ผมหอม สกุลไทย
หมอลำผญาย่อย
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
“ผญา” คืออะไร?
เมื่อถามคำถามนี้กับใครหลายคน เชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะรู้
หนักข้อขึ้นไปอีก ถ้าจะให้อธิบายความ ว่าคำคำนี้หมายถึงอะไร มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ไหน มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างไร และในปัจจุบันยังมีกลุ่มคนที่พูดผญาอยู่หรือไม่
ถ้าไม่ใช่คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ภาคอีสาน หรือผู้มีความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในภาคตะวันออก คำตอบที่ได้รับ คงไม่พ้นสีหน้ามึนงงของผู้ถูกถาม พร้อมกับกล่าวคำว่า ไม่รู้
บัดนี้ เหลียวเห็นฟ้าสว่างแจ้ง แสงสว่างพอดี
พี่น้องเอย บอกว่าลูกหลานเอย
ยามเจ้ายังน้อย ๆ ให้เจ้าหมั่นเฮียนคุณ
บัดห่าบุญเฮามี ซียศสูงพอเพียงฟ้า
บัดว่าไปภายหน้า ซีหาเงินได้ล้านหมื่น
ใผผู้ความฮู้ตื้น เงินล้านบ่ตำเขา
นี้แล้ว คันเจ้าได้ขี่ช้าง กั้งฮ่มเป็นพระยา
อย่าได้ลืมชาวนา ผู้ขี่ควายคอนกล้า
บัดได้เป็นอัญญาเเล้ว อย่าลืมชาวพวกไพร่
คันได้เป็นผู้ใหญ่ อย่าได้ลืมพี่น้อง
(ผมหอม สกุลไทย)
ข้างต้นเป็นตัวอย่างคำคมสุภาษิตที่คนอีสานใช้สั่งสอนลูกหลาน ให้ประพฤติตนอยู่ในความดีงาม ไม่ออกนอกลู่นอกทาง คำคมเหล่านี้รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ผญา” ดังจะเห็นได้ว่ามีลักษณะเป็นคำพูดที่มีความคล้องจองและมีจังหวะหนักเบา เป็นการพูดที่ต้องใช้ไหวพริบและสติปัญญาอย่างมาก
ลำผญา เป็นการร้องเพลงพื้นบ้านของชาวอีสาน ใช้ร้องลำเกี้ยวกันระหว่างชายหญิง โดยมีการจ่ายผญา พูดผญา และการแก้ผญา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ถามเป็นหมอลำฝ่ายชาย ส่วนหมอลำฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายตอบ
การลำผญาเป็นการจ่ายผญาเกี้ยวของหนุ่มสาวในโอกาสงานบุญ งานประเพณีตามหมู่บ้าน เช่น งานแต่งงาน งานศพ ประเพณีลงข่วง (ประเพณีจีบสาวที่ลานบ้านในตอนกลางคืน) ลงแขก (การทำงานร่วมกัน) ต่อมาการลำผญาได้พัฒนารูปแบบเป็นการแสดงที่มีขั้นตอนซับซ้อนขึ้น และใช้แสดงในหลายโอกาส ทำให้ผู้ฟังได้ทั้งความรู้ ความคิด สติปัญญา และความสนุกเพลิดเพลิน
ในสมัยก่อนหนุ่มสาวนิยมพูดผญากันมาก เพราะเป็นการพูดโต้ตอบเชิงปัญญา ทำให้แต่ละฝ่ายต้องเฟ้นหาคำตอบเพื่อเอาชนะกัน จึงก่อให้เกิดความซาบซึ้ง และสามารถผูกมัดจิตใจของหนุ่มสาวได้ด้วยการลำและการจ่ายผญา สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการลำ คือ แคน พิณ โหวด และฉิ่ง
รายชื่อหมอลำผญาที่มีชื่อเสียง เช่น แม่ดา ซามงค์ แม่สำอางค์ อุณวงศ์ แม่เป๋อ พลเพ็ง และแม่บุญเหลื่อม พลเพ็ง นอกจากนี้ ในปัจจุบัน บ้านนาสะโน ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ยังมีหมอลำที่มีความรู้ความสามารถในการลำผญา และเป็นเจ้าของคณะหมอลำผญาย่อยที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในสังคมหมอลำ คือ หมอลำ “ผมหอม สกุลไทย”
“สมัยก่อนที่บ้านของแม่มีอาชีพเป็นเกษตรกรรม ทำไร่ไถนา ตอนเด็กๆ เคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เขาพูดคำผญาอยู่เป็นประจำ เพราะอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นถิ่นกำเนิดลำผญา แม่จึงมีความคุ้นเคยและมีโอกาสจดจำผญาต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก ในปัจจุบันที่อำเภอดอนตาล ก็ยังมีผู้เฒ่าผู้แก่พูดผญากันอยู่ ยังมีการสืบทอด ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว
“เริ่มแรกแม่เรียนลำกลอนก่อน เรียนตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี กับแม่บุญเพ็ง ไฝผิวชัย (ศิลปินแห่งชาติ) เรียนได้อยู่ ๘ เดือน หลังจากนั้น ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ แม่ไปลำประจำสถานีเสียงลาวสันติสุข อยู่ที่สุวรรณเขต ประเทศลาว มันเป็นสถานนีของอเมริกา กินเงินเดือนเดือนละ ๗๐๐ บาท แม่ไปอยู่ฝั่งลาว ๑ ปี เต็ม ซึ่งเขาก็มีลำผญาเหมือนกับบ้านเรานี่แหละ
“ต่อมาแม่กลับมาที่บ้านเกิด เพราะที่บ้านของเราก็มีลำพญาอยู่แล้ว จะว่าไปแม่มีใจรักการลำผญามากกว่าการลำกลอน เพราะแม่คิดว่า ถ้าเราไม่สืบทอดและรักษาสิ่งนี้ไว้ ต่อไปก็จะไม่มีใครมาสืบทอดแล้ว แม่จึงเริ่มศึกษาและลำผญาอย่างจริงจังมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยศึกษาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านนั้น
“สมัยก่อนเวลาแม่ลำผญาแม่จะนั่งลำ แต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ แม่ไปลำที่วัดพระธาตุพนม หลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมท่านบอกว่า ถ้านั่งอย่างนี้แล้วคนดูเขาจะมองไม่เห็นเรา เพราะงานนมัสการพระธาตุพนม ๙ วัน ๙ คืน คนแน่นไปหมด ท่านเจ้าคุณก็บอกให้ยืนลำเถอะ คนจะได้เห็นชัดๆ ก็เลยยืนลำมาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งแม่นี่แหละเป็นหมอลำผญาที่ยืนลำเป็นคนแรก
“หมอลำผญาได้รับความนิยมไม่แพ้หมอลำประเภทอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วมันมีกระจุกอยู่แต่ที่จังหวัดมุกดาหารเท่านั้น แม่ใช้อาชีพหมอลำผญาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวตลอดมา ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นช่วงที่แม่มีชื่อเสียงมาก ไปลำทั้งกรุงเทพฯ ราชบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ โคราช
“คนชื่นชอบหมอลำผญา เพราะเวลาคนต่างจังหวัดเขามาเห็นการแสดงของแม่ เขาว่ามันแปลกหูแปลกตา ไม่เคยได้ยิน เพราะจังหวัดอื่นเขาลำผญาอย่างเราไม่เป็น มันมีที่จังหวัดของแม่ที่เดียว ไม่เหมือนอย่างลำกลอนที่มีทุกจังหวัด จังหวัดอุบลก็มี จังหวัดขอนแก่นก็มี
“แม่เป็นหมอลำผญาที่ลำเป็นกลอนสดด้วย คิดสดด้นสดเดี๋ยวนั้น จึงมีคนติดใจและสนใจ ที่ว่าติดใจเพราะเขาอยากจะฟังต่อ แล้วอีกอย่างการแต่งตัวของแม่ แม่ไม่เคยใส่กระโปรงเลย ใส่ผ้านุ่งพื้นบ้านพื้นเมืองของเราตลอด ทั้งๆ ที่คนอื่นเขาประยุกต์ใส่กระโปรง แต่แม่จะยึดรูปแบบดั้งเดิม
“ส่วนหมอลำชายที่ลำคู่กับแม่เป็นประจำ มีหมอลำสมบูรณ์ ยืนยง หมอลำสำลี รุ่นก่อนๆ นั้นก็จะมีหมอลำหนูทา หมอลำเที่ยง ซึ่งเป็นคนที่ดอนตาลนั่นแหละ ปัจจุบันนี้มีลูกศิษย์ที่มาเรียนลำผญากับแม่เยอะนะ ทั้งหมอลำเทวัญ ขวัญอุทัย หมอลำอรทัย สกุลไทย หมอลำชานุมา คนนี้อยู่จังหวัดอำนาจเจริญ หมอลำเสมอชัย คนจังหวัดร้อยเอ็ด
“งานลำก็ยังพอมีอยู่ มีเข้ามาเรื่อยๆ แต่ถ้าหน้าฝนเอาแน่ไม่ได้ หน้าแล้งก็ประมาณเดือนละ ๑๐ ครั้ง ราคาครั้งละ ๓ หมื่นก็มี ๒ หมื่นก็มี แม่จะไม่คิดแพง เพราะว่าผู้เฒ่าผู้แก่เขายังชอบใจและติดใจเราอยู่ เลือดศิลปินแม่มีอยู่เต็มตัว เรื่องเงินเรื่องทองจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับแม่”
(ข้อมูลประกอบการเขียน จาก นิทรรศการหมอลำ ในงาน “มหกรรมสืบสานฮีตฮอยหมอลำ เฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา” จัดขึ้นที่ศาลาประชาคม บริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๔-๕ มิถุนายน ๒๕๕๔)
(ตีพิมพ์ลงวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๔)