ประวัติชีวิตนายเผย ศรีสวาท คนดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้

ประวัติชีวิตนายเผย ศรีสวาท คนดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้
พิชชาณัฐ ตู้จินดา

กำเนิด เครือญาติ และครอบครัว

นายเผย ศรีสวาท อายุ ๘๓ ปี เกิดเดือนมีนาคม (ไม่สามารถสืบค้นวันที่และวันเกิดได้) ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๗๓ บิดาชื่อนายตู ศรีสวาท มารดาชื่อนางบอน ศรีสวาท สกุลเดิมหารสุด บรรพบุรุษเท่าที่สามารถสืบค้นได้มีอาชีพหลักทำนาทั้งหมด คือ ปู่ชื่อนายรีก ศรีสวาท ย่าชื่อนางปวม ศรีสวาท ตาชื่อนายทุน หารสุด และยายชื่อนางอึ่ง หารสุด

นายเผยเป็นพี่ชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน ได้แก่ นายเผย ศรีสวาท นางผวย ศรีสวาท นางเผิน ศรีสวาท และนายศุภชล ศรีสวาท พี่น้องทุกคนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ผู้มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทยดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ได้แก่นายเผย และนายศุภชล (เทียม) ศรีสวาท พี่ชายคนโตและน้องชายคนสุดท้อง นายศุภชลเคยเป็นครูสอนดนตรีไทยดนตรีพื้นบ้านที่โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดสุรินทร์

นายเผยสมรสเมื่ออายุ ๒๓ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๖ กับนางพวน ศรีสวาท สกุลเดิมแพงเจริญ (ปัจจุบันอายุ ๘๕ ปี) คนหมู่บ้านระไซร์ ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ อาชีพเดิมทำนา ทั้งสองมีบุตรธิดาร่วมกัน ๔ คน คือ นายศุภวัฒน์ ศรีสวาท ประกอบอาชีพ รับราชการครู นางบุญร่วม ศรีสวาท ประกอบอาชีพ ทำนา นายชัยสิทธิ์ ศรีสวาท ประกอบอาชีพ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และนายอุทัย ศรีสวาท ประกอบอาชีพ เจ้าหน้าที่กรมทางชนบท

บรรพบุรุษสายบิดา คือคนในสกุลศรีสวาท บ้านเดิมอยู่หมู่บ้านระไซร์ ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ สืบค้นได้ว่าสามารถร้องรำทำเพลงได้ตั้งแต่รุ่นนายรีก รวมถึงพี่น้องร่วมท้องอีก ๔ คน คือ นายยอง นายเปก นายจิว และนายรีก ทั้งหมดเป็นนักดนตรี เล่นดนตรีและขับร้องรับส่งละคร (นัยว่าเรื่องรามเกียรติ์) ประจำวงพระยาสุรินทร์ เจ้าเมืองสุรินทร์ในสมัยนั้น

นายเผยเล่าว่า “ผมเกิดมาทีหลัง แต่ทราบว่าเขาเล่นกันมานานแล้ว ผมนี่เล่นไม่ได้ครึ่งพวกเขาหรอก”

ขอบันทึกไว้ตรงนี้สักน้อยหนึ่งว่า นายเผยเป็นหลานรักของนายรีก ทุกวันนายเผยมีหน้าที่บีบนวดผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการทำไร่ทำนาให้ปู่ของตน ด้วยความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีเวลาอยู่ด้วยกันมากกว่าหลานคนอื่นๆ ช่วงเวลานี้เองที่นายรีกมักเล่าประสบการณ์ดนตรีที่ตนประสบมา และสอนวิทยาอาคมต่างๆ ให้แก่ผู้เป็นหลาน รวมถึงบทบูชาครูและบททำน้ำมนต์ครูที่ทุกวันนี้นายเผยใช้บริกรรมทุกครั้งก่อนเล่นดนตรีก็ได้รับถ่ายทอดจากนายรีกผู้เป็นปู่ด้วยเช่นกัน

นายเผยเล่าว่า “ปู่แกบวช พอสึกก็ได้วิชาออกมาด้วย ผมเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ แกบอกว่า คาถานี้ทำน้ำมนต์พรมให้เด็กหรือคนเป็นไข้ก็ได้ หรือจะท่องคาถาแล้วเคี้ยวหมากพ้น (สะเดาะ) ก็ได้

