หลังสิ้นเสียงกว่า ๑๐ ปี นึกว่า “ตุ้มโมง” จะสูญจากสุรินทร์ แต่วันนี้ยังอยู่

หลังสิ้นเสียงกว่า ๑๐ ปี
นึกว่า “ตุ้มโมง” จะสูญจากสุรินทร์ แต่วันนี้ยังอยู่
พิชชาณัฐ ตู้จินดา: เรื่อง/ภาพ

นักเพลงรุ่นใหญ่แถบอีสานใต้มักทำนาเป็นอาชีพหลัก เล่นเพลงดนตรีเมื่อว่างงานหรือได้รับจ้างวาน ไม่ว่าจะเป็นนายจุม แสงจันทร์ นักเจรียงจับเปย จ.ศรีสะเกษ นายเผย ศรีสวาท นักมโหรีพื้นบ้าน จ.สุรินทร์ หรือนายสนั่น ปราบภัย นักปี่พาทย์พื้นบ้านนางรอง จ.บุรีรัมย์ ฯลฯ เขาเหล่านั้นแม้บางท่านร้างลาจากโลกดนตรีเพราะบริบทบางประการไม่อำนวย แต่ใช่ว่าทำนองดนตรีที่คุ้นหูคุ้นมือในความทรงจำจะเลือนหายไปด้วย

ย้อนหลังไปปี ๒๕๕๑ เสียง “ตุ้มโมง” จากเทปม้วนเก่าที่มีผู้นำมาเปิดในงานศพที่ บ.ปอยตะแบง จ.สุรินทร์ บันทึกการบรรเลงสดคณะนายเลือด สมานมิตร เมื่อกว่าสิบปีก่อน เป็นเหตุให้มีผู้ร่วมงานท่านหนึ่งแสดงตัวว่าเป็นนักเพลงเก่าวงตุ้มโมงและเป็นศิษย์นายเลือด พร้อมเป่าปี่เพลงตุ้มโมงอวดเพื่อยืนยัน ก่อนจะบอกเล่าว่าตนเลิกเล่นและเก็บงำความรู้ตุ้มโมงนี้ไว้นานพอๆ กับอายุไขม้วนเทป

ถ้าไม่ใช่เพราะเหตุบังเอิญคราวนั้น คงไม่เกิดหลายเรื่องดีๆ ตามมา ที่สำคัญคือ “โครงการฟื้นฟูเพลงตุ้มโมง ๑” โดยความร่วมมือของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กับสมาคมสำนักสุรินทร์สโมสร ที่ช่วยชุบลมหายใจตุ้มโมงให้กลับมีชีวิตอีกครั้งในโลกปัจจุบัน หลังเมืองสุรินทร์สิ้นเสียงตุ้มโมงนานนับสิบปี กระทั่งหลายคนเข้าใจว่าคงสูญ

ตุ้มโมง คำอธิบายในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ โดยกรมศิลปากร ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าวงดนตรีนี้คืออะไร ใช้บรรเลงงานไหน มีเครื่องดนตรีและเล่นเพลงอะไรบ้าง บอกชื่อตัวอย่างคณะตุ้มโมงและภาพถ่ายอีกภาพ อ่านแล้วไม่ชวนคิดต่อว่ามีความสัมพันธ์สำคัญอย่างไรต่อคนในสังคม ท่วงทำนองอารมณ์ดนตรีเป็นอย่างไร หรือปัจจุบันถ้าต้องการสัมผัสตุ้มโมงที่ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือหรือภาพถ่ายบนกระดาษควรหาดูหาฟังได้จากไหน

หลังหว่านคำถามเกี่ยวกับวงตุ้มโมงไปกับนักเพลงหลายท่านที่คุ้นเคย ความสงสัยส่วนตัวได้คลายลง เมื่อมีโอกาสเดินทางไป บ.ปอยตะแบง ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ เมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน พร้อมคณะนักศึกษาปริญญาโท สาขาดนตรีวิทยา ว.ดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล นำโดย ดร.สนอง คลังพระศรี ตามคำชี้แนะและนำทางจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง และอีกครั้งโดยลำพังเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

โชคดีที่ทั้งสองครั้งได้พบนายดัด สังข์ขาว ๒ ท่านนี้เองที่เคยแสดงตัวว่าเป็นนักเพลงเก่าวงตุ้มโมงในงานศพที่เล่าถึง และเป็นหนึ่งในเพียงสองท่านที่เป็นศิษย์เป็นน้ำเป็นเนื้อของนายเลือด สมานมิตร ที่มีชีวิตร่วมสมัยถึงปัจจุบัน อีกท่านคือนายสมพงษ์ อึ้งกล้า ทั้งสองครั้งที่พบกัน นอกจากนายดัดจะเล่นเพลงตุ้มโมงฉบับนายเลือดให้ฟังแล้ว ยังลงนั่งตอบคำถามเรื่องตุ้มโมงอย่างเป็นกันเองไม่ปิดบัง

“มีทั้งมโหรี ปี่พาทย์ ตุ้มโมง นักดนตรีกลุ่มปี่พาทย์มีนายบุ นายธร สมานมิตร (ปัจจุบันอายุ ๘๒ ปี ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้-ผู้เขียน) นายเลนส์อยู่บ้านนาสามเป็นนักมโหรี กลุ่มตุ้มโมงกันตรึมที่รวมวงกับครูเลือดบ่อยๆ มีทั้งอายุอ่อนและแก่กว่า นายพอก งามประจบ บ้านนาสาม คนนี้มีชื่อเรื่องกันตรึม นายรมณ์ รุ่นพี่ครูเลือด นายเมทคนปี่ บ้านสะกรอม ตอนครูเลือดรุ่นๆ พวกนี้ออกงานด้วยกันบ่อย

“สมัยก่อนเล่นตุ้มโมงกันไม่ขาด โดยเฉพาะฤดูแล้งในเมืองเขาชอบนัก เล่นทั้งที่บ้านที่วัด ครูเลือดเล่าว่า ถ้าได้ตุ้มโมงไปเล่น ถือว่าผู้ตายมีวาสนา วิญญาณจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ผู้ตายอายุต้องเกิน ๖๐ ปี อายุน้อยๆ ไม่นิยม หรือเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อีกอย่างเพราะราคาแพง สมัยครูเลือดราคายังคืนละเป็นพัน ถ้าอยากได้จริงๆ ก็เอาแค่คืนเดียว สมมุติเผาพรุ่งนี้ เล่นคืนนี้ พระฉันเช้าเสร็จ ย้ายศพออกจากบ้านก็หยุดเล่น” นายดัดเล่าบรรยากาศเพลงดนตรีเมื่ออดีตของ บ.ปอยตะแบง ก่อนวกเข้าเรื่องตุ้มโมง

ตุ้มโมงเป็นดนตรีงานศพ เช่นเดียวกับวงกาหลอทางใต้หรือวงบัวลอยของภาคกลาง อดีตถึงปัจจุบัน“พิธีกรรมหลังความตาย” เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ หลักฐานที่เป็นหลักประกันเพื่อโลกหลังความตาย ทั้งสิ่งปลูกสร้าง เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องประดับ ฯลฯ ที่พบบริเวณสุสานหรือหลุมศพ บ่งบอกว่าศพเหล่านั้นไม่ใช่ศพสามัญ หากแต่เป็นผู้ทรงเกียรติหรือหัวหน้าชุมชน ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกันกับการที่ตุ้มโมงบรรเลงเฉพาะศพที่ผู้ตายมีอาวุโสหรือเป็นที่เคารพของชุมชน เพราะถือเป็นเครื่องประดับเกียรติอย่างหนึ่ง

โดยเฉพาะ “กลอง” และ “ฆ้องโหม่ง” เครื่องดนตรีขนาดใหญ่ให้เสียงดังกังวานที่ผสมในวง แต่โบราณมักครอบครองโดยผู้เป็นหัวหน้า หรือถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชน (กลองโบราณขนาดใหญ่ที่ใช้ในวงตุ้มโมง บ.ปอยตะแบง เป็นสมบัติของวัดเช่นเดียวกัน) เพราะถือเป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ และเสียงจากเครื่องดนตรีทั้ง ๒ ชิ้นนี้เองที่เชื่อว่าสามารถส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่สัมปรายภพได้

