กันตรึมอีสานใต้ บุรีรัมย์
คณะเจิมศักดิ์ ส.บัวสวรรค์
เรื่อง/ ภาพ: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
เจิมศักดิ์ ส.บัวสวรรค์ หาใช่ฉายานักมวยดังสังกัดใดในวงการลูกหมัด หากแต่เป็นชื่อคณะดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ที่มีหนุ่มน้อยร่างใหญ่ ‘ณรงค์เดช เชื้อเมืองพาน’ หรือ ‘แมน บ้านบัว’ เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่บ้านบัว ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ บริการวงดนตรีหลากหลายเล่นร้องตั้งแต่งานเกิดกระทั่งงานตาย ไม่ว่าเป็น มโหรีอีสานใต้ กลองยาวพื้นบ้าน เจรียง อาไย โดยเฉพาะกันตรึมแบบฉบับและประยุกต์ที่แมนทั้งสีซอและร้องเองได้อย่างยากที่จะจับตัว
แมนเรียกตัวเองว่า หมอเพลง เป็นหนึ่งในนักดนตรีอีสานใต้รุ่นใหม่ที่มีฝีมือชั้นนำ ในร่างเดียวกันเขายังเป็นช่างสร้างซอกันตรึม เล่นตลกลิเก ผ่านงานดนตรีพิธีเข้าทรงมะม๊วด กระทั่งทราบว่าใครเป็นมะม๊วดแท้หรือแสดงละคร หารายได้เลี้ยงตัวเองและส่งเสียครอบครัวด้วยเสียงดนตรี เคยใส่ชุดนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เรียนเอกดนตรีศึกษาอยู่พักหนึ่ง ก่อนหันหลังให้การศึกษาในระบบ ตระเวนเรียนรู้โลกดนตรีพื้นบ้านจากประสบการณ์ชีวิตจริง เมื่อว่างงานจึงทำนาเป็นงานเสริม
แมนเติบโตโอบล้อมด้วยเสียงซอเสียงกลองจากครอบครัว เช่นเดียวกับผู้คนนับล้านในอีสานใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ที่ลมหายใจเข้าออกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกระแสเสียงกันตรึม ทั้งในพิธีกรรมความเชื่อลึกลับ ความบันเทิงที่มาในรูปแบบพื้นบ้าน คอนเสิร์ตใหญ่แสงสีตระการตา เสียงจากสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจกล่าวว่า กันตรึม เป็นวงดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ที่ถูกทำให้เป็น ‘ป็อป’ ร่วมสังคมปัจจุบันอย่างประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักของคนต่างวัฒนธรรมมากกว่า ตุ้มโมง มโหรีอีสานใต้ เจรียง หรือปี่พาทย์พื้นบ้าน
กล่าวพื้นความรู้เพื่อความเข้าใจ ข้อเขียนหลายแห่งบอกซ้ำความเป็นมาของกันตรึมอย่างคัดลอกต่อๆ มาว่า ‘การละเล่นแบบนี้ได้รับสืบทอดจากขอมเดิม ให้รายละเอียดได้ไม่มาก เพราะไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด กันตรึม ได้จากเสียงกลองที่ใช้ในวง มีเสียงดัง โจ๊ะกันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม’ เป็นความรู้เดิมที่ท่องจำผลิตซ้ำในหนังสือ ตำรา บทความวิชาการ/ไม่วิชาการ [รวมถึงงานเขียนชิ้นนี้ด้วย] ยังไม่มีคำอธิบายใหม่ที่ให้พลังความรู้กว้างขวางหรือล้วงลึกแง่มุมอื่นที่น่าสนใจกว่ามารื้อถอนแทนที่
