การเดินทางจากอดีตของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์) (๖)

การเดินทางจากอดีต
ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)

(๖)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา

ประลองเพลง
ประเลงปี่พาทย์

บทบาทวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในช่วงเวลานี้ รับงานบรรเลงดนตรีตามการว่าจ้างของประชาชน ทั้งในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยารวมถึงจังหวัดอื่นๆ รูปแบบเป็นงานที่รับใช้วิถีชีวิตผู้คนในสังคม ทั้งงานโกนจุก งานบวชนาค งานขึ้นบ้านใหม่ และงานศพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งานประชันปี่พาทย์” ที่มีเข้ามาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

การประชันวงปี่พาทย์เป็นการอวดความเหนือชั้นระหว่างนักดนตรีหรือที่เรียกว่า “คู่ประชัน” ในการปฏิบัติเครื่องดนตรีทั้งประเภทวงและประเภทเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิรู้ที่ฝ่ายไหนจะมีความลึกซึ้งและมีบทเพลงอยู่ในคลังสมองมากกว่ากัน ด้านฝีไม้ลายมือที่แต่ละฝ่ายต้องขับเคี่ยวเพื่อแสดงศักยภาพความเป็นเลิศของตน หรือด้านไหวพริบปฏิภาณการแก้โจทย์เพลงที่ต่างฝ่ายต่างต้องบรรเลงโต้ตอบกัน ฯลฯ

วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในยุคที่นายสังเวียน เกิดผล เป็นผู้นำวง มีประสบการณ์การประชันวงปี่พาทย์อย่างโชกโชนนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเวทีชาวบ้านอย่างศาลาวัด เวทีที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน หรือแม้แต่การประชันหน้าพระที่นั่ง ซึ่งในทุกๆ ครั้งวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ก็สามารถรอดพ้นและผ่านการประชันมาได้ด้วยดี ทั้งยังได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ฟังดนตรีไทยอีกด้วย

วงปี่พาทย์ที่เคยประชันกับวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ตามวาระงานต่างๆ ในอดีต เท่าที่สามารถสืบค้นได้มีรายชื่อดังต่อไปนี้ วงปี่พาทย์นายวิเชียร สรเดช วงปี่พาทย์ครูแสวง คล้ายทิม วงปี่พาทย์ดุริยประณีต วงปี่พาทย์ครูปุย ไสยาวุฒิ วงปี่พาทย์นายเบี่ยง บุญเพิ่ม วงปี่พาทย์ครูประสงค์ พิณพาทย์ วงปี่พาทย์ครูเขียน สุขสายชล และวงปี่พาทย์บ้านอัมพวา (ควบคุมวงโดย ครูอุทัย แก้วละเอียด) ฯลฯ

ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “สมัยนั้นวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ มีความพร้อมเพรียงมาก เรียกว่าถีบไม่ล้ม งานบรรเลงที่เข้ามาชุกเหลือเกิน เป็นเดือนๆ ขนาดเวลาพักยังไม่มี เจ้าภาพต้องมาหาเราก่อนถึงจะกะงานได้ สำหรับเรื่องการประชัน ช่วงที่กำลังมีชื่อเสียง ใครก็อยากจะประชันกับเราทั้งนั้น

“การประชันปี่พาทย์ วิธีที่หนึ่ง คือเป็นไปตามเป้าหมายของเจ้าภาพ มีกฏเกณฑ์ว่าต้องบรรเลงเพลงนั้นเพลงนี้ อย่างปี่พาทย์เสภา วิธีที่สอง คือการประชันแบบอิสระ แบบนี้ต้องเตรียมทุนมาก ทั้งขุมกำลังและคลังเพลง อย่างประชันที่วัดพยัคฆารามบรรเลงยันสว่างทั้ง ๔ คืน คู่ประชันสลับกันทุกคืน แต่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ยืนประชันอยู่วงเดียว ฉะนั้นต้องเรียนมาก เพราะถ้าบรรเลงเพลงซ้ำมันอายเขา

“วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เป็นวงที่มีพี่น้องอยู่ด้วยกันทั้งวง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ถ้ามีงานประชันก็ไปได้เลย ไม่ต้องมานั่งซ้อม ส่วนมากมันตัดสินไม่ขาดหรอก มีได้มีเสีย แต่เพลงหมู่เราจะได้เปรียบ เพราะแน่นหนากว่า หรือถ้าจะเดี่ยวเพลงอะไรตั้งแต่ปี่ไปจนถึงทุ้ม วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เดี่ยวได้เหมือนกันครบทุกเดี่ยว มีเท่าไหร่เดี่ยวทั้งหมด แต่จะให้สนุก ต้องประชันกับวงที่บรรเลงแล้วสูสีกัน คือมีความรู้มีฝีมือห่างกันไม่มาก เราทำไปก็น่าฟัง เขาทำมาก็น่าฟัง ระนาดตีเพลงเดียวก็รู้แล้วว่าวงไหนแค่ไหนอย่างไร”

ครูสำเริง เกิดผล กล่าวว่า “ปี่พาทย์วงไหนๆ ก็อยากจะเจอกับวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ทั้งนั้น แต่เวลาวงที่บ้านไปงานเครื่องมอญต้องติดฆ้องไทยไปด้วยทุกครั้ง เพราะถ้าเดี่ยวเพลงไทยแต่ใช้ฆ้องมอญมันเสียมือ เสียเพลง ไม่คมคายเหมือนฆ้องไทย เวลาไปประชันครูอาจท่านจะเป็นคนวางหมาก ถ้างานหลายๆ คืนก็บรรเลงไม่ซ้ำกันเลย คืนแรกเล่นเสภา คืนที่ ๒ เล่นนางหงส์ คืนที่ ๓ เล่นเพลงมอญ เรารู้ทุนเขา แต่เขาไม่รู้ทุนเรา คนระนาดของเราเด็กกว่า ยังนั่งโต๊ะตี แต่อาศัยว่าขยันและแม่นเพลง”

(อ่านต่อตอน ๗)

วิถีชีวิตการเดินทางไปทำงานปี่พาทย์ ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบนในอดีต ในภาพ บุคคลที่ยืนพายเรือ คือ นางเเสวง เกิดผล

วิถีชีวิตการเดินทางไปทำงานปี่พาทย์ ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบนในอดีต ในภาพ บุคคลที่ยืนพายเรือ คือ นางเเสวง เกิดผล

บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครู ตำหนักสมเด็จพระเจ้าเสือ วัดตึก จ.อยุธยา ม.ร.ว.จรูญ สุขสวัสดิ์ ผู้ประกอบพิธี

บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครู ตำหนักสมเด็จพระเจ้าเสือ วัดตึก จ.อยุธยา ม.ร.ว.จรูญ สุขสวัสดิ์ ผู้ประกอบพิธี

 

วัดนนทรีย์ จ.อยุธยา บุคคลในภาพ ยืนจากซ้าย นายวัฒนะ เกิดผล ครูวิเชียร เกิดผล นั่งจากซ้าย ครูสำเริง เกิดผล ครูสำราญ เกิดผล ครูสังเวียน เกิดผล

วัดนนทรีย์ จ.อยุธยา บุคคลในภาพ ยืนจากซ้าย นายวัฒนะ เกิดผล ครูวิเชียร เกิดผล นั่งจากซ้าย ครูสำเริง เกิดผล ครูสำราญ เกิดผล ครูสังเวียน เกิดผล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *