเฉพาะ แล้วต่อไม่ต่อคนเดียว ต้องให้ผมตีระนาดรับด้วย เพื่อปรับสวมสอดให้เหมาะพอดี”

ครูเสงี่ยม เพิ่มสิน อายุ 84 ปี ครูดนตรีโรงเรียนจิตรลดา เรียนรู้เพลงดนตรีโดยเฉพาะวิธีตีปี่พาทย์รับโขนละครจากครูสอน [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ]
เรื่องนี้ยืนยันได้ด้วยคำให้สัมภาษณ์จากหลายปากผู้ใช้และพบเห็น ไม่ว่าเป็นครูเสงี่ยม เพิ่มสิน ครูอ่วน หนูแก้ว [ศิลปินอาวุโสสำนักครูรวม พรหมบุรี จังหวัดราชบุรี] หรืออย่างครูไชยยะ ทางมีศรี ข้าราชการบำนาญ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร บุตรชายครูแย่ง ทางมีศรี [นักดนตรีร่วมรุ่นครูสอนที่จังหวัดเพชรบุรี] ที่ปัจจุบันเป็นผู้รักษาผืนระนาดต้นแบบที่นายมั่น ตาปนานนท์ เหลามอบไว้ให้กับครูสอน และผืนระนาดคัดพิเศษ ที่ครูสอนเลือกลูกระนาดที่มีเสียงที่ดีที่สุดเพียงลูกเดียวของแต่ละผืน ที่เป็นฝีมือเหลาของตนจากจำนวน 21 ผืน แล้วนำมาร้อยรวมใหม่ไว้ในผืนเดียว [4] เล่าว่า
“ที่พิเศษเพราะเป็นผู้เหลาผืนระนาดได้อย่างดีเยี่ยม ทำขายและใช้เองในวง แต่คุณภาพผืนต้องตามความสามารถผู้ตี ฝีมืออ่อนๆ ก็เอาผืนท้ายๆ ให้ตี ถ้าฝีมือดีไปจากกรุงเทพฯ ท่านก็เอาผืนเยี่ยมๆ ที่เก็บไว้ในห้องนอนให้ตี เรื่องนี้พ่อแย่งเล่าให้ฟังเอง หลายครั้งเปลี่ยนผืนกลางงานก็เคยมีมาแล้ว บ้านท่านไม่ไกลจากวัดเขาตะเครา วงปี่พาทย์ไปเล่นที่วัด ท่านได้ยินเสียงผืนระนาดของท่าน แล้วได้ยินฝีมือของคนที่กำลังตี ท่านแบกผืนระนาดจากบ้านไปเปลี่ยนเลย ตีๆ อยู่ปลดผืนกลางงาน บอกว่า ‘ฝีมือแค่นี้ตีเท่านี้ก็พอ’ ถ้าเป็นเรารู้สึกเสียหน้าไหม เสียหน้า อ๋อ ฝีมือเราไม่ถึงกับผืนนี้ ไม่ใช่คนจริงไม่กล้าทำอย่างนั้นแน่นอน
“ในฐานะผู้ปฏิบัติ ระนาดไม้ไผ่เป็นระนาดหายาก คนที่มีความรู้เรื่องผืนระนาดเขาจะเรียกกระสวนหรือกระสวยผืนว่า ทรง ‘งูไซ’ วางราบอาจดูแบนเรียบไม่สวยงาม แต่ถ้าขึ้นรางแล้วมันดูมีสง่าภาคภูมิ คัดลูกต่อลูกมาเทียบกัน กินเหลี่ยมกินมุมพอดีกันไหม แล้วไม้ไผ่มันมีส่วนโค้งที่เรียกว่าหลังเต่า ถ้าโค้งเท่ากันจะตีสบาย ผืนที่ดีควรมีหลังเต่าแต่ไม่มาก ถ้านูนมากไปตีลำบาก ดีเรื่องสะบัดสะเดาะ เสียงต้องเช็คความดังว่าสั้นหรือยาวทีละลูก อย่างเสียงคู่แปดต้องยาวเท่ากันสองข้าง อย่างนี้เรียกระนาดชั้นดี หนึ่งไม้แก่ สองส่วนสวย สามเสียงได้ ซึ่งผืนระนาดครูสอนเป็นอย่างนั้น”

ครููไชยยะ ทางมีศรี ข้าราชการบำนาญ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ปัจจุบันเป็นผู้เก็บรักษาผืนระนาดต้นแบบที่นายมั่น ตาปนานนท์ เหลามอบไว้ให้กับครูสอน และผืนระนาดคัดพิเศษของครูสอน [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ]

ผืนระนาดไม้ไผ่ฝีมือเหลาโดยครูสอนร่วมกับบุตรชาย คือนายวนัส สุวรรณเสวก [เอื้อเฟื้อภาพถ่ายต้นฉบับโดยอาจารย์สุรินทร์ เจือหอม]
แม้ครูสอนจะได้รับกล่าวขวัญว่ามีองค์ความรู้ในตนมาก อย่างที่ครูเสงี่ยมเล่าเพิ่มเติมว่า “ความรู้ที่แกมีมันวัดไม่ได้ แต่อยากได้อะไรแกมีให้ตลอด ที่ไหนหาไม่ได้ หรือที่มันลึกลับก็ไปเอาได้ที่แก” โดยเฉพาะเพลงเก่าและหน้าทับพิเศษ หากแต่เป็นความรู้เบื้องลึกที่สังคมดนตรีเพชรบุรีบางกลุ่มในอดีตให้ความสนใจเท่านั้น มรดกความรู้จากพระยาประสานดุริยศัพท์ รวมถึงประสบการณ์เพลงดนตรีจากวังจันทรเกษม ที่สั่งสมบ่มเพาะในตัวครูสอน หลายอย่างจึงเป็นเรื่องลับปกปิดและเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบัน อย่างเรื่องเล่าที่ว่า ครูเสรี หวังในธรรม และนักดนตรีจากกรมศิลปากร เดินทางมาพบครูสอนเพื่อขอต่อตระโหมโรง 33 ตัว ร่างครูสอนก็ตั้งสวดที่วัดพลับพลาชัยเป็นคืนที่ 3 แล้ว

ไม้ฆ้องคู่มือครูสอน สุวรรณเสวก อายุการใช้งานยาวนานเก่าแก่ กระทั่งเนื้อไม้บางส่วนหดตัวขอดลงระหว่างข้อไม้ไผ่ [เอื้อเฟื้อภาพถ่ายต้นฉบับโดยอาจารย์สุรินทร์ เจือหอม]
“ผมอยู่ในเหตุการณ์ ก่อนปี 19 ครูบุญยงค์ถามนักดนตรีที่ กทม. ว่ามีใครรู้จักครูสอนบ้าง ครูเล็ก [ชนะ ชำนิราชกิจ] ซึ่งเป็นคนเพชรบุรี บอกว่ารู้จักแล้วคุ้นกัน ก็อาสาว่าจะพาไป เบาะแสแน่ชัดแล้ว คนพาไปก็มีแล้ว พาหนะมีแล้ว เหลือแต่นัดวัน คุยว่าสะดวกวันที่ไม่มีราชการ พอกำหนดนัดวันลงตัวว่าจะไปวันนี้ ข่าวจากเพชรบุรีไล่หลังมาแล้วว่า ครูสอนท่านสิ้นแล้ว เหมือนจะหวงไม่อยากให้นะ
“แล้วล่าสุดที่ได้พูดคุยกับคุณวนัส เรื่องตระโหมโรง เขาบอกว่า เวลาพ่อจะต่อจะต่อติดเป็นพืด เปลี่ยนตัวตรงไหน ตัวนี้ชื่ออะไร กี่ไม้ ไม่บอกรายละเอียดทั้งนั้น สมมุติอยากฟังตัวที่ 10 ขึ้นไป ก็ต้องตั้งต้นตีตั้งแต่ตัวต้น ตียาวไปเรื่อยๆ เป็นที่ลำบากในการตรวจสอบ เรียนแบบจารีตโบราณ คือไม่มีคำตอบ ไม่มีคำถาม รู้ไปทำไม รู้แล้วจะเอาไปทำอะไร มีหน้าที่รับไปอย่างเดียวแล้วก็ตีให้แม่นให้ถูก สรุปเรื่องที่ครูบุญยงค์จะไปหาครูสอนก็ล้มเหลว ตระตัวนั้นจะมีอยู่จริงหรือไม่ หรือได้ถ่ายทอดไว้ให้กับใครก็ไม่ทราบได้ เพราะไม่มีใครพูดถึงอีกเลย ก็ต้องตีความว่าตระ 20 ไม้นั้นสูญไปแล้ว”

ภาพเขียนดินสอรูปครูสอน สุวรรณเสวก เพียงภาพเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบัน เก็บรักษาไว้โดยนายวนัส สุวรรณเสวก [บุตรชาย] เอื้อเฟื้อภาพถ่ายต้นฉบับโดยอาจารย์สุรินทร์ เจือหอม และปรับแต่งภาพโดยอาจารย์เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์
[1] เพราะนายวนัสเกิดปลายปี พ.ศ. 2480 [เดือนพฤศจิกายน]
[2] ครูสอนเกิด พ.ศ. 2428 [ปีระกา] นายแถมน้องชายเกิด พ.ศ. 2430 [ปีกุน] นายแถมท่านนี้เป็นคนคนเดียวกันกับที่ต่อเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ เพลงสารถี 3 ชั้น ทางพระยาประสานดุริยศัพท์ [แปลก ประสานศัพท์] ให้ครูเตือน พาทยกุล และต่อเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ เพลงกราวใน 3 ชั้น ทางพระยาประสานดุริยศัพท์ [แปลก ประสานศัพท์] ให้กับนายวนัส [หลานชาย] ทั้งนี้ นายวนัสได้เคยแสดงฝีมือเดี่ยวฆ้องวงใหญ่เพลงดังกล่าวในงานงานหนึ่งที่จังหวัดเพชรบุรี ต่อหน้านักดนตรีจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ได้กล่าวกับนายวนัสว่า “ขอให้เก็บรักษาทางนี้ไว้ให้ดี” ภายหลังนายแถมได้ย้ายไปตั้งครอบครัวอยู่จังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ ครูสอนยังมีน้องชายอีกคนหนึ่ง ชื่อ นายด้วง ซึ่งได้ซื้อฆ้องมอญจากครูสุ่ม ดนตรีเจริญ มาเก็บไว้ที่ตนถึง 12 โค้ง [6 คู่] ที่จังหวัดสมุทรสงครามเช่นเดียวกัน
[3] ลงฉบับวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 12:46 น.
[4] ปัจจุบันผืนระนาดดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต
อ้างอิง
เตือน พาทยกุล. 2546. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอเดียร์ สแควร์.
ธนิต อยู่โพธิ์. 2500. โขน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส. กรุงเทพฯ: ร.พ.บริษัท สหอุปกรณ์การพิมพ์ จำกัด.
ประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๕. (2456, 14 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 30 ตอนที่ 0 ง. หน้าที่ 1238-1251.
ราชบัณฑิตยสถาน. 2542. สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง. กรุงเทพฯ: ห้างหุ่นส่วนจำกัดอรุณการพิมพ์.
สัมภาษณ์
ไชยยะ ทางมีศรี. สัมภาษณ์. 2 มกราคม 2562.
ฐานิสร์ พรรณรายน์. สัมภาษณ์. 17 พฤศจิกายน 2561.
วนัส สุวรรณเสวก. สัมภาษณ์. 1 กันยายน 2560.
เสงี่ยม เพิ่มสิน. สัมภาษณ์. 19 ธันวาคม 2561.
สุรินทร์ เจือหอม. สัมภาษณ์. 17 พฤศจิกายน 2561.
[บทความ เรื่อง “ใครคือ ‘นายสอนผ่านฟ้า’ ศิษย์เจ้าคุณประสานฯ เจ้าของตระโหมโรง 33 ตัว ที่ครูบุญยงค์ เกตุคง กล่าวขวัญถึง” ตีพิมพ์เผยเเพร่ครั้งเเรกในวารสารเพลงดนตรี ปีที่ 14 ฉบับที่ 10 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562]