“ตอนนั้นผมไปเล่นเพลงแถวขุขันธ์ ศรีสะเกษ มีคนเขาเข้ามารบกวน ผมเล่นดนตรีอยู่ก็เอาซอมาสีด้วย เข้ามาถามสารทุกข์สุขดิบ ถามเรื่องเครื่องดนตรีว่าคืออะไร พูดง่ายๆ ว่าจะเข้ามาแหย่มากวน รุ่งขึ้นอีกวัน สายๆ ผมรอขึ้นรถกลับบ้าน เขาเดินมาแล้วคุกเข่ากราบผม ๓ ครั้ง บอกว่า ‘เขาขอยอมแล้ว’ แล้วก็จากไป ผมเข้าใจว่าเขาคงทำอะไรผมไม่ได้ จึงบอกว่ายอม เวลาออกงานเล่นดนตรีผมจะท่องคาถาบูชาครูบทนี้ทุกครั้ง”

บิดานายเผย คือนายตู สืบเชื้อสายร้องรำทำเพลงจากบิดาของตน นายตูสามารถเล่นดนตรีได้ทั้งเครื่องดนตรีมโหรีอีสานใต้และเครื่องดนตรีปี่พาทย์ (ที่นายเผยใช้คำว่าพิณพาทย์) ไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพแต่เล่นเพื่อความสุข เมื่อมีใครจ้างวานหรือขอแรงก็จะรวบรวมสมัครพรรคพวกรวมวงเล่นดนตรีตามงานต่างๆ หรือประโคมที่วัดในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

นายเผยเล่าว่า “ไม่รู้ว่าพ่อเรียนมาจากใคร รู้แต่ว่าพ่อเรียนพร้อมกับครูเที่ยง ดีเสริม ซึ่งเป็นครูของผม”

นายตูเสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรียเมื่อประมาณอายุ ๓๐ ปี ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะถูกเกณฑ์ไปทำทางทำถนนไปอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าและทางเกวียน ขณะนั้นนายเผยอายุประมาณ ๑๒ ปี

ฉะนั้น ถ้านับจากนายรีก ศรีสวาท นักดนตรีรุ่นแรกในตระกูลจนถึงปัจจุบันที่นายเผยให้คำสัมภาษณ์ว่า เหลนชายของตน คือนายพีรศักดิ์ ร่าเริง อายุ ๑๖ ปี สามารถเล่นดนตรีและร่วมวงออกงานกับตนพร้อมกับสมาชิกคนอื่นๆ ได้อย่างแข็งขัน ตระกูลศรีสวาทจึงสืบเชื้อสายนักดนตรีจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาถึง ๖ ชั่วคน

ส่วนบรรพบุรุษสายมารดา คือคนในตระกูลหารสุด นางอึ่งรกรากพื้นเพเดิมเป็นคนในเมืองจังหวัดสุรินทร์ ส่วนนายทุนไม่สามารถสืบค้นได้ว่าเดิมเป็นคนพื้นที่ใด แต่ได้รับข้อมูลจากนายเผยว่า นายทุนผู้นี้มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันจำนวนทั้งหมด ๔ คน ต่างประกอบอาชีพทำนา ส่วนนายทุนมีความรู้ความสามารถในการเล่นดนตรี มักร่วมร้องรำทำเพลงกับสมาชิกอยู่เสมอ (นัยว่าเป็นนักดนตรีประจำวงพระยาสุรินทร์ เจ้าเมืองสุรินทร์ในสมัยนั้นเช่นกัน)

นางบอน ศรีสวาท มารดานายเผย เสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่ออายุประมาณ ๘๘ ปี

การศึกษาสายสามัญ และบวชบรรพชา

นายเผย ศรีสวาท เข้าศึกษาสายสามัญชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เมื่ออายุประมาณ ๑๑ ปีตรงกับ พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่โรงเรียนวัดนาสม (เฉนียง ๒) ซึ่งในสมัยนั้นโรงเรียนประจำตำบลเฉนียง ที่ชาวบ้านนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษามีด้วยกัน ๔ โรง คือ

– โรงเรียนวัดปราสาทศีลาราม (เฉนียง ๑)

– โรงเรียนวัดนาสม (เฉนียง ๒)

– โรงเรียนวัดโคกบัวไรย์ (เฉนียง ๓)

– โรงเรียนวัดราชวิถี (เฉนียง ๔)

เมื่อนายเผยศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้ออกมาเป็นกำลังสำคัญช่วยบิดามารดาหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งยังดูแลน้องทั้ง ๓ คน แทนมารดาเมื่อต้องออกไปทำไร่ไถนา และช่วงจังหวะชีวิตนี้เองขณะที่นายเผยอายุ ๑๕ ปี ได้ฝากตัวศึกษาดนตรีกับครูดนตรีพื้นบ้านที่มีความรู้ความสามารถคนหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ คือ นายเที่ยง ดีเสริม

เมื่อนายเผยอายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดนาสม จำพรรษาเป็นเวลา ๑ พรรษา ได้รับฉายาในครั้งนั้น ว่า “วิสโพ”

นายเผยเล่าว่า “ช่วงนั้นไม่มีใครทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย น้องๆ ก็ยังเล็กอยู่ จึงต้องสึกออกมา”

การศึกษาดนตรี

เมื่อนายเผย ศรีสวาท ศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และออกจากโรงเรียนวัดนาสมแล้ว ช่วงชีวิตตั้งแต่เช้าจรดเย็นของแต่ละวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการช่วยเหลือบิดามารดา ทำไร่ทำนาและเลี้ยงโคกระบือ ส่วนช่วงค่ำของทุกวันได้ไปฝากตัวศึกษาดนตรีกับนายเที่ยง ดีเสริม ซึ่งมีที่พำนักอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน

นายเผยเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ตนตัดสินใจศึกษาดนตรี ว่า “คนตระกูลผมถ้าผิดครูก็ต้องมาไหว้ครู ต้องแต่งครู หาหัวหมูบายศรีมาเซ่นสังเวย ต้องเสียค่าแรงนักดนตรี เพราะต้องมีดนตรีเล่นประกอบ เขาว่า ‘ถ้ามันกินเราเราก็ต้องกินจากมันบ้าง’ ตระกูลนี้จึงให้ลูกหลานเรียนดนตรี เพราะถ้ามีคนมาจ้างเล่นดนตรี เราก็จะได้ค่าแรง ไม่เสียเปล่า”

นายเผยเริ่มศึกษาตรัวอู้ (ซออู้) เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก โดยเริ่มเรียนเพลงแรก คือ เพลงต้นฉิ่ง ซึ่งเป็นเพลงแรกในเพลงชุดไหว้ครู ประกอบด้วย เพลงต้นฉิ่ง เพลงหางยาว เพลงปีนตลิ่ง เพลงทรงปราสาท เพลงสมัย เพลงตะนาว ซึ่งทุกครั้งที่จะเริ่มเล่นวงมโหรีอีสาน หลังจากทำพิธีไหว้ครูเสร็จสิ้นแล้วจะต้องบรรเลงเพลงชุดไหว้ครูนี้เป็นอันดับแรกก่อนเสมอ เช่นเดียวกัน วงดนตรีครูเที่ยง ดีเสริม จะต่อเพลงชุดไหว้ครูนี้ให้แก่ศิษย์ทุกคนก่อนที่จะต่อเพลงอื่นๆ ต่อไป

นายเผยเล่าเพิ่มเติมว่า ก่อนที่ครูเที่ยงจะต่อเพลงให้ตน วันแรกของการศึกษา ครูเที่ยงได้ทำพิธีไหว้ครูเพื่อรับตนเป็นศิษย์อย่างเป็นทางการ โดยตนได้เตรียมเครื่องประกอบพิธีไหว้ครูเพื่อมอบแด่ครูเที่ยง ดังนี้

– ใบตองม้วนเป็นกรวยเล็กพอประมาณ ภายในบรรจุดอกไม้ไม่จำกัดชนิดหรือสี จำนวน ๕ กรวย หรือที่นายเผยเรียกว่า “กรวยห้า”

– เงินค่ายกครูหรือเงินกำนนจำนวน ๖ บาท

– เหล้าขาวจำนวน ๑ ขวด

– ขันน้ำมนต์พร้อมน้ำสะอาดบรรจุในขันจำนวน ๑ ขัน

– เทียนสำหรับทำน้ำมนต์

หลังจากที่นายเผยมอบเครื่องประกอบพิธีไหว้ครูทั้งหมดให้แด่ครูเที่ยงแล้ว ครูเที่ยงได้ประกอบพิธีไหว้ครู ทำน้ำมนต์ และประพรมน้ำมนต์ให้แก่ตนเพื่อความเป็นสิริมงคล

วิธีการสอนหรือการต่อเพลงของครูเที่ยง ครูเที่ยงจะท่องทำนองเพลงของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ ตั้งแต่ต้นจนจบท่อนเพลง (ในกรณีที่เพลงหนึ่งมีหลายท่อน) หรือตั้งแต่ต้นจนจบเพลง (ในกรณีที่เพลงมีความยาวไม่มากจนเกินไป) เพื่อให้ศิษย์ได้สังเกตและจดจำทำนองเพลง จากนั้นจึงให้ศิษย์บรรเลงเครื่องดนตรีตาม ซึ่งครูเที่ยงจะปฏิบัติอย่างนี้ทุกครั้ง

วิธีการสอนลักษณะนี้จึงเป็นวิธีฝึกให้ลูกศิษย์จดจำเสียงโน้ตดนตรีให้มีความแม่นยำ ถ้าลูกศิษย์ฟังเสียงไม่ออกหรือไม่เข้าใจวิธีการบรรเลง ครูเที่ยงจึงจะบรรเลงให้ฟังจากเครื่องดนตรี

นายเผยถือเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของนายเที่ยง นอกจากนี้ยังมีลูกศิษย์คนอื่นๆ ที่ฝากตัวศึกษาดนตรีร่วมรุ่นกับนายเผยอีกจำนวน ๓ คน ได้แก่ นายสวัสดิ์ จันกลิ่น นายเฮีย หอมสุด นายเงา ดีเสริม (ปัจจุบันเสียชีวิตทั้งหมด)

นายเผยเล่าบรรยากาศการศึกษาดนตรีกับครูเที่ยง ดีเสริม ให้ฟัง ว่า “ลูกศิษย์มาเรียนเวลาไหนท่านก็สอนเวลานั้น แต่ส่วนใหญ่จะเรียนช่วงเย็น ใครขยันมากก็ได้มาก ใครขยันน้อยก็ได้น้อย ผมโดนทำโทษมากกว่าใครเขาเพื่อน เพราะผมไม่ฉลาด โดนเขกกบาลเป็นประจำ

“เวลาไปเรียนผมเดินไป เพราะบ้านอยู่ใกล้กัน กินข้าวเย็นเสร็จก็ไป เรียนจนถึงเที่ยงคืนถึงกลับ เป็นอย่างนี้ทุกวัน ผมสู้ ไปไหนก็ต้องท่องเพลงอยู่กับปากอยู่กับใจ ท่องตลอดไม่ให้ลืม กลับจากทำงานทำนาดำกล้า พอถึงบ้านก็ต้องจับเครื่องดนตรีก่อน ก่อนกินข้าวนะ พอกินเสร็จก็ไปเรียนต่อ”

ต่อมาเมื่อนายเผยเริ่มมีความรู้ความสามารถด้านดนตรีดีแล้ว ครั้งใดที่มีงานบรรเลงดนตรี ครูเที่ยงมักให้นายเผยร่วมวงบรรเลงกับตนพร้อมสมาชิกคนอื่นๆ ภายในวงเสมอ โดยส่วนใหญ่วงดนตรีที่ออกงานบรรเลงเป็นประจำได้แก่ วงมโหรีอีสาน นิยมบรรเลงในงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวชนาค งานสวดพระอภิธรรมศพ วงกันตรึม นิยมบรรเลงในงานแต่งงาน งานเข้าทรงแม่มด หรือพิธีกรรมจวลมะม๊วด และวงปี่พาทย์ นิยมบรรเลงในงานทั่วไปคล้ายวงมโหรีอีสาน

นายเผยเล่าว่า “เพลงที่ครูเที่ยงต่อให้มีเพลงมโหรี ๖ เพลง เพลงพิณพาทย์ ๑๒ เพลง อย่างเทพนิมิตก็ได้ แต่ผมลืมไปเกือบหมดแล้ว ยังมีเพลงเบ็ดเตล็ดอีกเยอะ เป็นร้อยเพลง แต่ผมลืมไปเสียมาก สมัยก่อนเวลาออกงานก็ใช้เพลงพวกนี้ทั้งนั้น สมัยนี้ก็ยังใช้เพลงที่ครูเที่ยงต่อให้เล่นอยู่”

สำหรับค่าตอบแทนนักดนตรีในอดีต นายเผยเล่าให้ฟังว่า ค่าจ้างต่อหนึ่งวง ถ้าเจ้าภาพให้ราคาสูงจะประมาณ ๕๐ บาท สูงสุดไม่เกิน ๗๕ บาท บรรเลงตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ถ้าต่างหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านใกล้เคียงมีงานและจ้างวงดนตรีมาบรรเลงเหมือนกัน ถ้าอีกวงหนึ่งไม่หยุดบรรเลงวงของครูเที่ยงก็จะบรรเลงไม่หยุดพักเช่นกัน คล้ายว่าเป็นการประชันขันแข่งอยู่ในที

นอกจากครูเที่ยงจะสอนนายเผยเล่นดนตรีแล้ว ครูเที่ยงยังสอนการทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านให้แก่นายเผยอีกด้วย นายเผยเล่าว่า สมัยก่อนพวกตนจะทำเครื่องดนตรีใช้กันเองตามคำแนะนำของครูเที่ยง อย่างเช่นปี่ เพราะในสมัยนั้นครูเที่ยงมีลูกศิษย์เรียนปี่ ๔ คน แต่ทั้งหมู่บ้านมีปี่เพียงเลาเดียวเท่านั้น ซึ่งครูเที่ยงไม่อนุญาตให้นายเผยเป่าปี่เลานี้ ด้วยเห็นว่านายเผยยังเรียนไม่ทันลูกศิษย์คนอื่นๆ แต่ด้วยความใฝ่รู้และใฝ่เรียน นายเผยจึงนำไม้เนื้อแข็งที่สามารถหาได้ในหมู่บ้านมาเจาะรูด้วยเหล็กแหลมเผาไฟแล้วกลึงขึ้นรูป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมานายเผยจึงเริ่มศึกษาการทำเครื่องดนตรีโดยมีครูเที่ยงเป็นผู้แนะนำและได้ทำใช้เองมาโดยตลอด

ต่อมาเมื่อนายเที่ยง ดีเสริมได้เสียชีวิตลง นายเผยได้ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนดนตรีเพิ่มเติมกับครูดนตรีจากบ้านนาสาม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ คือ นายทอนและนายบุ (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้) ซึ่งทั้งสองท่านได้สอนเครื่องดนตรีปี่พาทย์ โดยเฉพาะฆ้องวงใหญ่ให้แก่นายเผย

นายเผยเล่าว่า “แต่ก่อนผมเรียนปี่พาทย์ เครื่องดนตรีที่จะเล่นจะเรียนก็ไม่มี มีแต่เครื่องดนตรีที่วัดประจำหมู่บ้าน หมู่บ้านห้วยราชเวลามีงานก็ต้องมายืมจากที่นี่”

ครูเที่ยง ดีเสริม ในความทรงจำ

นายเผย ศรีสวาท ให้สัมภาษณ์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างตนกับนายเที่ยง ดีเสริม ครูดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ บ้านระไซร์ ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ว่า เมื่อครั้งที่ตนเข้าไปฝากตัวเรียนดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้กับนายเที่ยง ขณะนั้น นายเที่ยงมีอายุประมาณ ๕๐ ปี

นายเที่ยง ดีเสริม เป็นบุตรในบรรดาพี่น้องทั้ง ๙ คน ของนายเหียน และนางสบู่ ดีเสริม ประกอบด้วยนางกืก นางใบ นายเบือน นายเบี่ยง นางเตียบ นายเที่ยง นางเต็ระ นางเต็บ และนางเปริด นายเที่ยงเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวในครอบครัวที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรี แต่นายเหียนผู้เป็นบิดาแม้ไม่สามารถบรรเลงดนตรีได้ แต่มีเครื่องดนตรีครบชุดทั้งมโหรีและปี่พาทย์ในความครอบครอง โดยในบั้นปลายชีวิตได้ขายเครื่องดนตรีชุดนี้ให้กับนายมา ไดตอง (สมุธิราช) นักดนตรีพิการคนหนึ่งที่บ้านโคกตาชัย อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ (บิดานางพลอย ราชประโคน)

นายเที่ยงมีรูปร่างสมส่วน คือไม่สูงและไม่เตี้ยเกินพอดี ผิวสีดำแดง มีภรรยาชื่อนางแบน ดีเสริม (สกุลเดิมหารสุด) ทั้งสองมีบุตรธิดาร่วมกันทั้งหมด ๖ คน ได้แก่ นางปรึก นางเปรียด นายเอก นางคำพุ นางคำพจน์ และนางเผือด นายเอกเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้โดยศึกษาจากบิดาของตน

นายเที่ยงมีความรู้ความชำนาญในการบรรเลงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้อย่างดีเยี่ยม สามารถบรรเลงได้ทั้งเครื่องดนตรีปี่พาทย์และเครื่องดนตรีมโหรีอีสาน โดยได้ร่ำเรียนวิชาความรู้จากครู ๓ ท่าน ได้แก่ นายงำ (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้) มีที่พำนักอยู่ในตัวเมืองจังหวัดสุรินทร์ (นัยว่าเป็นผู้สอนตีระนาดเอก) นายอิฐ (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้) มีที่พำนักอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ (นัยว่าเป็นผู้สอนเป่าปี่) และนายตาบึล (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้) มีที่พำนักอยู่ที่บ้านนาสาม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ (นัยว่าเป็นผู้สอนตีระนาดเอก ตีฆ้อง และเป่าปี่)

นายเที่ยงเป็นเจ้าของวงดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ประจำหมู่บ้านระไซร์ในอดีต ซึ่งนอกจากนายเที่ยงแล้วยังมีสมาชิกนักดนตรีคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกันอีก ๔ คน คือ นายบึล นายเปิง นายยุล และนายบวล

บั้นปลายชีวิต ครูเที่ยง ดีเสริมเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม ก่อนเสียชีวิตได้มอบมรดกเครื่องดนตรี ๒ ชิ้นให้แก่นายเผยเพื่อเป็นอนุสรณ์ คือ ฉิ่งตีด้วยสำริดอย่างดีหนึ่งคู่ (ปัจจุบันยังอยู่ในความครอบครองของนายเผย ศรีสวาท และใช้บรรเลงทุกครั้งเมื่อออกงาน) และปี่ไม้ ๑ เล่า (นายเผย ศรีสวาท ได้มอบปี่เลานี้ให้แก่สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดสุรินทร์ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา)

นายเผยเล่าว่า “ผมประทับใจท่านทุกอย่างทุกเรื่อง เพราะถ้าท่านลงสอนใครแล้ว คนนั้นไม่มีการเสียคน ท่านสอนผมว่า เรียนดนตรีเราต้องเคารพครูจริงๆ ไม่ละเมิดครู ครูว่าอย่างไรต้องว่าอย่างนั้น ต้องฟัง

“ครูเที่ยงท่านดุมาก ในการเล่นดนตรีก็เจ้าระเบียบมากที่สุด ถ้ากินข้าวในงาน ห้ามกินเหลือ แกว่า ‘ใครจะกินเดนมึง’ ต้องเล่นให้เป็นระเบียบ หยุดเล่นแล้วต้องหยุดให้สนิท ห้ามตีนั่นตีนี่ ท่านบอก ‘มันจะเสียเพลง’ หยุดเล่นก็ห้ามออกนอกเครื่องดนตรี ต้องนั่งอยู่กับที่ ไม่ใช่เดินไปไหนมาไหน เขาเรียกให้เล่นต้องเล่นได้ทันที ถ้าจะเล่นก็ต้องเล่นให้ดี เวลาเทียบเสียงนี่ก็จะเทียบนิดเดียว ห้ามเทียบดัง ถ้าจะเทียบกับปี่ ก็ห้ามเป่าปี่ยาวๆ”

เกร็ดชีวิต

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ฐานะทางครอบครัวของนายเผย ศรีสวาท ถือว่ามีฐานะปานกลาง หรือที่นายเผยใช้คำว่า “พอมีพอกิน” ในวัยหนุ่มด้วยเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีบุตรธิดารวม ๔ คน นอกจากปลูกข้าวทำนาเพื่อขายและใช้บริโภคในครอบครัว และรับจ้างเล่นดนตรีแล้ว นายเผยยังมีอาชีพรับจ้างขุดดินและเป็นช่างต่อเกวียนอีกด้วย

นายเผยเล่าว่า “ตอนนั้นลูกกำลังเรียน ก็ต้องทำสาระพันไม่ได้เลือกงาน ผมนี่เหล้า หรือของหมักของดองไม่กินตั้งแต่เด็ก แต่ว่าสูบบุหรี่แต่ยังเล็กๆ ยายแกว่า ทำนาแล้วแมลงมันเยอะ พอดำนาก็เอายามาสูบไม่ให้แมลงมันกัด สูบแล้วก็ติด จะเลิกหลายครั้งก็เลิกไม่ได้”

จากความทรงจำของนายเผย นักดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับตน และมีฝีมือในการบรรเลงดนตรีเป็นอย่างดี ได้แก่ นายเดือยและนายเนิน (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้) ทั้งสองคนนัยว่ามีความสามารถด้านการบรรเลงตรัว (ซอ) ประเภทต่างๆ ซึ่งอดีตเคยร่วมวงบรรเลงดนตรีกับนายเผยอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันทั้งสองท่านเสียชีวิตแล้ว

โดยเฉพาะนักดนตรีผู้พิการทางสายตาอีกท่านหนึ่งที่นายเผยกรุณาเล่าให้คณะผู้วิจัยฟัง ได้แก่ นายยิง (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้) นายยิงตามคำบอกเล่าของนายเผย มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับครูเที่ยง ดีเสริม รูปร่างเตี้ย ผิวดำคล้ำ มีความรู้ความสามารถในการบรรเลงดนตรีทุกเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นฆ้องวงใหญ่ ปี่ ระนาด ตรัว จาเปยดองแวง (พิณกระจับปี่) และสามารถเจรียง (ขับร้อง) ได้

นายเผยเล่าถึงนายยิงผู้นี้ ว่า “รู้จักกัน แต่ผมไม่เคยเรียนกับเขานะ แกเดินมาจากบ้านมาหาผมที่นี่แหละ พาไปเล่นเพลงด้วยกัน ตายิงแกความจำดี จำง่าย ถ้าเขาจะไปเจรียง คนเล่าเรื่องให้แกฟังรอบเดียว พอเล่าจบแกเจรียงได้เลย ไม่รู้ว่าแกเรียนมาจากใคร”

รางวัลและเกียรติยศครั้งสำคัญ

รางวัลและเกียรติยศครั้งสำคัญที่นายเผย ศรีสวาทได้รับ มีทั้งที่ได้รับในส่วนของบุคคล และในส่วนของการส่งวงมโหรีพื้นบ้านอีสานใต้เข้าประกวดในงานต่างๆ เท่าที่คณะผู้วิจัยสามารถสืบค้นได้ปรากฏข้อมูลดังนี้

ปี พ.ศ. ๒๕๓๘

ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ประกวดวงมโหรีพื้นบ้าน ในงานอนุรักษ์ศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ ครั้งที่ ๑ และเป็นบุคคลดีเด่นประเภทอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านอีสานใต้ ระหว่างวันที่ ๑๐–๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘

ปี พ.ศ. ๒๕๔๒

ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดวงมโหรีพื้นบ้าน ในงานฉลองสืบศรัทธาพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ประจำปี ๒๕๔๒ ระหว่างวันที่ ๙-๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒

ปี พ.ศ. ๒๕๕๔

ได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบด้านวัฒนธรรม งานมหกรรมสุรินทร์สร้างสุข ปี ๒๕๕๔ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ปี พ.ศ. ๒๕๕๕

ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินภูมิบ้านภูมิเมืองจังหวัดสุรินทร์ สาขาคีตศิลป์ จากเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปและองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสุรินทร์ในงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสุรินทร์ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๕

ชีวิตปัจจุบันกับความฝันในอนาคต

ทุกวันนี้นายเผย ศรีสวาท นอกจากเป็นนักดนตรีรับงานบรรเลงวงดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้แล้ว ยังมีรายได้จากการทำนาบนพื้นที่กว่า ๔๐ ไร่ ที่ลงแรงโดยบุตรหลานในครอบครัว และแม้อายุจะขึ้นต้นด้วยเลขแปด แต่ยังมีแรงเกี่ยวหญ้ามาเลี้ยงโคกระบือที่เลี้ยงไว้

นายเผยเล่าว่า ปัจจุบันแม้ไม่มีโรคประจำตัว ความทรงจำเรื่องราวต่างๆ ยังดีเยี่ยม แต่ศักยภาพการบรรเลงดนตรีเริ่มถดถอย โดยเฉพาะนิ้วมือที่ปิดรูปี่ไม่สนิทเหมือนแต่ก่อนและมักเหนื่อยง่าย ส่งผลให้เสียงปี่ขาดความสมบูรณ์

การออกงานบรรเลงดนตรีวงพื้นบ้านอีสานใต้ นอกจากงานใหญ่ประจำปีที่เข้าร่วมบรรเลงทุกปี คือ งานช้าง จังหวัดสุรินทร์ งานประเพณีพิธีแซนโดนตา และงานแห่เทียน ซึ่งส่วนใหญ่นายเผยจะนำวงเข้าร่วมบรรเลงกับนักดนตรีวงอื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์ ยังมีงานบรรเลงรับจ้างทั่วไปตามหมู่บ้านที่มีเข้ามาตลอดเกือบทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์

สำหรับค่าตอบแทนวงดนตรีในปัจจุบัน นายเผยจะคำนวณจากระยะทางความใกล้ไกลเป็นหลัก ซึ่งในจังหวัดสุรินทร์วงนายเผยถือเป็นวงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะค่าจ้างวงดนตรีไม่สูงเท่ากับวงอื่นๆ ทั้งยังเน้นคุณภาพและปริมาณการบรรเลง และมีวงดนตรีบริการหลายประเภท คือ วงมโหรีอีสาน วงปี่พาทย์พื้นบ้าน และวงกันตรึม

งานสอนดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ ในอดีตนายเผยเคยได้รับเกียรติจากโรงเรียนวัดนาสม ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เชิญเป็นวิทยากรพิเศษในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งนายเผยได้ทำวงดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ส่งเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ และได้รับรางวัลอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันเนื่องด้วยสุขภาพไม่เอื้ออำนวยจึงงดรับเป็นวิทยากรให้แก่ตามสถาบันต่างๆ

นายเผยเล่าความใฝ่ฝันในอนาคตของตนให้ฟัง ว่า “ผมอยากทำเครื่องดนตรีครบชุดเอาไว้เป็นอนุสรณ์อยู่คู่กับหมู่บ้านระไซร์ แล้วปลูกบ้านใหม่สักหลังหนึ่งสำหรับเก็บเครื่องดนตรีชุดนี้โดยเฉพาะ และเอาไว้เล่นดนตรี สอนดนตรีแก่ลูกหลานด้วย พวกเขาจะได้ร่ำเรียนกันต่อไป”

สัมภาษณ์
เผย ศรีสวาท, สัมภาษณ์, ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖
(ปรับปรุงจาก งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาการถ่ายทอดความรู้ วงมโหรีอีสาน บ้านนายเผย ศรีสวาท จังหวัดสุรินทร์”)

นายเผย ศรีสวาท (ยืนแถวสองด้านหลังคนที่ ๕ จากซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับนักดนตรีวงมโหรีพื้นบ้านอีสานใต้ ณ โรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์ (ไม่สามารถสืบค้นปี พ.ศ. ที่บันทึกภาพได้)

นายเผย ศรีสวาท (ยืนแถวสองด้านหลังคนที่ ๕ จากซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับนักดนตรีวงมโหรีพื้นบ้านอีสานใต้ ณ โรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์ (ไม่สามารถสืบค้นปี พ.ศ. ที่บันทึกภาพได้)

สมาชิกนักดนตรีวงมโหรีอีสาน วงนายเผย ศรีสวาท บ้านระไซร์ ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

สมาชิกนักดนตรีวงมโหรีอีสาน วงนายเผย ศรีสวาท บ้านระไซร์ ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *