นัยสำคัญเเห่งพิธีไหว้ครูดนตรีไทย

นัยสำคัญแห่งพิธีไหว้ครูดนตรีไทย

พิชชาณัฐ ตู้จินดา

กล่าวโดยพิสดาร อุปมาพิธีไหว้ครูดนตรีไทยประหนึ่งภาพจิตรกรรมไทยประเพณี นอกจากคุณค่าทางศิลป์ที่เป็นที่ประจักษ์เพราะความงามตาแล้ว ก็มิได้ละเลยความลุ่มลึกทางความคิดแห่งวัฒนธรรมอย่างไทยที่ถ่ายทอดผ่านเส้นสายและเรื่องราวในภาพจิตรกรรม

เช่นกัน พิธีไหว้ครูดนตรีไทย ความเฉียบคมของสังคีตาจารย์โบราณคือการแฝงภาพสะท้อนจิตวิญญาณแห่ง “ความกตัญญู” คุณธรรมสำคัญระหว่าง “ศิษย์” กับ “ครู” ภายใต้ข้อกำหนดและขั้นตอนพิธีกรรมที่สื่อเป็นรูปธรรมสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ

พิธีไหว้ครูเป็นปรากฏการณ์ในแง่มุมทางวัฒนธรรมดนตรีไทยลักษณะหนึ่ง เป็นกิจกรรมที่เหล่าศิษย์จัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครู (อาจมีหลายวิธี ทั้งแสดงออกและไม่แสดงออก คือสำนึกรู้ภายในจิตใจ) ซึ่งคำ “กตัญญู” นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมาย ว่า “ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำให้” ตรงข้ามกับคำ “อกตัญญู” หรือ “เนรคุณ” ที่หมายถึง “ผู้ไม่รู้คุณคน” หรือ “ลบหลู่คุณท่าน” นอกจากการไหว้ครูสำหรับเริ่มต้นเรียนดนตรีที่กระทำอย่างย่นย่อ และการไหว้ครู (ยกครู) ก่อนเริ่มบรรเลงดนตรีแล้ว ยังมีการไหว้ครูประจำปีที่จัดขึ้นอย่างใหญ่โตเอิกเกริกอีกด้วย

ตัวพิธีกรรมจึงเสมือนประตูนำไปสู่คุณธรรมหรือศีลธรรมบางอย่าง ดังแนวคิดที่พิชิต ชัยเสรี เสนอไว้อย่างชัดเจนในหนังสือพุทธธรรมในดนตรีไทย ความว่า

“เมื่อมองในแง่ขบวนการ พิธีกรรม (Cult) นับเป็นเบื้องต้นที่สุด ซึ่งบุคคลจะต้องผ่านเพื่อเข้าไปสู่ระบบศีลธรรม (Code) และความเชื่อสำคัญ (Creed) อย่างน้อยพิธีกรรมนั่นเองช่วยทำให้มนุษย์สามารถจับต้องความคิดนามธรรมต่างๆ ของศาสนาได้ เช่น พิธี Confirmation ในคริสต์ศาสนา เพื่อให้ชาวคริสตชนที่มั่นคงจะต้องรับเจิมและทาน้ำมันเป็นรูปกางเกนที่แก้มและตามตัว และรับกลืนขนมปัง (เม็ดแป้งสีขาวเล็กๆ) ซึ่งหมายความว่าพระจิตได้เสด็จเข้ามาสู่กายผู้นั้นแล้ว”

สำหรับกรณีพิธีไหว้ครูนี้ แม้บุคคลต่างศาสนาต่างวัฒนธรรมก็ย่อมรู้สึกซาบซึ้งและเกิดความเข้าใจได้ เพราะเรื่องคุณธรรมและศีลธรรมเป็นสากล ดุจงานศิลปกรรมชิ้นเอกที่สามารถสร้างความสะเทือนใจได้ด้วยความงามโดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนา

ส่วนคำ “ครู” พจนานุกรมฉบับเดียวกันให้ความหมายว่า “ผู้สั่งสอนศิษย์” หรือ “ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์” ครูที่คนดนตรีไทยสำนึกคุณแสดงความคารวะกตัญญูผ่านพิธีกรรมไหว้ครูสามารถจำแนกออกได้ ๔ ประเภท คือ ๑. ครูเทวดา ๒. ครูผี ๓. ครูมนุษย์ และ ๔. เครื่องดนตรี ดังนี้

๑. ครูเทวดา

ครูเทวดา หมายถึงเทพเจ้าในคติพราหมณ์ของอินเดีย แสดงรูปเคารพเชิงสัญลักษณ์เป็นหัวโขนหรือ “หน้าครู” (สัญลักษณ์นิยม) ซึ่งในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยจะตั้งหน้าครูเป็นประธานในปะรำพิธีให้ความสำคัญรองจากพระพุทธรูป โดยทั่วไปมักอัญเชิญหน้าครูแสดงรูปนิมิตเทพเจ้าเรียงลำดับตามความสำคัญ ได้แก่ ๑. พระอิศวร ๒. พระนารายณ์ ๓. พระพรหม ๔. พระอินทร์ ๕. พระวิศวกรรม ๖. พระคเนศ ๗. พระปรคนธรรพ ๘. พระปัญจสิขร ๙. พระนารอดมุนีฤๅษี และ ๑๐. พระพิราพ

หรืออัญเชิญเฉพาะ “เทพสังคีตาจารย์” องค์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทยโดยตรงจำนวน ๕ องค์ อันได้แก่ พระวิศวกรรม (วิศุกรรม วิษณุกรรม หรือเพชรฉลูกรรณ์) หัวโขนรูปหน้ามนุษย์สีเขียว มงกุฏเทริดทรงน้ำเต้า พระนารอดมุนีฤาษี หัวโขนรูปหน้าฤๅษีสีกลีบบัวโรย (สีม่วง) ชฎาดอกลำโพงหนังเสือ ลักษณะแก้มสอบเข้า เรียกลักษณะทรงหน้าอย่างนี้ว่า “หน้าไทย” ซึ่งต่างจากพระภรตมุนีฤๅษีของฝ่ายนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นหัวโขนรูปหน้าฤๅษีสีทอง ชฎาดอกลำโพงหนังเสือ ลักษณะแก้มผายอูม เรียกลักษณะทรงหน้าอย่างนี้ว่า “หน้าแขก” พระพิราพ หัวโขนรูปหน้าอสูรสีน้ำรัก (สีม่วงแก่) ปากแสยะ ตาจระเข้ เขี้ยวตรง พระปรคนธรรพ (ประโคนธรรพ) หัวโขนรูปหน้ามนุษย์สีเขียวใบแค มงกุฎยอดฤๅษี และพระปัญจสิขร หัวโขนรูปหน้ามนุษย์สีขาว มงกุฎน้ำเต้าห้ายอด

สำหรับความเชื่อเรื่องครูเทวดา ข้าพเจ้าขอยกอรรถาธิบายที่พิชิต ชัยเสรี แสดงไว้ในหนังสือพุทธธรรมในดนตรีไทย เพื่อให้ท่านทั้งหลายพอเห็นกระสวนความคิดในเรื่องดังกล่าว ตอนหนึ่งความว่า

“บทเพลงทั้งหลายของดนตรีไทยนั้น มีน้อยเพลงที่ทราบนามผู้แต่ง แต่ส่วนมากนั้นไม่อาจระบุชื่อคีตกวีผู้สร้างสรรค์ได้ จะเป็นด้วยวัฒนธรรมไทยไม่ชอบอวดตัวหรือไม่นิยมการประกาศเอกัตตานุภาพก็สุดจะอธิบาย ความจริงที่ปรากฏก็คือ ไม่รู้จะหันหน้าไปสรรเสริญผู้ใดเมื่อซาบซึ้งอรรถรสทางดนตรีของเพลงเยี่ยมๆ ทั้งปวง

“จุดนี้ทำให้ผู้เขียนพอใจจะอธิบายปรากฏการณ์ที่นักดนตรีไทยเชิญรูปนิมิตของพระคเณศขึ้นประดิษฐานบนที่บูชาร่วมกับรูปนิมิตของเทพสังคีตองค์อื่นๆ ว่าเป็นไปในอุปมานิทัศน์เช่นเดียวกัน ก็พระคเณศนั้นมีคติความเชื่อว่า เป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการ จึงพอเหมาะจะเป็นสัญลักษณ์แทนผู้สร้างสรรค์ศิลปะทั้งหลายที่มิได้เปิดเผยนาม การไหว้พระคเณศจึงเป็นความนอบน้อมต่อท่านผู้นิรนามเหล่านี้ มิใช่การไหว้บุตรแห่งศิวะผู้เสียเศียร ดังมีผู้เข้าใจเชิงหยันว่า ดนตรีไทยเป็นกากเดนความเชื่อของเทวดาแขกแต่อย่างใด”

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอาจจะกล่าวได้ว่า การไหว้ครูพระวิศวกรรม (เทพเจ้าแห่งศิลปะการช่าง) ก็ประหนึ่งเป็นการระลึกถึงคุณครูช่างทั้งปวงที่ได้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีขึ้นใช้บรรเลง ทั้งปรากฏนามและไม่ปรากฏนาม (คนดนตรีไทยเชื่อว่า เครื่องดนตรีไทยที่ใช้บรรเลงทุกวันนี้ พระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างและประทานเป็นแบบฉบับแก่มนุษย์) หรือการไหว้ครูเทวดาองค์อื่นๆ เช่น พระปรคนธรรพ (บรมครูดนตรีด้านเครื่องหนังและจังหวะ) พระปัญจสิขร (บรมครูดนตรีด้านเครื่องสาย) ก็เช่นเดียวกับความคิดเรื่องการไหว้พระคเณศดุจกัน

(วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ส่วยและเขมร ถือ “ครูปะกำ” เป็นตัวแทนประหนึ่งครูดนตรีด้านเครื่องหนัง เพราะเชื่อว่าผีปะกำสิงสถิตอยู่ในหนังปะกำทำจากหนังวัวหนังควาย ซึ่งเครื่องดนตรีที่เป็นเครื่องหนังก็ทำจากหนังวัวหนังควายเช่นกัน)

เครื่องสักการบูชาที่นอบน้อมถวายต่อครูเทวดาในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย นอกจากเครื่องสังเวยกระยาบวชบูชาและดอกไม้ธูปเทียนเพื่อเป็นไปในทางบรรณาการแล้ว บทไหว้ครูที่ครูผู้อ่านโองการกล่าวบูชาเป็น “ภาษาร่าย” (คำคล้องจองที่ยกย่องเป็นภาษาพิเศษ) และเพลงหน้าพาทย์ที่วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงตามคำเรียกของครูผู้อ่านโองการ (สำหรับอัญเชิญเทวดาและผู้มีฤทธิ์อำนาจอื่นๆ) ยังถือเป็นการสักการบูชาในลักษณาการหนึ่งอีกด้วย

๒. ครูผี

ครูผี หมายถึงครูมนุษย์ที่เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่เคยอบรมสั่งสอนและทำกิจประโยชน์แก่ศิษย์รวมถึงสังคมดนตรีไทยส่วนรวม ครั้นเสียชีวิตลง ด้วยคุณงามความดีที่เคยกระทำไว้เป็นเบื้องหลัง เมื่อเหล่าศิษย์จัดพิธีไหว้ครูขึ้นครั้งใดจึงนำภาพถ่ายครูดนตรีที่เสียชีวิตแล้วเหล่านั้นขึ้นตั้งบนแท่นบูชาร่วมกับเทพสังคีตาจารย์ (วางต่างระดับกัน) เพื่อเป็นการแสดงความระลึกและความกตัญญุตา นอกจากนี้ยังอาจหมายรวมถึงผีบรรพบุรุษอีกด้วย

แนวความคิดนี้สอดคล้องกับ “พิธีเลี้ยงผี” ดั้งเดิม ที่เป็นต้นแบบพิธีไหว้ครูดนตรีไทยในปัจจุบัน ดังที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนในหนังสือดนตรีไทยมาจากไหน? ว่า

“ไหว้ครู ครอบครู ดนตรีและนาฏศิลป์ เป็นพิธีกรรมสำคัญของคนทำงานทางดนตรีและนาฏศิลป์ มักจัดขึ้นปีละครั้ง มีต้นแบบจากพิธีเลี้ยงผี เมื่อ ๓,๐๐๐ ปี มาแล้ว ต่อมาสมัยหลังๆ รวมเข้ากับพิธีพราหมณ์ มีเทวดามาเกี่ยวข้อง”

หรือ “ไหว้ครู หมายถึง พิธีกรรมที่บรรดา ‘ครูมนุษย์’ (หรือครูปัจจุบัน) กับเหล่าลูกศิษย์ ร่วมกันแสดงคารวะ ‘ครูผี’, ‘เจ้า’, ‘เทวดา’ (เช่น พระอีศวร) ผู้เป็นครูในอดีตที่ตายไปแล้ว”

หรือ “ครอบครู หมายถึงเริ่มประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้นั้นๆ เช่น ความรู้ด้านดนตรี, นาฏศิลป์, ฯลฯ ครูผู้ทำพิธีครอบ จะยก “พ่อแก่” (พระอีศวร) สัญลักษณ์ของ “ครูผี” หมายถึง วิชาความรู้ (หรือหลักการทางนามธรรมอย่างหนึ่ง) ครอบลงบนศีรษะของลูกศิษย์หรือผู้เรียนวิชา แสดงว่าเริ่มต้นเรียนวิชาความรู้อย่างสมบูรณ์และมั่นใจแล้ว”

หรือ “‘ครูอ่านโองการ’ ต้อง ‘เข้าทรง’ เชิญพลังศักดิ์สิทธิ์จาก ‘ครูผี’ มาครอบงำ หรือสิ่งสู่อยู่ในตัวตน ‘ครูอ่านโองการ’ เสียก่อนถึงจะเชื่อมพลังศักดิ์สิทธิ์จาก ‘ครูผี’ มา ‘ครอบ’ ให้ลูกศิษย์ปัจจุบันได้”

เครื่องบูชาที่นอบน้อมต่อครูผี นอกจากเครื่องเซ่นของดิบที่วางแยกเป็นสัดส่วนต่างหากจากของสุก หรือเหล้าขาวบุหรี่ที่ไม่ใช่เครื่องบริโภคของเทวดาแล้ว ยังมีการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ถวายภัตตาหารเช้า/เพล สังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ หรือทำบุญในลักษณะอื่นๆ เพื่อเป็นทานอุทิศส่วนบุญกุศลแด่ครูผู้ล่วงลับเหล่านั้นอีกด้วย

๓. ครูมนุษย์

ครูมนุษย์ หมายถึงครูผู้อบรมสั่งสอนที่มีตัวตนและมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับศิษย์ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในพิธีไหว้ครู เพราะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ต่างๆ ที่ศิษย์สามารถจับต้อง ทดแทนคุณและเห็นผลได้ในขณะกระทำ (ไม่ใช่สัญลักษณ์นิยมอย่างครูเทวดาหรือครูผีที่ล่วงลับไปแล้ว) ครูบางท่านยังเป็นตัวแทนอ่านโองการเพื่ออัญเชิญครูเทวดาครูผีสู่ปะรำพิธีไหว้ครูและเชื่อมโยงพลังศักดิ์สิทธิ์มาครอบให้แก่ศิษย์อีกด้วย

ข้าพเจ้าขอยกประโยคที่จักรพันธุ์ โปษยกฤต เขียนถึง “การประสิทธิ” ความรู้จากครูสู่ศิษย์ ที่ลึกซึ้งทั้งภาษาและความหมาย ปรากฏในหนังสือคิดถึงครู ความว่า

“หากวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนสืบทอดมาทั้งชีวิต เป็นมรดกที่ครูบาอาจารย์ให้จำเพาะเจาะจง ใช่ว่าจะมีจะได้ทุกคนไป ถึงอยากได้ก็ไม่ได้ ถึงอยากมีก็ไม่มี เพราะเจ้าของท่านไม่ให้ การมอบมรดกอันหาค่าไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่าประสิทธิ เป็นการให้ด้วยใจ จากจิตถึงจิต ไม่ได้เลื่อยลอย ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของครูบาอาจารย์ และวาสนาของศิษย์เท่านั้น”

เครื่องบูชาคุณครูมนุษย์ในพิธีไหว้ครู นอกจากพวงมาลัยดอกไม้เป็นอย่างพื้นแล้ว ยังมีการมอบ “ขันกำนล” ประกอบด้วยขัน ผ้าขาว ดอกไม้ธูปเทียน และเงินกำนลจำนวน ๖ บาท (เครื่องบูชาครูนี้พิชิต ชัยเสรี กล่าวว่า “ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการกุศลในพุทธศาสนา ก็แสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น”) อาการของศิษย์ในขณะที่มอบขันกำนลแด่ครู ต้องกระทำด้วยความนอบน้อมโดยมอบด้วยมือทั้งสองข้างและก้มศีรษะลงต่ำ เพื่อสื่อความว่าได้มอบกายใจให้ครูเป็นผู้สั่งสอนศิลปะวิทยาการและอบรมขัดเกลานิสัยศิษย์ (คนละเรื่องกับการเชื่อถือเชื่อฟังครูอย่างเชื่องๆ)

แต่ดูเหมือนปัจจุบันคนจะหลงยึดติดกับรูปแบบขั้นตอนของพิธีกรรมและมุ่งความสำคัญไปที่ครูเทวดาเสียมาก จนกระทั่งมองข้ามและให้ค่าความสำคัญครูมนุษย์เป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่งในพิธีไหว้ครูไปอย่างน่าเสียดาย

๔. เครื่องดนตรีไทย

ใช่แต่ครูเทวดา ครูผี และครูมนุษย์เท่านั้นที่คนดนตรีไทยให้ความเคารพและแสดงความสำนึกคุณผ่านพิธีไหว้ครู หากแต่เครื่องดนตรีไทยทั้งหลายที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้เล่นกับผู้ฟังในฐานะเครื่องมือทำเพลง (บรรลือเสียง) ก็ได้รับการกราบไหว้และจัดตั้งอย่างไม่เป็นวงบนแท่นบูชาในปะรำพิธีไหว้ครูร่วมกับหน้าครูและภาพถ่ายครูดนตรีผู้ล่วงลับด้วยเช่นกัน

คนดนตรีไทยถือประเพณีปฏิบัติต่อเครื่องดนตรีไทยอย่างเคารพนบนอบ โดยนิยมยกมือไหว้ กราบ หรือนำพวงมาลัยดอกไม้บูชาเครื่องดนตรีก่อนฝึกซ้อมและทำการบรรเลง ทั้งงดปฏิบัติกิริยาไม่เหมาะควรไม่ว่าจะเป็นใช้อวัยวะต่ำสัมผัส ส่งของหรือเดินข้าม หรือชายกระโปรง (ผ้าถุงสตรี) ครอบเครื่องดนตรี

(วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก เพราะเป็นการ “ผิดครู” ส่งผลให้ผู้กระทำเจ็บป่วยหรือมีอาการต่างๆ ต้อง “แต่งครู” โดยจัดเครื่องเซ่นและบรรเลงดนตรีถวายครูจึงจะหาย)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตะโพน” ที่คนดนตรีไทยยกย่องเป็นสิ่งแทนพระปรคนธรรพ ดังปรากฏลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุดิศกุล ความว่า “ที่ว่าเป็นครูตะโพนนั้นเป็นของเปรียบ ด้วยตะโพนนั้นเป็นเครื่องให้จังหวะ เป็นเครื่องบังคับการร้องรำทุกเพลงทุกอย่าง เหมือนเป็นนายหรือเป็นครู จึงยกให้พระประคนธรรพเป็นครูตะโพน”

สิ่งหนึ่งที่แสดงการยกสถานะตะโพนให้เป็นเครื่องดนตรีพิเศษ คือ ผ้าขาว คนดนตรีไทยจะนำผ้าขาวพันทับรัดอกโดยรอบตัวตะโพนเพื่อแสดงความเคารพ เพราะผ้าขาวเป็นสัญลักษณ์ผู้ทรงศีลและความบริสุทธิ์ และเพื่อความขลังศักดิ์สิทธิ์ ดังมีเรื่องเล่าว่ามีการใช้หนังเสือหนังหมีทำหน้ากลองแทนหนังวัวที่ใช้โดยทั่วไป นอกจากนี้ ตะโพนยังเป็นเครื่องหนังชนิดเดียวในวัฒนธรรมดนตรีไทยที่มีเท้ารองหุ่นกลองเพื่อยกตัวตะโพนให้สูงขึ้นจากพื้น และเชื่อว่าน้ำล้างหน้าตะโพนสามารถล้างอาถรรพ์ได้

แต่ข้าพเจ้าใช่จะหมายความว่า เครื่องดนตรีไทยมีครูเทวดาหรือครูผีสิงสถิตอยู่เป็นประจำ อันจะเข้าทำนอง “พวกเคาะหัวครูกิน” อย่างที่บางท่านกล่าวเชิงหยันคนดนตรีไทย เพราะเมื่อพิจารณาแล้ว คนไทยแต่เดิมให้ความเคารพและกตัญญูต่อเครื่องมือทำมาหากิน และเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมี “ขวัญ” ประจำอยู่ พจนานุกรมฉบับเดียวกันให้ความหมายคำ “ขวัญ” ว่า “มิ่งมงคล สิริ ความดี เช่น ขวัญข้าว ขวัญเรือน หรือ สิ่งที่ไม่มีตัวตน เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหายขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น และอนุโลมใช้ไปถึงสัตว์หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ช้าง ม้า ข้าว เรือน ฯลฯ ว่ามีขวัญเช่นเดียวกับคนเหมือนกัน”

ไม่ว่าจะเป็น “หาบ” สำหรับหาบเร่ขายของ ผู้ค้ามักนำพวงมาลัยหรือทองคำเปลวปิดเพื่อเป็นมงคล ทั้งยังห้ามเดินข้าม เครื่องมือดักสัตว์อื่นๆ ได้แก่ สุ่มปลา ข้องจับปลา หรือแห ที่ร้านค้ามักนำมาบูชาเพราะเชื่อว่าสามารถดักเงินดักทองค้ากำไรเป็นผล หรือเครื่องมือช่างศิลป์ทั้งหลายก็เป็นวิธีคิดเช่นเดียวกับการบูชาเครื่องมือทำมาหากินด้วยเช่นกัน

ในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยแต่ละครั้ง คนดนตรีไทยจึงถือโอกาสทำความสะอาดและซ่อมบำรุงเครื่องดนตรีครั้งใหญ่ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม ทั้งจุลเจิมด้วยกระแจะจันทร์ของหอมและโปรยข้าวตอกดอกไม้ (เป็นการบำรุงขวัญอย่างหนึ่ง) พร้อมแขวนผ้าสี่เหลี่ยมสีแดงชิ้นเล็กที่เรียก “ผ้าหน้าโขน” เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้ได้ผ่านพิธีไหว้ครูแล้ว

การยกมือไหว้ทำความเคารพเครื่องดนตรีก่อนการบรรเลง ยังเป็นการรำลึกถึงคุณครูอาจารย์ที่เคยสั่งสอน เป็นการสำรวมใจและทำสมาธิชั่วขณะจิตที่ดียิ่งก่อนเริ่มบรรเลงดนตรีอีกด้วย

พิธีไหว้ครูดนตรีไทยเป็นประเพณีดีงามที่ยังคงจัดและสืบทอดโดยสถาบันการศึกษา วงดนตรีไทยทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ข้าพเจ้าก็ไม่แน่แก่ใจว่า ผู้จัดหรือผู้ร่วมพิธีจะตระหนักถึงนัยสำคัญนี้มากน้อยสักเพียงไร เพราะสิ่งที่ประจักษ์ ความสำนึกเรื่องความกตัญญูของคนร่วมสมัยในหมู่ศิษย์เริ่มลดน้อยถอยลง รวมทั้งพิธีไหว้ครูกำลังก้าวไปสู่ความเป็นพาณิชย์ของระบบทุนนิยม เพราะขันกำนลยังถูกมองเป็นเรื่องรายได้ หรือแม้แต่ครูผู้อ่านโองการบางรายยังหาผลกำไรจากการประกอบพิธี

สุดท้ายนี้ ถ้าสิ่งที่ธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวในหนังสือดนตรีในพระธรรมวินัย ว่า “เราย่อมทราบกันดีแล้วว่า งานดนตรีปี่พาทย์โขนละครนั้นเป็นงานศิลปะ ก็และงานศิลปะนั้นเป็นงานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยกย่องสรรเสริญว่า ‘เป็นมงคลสูงสุดประการหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ’” เป็นความจริง นัยสำคัญแห่งพิธีไหว้ครูอาจช่วยยกระดับจิตใจและนำเราไปสู่ปลายทางคือ จิตวิญญาณแห่งความกตัญญู บ้างก็ได้

เอกสารอ้างอิง

เจตนา นาควัชระ. (๒๕๕๕). ทางสายกลางแห่งการวิจารณ์. กรุงเทพมหานคร: โอเพ่นบุ๊กส์.
ธนิต อยู่โพธิ์. (๒๕๑๘). ดนตรีในพระธรรมวินัย. กรุงเทพมหานคร: ร.พ. ประยูรวงศ์.
พิชิต ชัยเสรี. (๒๕๔๐). พุทธธรรมในดนตรีไทย. เอกสารสำเนาเย็บเล่ม.

พิธีไหว้ครูดนตรีไทย คณะดุริยประณีต (บ้านบางลำภู) ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ)

พิธีไหว้ครูดนตรีไทย คณะดุริยประณีต (บ้านบางลำภู) ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ)