การเดินทางจากอดีต
ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)
(๑๐)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ
ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน
ปัจจุบัน วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ยังคงรักษารูปแบบ ขนบประเพณี และวัฒนธรรมดนตรีไทยในด้านต่างๆ ตามแบบโบราณได้อย่างสมบูรณ์พร้อม โดยยึดรูปแบบอย่างมั่นคงเคร่งครัดตามที่บรรพบุรุษในตระกูลเกิดผลและสังคีตาจารย์สำนักพาทยโกศลได้เคยถ่ายทอดไว้ ไม่ว่าจะเป็นด้านบทเพลงและทางขับร้องประเภทต่างๆ ระเบียบและกลวิธีการบรรเลง รวมถึงวัตรปฏิบัติทางด้านดนตรีไทย โดยเฉพาะอาจกล่าวได้ว่า วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เป็นวงปี่พาทย์หนึ่งเดียวที่ไม่ยอมเปลี่ยนผันไปตามกระแสสมัยนิยมของโลก
บทบาทการรับงานบรรเลงของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่เป็นงานบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครู บรรเลงในงานวาระสำคัญตามสถาบันการศึกษาและสำนักดนตรีต่างๆ และบรรเลงบันทึกเสียงเพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่สู่สาธารณชน ส่วนงานบรรเลงตามการว่าจ้างเพื่อรับใช้วิถีชีวิตผู้คนในสังคมมีจำนวนลดน้อยลงตามลำดับ
การถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านปี่พาทย์ให้กับบุคคลในตระกูลเกิดผลยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่ความเข้มข้นอาจไม่เท่าอดีตที่ผ่านมา เนื่องด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่ลูกหลานในตระกูลเกิดผลจะเรียนฆ้องวงใหญ่เป็นหลัก อาทิ นายทนงศักดิ์ เกิดผล (เชี่ยวชาญระนาดทุ้ม) นายภูริทัต ศิริสูตร นางสาวอริศรา สุขเสียงศรี นางสาวกิติยา สุขเสียงศรี นางสาวพัทธนันท์ สุขเสียงศรี เด็กหญิงธิดารัตน์ เกิดผล และเด็กชายศิวัช พงษ์จะโปะ เป็นต้น
ด้านสมาชิกนักดนตรีและนักร้องเพลงไทยวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบันประกอบด้วยนักดนตรีที่เป็นบุคคลในตระกูลเกิดผลและเครือญาติ และบุคคลภายนอกสายตระกูล สามารถแบ่งออกเป็น ๓ รุ่น ดังนี้
๑. นักดนตรีรุ่นอาวุโส (อายุ ๗๐ ปีขึ้นไป) ได้แก่ ครูสำราญ เกิดผล ครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) ครูจำลอง เกิดผล ครูวิเชียร เกิดผล และ ครูเบญจา เกิดผล
๒. นักดนตรีรุ่นกลาง (ตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี ไม่เกิน ๗๐ ปี) ได้แก่
พระจณฺทสโร (นายวัฒนะ เกิดผล) อายุ ๖๙ ปี เกิดวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๘๕ บุตรนายสังเวียน และ นางปาน เรืองหิรัญ ต่อมานายพวง และนางทองอาบ เกิดผล ได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนเกียรติกุล ศึกษาดนตรีปี่พาทย์โดยเฉพาะฆ้องวงใหญ่จากครูช่อ สุนทรวาทิน ครูสำราญ เกิดผล และครูวิเชียร เกิดผล ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ อุปสมบทจำพรรษาอยู่ที่วัดบำรุงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ชีวิตครอบครัว เมื่อครั้งเป็นฆราวาส สมรสกับนางประคอง เกิดผล (กระแสทิพย์) มีบุตรธิดาร่วมกัน ๔ คน
นายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี อายุ ๕๗ ปี เกิดวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ บุตรนายบุญผูก และครูมาลี สุขเสียงศรี จบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี คณะนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศึกษาดนตรีปี่พาทย์โดยเฉพาะฆ้องวงใหญ่ตั้งแต่อายุ ๑๐ ปี จากครูสำราญ เกิดผล และครูวิเชียร เกิดผล ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางพัชรา ทรัพย์ล้อม มีธิดาร่วมกัน ๒ คน ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นทนายความ
นายนพรัตน์ สุขเสียงศรี อายุ ๕๕ ปี เกิดวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ บุตรนายบุญผูก และครูมาลี สุขเสียงศรี จบการศึกษาภาคบังคับสายสามัญ โรงเรียนเกียรติกุล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศึกษาดนตรีปี่พาทย์จากครูวิเชียร เกิดผล และได้รับความรู้เพิ่มเติมด้านการปรับวงดนตรีจากครูสำราญ เกิดผล ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางสุดคนึง สุขเสียงศรี มีธิดาร่วมกัน ๒ คน
นายเทียมเทพ บุญจำเริญ (เสียชีวิต) เกิดวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ บุตรนายสมนึก และนางสุรินทร์ บุญจำเริญ จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ วิทยาลัยนาฏศิลป ศึกษาดนตรีปี่พาทย์โดยเฉพาะปี่ในจากนายสมนึก บุญจำเริญ นายผวน บุญจำเริญ ครูเทียบ คงลายทอง และครูบุญช่วย โสวัตร ตามลำดับ เรียนเครื่องหนังไทยจากครูโม ปลื้มปรีชา อดีตเป็นนักดนตรีไทย ตำแหน่งดุริยางคศิลปินชำนาญงาน แผนกดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ และเป็นครูพิเศษสอนดนตรีไทย ศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสียชีวิต พ.ศ. ๒๕๔๓
นายวรเทพ บุญจำเริญ อายุ ๕๑ ปี เกิดวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ บุตรนายสมนึก และนางสุรินทร์ บุญจำเริญ จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง และชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ศึกษาดนตรีปี่พาทย์โดยเริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่และระนาดทุ้มจากครูวิเชียร เกิดผล ศึกษาเพลงเดี่ยวระนาดทุ้มจากครูสำราญ เกิดผล และศึกษาเพลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่จากครูจำลอง เกิดผล ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางอรนาถ สันติตานนท์ มีธิดาร่วมกัน ๑ คน ปัจจุบันเป็นครูชำนาญการ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง
นายสุเทพ บุญจำเริญ อายุ ๔๙ ปี เกิดวันที่ ๒๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ บุตรนายสมนึก และนางสุรินทร์ บุญจำเริญ จบการศึกษาภาคบังคับ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ศึกษาดนตรีปี่พาทย์จากครูวิเชียร เกิดผล นายผวน บุญจำเริญ และครูสำราญ เกิดผล ปัจจุบันทำงานเป็นหัวหน้านักแสดง (แผนกดนตรี) ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม และเป็นครูพิเศษสอนดนตรีไทย ศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พันตรีธวัชชัย สุขเสียงศรี (เสียชีวิต) เกิดวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ บุตรนายบุญผูก และครูมาลี สุขเสียงศรี จบการศึกษาชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ศึกษาดนตรีปี่พาทย์โดยเริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่และระนาดเอกจากครูวิเชียร เกิดผล และศึกษาเพลงหน้าพาทย์จากครูสำราญ เกิดผล อดีตเป็นครู โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เสียชีวิตวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔
ครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ อายุ ๔๗ ปี เกิดวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๘ บุตรนายบัญญัติ นิลสุวรรณ และนางกรรณิกา วิพันธ์เงิน จบการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง และวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา) เป็นลูกศิษย์ในสายสืบทอดวงดนตรีสิงห์บุรี ศึกษาดนตรีไทยจากครูสำราญ เกิดผล ครูจำลอง เกิดผล ครูวิเชียร เกิดผล และครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) โดยศึกษามือฆ้องเพลงประเภทต่างๆ ทางร้อง วิธีการดำเนินทำนองระนาดเอก และศึกษาทฤษฏีดนตรีไทย ปัจจุบันเป็นครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนสิงห์บุรี
นางวิภาพร พุ่มพิพัฒน์ (เกิดผล) อายุ ๔๑ ปี เกิดวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓ บุตรีครูวิเชียร และนางสมพงษ์ เกิดผล จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกบริหารทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ศึกษาดนตรีไทยขั้นพื้นฐานด้านการขับร้องเพลงไทยและฆ้องวงใหญ่ตั้งแต่อายุ ๗ ปี จากนางชั้น เกิดผล (ผู้เป็นยาย) ครูวิเชียร เกิดผล ครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) และศึกษาการขับร้องเพลงไทยเพิ่มเติมจากคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ และครูสำราญ เกิดผล ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นพนักงานด้านเอกสาร บริษัท นวนคร จำกัด มหาชน
๓. นักดนตรีรุ่นเล็ก (อายุต่ำกว่า ๔๐ ปี) ได้แก่
นายเมืองทอง เม้าราศี อายุ ๓๖ ปี เกิดวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ บุตรนายสา และนางบุญสวน เม้าราศี จบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี เอกดนตรีศึกษา (ดนตรีไทย) คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ศึกษาดนตรีไทยจากครูสำราญ เกิดผล ครูวิเชียร เกิดผล ครูกาหลง พึ่งทองคำ และนายเทียมเทพ บุญจำเริญ มีความรู้ความสามารถด้านเครื่องเป่าไทย โดยเฉพาะปี่ใน ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นนักแสดง (แผนกดนตรี) ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม และเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีไทยที่วิทยาลัยมวยไทย
นายธเนศ อุกกระโทก อายุ ๓๑ ปี เกิดวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ บุตรนางดำ อุกกระโทก (ไม่สามารถสืบค้นชื่อบิดาได้) จบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ศึกษาดนตรีไทยจากครูสำราญ เกิดผล ครูจำลอง เกิดผล และครูวิเชียร เกิดผล มีความรู้ความสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้รอบวง โดยเฉพาะฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก ปัจจุบันเป็นครูสอนดนตรีไทยที่โรงเรียนวัดธรรมนาวา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายณัฐวุฒิ รักขิณี อายุ ๓๒ ปี เกิดวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ บุตรนายบุญช่วย และนางเวียง รักขิณี (ศรีโชติ) จบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี เอกดนตรีศึกษา (ดนตรีไทย) คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ศึกษาดนตรีไทยจากครูสำราญ เกิดผล และครูวิเชียร เกิดผล มีความรู้ความสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้รอบวง โดยเฉพาะระนาดทุ้ม ปัจจุบันเป็นครูสอนดนตรีไทยโรงเรียนวัดสุคันธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นางสาวบุตรี สุขปาน อายุ ๓๐ ปี เกิดวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ บุตรีนายทองใบ และนางสมควร สุขปาน จบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต แขนงวิชาดนตรีปฏิบัติ เครื่องมือเอกขับร้องไทย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาดนตรีไทยและขับร้องเพลงไทยตั้งแต่อายุ ๑๐ ปี จากครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ และได้ศึกษาเพิ่มเติมจากครูสำราญ เกิดผล ครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ครูบุญชู รอดประสิทธิ์ และครูนงนุช ปรีชาสวัสดิ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
นายเกียรติศักดิ์ ดีชัง อายุ ๒๙ ปี เกิดวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ บุตรบุญธรรมนางผาสุข ดีชัง (สุขเสียงศรี) จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มศึกษาดนตรีไทยขั้นพื้นฐานตั้งแต่อายุ ๑๐ ปี โดยเรียนฆ้องวงใหญ่จากครูสำราญ เกิดผล และครูวิเชียร เกิดผล มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะระนาดทุ้ม ปัจจุบันเป็นนักดนตรี ตำแหน่งดุริยางคศิลปิน กรมประชาสัมพันธ์
นายพรชัย ผลนิโครธ อายุ ๒๘ ปี เกิดวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ บุตรนายสมนึก เงินหอม และนางพรทิพย์ ผลนิโครธ จบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต แขนงวิชาดนตรีปฏิบัติ เครื่องมือเอกระนาดเอก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มศึกษาดนตรีไทยกับคุณตาฉาก ผลนิโครธ ครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ และศึกษาระนาดเอกอย่างจริงจังกับครูสำราญ เกิดผลและครูวิเชียร เกิดผล สามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้ทุกชนิด มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะระนาดเอก ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
นายนาคเกษม คนรู้ อายุ ๒๓ ปี เกิดวันที่ ๒๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ บุตรนายวิรัช และนางประภาพร คนรู้ จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พณิชยการราชดำเนิน ธนบุรี ศึกษาดนตรีไทยโดยเฉพาะฆ้องวงใหญ่จากนายสมศักดิ์ สังข์สอน ครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ ครูจำลอง เกิดผล และครูวิเชียร เกิดผล
ทั้งนี้ในปัจจุบันครูอาวุโสวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ได้ฝึกฝนและถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกในตระกูลเกิดผลและลูกศิษย์ที่เป็นบุคคลภายนอก เพื่อทำหน้าที่เป็นนักดนตรีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงและสืบทอดทางเพลงของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ต่อไป
สายสืบทอดความรู้
วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ
วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เป็นสำนักดนตรีและแหล่งความรู้สำคัญอีกแห่งหนึ่งของสังคมดนตรีไทย ครูดนตรีอาวุโสวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ บางส่วน ประกอบด้วยครูสำราญ เกิดผล ครูจำลอง เกิดผล และครูวิเชียร เกิดผล ต่างได้รับเกียรติเชิญให้เป็นครูผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีปี่พาทย์แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ มาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีนักเรียนและนักศึกษาเดินทางไปฝากตัวเพื่อขอถ่ายทอดความรู้ที่บ้านของแต่ละท่านอีกด้วย
ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “สถาบันการศึกษาที่ให้เกียรติครูไปสอนมีอยู่หลายที่ แต่ที่สำคัญๆ มีที่ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สอนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ ถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๕ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สอนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓ ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีลูกศิษย์ที่เป็นเยาวชนในโครงการของสมเด็จพระเทพรัตน์อีกจำนวนหนึ่ง แล้วก็ศิษย์ของอาจารย์บัญชา (ครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ) เพราะได้อะไรไปมากเหมือนกัน”
ครูจำลอง เกิดผล กล่าวว่า “ปีที่แล้วครูไปสอนที่ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา แต่สอนได้ไม่นาน เพราะสุขภาพไม่ดี ส่วนมากคนที่อยากเรียนกับครูจะเข้ามาเรียนที่บ้าน ครูสำราญท่านก็ส่งเด็กของท่านมาเรียนฆ้องกับครูด้วยเหมือนกัน คนที่เคยเรียนฆ้องกับครูเท่าที่จำได้มีไม่กี่คน มีนิคม (นายนิคม ผูกฉิม) แต่นิคมนี่ไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไร น่าจะเลิกเล่นดนตรีไปแล้ว เจ้าธเนศ (นายธเนศ อุกกระโทก) เจ้าขาว (นายนาคเกษม คนรู้) แล้วก็เติ้ล (นายพิชชาณัฐ ตู้จินดา) พวกนี้เป็นเด็กมหิดล เด็กในโครงการฯ และลูกศิษย์จากวงดนตรีสิงห์บุรีทั้งนั้น”
ครูวิเชียร เกิดผล กล่าวว่า “สมัยก่อนมีเด็กมาเรียนที่บ้านหลายคน พวกนี้มาอยู่ที่บ้านครูเลย ครูเลี้ยงดูทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกินการอยู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เพลงไปเลย เพราะลืมทิ้งทั้งนั้น ทางเพลงบ้านนี้มันเล่นไม่เหมือนชาวบ้าน เอาไปเล่นกับใครไม่ได้ ประเดี๋ยวก็ลืม ปัจจุบันครูสอนที่โรงเรียนประชากรรังสฤษฏ์ โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ โรงเรียนประชากรครูสอนตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่เป็นเด็กเล็กๆ ทั้งนั้น นอกจากนั้นก็เป็นลูกศิษย์จากวงดนตรีสิงห์บุรี ที่มาเรียนที่บ้านประจำก็มีฉ่ง(นายวรพงษ์ พุ่มพฤกษ์)”
ครูมาลี สุขเสียงศรี (เกิดผล) กล่าวว่า “ครูไม่ได้ไปสอนให้ที่สถาบันการศึกษาไหน แต่ส่วนมากลูกศิษย์จะเดินทางเข้ามาเรียนกับครูที่บ้าน มีทั้งคนในครอบครัว ลูกศิษย์วงดนตรีสิงห์บุรี และเด็กในโครงการฯ ทั้งหมดมีจำนวนไม่กี่คน มีปู (นางวิภาพร พุ่มพิพัฒน์ (เกิดผล)) อุเทน (นายอุเทน เปียหลอ) ศิวศิษฏ์ (ครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ) บุตรี (นางสาวบุตรี สุขปาน) และพิรุณ (นายพณกฤษ บุญพบ)”
ครูเบญจา เกิดผล กล่าวว่า “จริงๆ แล้วพวกท่ารำต่างๆ หรือทางขับร้องมีคนข้างนอกอยากเข้ามาต่อกับครูเหมือนกัน แต่ครูไม่รับ เพราะไม่สะดวกหลายอย่าง ทั้งเรื่องสถานที่เรียน เพราะบ้านครูมันแคบ แล้วครูก็ไม่มีเวลาว่างเลย การทำกับข้าวหรือขนมหวานมันต้องใช้เวลามาก จึงไม่มีเวลาสอนใคร แต่ถ้าเป็นในหมู่เครือญาติด้วยกัน ครูบอกท่ารำให้กับนายกังวาล เกิดผล หลานชาย คนนี้สอนอยู่ที่อเมริกา สอนท่ารำวันทองแปลง มอญรำ และฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา”
นอกจากนี้องค์ความรู้ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ที่ได้รับการถ่ายทอดไปยังสถาบันการศึกษาและบ้านดนตรีอย่างเป็นทางการผ่านครูดนตรีอาวุโสวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ สามารถแบ่งออกเป็นจำนวน ๓ สายหลัก แต่ละสายประกอบด้วยรายชื่อผู้สืบทอดคนสำคัญที่ในปัจจุบันยังคงบรรเลงและรักษาทางเพลงวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ อย่างมั่นคง ดังรายชื่อต่อไปนี้
๑. สายสืบทอดศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วยผู้สืบทอด คือ นายเมืองทอง เม้าราศี นายเดชา ฉัตรตรี (ปัจจุบันบวชเป็นภิกษุจำพรรษา ณ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี) นายกรมงคล รณรงค์ นายพณกฤษ บุญพบ นายณัฐวุฒิ รักขิณี นายธเนศ อุกกระโทก และนายกำพู อักษร
๒. สายสืบทอดวงดนตรีสิงห์บุรี ประกอบด้วยผู้สืบทอด คือ ครูศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ นายอุเทน เปียหลอ นายวิทยา โหจันทร์ นายสมศักดิ์ สังข์สอน นายอดิศร เวชกร(เสียชีวิต) นายพรชัย ผลนิโครธ นางสาวบุตรี สุขปาน นางสาวภูษิดา ศิริปัญญา นายเกียรติรัตน์ หุ่นสุวรรณ นายนาคเกษม คนรู้ นายพิธิวัฒน์ แผ่นสำริต นายเมทะนี พ่วงภักดี นายวรพรหม ขวัญเมือง นางสาวฐิติพร หุ่นสุวรรณ นางสาวสมคิด ควบคุม นางสาวจิราภรณ์ กันหาชัย นางสาวอินทุอร ใบจำปี
๓. สายสืบทอดวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วยผู้สืบทอด คือ นางสาวปานหทัย สุคนธรส นางสาวกรทิพย์ แช่มเชียง นายพิทักษ์พร สิงสุข (ปัจจุบันบวชเป็นภิกษุวัดพุทธอุทยานพรรณา จังหวัดพิจิตร) นายพิชชาณัฐ ตู้จินดา นายวัฒนา อ่อนสำลี นายทรงพล เลิศกอบกุล และนายวราห์ เทพณรงค์
(อ่านต่อตอน ๑๑)