รังสรรค์ บัวทอง
นักปี่พาทย์ ครูดนตรี และบทบาทหมาดใหม่ที่ได้รับ
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[ผู้ช่วยศาตราจารย์ ประจำวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]
ทันทีที่ข่าวจัด ‘คนรักดนตรีไทยรวมใจช่วยป๋อม บอยไทย’ [1] แพร่สะบัดหน้าสื่อออนไลน์ แม้ในหมู่แวดวงคนดนตรีปี่พาทย์จะพอทราบ ว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ บัวทอง ทัพหน้านักระนาด ‘บ้านบัวทอง’ จังหวัดสุพรรณบุรี จะเคยผ่านสังเวียนประชันชั้นเชิงเพลงดนตรีกับคุณชัยยุทธ โตสง่า [ป๋อม บอยไทย] ในนาม ‘บ้านโตสง่า’ มาแล้วในอดีต หากแต่เขาไม่รอช้าขานรับพร้อมยื่นมืออาสาเป็นเจ้าภาพสถานที่จัด ในฐานะเพื่อนร่วมโลกวิชาชีพและเจ้าบ้าน คือผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่เขาเพิ่งได้รับแต่งตั้งหมาดใหม่
“บ้านบัวทองประชันบ้านโตสง่า ครั้งสุดท้ายก่อนวางมือ คือที่วัดบางเลน นครปฐม นักปี่พาทย์สุพรรณแทบยกทั้งจังหวัดมาช่วย ผมกำลังเรียนที่บ้านสมเด็จฯ เรื่องซักซ้อมพร้อมเพรียงต้องยกให้บ้านโตสง่า นักดนตรีเขาอยู่ด้วยกันเป็นบ้าน ฝึกซ้อมปรับวงไปในทิศทางเดียวกัน สุพรรณหลายวงใช้นักดนตรีร่วมกัน บรรยากาศประชันวงในสุพรรณจึงไม่ชัดเจนมาก ถามว่าแพ้ชนะไหม แก้กันคนละแบบมากกว่า แต่ที่แน่ได้กำไรคือเจ้าภาพ ผมเคยโดนกระทั่งเจ้าภาพเทยาชูกำลังใส่คูลเลอร์น้ำเย็นให้กิน แปลกใจไม่รู้เรี่ยวแรงจากไหนตียั้นสว่าง เสร็จงานถึงความแตก
“คุณชัยยุทธถือเป็นศิษย์เก่าบ้านสมเด็จฯ ไม่ได้สำเร็จการศึกษาที่นี่ แต่เคยมาเรียน ยอมรับว่าเขาเป็นนักดนตรีมีน้ำใจชอบช่วยงาน ปีที่แล้วพ่อผมเสีย คือพ่อคนึง บัวทอง เขายกปี่พาทย์มอญมาช่วยทั้งวงโดยที่เราไม่ได้บอก เมื่อเขาเดือนร้อนเพราะป่วยหนัก เราพร้อมเรื่องสถานที่ ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย วัตถุประสงค์จัดเพื่อระดมทุนอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องลดรายจ่ายให้มากที่สุด เป็นโอกาสดีที่คนในวงการจะได้ช่วยเหลือเพื่อนดนตรี อดีตบนสนามประชันเอาเป็นเอาตายจริง แต่สุดท้ายก็ขอโทษขอโพยกัน นักประชันรุ่นใหม่ต้องยอมรับอย่างนี้ ประชันเป็นเรื่องประชัน ดนตรีเป็นเรื่องมิตรภาพ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ บัวทอง อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี เเละผู้อำนวยการสำนักศิลปะเเละวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
กว่าถึงจุดยืนอยู่ตำแหน่งตัวแทนทำงานศิลปวัฒนธรรมระดับมหาวิทยาลัย จุดออกตัวสตาร์ทตั้งต้นที่เขาได้รับปลูกฝังงานร้องรำทำเพลงคือครอบครัว นอกจากสัมผัสทั้งห้าจะซึมซับแวดล้อมท่ามกลางเสียงปี่พาทย์และเริ่มวิถีคนดนตรีตั้งแต่แบเบาะ ยังเป็นความจริงว่า ตัวอย่างคิดริเริ่มสร้างสรรค์บุกเบิกแนวทางใหม่ รวมถึงเบื้องหลังหลายผลงานรางวัลประกวดดนตรีที่เขาเป็นเจ้าของ ทั้งทำเพลงใหม่ ปรับวงเพลงเก่า ผสมวงดนตรีต่างจากเดิม โดยเฉพาะขะมักเขม้นต่อยอดศึกษาปริญญาเอกในศาสตร์ที่ถนัด คือวิจัยสร้างสรรค์ [ดนตรี] ความสามารถดังกล่าวถูกถ่ายโอนเป็นแรงพลังบันดาลใจที่ส่งมอบจากคนสำคัญในครอบครัว อย่างคุณปู่สนิท บัวทอง
“พูดอย่างนั้นคงไม่ผิด สมัยคนนิยมปี่พาทย์มอญ ปู่สร้างฆ้องมอญถึง 24 โค้ง วงต้นๆ ในสุพรรณที่มีเครื่องดนตรีมากที่สุด สร้างพร้อมรางระนาดเอกทุ้มที่เรียก ‘รางหงสา’ ต้นกำเนิดที่ใช้ทั่วประเทศทุกวันนี้ ปู่บอกคิดง่ายๆ เมื่อมีฆ้องมอญก็ควรมีรางระนาดรูปร่างเดียวกัน อย่างวงประคองศิลป์คิดรางเป็นรูปหงส์ทั้งตัว หรือ ‘รางตุ๊กตา’ ที่ผสมระหว่างรางไทยรางมอญ แกะหน้าเทพนมกับหางยื่นออกจากหัวท้ายโขนราง กระทั่งหางนกยูงที่แพร่หลายเช่นกัน ปู่บอกได้ความคิดจากแพนหางนกยูงหลังช้างพระนเรศวร ถือเป็นสัญลักษณ์ชัยชนะจึงนำมาประดับในวงปี่พาทย์มอญ
“สมัยหนึ่งเคยจัด ‘มหกรรมศิลปวัฒนธรรมสุพรรณบุรี’ ปู่เป็นแม่งานออกเงินส่วนตัว ไหว้ครูแล้วจัดแสดงที่วัดป่าเลไลยก์ เชิญคนทำงานศิลป์ทุกแขนง ลำตัด ลิเก พุ ตะไลที่รับจากญี่ปุ่น ครูมนตรี ตราโมท อ่านโองการ หนุ่มๆ ปู่เป่าทรัมเป็ตประกอบหนังใบ้ เป่าเรียกคนหน้าโรงละครจ๊ำบ๊ะ ใช้ความรู้ดนตรีบรรจุข้าราชการครู เป็นคนเก่าแก่ที่ทันรู้เห็นตั้งวงปี่พาทย์มอญในสุพรรณ ตั้งแต่นายฮ้งวัดใหม่สุพรรณภูมิวงแรก วงวัดชัยทุ่งมาถึงวงบ้านบัวทอง คุมคนคุมเครื่องยี่สิบกว่าโค้งได้คงไม่ธรรมดา ส่งต่อความคิดมาถึงพ่อคนึง คิดเดี่ยวฆ้องสองคนหนึ่งโค้ง ระนาดรางเดียวสี่คนกอดคอประชัน พยายามนำเสนอสิ่งใหม่โดยตลอด”
ไม่เท่านั้น เพราะคลุกคลีเติบโตผ่านร้อนหนาวมาในวงปี่พาทย์มอญ เขายังเล่าความคิดส่วนตัวตั้งใจพัฒนาเปิงมาง 15 ลูกให้ฟัง โดยนำรูปแบบตีเปิงพม่า [ปัตวาย] 21 ลูก ที่เดิมเล่นดำเนินทำนองหลักในวงปี่พาทย์พม่า [ซายวาย] เป็นตัวตั้ง ผสมผสานหาจุดร่วมกับความเป็นเครื่องประกอบจังหวะของเปิงไทย 7 ลูก แล้วขยายเขตข้อจำกัดโดยเพิ่มจำนวนลูกและเสียงเปิงให้เท่าลูกฆ้องมอญ แต่ต้องตีตกลูกตกให้กลมกลืนและสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับทำนองดนตรี ลดปัญหาเปิงไทยตีสอดแทรกจังหวะแล้วมักขวางทำนองเพลง เช่นเพลงไม่กำหนดหน้าทับตายตัวอย่างเพลงเร็ว ที่เขาเน้นย้ำหัวใจหลักเปิงไทย 15 ลูก ว่า “คนเครื่องหนังต้องแม่นยำทำนองเพลง”
คนสุพรรณบุรีรู้จัก ‘บ้านบัวทอง’ เรียกชื่อติดปาก ‘บัวทองปี่พาทย์มอญ’ ‘บัวทองภาพยนตร์’ เพราะบริการฉายหนังกลางแปลงที่มีเครื่องฉายพร้อมจอหนังถึง 5 จอ [หน่วย] เป็นที่นิยมทั้งในกรุงเทพฯ และเขตภาคกลางหลายจังหวัด อย่างนนทบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และยังล่องใต้ถึงชุมพร หากแต่ชื่อเสียงเรียงนามในสนามปี่พาทย์ประชันวง ฝีมือนักระนาดบ้านบัวทองเป็นที่รู้จักในฐานะศิษย์ครูระนาดเอกแห่งยุค อย่างครูชื้น ดุริยประณีต ครูละมูล เผือกทองคำ โดยเฉพาะความรู้ปรับวงปี่พาทย์จากครูมนัส ขาวปลื้ม หรือ ‘เฮียเหม็ง’ บุคคลสำคัญที่ทำให้เขามีโอกาสพบครูวิชาชีพและวิชาการหลายต่อหลายท่านที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
“บ้านบัวทองประชันปี่พาทย์ เฮียเหม็งต้องดึงคนจากกรมศิลป์มาช่วยแทบจะยกทั้งกรม ที่ประชันบ่อยคืองานวัด กับบ้านกำนันแสวง คล้ายฉ่ำ วงประคองศิลป์กับคุณสมนึก ศรประพันธ์ ประชันมานานตั้งแต่รุ่นพ่อคนึง ถามเครียดไหม แน่นอนตอบเครียด ประชันงานวัดไม่มีกฎเกณฑ์กติกา ความรู้ที่มีต้องงัดเข้าสู้ทั้งหมด ตีทับเพลงไม่ได้ ทับแล้วต้องทับทุกเพลง ปี่พาทย์มอญเริ่มประโคมก็ซัดแล้ว เชิญผียังมีเชิญอื่นแก้ ไหนจะเรื่องพญา เรื่องพม่า เบ็ดเตล็ดทั่วไปถึงขั้นเดี่ยว ผมประชันตั้งแต่อยู่วิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพ เวทีลพบุรีวัดป่าธรรมโสภณ เรียนที่บ้านสมเด็จประชันกับวงครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ ช่วยตีระนาดให้วง ส.ลือวิชา
“สมัยนั้นบ้านสมเด็จมีชื่อเสียงเรื่องดนตรี ดังมาก แต่ยอมรับว่ามีความเป็นบ้านสูง เฮียเหม็งเป็นอาจารย์พิเศษอยู่บ้านสมเด็จ แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มากกว่ากรมศิลปากร พ่อคนึงจบ ปก.ศ.สูง เอกดนตรีรุ่นสอง แม้กระทั่งตัวผมเองก็เลือกเรียนที่นี่เพราะเฮียเหม็ง บรรยากาศซ้อมเพลงมีอยู่โดยตลอด งานบรรเลงไม่เคยขาด ครูอาจารย์กับนักศึกษาคลุกคลีจึงสนิทสนมกัน แอบเล่าให้ฟังว่า จบใหม่ๆ ผมไม่เคยคิดทำงานที่นี่ ใจมุ่งสอนวิทยาลัยนาฏศิลปเพราะผูกพัน บรรจุบ้านสมเด็จได้ก็เพราะน้ำใจ เป็นนักศึกษาชอบช่วยงานเอกเสมอ ทั้งที่บ้านมีงานมีวง เคยคิดหักเหชีวิตไปเป็นศิลปินเต็มตัว แต่ท้ายที่สุดก็เลือกที่นี่”
ในตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เขาสร้างชื่อเสียงให้ที่ทำงานโดยนำวงดนตรีครองแชมป์ชนะเลิศ 3 สมัย รายการ ‘ราชภัฏวัฒนธรรมสังคีต’ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ชนะเลิศวงดนตรีไทยร่วมสมัยจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หากแต่บนเส้นทางตำแหน่งบริหาร เขาเคยเป็นรอง ผอ.ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และสำนักกิจการนิสิตนักศึกษา ประสานโครงการ ‘แข่งขันดนตรีไทยชิงถ้วยสมเด็จพระเทพรัตน์’ ที่จัดต่อเนื่องล่าสุดเป็นปีที่ 5 ประสานวงดนตรีปี่พาทย์โครงการ ‘โขนสมเด็จเจ้าพระยา’ โขนรามเกียรติ์งานวันคล้ายวันพิราลัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ [ช่วง บุนนาค] ก่อนคุมบังเหียนสำนักศิลปะและวัฒนธรรม รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อสองปีที่ผ่านมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาคาร 2 หลังที่ตั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม แม้ขนาบข้างท่วมด้วยตึกสูงทรงกล่องสี่เหลี่ยมแนวตั้งกว่า 10 ชั้น ภายในพื้นที่โซน B ของมหาวิทยาลัย หากแต่นี่ถือเป็นหน้าตาอวด ‘รสนิยม’ แสดงความงามผ่านสถาปัตยกรรมเทียบชั้นโบราณสถานหลายแห่งย่านธนบุรี ที่ไม่น้อยหน้ามหาวิทยาลัยใดทั้งในแง่ความเป็นมาและออกแบบตัวอาคาร โดยเฉพาะเรือนไม้สองชั้นทรงปั้นหยาหลังคามุงกระเบื้องว่าว ‘บ้านเอกะนาค’ ที่ปีหน้าอายุครบรอบวาระ 100 ปี เพราะสร้าง พ.ศ. 2462 หัวใจคือโถงกลางชั้น 2 ยังคงสภาพสมบูรณ์ด้วยลวดลายเครื่องประกอบไม้ฉลุฝีมือประณีตเป็นเอกลักษณ์
“อาคารสองหลังได้รับรางวัล ‘อนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นกับคุณค่าทางสถาปัตยกรรม’ ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2555 บ้านเอกะนาคโทรมลงมากเพราะปิดร้างมานาน เท่าที่สำรวจคือปลวกกินพื้นไม้ กับผนังไม้ฉลุด้านนอกชำรุด ข่าวดีคืองบประมาณซ่อมบำรุงอนุมัติแล้ว แต่รอดำเนินการ ภายในวางแผนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เจ้าของเดิม คือพระยาประสงค์สรรพการ [ยวง เอกะนาค] รองรับแหล่งเรียนรู้ธนบุรีศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีนำเสนอ จัดกิจกรรม ‘ลานบ้านลานวัฒนธรรม’ หน้าสวนหย่อมสนามหญ้า หรือหารายได้เช่าพื้นที่พรีเวดดิ้งแต่งงานที่กำลังเป็นที่นิยม”
อีกหลังคือ ‘อาคาร ๑๕๐ ปี มหาบุรุษรัตโนดม [ช่วง บุนนาค]’ สร้าง พ.ศ. 2475 นอกจากเป็นที่ตั้งทำการสำนักงานสำนักศิลปะและวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ธนบุรีศึกษา [2] พร้อมส่วนค้นคว้าข้อมูล หัวใจสำคัญคือ ‘โรงละคร ๑๕๐ ปี ศรีสุริยวงศ์’ ที่แม้ก่อสร้างด้วยคอนกรีตผสมไม้เสริมเหล็กยาวไม่มีเสากลางอาคาร บันไดไม้โค้งเดินขึ้นปีกชั้นลอย 2 ข้าง และเก้าอี้นั่งไม้พับได้ให้อารมณ์โบราณ 400 ที่นั่ง หากแต่ร่วมสมัยด้วยระบบแสงสีเสียงสำหรับกิจกรรมร้องรำทำเพลงรองรับทัพคนทำงานศิลป์ต่างแขนง ที่เปิดใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นประธาน พร้อมทอดพระเนตรแสดงสดดนตรีแจ๊สจากคณาจารย์วิทยาลัยการดนตรี
“เราได้ทุนจากสำนักการท่องเที่ยวกรุงเทพ วิจัย ‘ชุมชนกุฎีจีนและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง’ พิมพ์หนังสือเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรม ทั้งทางรถ ทางเรือ ทางจักรยาน และวอกกิ้งสตรีท เกิด ‘ทอดน่องล่องเรือ’ โครงการสานต่อจากวิจัยชิ้นนั้น นำบุคลากรภายในและคนภายนอกเข้าสัมผัสสัมพันธ์กับชุมชน อาศัยทุนวัฒนธรรมรอบบ้านสมเด็จ เชื้อชาติต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ไม่ว่าจีน ลาว แขก มอญ ฝรั่ง โดยผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการอิสระ คืออาจารย์ธีรนันท์ ช่วงพิชิต ท่านนี้รอบรู้เรื่องฝั่งธนเป็นอย่างดี หรือหลายท่านที่อาศัยย่านนี้ อย่างคุณลุงอุราคนเก่าแก่ บ้านคุณลุงเคยเป็นที่ว่าการอำเภอธนบุรี เป็นต้น
“วางแผนที่นี่เป็นศูนย์ข้อมูลเรียนรู้หลายเรื่อง คลังค้นคว้าธนบุรีศึกษา งานศิลปวัฒนธรรมย่านฝั่งธนบุรี หรือโรงละครสำหรับคนทำงานวัฒนธรรม เปิดพื้นที่ให้คนภายนอกด้วย แต่กิจกรรมหลักตอนนี้คืองานคนบ้านสมเด็จ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่นคอนเสิร์ตไทย-สากลย่อมๆ จากวิทยาลัยการดนตรี โครงการ ‘สุริยวาฑิตเสวนา’ กระทั่งสาขานาฏยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ใช้จัดแสดงนำเสนอผลงานบ่อยครั้ง อนาคตหากวางแผนระบบลงตัว คนทำงาน ประชาสัมพันธ์ และเงินทุน ตารางงานวันเวลาแน่นอนทั้งปี เราอาจได้ชมฟรีคอนเสิร์ตดนตรีดีๆ เป็นทางเลือกอีกแห่งที่นี่ก็ได้” เขากล่าวปิดท้าย

ภายใน ‘โรงละคร 150 ปี ศรีสุริยวงศ์’ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตผสมไม้เสริมเหล็กยาวไม่มีเสากลางอาคาร บันไดไม้โค้งเดินขึ้นปีกชั้นลอย 2 ข้าง เเละเก้าอี้นั่งไม้พับได้ให้อารมณ์โบราณ 400 ที่นั่ง
[สัมภาษณ์วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ห้องทำงานส่วนตัวชั้น 1 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]
เชิงอรรถ
[1] จัดค่ำวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เวลา 17.00 น. ถึง 24.00 น. ณ โรงละคร 150 ปี ศรีสุริยวงศ์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รวมดาวนักระนาดหลายรุ่นต่างพื้นที่และสำนัก 30 คน เดี่ยวระนาดเอกเพื่อระดมทุนช่วยเหลือ “ป๋อม บอยไทย” ชัยยุทธ โตสง่า ศิลปินรางวัลศิลปาธร ที่ป่วยจากอาการเส้นเลือดในสมองซีกขวาแตก ร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง จำเป็นต้องพักรักษาตัวเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาช่วยเหลือตัวเองได้อีกครั้ง
[2] แหล่งเรียนรู้ธนบุรีศึกษา เนื้อหาถูกจัดแสดงออกเป็นห้องจำนวน 11 ห้อง เล่าเรื่องราวผ่านพัฒนาการของธนบุรีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้แก่ ห้องครั้งเป็นทะเลปากอ่าว ห้องลัดเมืองบางกอก ห้องฑณบุรีศรีมหาสมุทรหน้าด่านทางทะเล ห้องธนบุรีราชธานีใหม่ใกล้ทะเล ห้องกรุงธนฯ กรุงเทพฯ ห้องพระบรมธาตุแห่งพระนคร ห้อง ฅ คนธนบุรี ห้องปฐมวงศ์สกุลบุนนาค ห้องมรดกวัฒนธรรมและงานศิลป์ ณ ฝั่งธนบุรี ห้องเมื่อความเจริญข้ามฝั่ง ติดต่อเข้าชม โทร : 0-2473-7000 ต่อ 1500 เว็บไซต์ http://culture.bsru.ac.th หรือ http://www.facebook.com/culture.bsru
[บทความ เรื่อง “รังสรรค์ บัวทอง นักปี่พาทย์ ครูดนตรี และบทบาทหมาดใหม่ที่ได้รับ” ตีพิมพ์เผยเเพร่ครั้งเเรกในวารสารสุริยวาฑิต ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-ธันวาคม พ.ศ. 2561]