ถึงเวลา… เปลี่ยนทัศนคติคุณค่างาช้าง ?!!?

ถึงเวลา… เปลี่ยนทัศนคติคุณค่างาช้าง ?!!?
สมโรจน์ คูกิจติเกษม: ถ่ายทอดประสบการณ์
พิชชาณัฐ ตู้จินดา: เรื่อง

ว่ากันว่าพุทธศาสนาแบ่งสัตว์เป็น ๒ ประเภท คือสัตว์ประเสริฐได้แก่มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน ได้แก่จำพวกงู ไส้เดือน นก ไก่ ช้าง ม้า ตะขาบ แมงมุม แต่ทำไมสัตว์ที่มี “ธัมมสัญญา” รู้ดีชั่วอย่างมนุษย์จึงต้องการครอบครองอวัยวะสัตว์อื่นที่เชื่อว่าให้คุณ? ถึงขั้นเบียดเบียนชีวิตและลงปลายด้วยการสูญพันธุ์

โดยเฉพาะงาช้างที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ด้วยเชื่อว่ามีค่าดัง “ทองคำขาว” ทั้งเป็นของขลังทนสิทธิ์และเสริมบารมีแก่เจ้าของ จนเกิดวงจรค้างาผิดกฎหมายข้ามชาติ เป็นเหตุให้ช้างแอฟริกาและช้างไทยต้องตายมากกว่า ๓๐,๐๐๐ ตัวในแต่ละปี เพื่อสังเวยความต้องการของตลาด

ปัญหาดังกล่าว สมโรจน์ คูกิจติเกษม ประธานชมรมสืบสานวัฒนธรรมคนกับช้าง และเจ้าของพิพิธภัณฑ์ช้าง จ.สุรินทร์ ออกมาให้ข้อมูลว่า “งามงคลหรือที่เรียก ‘งากำจาย’ ได้จากการตัดบำรุงงาด้วยวิธีโบราณหรือช้างที่ล้มตามอายุขัย แต่งาตามท้องตลาดเขาฆ่าช้างเพื่อเอางา หรือตัดผิดวิธีช้างจึงล้ม

“ขโมยจะตัดงาติดจ้ำปากช้าง เพราะต้องการเนื้องามากที่สุด แต่หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการฆ่าช้างทางอ้อม เพราะเลือดจะไหลไม่หยุด ช้างจะเอาดินป้ายที่แผล พออากาศไม่มี บาดทะยักเข้าเส้นเลือด ช้างก็ล้ม วิธีที่ถูก งาสามส่วนจะตัดออกหนึ่งส่วนเท่านั้น เพื่อให้เขาดำรงชีพได้

“ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า จากจำนวนช้างทั้งหมดและวิธีได้งาที่ถูกต้อง มันไม่พอป้อนตลาดหรอก งาส่วนใหญ่เป็นงาเถื่อนทั้งนั้น คนได้ไปอย่านึกว่าดี เป็นงาอัปมงคล ไม่ต่างอยู่กับซากศพ”

ต้องเข้าใจก่อนว่า งาช้างจะยาวปีละประมาณ ๕-๑๐ ซ.ม. ถ้าความยาวเกินพอดีหรือมีลักษณะไม่เหมาะสม (งาสองข้างยาวขัดหรือชนกัน) จะเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพและป้องกันตัว ด้วยสัญชาตญาณ ช้างป่าจะกำจัดงาด้วยวิธีแทงกับต้นไม้หรือตลิ่งแล้วฝนลับให้พอเหมาะ งาที่หักนี้เรียก “งากำจัด” ต่างจากช้างบ้านที่มีการตัดบำรุงงาตามวิถีควาญช้างโดยมีแบบแผนพิธีที่โบราณกำหนด

“ช้างเอเชียมีลักษณะแยกย่อยออกไป งาก็มีประเภทของมัน งาหยวก งาปลี งาเครือ งาหวาย งาเทียน งาหิน มีสีต่างๆ งาสีน้ำผึ้ง สีชมพู สีขาวนวล สีงา มีหลากหลายรูปทรง งากวัก งาอุ้มบาตร งาใบโพธิ์ งางอน งาดาบ ช้างเอเชียมีงาเฉพาะช้างพลาย (ตัวผู้) แต่ช้างแอฟริกาเกือบทุกตัวมีงาทั้งหมด แม้ช้างพัง (ตัวเมีย) ลักษณะเนื้องาก็ต่างกัน

“ทุกวันนี้การฆ่าช้างมีแต่เพิ่มพูน จนกว่าช้างจะหมดนั้นแหละ ขบวนการนี้ถึงหยุด คนทั่วไปต้องทราบข้อเท็จจริงส่วนนี้ เราควรรีบหาวิธีชะลอ หรือบอกกล่าวให้คนตื่นตัวมาร่วมกันป้องกัน การทำงานของเจ้าหน้าที่หรือองค์กรต่างๆ แน่นอนมันอยู่ด้านสว่าง แต่อย่าลืมว่ามิจฉาชีพนี่อยู่ด้านมืดนะ ฉะนั้นเราไม่มีทางรู้หรอกว่าพวกเขากำลังทำอะไร” ประธานชมรมฯ กล่าวเสริม

ดูเหมือนปัญหาค้างาช้างจะเป็นปัญหาเรื้อรังหนึ่งในสังคม ไม่ต่างจากปัญหาไม้พยุงหรือสัตว์อื่นที่ตกที่นั่งเดียวกัน เพราะความเชื่อผิดๆ ของคนในสังคม

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหานี้ เพียงพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะที่ไทยมีใช้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ คงล้าสมัยไปเสียแล้ว ตั๋วรูปพรรณช้าง/งาช้างที่รัฐจัดทำ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าใช้งานได้จริงหรือผู้ค้าได้มาถูกวิธี (สวมตั๋วคุมงา) ทั้งการส่งเสริมผลิตภัณฑ์โอทอปบางชนิดที่มีงาช้างเป็นวัตถุดิบหลักก็ดูขัดแย้งกับการอนุรักษ์อย่างสิ้นเชิง

ที่ถูกต้อง รัฐควรแก้ปัญหาด้วยการปลูกจิตสำนึกให้ความรู้ความเข้าใจอย่างจริงจังกับประชาชน ซึ่งนั่นหมายถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

“ผมไม่ได้ออกมาต่อต้าน แต่ผมออกมาทำความเข้าใจกับสังคม ผมมองว่าช้างไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคล อาจจะใช่ในแง่กฎหมาย แต่มันเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเราไม่หยุด วันหนึ่งช้างพลายจะโดนฆ่าทั้งหมดเพื่อเอางา เหลือช้างพังกับช้างสีดอที่มีแต่ขนาย สุดท้ายช้างจะสูญพันธุ์

“มันก็เหมือนต้นไม้ คุณอย่าไปตัด ปล่อยไปตามธรรมชาติ พื้นที่ป่าจะเพิ่มขึ้นทุกวัน เช่นกัน ถ้าเราหยุดสร้างมูลค่า หยุดความเชื่องมงาย ช้างมีงา ขนหาง คชลักษณ์ดี มันคือคุณค่าสง่างามสมเป็นสัตว์ประจำชาติไทย” ประธานชมรมฯ กล่าวปิดท้าย

ถึงเวลาหรือยัง ที่สังคมควรเปลี่ยนทัศนคติคุณค่างาช้าง จากความเชื่อเดิมๆ ล่างาเพื่อประดับบารมีและเสริมความมั่งคั่งแก่ผู้มีอันจะกิน เป็นช่วยกันรักษาช้างเพื่อประดับผืนป่า และเสริมความมั่งคั่งแก่มรดกธรรมชาติ

หากเป็นเช่นนั้น ความคาดหวังที่จะเห็นช้างดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปบนโลก คงเป็นจริงได้ไม่ยาก

งากำจายได้จากตัดบำรุงงา พลายขวัญสุรินทร์ มหาวังช้าง กาญจนบุรี

งากำจายได้จากตัดบำรุงงา พลายขวัญสุรินทร์ มหาวังช้าง กาญจนบุรี

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *