เพลงเรื่อง: ความหมาย หน้าที่ และความสำคัญ
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
อดีตจนถึงปัจจุบันดนตรีไทยเป็นดนตรีที่รับใช้วิถีชีวิตผู้คนในสังคม โดยเฉพาะเสียงดนตรีที่เข้าไปมีบทบาทในการสร้างบรรยากาศ (การประโคม) ให้แก่พิธีกรรมทางศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวคือมีหน้าที่เป็นกาลเทศวิภาค (Demarcation) อันเป็นเครื่องบอกเวลา/ขั้นตอนในกิจกรรมต่างๆ ของพิธีกรรม ดังความตอนหนึ่งที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เขียนอธิบายความรู้เรื่อง “ร้องรำทำเพลง” ประทานแก่พระยาอนุมานราชธน ความว่า
“ปี่พาทย์นั้นเห็นได้ว่าเป็นของสำหรับประโคมให้ครึกครื้น พวกปี่พาทย์ได้งานหาก็เป็นทำสวดมนต์เย็นฉันเช้าเป็นพื้น แล้วก็ประโคมฤกษ์ตามงานที่มีสวดมนต์เย็นฉันเช้านั้น เช่น งานโกนจุกเป็นต้น ถ้าเป็นงานของผู้ที่มั่งคั่ง วันสวดมนต์เย็นเวลากลางคืนมักจะมีเสภาหรือละครต่อไป” (เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ (รวบรวม), 2552: 16-17)
โบราณจารย์ทางดุริยางค์ไทยจึงกำหนดให้ผู้เริ่มต้นเรียนดนตรีปี่พาทย์ศึกษาชุดเพลง “สวดมนต์เย็นฉันเช้า” หรือเรียกตามภาษาปากว่า “เพลงหากิน” เป็นอันดับแรก อันเป็นเพลงสำหรับประกอบสัมมาอาชีพบรรเลงประกอบพิธีมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานโกนจุก บวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ซึ่งเพลงในชุดสวดมนต์เย็นฉันเช้านี้ ได้แก่ โหมโรงเย็น (ประกอบด้วยเพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา ต้นชุบ เข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ รัวลาเดียว เชิด กลม ชำนาญ กราวใน ต้นชุบ ลา) โหมโรงเช้า (ประกอบด้วยเพลงสาธุการ เหาะ รัวลาเดียว กลม ชำนาญ) พระเจ้าลอยถาด มหาฤกษ์ มหาชัย กราวรำ และโดยเฉพาะที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ “เพลงเรื่อง”
ความหมายและประเภทเพลงเรื่อง
ครูมนตรี ตราโมท (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2528) ให้ความหมายคำว่า “เพลงเรื่อง” ว่า
“เพลงหลายๆ เพลงที่ได้จัดรวมไว้สำหรับบรรเลงติดต่อกันไป เพลงทั้งหมดนั้นรวมเรียกว่าเพลงเรื่อง และชื่อเฉพาะของเพลงเรื่องนั้น โดยมากมักเรียกตามชื่อของเพลงที่อยู่ต้นของเรื่องนั้นๆ เช่นในจำพวกเพลงช้า มีเรื่องเต่ากินผักบุ้ง, เรื่องสารถี ฯลฯ ในจำพวกสองไม้มี เรื่องสีนวล, เรื่องทยอย ฯลฯ ในจำพวกเพลงฉิ่งมีเรื่องมุล่ง เรื่องตวงพระธาตุ ฯลฯ เป็นต้น แต่บางทีที่เรียกตามกิริยาที่ใช้เป็นหน้าพาทย์นั้นก็มี เช่นเรื่องทำขวัญ (หรือเวียนเทียน) ซึ่งขึ้นต้นด้วยเพลงนางนาค แต่มิได้เรียกว่าเรื่องนางนาค และบางทีก็เรียกตามหน้าทับ เช่น เรื่องนางหงส์ ซึ่งขึ้นต้นด้วยพราหมณ์เก็บหัวแหวน เป็นต้น” (มนตรี ตราโมท, 2540: 71)
เพลงเรื่องเป็นเพลงบรรเลงล้วนไม่มีการขับร้อง คำว่า “เรื่อง” ในที่นี้ มิได้หมายถึงเรื่องราว เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องตุ๊กตายอดรัก หรือเรื่องแรงเงา แต่หมายถึงชุดเพลงที่นำเพลงที่มีลักษณะรูปแบบ อัตราจังหวะ หน้าทับ ความหมายของชื่อเพลง และโอกาสการใช้งานเดียวกัน ทั้งยังมีสำเนียงของท่วงทำนองคล้ายคลึงกัน นำมาร้อยเรียงเข้าชุดเป็น “เรื่อง” ซึ่งเพลงเรื่องแต่ละประเภทมีโอกาสการใช้งานแตกต่างกัน เช่น เพลงเรื่องเพลงช้า ใช้บรรเลงในงานมงคล เพื่อ “รอเวลา” หลังจากปี่พาทย์บรรเลงโหมโรงเย็นหรือโหมโรงเช้าแล้ว แต่พระสงฆ์ยังเดินทางมาไม่ถึงพิธี เพลงเรื่องเพลงฉิ่ง ใช้บรรเลงขณะพระสงฆ์ฉันภัตตาหาร เพลงเรื่องนางหงส์ ใช้บรรเลงประโคมศพ หรือเพลงเรื่องทำขวัญ ใช้บรรเลงขณะเวียนเทียน เป็นต้น
เพลงเรื่องสามารถจำแนกประเภทตามรูปแบบการบรรเลงได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. ประเภทเพลงช้า
ถือเป็นประเภทเพลงเรื่องที่มีหลักฐานใหญ่โตที่สุด มีรูปแบบการบรรเลงแบ่งออกเป็น 4 ตอน (กลุ่มทำนองเพลง) ด้วยกัน กล่าวคือ ตอนแรก เริ่มต้นเรื่องด้วยกลุ่มเพลงช้า (เพลงที่ใช้หน้าทับปรบไก่บรรเลงประกอบจังหวะ) ตอนที่ 2 กลุ่มเพลงสองไม้ (เพลงที่ใช้หน้าทับสองไม้บรรเลงประกอบจังหวะ) ตอนที่ 3 กลุ่มเพลงเร็ว และตอนที่ 4 บรรเลงปิดท้ายด้วยเพลงลา 2 ชั้น (บางสำนักอาจบรรเลงเพลงลา เถา (อัตรา 3 ชั้น 2 ชั้น และชั้นเดียว) หรือเลือกบรรเลงเฉพาะอัตราใดอัตราหนึ่ง เช่น เพลงเรื่องเต่าทอง วงปี่พาทย์บ้านใหม่หางกระเบน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรเลงด้วยเพลงลาชั้นเดียว เป็นต้น)
สำหรับเพลงเรื่องประเภทนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตีฉิ่งประกอบจังหวะ โดยเฉพาะตอนแรกในกลุ่มเพลงช้า เพลงที่บรรจุล้วนเป็นเพลงอัตรา 2 ชั้น หน้าทับกลองบรรเลงตามอัตราและประเภทของเพลง แต่ปัญหาอยู่ที่การตีฉิ่ง เพราะฉิ่งควรตีตามอัตราของเพลง คือ อัตรา 2 ชั้น แต่ที่ปฏิบัติโดยทั่วไปฉิ่งกลับตีเป็นอัตรา 3 ชั้น (ตอนอื่นๆ ฉิ่งตีตามอัตราเพลงตามปกติ) ในเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์พิชิต ชัยเสรี (ข้าราชการบำนาญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อธิบายว่า
“เหตุที่ฉิ่งตีอัตรา 3 ชั้น เพราะลักษณะทำนองเพลงเป็น ‘สองชั้นฉาย’ อาการที่ดุริยางค์ฉายรูปขึ้นเป็นอัตราใดก็ตาม ฉิ่งต้องตีตามอัตราที่ฉาย คือรูปดุริยางค์มันเป็นอย่างนั้น แต่ตัวมันเป็นสองชั้นเพราะประวัติศาสตร์ หรือเพราะสังกัดของมัน การฉายรูปจะเกิดขึ้นในเพลงโบราณๆ ตอนที่อยุธยาต่อรัตนโกสินทร์ คือความเบ่งบานของท่วงทำนองมันเปล่งปลั่งเต็มที่ที่จะเป็น 2 ชั้นไม่ได้ ตัวอย่างเช่นการร้องเพลงแมลงภู่ทอง จะเห็นทีเดียวว่า แม้ดูเหมือนเนื้อเต็ม แต่ลีลามันเต็มตัวพร้อมจะเป็น 3 ชั้นแล้ว แต่ใช่ว่าทุกเรื่องจะเป็นสองชั้นฉายทั้งหมด บางเรื่องก็เป็นสองชั้นแท้ๆ” (พิชิต ชัยเสรี, สัมภาษณ์, 2552)
ตัวอย่างเพลงเรื่องประเภทเพลงช้า เช่น เพลงเรื่องกระเดียด เพลงที่บรรจุในตัวเรื่องมีดังนี้ ตอนแรก (กลุ่มเพลงช้า) ประกอบด้วยเพลงกระเดียด โล้ (ประพาสเภตรา) ต้นพระยาราชปักษี พระยาราชปักษี ปลายพระยาราชปักษี ตอนที่ 2 (กลุ่มเพลงสองไม้) เพลงนางเยื้อง ตอนที่ 3 (กลุ่มเพลงเร็ว) เพลงปฐมสมโภชน์ (เจดีย์เจ็ดยอด) ตอนที่ 4 เพลงลา 2 ชั้น เป็นต้น
2. ประเภทเพลงปรบไก่
สำหรับเพลงเรื่องประเภทนี้รูปแบบการบรรเลงจะต่างจากเพลงเรื่องประเภทเพลงช้า กล่าวคือ เพลงที่บรรจุในตัวเรื่องล้วนเป็นเพลงที่ใช้หน้าทับปรบไก่บรรเลงประกอบจังหวะทั้งสิ้น มีอัตราการดำเนินจังหวะอัตราเดียว (บางเรื่อง/บางเพลงมีลักษณะเป็นสองชั้นฉายเช่นกัน) และไม่บรรเลงปิดท้ายด้วยเพลงลา แต่ตัดลงด้วยทำนองเฉพาะที่เรียกว่า “เช็ดเช้” หรือจบลงตามทำนองเพลงสุดท้ายของเรื่องนั้นๆ
ตัวอย่างเพลงเรื่องประเภทเพลงปรบไก่ เช่น เพลงเรื่องพญาโศก เพลงที่บรรจุในตัวเรื่องมีดังนี้ เพลงต้นพญาโศก พญาโศก พญาครวญ พญากริช พญาขวัญ หอมหวน ลมหวน หกบท ตามกวาง น้ำลอดใต้ทราย เดือนหงายกลางป่า เป็นต้น
3. ประเภทเพลงสองไม้และเพลงเร็ว
เพลงเรื่องประเภทนี้ไม่มีเพลงช้าบรรจุในตัวเรื่อง แต่จะเริ่มต้นเรื่องด้วยกลุ่มเพลงสองไม้ บรรเลงออกเพลงเร็ว และบรรเลงลงจบด้วยเพลงลา หรืออีกรูปแบบหนึ่ง คือ เพลงที่บรรจุในตัวเรื่องล้วนเป็นเพลงสองไม้ทั้งสิ้น มีอัตราการดำเนินจังหวะอัตราเดียว และไม่บรรเลงปิดท้ายด้วยเพลงลา แต่ตัดลงด้วยทำนองเฉพาะที่เรียกว่า “เช็ดเช้” หรือจบลงตามทำนองเพลงสุดท้ายของเรื่องนั้นๆ
นอกจากนี้ เรื่องเพลงเร็วถือว่าสังกัดอยู่ในเพลงเรื่องประเภทเพลงสองไม้เช่นกัน แต่เป็นชนิดที่มีการดำเนินจังหวะอัตราชั้นเดียวทั้งหมด เพราะเพลงเร็วจัดเป็นเพลงสองไม้ชนิดหนึ่ง เนื่องจากหน้าทับตะโพนที่ใช้ตีประกอบจังหวะเป็นหน้าทับสองไม้ชั้นเดียว