นายดัดเล่าอีกว่า “เครื่องดนตรีมีกลองใหญ่ ฆ้องใหญ่ ปี่ ฆ้องรางสมัยก่อนมีเจ็ดลูก เดี๋ยวนี้มีแปดลูก ตุ้มโมงจะเล่นวันไหนไม่สำคัญ บางที ๓ คืน เล่นทั้งกลางวันกลางคืน เป็นระยะๆ สักชั่วโมงก็พัก พระฉันเพลก็เล่น ตกเย็นเล่นก่อนพระมาสวด เขาจะฟังเนื้อร้องเป็นหลัก มีผู้หญิงแก่จ้างผมไปเล่น สามีแกตาย ฟังตุ้มโมงแล้วร้องไห้เลย ได้ยินบทร้องแล้วนึกถึงสามี บางคนถึงกับสั่งไว้ก่อนตาย ขอวงนี้มาเล่นงานศพของตนด้วย”

จากคำบอกเล่าของนายดัดและข้อมูลจากเอกสารบางส่วนในมือ เครื่องดนตรีวงตุ้มโมงเรียกเป็นภาษาเขมรถิ่นไทยได้ดังนี้ สก็วลธม หมายถึง กลองใหญ่ กลองเพล กลองตุ้มก็เรียก กวงธม หมายถึง ฆ้องใหญ่ ฆ้องโหม่ง บางทีเรียกฆ้องหุ่ย ไสลตู๊จ หรือ ไสลแฮบ หมายถึง ปี่เล็ก บ้างก็เรียกปี่ไน ปี่เน หรือปี่ไฉน (ลักษณะคล้ายปี่นอกเครื่องดนตรีไทยมาตรฐาน) และ กวงเรียง หมายถึง ฆ้องราง ฆ้องราวก็เรียก ทั้งหมดใช้ผู้เล่น ๓ คน เป่าปี่หนึ่งคน ตีฆ้องรางหนึ่งคน ตีกลองใหญ่ ฆ้องโหม่ง และขับร้องไปด้วยอีกหนึ่งคน

นายดัดเล่าเสริมถึงครูเลือด สมานมิตร ผู้เป็นครู และเพลงที่ใช้เล่นในวงตุ้มโมงว่า “ผมเรียนกับครูเลือด ตอนนั้นแกอายุประมาณห้าสิบกว่า คิดว่าแกคงเรียนกับตารมณ์ รุ่นพี่ พ่อครูเลือดถ้าจำไม่ผิดก็เป็นครูตุ้มโมงเหมือนกัน ครูเลือดแกร้องดีครับ ถ้าเล่นตุ้มโมงแกจะร้องกับตีกลองใหญ่ฆ้องใหญ่เป็นประจำ ส่วนผมได้ทั้งร้องทั้งเป่าปี่ ได้ยินว่าแกมีน้องอีกคน แต่ผมจำชื่อไม่ได้ ครูเลือดเป็นเจ้าของวงตุ้มโมง กันตรึม บ.ปอยตะแบง รุ่นก่อนหน้าผม

“เรื่องผิดครูวงตุ้มโมงมีครับ ผิดมากด้วย ถ้าครูเลือดผิดครูจะมีเลือดออกตา ทางจมูกปาก นี่เฉพาะครูเลือด ถ้าลูกศิษย์จะปวดหัวปวดตัวธรรมดา ผมเคยเห็นแกผิดครู เลือดออกจริงๆ ครับ ไม่รู้ว่าแกไปทำอะไรผิด บางทีก็ผิดที่ลูกศิษย์ อย่างในบ้านลูกหลานไปเหยียบหมอน ข้ามเครื่องดนตรี สมมุตินะ ไม่ผิดที่ลูกศิษย์ก็ผิดที่ครู วิธีแก้ก็ยกครูเหมือนเราไหว้ครู แต่ของทุกอย่างต้องเพิ่มเป็นเท่าตัว เช่นกรวยห้าต้องเพิ่มเป็นสิบเป็นต้น แล้วเล่นเพลงถวายครูจึงจะหาย

“เพลงที่เรียนจากครูเลือด ผมเล่นถึงทุกวันนี้ มีสวายจุมเวิ๊อด ซแร็ยสะเติ์ร เข้าใจว่ามีมากกว่านี้ เพราะครูเลือดแกได้หลายเพลง ซแร็ยสะเติ์รเล่นเป็นประจำครับ ตลอดงาน เหมือนเขาเปิดธรณีกรรแสง”

ผมถามไถ่ชื่อสกุลนักดนตรีท่านอื่นที่ร่วมวงสนทนา คนหนึ่งชื่อนายสำเภาว์ ประสานดี เรียนกันตรึมตุ้มโมงจากนายดัด เป็นผู้ตีกลอง ฆ้อง ขับร้อง คนสองชื่อนายสมพงษ์ อึ้งกล้า มีชื่อด้านขับร้อง โดยเฉพาะเพลงกันตรึม ตีฆ้องราง ส่วนนายดัดหัวหน้าวงเป็นผู้เป่าปี่ ผมพักบทสนทนาเพื่อขอฟังเพลงตุ้มโมง นายดัดจึงไหว้ครูอย่างง่าย (จุดเทียน ๑ เล่ม นำเหล้าขาวรินบนเครื่องดนตรีทุกชิ้น) แล้วเล่นเพลงชื่อ “สวายจุมเวิ๊อด” ให้ฟัง

ลักษณะการเล่นวงตุ้มโมงวันนั้น อธิบายคร่าวๆ ไม่ใช่ข้อสรุป แต่เป็นข้อสังเกต ปี่ตั้งต้นทำนองเป็นเครื่องแรก ตามด้วยฆ้องรางตีห่างๆ ตามทำนองปี่ จากนั้นจึงรัวกลองใหญ่สั้นๆ แล้วตีฆ้องโหม่งสลับกลองใหญ่ ก่อนจะตีพร้อมกันหนึ่งครั้งจึงเริ่มร้องขึ้นอย่างช้าๆ มีเสียงปี่เป่าคลอโดยตลอด สูงบ้างต่ำบ้าง เอื้อนยาวอย่างเยือกเย็น ฆ้องรางตีห่างตามลูกตก กลองใหญ่และฆ้องใหญ่ตีเป็นระยะพอประมาณจนจบเพลง ทราบว่าเนื้อร้องสามารถเปลี่ยนได้ไม่ซ้ำ ตามแต่ผู้ร้องจะหยิบยกเรื่องใด เป็นประเภท “ร้อยเนื้อทำนองเดียว”

คำสวายจุมเวิ๊อด แปลตรงตัวหมายความว่ามะม่วงรอบวัดหรือมะม่วงเต็มวัด ทางดนตรีถือเป็นเพลงครู เพลงใหญ่ ใช้บรรเลงโหมโรงเพื่อบูชาครูก่อนเสมอ ซแร็ยสะเติ์รแปลว่าสาวแรกรุ่น นายดัดเล่าให้ฟังหลังเล่นเสร็จว่ายังมีเพลงเกร็ดชื่อสกาและอมตู๊ก ผมค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือบางเล่มปรากฏชื่อเพลงตุ้มโมง ซแร๊กยุม ที่แปลว่าร้องไห้คร่ำครวญ หรือนกแสกร้อง ซแร็ยปะเสิร แปลว่าชมสาว และเพลงที่ไม่ได้ชื่อเป็นภาษาเขมรอย่างจันตีกับฮวงจำปา แต่หนังสือไม่ได้บอกว่าเป็นภาษาใด (ลาว?)

เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงข้อเขียน อ.สงัด ภูเขาทอง เรื่องปี่พาทย์เครื่องสามในดนตรีไทย ที่ท่านกล่าวถึงวงตุ้มโมง ตึงนง กาหลอ ที่เชื่อว่าเป็นวงปี่พาทย์เก่าแก่สุดที่กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ของไทย ก่อนจะวิวัฒนาการเป็นวงปี่พาทย์หลายรูปแบบดังปัจจุบัน จริงเท็จประการใดไม่อาจยืนยัน แต่อยู่ที่เรียนรู้และยอมรับหลักฐานที่ปรากฏ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ดนตรีไทยไม่ได้หล่นลงมาจากสวรรค์แล้วงดงามในบัดดล

