การเดินทางจากอดีตของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์) (๔)

การเดินทางจากอดีต
ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)

(๔)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง

๓ ครูดนตรี
ปูชนียบุคคล

ด้วยปณิธานและสายตาอันยาวไกลของนายสังเวียน เกิดผล ที่ต้องการให้บุตรหลานและสมาชิกวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในความปกครองของตนได้รับองค์ความรู้และทางบรรเลงจากสำนักพาทยโกศล นอกจากจะผลักดันให้ครูสำราญ เกิดผล ไปเรียนปี่พาทย์ที่สำนักดังกล่าวแล้ว นายสังเวียนยังตั้งใจเชิญครูฉัตร และครูช่อ สุนทรวาทิน ศิษย์คนสำคัญของครูจางวางทั่ว พาทยโกศล เดินทางไปถ่ายทอดความรู้ให้ที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ อีกด้วย

นายสังเวียน เกิดผล ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักหลายครั้ง พร้อมกล่าวเหตุผลต่างๆ เพื่ออ้อนว้อนให้ครูทั้ง ๒ ท่านเมตตาตามที่ตนร้องขอ จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ครูฉัตร และครูช่อ สุนทรวาทินจึงยอมรับคำเชิญจากนายสังเวียน และอยู่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ รวมระยะเวลากว่า ๒ ปี ก่อนที่จะเดินทางไปสอนดนตรีที่คุ้มหลวงของพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “ตอนนั้นศักยภาพของวงยังไม่เท่าไหร่ เพราะครูกับน้องๆ อายุยังน้อย ครูเรียนทั้งฆ้องทั้งระนาดเอก ท่านสอนตั้งแต่สาธุการจนกระทั่งเพลงเรื่องต่างๆ เพราะสำนักนี้ต้องการให้เรียนเพลงเรื่องมากๆ สอนแบบมุขปาฐะเดิมๆ เหมือนอยู่กับฤาษี เป็นครูอาจารย์ที่มีบทบาทต่อวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ มาก

“ถ้าลูกศิษย์บรรเลงผิด ท่านจะค่อยๆ ขยับมาฟาด แต่จะตีไม่ให้คนอื่นเห็น แล้วเหมือนท่านนัดกันมา จะดีอย่างไรก็ไม่เคยชม จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังได้ยินเสียงท่านอยู่ ‘เมื่อไหร่แกจะดีสักที สอนใครๆ ก็ไม่โง่เหมือนแก’ คือครูโบราณท่านไม่ชม เพราะกลัวจะเหลิง”

ครูสำเริง เกิดผล กล่าวว่า “นอกจากเรื่องปี่พาทย์ ครูช่อยังสอนการสร้างและซ่อมเครื่องดนตรี เวลาสอนท่านจะทำให้ดู ‘อย่างนี้สิวะ อย่างนั้นสิวะ’ ครูขึ้นตะโพนเป็นก็เพราะท่าน แต่แปลกใจอยู่เรื่องหนึ่ง ครูซ้อมเพลงเรื่องอยู่บนบ้าน แต่ใช้มือไม่ถูก ครูช่อเลี้ยงนกเขาอยู่ใต้ถุน ท่านตะโกนขึ้นมาว่า ‘เฮ้ย มือมึงไม่ถูก’ ครูสำราญยังบอกว่าตนยังไม่รู้เลย แต่ท่านรู้ได้อย่างไร

“ครูฉัตรดุ ถ้าไม่ถูกใจก็ไม้เรียว แล้วไม่ได้ตีทีเดียวด้วย ตอนนั้นครูกับครูจำลองซ้อมเพลงเดียวกัน ครูต่อจากครูฉัตร แต่ครูจำลองต่อจากครูช่อ ลูกตกเหมือนกันแต่ทำนองข้างในคนละอย่าง เราก็เถียงกันสิ ครูฉัตรเห็นเข้าก็ฟาดเลย ไม่ฟังเสียง”

ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “ครูมีหน้าที่รับใช้ครูช่อ ส่วนครูสำราญจะดูแลครูฉัตร เช้าๆ ครูกับพี่ชายต้องไปสับต้นข่อยที่ป่าท้ายบ้าน เอายางข่อยมาให้ท่านสีฟัน สับตั้งแต่โคนยันยอด สับทุกวันจนต้นข่อยตาย หรือเช้าวันไหนถ้าไม่ตื่นมาซ้อมดนตรี ท่านก็เอาน้ำร้อนสาดถึงที่

“ครูช่อตัวเล็กนิดเดียว ชอบกินขนมจีน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านให้ครูยกฆ้องมา ๒ วง แล้วเอาแป้งมาทาที่ลูกฆ้องทุกลูก ‘มึงอยากไหวมาตีกับกูนี่’ ครูตีเพลงเดียวกันพร้อมกับท่าน พอจบเพลงท่านว่า ‘มึงเห็นไหม ของมึงไม้ฆ้องลงฉัตรอย่างไก่เขี่ย แล้วของข้ามีบ้างไหม’”

ครูวิเชียร เกิดผล กล่าวว่า “จากเดิมที่ครูเคยเรียนปี่พาทย์มาก่อน พอครูฉัตรครูช่อมาถึง ต้องต่อเพลงใหม่ทั้งหมด เพลงฉิ่งฉันเช้า ฉันเพล ขอโทษนะ ครูนั่งตะลึงเลย เหมือนต้องหัดใหม่ เพราะไอยเรศหรือทยอยในก็ตายแล้ว มือของท่านเหลือเกิน ไม่อย่างนั้นจะว่ามักง่าย”

ในเวลาต่อมา หลังจากที่ครูฉัตร และครูช่อ สุนทรวาทิน เดินทางไปสอนดนตรีที่คุ้มหลวงของพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ จังหวัดเชียงใหม่ นายสังเวียน เกิดผล ได้เดินทางไปเชิญครูอาจ สุนทร ศิษย์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งของจางวางทั่ว พาทยโกศล มาถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงที่ครูอาจสอนปี่พาทย์อยู่ที่วัดหญ้าไทร และวงปี่พาทย์ของครูปุ่น และครูแถม คงศรีวิลัย เขตบางขุนนนท์ จังหวัดนนทบุรี

ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “ครูอาจท่านเป็นคนกรุงเทพฯ เป่าคลาริเน็ตเก่ง แต่อยากจะเรียนตีฆ้อง ไปกราบฝากตัวเป็นศิษย์ครูจางวางทั่ว คุณครูท่านบอกว่า จะเรียนตีฆ้องไปทำไม ถึงเรียนก็สู้นายช่อเขาไม่ได้ ต้องเรียนเป็นครูคน ท่านจึงเรียนทางทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ แต่ก็สามารถปฏิบัติได้ ในที่สุดได้เป็นคนจดโน้ตเพลงให้กับครูจางวางทั่ว

“ครูไปเรียนกับท่านที่วัดหญ้าไทรก่อน ตอนหลังท่านจึงมาสอนที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ตอนนี้สิที่วงมีความแข็งแรงมาก สอนทั้งปฏิบัติและทฤษฏี มีคนมาเรียนกว่า ๔๐ คน ทั้งคนของบ้านใหม่ และจากพื้นที่ใกล้เคียง

“ตั้งชื่อสถาบันว่า ดุริยางคศิลป์ เป็นการให้ความรู้กับนักดนตรีไทยที่นี่ เพราะสมัยนั้นกรมศิลปากรออกกฏว่า ถ้านักดนตรีไทยไม่รู้โน้ต ไม่มีประกาศนียบัตรจากกรมศิลปากร ก็ประกอบอาชีพไม่ได้ ต้องเข้าไปอบรมที่กรุงเทพฯ แต่ครูอาจกับอาสังเวียนไปขออนุญาตเพื่อจะสอนเอง เขาก็ยอบรับ มีสิทธิเทียบเท่าทุกประการ ครูอาจสอนดนตรี แม่ครูลมุล ยมะคุปต์สอนนาฏศิลป์ สอนอยู่นานทีเดียว จนสุขภาพครูอาจไม่ไหว เพราะเป็นเบาหวาน จึงได้เลิกราไป”

ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “สมัยที่ครูอาจอยู่ต้องตื่นมาซ้อมดนตรีตั้งแต่ตี ๓ เลิก ๙ โมงเช้า บางคนเขาก็เลิกก่อน พอ ๑๑ โมงพักกินข้าว จากนั้นเรียนโน้ต ต่อเพลง แล้วก็ซ้อมถึงบ่ายกว่าๆ ประมาณบ่าย ๓ โมงไล่อีกครั้ง ต่างคนต่างเข้าเครื่องของตัวเอง ซ้อมไปถึง ๔ โมงกว่าตก ๕ โมงนั่นแหละ พักกินข้าวอาบน้ำอาบท่า ๒ ทุ่มซ้อมอีก กว่าจะเลิกก็ ๔-๕ ทุ่ม เป็นอย่างนี้ทุกวัน”

ครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) ครูแสวง ตันฑะตะนัย (เกิดผล) และครูเบญจา เกิดผล กล่าวตรงกันว่า “ครูละมุล ยมะคุปต์ จะเดินทางมาสอนนาฏศิลป์ที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ทุกๆ วันเสาร์และอาทิตย์ คุณสงัด ยมะคุปต์ (สามี) และลูกๆทั้งสองคนจะติดตามมาด้วยทุกครั้ง และจะสนิทสนมกับครูเบญจาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเพื่อนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ครูละมุล สอนนาฏศิลป์ ส่วนคุณสงัดจะช่วยต่อทางเครื่องปี่พาทย์ให้บ้าง

“ลูกศิษย์ครูละมุลที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ มีหลายคน โดยเฉพาะครูมาลี ครูแสวง ครูเบญจา และนางสาวศรีทอง เกิดผล (น้องสาวครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล)) ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาที่ท่านได้มาจากคุ้มเจ้าฯ เชียงใหม่ ท่านต่อท่ารำให้ที่บ้านใหม่เป็นที่แรก และยังต่อท่ารำสำหรับละคร เช่น เรื่องสังข์ทอง ตอน รจนาเสี่ยงพวงมาลัย ครูแสวง ตัณฑะตะนัย เป็นตัวเจ้าเงาะ ครูมาลี สุขเสียงศรี เป็นตัวรจนา และครูมาลี ยังได้รับการถ่ายทอดท่ารำฉุยฉายเบญกายแปลงไว้ด้วย”

สิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่ง นอกเหนือจากองค์ความรู้ทั้งมวลที่ครูอาจ สุนทร ได้ถ่ายทอดให้แก่นักดนตรีวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ คือ ท่านได้มอบต้นฉบับโน้ตเพลงสำนักพาทยโกศลที่ท่านเพียรบันทึกบทเพลงเก่าหายากและความรู้เฉพาะสำนัก มีบทเพลงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเพลงเถา เพลงตับ เพลงเรื่อง หรือเพลงหน้าพาทย์ เป็นโน้ตสากลอย่างละเอียด ให้เป็นสมบัติแก่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ โดยมอบให้แก่ครูสำราญ เกิดผล เป็นผู้เก็บรักษา

ต้นฉบับโน้ตเพลงที่ว่านี้ คือ มรดกความรู้ที่ต่อมากลายเป็นแหล่งค้นคว้าและถือเป็นหลักวิชาสำคัญให้แก่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ทั้งยังถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สามารถยืนยันความเป็นมาของบทเพลงทุกเพลงที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ได้รับการสืบทอดจากสำนักดนตรีพาทยโกศลอย่างบริสุทธิ์ นอกเหนือจากการได้รับถ่ายทอดจากครูฉัตร ครูช่อ สุนทรวาทิน และครูอาจ สุนทร และเป็นเครื่องลบคำสบประมาทที่ยุคหนึ่งคนดนตรีไทยบางท่านบางสำนักกล่าวหาทางเพลงของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ว่าเป็นของแท้แน่หรือ

ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “ตอนนั้นครูอายุ ๒๓ ปี ท่านมาทำพิธีไหว้ครูที่วัดบางรักใหญ่ พอทำพิธีเสร็จ ท่านก็เรียกครูเข้าไปรับมอบโองการไหว้ครู จากนั้นก็มอบตำรับตำรา แล้วท่านก็บอกว่า ‘เพลงการของครูที่มีอยู่ขอมอบให้ทั้งหมด’ ต้นฉบับเพลงการต่างๆ ที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ จึงมีมากพอสมควร ถ้านำโน้ตนี้มาเรียงเป็นตั้งก็สูงกว่าตัวครู”

ครูสำเริง เกิดผล กล่าวว่า “ครูอาจมอบโน้ตทั้งหมดให้ครูสำราญ จากนั้นครูสำราญจึงศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยมา มีแต่เพลงเก่าๆ ทั้งนั้น ขนาดชื่อเพลงบางเพลงยังไม่เคยได้ยิน เพราะครูอาจเป็นคนศึกษาโน้ตสากล ท่านเขียนโน้ตให้ครูจางวางทั่ว ๑ ใบ ท่านก็คัดเก็บไว้ ๑ ใบ ดังนั้นเพลงการทางฝั่งธนจึงมาอยู่ที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เกือบทั้งหมด”

เนื่องจากวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ได้รับความรู้จากครูดนตรีไทยทั้ง ๓ ท่าน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กอปรกับความพร้อมด้านฝีมือของนักดนตรีภายในวง จึงส่งผลให้วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เป็นวงปี่พาทย์ที่มีฝีมือและมีหลักวิชาดีที่สุดวงหนึ่งในสังคมดนตรีไทย

(อ่านต่อตอน ๕)

ครูอาจ สุนทร งานไหว้ครูดนตรีไทย วงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน เเละงานบวชครูสำเริง เกิดผล ๒๔๙๒

ครูอาจ สุนทร งานไหว้ครูดนตรีไทย วงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน เเละงานบวชครูสำเริง เกิดผล ๒๔๙๒

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *