ฉวีวรรณ ดำเนิน “ราชินี” หมอลำ

ฉวีวรรณ ดำเนิน “ราชินี” หมอลำ

พิชชาณัฐ ตู้จินดา

คงไม่เป็นการเกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า บนเวที “มหกรรมสืบสานฮีตฮอยหมอลำ เฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา” “ฉวีวรรณ ดำเนิน” เธอคือหมอลำหญิงที่มีความโดดเด่นที่สุด

หลังเสร็จพิธียกอ้อยอครู (ไหว้ครูหมอลำ) ที่จัดขึ้นช่วงเช้าในศาลาประชาคม บริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ภายในงานดังกล่าว ทางกองบรรณาธิการวารสารเพลงดนตรี ไม่รอช้าที่จะเข้าประกบตัวนัดสัมภาษณ์หมอลำหญิงท่านนี้ เพื่อซักถามและพูดคุยเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอาชีพหมอลำ ซึ่งเธอตอบตกลงและได้แสดงทัศนะต่างๆ อย่างน่าสนใจ

ฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ) หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานอย่างสนิทใจว่า คุณยายฉวี หมอลำกลอนที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ว่าเป็นผู้ที่มีไหวพริบปฏิภาณด้านหมอลำที่เฉียบแหลมคนหนึ่ง มีความจัดเจนทั้งด้านการแต่งกลอนลำ การคิดท่วงทำนองหมอลำกลอน และประดิษฐ์ท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในสองของหมอลำหญิง นอกจากนางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ

“แม่เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ถ้าจะถามว่า เกียรติที่แม่ได้รับมันแตกต่างกันอย่างไร มันมีเกียรติกันคนละอย่าง ก่อนที่เป็นศิลปินแห่งชาติ กระแสของสังคมทั่วไป ไม่ว่าจะระดับไหนเขาก็ยอมรับเรา ซึ่งนี่เป็นทุนทางสังคมของแม่อยู่แล้ว

“แต่พอได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ฐานผู้บริโภคมันขยายและเติบโตขึ้นไปอีก ทั้งหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม แม่ถือว่านี่เป็นฐานใหม่ แต่ฐานผู้ฟังเดิมแม่ไม่เคยลืม ฐานเดิมเราลงเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ฐานใหม่แม่ต้องศึกษา ต้องฝึกตัวเองให้เข้ากับเขาให้ได้ เพราะนี่เป็นการยกระดับศิลปินอย่างเราอีกทางหนึ่ง”

ด้วยลักษณะเฉพาะที่แสดงความเป็นตัวตนของหมอลำฉวีวรรณ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การแต่งตัวที่เรียบแต่หรู น้ำเสียงและลีลาในการลำ ท่วงท่าการแสดงที่สง่างาม หรือบุคลิกการวางตัวที่มีความพอดี จึงทำให้ใครหลายคนจดจำหมอลำสุภาพสตรีท่านนี้ได้ อย่างที่หมอลำฉวีวรรณกล่าวว่า

“เราจะทำอย่างไรให้เราเป็นฉวีวรรณ ดำเนินให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทำนองลำ ต้องลำที่มันเป็นของเรา อย่าไปเอาของคนอื่น อย่างตัวแม่เองเวลาไปลำที่ไหน มันมีเสียงสะท้อนหลายๆ อย่างจากผู้ฟังตอบกลับมา เราต้องนำมาศึกษาและนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น

“แต่ใช่ว่าแม่จะไม่มีต้นแบบนะ เพราะหมอลำในดวงใจของแม่มีถึง ๓ ท่าน ท่านแรกคือ หมอลำทองดี ดำเนิน พี่สาวของแม่เอง ท่านเป็นคนที่มีความอ่อนไหวมาก อ่อนไหวทั้งอารมณ์ ทั้งท่วงทำนองการลำ แล้วก็ห้องขับร้อง ท่านที่สอง หมอลำคำปุ่น ฟุ่งสุข ท่านนี้แม่ประทับใจเรื่องลีลาท่าฟ้อนรำของท่าน ส่วนท่านสุดท้ายก็คือ หมอลำแพงศรี แสงทวีสุข

“แม่ใช้เวลาตัดทอนบางสิ่งบางอย่างออก เพื่อหาทางและหาสิ่งที่มันดีที่สุด คำว่าดี ถ้าไม่เหมาะกับเราก็นำมาใช้ไม่ได้ ต้องเป็นสิ่งที่มันถูกกับเราด้วย ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะอยู่แม่ก็อยู่อย่างฉวีวรรณ จะไปก็ไปอย่างฉวีวรรณ แต่งกายก็แต่งอย่างฉวีวรรณ ร้องก็ร้องทำนองของฉวีวรรณ คนถึงจำฉวีวรรณได้”

นอกจากเอกลักษณ์ส่วนตัว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น หมอลำฉวีวรรณยังมีความเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จบนเส้นทางศิลปินอย่างยิ่งยวด และสามารถครองใจแฟนเพลงได้จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ก็เพราะด้วยเธอยึดถือผู้ชมผู้ฟังเป็นหลักสำคัญ

“การเป็นศิลปินที่เก่งและดีแล้ว ใช่ว่าเราจะไม่สนใจผู้ชมผู้ฟังเลย เพราะไม่ว่าแม่จะไปแสดงหมอลำที่ไหน แม่จะดูพลังของผู้ชมก่อนว่าเป็นอย่างไร และเขาชอบบริโภคสิ่งใด เพราะคนในแต่ละระดับย่อมชอบต่างกัน

“เมื่อแม่ประเมินสถานการณ์แล้ว ก็นำมาบวกลบคูณหารเพื่อหาหัวเฉลี่ย แล้วนำมารวมกันให้เป็นหนึ่งเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ ทำอย่างไรให้สิ่งที่เรานำเสนอมันเป็นของผู้บริโภคให้ได้”

แม้ปัจจุบันหมอลำฉวีวรรณจะมีอายุย่างเข้าเลข ๖ แต่ทว่ายังคงจดจำช่วงเวลาที่ตนได้รับความนิยมจากแฟนเพลงได้เป็นอย่างดี และหากเปรียบชีวิตหมอลำอันรุ่งโรจน์ของเธอกับสิ่งบางสิ่ง หมอลำฉวีวรรณ คงเป็นดวงดาวที่เปล่งแสงสุกสกาวอยู่บนฟ้า

“แม่เป็นหมอลำตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ตรงนั้นแม่ไม่มีเวลาที่จะให้ประโยชน์กับเรื่องอื่นๆ เลย อายุ ๑๖ ปี จนกระทั่งถึงอายุ ๒๘ ปี เป็นช่วงเวลาที่แม่มีความรุ่งเรืองมากที่สุด เวลาทุกเวลาจะว่ามันเป็นเงินเลยก็ว่าได้ ทั้งค่าตอบแทน ความเป็นอยู่ ชื่อเสียงเกียรติยศมีสูงมาก นอกจากนี้ น้ำใจจากแฟนเพลงก็มีให้เราสูงเช่นกัน

“แม่จึงถือว่าอาชีพหมอลำเป็นอาชีพที่สูงส่งเฉพาะทาง เฉพาะส่วนภูมิภาค ตัวแม่เลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียน มีครบทุกอย่างตามที่ต้องการก็เพราะอาชีพหมอลำ”

ฃนอกจากนี้ หมอลำฉวีวรรณยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากหมอลำท่านอื่นๆ เมื่อยิงคำถามทิ้งท้ายอย่างตรงประเด็นว่า “ปัจจุบันหมอลำเดินทางมาถึงทางตันแล้วหรือยัง?” เมื่อสิ้นสุดประโยคคำถาม เธอกล่าวตอบอย่างมั่นอกมั่นใจ ว่า

“ไม่ตัน ไม่มีทางตันแน่นอน หมอลำจะต้องเดินหน้าต่อไป เพราะอะไร เพราะมนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งนี้ขึ้นมา อย่างไรก็แล้วแต่เราจะต้องพยายามพาสิ่งนี้ไปให้ได้ อย่างเช่นเราคิดว่ามันมาถึงทางตันแล้ว จริงๆ แล้วมันไม่ตันหรอก เพราะยังมีคนนั้นคนนี้คิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด นำเอาสิ่งที่มันแตกต่างเข้ามาประสมประสาน แล้วมันก็เลี้ยงตัวของมันไปได้”

พร้อมกันนี้ เธอยังฝากข้อคิดถึงเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป ในเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ว่า

“แม่อยากให้ลูกๆ หลานๆ สนใจในเรื่องศิลปะพื้นบ้านของตัวเอง ที่ว่าสนใจนี้ ไม่ได้ให้สนใจเป็นอาชีพ แต่เพื่อที่จะตอบคนอื่นเขาได้ แล้วให้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เขาเป็นใคร ให้รู้ตรงนี้ อย่างเช่นว่า หมอลำคืออะไร หมอลำมาจากไหน หมอลำมีกี่ประเภท หมอลำกินอะไร หมอลำแต่งตัวอย่างไร ไม่ต้องเอาเป็นอาชีพ แต่ให้เยาวชนศึกษาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เพียงพอแล้ว”

และนี่คือเรื่องราวและทัศนะทั้งหมด ของศิลปินหมอลำหญิงที่ได้รับการยกย่องและขนาดนานให้เป็น “ราชินีหมอลำ” แห่งยุคปัจจุบัน

(จากวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๔, ภูมิพงษ์ คุ้มวงศ์: ถ่ายภาพ)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *