การเดินทางจากอดีตของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์) (๕)

การเดินทางจากอดีต
ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)

(๕)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง

สิ้นบุญครูช่อ สุนทรวาทิน

ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ครูช่อ สุนทรวาทิน เดินทางกลับจากคุ้มหลวงของพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ จังหวัดเชียงใหม่มาอยู่ที่กรุงเทพฯ (ก่อนหน้านี้หลายปี ครูฉัตร สุนทรวาทิน ได้ถึงแก่กรรมที่จังหวัดลำปางด้วยโรคไข้จับสั่น) นายสังเวียน เกิดผล จึงเชิญครูช่อให้ย้ายมาอยู่ที่บ้านของตน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักดนตรีวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ อีกครั้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ครูช่อและครอบครัว ประกอบด้วยนางหอม (ภรรยา) และนางหอมหวล (บุตรี) จึงตัดสินใจเดินทางมาพำนักที่บ้านนายสังเวียนเป็นการถาวร ทำให้นักดนตรีวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ มีโอกาสใกล้ชิดและได้รับความรู้เพิ่มเติมจากท่านอย่างเต็มที่จนหมดสิ้น โดยเฉพาะองค์ความรู้เรื่องเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ซึ่งเป็นบทเพลงที่ท่านหวงแหนเป็นอย่างยิ่ง

ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “ครั้งนี้ท่านย้ายมาอยู่ที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เลย อาสังเวียนได้ซื้อบ้านไม้เก่าต่อจากนายสุข ชนิสะ แพทย์ประจำตำบลบ้านใหม่ ยกให้ท่านอยู่กับครอบครัว ปลูกใกล้ๆ กับบ้านอาเขานั่นแหละ ครูช่อตั้งใจจะปลุกปั้นวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ให้มีความรู้ยิ่งขึ้น ก่อนตายท่านยังมอบโองการไหว้ครูให้ครูอีกหนึ่งฉบับ”

เหตุการณ์สำคัญที่นักดนตรีวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในสมัยนั้นจดจำได้เป็นอย่างดี ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดงาน “กึ่งพุทธศตวรรษ” บริเวณวังโบราณ หน้าพลับพลาตรีมุข ภายในงานมีการสมโภชด้วยการแสดงมหรสพหลายชนิด วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ได้รับเชิญให้บรรเลงประกอบการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดสีดาหาย ของ หม่อมราชวงศ์จรูญสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ ซึ่งนักดนตรีที่ร่วมบรรเลงในครั้งนั้น ประกอบด้วยนายผวน บุญจำเริญ ปี่ใน ครูสำราญ เกิดผล ระนาดเอก ครูช่อ สุนทรวาทิน ระนาดทุ้ม ครูวิเชียร เกิดผล ฆ้องวงใหญ่ ครูจำลอง เกิดผล ฆ้องวงเล็ก และนายสวง เกิดผล เครื่องหนัง

ตามธรรมเนียมปฏิบัติในการแสดงโขน ผู้พากย์บทจะทำหน้าที่กล่าวบทเจรจาแทนตัวผู้แสดง และจะเรียกเพลงหน้าพาทย์เพื่อให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงประกอบอากัปกิริยาของตัวแสดง ซึ่งผู้พากย์บทในวันนั้นคือ หม่อมราชวงศ์จรูญสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ เจ้าของคณะ

เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะตัวทศกัณฐ์ออกจากโรง ผู้พากย์เรียกเพลงเสมอเถร วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ จึงบรรเลงเพลงเสมอเถรตามคำพากย์ (ที่ถูกต้องผู้พากย์ต้องเรียกเพลงเสมอมาร แต่หม่อมราชวงศ์จรูญสวัสดิ์ ได้เรียกเพลงเสมอมารอีกครั้งหลังจากที่วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงเสมอเถรไปแล้ว) ครูช่อ สุนทรวาทิน ทราบดีว่าผู้พากย์เรียกเพลงผิด จึงดึงทำนองเปลี่ยนเป็นเพลงเสมอมารในไม้กลองที่ ๒ พร้อมกล่าวว่า “ถ้าเล่นอย่างนี้ ไม่เขาก็เราต้องตายกันข้างหนึ่ง” หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ครูช่อได้ถึงแก่กรรมที่บ้านนายสังเวียน เกิดผล ด้วยโรคปอดเรื้อรัง

ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “นี่เป็นแรงครู หรือเรื่องบังเอิญก็สุดจะรู้ เพราะรุ่งขึ้นท่านก็ตาย ก่อนจะตายท่านให้ครูวิเชียรไปตามครูกับครูสำราญที่บ้าน ‘มึงไปตามสำราญกับจำลองที บอกว่าครูป่วยหนัก’ ครูนั่งเรือยนต์ไปรับพี่ชาย แต่มาถึงไม่ทัน เพราะท่านเสียชีวิตไปก่อนแล้วหน้านี้ เลือดออกเป็นกระโถน”

ครูวิเชียร เกิดผล กล่าวว่า “ตอนครูช่อจะเสียชีวิตท่านมีอาการกระอักเป็นเลือด กินข้าวเช้าเสร็จก็เรียก ไอ้เสือขาว (นายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี บุตรครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล)) ขณะนั้นอายุได้ ๒ ขวบเข้ามาหาและอุ้มขึ้นวางบนตัก ครูช่อท่านใช้ให้ครูไปตามครูสำราญกับครูจำลองมา แต่กลับมาถึงท่านก็เสียชีวิตแล้ว”

ครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) กล่าวว่า “ครูช่อตายท่านยังอุ้มเจ้าแอ้ด (นายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี) อยู่บนตัก ครูช่อเรียกเจ้าแอ่ด ว่า ‘เสือขาว’ ครูช่อติดมาก เพราะท่านรักของท่าน พ่อสังเวียนจัดงานศพให้ครูช่อที่วัดบำรุงธรรม”

หลังการมรณกรรมของครูช่อ สุนทรวาทิน วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ได้รับความรู้จากครูดนตรีไทยสายสำนักพาทยโกศลอีกหนึ่งท่าน คือ ครูเอื้อน กรเกษม ท่านได้ถ่ายทอดหลักวิชาในการปฏิบัติดนตรีและเพลงหน้าพาทย์สำคัญอีกหลายเพลงอย่างเต็มที่ ตามความต้องการที่ครูช่อเคยฝากฝังไว้ก่อนเสียชีวิต

ครูเอื้อน กรเกษม เป็นลูกศิษย์ครูจางวางทั่ว พาทยโกศล และต่อเพลงกับศิษย์รุ่นพี่ภายในสำนักอีกหลายท่าน เช่น ครูฉัตร ครูช่อ สุนทรวาทิน ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นายพังพอน แตงสืบพันธุ์ นายละม้าย พาทยโกศล ฯลฯ เป็นนักดนตรีประจำวงพาทยโกศล และได้เป็นครูดนตรีสอนศิษย์รุ่นหลังของวงต่อมา

ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “ครูเอื้อนเป็นคนสนิทของครูช่อ ถ้าเห็นครูช่อที่ไหนต้องเห็นครูเอื้อนที่นั่น ครูเอื้อนเป็นคนอาภัพ มือไม้ท่านไม่ดี ตีอะไรก็เกะกะๆ แต่ตีกลองทัดดี โดยเฉพาะกลองทัด ๓ ใบ เป็นนักดนตรีที่ไม่มีพรสวรรค์ด้านฝีมือ แต่ได้ร่ำเรียนหลักวิชาไว้มาก ครูช่อท่านว่า ‘เอื้อน ฝีมือมึงตีหมาไม่ตาย ต่อเพลงหน้าพาทย์มากๆ ต่อไปจะได้เป็นครูคน’ ท่านจึงได้เพลงหน้าพาทย์จากครูช่อเอาไว้มาก หน้าทับกลอง และหน้าทับกลองแขกท่านก็ได้เอาไว้เยอะเหมือนกัน”

(อ่านต่อตอน ๖)

ครูช่อ สุนทรวาทิน

ครูช่อ สุนทรวาทิน

งานเผาศพครูช่อ สุนทรวาทิน มรว.จรูญ จรูญสวัสดิ์ให้เกียรติมาเเทงหยวกประกอบเมรุ บุคคลในภาพคือ คุณหอมหวล สุนทรวาทิน (บุตรสาวครูช่อ)

งานเผาศพครูช่อ สุนทรวาทิน ม.ร.ว.จรูญ จรูญสวัสดิ์ให้เกียรติมาเเทงหยวกประกอบเมรุ บุคคลในภาพคือ คุณหอมหวล สุนทรวาทิน (บุตรสาวครูช่อ)

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *