การเดินทางจากอดีต
ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)
(๑)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง
ความสำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากเศษอิฐกากปูนร่องรอยเมืองเก่า ทั้งสถูปเจดีย์ กำแพงเมือง พระพุทธรูป ฯลฯ ที่ทำให้ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดกโลก” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังเป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ที่ทรงคุณค่า รวมทั้งเป็นคลังความรู้ด้านดนตรีปี่พาทย์มาแต่โบราณ เพราะเป็นถิ่นกำเนิดครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่าน และเป็นสถานที่ตั้งวงปี่พาทย์คณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวงปี่พาทย์นายวัน คล้ายทิม วงปี่พาทย์ศรทอง วงปี่พาทย์จรรย์นาฏ วงปี่พาทย์นายถึก ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สั่งสมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
ทั้งนี้ ยังมีวงปี่พาทย์ที่สำคัญยิ่งอีกวงหนึ่ง คือ วงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)
ปี่พาทย์กรุงเก่า
“อาชีพคนตระกูลเกิดผล ร้องรำทำเพลงมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ”
น้ำเสียงหนักแน่นของครูสำราญ เกิดผล ครูดนตรีไทยวัย ๘๔ ปี หนึ่งในครูดนตรีอาวุโสวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ กล่าวอย่างภูมิใจในฐานะที่ตนสามารถสืบทอดและส่งต่อมรดกที่บรรพบุรุษได้ฝากไว้ ซึ่งหาใช่ทรัพย์สินมีค่าในรูปวัตถุ หากแต่เป็นปณิธานที่ปรารถนาให้อาชีพ “ร้องรำทำเพลง” อยู่คู่ตระกูล “เกิดผล” ไปช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพและความรู้ด้าน “ปี่พาทย์” ที่ก่อรูปขึ้นและดำเนินกิจการจวบจนปัจจุบัน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพร้อมกรุงรัตนโกสินทร์
ยืนยันได้จากคำให้การของครูสำราญ เกิดผล พร้อมทั้งครูดนตรีอาวุโสวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ อีก ๖ ท่าน ประกอบด้วยครูสำเริง เกิดผล ครูจำลอง เกิดผล ครูวิเชียร เกิดผล ครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) ครูแสวง ตันฑะตะนัย (เกิดผล) และครูเบญจา เกิดผล กุญแจ ๗ ดอกสำคัญที่จะไขเรื่องราวต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ที่ซ่อนเร้นผ่านกาลเวลามากว่าศตวรรษ ต่างกล่าวตรงกันว่า “วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์”
วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของบุคคลภายในตระกูลเกิดผลและเครือญาติ โดยมีผู้ก่อตั้ง คือ นายวน เกิดผล ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวงปี่พาทย์ ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งคณะหนังใหญ่ แตรวง ลิเก อังกะลุง และเพลงพื้นบ้านภายในตระกูลเกิดผลเพื่อสร้างรายได้แก่ครอบครัว โดยมีการจัดสรรบุคคลเพื่อดูแลงานเหล่านั้นตามความรู้ความสามารถของสมาชิกในครอบครัว และเมื่อมีการว่าจ้าง ผู้ทำหน้าที่ดูแลจะรวบรวมและควบคุมสมาชิกของตนออกงานนั้นๆ กล่าวคือ นายวน เป็นผู้ดูแลงานดนตรีปี่พาทย์ นางช้อน เกิดผล (ภรรยา) เป็นผู้ดูแลงานลิเก (เดิมใช้ผู้แสดงเป็นผู้ชายทั้งหมด) นายหงส์ เกิดผล (บุตรชายคนโต) เป็นผู้ดูแลงานหนังใหญ่ และนางสังวาล เกิดผล (ภรรยานายหงส์) เป็นผู้ดูแลงานเพลงพื้นบ้าน
ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “สันนิษฐานว่า วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ น่าจะก่อตั้งมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะคำนวณจากอายุผู้ก่อตั้ง คือ ปู่วน ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็มีอายุราวๆ ๑๘๐ กว่าปี ฉะนั้นการตั้งวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ จึงมีมาไม่ต่ำกว่าร้อยปี”
ครูสำเริง เกิดผล กล่าวว่า “เท่าที่จำได้ ปู่วนท่านคุมปี่พาทย์ ย่าช้อนคุมลิเก ลูกวงลิเกมาจากป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ลูกวงแตรวงใช้คนจากอำเภอบางบาล คนเชิดหนังใหญ่เป็นญาติกันทั้งหมด หนังใหญ่โบราณท่านเรียกเป็นศึก ปู่วนสร้างไว้ ๓ ศึก ประมาณ ๑๐๐ กว่าตัว สมัยก่อนเวลาไปงานต้องไปเรือยนต์ เพราะมีทั้งเครื่องปี่พาทย์ ตัวหนังใหญ่ เครื่องลิเก พ่วงไปเป็นลำๆ”
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ มีขนาดวงตั้งแต่วงปี่พาทย์เครื่องห้า จากนั้นจึงขยับขยายมาเป็นเครื่องคู่และเครื่องใหญ่ในที่สุด ปู่วนท่านเป็นคนสร้างมาทั้งนั้น รวมทั้งนายหงส์ ลูกชายคนโตของปู่วนก็ร่วมเป็นหลักสำคัญด้วย”
ประวัติชีวิตของนายวน เกิดผล ผู้ก่อตั้งวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ บรรพบุรุษคนสำคัญของตระกูลเกิดผล เกิดวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ เชื้อสายจีน เดิมแซ่ตัน ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาเป็นใคร ด้านดนตรีสามารถเป่าปี่จีนได้ เสียชีวิตวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
ครูสำเริง เกิดผล กล่าวว่า “ปู่วนมีพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน ผู้ชาย ๙ คน ผู้หญิง ๑ คน รุ่นนั้นไม่รู้ชื่อว่าใครเป็นใคร รู้แต่ชื่อปู่วนคนเดียว ภายหลังต่างคนต่างแยกย้ายกันไป คนตระกูลเกิดผลมันเยอะไปหมด ที่ลพบุรีก็มี ระยองก็มี สุโขทัยก็มี สายปู่วนมาอยู่ที่อยุธยา เป็นสายที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและนาฏศิลป์”
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “ต้นตระกูลเกิดผลเป็นผู้ชาย ๙ คน ผู้หญิง ๑ คน เท่าที่รู้ชื่อมีอยู่ ๒ คน คือปู่วนกับปู่วัน นอกนั้นไม่รู้แล้ว เป็นคนจีนทั้งนั้น เพราะปู่วนยังพูดภาษาจีน ทั้งหมดมีอาชีพทอดแหหาปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา อาศัยอยู่บนเรือและจะล่องไปเรื่อยๆ พูดง่ายๆ ว่าค่ำไหนนอนนั่น ต่อมาต่างคนต่างแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง บ้างก็แยกไปสุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี คนนามสกุลเกิดผลจึงมีไปทั่ว”
นายวน เกิดผล สมรสกับนางช้อน เกิดผล (เกิดวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๙ พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทย เสียชีวิตวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙) ทั้งสองมีบุตรธิดาร่วมกันทั้งหมด ๖ คน คือ นางชื่น กุหลาบแย้ม (เกิดผล) นายหงส์ เกิดผล นายจำรัส เกิดผล นายพวง เกิดผล นายสังเวียน เกิดผล และนางชด พวงประดับ (เกิดผล) ซึ่งบุตรชายทั้ง ๔ คนของนายวนได้เป็นกำลังสำคัญในการร่วมก่อตั้งและพัฒนาวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ สืบมา
ด้านดนตรีปี่พาทย์ นายวน เกิดผล ได้ส่งนายจำรัส เกิดผล นายพวง เกิดผล และนายสังเวียน เกิดผล ไปศึกษาดนตรีปี่พาทย์กับครูเพชร จรรย์นาฏซึ่งพำนักอยู่แถววัดสามวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งยังมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดนตรีปี่พาทย์กับครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่วังบูรพาภิรมย์ อีกด้วย
(อ่านต่อตอน ๒)