ตัวอย่างเพลงเรื่องประเภทเพลงสองไม้ เช่น เพลงเรื่องทยอย เพลงที่บรรจุในตัวเรื่องมีดังนี้ เพลงทยอย ทวอย ทยอยญวน ทยอยกลาง ทยอยใน เป็นต้น
4. ประเภทเพลงฉิ่ง
เพลงที่บรรจุในตัวเรื่องประเภทนี้จะไม่มีการบรรเลงหน้าทับตะโพนกลองประกอบจังหวะ แต่ใช้ฉิ่งบรรเลงประกอบจังหวะเพียงอย่างเดียว (เป็นที่มาของชื่อ “เพลงฉิ่ง”) สำหรับเพลงเรื่องประเภทเพลงฉิ่งมีความซับซ้อนและมีรูปแบบหลากหลาย เช่น เรื่องฉิ่งชั้นเดียว เพลงที่บรรจุในตัวเรื่องมีอัตราชั้นเดียวทั้งสิ้น หรือเรื่องฉิ่งพระฉัน มีอัตราลดหลั่น 3 ระดับ คือ อัตรา 3 ชั้น 2 ชั้น และชั้นเดียว เป็นต้น
ตัวอย่างเพลงเรื่องประเภทเพลงฉิ่ง เช่น เพลงฉิ่งช้างเจ็ดเชือก หรือฉิ่งช้างประสานงา (เรื่องฉิ่งชั้นเดียว) เพลงที่บรรจุในตัวเรื่องมีดังนี้ เพลงช้างประสานงา ช้างต้น ช้างทรง ช้างสะบัดปลายงวง ช้างสะบัดปลายงา ช้างพัง ช้างพลาย เป็นต้น
ความสำคัญของเพลงเรื่องและการนำไปใช้งาน
ผู้เขียนได้สรุปรวมความสำคัญด้านต่างๆ ของเพลงเรื่อง และการนำไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากความเป็น “กาลเทศวิภาค” ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เท่าที่ค้นพบดังนี้
1. รวมความหลากหลายของมือฆ้อง
เพลงเรื่องเป็นประเภทเพลงไทยที่บรรจุความหลากหลายของมือฆ้องวงใหญ่ไว้มากที่สุด ซึ่งแต่ละเรื่องมีทำนองเพลงและลักษณะมือฆ้องที่มีอัตลักษณ์ต่างกัน นอกจากนี้เพลงเรื่องบางเรื่องแม้ชื่อเรื่องเดียวกัน แต่แต่ละสำนักดนตรีบรรจุเพลงในเรื่องต่างกัน เรียงลำดับเพลงต่างกัน ทำนองเพลงต่างกัน และมีมือฆ้องที่ต่างกัน ดังปรากฏวิทยานิพนธ์ที่มีการศึกษามือฆ้องวงใหญ่ในเพลงเรื่องอย่างกว้างขวาง เช่น วิเคราะห์เพลงเรื่องเขมรใหญ่ทางฆ้องวงใหญ่: กรณีศึกษาทางเพลงจากครูพินิจ ฉายสุวรรณ (ศิลปินแห่งชาติ) ของสกลธ์ ดอกลัดดา หรือเพลงเรื่องสารถี: กรณีศึกษาทางบ้านขมิ้นและทางวัดกัลยาณมิตร ของกี จันทศร เป็นต้น ซึ่งนั่นหมายถึงเอกลักษณ์เฉพาะและความลุ่มรวยในความหลากหลายของวัฒนธรรมดนตรีไทย
ด้วยเหตุนี้ โบราณจารย์จึงนิยมให้ผู้เริ่มต้นเรียนดนตรีปี่พาทย์เน้นศึกษาเพลงเรื่องให้มาก เพราะจะทำให้เกิดความแตกฉานทางสติปัญญาด้านมือฆ้องและทำนองเพลง (สามารถนำมือฆ้องและทำนองเพลงมาพัฒนาเป็นมือเพลงเดี่ยวได้) เป็นการฝึกความทรงจำ และยังเป็นการฝึกแปรทางเครื่องดนตรีของตนโดยคำนึงถึงสัมผัสกลอนเพลงและความสัมพันธ์กับทำนองฆ้องวงใหญ่ที่มีความหลากหลาย
2. ฐานองค์ความรู้
เพลงเรื่องเป็นประเภทเพลงไทยที่ร้อยเรียงเพลงเกร็ดที่มีคุณสมบัติอย่างเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขยาย/ตัดทอนเป็นเพลงเถา นำมาบรรจุรวมเป็นชุดเดียวกัน เพลงเรื่องจึงเป็นแหล่งรวมรากฐานเพลงไทยที่มีความสำคัญยิ่งแม้ปัจจุบันหลายเพลงจะสูญหายไปมากแล้วก็ตาม (เพลงช้า เพลงเร็ว ที่ใช้ประกอบรำและแสดงละคร นักดนตรีไทยล้วนดึงมาจากเพลงเรื่องทั้งสิ้น หรือเพลงเรื่องนางหงส์ (สำหรับประโคมศพ) เพลงเร็วและเพลงฉิ่งก็ดึงมาจากเพลงเรื่องเพลงช้า/เพลงฉิ่งเช่นกัน)
นอกจากนี้ ในส่วนหน้าทับตะโพน เพลงเรื่องยังเป็นแหล่งรวมหน้าทับพิเศษอีกด้วย เพราะเพลงเรื่องบางเรื่องใช้หน้าทับพิเศษสำหรับบรรเลงประกอบเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ (แทนหน้าทับปรบไก่ช่วงเพลงช้า) ได้แก่ หน้าทับเรื่องลงสรง หน้าทับเรื่องเขมรใหญ่ หน้าทับเรื่องกะระหนะ หน้าทับเรื่องมอญรำดาบ หน้าทับเรื่องเวียนเทียน หน้าทับเรื่องพญาโศก และหน้าทับเรื่องพญาเดิน
3. แบบฝึกสำคัญสำหรับปี่พาทย์
โบราณจารย์ใช้เพลงเรื่องเป็นแบบฝึกทักษะปฏิบัติสำหรับเครื่องดนตรีปี่พาทย์ ซึ่งอาจเห็นได้ว่ามีความต่างจากดนตรีตะวันตกที่มีแบบฝึกแยกจากตัวเพลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าดนตรีไทยไม่มีแบบฝึกทักษะ แต่แบบฝึกของดนตรีไทยอยู่ในตัวเพลงโดยเฉพาะในเพลงเรื่องนั่นเอง และเนื่องจากเพลงเรื่องเรื่องหนึ่งอาจมีความยาวในการบรรเลงนานถึงชั่วโมง จึงเป็นอุบายอย่างดีสำหรับให้ผู้เรียนดนตรีปี่พาทย์มีความขยันอดทนในการฝึกซ้อม
เพลงเรื่องหรือเพลงฉิ่งที่ใช้ฝึกแต่โบราณได้แก่ เรื่องทะแย ฉิ่งมุล่ง และเรื่องมัดตีนหมู วิธีการฝึกเรียกว่า “ไล่” โดยบรรเลงเพลงดังกล่าววนซ้ำไปมาในระยะเวลาอันนานและจะเพิ่มความเร็วขึ้นเป็นลำดับจนผู้ปฏิบัติเห็นสมควรจึงหยุด (ครูบางท่าน “ไล่” ต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักเป็นเวลาหลายชั่วโมง/ข้ามวันข้ามคืน) ประโยชน์เพื่อเพิ่มกำลังและความคล่องตัวแก่ผู้ปฏิบัติ
โดยเฉพาะเรื่องทะแย แม้แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงฝึกซ้อมระนาดด้วยเพลงนี้เช่นกัน ดังปรากฏความตอนหนึ่งในสาส์นสมเด็จฯ ซึ่งพระองค์เขียนกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า
“นานแล้วแต่ครั้งกรมหมื่นปราบฯ ยังอยู่ เกล้ากระหม่อมเดินผ่านหน้าวังไปได้ยินพวกทหารชาวปากลัดซึ่งมาเฝ้าวังเล่นเครื่องสายกันอยู่ที่ประตูวัง ฟังเพราะดี ก็เลยยืนฟังอยู่กลางถนนเป็นนาน จึงฟังออกว่าเป็นเพลงทะแยห้าท่อน ซึ่งตัวเองก็ไล่ระนาดด้วยเพลงนั้นอยู่เสมอ” (เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ (รวบรวม), 2552: 132)
หรือ คนฆ้องวงใหญ่สายสำนักพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ต้องต่อเพลงเร็วเรื่องมัดตีนหมูให้จบและตีจนคล่องมือเสียก่อนจึงสามารถต่อเพลงเดี่ยวได้
ท้ายนี้ ครูสำราญ เกิดผล (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2548) เคยกล่าวถึงรสนิยมการฟังเพลงไทยของเจ้านาย 3 พระองค์ ว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ โปรดการฟังวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ประเภทเพลงเสภา สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โปรดการฟังและสนพระทัยเรื่องวงปี่พาทย์ไม้นวม/วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สนพระทัยและโปรดการฟังแต่ “เพลงเรื่อง” โดยเฉพาะ
กล่าวเฉพาะเพลงเรื่อง หากตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงสนพระทัยฟังแต่เพลงเรื่องโดยเฉพาะ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เหตุเพราะพระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ผู้ใฝ่พระทัยด้านความรู้แขนงต่างๆ และศึกษาประวัติศาสตร์หลายด้านอย่างกว้างขวางของแผ่นดินสยาม เพลงเรื่องก็เช่นกัน เพราะเพลงเรื่องบรรจุไว้ด้วยรากฐานเพลงไทย สาระสำคัญและองค์ความรู้ที่ซับซ้อนหลากหลาย จึงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าพระองค์สนพระทัยฟังแต่เพลงเรื่องก็ด้วยเหตุนี้
เชิงอรรถ
ตัวอย่างรายชื่อเพลงเรื่องประเภทเพลงช้า ได้แก่ 1. เรื่องกินนรรำ 2. เรื่องกะระหนะ 3. เรื่องกระเดียด (พญาราชปักษี) 4. เรื่องขอมดำดิน 5. เรื่องแขกมอญ 6. เรื่องแขกสี่เกลอ 7. เรื่องเขมรใหญ่ 8. เรื่องแขกไทร 9. เรื่องแขกไหว้พระ 10. เรื่องครอบจักรวาล 11. เรื่องจีนแส 12. เรื่องจีนไซ้หู้ 13. เรื่องเต่ากินผักบุ้ง 14. เรื่องเต่าเงิน 15. เรื่องเต่านาค 16. เรื่องเต่าเห่ 17. เรื่องเต่าทอง 18. เรื่องตะนาว 19. เรื่องตะนาวแปลง 20. เรื่องต่อยรูป 21. เรื่องต้นเพลงยาว 22. เรื่องต้อยตลิ่ง 23. เรื่องทองย่อน 24. เรื่องนกขมิ้น 25. เรื่องฝรั่งรำเท้า 26. เรื่องพวงร้อยสร้อยสน 27. เรื่องพระรามเดินดง 28. เรื่องมอญแปลง 29. เรื่องมอญรำดาบ 30. เรื่องมาลีหวน 31. เรื่องราโค 32. เรื่องวิเวกเวหา 33. เรื่องเวสสุกรรม 34. เรื่องสรรเสริญพระบารมี 35. เรื่องสิงโตเล่นหาง 36. เรื่องสุรินทราหู 37. เรื่องสารถี 38. เรื่องเหมราชเหมรา
ตัวอย่างรายชื่อเพลงเรื่องประเภทเพลงปรบไก่ ได้แก่ 1. เรื่องทะแย 2. เรื่องพญาโศก 3. เรื่องลงสรง 4. เรื่องทำขวัญ (หรือเรื่องเวียนเทียน แบ่งออกเป็นทำขวัญเรื่องเล็กและทำขวัญเรื่องใหญ่) 5. เรื่องอาเฮีย
ตัวอย่างรายชื่อเพลงเรื่องประเภทเพลงสองไม้และเพลงเร็ว ได้แก่ 1. เรื่องทวอย 2. เรื่องทยอย 3. เรื่องพญาเดิน 4. เรื่องสีนวล 5. เรื่องอู่ทอง 6. เรื่องแขกบรเทศ (เพลงเร็ว) 7. เรื่องแขกประเทศ (เพลงเร็ว) 8. เรื่องแขกมัดตีนหมู (เพลงเร็ว) 9. เรื่องเต่าเลือด (เพลงเร็ว)
ตัวอย่างรายชื่อเพลงเรื่องประเภทเพลงฉิ่ง ได้แก่ 1. เรื่องกระบอก 2. เรื่องกาเรียนทอง 3. เรื่องจิ้งจกทอง 4. เรื่องฉิ่งตรัง 5. เรื่องช้างประสานงา 6. เรื่องต้นเพลงฉิ่ง 7. เรื่องพระยาพายเรือ 8. เรื่องมุล่ง 9. เรื่องยิกิน
(รายชื่อเพลงเรื่องที่ปรากฏ ผู้เขียนได้รวบรวมทั้งของเก่าและของใหม่ที่ครูอาจารย์ยุคปัจจุบันผูกขึ้น เช่น ครูสำราญ เกิดผล (ศิลปินแห่งชาติ) และครูพินิจ ฉายสุวรรณ (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นต้น)
รายการอ้างอิง
ปานหทัย สุคนธรส. (2550). โน้ตฆ้องวงใหญ่ เพลงเรื่องกระเดียด. เอกสารบันทึกลายมือ.
ปานหทัย สุคนธรส. (2550). โน้ตฆ้องวงใหญ่ เพลงเรื่องพญาโศก. เอกสารบันทึกลายมือ.
พิชิต ชัยเสรี. (2540). พุทธธรรมในดนตรีไทย. เอกสารสำเนาเย็บเล่ม.
พิชชาณัฐ ตู้จินดา. (2551). โน้ตฆ้องวงใหญ่ เพลงเรื่องทยอย. เอกสารบันทึกลายมือ.
พินิจ ฉายสุวรรณ. (ม.ป.ป.). โน้ตฆ้องวงใหญ่และระนาดเอก เพลงฉิ่งช้างประสานงา. เอกสารบันทึกลายมือ.
พินิจ ฉายสุวรรณ. (2544). พรรณนาเพลงเรื่อง. วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดพิมพ์เนื่องในงานดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 32 มหาวิทยาลัยมหิดล.
มนตรี ตราโมท. (2540). ดุริยางคศาสตร์ไทยภาควิชาการ. กรุงเทพมหานคร: บริษัท พิฆเณศ พริ้นท์ติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด.
สงัด ภูเขาทอง. (2539). การดนตรีไทยและทางเข้าสู่ดนตรีไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ (รวบรวม). (2552). เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จาก สาส์นสมเด็จ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ (รวบรวม). (2552). เพลงดนตรี: จาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ถึง พระยาอนุมานราชธน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.
สัมภาษณ์
พิชิต ชัยเสรี. สัมภาษณ์. 2552.
พินิจ ฉายสุวรรณ. สัมภาษณ์. 2555.
สำราญ เกิดผล. สัมภาษณ์. 2555.
(จากวารสารเพลงดนตรี เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖, ภูมิพงศ์ คุ้มวงษ์: ถ่ายภาพ)