ชมพู่พวาทอง ของต้องประสงค์
ฐานิสร์ พรรณรายน์
กัลยาณมิตรท่านหนึ่งของผู้เขียนได้นำหนังสือเรื่อง “พระพิราพ พ่อแก่ นาฏศิลป์และดนตรีการ ไม่ใช่ยักษ์เฝ้าสวนแต่เป็นพระอิศวร” เขียนโดยอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ มาให้อ่าน พินิจดูจากหนังสือเล่มกะทัดรัดหน้าปกสีดำพาดด้วยแถบขาวสีม่วงแก่ มีภาพวาดลายเส้นครูองค์พระพิราพฝีมือครูพระเทวาภินิมิต (ฉาย เทียมไชยศิลป) เป็นภาพลายเส้นองค์พระพิราพที่อ่อนช้อย แต่แฝงไปด้วยพลังอย่างเต็มเปี่ยม งามอย่างหาผลงานลักษณะเดียวกันมาเปรียบได้ยากยิ่ง
ผู้เขียนเองก็อดรนทนไม่ไหว เปิดอ่านเสียในคืนแรกที่ได้หนังสือเล่มนี้มา ซึ่งก็ดื่มด่ำไปกับสาระความรู้ในหนังสืออยู่ค่อนคืน แต่ในเนื้อหาก็ยังมีบางเรื่องบางสิ่งขัดแย้งในใจของผู้เขียน ด้วยมีแนวคิดและข้อมูลบางอย่างชวนให้เกิดข้อสงสัยในวิธีการตีความ นั่นคือ เรื่องต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีนามว่า ชมพู่พวาทอง
ปัญหาเรื่อง ชมพู่พวาทอง หมายถึงต้นไม้อะไร เป็นเรื่องที่นักวิชาการหลายท่านอธิบายความไปต่างต่างนานา เนื่องด้วยพระพิราพท่านเป็นยักษ์เจ้าของสวน และสวนของท่านได้ปลูกต้นไม้พันธุ์พิเศษเอาไว้เรียกว่า “ชมพู่พวาทอง” ถือ “เป็นของต้องอัธยาศัย” จึงกำชับให้ลูกน้องหมู่อสุรศักดิ์ยักษีดูแลเป็นพิเศษ
ต้นชมพู่พวาทอง จึงเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจและมีผู้พยายามอธิบายว่าหมายถึงต้นอะไรกันแน่ นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า หมายถึง ต้นมะม่วง บ้างก็ว่า ต้นหว้า เช่น อ.ศิริพจน์ อ้างจากคำอธิบายของหลวงบุเรศบำรุงการที่กล่าวถึงคำว่า “พวา” หมายถึง “ต้นหว้า” พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลใหม่โดยอ้างถึง อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่า ชมพู่พวาทอง หมายถึง ทวีป ที่เต็มไปด้วยต้นหว้า เพราะท่านแผลงคำว่า “ชมพู่” เข้ากับ “ชมพูทวีป” ดังข้อความที่ว่า
บทละคอนรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ ๑ บรรยายไว้ว่า สวนของพระพิราพปลูกต้น “ชมพู่พวาทอง” ความตอนนี้ไม่มีในรามายณะฉบับอินเดีย บางท่านพยายามอธิบายว่า หมายถึง ชมพู่แขก ที่รัชกาลที่ ๑ ได้รับถวายมา แต่คำอธิบายที่น่าสนใจกว่าได้มาจากสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เสนอคำว่า “ชมพู่” เป็นการพยายามเล่นกับศัพท์คำว่า “ชมพู” หมายถึง “ชมพูทวีป” ซึ่งก็หมายถึงโลกนั่นเอง ในขณะที่คำว่า “พวา” ตามคำอธิบายในหนังสือต้นไม้ในวรรณคดีของหลวงบุเรศบำรุงการ ท่านว่า “พะวา” (พวา) คือ “ต้นหว้า” และคำว่า “ชมพูทวีป” ก็แปลว่า “ทวีปแห่งต้นหว้า” ข้อเสนอของสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงสอดคล้องกันกับคำแปลของหลวงบุเรศ และคำว่า “ชมพู่พวาทอง” ในบทละคอนเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ จึงเป็นวรรณศิลป์ในการเล่นคำซ้ำเพื่อย้ำความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า สวนของพระพิราพ คือ “ชมพูทวีป” (อ้างถึงใน หน้า ๓๕)
ลักษณะการตีความเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ ฟังดูซับซ้อนและมีนัยยะเกินกว่าถ้อยคำภาษา ที่กวี (รัชกาลที่ ๑) ต้องการนำเสนอหรือไม่
หรือปัญหาอาจจะอยู่เพียงแค่ว่า ปัจจุบันไม่มีใครรู้จักต้น “ชมพู่พวาทอง” ว่าจริงๆ หมายถึงต้นอะไรกันแน่
ดังนั้นผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอแนวคิด หลักฐาน และสมมติฐานที่แตกต่างออกไปในเรื่อง ต้นชมพู่พวาทอง ดังนี้
ชมพู่พวาทอง ตามรูปศัพท์ เกิดจากคำ ๒ คำ
คำแรก “ชมพู่” คำนี้ตรงตามความเข้าใจทั่วไป ที่เราเรียกต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีรูปลักษณะสัณฐานของผลคล้ายกับจมูกของคนว่า ลูกชมพู่ โดยเรารับคำว่า ชมพู่ มาจากชาวมาเลย์ ที่เรียกผลไม้ชนิดเดียวกันนี้ว่า จัมบู (Jambu) แล้วเพี้ยนเสียงเรียกตามประสาสำเนียงไทยว่า ชมพู่ คำนี้ชาวมาเลย์ก็คงรับมาจากภาษาสันสกฤตของอินเดียอีกทอดหนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ ๑ พระองค์คงมิได้มีพระราชประสงค์จะเล่นคำซ้ำเพื่อย้ำว่า ชมพู่ คือ “ชมพูทวีป” อย่างที่ อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวถึงแต่อย่างใดไม่ เรื่องนี้จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญอะไร สำหรับชมพู่พวาทองที่หมายถึงต้นไม้
คำที่สอง คำว่า “พวาทอง” คำหลังนี้ต่างหากที่แปลกันไปคนละอย่าง ทำให้ความหมายของไม้ผลต้นนี้คลาดเคลื่อนออกไปอย่างมหาศาล อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ มีความคิดว่า ต้นพวา คือ ต้นหว้า โดยอ้างอิงจากคำกล่าวของหลวงบุเรศบำรุงการ และสรุปว่า ต้นชมพู่พวาทอง คือ ต้นหว้า
จากข้อคิดดังกล่าวนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า ต้นพวา ไม่ใช่ ต้นหว้า
หากแต่ “ต้นพวา” ก็คือ “ต้นพะวา” หมายถึงต้นไม้ป่าชนิดหนึ่ง แต่อาจจะเขียนด้วยรูปศัพท์ที่ประวิสรรชนีย์แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะเกิดจากพัฒนาการของภาษา กล่าวคือ ไม่ว่าจะพัฒนาจาก พะวา เป็น พวา หรือจาก พวา เป็น พะวา ก็ตาม เพราะทั้ง ๒ คำนี้ อ่านออกเสียงเหมือนกันว่า พะ-วา
ต้น “พะวา” หรือ “พวา” จากข้อมูลในหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทยของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ได้ให้ข้อมูลกล่าวโดยสรุปว่า
พะวา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Garcinia speciosa. เป็นไม้อยู่ในวงศ์ GUTTIFERAE มีชื่อสามัญว่า พะวา (Pawa/ Phawa) พะวา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือและอีสาน แต่ก็ขึ้นได้ทั่วทุกภาครวมทั้งภาคใต้ พะวาเป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับมังคุด ส้มแขก มะพูด ชะมวง และมะดัน ดอกของต้นพะวานั้น แยกเพศผู้และเพศเมีย เมื่อติดผล ลักษณะผลพะวาเป็นทรงรูปไข่ผิวเรียบ ติดผลโดยไม่มีการผสมเกสร เมื่อเป็นผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้มและแดงในที่สุด เนื้อหุ้มเมล็ดในผลมีลักษณะเป็นกลีบใสและมีเส้นขาวขุ่น มีรสชาติฝาดอมเปรี้ยว รับประทานได้ ผลมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ติดผลราวเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และกรกฎาคมถึงกันยายน (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, ๒๕๓๙)
ต้นพะวา เป็นต้นไม้ไทยโบราณที่คนสมัยก่อนรู้จักกันดี (แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว) ดังที่พบการกล่าวถึงต้นพะวานี้ในเรื่องอิเหนา บทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๒ และในโครงนิราศสุพรรณ ของท่านสุนทรภู่ ความว่า
อิเหนา
เดินมาพากันชมพฤกษาสูง ยางยูงแก้วเกดกฤษณา
กระลำพักสักสนคนทา ต้นพะวาขานางยางทราย
(อิเหนา บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒)
นิราศสุพรรณ
กระเบาออกดอกรยับย้อย ห้อยหอม
พึ่งหมู่แมงภู่ตอม ไต่เคล้า
ว่าสุกลูกงามงอน เงาะป่า พวาเอย
กระทุ่มกระถิ่นกลิ่นเร้า รื่นข้างทางจรฯ
(โครงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่)
จากบทพระราชนิพนธ์และบทประพันธ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่ามหากวีทั้งสอง รู้จักต้นพวาเป็นอย่างดี ซึ่งคนในสมัยหลังที่ไม่ได้สนใจเรื่องต้นหมากรากไม้ ทั้งยังมิได้ใช้วิถีดำรงชีวิตท่างกลางธรรมชาติเหมือนอย่างในอดีตกาล อาจจะไม่รู้จักต้นไม้ในป่ามากมายเท่ากับคนในสมัยบรรพบุรุษของเราก็เป็นได้ จึงไม่เป็นการแปลกอันใดที่เราจะไม่รู้จักต้นพวา ว่ารูปร่างหน้าตา ผลพวงดวงดอก เป็นอย่างไร และอาจจะพาโลเอาว่าต้นไม้นี้ไม่มีอยู่จริง
ที่สำคัญ บทพระราชนิพนธ์และบทประพันธ์ดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่า ต้นพวา ก็คือ ต้นพวา แยกออกมาต่างหากจากต้นหว้า ดังบทร้อยกรองในบาทที่สามของโคลงนิราศสุพรรณว่า
“ว่าสุกลูกงามงอน เงาะป่า พวาเอย”
“ว่า” คำแรก หมายถึง “ลูกหว้า”
ส่วน “พวา” ก็คือ “พวา”
แยกกันอย่างชัดเจน หาใช่ต้นหว้าไม่
ครานี้เมื่อนำศัพท์ทั้งสองคำ คือ “ชมพู่” กับ “พวา” มารวมกันเป็น “ชมพู่พวาทอง” ความหมายก็คือ “ชมพู่ที่มีผลสีทองเหมือนดั่งผลต้นพวา”
แล้วชมพู่อะไรที่มีผลลักษณะเช่นนี้?
ผู้เขียนนึกย้อนกลับไป เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๓ เมื่อครั้งเรียนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัยข้างคลองแสนแสบ ตั้งใจจะไปอัพวา เพื่อหากะโหลกซออู้ที่แกะงามๆ สักใบมาเก็บไว้ใช้ โดยไปกับรุ่นพี่ท่านหนึ่งไปหาช่างแกะกะโหลกซอ ซึ่งนอกจากมีฝีมือในการแกะกะโหลกซออู้แล้ว ยังมีอัธยาศัยใจคอเป็นมิตรไมตรียิ่งกับเด็กเล็กๆ ที่คิดจะหัดสีซอ ช่างคนนั้นชื่อ “ลุงกลิ้ง” (นายสายหยุด จันทรกูล) แห่งเมืองสมุทรสงคราม
เมื่อพบและคุยกันเกี่ยวกับการแกะกะโหลกซออยู่ครึ่งค่อนวัน แถมยังซื้อกะโลหกซอไปกันคนละใบสองใบ ก่อนกลับลุงกลิ้งก็เดินออกมาส่งหน้าบ้าน ก่อนจะพ้นชายคาบ้าน บริเวณข้างๆ ร่องน้ำเล็กๆ ในสวน ลุงกลิ้งชี้ให้ดูต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ลำพังโดดๆ ริมตลิ่ง ลักษณะเป็นไม้พุ่มลำต้นไม่ใหญ่นัก สูงสักประมาณ ๒ เมตร มีลูกสีเหลืองทองห้อยย้อยระย้าอยู่บนต้นซึ่งก็ไม่มากนัก พร้อมกับเดินไปเด็ดผลนำมาให้ผู้เขียน และกล่าวสำเนียงติดเหน่อแบบชาวแม่กลองว่า “ลองชิมดู หายากแล้ว นานๆ จะออกลูกสักทีหนึ่ง” ผู้เขียนจงทดลองชิมดู เมื่อแรกกัดลงไปในเนื้อผลไม้นั้น ก็รู้สึกตกตะลึงพรึงเพริดกับรสชาติที่แปลกประหลาด เพราะหวานและมีกลิ่นหอมมาก
ลุงกลิ้ง อธิบายว่า “แถวนี้เขาเรียก ชมพู่น้ำดอกไม้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้วท่าจะสูญ ข้างในมันก็เหมือนชมพู่นี่แหละ…” พร้อมกับบิลูกชมพู่อีกลูกในมือออกเป็น ๒ ซีก เผยให้เห็นเมล็ดสีน้ำตาลไหม้ข้างในที่เหมือนเมล็ดของชมพู่ทั่วๆ ไป “ลูกมันไม่เหมือนชมพู่หรอก ลูกมันเหมือนลูกจัน แต่หวานแล้วหอม” กล่าวพลางพร้อมกับยกลูกชมพู่ดม ทำให้ผู้เขียนทำตามบ้าง และก็จริงๆ แหม… มันหอมจริงๆ เชียว หอมเหมือนเวลาเราดมผิวลูกจัน แต่กลิ่นหอมไม่เหมือนกับลูกจัน กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นจำพวกเครื่องเทศหรือไม้ดอกหอมอย่างโบราณของไทยๆ บอกไม่ถูก
ภาพความทรงจำในอดีต ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดได้ว่า “ชมพู่พวาทอง” ชมพู่ที่มีลูกเหมือนลูกต้นพวาแล้วก็สีทอง น่าจะเป็นต้นเดียวกันกับที่ปัจจุบันเรียกว่า “ชมพู่น้ำดอกไม้” นี่เอง
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ด้วยคุณลักษณะพิเศษคือ ชมพู่ที่มีผลสีทอง มีรสชาติหวานและมีกลิ่นหอมประหลาดกว่าชมพู่พันธุ์พื้นเมืองทั่วๆ ไป จึงเป็นต้นไม้ที่พระพิราพชื่นชอบและเฝ้ารักษาไว้อย่างหวงแหนเป็นนักหนา ดังบทพระราชนิพนธ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ บรรยาย ว่า
…ได้ต้นชมพู่พวาทอง เป็นของต้องอัธยาศัย
แบกด้วยกำลังว่องไว ตรงไปยังสวนมาลี
ครั้นถึงจึงเรียกกุมภัณฑ์ บรรดาซึ่งเฝ้าสวนศรี
กูได้ต้นไม้ประหลาดดี ผลนั้นมีรสโอชา
ชื่อว่าชมพู่พวาทอง เป็นของวิเศษหนักหนา
ตัวกูอุตส่าห์เอามา หวังว่าจะปลูกลงไว้…
บัดนั้น จึงหมู่อสุรศักดิ์ยักษี
เห็นต้นชมพู่งามดี ต่างดูอึ่งมี่ด้วยปรีดา
ลางมารก็ว่าไม่รู้จัก ประหลาดนักกว่าไม้ที่ในป่า
ชมแล้วก็ชวนกันออกมา อสุราขุดหลุมวุ่นไปฯ…
เมื่อนั้น พิราพฤทธิแรงแข็งขัน
เสร็จแล้วจึ่งสั่งกุมภัณฑ์ เอ็งหมั่นรดน้ำพรวนดิน
แม้นว่าต้นไม้ของกูตาย จะฆ่าให้วอดวายหมดสิ้น
ถ้าสิงห์สัตว์ล่วงลัดเข้ามากิน ในที่ถิ่นฐานจงล้อมไว้
ทั้งมนุษย์นักสิทธิ์วิทยา ใครมาอย่าให้ออกไปได้
เจ็ดวันจะมาชมต้นไม้ ให้เป็นผาสุกสำราญฯ
(รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑)
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างอดีตและปัจจุบัน ชมพู่พวาทองหรือชมพู่น้ำดอกไม้อาจจะไม่แปลกประหลาดหรือว่าพิเศษกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ ในปัจจุบัน เพราะมีผลไม้นานาชนิดให้เลือกสรร แต่ในอดีตประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ (เป็นอย่างน้อย) ชมพู่ที่มีผลประหลาด รสชาติหวานและมีกลิ่นหอม เรียกตามพันธุ์และรูปทรงตามบทพระราชนิพนธ์ว่า ชมพู่พวาทอง น่าจะเป็นพันธุ์พิเศษที่มีได้ก็แต่เฉพาะพระมหากษัตริย์ หรืออาจจะเป็นพระราชนิยมส่วนพระองค์
จนกาลเวลาผันเปลี่ยนผ่าน ความพิเศษ ความแปลกประหลาดดังกล่าว ได้เจือจางลงตามยุคสมัย ของที่เคยต้องห้าม ก็กลายเป็นไม่ห้าม แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นพันธุ์ไม้หายาก มิหนำซ้ำชื่อที่เคยถูกเรียกตามบทพระราชนิพนธ์ว่า “ชมพู่พวาทอง” ก็ถูกเรียกว่า “ชมพู่น้ำดอกไม้” เนื่องด้วยเรียกตามกลิ่นพิเศษของชมพู่ชนิดนี้ คือมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำลอยดอกไม้ที่เอาไว้ใช้ทำขนมไทยๆ (อาจจะเป็นเพราะชาวบ้านไม่รู้จักคำว่า ชมพู่พวาทอง) และคงลักษณะเดียวกันกับที่เรียกมะม่วงพันธุ์หนึ่งที่มีผลสุกสีทองหอมหวานมากเป็นพิเศษว่า “มะม่วงน้ำดอกไม้”
การที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ ทรงใช้คำว่า “ชมพู่พวาทอง” และไม่พบข้อความตอนนี้ในรามายณะฉบับอินเดีย ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับพันธุ์ไม้ชนิดนี้ และอย่าคิดแค่ว่าพระองค์ทรงเป็นนักรบที่เก่งฉกาจ หรือมีพระอัจฉริยภาพทางด้านวรรณกรรมเท่านั้น หากแต่ในด้านวนศาสตร์ และพฤกษศาสตร์ พระองค์ก็มีพระปรีชาญาณไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กล่าวคือ
ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ปฐมแห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงรั้งตำแหน่ง หลวงยุกรบัตรราชบุรี มาก่อน ซึ่งหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของตำแหน่งยุกรบัตร ตามที่ อาจารย์ภาวาส บุนนาค ได้กล่าวถึงไว้ในบทความหลวงยุกรบัตรราชบุรีก็คือ “…หน้าที่ตรวจของป่าอันมีราคาสูงเป็นสินค้าส่งออก โดยเฉพาะ ไม้กฤษณา นอระมาด งาช้าง ฝาง แก่นจันทร์ และไม้หอมต่างๆ ให้ครบถ้วนถูกต้องไม่ให้มีการหายหกตกหล่น” (ภาวาส บุนนาค, ๒๕๒๒) พระองค์จึงน่าจะต้องรู้จักพืชพันธุ์ไม้ป่าเป็นอย่างดี และเป็นไปได้ว่า ชมพู่พวาทอง อาจจะทรงค้นพบหรือได้มาตั้งแต่ครั้งนั้นก็อาจะเป็นได้
ที่สำคัญ การปลูกต้นชมพู่พวาทอง เท่าที่พบเห็น ส่วนใหญ่จะปลูกบริเวณใกล้แหล่งน้ำ เช่น คันดินที่มีน้ำไหลผ่าน หรือสวนที่มีการยกร่องให้มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ซึ่งตรงกับบทพระราชนิพนธ์ที่บรรยายว่า
…จะได้เป็นภักษ์ผลพืชพันธุ์ จงช่วยกันขุดหลุมให้กว้างใหญ่
ที่ริมรอบสระชลาลัย อย่าช้าแต่ในบัดเดี๋ยวนี้ฯ
ต่อเนื่องจากลักษณะผลชมพู่พวาทอง ว่าหมายถึง ชมพู่ที่มีผลสีทองเหมือนผลต้นพวา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ในบทพระราชนิพนธ์ยังได้กล่าวขยายความถึงรูปลักษณะของผลชมพู่พวาทองในตอนต่อมาอีกด้วยว่า “ชมพู่พวาทองอินจัน” ในตอนที่พระราม พระลักษณ์ และนางสีดา เสด็จเข้าไปในสวนของพระพิราพ (บทชมดง) พระรามถูกตาต้องใจในผลชมพู่พวาทอง ถึงขนาดเด็ดผลประทานให้แก่นางสีดา จนเป็นเหตุให้พระพิราพต้องรบกับพระราม บทพระราชนิพนธ์ตอนนี้ บรรยายว่า
…สาวหยุดพุทธชาดจำปี มะลุลีสุกรมสมสวรรค์
ชมพู่พวาทองอินจัน ผลนั้นเป็นพวงแกว่งไกว
ดกดาษทุกกิ่งสาขา ห้อยย้อยระย้าอยู่ไสว
พระเด็ดดวงพวงผลที่ต้องใจ ยื่นให้นางสีดาบังอรฯ
บทพระราชนิพนธ์นี้ น่าจะทรงมีพระราชประสงค์ขยายความรูปลักษณะผลของชมพู่พันธุ์พิเศษนี้ว่า นอกจากเหมือนลูกพวาแล้ว ยังคล้ายหรือเหมือนกับลูกอินและลูกจันอีกด้วย ซึ่งลูกอินและลูกจัน เป็นไม้ไทยโบราณมีผลสีเหลืองทองรูปทรงแป้นคล้ายกับลูกชมพู่พวาทอง และมีกลิ่นหอมเช่นเดียวกัน
นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านพฤกษศาสตร์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ ที่ทรงวินิจฉัยแยกแยะพันธุ์ไม้ได้อย่างละเอียดลออ เสมือนเป็นการจัดหมวดหมู่พันธุ์ไม้พิเศษที่ชื่อว่า “ชมพู่พวาทอง” นี้ว่ามีรูปทรงอย่างไรบ้าง
การที่กวีนำธรรมชาติแวดล้อมหรือสังคมวัฒนธรรมในยุคสมัยของตนมาบรรจุลงไว้ในบทประพันธ์ ย่อมเชื่อได้ว่า ถ้อยคำคำนั้นน่าจะช่วยสื่อสารกับผู้อ่านได้อย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจได้อย่างง่ายที่สุด แม้ไม่เพียงแต่ในยุคสมัยของกวีเท่านั้น หากแต่ยังจะสื่อสารเชื่อมโยงมาถึงยุคสมัยหลังได้ด้วย หรือแม้ว่าถ้อยคำคำนั้นจะถูกดัดแปลงหรือแผลงไปเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าเราในยุคสมัยหลังเข้าใจหรือติดตามเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน ข้อเท็จจริงตามวัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์ที่สื่อออกมาก็จะยังความหมายและไพเราะงดงามอยู่ดังเดิม
อ้างอิง
คึกฤทธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้. พิมพ์ครั้งที่ ๙. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๐๐๐, ๒๕๔๘.
ภาวาส บุนนาค. นิราศท่าดินแดง หลวงยุกรบัตรราชบุรีศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๑. บัณฑิตการพิมพ์, ๒๕๒๒.
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. สำนักพิมพ์สุริยบรรณ, ๒๕๓๙.
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. พระพิราพ พ่อแก่ นาฏศิลป์และดนตรีการ ไม่ใช่ยักษ์เฝ้าสวนแต่เป็นพระอิศวร. โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๕๓.
ผลของต้นพะวารูปทรงไข่ เมื่อสุกมีสีเหลือง
ผลของต้นพะวาเมื่อสุกจัดจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีเเดง
ผลของชมพู่พวาทองตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ หรือที่ชาวสวนในปัจจุบันเรียกว่า ชมพู่น้ำดอกไม้
ลักษณะเมล็ดภายในผลชมพู่พวาทองที่เหมือนกับชมพู่ทั่วไป
ลูกจัน ความเหมือนกันของลักษณะทรงผล
ชมพู่พวาทอง (อีกภาพ)
(จากวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๗ เดือนมีนาคม ๒๕๕๔)
ขอบคุณครับ