นายดัดเล่าปิดท้ายว่า “สิบกว่าปีครับที่ตุ้มโมงหายไป เพราะไม่มีคนเล่น ไม่มีคนจ้าง คนสุรินทร์เองยังไม่มีใครรู้จัก ที่รวมตัวกันทุกวันนี้ก็อายุห้าสิบขึ้นทั้งนั้น โรงเรียนในหมู่บ้านก็ไม่สนใจ อย่างวัยรุ่น เพลงแบบนี้เขาไม่ชอบหรอก ไม่คิดว่าต้องอนุรักษ์ ขนาดผมซ้อมกันทุกครั้งเขายังไม่เคยมาดู ช่วงนี้มีแต่งานกันตรึมครับ ตุ้มโมงนานๆ ถึงจะมีสักครั้ง ต้องคนรู้จักกันจริงๆ คิดว่าถ้าไม่มีเด็กรุ่นใหม่มาเรียน ไม่ช้าก็หมดอีก”

จึงเป็นเรื่องของคนปัจจุบันที่จะทำอย่างไรให้ตุ้มโมงมีชีวิตแล้วกลับมามีชีวาด้วยพร้อมกัน…

เชิงอรรถ
๑ โครงการฟื้นฟูเพลงตุ้มโมง โดยความร่วมมือของคณะนักเพลง บ.ปอยตะแบง บ.ตราดระบอก บ.กระทม จ.สุรินทร์ และสมาคมสำนักสุรินทร์สโมสร ได้รับงบสนับสนุนจากโครงการมานุษยวิทยาเดินดิน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยมีนายดัด สังข์ขาว นายสมพงษ์ อึ้งกล้า เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ เริ่มฝึกฝนผู้สนใจและฝึกซ้อมทุกวันพฤหัส ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๕ กระทั่งเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ ปิดโครงการโดยจัดเสวนา “ตุ้มโมงเมืองสุรินทร์ ไม่สืบสานก็สาบสูญ” เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณ บ.ปอยตะแบง จ.สุรินทร์

๒ นายดัด สังข์ขาว อายุ ๖๕ ปี เกิดปี ๒๔๙๑ บิดามารดาชื่อนายยิน และนางบัว สังข์ขาว สมรสกับนางละอาย สังข์ขาว มีบุตรธิดา ๓ คน นายดัดเริ่มเรียนซอกันตรึมเมื่ออายุ ๑๘ ปี กับนายพอก งามประจบ ต่อมาฝากตัวเรียนเพลงตุ้มโมงกับนายเลือด สมานมิตร กระทั่งเป็นนักดนตรีวงตุ้มโมงและวงกันตรึมประจำ บ.ปอยตะแบง ปัจจุบันทำนาเป็นอาชีพหลัก อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๒๕ บ.ปอยตะแบง ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. (๒๕๕๐). ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน).
สมาคมสำนักสุรินทร์สโมสร. (๒๕๕๖). ตุ้มโมงเมืองสุรินทร์ ไม่สืบสานก็สาบสูญ. (แผ่นพับ). สุรินทร์: สมาคมสำนักสุรินทร์สโมสร
สงัด ภูเขาทอง. (๒๕๓๔). ประชุมบทความทางวิชาการดนตรี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.

สัมภาษณ์, บรรยาย
ดัด สังข์ขาว. สัมภาษณ์. ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๖, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖.
พัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา. สัมภาษณ์. ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖.
สนอง คลังพระศรี. สัมภาษณ์. ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๖.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. บรรยาย. ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕.

(ฟังเพลงตุ้มโมงได้ที่เว็ปไซด์ YouTube.com โดยพิมพ์คำว่า “ตุ้มโมง วงนายดัด สังข์ขาว”)

(ติดต่อวงตุ้มโมงนายดัด สังข์ขาว เเละคณะ ๐๙๐ ๖๑๘๑๘๕๕)

นายเลือด สมานมิตร

นายเลือด สมานมิตร

IMG_6817

นายดัด สังข์ขาว (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ)

นายดัด สังข์ขาว (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ)

 

Comment

  1. อนุรักษ์ นิลฉาย says:

    สุดยอด เลยครับ ขอติดตามผลงานครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *