‘ไม้ตะขาบ’ เสียงจังหวะในดนตรีพิธีกรรม เเละเสียงกระทบไล่สัตว์ในสังคมชาวสวน

‘ไม้ตะขาบ’ เสียงจังหวะในดนตรีพิธีกรรม
เเละเสียงกระทบไล่สัตว์ในสังคมชาวสวน
เรื่อง/ภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

กล่าวสั้นรวบรัดกระชับเพื่อเข้าใจ ‘ไม้ตะขาบ’ เป็นเครื่องกระทบในวัฒนธรรมไม้ไผ่ ทำหน้าที่เฉกเช่นกรับ เกราะ โกร่ง สำคัญที่เสียงจังหวะหนักจากแรงดีดกระทบไม้ไผ่ ดัง ‘ปัง-ปัง’ ไม่ต่างเสียงจังหวะหนักอื่นๆ ที่ได้จากอาการกระทุ้ง กระแทก กระทั่ง เครื่องเคาะตีไม้ไผ่/ไม้เนื้อแข็ง ไม่ว่าเป็น โส้ทั่งบั้ง [ไม้ไผ่กระทุ้งดิน] แสกเต้นสาก [กระทบสากตำข้าว] และอื่นๆ อีกมาก ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กว้างขวางเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแยกออกไม่ได้ กับ ‘การชุมนุมเล่นเสียงในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ บ่อเกิดวัฒนธรรมดนตรีในอุษาคเนย์’ [1] ที่เอกสารและคำสัมภาษณ์บอกชื่อเครื่องมืออย่างเดียวกันกับ ‘ไม้ตะขาบ’ ตามความรับรู้ต่างพื้นที่ ไม่ว่าเป็น ต๊อกก้า/TOKKA [ชาวอาหมแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย] กระเพาะหรือกรอเปี๊ยะ [ประเทศกัมพูชา] วาเลโคะ/Wa Let Khote [ประเทศเมียนมาร์] ฮะบั๊บ [มอญประเทศไทย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ/ จังหวัดปทุมธานี/ จังหวัดราชบุรี] ไม้กรับ/ไม้กราบ [มอญประเทศไทย จังหวัดสมุทรสาคร] ไม้เหิบ [ภาคเหนือ ประเทศไทย]

โดยเฉพาะเครื่องมือกระทบอย่างนี้ ที่สร้างจากลำไม้ไผ่ต่างขนาดทั้งเส้นผ่านศูนย์กลางและความยาว ที่เนื้อไม้บริเวณช่วงล่างเหนือโคนลำไม้หนึ่งคืบถูกคว้านออก ให้เว้าทั้งสองข้างประมาณเศษหนึ่งส่วนสามตามทางยาวของลำไม้ ผ่าครึ่งช่วงบนออก 2 ซีก เหลือโคนไม่แยกออกสำหรับง้างสะบัดตีงับเข้าหากัน ใช้กระทบส่งเสียงเป็นส่วนหนึ่งในดนตรีประเพณีพิธีกรรมมอญรามัญ ทั้งพิธีไหว้ศาลทำบุญกลางบ้านชุมชนมอญต้นฤดูเกษตรกรรม [2] ที่เรียกเป็นภาษามอญ ว่า ‘เล่ะแปะจุ๊’ จัดเดือน 6 [กลางเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม] ของทุกปี และพิธีกรรมสำคัญอย่าง ‘รำผีมอญ’ หรือที่ภาษามอญเรียก ‘หฺยูกะนา’ ตีกระทบตามจังหวะช้าเร็วพร้อมๆ กับวงปี่พาทย์มอญ บรรเลงเพลงตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างละเอียดเคร่งครัด ประกอบการรำของ ‘โต้ง’ ผู้ประกอบพิธีรำผีมอญ รวมถึงการรำของคนจากตระกูลเจ้าภาพที่จัดพิธีรำผีมอญอีกด้วย

ไม้ตะขาบส่งเสียงกระทบเป็นส่วนหนึ่งในดนตรีประเพณีพิธีกรรมมอญรามัญ ทั้งพิธีไหว้ศาลทำบุญกลางบ้านชุมชนมอญต้นฤดูเกษตรกรรม ที่เรียกเป็นภาษามอญ ว่า ‘เล่ะแปะจุ๊’ และพิธีกรรมสำคัญอย่าง ‘รำผีมอญ’ หรือที่ภาษามอญเรียก ‘หฺยูกะนา’ [พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ]

ไม้ตะขาบส่งเสียงกระทบเป็นส่วนหนึ่งในดนตรีประเพณีพิธีกรรมมอญรามัญ ทั้งพิธีไหว้ศาลทำบุญกลางบ้านชุมชนมอญต้นฤดูเกษตรกรรม ที่เรียกเป็นภาษามอญ ว่า ‘เล่ะแปะจุ๊’ และพิธีกรรมสำคัญอย่าง ‘รำผีมอญ’ หรือที่ภาษามอญเรียก ‘หฺยูกะนา’ [พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ]

สมจิตร ช่องคันปอน อายุ 61 ปี ทำหน้าที่ ‘โต้ง’ ลำดับที่ 4 ของตระกูล สืบทอดรายละเอียดความรู้ความเชื่อพิธีรำผีมอญจากบรรพบุรุษ ดูแลวงปี่พาทย์มอญ ‘ธ.หงษ์เจริญ’ ร่วมกับพี่น้องเครือญาติ ประกอบพิธีรำผีมอญแก่ตระกูลมอญในพื้นที่ตำบลโกรกกรากและอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ตำบลบางกระดี่ กรุงเทพฯ ทั้งเตรียมอุปกรณ์รำ เครื่องเซ่น โรงพิธี เครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะเพลงดนตรีประกอบพิธีรำผีมอญที่เป็นความรู้เฉพาะทางของครอบครัว เล่าความรู้เรื่อง ‘ไม้ตะขาบ’ หรือที่เรียก ‘ไม้กรับ’ หรือ ‘ไม้กราบ’ ว่า

“ประเพณีมอญใช้ไม้กรับเฉพาะในพิธีรำผีมอญ ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นป้าที่เคยเห็น บางตระกูลใช้ไม้กรับตีประกอบรำอย่างเดียว ไม่มีปี่พาทย์ แล้วก็มีกลองลูกเปิงอีกใบ ตีเข้าจังหวะให้ถูกเพลง อันนี้แล้วแต่ตระกูลเขาว่ากำหนดมาอย่างไร เพิ่มได้ ห้ามลด สมัยก่อนปี่พาทย์น้อย ตระกูลไหนทำมาค้าขึ้น ร่ำรวย ตระกูลที่ไม่เคยมีปี่พาทย์ก็เปลี่ยนมามี คืออยากให้พิธีสนุกสนานขณะรำ บางผีบางตระกูลใช้ปี่พาทย์เครื่องคู่ ฆ้องสองโค้ง ตะโพนมอญก็ต้องใช้สองใบ บางตระกูลใช้กลองเดี่ยวคือใบเดียว ก็ใช้ตะโพนมอญใบเดียวกับวงปี่พาทย์มอญปกติ เขาเรียกผีคู่ผีเดี่ยว หมายถึงผีต้นตระกูลเขาทำกันมาอย่างนั้น

“โต้งแต่ละที่ทำพิธีรายละเอียดต่างกัน ส่วนมากทั่วไปโต้งจะรำเองทุกเพลงทั้งหมด แต่ถ้าเป็นของที่บ้านนี้ทำ เพลงนี้เป็นของโต้ง โต้งต้องรำ เพลงตระกูลเจ้าภาพ เจ้าภาพต้องรำ เพลงสะใภ้ สะใภ้ต้องรำ เพลงลูกสาวของตระกูลเจ้าภาพ หรือที่เรียก ‘โกนลุ่มตา’ ลูกสาวบ้านนั้นก็ต้องรำ รำเรียงไปเรื่อยๆ เป็นชุดๆ จนกว่าจะเสร็จพิธี พิธีรำผีมอญจัด 2 วัน วันสุกดิบคือวันเตรียมของ ทำของ บ้านเจ้าภาพเป็นคนเตรียมของทั้งหมด แต่โต้งต้องแนะนำกำกับให้เขา จดรายการว่าต้องใช้ของเตรียมของอะไรบ้าง ตั้งแต่ปลูกโรงพิธี อุปกรณ์ที่ใช้รำ ทำขนม ย่างปลาช่อน รวมไปถึงไม้กรับนี้ด้วย รุ่งขึ้นถึงทำพิธีรำทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น”

สมจิตร ช่องคันปอน [ขวามือ] อายุ 61 ปี ทำหน้าที่ ‘โต้ง’ ลำดับที่ 4 ของตระกูล และสมใจ ช่องคันปอน [ซ้ายมือ] ผู้ช่วยโต้ง สองท่านต่างสืบทอดรายละเอียดความรู้ความเชื่อพิธีรำผีมอญจากบรรพบุรุษ ดูแลวงปี่พาทย์มอญ ‘ธ.หงษ์เจริญ’ ร่วมกับพี่น้องเครือญาติ ประกอบพิธีรำผีมอญแก่ตระกูลมอญในหลายพื้นที่ [พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ]

สมจิตร ช่องคันปอน [ขวามือ] อายุ 61 ปี ทำหน้าที่ ‘โต้ง’ ลำดับที่ 4 ของตระกูล และสมใจ ช่องคันปอน [ซ้ายมือ] ผู้ช่วยโต้ง สองท่านต่างสืบทอดรายละเอียดความรู้ความเชื่อพิธีรำผีมอญจากบรรพบุรุษ ดูแลวงปี่พาทย์มอญ ‘ธ.หงษ์เจริญ’ ร่วมกับพี่น้องเครือญาติ ประกอบพิธีรำผีมอญแก่ตระกูลมอญในหลายพื้นที่ [พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ]

เล่าเสริมให้ฟังว่า เหตุผลที่ตระกูลมอญต้องจัดรำผี เพราะตระกูลนั้นทำผิดข้อห้ามที่ประเพณีกำหนด หรือเรียก ‘ผิดผี’ [3] ต้องจัดรำผีเพื่อล้างผิดให้สะอาด บางตระกูลปีนั้นๆ ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง บางตระกูลให้กำเนิดลูกชายคนโตหัวปลี [4] หรือบางตระกูลเว้นจัดพิธีนานปีก็ต้องจัดขึ้นตามคำทักทำนายหรือตามเหมาะสม โดยเฉพาะไม้กรับที่ใช้ในพิธีรำผีมอญกำหนดให้ใช้งานละ 2 ตัว นั่งตำแหน่งขวามือของวงปี่พาทย์ สำคัญคือเวลาพักต้องตั้งพิงไม้กรับกับราวไม้ไผ่ไม่ให้วางนอนลงกับพื้น โต้งต้องคอยระวังไม่ให้ไม้กรับล้มเพราะถือเป็นลางร้ายแก่เจ้าภาพ นอกจากนี้ ไม้กรับยังถูกกำหนดตามประเพณีพิธีกรรม ว่าต้องพุ่งทิ้งลงแม่น้ำเท่านั้นหลังเสร็จพิธี รวมถึงวัสดุสร้างโรงพิธีอื่นๆ ที่หลังรื้อถอนปะรำแล้วห้ามส่งต่อให้คนในตระกูลนำกลับไปใช้ทำประโยชน์อื่น

ไม่ต่างพิธี ‘เล่ะแปะจุ๊’ ศาลเจ้าพ่อเทพ ชุมชนมอญรามัญบ้านคงคา หมู่ 3 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ใช้ไม้ตะขาบตีกระทบพร้อมๆ กับวงปี่พาทย์มอญ ประกอบพิธีเข้าทรงเจ้าพ่อเจ็ดหัวเมืองมอญในช่วงเช้า และทรงเจ้าพ่อเทพ เจ้าพ่อหลักเมือง เจ้าแม่เบิกไพรในช่วงบ่าย แตกต่างกันที่ไม้ตะขาบถูกฟันทำลายทิ้งแล้วนำไปกองรวมกับเครื่องเซ่นอื่นๆ บนกระด้ง เพื่อเซ่นตีนโรงตีนศาลบริเวณหัวท้ายนอกอาณาเขตศาลเจ้าพ่อเทพหลังเสร็จพิธี ไม่พุ่งทิ้งลงแม่น้ำอย่างไม้กรับที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งๆ ที่ศาลเจ้าพ่อเทพตั้งไม่ไกลจากแม่น้ำแม่กลอง

ไม้ตะขาบถูกฟันทำลายทิ้งแล้วนำไปกองรวมกับเครื่องเซ่นอื่นๆ บนกระด้ง เพื่อเซ่นตีนโรงตีนศาลบริเวณหัวท้ายนอกอาณาเขตศาลเจ้าพ่อเทพหลังเสร็จพิธี [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ไม้ตะขาบถูกฟันทำลายทิ้งแล้วนำไปกองรวมกับเครื่องเซ่นอื่นๆ บนกระด้ง เพื่อเซ่นตีนโรงตีนศาลบริเวณหัวท้ายนอกอาณาเขตศาลเจ้าพ่อเทพหลังเสร็จพิธี [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ข้อมูลอีกด้านจากปากโต้โผปี่พาทย์มอญประกอบรำผีมอญจังหวัดราชบุรี คณะฉลาดศิลป์ อย่างนายฉลาด เดือนฉาย อายุ 62 ปี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า อดีตที่ตนยังเด็กๆ พิธี ‘เล่ะแปะจุ๊’ ศาลเจ้าพ่อเทพ ใช้วงเครื่องสายมอญบรรเลงประกอบพิธีแทนวงปี่พาทย์มอญอย่างที่เห็นในปัจจุบัน จึงเป็นข้อสังเกตส่วนตัว [ผู้เขียน] ที่ไม่ใช่ข้อสรุปว่า ไม่ว่าเป็นวงดนตรีชนิดใดแต่สำคัญที่เสียงกระทบจากไม้ตะขาบ เพราะวงเครื่องสายมอญที่นายฉลาดกล่าวถึง ก็ใช้ไม้ตะขาบตีกระทบจังหวะเช่นเดียวกัน และหากจะกล่าวจนถึงที่สุด ดั้งเดิมพิธีกรรมอย่างนี้อาจตีเฉพาะไม้ตะขาบโดยไม่มีทำนองเพลงดนตรีก็เป็นได้ เพราะท่ารำคนทรงที่ปรากฏในหลายพื้นที่มักยืนยืดยุบ กระโดดเต้น และกระตุกมือตามเสียงจังหวะไม้ตะขาบเป็นสำคัญ ทั้งไม้ตะขาบยังถูกจัดเตรียมโดยคนในชุมชนศาลเจ้าพ่อเทพร่วมกับเครื่องประกอบพิธีอื่นๆ หมายความว่า ไม้ตะขาบเป็นเครื่องมือคนละส่วนกับวงปี่พาทย์มอญจากภายนอกที่เข้ามาบรรเลงประกอบพิธี

วงปี่พาทย์มอญประกอบรำผีมอญจังหวัดราชบุรี คณะฉลาดศิลป์ พิธี ‘เล่ะแปะจุ๊’ ศาลเจ้าพ่อเทพ ชุมชนมอญรามัญบ้านคงคา หมู่ 3 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี [ในภาพ นายฉลาด เดือนฉาย เสื้อขาวบรรเลงฆ้องมอญ] [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

วงปี่พาทย์มอญประกอบรำผีมอญจังหวัดราชบุรี คณะฉลาดศิลป์ พิธี ‘เล่ะแปะจุ๊’ ศาลเจ้าพ่อเทพ ชุมชนมอญรามัญบ้านคงคา หมู่ 3 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี [ในภาพ นายฉลาด เดือนฉาย เสื้อขาวบรรเลงฆ้องมอญ] [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ท่ารำคนทรงที่ปรากฏในหลายพื้นที่มักยืนยืดยุบ กระโดดเต้น และกระตุกมือตามเสียงจังหวะไม้ตะขาบเป็นสำคัญ [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ท่ารำคนทรงที่ปรากฏในหลายพื้นที่มักยืนยืดยุบ กระโดดเต้น และกระตุกมือตามเสียงจังหวะไม้ตะขาบเป็นสำคัญ [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

เสียงกระทบไม้ตะขาบ หรือที่ภาคเหนือของประเทศไทย เรียก ‘ไม้เหิบ’ ยังเป็นเสียงจังหวะสำคัญในวงป้าดก๊อง หรือวงปี่พาทย์ล้านนา โดยเฉพาะในดนตรีพิธีกรรมฟ้อนผีมดผีเม็งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง อย่างที่ทศพล บุรวัฒน์ อายุ 31 ปี [5] ศิลปินพื้นบ้านซอล่องน่าน คณะช่อแก้วเจริญศิลป์ จังหวัดน่าน อธิบายว่า ‘เหิบ’ ภาษาล้านนาหมายความว่า ‘ไล่’ หรือเชียร์ พิธีเลี้ยงปางผีจึงนิยมใช้เสียงไม้เหิบตีเร่งหรือเชียร์ให้ผีเจ้านายที่มีบรรดาศักดิ์ใหญ่โตรีบสวมร่างม้าทรงโดยเร็ว กำหนดใช้งานละ 2 ตัว ขนาดใหญ่ความยาวจากพื้นจรดศีรษะและขนาดเล็กความยาว 1 ศอก เพื่อเสียงที่ต่างกัน หลังเสร็จพิธีต้องทำลายโดยแหกทิ้งด้วยเหตุผลทางความเชื่อเช่นกัน นอกจากนี้ เขตอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ไม้ตะขาบยังเป็นส่วนหนึ่งในพิธีเลี้ยงผีโรงหรือผีบรรพบุรุษของคนที่เรียกตัวเอง ว่า ‘ไทยนางรอง’ โดยเฉพาะโรงมอญ [6] ที่ผีนายโรงจะใช้ไม้ตะขาบแทนเป็นอาวุธตีหยอกล้อกับผีอื่นๆ ขณะเข้าทรง [ไม่ตีประกอบเพลงดนตรี] และจำเป็นต้องวางไม้ตะขาบร่วมกับม้าไม้ช้างไม้บนหิ้งผีของตระกูลอีกด้วย

ทศพล บุรวัฒน์ อายุ 31 ปี ศิลปินพื้นบ้านซอล่องน่าน คณะช่อแก้วเจริญศิลป์ จังหวัดน่าน [เอื้อเฟื้อภาพโดย ปฎิภาณ ธนาฟู นักศึกษาภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

ทศพล บุรวัฒน์ อายุ 31 ปี ศิลปินพื้นบ้านซอล่องน่าน คณะช่อแก้วเจริญศิลป์ จังหวัดน่าน [เอื้อเฟื้อภาพโดย ปฎิภาณ ธนาฟู นักศึกษาภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

ความรู้ความเชื่อเกี่ยวกับไม้ตะขาบยังขยายขอบเขตและกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อความสำคัญมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับข้อมูลการใช้ไม้ตะขาบจากฝั่งประเทศเมียนมาร์ โดยสรุปคำสัมภาษณ์จากปากครูปี่พาทย์พม่าหญิง อย่าง อูแซนหยิ่น [U San Yin] อายุ 57 ปี [7] อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติเมียร์มา [National University of Arts and Culture] ที่ว่า ไม้ตะขาบ เรียกชื่อเป็นภาษาเมียนมาร์ว่า วาเลโคะ [Wa Let Khote] [8] หรือเรียกอีกชื่อว่า ถ่อววา [Htaung Wa] [9] นอกจากเป็นเครื่องกระทบที่ใช้ร่วมกันระหว่างชาวเมียนมาร์ ชาวมอญ ชาวยะไข่ ตีกำกับจังหวะอย่างมีรูปแบบที่ชัดเจนในวงซายวาย [Saing Waing] หรือวงปี่พาทย์พม่า ไม้ตะขาบยังตีกำกับจังหวะในวงดนตรีพื้นบ้านชนบทเพื่องานเฉลิมฉลองและขบวนแห่ต่างเทศกาล ไม่ว่าเป็น วงโอซี [Ozi] [10] วงโดแบะ [Dobat] [11] วงบองจยี [Bon gyi] [12]

 อูแซนหยิ่น [U San Yin] [ขวามือ] อายุ 57 ปี อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติเมียนมาร์ [National University of Arts and Culture] [เอื้อเฟื้อภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธี จันทร์ศรี อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

อูแซนหยิ่น [U San Yin] [ขวามือ] อายุ 57 ปี อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติเมียนมาร์ [National University of Arts and Culture] [เอื้อเฟื้อภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธี จันทร์ศรี อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

โดยเฉพาะวงปี่พาทย์พม่าที่ไม้ตะขาบถือเป็นครูใหญ่ เปรียบได้กับ ‘เสาหลักของร่ม’ เพราะใช้ควบคุมจังหวะบรรเลงเพื่อความพร้อมเพรียงของวงดนตรี [13] [สำคัญมากเมื่อบรรเลงที่โล่งแจ้งหรือท่ามกลางคนหมู่มาก] ควบคู่ไปกับป๊าดวาย [Pat waing] [14] หรือเปิงมางพม่า ที่มีบทบาทบรรเลงเป็นผู้นำพาทำนองเพลงดนตรีให้มีจังหวะเร็วขึ้นหรือช้าลง นักดนตรีปี่พาทย์ชาวเมียนมาร์จึงให้ความเคารพไม้ตะขาบโดยไม่ก้าวข้ามหรือวางนอนราบกับพื้น เพราะเชื่อว่าจะส่งผลให้พบอุปสรรคไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้เพลงดนตรี ทั้งช่วงฤดูฝนระหว่างเทศกาลเข้าพรรษาที่วงปี่พาทย์พม่าทั่วประเทศต่างหยุดพักรับงานบรรเลง ไม้ตะขาบยังถูกนำขึ้นไปแขวนบูชาร่วมกับประตูคอกเปิงมางพม่าบนหิ้งครูอีกด้วย

วงปี่พาทย์พม่าที่ไม้ตะขาบถือเป็นครูใหญ่ เปรียบได้กับ ‘เสาหลักของร่ม’ เพราะใช้ควบคุมจังหวะบรรเลงเพื่อความพร้อมเพรียงของวงดนตรี [เอื้อเฟื้อภาพโดย ปฎิภาณ ธนาฟู นักศึกษาภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

วงปี่พาทย์พม่าที่ไม้ตะขาบถือเป็นครูใหญ่ เปรียบได้กับ ‘เสาหลักของร่ม’ เพราะใช้ควบคุมจังหวะบรรเลงเพื่อความพร้อมเพรียงของวงดนตรี [เอื้อเฟื้อภาพโดย ปฎิภาณ ธนาฟู นักศึกษาภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

กลับมาที่ประเทศไทย ไม้ตะขาบยังถือเป็นเทคโนโลยีเครื่องมือการเกษตรอย่างหนึ่งในโลกอดีตของสังคมชาวสวนและชาวนา เพราะเสียงตีไม้ตะขาบช่วยใช้ไล่สัตว์ต่างชนิดที่ลอบกินพืชผลในฤดูเก็บเกี่ยวและเมื่อข้าวสุก [ลักษณะใช้งานเช่นเดียวกับที่ประเทศกัมพูชา] โดยเฉพาะสวนผลไม้ต่างชนิดในหลายพื้นที่เขตภาคกลาง ทั้งเขตฝั่งธนบุรี เขตตลิ่งชัน แขวงบางมด กรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ ไม่ว่าเป็น สวนลิ้นจี่ มะม่วง มะไฟ ส้ม ชมพู่ หรือทุเรียน นอกจากความรู้ เรื่องเล่า การใช้งานที่ยังหลงเหลือบ้างบางพื้นที่ในปัจจุบัน [15] หลักฐานสำคัญคือภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถสมัยรัชกาลที่ 3 วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร หรือวัดทอง ตั้งอยู่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ที่เขียนภาพไม้ตะขาบแขวนบนต้นลิ้นจี่ในเรื่องเล่าสุวรรณสามชาดก [16]

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถสมัยรัชกาลที่ 3 วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร หรือวัดทอง ตั้งอยู่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ที่เขียนภาพไม้ตะขาบแขวนบนต้นลิ้นจี่ในเรื่องเล่าสุวรรณสามชาดก [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถสมัยรัชกาลที่ 3 วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร หรือวัดทอง ตั้งอยู่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ที่เขียนภาพไม้ตะขาบแขวนบนต้นลิ้นจี่ในเรื่องเล่าสุวรรณสามชาดก [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถสมัยรัชกาลที่ 3 วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร หรือวัดทอง ตั้งอยู่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ที่เขียนภาพไม้ตะขาบแขวนบนต้นลิ้นจี่ในเรื่องเล่าสุวรรณสามชาดก [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถสมัยรัชกาลที่ 3 วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร หรือวัดทอง ตั้งอยู่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ที่เขียนภาพไม้ตะขาบแขวนบนต้นลิ้นจี่ในเรื่องเล่าสุวรรณสามชาดก [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ไพฑูรย์ สรวยโภค อายุ 51 ปี ผู้ก่อตั้ง นำชม และภัณฑารักษ์ ‘พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา’ วัดหนังราชวรวิหาร ตั้งอยู่เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เติบโตแวดล้อมท่ามกลางสวนผลไม้และอาชีพชาวสวนฝั่งธนบุรี เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านเครื่องใช้ไม้สอยของสะสมทั้งของชาววัดและชาวบ้านตั้งแต่ตั้งพิพิธภัณฑ์ พ.ศ. 2550 สรุปบทบาทไม้ตะขาบในสวนลิ้นจี่ที่ตนคุ้นเคย ว่า

“กลางคืนค้างคาวลงเยอะ ค้างคาวแม่ไก่เวลากินลิ้นจี่กินทั้งกระโดง กิ่งที่ยื่นจากต้นเขาเรียกกระโดงกิ่ง หนึ่งคืนกินหมดเพราะรุมหลายตัว ทั้งปลิด ทั้งเก็บ ทั้งกิน กลางวันเป็นพวกกระรอกกระแต พวกนี้แอบคลานมาเงียบๆ แต่พอเกิดเสียงตีไม้ตะขาบก็หนีหมด เวลาใช้งานห้อยหัวไม้ตะขาบลงเหมือนคีมหนีบถ่าน ไม่ตั้งขึ้นแบบตีปี่พาทย์ ใช้ไม้ไผ่สอดที่ด้ามแล้วคานบนกิ่งไม้ผล ต่อเชือกปลายไม้ตะขาบจากสวนแล้วโยงมาในบ้าน ประมาณ 30-50 เมตร วิธีคือดึงเชือกให้โย้ตามมือแล้วปล่อย ขณะปล่อยให้กระตุกมือแรงๆ ปลายไม้ตะขาบสองข้างจะอ้าออกแล้วฟาดหากัน สวนหนึ่งขนัดอยู่ที่ 3-4 ไร่ ต้องทำไว้ถึง 10 ตัว แขวนทั่วๆ แล้วรวบปลายเชือกไว้ที่เดียว เวลากระตุกจะดังก้องไปทั้งสวน กระตุกทุกๆ ครึ่งชั่วโมง หรือเท่าที่สะดวก

“ดังทั้งวันทั้งคืนต้องหน้าลิ้นจี่ เดือนมีนา ลิ้นจี่ออกหัวแดงเรื่อๆ เริ่มจะหวาน เรียกหัวกิ้งก่า ค้างคาวกระรอกชอบ เดี๋ยวนี้ติดไฟนีออน ดักตาข่าย หรือใช้ไม้แขวนในปี๊บแล้วกระตุกแทน ความคุ้นเคยของผมคือเป็นของเล่นด้วย กระตุกถี่ๆ แข่งกันแต่ละสวน รัวปังปังปัง สวนใครเงียบก่อนแสดงว่าแพ้ ไม่ไหวเพราะปวดแขน ไม่เห็นตัวหรอก แต่มันดังจากฟากหนึ่งไปฟากหนึ่ง หมดหน้าลิ้นจี่ก็เก็บเอาเหน็บไว้ใต้ถุนบ้าน บางบ้านประตูรั้วอยู่ไกล เขาแขวนไม้ตะขาบไว้ในบ้าน แล้วกระตุกปลายเชือกจากรั้วเรียกคนในบ้านก็มี คล้ายกริ่งในปัจจุบัน ควรเป็นไม้ไผ่แก่ เพราะไม้สดกระตุกมากมันลั่นแล้วแตก เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 3 นิ้วขึ้นไป ยาวเมตรกว่าๆ เล็กกว่านี้ไม่เกิดเสียงเพราะไม่มีแรงกระพือ ตัวที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นของที่บ้านผม ใช้งานจริงมาประมาณ 30 กว่าปี”

ไพฑูรย์ สรวยโภค อายุ 51 ปี ผู้ก่อตั้ง นำชม และภัณฑารักษ์ ‘พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา’ วัดหนังราชวรวิหาร ตั้งอยู่เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เติบโตแวดล้อมท่ามกลางสวนผลไม้และอาชีพชาวสวนฝั่งธนบุรี [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ไพฑูรย์ สรวยโภค อายุ 51 ปี ผู้ก่อตั้ง นำชม และภัณฑารักษ์ ‘พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา’ วัดหนังราชวรวิหาร ตั้งอยู่เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เติบโตแวดล้อมท่ามกลางสวนผลไม้และอาชีพชาวสวนฝั่งธนบุรี [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

น่าสังเกตว่า แม้เครื่องมือกระทบเคาะตีไม้ไผ่อื่นๆ จะถูกแทนที่ด้วยไม้จริงตามหลักลำดับพัฒนาการเครื่องดนตรี ที่ต้องการเสียงที่แกร่งดังกังวานและใช้งานได้นานคงทนกว่า ไม่ว่าเป็น ระนาดไม้ไผ่/ระนาดไม้จริง เกราะไม้ไผ่/เกราะไม้จริงในวงปี่พาทย์พม่า กระดึงไม้ไผ่/กระดึงไม้จริง และตัวอย่างอื่นๆ อีกมากอย่างกว้างขวาง หากแต่เสียงจังหวะในดนตรีประเพณีพิธีกรรมข้างต้นยังคงสืบรักษาเสียงกระทบไม้ตะขาบเป็นสำคัญ แน่นอนว่า ย่อมต้องมีคำอธิบายนอกเหนือจากการอิงแอบพิธีกรรมความเชื่อหรือมากกว่าเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ และหากถามว่า ตามหลักฐานเอกสารเสียงไม้ตะขาบดังขึ้นตั้งแต่สมัยใด อย่างน้อยก็ต้องอ้างอิงเท่าที่พบจากบันทึกราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อย่างมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ [17] และสมุทรโฆษคำฉันท์ที่ระบุ ‘กองไฟรอบรั้วอาเกียรณ์ พลร้องรอบเวียน แลตีจรขาบขับกลอง’ จรขาบ คือ ตะขาบ หมายถึง ‘ไม้ตะขาบ’ นั่นเอง [18]

ไม้ตะขาบสำหรับตีไล่สัตว์ต่างชนิดที่ลอบกินพืชผลในฤดูเก็บเกี่ยวและเมื่อข้าวสุก จัดแสดงใน ‘พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา’ วัดหนังราชวรวิหาร ตั้งอยู่เขตจอมทอง กรุงเทพฯ [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

ไม้ตะขาบสำหรับตีไล่สัตว์ต่างชนิดที่ลอบกินพืชผลในฤดูเก็บเกี่ยวและเมื่อข้าวสุก จัดแสดงใน ‘พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา’ วัดหนังราชวรวิหาร ตั้งอยู่เขตจอมทอง กรุงเทพฯ [ถ่ายภาพ : พิชชาณัฐ ตู้จินดา]

เชิงอรรถ
[1] หากสนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่แผ่ขยายออกไป จากบทความ เรื่อง ‘การชุมนุมเล่นเสียงในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ บ่อเกิดวัฒนธรรมดนตรีในอุษาคเนย์’ ทั้งภาคต้นและภาคจบ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สนอง คลังพระศรี ในวารสารเพลงดนตรี ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 และปีที่ 24 ฉบับที่ 3 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และบทความ เรื่อง ‘อ่านหนังสือ : เพลงขับในพิธีกรรมความตายสู่มิติบันเทิงของชีวิต’ ของผู้เขียนท่านเดียวกัน ในวารสารสุริยวาฑิต ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-ธันวาคม พ.ศ. 2561
[2] ศาลในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อาทิ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลพระยานาคราช ศาลเจ้าพ่อป๊ะหเมิน ศาลในจังหวัดปทุมธานี อาทิ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลอะโน่กด๊วด ตำบลสามโคก ศาลในจังหวัดราชบุรี อาทิ ศาลเจ้าพ่อเทพ วัดคงคาราม ศาลวัดไทรอารีรักษ์ ศาลในจังหวัดกาญจนบุรี อาทิ วัดพุตะเคียน อำเภอทองผาภูมิ
[3] ข้อห้ามที่ประเพณีมอญกำหนด อาทิ ห้ามคนท้องสะใภ้นอกตระกูล หรือเด็กไว้ผมจุกผมเปียนอกตระกูล ขึ้นหรือเข้าบริเวณห้องผีของตระกูล [เสาผีตระกูล หรือที่ภาษามอญเรียก ‘ปาโน่ก’ เสาที่ 2 ชั้น 2 ของบ้าน เสาแรกคือเสาพระ] ห้ามนำตุ๊กตารูปคนเข้าบ้าน ห้ามมอบของสีแดงเช่นแหวนพลอยแดงแก่คนนอกตระกูล และอื่นๆ อีกมาก ถ้าล่วงละเมิดข้อห้ามดังกล่าว เรียก ‘ผิดผี’ ส่งผลให้คนในตระกูลกินอยู่ไม่สบายเนื้อตัวหรือสบายใจ อาจพูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘ไม่เจริญ’
[4] เพราะลูกชายคนโตหัวปลีต้องรับหน้าที่สืบต่อในการดูแลผีตระกูล
[5] อนุเคราะห์คำสัมภาษณ์ โดย ปฎิภาณ ธนาฟู นักศึกษาภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
[6] หนึ่งในผีโรง 4 เชื้อสาย ได้แก่ ผีโรงเขมร ผีโรงปะกำ ผีโรงมอญ ผีโรงละคร
[7] อนุเคราะห์คำสัมภาษณ์และตรวจสอบข้อมูลโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธี จันทร์ศรี อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ระหว่างกิจกรรมอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ดนตรีไทยและดนตรีเมียนมาร์ ของวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ณ มหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติเมียนมาร์ [National University of Arts and Culture] ณ ประเทศเมียนมาร์
[8] วา แปลว่า ไม้ไผ่ เลโคะ แปลว่า การปรบ [Clapping]
[9] ถ่อว แปลว่า ตั้งหรือยืน
[10] วงโอซี [Ozi] หรือวงกลองยาว เป็นวงดนตรีสำหรับแห่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ได้แก่ กลองยาว หรือ ‘โอซี’ [Ozi] ขลุ่ย หรือ ‘เพาเล’ [Palwei] ปี่ หรือ ‘หเน่’ [Hne] และไม้ตะขาบ หรือ ‘วาเลโคะ’ [Wa Let Khote]’ พร้อมนางรำหน้าขบวนแห่
[11] วงโดแบะ [Dobat] หรือวงกลองสองหน้า เป็นวงดนตรีสำหรับงานเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ได้แก่ กลองสองหน้า หรือ ‘โดแบะ’ [Dobat] ปี่ หรือ ‘หเน่’ [Hne] ฉาบ ‘ยักวิน’ [Yakwin] และไม้ตะขาบ หรือ ‘วาเลโคะ’ [Wa Let Khote] พร้อมนางรำหน้าขบวนแห่
[12] วงบองจยี [Bon gyi] เป็นวงดนตรีสำหรับเทศกาลปลูกข้าว ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ได้แก่ ปี่ หรือ ‘หเน่’ [Hne] ฉาบ ‘ยักวิน’ [Yakwin] และไม้ตะขาบ หรือ ‘วาเลโคะ’ [Wa Let Khote]
[13] ซีวา [Si Wa] หมายถึง เครื่องกำกับจังหวะในดนตรีเมียนมาร์ ซี มีสองขนาด ขนาดใหญ่ใช้ในวงซายวาย ขนาดเล็กใช้ในวงดนตรีที่มีเสียงเบา เช่น วงซองเกาะ [Saung Kok] และวงปัตตาล่า [Patala] วา มีสองขนาดเช่นกัน ชนิดขนาดใหญ่เรียกว่า วาเลโคะ [Wa Let Khote] ชนิดขนาดเล็กเรียกว่า เพียวตง [Byok tone] เพียว แปลว่า เสียงเคาะ ตง แปลว่า ทำจากไม้ ทั้งนี้ คนตีวาเลโคะในวงซายวายจะทำหน้าที่พิธีกรพูดแนะนำรายละเอียดเพลงและเป็นนักร้องประจำวงด้วย
[14] หรือเรียกอีกชื่อว่า ป๊าดโลง [Pat lone]
[15] เช่นสวนลิ้นจี่บริเวณวัดบางขุนเทียนกลาง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ของคุณพรทิพย์ เทียนทรัพย์
[16] ภาพดังกล่าวอยู่บริเวณห้องที่ 2 ด้านขวามือจากประตูพระอุโบสถ โดยหนังสือภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ อธิบายภาพดังกล่าวว่า ‘ท้าวกบิลยักษ์นำข่าวการตายของสุวรรณสามไปแจ้งดาบสดาบสินีบิดามารดาของสุวรรณสามซึ่งตาบอดทั้งคู่ จะเห็นภาพชีวิตที่เป็นไปตามความจริงของผู้อยู่ในป่า เช่น เชือกที่โยงจากเสาบรรณศาลาไปยังต้นไม้สำหรับดึงเกราะ [หรือไม้ตะขาบ] ให้ดัง เพื่อไล่นก กระแต หรือกระรอก ที่จะมาลักกินผลไม้’
[17] จากหนังสือจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม บทที่ 5 ว่าด้วยรถและยานพาหนะทั่วไปของชาวสยาม ข้อที่ 18 การแข่งเรือ ดังข้อความระบุ ว่า ‘ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า การแข่งเรือที่เขาเอื้อเฟื้อจัดให้เราชมนั้น จะนับเนื่องว่าเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งด้วยหรือไม่ เพราะในทรรศนะของชาวสยามนั้น การแข่งเรือเป็นกีฬามากกว่าการละเล่น ชาวสยามเลือกเรือยาว 2 ลำมาเปรียบเทียบส่วนสัดให้เท่ากันทุกอย่างเท่าที่สามารถจะทำได้ แล้วก็แบ่งออกเป็นสองพวกเพื่อพนันขันต่อกัน ครั้นแล้วคณะกรรมการ [comites] ก็ลุกขึ้นยืนทำจังหวะเร่งเร้า ไม่เพียงแต่จะกระทบปลายตะขาบอันทำด้วยไม้ไผ่ปล้องยาวที่ถืออยู่ในมือเท่านั้น ยังส่งเสียงร้องหนุนและโยกไหวไปทั้งเนื้อทั้งตัวอีกด้วย’
[18] คัดข้อความและคำอธิบายจากหนังสือ ‘ร้องรำทำเพลง’ เขียนโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ

อ้างอิง
เจนจิรา เบญจพงศ์. ดนตรีอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2555.
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : โสภณการพิมพ์, 2557.
ยน เคียน แกว ฎูรีวรรณ อี ลีณา เมา เฬณา. เครื่องดนตรีกัมพูชาโบราณ. นนทบุรี : หจก.หยิน หยาง การพิมพ์, 2553.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ร้องรำทำเพลง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2551.

สัมภาษณ์
ฉลาด เดือนฉาย. สัมภาษณ์. 19 พฤษภาคม 2562.
ทศพล บุรวัฒน์. สัมภาษณ์. 24 มิถุนายน 2562.
ไพฑูรย์ สรวยโภค. สัมภาษณ์. 4 มิถุนายน 2562.
สมจิตร ช่องคันปอน. สัมภาษณ์. 6 มิถุนายน 2562.
สมใจ ช่องคันปอน. สัมภาษณ์. 6 มิถุนายน 2562.
ศุภนิมิตร ฤาไชยสา. สัมภาษณ์. 24 มิถุนายน 2562.
อนุรักษ์ พึ่งตัว. สัมภาษณ์. 5 มิถุนายน 2562.
อูแซนหยิ่น [U San Yin]. สัมภาษณ์. 11 มิถุนายน 2562.

[บทความ เรื่อง “‘ไม้ตะขาบ’ เสียงจังหวะในดนตรีพิธีกรรม เเละเสียงกระทบไล่สัตว์ในสังคมชาวสวน” ตีพิมพ์เผยเเพร่ครั้งเเรกในวารสารเพลงดนตรี ปีที่  25 ฉบับที่ 2 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562]

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *