การเดินทางจากอดีต
ของวงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน (พาทยรัตน์)
(๘)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ใต้ร่มพระบารมี
บทบาทของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ นอกจากงานบรรเลงต่างๆ ที่เป็นงานรับใช้วิถีชีวิตผู้คนในสังคม วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ยังมีโอกาสได้รับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ตามวาระโอกาสต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะได้สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้านายพระองค์สำคัญที่โปรดดนตรีไทยและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง
ผลงานการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยครั้งสำคัญที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ได้สนองพระบัญชาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการจดบันทึกในหนังสือ “จดหมายเหตุดนตรี ๕ รัชกาล” มีใจความดังนี้
“ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เริ่มเตรียมการจัดงานรำลึก ๑๐๐ ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะนั้นวงปี่พาทย์ตระกูลเกิดผลยังอยู่ในความควบคุมของนายสังเวียน เกิดผล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบว่า วงดนตรีตระกูลเกิดผลได้เพลงเก่าๆ ที่ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงนิพนธ์ไว้ และยังรักษาทางเพลงของเก่าไว้อย่างดีทุกประการ เพราะมีโน้ตสากลจดไว้เป็นหลัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาบันทึกเสียงถวายด้วยวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ครูสำราญ เกิดผล เป็นผู้จัดการให้นักดนตรีทุกคนในวงซ้อมเพลงพระนิพนธ์ตามโน้ตสากลต้นฉบับ เพลงที่บันทึกไว้ระหว่างปี ๒๕๒๓ นั้น หลายเพลงยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อน”
“ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีบัญชาให้วงดนตรีบ้านใหม่ฯ เข้าไปบันทึกเสียงที่ศาลาดุสิดาลัย ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่ออนุรักษ์ทางเพลงเก่าๆ เก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตรฯ”
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ “ศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” โครงการที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีเจตนารมย์เพื่อจัดการเรียนการสอนดนตรีไทยตามแบบแผนดั้งเดิม โดยส่งเด็กชายจากกรมประชาสงเคราะห์เข้ารับการถ่ายทอดและอบรมด้านดนตรีปี่พาทย์ ครูผู้ฝึกสอนและดำเนินกิจกรรม คือ ครูสำราญ เกิดผล ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ จัดขึ้นที่วัดจุฬามณี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีครูสำราญ เกิดผล เป็นผู้ประกอบพิธี จำนวนถึง ๓ ครั้ง และทรงพระราชทานบทขับร้องเพลงไทยแก่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในวาระโอกาสต่างๆ อีกจำนวน ๗ เพลง คือ เพลงตับชมสวนขวัญ เพลงลอยประทีป เถา เพลงไอยราชูงวง เถา เพลงจีนเด็ดดอกไม้ เถา เพลงบรรทมไพร เถา เพลงอนงค์สุชาดา เถา และเพลงวิหคเหิร เถา
เจ้านายพระองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งที่มีพระเมตตาคุณและเป็นพระมิ่งขวัญต่อต่อวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เป็นอย่างยิ่ง คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือเสด็จพระองค์ชายกลาง ราชวงศ์ที่โปรดดนตรีไทย ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “เสด็จพระองค์ชายกลางเมตตาต่อวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ เป็นอย่างมาก เพราะนายสวง เกิดผล พี่ชายของครู และนายปรุง รักดนตรี พวกนี้สมัยก่อนอยู่วังบางคอแหลมทั้งนั้น รวมถึงเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ด้วย เพราะอายุห่างกันไม่มาก จึงทำให้พระองค์รู้จักและเคยเสด็จมาที่นี่
“พระองค์เคยตรัสถามครูว่า ‘สำราญ ตระนาง หรือตระมณโฑหุงน้ำทิพย์มีไหม’ ครูตอบว่ามี แต่พอไปดูเข้าจริงๆ ที่ไหนได้ โน้ตเพลงโดนปลวกกินจนหมด เหลือแต่ชื่อเพลง ครูจึงแต่งถวายตามพระประสงค์ พระองค์ท่านเคยเล่นโขนเป็นตัวสุครีพมาก่อน จึงรู้ดีว่าเพลงอะไรควรใช้กับอะไร
“พระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ เคยเสด็จมาฟังปี่พาทย์ไหว้ครูที่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ถึง ๒ ครั้ง และเสด็จที่บ้านของครูอีก ๑ ครั้ง ไม่ทรงถือพระองค์เลย ชอบดื่มเหล้าขาวกับมะขามเปียกจิ้มเกลือ ดื่มเสร็จก็ส่งให้ครูดื่มต่อ ‘เอาหน่อยสิวะ’ ประสงค์ให้ดื่มจอกเดียวกัน แต่ครูไม่กล้าดื่ม”
จากความข้างต้นที่กล่าวมา วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ จึงถือเป็นวงปี่พาทย์ภูธรที่มีโอกาสรับใช้เจ้านายในรัชกาลปัจจุบันอย่างใกล้ชิดถึง ๒ พระองค์ ยังความภาคภูมิใจและความเป็นสิริมงคลแก่นักดนตรีในวงเป็นล้นพ้น
มงคลนามพระราชทาน
“พาทยรัตน์”
วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ในช่วงเวลาที่นายสังเวียน เกิดผล เป็นผู้นำวง ผู้คนทั่วไปมักเรียกชื่อวงปี่พาทย์ตระกูลเกิดผล ว่า “วงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน” “วงปี่พาทย์บ้านใหม่อยุธยา” “วงปี่พาทย์นายสังเวียน เกิดผล” หรือ “วงปี่พาทย์ดุริยางคศิลป์” จนกระทั่งวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์เสด็จพระราชดำเนินบ้านนายสังเวียนเป็นการส่วนพระองค์ ทรงพระราชทานนามแก่วงปี่พาทย์ตระกูลเกิดผล ว่า “พาทยรัตน์”
ครูสำราญ เกิดผล กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันสำคัญนั้น ว่า “สมเด็จพระเทพรัตน์เสด็จเยือนวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ คราวนั้นคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณตามเสด็จด้วย ท่านต้องการให้วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ถวายการบรรเลง พอพระองค์เสด็จถึง ครูเป็นคนถวายคำปรึกษาและความรู้เกี่ยวกับบทเพลงต่างๆ ที่พระองค์ตรัสถาม ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่าเห็นจะได้
“ก่อนเสด็จกลับ พระองค์เขียนชื่อวงพระราชทานให้ ๒ ชื่อ ชื่อแรก ‘พาทยสุนทร’ ชื่อที่ ๒ ‘พาทยรัตน์’ แล้วตรัสว่า ‘ครูเลือกแล้วกัน’ ครูเลือกชื่อพาทยรัตน์ พระองค์ตรัสถามว่า ‘ทำไมไม่เลือกพาทยสุนทร เพราะเป็นนามสกุลครู’ คือ ครูอาจ สุนทร ครูตอบไปว่า พาทยรัตน์ คำว่ารัตน์นี้หมายถึงพระนามของพระองค์ ถือเป็นบุญสูงสุดของวงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ พระองค์ก็ทรงเห็นดีด้วย”
ครูวิเชียร เกิดผล กล่าวว่า “มีอยู่ปีหนึ่ง วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ ประชันกับวงครูอุทัย แก้วละเอียด ที่โรงละครแห่งชาติ หน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตน์ พอเสร็จสิ้นการประชัน สมเด็จฯ ท่านรับสั่งให้วงปี่พาทย์บ้านใหม่ฯ อยู่เข้าเฝ้า และตรัสว่า ‘เราศิษย์ครูเดียวกัน’ เพราะท่านเป็นลูกศิษย์คุณหญิงไพฑูรย์ บ้านพาทยโกศลก็สายเดียวกัน
“ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ พระองค์เสด็จเยี่ยมพ่อสังเวียนที่บ้าน พ่อทั้งตกใจและดีใจด้วยความปลาบปลื้ม ครูไปแจ้งให้ครูสำราญทราบว่าพระองค์จะเสด็จ เพราะต้องเตรียมซ้อมเพลงถวาย ตอนนั้นทั้งตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการมากันเต็มบ้าน พระองค์เสด็จถึงก็รับสั่งถามเรื่องต่างๆ แล้วจึงเริ่มบรรเลงถวาย
“วันนั้นบรรเลงหลายเพลง แต่เท่าที่จำได้บรรเลงโหมโรงไอยเรศ ทยอยใน เขมรใหญ่ เถา ตับชมสวนขวัญ พอบรรเลงเสร็จท่านปรบมือพร้อมตรัสว่า ‘เพิ่งเคยได้ยินนี่แหละ’ ทรงเสวยแตงโมและนั่งคุยกับครูสำราญอยู่นานมาก ก่อนเสด็จกลับประมาณ ๖ โมงเย็น ครูบรรเลงตับพระสังข์ทองหนีนางพันธุรัตน์ถวายพระองค์ด้วย”
“พาทยรัตน์” คำนี้จึงเป็นมงคลนามพระราชทาน ที่ยังความสำคัญแก่วงปี่พาทย์ตระกูลเกิดผลในฐานะองค์กรทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นในสังคมไทย และถือเป็นขวัญกำลังใจแก่วงดนตรีสามัญชนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณนี้อย่างแท้จริง
(อ่านต่อตอน ๙)

วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินบ้านนายสังเวียนเป็นการส่วนพระองค์

พระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนามแก่วงปี่พาทย์ตระกูลเกิดผล ว่า “พาทยรัตน์”