เครื่องดนตรีเจ้าของเสียง ‘โจ๊ะกันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม’ กลองประกอบจังหวะที่เป็นที่มาของคำ ‘กันตรึม’ ที่ใช้เรียกชื่อวงและตัวมันเอง เป็นกลองก้นยาวลักษณะเดียวกับ ‘โทน-ทับ’ ที่ใช้เล่นในวงมโนราห์หรือชาตรีภาคใต้ และโทนมโหรีภาคกลาง ภาษาเขมรถิ่นไทย เรียก ‘สโกร์’ ผลิตจากไม้ต่างชนิด [มะม่วง มะพร้าว ขนุน] ขึ้นหน้าด้วยหนังวัว หนังงู หนังตะกวด หนังสังเคราะห์หรือผ้าใบ กลองตัวผู้ตัวเมียให้เสียงสูงต่ำต่างกัน ตีควบคู่เครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ อย่าง ฉิ่ง ฉาบ กรับไม้
อีสานใต้ใช้กลองอย่างนี้เล่นพร้อมเครื่องดำเนินทำนองในหลายโอกาส ผสมในวงมโหรีอีสานใต้ ตีในขบวนแห่บุญพระยามาร [เรี่ยไรบริจาค] เล่นตร๊ษ [การละเล่นช่วงเทศกาลสงกรานต์] คนอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ตีคู่ ‘โทนขัด’ ในวงมโหรีพื้นบ้านนางรอง จากวิธีเร่งเสียงแบบเดิมที่ใช้เชือกรั้งหน้ากลองเข้ากับหุ่นไม้ กลองกันตรึมปรับตัวใช้เทคโนโลยีเร่งเสียงแบบกลองตะวันตก อย่างสแนร์หรือทอมบ้า ที่คงทนและเพิ่มขีดความตึงให้หนังหน้ากลองมากกว่า
โดยเฉพาะซอกันตรึมที่แมนถนัด เรียกชื่อภาษาเขมรถิ่นไทยว่า ‘ตรัว’ เป็นเครื่องดนตรีหนึ่งในสองชนิดที่ขับขานทำนองในวง รูปร่างทรวดทรงไม่ต่างซอด้วงซออู้ภาคกลาง แต่ให้เสียงต่างและมีอิสระในการใช้วัตถุดิบสร้างมากกว่า กระทั่งทุกวันนี้ส่งเสียงผ่านเอฟเฟคกีต้าร์พัฒนาเป็นซอไฟฟ้า ปรับเสียงสายซอด้วยเกรียวโลหะแบบกีต้าร์แทนลูกบิดไม้ [เช่นเดียวกับซึงภาคเหนือและพิณภาคอีสาน] ไม่ตายตัวเคร่งครัดว่าต้องนั่งสี อาจยืนหรือเดินในกรณีที่สีนำขบวนศพหรือแห่นาค อาจเพราะเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านจึงอยู่นอกกรอบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง กลองและซอกันตรึมจึงปรับตัวไปกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ขัดเขิน
รูปลักษณ์ซอกันตรึมที่ประกอบด้วยคันไม้เนื้อแข็ง โขนกลึงเกลารูปทรงต่างๆ หรือสลักเสลารูปหัวนาคยอดแหลม กล่องเสียงได้จากกะลามะพร้าวใบย่อม เขาควาย กระบอกไม้ หรือกระดองเต่า ขึ้นหน้าด้วยหนังงู หนังตะกวด หนังอึ่งอ่างหรือคางคก สายเสียงใช้ลวดเบรกจักรยานหรือสายกีต้าร์ไฟฟ้าและคันชักหางม้า ถือเป็นพระเอกในวง เพราะสร้างเสียงให้อารมณ์หลากหลายจากบรรจงนิ้วโลดแล่นของผู้เล่น ทั้งหวามไหวอ้อยอิ่งเมื่อจังหวะทำนองเนิบช้า รุกเร้าสนุกสนานเมื่อจังหวะเร่งรัดกระชั้นกระชับ
2 ปี มาแล้วที่แมนมีตัวตนในโลกโซเชียลมีเดีย หากใครเป็นนักท่อง YouTube.com มิตรรักแฟนเพลงอีสานใต้คงเคยสดับเสียงซอกันตรึมจากเขาและผองเพื่อน ไม่ว่าเป็นผลงานอาไยเวง อาไยเเขมร์ อาไยกะม๊อต เจรียงเบรินของดีถิ่นอีสานใต้ ตร๊ษ กันตรึมกัญจันเจก โดยเฉพาะเดี่ยวตรัว อาไย ตาส๊าจเเตร็ย [แปลเป็นไทยกลางได้ว่า ตาจับปลา] ที่เขาเคยแสดงสดบนเวทีแข่งขันเซ็ทเทรด เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย รอบรองชนะเลิศ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ฟังทั้งไทยและเทศ แม้ไม่เข้ารอบดังหวัง แต่ผลงานครั้งนั้นก็ได้ใจใครหลายคนมาครอบครอง
นักเลงซอที่มอบความสุขด้วยเสียงเพลงจากซอกันตรึม นอกจากแมน บ้านบัว ยังมีคุณตามณี ผาดโผน คนเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ผู้บุกเบิกเสียงซอกันตรึมประยุกต์ บุญถึง ปานะโปย คนประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ถนัดกันตรึมโบราณ ธงชัย สามสี คนจังหวัดสุรินทร์ ศิลปินดีเด่นพื้นบ้านอาเซียน กิ่ง เชียงฆะนคร คนจังหวัดสุรินทร์ มีผลงานให้ฟังทั้งในโซเชียลมีเดีย YouTube.com และผลงานบันทึกเสียงเกือบทุกอัลบั้มกับ ไพโรจน์ซาวด์ ค่ายเพลงกันตรึมยักษ์ใหญ่ในอีสานใต้ และคำภีร์ พารารัมย์ คนห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ น้องใหม่ฝีมือดีอีกคนในวงการ ทุกท่านเป็นคนร่วมสมัยกับเราท่านในปัจจุบัน
นอกจากซอและกลองกันตรึม พร้อมด้วยเครื่องประกอบจังหวะ ปี่อ้อ หรือที่เรียกในภาษาเขมรถิ่นไทยว่า ‘แป็ยออ’ ยังเป็นเครื่องดำเนินทำนองสำคัญอีกชิ้นในวง เสียงปี่อ้อเป่าเคล้าคลอเสียงร้องเปล่งคำสัมผัสคล้องจ้อง ช่วยขับเน้นบรรยากาศพื้นบ้านอีสานใต้แก่ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี เลาปี่สร้างจากไผ่ลำเล็ก [ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นใช้ไม้เนื้อแข็งแทน] ลิ้นปี่ใช้ไม้อ้อเหลาปลายสำหรับประกบปากเป่า อาจด้วยน้ำเสียงลีบเล็ก ฝึกยาก ทั้งไม่สามารถปรับระดับเสียงให้เข้ากับเครื่องดนตรีตะวันตก เมื่อกันตรึมถูกพัฒนาไปอีกขั้น ปี่อ้อจึงไม่ถูกเชื้อเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งในวงกันตรึมสมัยใหม่
ผู้รู้จำแนกบทเพลงและทำนองกันตรึมดั้งเดิมออกเป็น 4 ประเภท คือเพลงชั้นสูงหรือเพลงครู ทำนองเพลงเชื่องช้าสง่างามแสดงความศักดิ์สิทธิ์ เล่นก่อนเพลงอื่นๆ ตามความเชื่อศรัทธา [เพลงสวายจุมเวื้อด แซร็ยประเซอร แซร็ยสะเดิง ละลืย ฯลฯ] เพลงแห่ จังหวะสั้นครื้นเครง เล่นนำขบวนประโคมแห่ในพิธีมงคล [อันซองแซรงนบ ซมโปงเซาะทม รำพาย ตร็อมตุม อีเกิด เกาะกรอก ออมยม พนมสรวจ ฯลฯ] เพลงประกอบพิธีโจ็ลมะม๊วด [เข้าทรงรักษาโรค] [เพลียง ปรึยแอเกิด ปันแชร์ กาบเป ฯลฯ] เพลงเบ็ดเตล็ด จังหวะทำนองเพลงให้อารมณ์เร่งเร้าสนุกสนาน [จองนารี แกวนอ กัจปกา ตำแร็ยยูลได อมตูกตูจ อมตูกทม งูดตึก ฯลฯ] ใช้เล่นร้องในหลายโอกาส ตั้งแต่โกนจุก บวชนาค บุญเข้า-ออกพรรษา ฉลองกฐิน ฉลองอัฐิ ปีใหม่สงกรานต์ ฉลองอาคาร สระน้ำ หรือสะพานใหม่ พิธีบวงสรวงและเข้าทรงรักษาโรค งานสวดศพ หรืองานแต่งที่เชื่อว่าหากขาดเสียงกันตรึม อาจส่งผลให้คู่บ่าวสาวหย่าร้างหรือพลัดพรากในอนาคต
แมนเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่ชอบเคี้ยวหมากเหมือนคนเฒ่า ซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นและธรรมเนียมประเพณีอีสานใต้จากปากผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน เช่นเดียวกับคนแถบนี้ที่เขาเรียกตนเองว่าเป็น ‘เขมรสูง’ หรือ ‘ขแมร์ลือ’ เพราะอาศัยบนพื้นที่จังหวัดอีสานใต้ที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงเทือกเขาพนมดงรัก ขณะที่เรียกคนกัมพูชาว่า ‘เขมรต่ำ’ เพราะอยู่ที่ราบต่ำกว่าลงไป ภาษาเขมรถิ่นไทยที่แมนใช้สื่อสารเป็นภาษาเดียวกับที่ใช้ร้องในวงกันตรึม คำคล้องจองที่ไม่นิยมร้องเป็นเรื่องราว หากแต่ร้องบทเบ็ดเตล็ดให้สอดคล้องบรรยากาศและสถานที่แสดง
บทร้องกันตรึมเรียกเป็นภาษาเขมรถิ่นไทยว่า ‘ตรอนุ๊ก’ ชื่อบทร้องอาจใช้เรียกชื่อทำนองเพลงด้วย ไม่ว่าเป็น ตรอนุ๊กอมตูก [บทร้องพายเรือ] ประรัญแจก [ดอกลำเจียก] กันจัญเจก [เขียดตะปาด] หรือกันโน๊บติงตอง [ตั๊กแตนตำข้าว] ร้องใส่ ‘บ็อด’ หรือทำนองกันตรึมที่มีหลากหลาย บอกเล่าเรื่องราวหลายลักษณะ ทั้งชมความดีความงามหญิงชาย โอ้โลมปฏิโลม อาลัยอาวรณ์โศกเศร้า พรรณนาความงามธรรมชาติและวิถีชีวิต อุปมาอุปไมย เชิญขวัญ ร่ำลา เล่าตำนานหรือนิทาน แข่งขันปฏิภาณไหวพริบ รำพึงรำพัน หรือบทสั่งสอนคติเตือนใจโบราณ
ตัวอย่างนักร้องเสียงดีมีชื่อในแวดวงกันตรึม ไม่ว่าเป็น เนตรนาง อรุณรุ่ง บ้านเบาะอุ่น อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพชรวิไล ยุคพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ แก้วตา จามิกรณ์ จังหวัดสุรินทร์ เพลินจิตร บุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ร่มเย็น สัจธรรม เจ้าของรางวัลกันตรึมดีเด่น บ้านหัวช้าง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ สมานชัย เสียงระทม ร้องคู่พิมพา เสียงระทม บ้านขนาจ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ บ้านดงมัน จังหวัดสุรินทร์ หลายท่านถนัดร้องทั้งกันตรึมโบราณและประยุกต์ บางท่านถนัดร้องเฉพาะกันตรึมโบราณ แต่ทุกท่านมีแนวทางร้องโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน เช่นเดียวกับทำนองกันตรึมที่ต่างพื้นที่ก็มีทำนองร้องและทำนองดนตรีต่างกัน
นอกจากนี้ แมนเป็นเพียงไม่กี่คนที่ทั้งสีซอและร้องกันตรึมได้ด้วยพร้อมกันในคนเดียว ไม่ต่าง ‘เจรียงจับเปย’ ดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้อีกประเภท ที่ทุกวันนี้หาผู้เล่นทั้งร้องและดีด ‘จับเปยฎองเวง’ หรือพิณกระจับปี่ไปด้วยพร้อมกันได้ยากยิ่ง นอกจากนายจุม แสงจันทร์ คนขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพราะสมองต้องคิดคำคล้องจองบอกเล่าเรื่องราวและทำนองดนตรี ปากเปล่งคำและเอื้อนเสียงให้ประสานกลมกลืนกับทำนองเพลงที่ยักย้ายแตกต่างจากทำนองร้อง ผู้เล่นต้องมีทักษะทั้งร้องและเล่นโดยไม่เพี้ยนเสียงควบคู่กันอย่างเท่าเทียม เป็นความสามารถพิเศษที่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ดี
จากกันตรึมดั้งเดิมที่เชื่อว่าเริ่มแรกใช้เล่นในพิธีกรรมเข้าทรงรักษาผู้ป่วย หรือที่เรียก ‘ดนตรีอารักษ์’ ประกอบฟ้อนรำไม่เป็นแบบแผน ถูกยกสถานะเป็น ‘กันตรึมโบราณ’ เมื่อมีการปรับรูปแบบวงให้เป็นมาตรฐาน พร้อมประดิษฐ์ท่ารำนาฏศิลป์เพื่อแสดงบนเวที เรียกขานใหม่ในชื่อ ‘กันตรึมอนุรักษ์’ ก่อนก้าวกระโดดผสมเครื่องดนตรีสากล อย่าง เบส กีต้าร์ไฟฟ้า กลองชุด แทรกภาษาไทยกลางในบทร้องเพื่อความเข้าใจของคนต่างวัฒนธรรม นักฟ้อนนักรำเปลี่ยนเป็นผู้เต้นนุ่งสั้นห่มน้อยและสวมรองเท้า แนวดนตรีถูกพัฒนาเป็น ‘กันตรึมลูกทุ่ง’ และ ‘กันตรึมร็อค’ หรือเรียก ‘กันตรึมประยุกต์’ ในโลกสมัยใหม่ บางกลุ่มเอาใจผู้บริโภคด้วยภาษาร้องสองแง่สองง่ามตรงไปตรงมาและเสนอความโป้เปลือยของผู้แสดงแทนความงามเสียงดนตรี
นอกจาก เจิมศักดิ์ ส.บัวสวรรค์ ของแมน บ้านบัว ตัวอย่างชื่อคณะกันตรึมทั้งโบราณ กึ่งโบราณ และประยุกต์ ยังมี คณะขวัญชัย รุ่งเรือง คณะอมตะสมานชัย คณะตาโบร์ คณะเกรียงศักดิ์ ส.สไบทอง คณะก้องสุรินทร์ คณะลอยทองเสลือมทอง คณะพรอีสาน คณะน้ำผึ้งเมืองสุรินทร์ คณะโอ๊ะเมืองสุรินทร์ คณะเกร์ตา เนตรนาง อรุณรุ่ง คณะร่มเย็นสัจธรรม คณะดาการ์กันตรึมร็อค คณะวีระกันตรึมร็อค คณะโป๊ยเซียน บรรจงศิลป์ คณะสาธิตบ้านนา คณะจันทราเสียงเสน่ห์ คณะส่องแสง รุ่งเรืองชัย คณะดวงใจดาร์กี้ ฯลฯ
ทุกวันนี้นอกจากหาฟังกันตรึมได้จากงานแสดงสด โลกธุรกิจกันตรึมยังเบ่งบานส่งเสริมการบันทึกเสียงเพื่อจัดจำหน่ายในหลายรูปแบบ ทั้งเทปคาสเซ็ท แผ่นซีดี/ดีวีดี คาราโอเกะ เอ็มวี โดยเฉพาะบริษัท ไพโรจน์ ซาวด์ ค่ายเพลงกันตรึมจังหวัดสุรินทร์ ผลิตงานภายใต้สโลแกน ‘สร้างสรรค์กันตรึมดีมีคุณภาพ ศูนย์รวมกันตรึมดีที่สุดในโลก’ หรือฟังฟรีจากหลายช่องทาง ไม่ว่าเป็น หลายรายการวิทยุที่เผยแพร่เพลงกันตรึมโดยเฉพาะ กระทั่งสะดวกคลิกเข้าไปชมภาพและฟังเสียงจากเว็บไซด์ YouTube.com ได้กว่าพันรายการจุใจ
น่าสนใจว่า กันตรึมปรับตัวจาก ‘ดนตรีชุมชน’ พัฒนาไปสู่ ‘ดนตรีมหาชน’ ได้อย่างไร ไม่ต่างหมอลำ พิณ แคน โปงลางอีสานเหนือ ที่ดูเหมือนจะพัฒนาไปข้างหน้าไม่หยุดหย่อนเช่นกัน หรือการแสดง ‘อาไย’ ที่ทุกวันนี้ศิลปินต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอดของปากท้องในสังคม แต่ถึงอย่างไร กันตรึมโบราณก็ยังได้รับความนิยมและความสนใจจากเยาวชนรุ่นใหม่ แม้วงดนตรีนี้จะแตกหน่อออกก่อขยายสายพันธุ์มากเท่าใดก็ตาม
บรรณานุกรม
ภูมิจิต เรืองเดช. 2527. เพลงพื้นบ้านกันตรึม. (เอกสารวิชาการ งานสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูบุรีรัมย์.
วีณา วีสเพ็ญ. 2526. กันตรึม. กรุงเทพฯ: บริษัท วัชรินทร์การพิมพ์ จำกัด.
สัมภาษณ์
ณรงค์เดช เชื้อเมืองพาน. สัมภาษณ์. 22 ตุลาคม 2557.
ภาณุวัฒน์ สวัสดิรัมย์. สัมภาษณ์. 13 สิงหาคม 2558.
[ตีพิมพ์ลงสูจิบัตร มหรสพสมโภชบัณฑิตมหิดล 57 ว.ดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล 7 กันยายน 58]
![ปี่อ้อ หรือ ‘แป็ยออ’ เครื่องดำเนินทำนองสำคัญอีกชิ้นในวงกันตรึม เลาปี่สร้างจากไผ่ลำเล็ก [ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นใช้ไม้เนื้อแข็งแทน] ลิ้นปี่ใช้ไม้อ้อเหลาปลายสำหรับประกบปากเป่า](https://kotavaree.com/wp-content/uploads/2015/09/21-428x640.jpg)
ปี่อ้อ หรือ ‘แป็ยออ’ เครื่องดำเนินทำนองสำคัญอีกชิ้นในวงกันตรึม เลาปี่สร้างจากไผ่ลำเล็ก [ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นใช้ไม้เนื้อแข็งแทน] ลิ้นปี่ใช้ไม้อ้อเหลาปลายสำหรับประกบปากเป่า
จะติดต่อได้ยังไงคะ