ประวัติชีวิตและผลงานครูชื่น หริมพานิช (หัวหน้าวงปี่พาทย์ปากลัด)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
กำเนิดและเครือญาติ
ครูชื่น หริมพานิช (แซ่ลิ้ม) เกิดวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นคนอำเภอพระประแดง (ปากลัด) จังหวัดสมุทรปราการโดยกำเนิด บิดาชื่อ นายหลิม แซ่ลิ้ม มารดาชื่อ นางเงิน (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลเดิมได้)
ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์นายสุเชาว์ หริมพานิช (บุตรชาย) ได้กล่าวถึงบิดาและมารดาของครูชื่น หริมพานิช ว่า “พ่อของครูชื่นเป็นคนจีน ก็คือปู่ของครูนี่แหละ ปู่ของครูท่านพูดไทยไม่ได้เลยนะ ท่านชื่อหลิ แซ่ลิ้ม คุณย่าชื่อเงิน คุณปู่ตายตอนปี พ. ศ. ๒๔๙๑ แล้วก็มาเผาตอนปี พ.ศ. ๒๔๙๓ รู้แต่ว่าเป็นคนจีน เพราะพูดไม่ชัด
“ปู่ครูมีพ่อ แล้วก็มีอา แล้วก็มีลุงที่ชื่อนายเชย แซ่ลิ้ม แล้วยังมีพี่สาวของพ่อต่างมารดาอีกคน คือย่าคนละคนกัน ชื่อนางแก้ว คนนี้ไม่เป็นดนตรี ปู่ของครูมีภรรยาสองคน ซึ่งตอนหลังย่าก็ไปแต่งงานกับสกุลทองเนื้อดี ไปอีกสายหนึ่ง ซึ่งเป็นมอญอยู่ในท้องถิ่น”
ครูชื่น หริมพานิช มีพี่น้องรวมสายเลือดทั้งหมด ๔ คน คือ
๑. นายเชย หิรัญประเสริฐ ประกอบอาชีพสอนแตรวงโรงเรียนวัดทรงธรรม (ไม่สามารถสืบค้นได้ว่าเรียนดนตรีกับท่านใด)
๒. นางหนู หริมพานิช ประกอบอาชีพส่วนตัว
๓. ครูชื่น หริมพานิช เป็นครูดนตรีไทยและหัวหน้าวงปี่พาทย์
๔. นายชม หริมพานิช ประกอบอาชีพหัวหน้าคณะลิเก
นายสุเชาว์ หริมพานิช ได้กล่าวถึงนายชม หริมพานิช ว่า “อาชมคนนี้เป็นลิเก เล่นลิเกวิกเมรุปูนอยู่ที่กรุงเทพฯ ลิเกที่เมรุปูนเป็นลิเกมาตรฐานที่สุดในสมัยนั้น คำว่าเมรุปูนเนี้ยคำแปลครูไม่รู้ เหมือนกับว่าเป็นลิเกทรงเครื่อง แต่งเครื่องอย่างดี ใส่ผ้าไหมอย่างดี แต่ไม่มีผู้หญิงเล่น ใช้ผู้ชายล้วน ผู้ชายก็เป็นตัวนาง ก็คืออาของครูนี่แหละเล่นลิเกเป็นตัวนาง แล้วตอนหลังพออายุมากเข้า มันก็ไม่สวยไม่งามแล้วล่ะ ก็เลยต้องเปลี่ยนมาเล่นบทที่เป็นผู้ชาย เป็นตัวเจ้า เป็นตัวพ่ออะไรอย่างนี้ เขาสังกัดอยู่ในกรุงเทพฯ
“ครูไม่เคยได้ไปดูหรอกนะ เพียงแต่ว่าครูชื่นเล่นปี่พาทย์ เมื่อลิเกของอามาเจอกัน สมัยก่อนนี้อาเขาก็มีคณะนะ เขาอยู่คณะของคนที่มีชื่อเสียงแต่ครูจำไม่ได้แล้ว ว่าชื่ออะไร แต่มาตอนหลังอาของครูได้เปลี่ยนชื่อคณะใหม่ว่า ชื่นชมนาฏศิลป์ ถ้าเขาเป็นโต้โผนะ แต่ถ้าเขาไม่ได้เป็นโต้โผเขาก็จะไปกับวงคนนั้นวงคนนี้ เช่นวงนายยังใหญ่ ชื่อคนแต่ไม่ใช่ครูบุญยังนะ นายยังนี่เป็นลิเกที่เล่นเก่งมากในสมัยนั้น สมัยนั้นเขาจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องลิเกมากๆ เลย เล่นออกมาทั้งร้องทั้งรำ ยอดๆ ทั้งนั้น ถ้าไม่ได้เล่นลิเกการพูดการจาการวางตัวก็จะเป็นอย่างลิเกอยู่ดี แต่สมัยนี้ออกมาโค้งแต่งตัวสวยอย่างเดียว
“ตอนหลังอามาเป็นโต้โผ ตอนที่เขามีอายุมากแล้ว พอที่จะมีความรู้ความชำนาญ เอาคนนี้มาเล่นเป็นเจ้า คนนี้มาเล่นเป็นนาง ก็มาตั้งวงรับงานเล่นงานอยู่แถวๆ ที่พระประแดงนี่แหละ ถ้าไปเล่นที่ไหนก็จะใช้วงดนตรีปี่พาทย์ที่บ้าน ก็วงของครูชื่น หริมพานิชไง”
การศึกษาสายสามัญและครอบครัว
ครูชื่น หริมพานิช จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ปี ๑ จากโรงเรียนวัดทรงธรรม อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ สมรสกับนางสาวละมูล เจริญบุญ ผู้เป็นบุตรสาวของนายสังข์ เจริญบุญ หัวหน้าคณะปี่พาทย์มอญนายสังข์ เจริญบุญ (วงปี่พาทย์อีกคณะหนึ่งในเขตอำเภอพระประแดง)
นายสุเชาว์ หริมพานิช กล่าวถึงนางละมูล หริมพานิช (มารดา) ว่า “คุณแม่เป็นแม่บ้าน ทำหน้าที่เลี้ยงลูกทั้ง ๑๑ คนมาโดยตลอด แต่ก็มีรับจ้างพิเศษ รับจ้างซักรีดอยู่ที่บ้าน แต่เวลาพ่อรับงานมาแม่ก็จะช่วย ช่วยโดยการว่า ช่วยเตรียมข้าวตะโพน ดูแลเรื่องนี้ ไอ้นี่ขาด ไอ้นั้นขาด แม่ก็จะเป็นคนดูแลจัดเตรียม เวลาพ่อไปงานก็จะคอยจัดหาพวกไม้ตีต่างๆ ให้ ช่วยทำความสะอาดเครื่องดนตรีด้วย ถ้าจะไปค้างแรมที่ไหนก็จะเตรียมหมอนมุ้งที่นอนไป แต่แม่จะไม่ได้ไปด้วยนะ แม่จะอยู่ที่บ้าน
“งานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นงานไหว้ครู งานบวช แม่จะถนัดเรื่องนี้มาก คือคุณพ่อจะบอกว่าจัดการไปเลย โดยที่แม่จะซื้อทุกอย่าง แม้กระทั่งพวกหัวหมู เป็ด ไก่ เพราะแต่ก่อนนั้นเขาไม่ซื้อกันนะ เวลาที่จะไหว้ครู เราจะต้มกันเอง เตรียมของกันตั้งแต่เย็นๆ ยันสว่างเลย ทุกคนก็จะมาช่วยกัน
“ที่บ้านพ่อจะมีลูกศิษย์ลูกหามาช่วยกันเยอะ อย่างว่าปีนี้ผมเอาเป็ดมา เอาหัวหมูมา เอามะพร้าวมาทะลายนึง ไปหากันมาสดๆ ไม่ได้มีการซื้อ ลูกศิษย์ที่อยู่ตามจังหวัดใกล้เคียงก็ต้องเอามาช่วย”
ครูชื่น หริมพานิช มีบุตรกับนางละมูล หริมพานิช ทั้งหมด ๑๑ คน คือ
๑. นายนิยม เจริญบุญ (ถึงแก่กรรม) เริ่มเรียนดนตรีไทยกับครูชื่น หริมพานิช (บิดา) และเรียนทางระนาดเอกกับครูเผือด เกษตระชล มีความสามารถบรรเลงดนตรีไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ แต่เครื่องดนตรีที่โดดเด่นที่สุด คือ ระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่ โดยรับหน้าที่บรรเลงระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์ปากลัดมาโดยตลอด และในเวลาต่อมา หลังจากบิดาได้เสียชีวิตลง นายนิยม ได้รับหน้าที่ดูแลและสืบสานกิจการวงปี่พาทย์ปากลัดต่อจากบิดา
๒. นางพเยา เปลี่ยนสี (ถึงแก่กรรม) ไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีไทย ต่อมาสมรสกับนายสุพจน์ เปลี่ยนสี
๓. นางสาววันดี หริมพานิช ไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีไทย
๔. นายวิชา หริมพานิช (ถึงแก่กรรม) เริ่มเรียนดนตรีไทยกับครูชื่น หริมพานิช (บิดา) มีความสามารถบรรเลงดนตรีไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเครื่องหนังต่างๆ และจะรับหน้าที่บรรเลงเครื่องหนังประจำวงปี่พาทย์ปากลัด
๕. นายวิชัย หริมพานิช เริ่มเรียนดนตรีไทยกับครูชื่น หริมพานิช (บิดา) เรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนักเรียนดุริยางค์ทหารเรือ หลังสำเร็จการศึกษาแล้วได้เป็นนักดนตรีสากล (ไวโอลิน) ประจำวงดนตรีราชนาวี วงดนตรีสภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการบรรเลงเปียโนอีกด้วย
๖. นายวินัย หริมพานิช เกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ เริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกกับครูชื่น หริมพานิช (บิดา) ต่อจากนั้นจึงได้ไปฝากตัวเรียนดนตรีไทยกับครูบุญยงค์ เกตุคง และครูบุญยัง เกตุคง นายวินัยเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนักเรียนดุริยางค์ทหารเรือ และเมื่อสำเร็จการศึกษาจึงเข้ารับราชการต่อที่กองดุริยางค์ทหารเรือ (แผนกดนตรีไทย) จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
๗. นายสุเชาว์ หริมพานิช เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นคนอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการโดยกำเนิด เริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกกับครูชื่น หริมพานิช (บิดา) จนกระทั่งอายุประมาณ ๒๕ ปี จึงได้เดินทางไปฝากตัวเรียนดนตรีกับครูบุญยงค์ เกตุคง และครูบุญยัง เกตุคง โดยเริ่มเรียนตั้งแต่ความรู้ระดับพื้นฐานจนกระทั่งถึงความรู้ระดับสูง ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ นายสุเชาว์ เข้าทำงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จนกระทั่งถึง ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงได้ลาออก เพื่อเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีไทยประจำมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำแขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
๘. นางกัญญา หริมพานิช ไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีไทย
๙. นางปรานี ฮวดพิทักษ์ เรียนขับร้องเพลงไทยเดิมกับครูชื่น หริมพานิช (บิดา) และนายสุเชาว์ หริมพานิช ภายหลังเมื่อได้สมรสและแยกครอบครัวแล้ว จึงเลิกจากการฝึกซ้อมดนตรี
๑๐. นายเสรี หริมพานิช เกิดเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกเมื่ออายุ ๖ ปี กับครูชื่น หริมพานิช (บิดา) ต่อมาจึงได้ศึกษาวิชาความรู้ทางด้านดนตรีไทยกับครูบุญยงค์ เกตุคง และครูบุญยัง เกตุคง ชีวิตการทำงานในช่วงเริ่มแรก นายเสรีประกอบอาชีพนักดนตรี โดยรับบรรเลงดนตรีไทยตามสถานที่ต่างๆ ต่อมาได้เป็นครูสอนดนตรีไทยอยู่ที่โรงเรียนวัดสุทธิวรารามเป็นเวลาประมาณ ๑๙ ปีก่อนจะย้ายมาเป็นครูพิเศษสอนดนตรีไทยที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามลำดับ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำแขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
๑๑. นางนิพาพร แจ้งขำ ไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีไทย
การศึกษาด้านดนตรีและชีวิตดนตรีปี่พาทย์
ครูชื่น หริมพานิช เริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิต โดยศึกษากับครูโบ (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลเดิมได้) และครูจีบ (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลเดิมได้) จนกระทั่งมีความสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยในวงปี่พาทย์ได้อย่างครบถ้วน และเรียนกับครูโบจนกระทั่งครูโบเสียชีวิตลง หลังจากนั้นด้วยความตั้งใจที่จะประกอบอาชีพดนตรีปี่พาทย์อย่างจริงจัง จึงได้ฝากตัวเรียนดนตรีกับครูอีกหลายๆ ท่านในเขตอำเภอพระประแดงและเขตใกล้เคียง อาทิเช่น ครูพัฒน์ (ไม่สามารถสืบค้น นามสกุลเดิมได้) ครูเลื่อม (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลเดิมได้) และครูสังข์ เจริญบุญ เป็นต้น
นายสุเชาว์ หริมพานิช กล่าวถึงชีวิตการเรียนดนตรีของครูชื่น หริมพานิช ว่า “พ่อก็เรียนดนตรีมากับครูดนตรีไทยในละแวกแถวนั้นน่ะ มีหลายคนแต่ครูไม่รู้ว่ามีใครบ้าง เพราะว่าคนที่รู้ก็ตายไปหมดแล้ว แต่ก็เป็นผู้ใหญ่ในวงการดนตรีไทยในอำเภอพระประแดงทั้งนั้นแหละนะ ครูจีบก็มี ชื่อจีบนะ แล้วก็ตาสังข์นี่ก็ด้วย ตอนนั้นที่ยังไม่ได้แต่งงานนะ
“คนปี่พาทย์แถวนั้นมันก็อยู่อย่างนั้นแหละนะ แบบว่าบ้านใกล้เรือนเคียง อย่างเวลาเราจะไปงาน เรารู้จักกันเราก็ว่า เอามาไปงานด้วยกัน เอาคนนี้เป็นก็ไปงานด้วยกัน มันก็ผสมผสานกัน มองกันอยู่ คลุกคลีกันอยู่
“แล้วก็คนที่สร้างเครื่องมอญ ที่เขาสร้างเครื่องมอญไว้ในย่านพระประแดง เขาเก่งมาก ชื่อลุงเลี่ยม คือคุณพ่อของครูได้เรียนกับกลุ่มคนกลุ่มครูพวกนี้ แล้วก็ยังมีอีกหลายคน ที่ครูนึกชื่อไม่ออก”
ครูชื่น หริมพานิช มีความรู้และความสามารถในเชิงระนาดเอกอย่างมาก โดยครูจะรับหน้าที่บรรเลงระนาดเอกประจำวงของครูเอง และจะได้รับความไว้วางใจจากคณะปี่พาทย์ต่างๆ ในอำเภอพระประแดงและจังหวัดใกล้เคียง จ้างวานให้ครูชื่นเป็นผู้บรรเลงระนาดเอกตามโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ จึงทำให้ประสบการณ์ทางด้านดนตรีปี่พาทย์ของท่านเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ
โดยเฉพาะการบรรเลงระนาดเอกรับส่งการแสดงลิเกด้วยแล้ว ครูชื่น หริมพานิช ถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับและนับหน้าถือตาเป็นอย่างมาก เพราะกล่าวขานกันว่าท่านได้เพลงประเภทต่างๆ ไว้มาก เมื่อลิเกร้องส่งให้วงปี่พาทย์รับร้องเพลงใดก็ตาม ท่านก็สามารถบรรเลงรับร้องได้ทุกเพลง
นอกจากนี้ เมื่อคณะลิเกคณะใดได้คนระนาดเอกอย่างครูชื่น หริมพานิช บรรเลงประกอบการแสดงด้วยแล้ว ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความสนุกสนานมาก พวกลิเกจะได้ทบทวนและฝึกซ้อมเพลงเก่าๆ และครูชื่นจะไม่จนเพลงที่ลิเกส่งร้องให้ปี่พาทย์รับง่ายๆ ถึงกระทั่งบางคณะขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาก็มี
นายสุเชาว์ หริมพานิช ได้กล่าวถึงครูชื่น หริมพานิช ว่า “พ่อของครูประกอบอาชีพดนตรีปี่พาทย์อย่างเดียว ไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างอื่นเลย พ่อของครูเรียนจบแค่ ม.๑ มันเข้าอะไรไม่ได้ เลยยึดอาชีพทางนี้ เพราะว่าในสมัยนั้นอาชีพนี้มันดี คือเราพูดง่ายๆ ว่ามันมีงานในวงด้วย แล้วก็เป็นนักระนาดที่รับงานข้างนอกด้วย อย่างมือปืนรับจ้าง
“ในสมัยนั้นวงปี่พาทย์ในพระประแดงมีมากเหมือนกันนะ ถ้ามีงานอะไรที่เกี่ยวข้องกับการแสดงไม่ว่าจะเป็นลิเก ละคร อะไรอย่างนี้ ต้องมาตามพ่อของครูไปตีระนาด พูดง่ายๆ ว่าในย่านนั้นไม่มีใครตีรับลิเกอย่างพ่อได้
“เพราะในสมัยนั้นถ้าตีรับลิเกไม่ได้นี่มันอายเขา หาว่าจนปี่พาทย์นี่ไม่ได้ มันไม่เก่ง ผมติดตามพ่อไปตลอดสมัยนั้น แต่เราตีอะไรไม่เป็นหรอก แต่ว่าติดพ่อ พ่อของครูอัธยาศัยดี ใครก็มาหาพ่อของครูไปหมด เพราะถ้าเรามองว่าเรามีวงแล้ว แล้วเราไม่ไปให้ใคร นั้นคือเราจะไม่ได้มิตร”
ด้วยความรู้และความสามารถของครูชื่น หริมพานิช ประกอบกับมีโอกาสร่วมบรรเลงดนตรีปี่พาทย์กับนักดนตรีต่างวงอยู่เสมอ ทั้งการบรรเลงรวมวงและการบรรเลงระนาดเอกรับส่งการแสดงลิเกและละคร จึงทำให้ครูชื่น หริมพานิช ได้มีโอกาสทำความรู้จักและสนิทสนมกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายท่าน บางท่านนับถือเป็นพี่เป็นน้องกันอย่างสนิทใจ
เมื่อครูต่างๆ ที่สนิทสนมกับครูชื่น หริมพานิช มีโอกาสเดินทางมาบรรเลงดนตรีย่านพระประแดงก็มักจะแวะเวียนมาหาครูชื่นที่บ้านอยู่เสมอ อาทิเช่น ครูพิมพ์ นักระนาด ครูเผือด นักระนาด ครูพัฒน์ กังรัตน์ ครูเชื้อ สินสวัสดิ์ (ลูกศิษย์ครูหรั่ง พุ่มทองสุก) ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูบุญยัง เกตุคง ครูบุญช่วย ชิดท้วม และครูสินพร ผ่องศรี เป็นต้น
วงปี่พาทย์ปากลัดที่ควบคุมวงโดยครูชื่น หริมพานิช นั้น สามารถพูดได้ว่า เป็นวงปี่พาทย์วงหนึ่งในอำเภอพระประแดงที่เป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนในย่านนั้นและเขตใกล้เคียง เพราะอัธยาศัยอันดีงามและนิสัยส่วนตัวของครูชื่น หริมพานิช
นายสุเชาว์ หริมพานิช กล่าวถึงครูชื่น หริมพานิช ในเรื่องนี้ว่า “นอกจากความรู้ความสามารถที่ท่านมีแล้ว ท่านอัธยาศัยดีนะ เวลาที่ท่านจะพูดจากับใคร ท่านจะพูด จ่ะๆ ค่ะๆ ตลอด เคี้ยวหมากด้วย เวลาคนมาหางานที่บ้านครูเนี้ย เขาจะชอบพอกันในเรื่องโอภาปราศรัย แล้วเวลาเราไปบรรเลงท่านก็จะไปแบบเอาใจเจ้าภาพ ไม่มีเรื่องสำมะเลเทเมา ตรงต่อเวลา
“เวลาเพื่อนๆ ของครูชื่นที่เป็นคนปี่พาทย์ด้วยกัน อยากจะได้เพลงอะไรก็จะมาหาแก ไปหาพี่ชื่นสิ พี่เพลงนี่มันยังไง พ่อก็จะบอกว่า เอาไปสิ เธออยากได้เพลงอะไร คือเขาอยากได้เพลงอะไรก็ต่อกัน เป็นที่เอื้ออารีต่อคนทั่วๆ ไป
“พ่อของครูเป็นคนที่ดีมากนะ นี่ไม่ได้ชื่นชมพ่อตัวเองนะ เพราะท่านจะไม่เคยโกรธ ไม่เคยทะเลาะ แล้วก็ไม่เคยมีปัญหากับใครเลย ครูเก่าๆ ที่ผ่านๆ มาก็ชื่นชม เวลาเขาพูดถึงว่า ปี่พาทย์ที่พระประแดงมีใคร ก็จะต้องบอกว่า พี่ชื่นสิ ใจดี นิสัยดี หางานกันมามั้ง อะไรมั้งอย่างนี้”
ลูกศิษย์ลูกหา
ครูชื่น หริมพานิช ได้สร้างเครื่องดนตรีวงปี่พาทย์เป็นของตนเอง ประกอบด้วยปี่ใน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน และกลองทัด (ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของนายสุเชาว์ หริมพานิช) ท่านใช้ชื่อวงปี่พาทย์ว่า “วงปี่พาทย์ปากลัด” โดยรับงานบรรเลงทั้งในตัวจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดข้างเคียง
ในสมัยนั้นถือว่างานปี่พาทย์ยังเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เพราะจะเห็นได้ว่า คณะปี่พาทย์ของครูชื่น หริมพานิช จะมีงานบรรเลงเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย กอปรกับในยุคนั้นความนิยม เรื่องดนตรีไทยยังมีอยู่มาก เพราะชาวบ้านนิยมนำดนตรีไทยไปบรรเลงประกอบงานและพิธีต่างๆ อาทิเช่น งานบวชนาค งานแต่งงาน งานโกนจุก งานขึ้นบ้านใหม่ งานทอดกฐิน งานผ้าป่า งานทำบุญกระดูก งานศพ ฯลฯ
ทำให้สมาชิกในวงดนตรีของครูชื่น หริมพานิช เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ นอกจากสมาชิกภายในวงที่เป็นลูกหลานและเครือญาติภายในบ้านของครูชื่น หริมพานิช แล้ว ยังมีลูกศิษย์ลูกหาที่ฝากตัวเรียนดนตรีปี่พาทย์และเรียนขับร้องกับครูชื่น หริมพานิช อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นในเขตจังหวังใกล้เคียง ดังมีตัวอย่างรายชื่อต่อไปนี้
๑. นายพวง (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านปี่พาทย์
๒. นายชั้น (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านปี่พาทย์
๓. นายหนุน (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านปี่พาทย์
๔. นายสุรินทร์ (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านปี่พาทย์ และขับร้องเพลงไทย
๕. นายวิเชียร นาวาศิษฐ์ ศึกษาดนตรีด้านปี่พาทย์
๖. นายสำราญ เกษตรชล ศึกษาดนตรีด้านเครื่องหนัง
๗. นายอิ๊ด (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านเครื่องหนัง
๘. นายนุ๊ก (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านเครื่องหนัง
๙. นายแฟง (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านเครื่องหนัง
๑๐. นายบุญมี (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านปี่พาทย์
๑๑. นายแดง (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านปี่พาทย์
๑๒. นายประยูร (ไม่ทราบนามสกุล) ศึกษาดนตรีด้านปี่พาทย์
๑๓. นายเปรื่อง วิหารทอง ศึกษาดนตรีด้านขับร้อง
นอกจากนี้ยังมีลูกศิษย์ที่อาศัยอยู่ตามต่างจังหวัดในเขตต่างๆ เดินทางมาเรียนกับครูชื่น หริมพานิช อีกด้วย โดยจะเดินทางมาเรียนในลักษณะเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนถึงจะมาสักครั้งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกศิษย์ทั้งหมดจะมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตาในงานพิธีไหว้ครูดนตรีไทยประจำปีของวงปี่พาทย์ปากลัด ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญที่วงปี่พาทย์ปากลัดโดยการควบคุมของครูชื่น หริมพานิช จะปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกๆ ปี และมักจะมีลูกศิษย์ลูกหานำสิ่งของเครื่องสังเวยหรือผลไม้ต่างๆ มาฝากครูชื่นคนละไม้คนละมือตามกำลังของแต่ละคนเสมอ
นายสุเชาว์ หริมพานิช กล่าวถึงพิธีไหว้ครูที่บ้านของครูชื่น หริมพานิช ว่า “สมัยก่อนที่บ้านของพ่อเนี้ยจะทำบุญบูชาครูทุกปี จะทำกันช่วงเข้าพรรษานะ เพราะช่วงนี้มันเป็นช่วงที่ว่างงานกัน แต่ละปีก็จะมีคนอ่านโองการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ตั้งแต่ครูเลี่ยม ซึ่งครูคนนี้ก็ถือว่าเป็นครูของครูชื่นอีกคนหนึ่ง
“เพราะว่าท่านมีความรู้ความสามารถในเรื่องดนตรี แล้วก็มีความอาวุโสกว่า มีความรู้เรื่องเพลงมอญ แล้วครูเลี่ยมก็มีความสามารถในการแกะฆ้องมอญ แล้วก็สามารถไหว้ครูดนตรีไทยได้ด้วย
“ตอนนั้นที่บ้านจะมีมาหลายคนนะ มีครูเลี่ยมก่อน จนกระทั่งท่านสิ้นไปก็เปลี่ยนเป็นลุงเอี่ยม แล้วก็ครูเชื้อ สินสวัสดิ์ ต่อๆ มาพอรุ่นนี้ไม่ได้มาทำแล้วก็เป็นลุงเอื้อน กรณ์เกษม”
วาระสุดท้ายของชีวิต
ครูชื่น หริมพานิช ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ
ครูสุเชาว์ หริมพานิช ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ว่า “พ่อของครูท่านกินหมากมาก แล้วก็รักษาไม่ได้แล้วด้วย เพราะว่าเป็นระยะสุดท้ายแล้ว ตอนที่รู้มันปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ตอนนั้นไปถ่ายรูปบัตรประชาชนคอท่านดำแล้ว หลังจากนั้นท่านก็เสียชีวิต รักษาตัวอยู่เป็นปีนะ เราก็สงสาร เพราะว่ากินอะไรไม่ได้เลย นอนอยู่อย่างนั้น เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แม่ของครูก็เป็นคนป้อนข้าวป้อนน้ำ จากคนที่กินได้ปกติธรรมดานี่นะ แล้วก็กินได้น้อยลงๆ ตอนหลังกินได้แต่น้ำอย่างเดียว
“ตอนหลังทุกคนก็แนะนำว่า ทำสังฆทานให้พ่อเลย เพราะว่าเป็นโอกาสครั้งเดียว โอกาสสุดท้าย ไอ้วันที่ทำวันนั้นพ่อหันมาได้ มันก็เป็นเรื่องประหลาด พระที่มาท่านก็บอกว่า ชื่นเอย เพราะว่าพระท่านชอบพอกัน เป็นญาติๆ กัน พ่อก็หันมาได้หน่อยนึง แต่ว่าไม่ได้หันมานานนะ หันมารับรู้ว่ามีพระมา แล้วก็นอนอย่างเดิม แต่ปกติหันไม่ได้นะ เพราะท่านเป็นแผลกดทับ แล้วแกก็นอนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับคนที่เสียชีวิต ไอ้เราเห็นจนคุ้นเคย นอนอยู่เป็นปี
“ตอนที่จะเสียชีวิต พวกเราก็นั่งเฝ้ากัน เหมือนเราจะรู้ เพราะว่าหลังจากนั้นมาอาการก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย แล้วก็ไม่ทราบว่าใครบอก นี่เราได้ยินจากแม่พูดว่า พ่อเอ็งพูดว่า สองโมงจะไม่อยู่นะ อะไรทำนองนี้
“ท่านก็พูดว่า มีคนมาอยู่ มีคนมา แต่เหมือนกับว่าจะมาเอาชีวิต แต่ครูก็ไม่ได้ปักใจเชื่อว่าจะเป็นจริง เพราะเราก็ไม่รู้ อาจจะเป็นอุปาทานของคนที่ใกล้จะเสียก็ได้ แล้ววัยอย่างเราตอนนั้นก็ไม่ค่อยจะเชื่ออะไร แม่ก็บอกว่าระวังให้ดีนะสองโมง แต่ว่าบ่ายสองโมงมันรอดไปแล้วแหละ แต่ว่าตีสองนี่ไม่รอดแล้ว ท่านก็เสียชีวิต แม่จะเฝ้าตลอด จะอยู่ไม่ห่างพ่อเลย”
รายชื่อคณะปี่พาทย์ในอดีต ในเขตอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ยุคครูชื่น หริมพานิช
๑. วงปี่พาทย์คณะครูชื่น หริมพานิช
๒. วงปี่พาทย์คณะนายเชื้อ สินสวัสดิ์
๓. วงปี่พาทย์คณะนายหริ่ง สินสวัสดิ์
๔. วงปี่พาทย์คณะนายลัมบุญ อาจกลั่นแก้ว
๕. วงปี่พาทย์คณะนายขวัญ ทับรอด
๖. วงปี่พาทย์คณะนายเอี่ยม (ไม่ทราบนามสกุล)
๗. วงปี่พาทย์คณะนายเชย นาวาดิษฐ์
๘. วงปี่พาทย์คณะนายช้อย เพชรประเสริฐ
๙. วงปี่พาทย์คณะนายเยี่ยม เจิมวิจิตร
๑๐. วงปี่พาทย์คณะนายจันทร์ ขาวปลื้ม
๑๑. วงปี่พาทย์คณะนายลับ ชิดท้วม
ความเป็นมาของโน้ตเพลงไทย ที่รวบรวมโดยครูชื่น หริมพานิช
ตามคำบอกเล่าของนายสุเชาว์ หริมพานิช (บุตรชาย) ได้กล่าวถึงครูชื่น หริมพานิชว่า นอกจากจะมีความรู้ความสามารถด้านการปฏิบัติเครื่องดนตรีจำพวกเครื่องปี่พาทย์แล้ว ครูชื่น หริมพานิช ยังมีความรู้ เรื่องการบันทึกโน้ตเพลงไทยอีกด้วย (ไม่สามารถสืบค้นได้ว่าท่านเรียนมาจากครูท่านใด)
ด้วยความสามารถทางด้านนี้ ครูชื่น หริมพานิช ได้จดบันทึกองค์ความรู้เรื่องเพลงไทยประเภทต่างๆ รวมถึงทางร้องเพลงไทยเดิม ที่ท่านได้รับถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและครูของท่าน เพื่อเก็บรักษาและทรงความรู้ด้านทางเพลงเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วยเพลงเถา เพลงสองชั้น เพลงมอญทาง ปากลัด ฯลฯ
นายสุเชาว์ หริมพานิช ได้กล่าวถึงครูชื่นว่า “นี่ครูไม่ได้ยกย่องพ่อตัวเองจนเกินไปนะ แต่พ่อของครูเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าคนอื่นๆ ในย่านนั้น ในสมัยที่ครูอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ กลางวันครูก็ไปเรียนตามปรกติ กลางคืนครูก็ไปเที่ยวที่ตลาด ไปดูหนังบ้างอะไรบ้างตามภาษาวัยรุ่นในสมัยนั้น
“แต่ว่าพ่อจะไม่ไปไหน ท่านจะอยู่กับบ้าน พ่อของครูพิการเรื่องขา ขาท่านจะลีบทั้งสองข้าง แต่ว่าเดินได้นะ ที่ว่าท่านไม่ไปไหนเพราะว่า ท่านจะนั่งจดโน้ตเพลงไทยเดิมตลอดแทบจะทุกวัน
“สมัยก่อนนั้นมันมีไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ว่าวิทยุมันต้องใช้ถ่าน ใส่ถ่านก้อนใหญ่ลงในกระบะลักษณะคล้ายๆ กล่องแล้วปิดฝา จากนั้นเอาสายต่อเข้ากับวิทยุ แล้วพ่อก็จะบันทึกโน้ตเพลงไทยจากรายการที่เขาส่งคลื่นกระจายเสียงมา
“ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๘ สมันนั้นเวลาประมาณ ๒ ทุ่มครึ่ง จะมีรายการเพลงไทย แต่รายการอะไรครูจำไม่ได้แล้ว มีทั้งวงมโหรี วงปี่พาทย์ พ่อก็จะใช้วิธีเสียบหูฟังฟังเอา หูฟังในสมัยก่อนก็จะมีหูเดียวนะ แล้วก็มีปลายแหลมๆ เหมือนคนหูหนวกน่ะ แล้วเสียบเข้าไป
“พ่อของครูจะฟังแทบทุกคืน แล้วก็บันทึกโน้ตเอาไว้ จะว่าไปแล้ว มันเป็นวิธีที่นักดนตรีจะได้เพลงอีกทางหนึ่ง เพราะที่บ้านของครูเป็นปี่พาทย์บ้านนอก อย่างเพลงดีๆ ที่เขาเล่นกัน เราจะไปหาได้ที่ไหน เพราะว่าครูผู้ใหญ่ที่อยู่แถวนั้นท่านก็ตายไปหมดแล้ว พอพ่อฟังแล้วท่านก็จะลงโน้ตไว้ แต่เป็นโน้ตเพลงไทยนะ”
ครูชื่น หริมพานิช จะบันทึกโน้ตเพลงต่างๆ ลงในสมุดแบบเรียนอย่างสมัยก่อน ซึ่งเป็นลักษณะเล่มเล็กๆ ขนาดกะทัดรัด แบ่งออกเป็นหลายเล่ม แยกประเภทตามบทเพลง รายมือโน้ตเพลงที่ครูชื่น หริมพานิชได้จดบันทึกลงไปนั้น เป็นรายมือที่เรียบร้อยและเขียนอย่างบรรจง
นายสุเชาว์ หริมพานิช ได้กล่าวถึงวิธีการบันทึกโน้ตเพลงไทยของครูชื่น หริมพานิช ว่า “การเขียนโน้ตของพ่อ พ่อไม่ได้เขียนในสมุดจริงทันที แต่ท่านจะมีกระดาษเขียนลองๆ ก่อน สมมุติว่าจะเขียนทางร้องหรือว่าอะไรก็แล้วแต่แหละ โน้ตแปดห้องนะ ท่านจะจดทั้งทางร้องแล้วก็ทางเครื่องเลยนะ แต่ท่านจะจดลูกตกเอาไว้ก่อน ก็ห้องที่ ๔ แล้วก็ห้องที่ ๘
“แต่ว่าได้ไม่ได้เอาไว้ก่อน เพราะถ้าเราได้ลูกตกแล้ว ทำนองเพลงมันจะไปไหนเสีย เดี๋ยวเที่ยวหน้าถ้าทางวิทยุเขาเปิดเพลงนี้ซ้ำ เดี๋ยวพ่อก็จะเก็บรายละเอียดอีก วิทยุเขาไม่ได้เปิดครั้งเดียวแล้วเลิกเลย แต่ว่าพอ ๓ เดือน ๔ เดือน ก็เอาเพลงเดิมมาออกอีกแล้ว
“สมมุติว่าคราวนี้ทางวิทยุเขาเปิดเพลงสมิงทอง พอรู้ว่าคราวหน้าจะเปิดก็เอาสมิงทองทางเดียวกันนี้ คณะเดียวกันนี้ มันก็จะเติมเต็มในส่วนที่มันขาด พอร้องได้แล้วทำนองมันจะไปไหน เดี๋ยวทำนองมันตีเร็วกว่าร้องเราก็ไล่ไป นี่คือความขยันแล้วก็ความอัจฉริยะของพ่อที่ท่านทำมา ที่ปรากฏเป็นโน้ตมาอย่างนี้จนถึงปัจจุบัน”
รายชื่อโน้ตเพลงไทยประเภทเพลงเถา (ทางบรรเลง) ที่ได้รับการจดบันทึกโดยครูชื่น หริมพานิช
๑. เพลงการเวก ๓๙. เพลงฟ้าคะนอง
๒. เพลงกระบอกนาค ๔๐. เพลงภุมรินทร์
๓. เพลงกล่อมนารี ๔๑. เพลงมอญอ้อยอิ่ง
๔. เพลงกราวรำมอญ ๔๒. เพลงมอญรำดาบ
๕. เพลงแขกสาหร่าย ๔๓. เพลงมอญโยนดาบ
๖. เพลงแขกหนัง ๔๔. เพลงมังกรทอง
๗. เพลงเขมรพายเรือ ๔๕. เพลงย่องหงิด
๘. เพลงเขมรเอวบาง ๔๖. เพลงญวนเคล้า
๙. เพลงเขมรใหญ่ ๔๗. เพลงฝรั่งควง
๑๐. เพลงขึ้นพลับพลา ๔๘. เพลงราตรีชมจันทร์
๑๑. เพลงครุ่นคิด ๔๙. เพลงราตรีประดับดาว
๑๒. เพลงครวญหา ๕๐. เพลงละอองสินธุ์
๑๓. เพลงครอบจักรวาล ๕๑. เพลงลาวสวยรวย
๑๔. เพลงคุณลุงคุณป้า ๕๒. เพลงลาวกระแซ
๑๕. เพลงจีนขิมเล็ก ๕๓. เพลงลาวเล่นน้ำ
๑๖. เพลงช้างประสานงา ๕๔. เพลงลาวเลียบค่าย
๑๗. เพลงชมแสงจันทร์ ๕๕. เพลงลิงโลด
๑๘. เพลงญี่ปุ่นฉะอ้อน ๕๖. เพลงศรีลำปาง
๑๙. เพลงดอกไม้ไทร ๕๗. เพลงสดายงแปลง
๒๐. เพลงต้นเพลงฉิ่ง ๕๘. เพลงสร้อยสนตัด
๒๑. เพลงตวงพระธาตุ ๕๙. เพลงสาริกาแก้ว
๒๒. เพลงตามกวาง ๖๐. เพลงสาวเล่นน้ำ
๒๓. เพลงถอนสมอ ๖๑. เพลงสร้อยมยุรี
๒๔. เพลงถอยหลังเข้าคลอง ๖๒. เพลงสกุลราชปักษี
๒๕. เพลงทะแย ๖๓. เพลงสุดสงวน
๒๖. เพลงหาวเหิน ๖๔. เพลงสาริกาเขมร
๒๗. เพลงเทพานุสรณ์ ๖๕. เพลงสุรินทราหู
๒๘. เพลงนารายณ์แปลงรูป ๖๖. เพลงหกบท
๒๙. เพลงนกเขาขะแมร์ ๖๗. เพลง (ไม่ปรากฏชื่อเพลง)
๓๐. เพลงใบ้คลั่ง ๖๘. เพลงเหราเล่นน้ำ
๓๑. เพลงมุล่ง ๖๙. เพลงหอมหวาน
๓๒. เพลงประพาสเภตรา ๗๐. เพลงเหลื่อมแสงสูรย์
๓๓. เพลงปลาทอง ๗๑. เพลงอนงค์สุชาดา
๓๔. เพลงแป๊ะ ๗๒. เพลงหอมหวน
๓๕. เพลงพม่าเห่ ๗๓. เพลงอาถรรพ์
๓๖. เพลงพวงร้อย ๗๔. เพลงวิสูตรสองไข
๓๗. เพลงพันธุ์ฝรั่ง ๗๕. เพลงน้ำลอดใต้ทราย
๓๘. เพลงพญาครวญ
รายชื่อโน้ตเพลงประเภทเพลงมอญปากลัด (ทางบรรเลง) ที่ได้รับการจดบันทึกโดยครูชื่น หริมพานิช
๑. เพลงประเภทประกอบพิธีกรรม
๑.๑ ประกอบพิธีรำสามถาด (สำหรับไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์, ไหว้ครูอาจารย์, ไหว้ผู้ตาย)
เพลงรำถาด ๑ ชื่อเพลงปะระ หรือปล๊ะ
เพลงรำถาด ๒ ชื่อเพลงอาโค้น
เพลงรำถาด ๓ ชื่อเพลงทวาย
๑.๒ เพลงยกศพ ชื่อเพลงอายอน
๑.๓ เพลงพระฉัน ชื่อเพลงพระฉันมอญ
๑.๔ เพลงประโคมประจำ ชื่อเพลงจั้งโต้ง
๒. เพลงรำมอญ จำนวน ๑๐ เพลง
๓. เพลงบรรเลงทั่วไป
๓.๑ เพลงแมะนีฮกรา
๓.๒ เพลงตีโต๊ดเกส๊ะหมี
๓.๓ เพลงจั๊กมั่วอะป๊าด
๓.๔ เพลงแป๊ะแม่งพลู
๓.๕ เพลงอาเก๊าะทุมเมี้ยะ
๓.๖ เพลงแม่ะชอท
๓.๗ เพลงปอนปอด
๓.๘ เพลงอาโรงอารำ
๓.๙ เพลงทะแยกะเหรี่ยง
๓.๑๐ เพลงแยแปลแล
๓.๑๑ เพลงยังซัน
๓.๑๒ เพลงยะเปิงเมิง
๓.๑๓ เพลงแม่งปล้ายหะเล่
๓.๑๔ เพลงกราวกวานหะมัง
๓.๑๕ เพลงป๊วะใหญ่
๓.๑๖ เพลงป๊วะตะลุ่ม
๓.๑๗ เพลงป๊วะแยแปแล
รายชื่อโน้ตทางร้องเพลงไทยประเภทเพลงเถา จดบันทึกโดย ครูชื่น หริมพานิช
๑. เพลงโอ้ลาว ๒๖. เพลงสุรินทราหู
๒. เพลงขอมกล่อมลูก ๒๗. เพลงสร้อยมยุรี
๓. เพลงญวนเคล้า ๒๘. เพลงแขกขาว
๔. เพลงมอญอ้อยอิ่ง ๒๙. เพลงแขกมอญ
๕. เพลงลาวกระแซ ๓๐. เพลงแขกมอญบางขุนพรหม
๖. เพลงกระบอกนาค ๓๑. เพลงแขกมอญบางช้าง
๗. เพลงล่องเรือ ๓๒. เพลงเสี่ยงเทียน
๘. เพลงเทพชาตรี ๓๓. เพลงโสมส่องแสง
๙. เพลงราตรีชมจันทร์ ๓๔. เพลงลาวเลียบค่าย
๑๐. เพลงเหลื่อมแสงสูรย์ ๓๕. เพลงเขมรเลียบพระนคร
๑๑. เพลงเจริญศรีอยุธยา ๓๖. เพลงเขมรพายเรือ
๑๒. เพลงตุ๊กตาแกว่งฉลาก ๓๗. เพลงหิ่งห้อยหางยาว
๑๓. เพลงพัดชา ๓๘. เพลงหอมหวน
๑๔. เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน ๓๙. เพลงหอมหวาน
๑๕. เพลงพราหมณ์เข้าโบสถ์ ๔๐. เพลงอาหนู
๑๖. เพลงต้นบรเทศ ๔๑. เพลงอาเฮีย
๑๗. เพลงต้นเพลงฉิ่ง ๔๒. เพลงอาถรรพ์
๑๘. เพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า ๔๓. เพลงอนงค์สุชาดา
๑๙. เพลงพันธุ์ฝรั่ง ๔๔. เพลงสารถี
๒๐. เพลงครวญหา ๔๕. เพลงจีนแส
๒๑. เพลงครอบจักรวาล ๔๖. เพลงจีนขิมเล็ก
๒๒. เพลงไส้พระจันทร์ ๔๗. เพลงจีนเก็บดอกไม้
๒๓. เพลงแสนเสนาะ ๔๘. เพลงหนีเสือ
๒๔. เพลงแสนสุดสวาท ๔๙. เพลงนกขมิ้น
๒๕. เพลงแสนคำนึง ๕๐. เพลงนกเขาขะแมร์
ผลงานการประพันธ์เพลงไทย
ครูชื่น หริมพานิช นอกจากจะมีความสามารถในการจดบันทึกโน้ตเพลงไทยแล้ว ท่านยังมีความสามารถในการประพันธ์เพลงไทยอีกด้วย โดยปรากฏหลักฐานเป็นลายมือโน้ตเพลงไทย ที่ท่านได้บันทึกผลงานการประพันธ์ของตนเองเอาไว้
นายสุเชาว์ หริมพานิช กล่าวถึงผลงานการประพันธ์เพลงของครูชื่น หริมพานิช ว่า “เพลงที่ครูชื่นประพันธ์นั้น ส่วนมากจะเป็นเพลง ๔ ชั้นนะ คือเอาเพลง ๓ ชั้นมายืด หรือว่าบางเพลงที่เป็นเพลงเถาทั่วไปเนี้ย บางเพลงนะ ของเก่าโบราณเขามี ๓ ชั้น ไม่มี ๒ ชั้น ท่านก็จะประพันธ์โดยการทอนลงมาเป็น ๒ ชั้น ถ้าได้มาแบบว่ามี ๓ ชั้น แล้วก็ ๒ ชั้น ท่านก็จะเติมชั้นเดียวเข้าไป แต่ว่าที่ทำเป็นเรื่องเป็นราวเลยก็คือ ยืดออกเป็น ๔ ชั้น หรือที่เขาเรียกว่า ๖ ชั้นนั้นแหละ
“เพลงที่ท่านทำส่วนใหญ่จะเป็นเพลงทางธรรมดานะ เก็บธรรมดา เดินกลอนธรรมดาไม่ได้ทำเพลงลูกโยน เก็บๆ ทั่วไป ชื่อเพลงท่านก็จะตั้งขึ้นใหม่ด้วย ส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่ได้ค่อยบรรเลงกัน จะมีบ้างก็ที่วงของท่านนั่นแหละที่จะบรรเลง หรือเพลงบางเพลงครูชื่นก็จะต่อให้กับลูกศิษย์ของท่านบ้าง
“แต่เราก็เสียดายอยู่ ว่าตอนนั้นเราไม่ได้ใส่ใจอะไรมากเท่าไหร่ เพราะตอนนี้ก็เหลือโน้ตเพลงของพ่อ แต่ส่วนผลงานที่ท่านแต่งขึ้นมานั้น ค้นแล้วมันได้แค่ ๑๔ เพลง ซึ่งน่าจะมีมากกว่านั้น”
รายชื่อโน้ตเพลงไทยที่ประพันธ์ โดยครูชื่น หริมพานิช (๑ มกราคม ๒๕๐๖)
๑. เพลงอนงค์ต้น ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงต้นเพลงฉิ่ง อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๒. เพลงดาวจระเข้ ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงจระเข้หางยาว อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๓. เพลงตวงพระธาตุ ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงตวงพระธาตุ อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๔. เพลงนกขมิ้น ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงนกขมิ้น อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๕. เพลงอนงค์นิมิต ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงเทพนิมิต อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๖. เพลงอนงค์สอดแหวน ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงสาวสอดแหวน อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๗. เพลงอนงค์ครวญ ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงนางครวญ อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๘. เพลงลีลาเทวราช ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงเทพลีลา อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๙. เพลงอาทิตย์เหลื่อมแสง ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงเหลื่อมแสงสูรย์ อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๑๐. เพลงอนงค์ใหญ่ ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงต้นบรเทศ อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๑๑. เพลงอนงค์เล็ก ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงแขกบรเทศ อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๑๒. เพลงอนงค์แปลง ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงบางช้างแปลง อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๑๓. เพลงอนงค์นาฏ ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงแป๊ะ อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
๑๔. เพลงอนงค์น้อย ๔ ชั้น ขยายมาจากเพลงสาวคำ อัตราจังหวะ ๓ ชั้น
ผลงานรวบรวมรายชื่อเพลงไทย
ด้วยความที่ครูชื่น หริมพานิช ท่านเป็นคนชอบค้นคว้าในเรื่องราวด้านดนตรีไทย ดังปรากฏเป็นลายมือโน้ตเพลงไทยประเภทต่างๆ และท่านยังมีความสามารถในด้านการประพันธ์เพลงไทย นอกจากนี้ ผลงานของครูชื่น หริมพานิช อีกหนึ่งชิ้น ที่ท่านได้รังสรรค์ทิ้งไว้ คือ การรวบรวมรายชื่อเพลงไทยเดิมประเภทต่างๆ แล้วนำมาร้อยเรียงเป็นลักษณะบทกลอน ซึ่งท่านได้รวบรวมรายชื่อเพลงไทยได้ไว้ทั้งหมด ๕๘๙ เพลงด้วยกัน
รายชื่อเพลงไทยที่ได้รับการรวบรวม โดย ครูชื่น หริมพานิช
(ทำนองสุรางคนางค์)
เพลงสาธุการ ประสานเภรี สุดานารี เจริญศรีอยุธยา
เทพลอยลม เพลงพรหมสี่หน้า เดือนหงายกลางป่า กัลยานิมิตร
เพื่อนนอนน้อยใหญ่ เพลงไชยประสิทธิ์ เทพนิมิตร พระอาทิตย์ชิงดวง
เพลงลาวกระแซ เพลงแขไขดวง ไอยราชูงวง เพลงตวงพระธาตุ
เทพลีลา เทพาประสาท เทพไสยาสน์ ปราสาทมณี
คลื่นประทบฝั่ง เพลงคลั่งนารี เทพชาตรี จอมศรี จอมสุรางค์
เพลงกาเรียนร่อน มังกรพันหาง สุรางคนาง เพลงบางช้างแปลง
นกกระจาบทอง ระหองระแหง เพลงรุ่งส่องแสง แมลงภู่นิล
เพลงเทพประชุม เพลงภุมรินทร์ เพลงลออสินธุ์ หงส์บิน หงส์ฟ้อน
เพลงสี่ภาษา บุปผาบังอร เพลงเชิงตะกอน เกสรมาลา
เพลงต้นเพลงยาว จักเจ้า จักรา วิรุฬสาดฟ้า สาลิกาขะแมร์
เพลงแม่วอนลูก เพลงลูกติดแม่ พระยาแปลง เพลงขะแมร์ชม
หกบท มดน้อย ทยอยพนม เพลงเกาะ เพลงกลม เพลงชมดงใน
ตะโยตะยา การะเวกใหญ่ เชิดจีน เชิดไทย กราวใน กราวนอก
เขมรลออองค์ ลงสรงนกกระจอก เพลงก้านต่อดอก กระบอกฉันเพล
ทองสรม ทองสระ เพลงกระต่ายเต้น เทพลำเค็ญ เขมรอกโครง
พระรามเดินดง ไม้ยงโจ่งโคร่ง กาจับปากโลง พรานโก่งธนู
พระยาตานี นกสีชมพู สุรินทราหู อาหนู อาถรรพ์
แปดบท ชดช้อย เพลงสร้อยทับถัน ชมสวนสวรรค์ สุคันธาลัย
เบญจคีรี ธรณีร้องไห้ เพลงเขมรใหญ่ บังใบอรชร
สาลิกาชมดาว เพลงกราวรำมอญ เพลงเทพกุญชร ทองย่อนทองย้อย
ประพาสคงคา สุดาสอดสร้อย เพลงมาลัยลอย สาวน้อยเล่นน้ำ
บ้าระบุ่นเทศ เพลงเวสุกรรม หงส์ร่อน มังกรรำ สาวคำ ลำดวน
พราหมณ์เก็บหัวแหวน เพลงแสนสงวน เพลงมาลีหวน นางครวญ นางเยื้อง
ขะแมร์กะฮอม เพลงขอมทรงเครื่อง กระจอกต้องกระเบื้อง ขวัญเมือง ขวัญอ่อน
เพลงเทพจุติ เพลงวิหกร่อน เทพานุสรณ์ เพลงถอดสมร
นารายณ์แปลงรูป ต่อยรูป ต่อยหม้อ เขมรปากช่อ ต้นวรเชษฐ์
เพลงดอกไม้ไทร เพลงไอยเรศ จีนนำเสด็จ เทเวศร์รำลึก
พิรุณส่างฟ้า เพลงพระยาตรึก เทพรำลึก อมตึ๊ก ออมทอง
สุธากันแสง แมลงปอทอง เพลงฟ้าคะนอง เต่าทอง เต่าเงิน
ตุ๊ดตู่ มู่ล่ง เขมรทรงดำเนิน เพลงพระยาเดิน หงส์เหิน หงส์กรรน
กิ้งกือฉกจวัก ครอบจักรวาล เชิดนอกเชิดฉาน พิมานอิศวร
เพลงฝรั่งต้น ลมบน ลมหวน แม่หม้ายคร่ำครวญ ฉนวนนาคี
เพลงขอมโบราณ มาลย์มาระศรี สร้อยมยุรี ชาตรีตลุง
ทรงพระสุบิน เต่ากินผักบุ้ง เพลงกราวตะลุง คุณลุงคุณป้า
เขมรพายเรือ ครวญเหนือ ครวญหา เพลงกล่อมพระยา พัดชา ราโค
หงส์ไซ้ดอกบัว จีนรัว จีนโล้ ตุ้งติ้ง สิงโต โสน โนเน
เพลงฝรั่งกลาย เพลงสายเสน่ห์ เต่านาค เต่าเห่ เหราทอดหาง
เพลงนาคราช เพลงหยาดน้ำค้าง แขกมอญบางช้าง ตามกวาง นางกราย
เพลงทองเก้าน้ำ ระส่ำระสาย น้ำลอดใต้ทราย แขกสาย แขกฉิ่ง
สร้อยเสาวคนธ์ เพลงสนนางสิงห์ สบัดสบิ้ง เพลงฉิ่ง เพลงยาว
เพลงวรรณคีรี ราตรีประดับดาว เพลงต้นตะนาว เพลงดาวดวงเดียว
ดอกไม้ ดอกสร้อย เพลงทยอยเดี่ยว เพลงกระทงเขียว นาคเกี่ยว นาคพัน
เขมรไล่ควาย กระต่ายชมจันทร์ เพลงมะลิวัลย์ เพลงพันธุ์ฝรั่ง
เพลงดอกไม้ไพร บังใบ ใบ้คลั่ง เพลงกาจากรัง แขกหนัง แขกเห่
น้ำค้างกลางหาว เพลงดาวจระเข้ เพลงอกทะเล เสน่ห์นางครวญ
ขอมนาค ขอมรำ ระกำ คำหวาน ชุบ เชื้อ ชำนาญ เพลงม่านกำสรด
พิสมัยเรียงหมอน ทองย่อน ทองหยด เพลงนางขนด สี่บท สี่เกลอ
เพลงนกขมิ้น เพลงจีนบำเรอ สะสม เสมอ สามเกลอ สามเตื้อ
ขอมมโหรี แม่ศรี มณีเสือ สาลิกาป้อนเหยื่อ ล่องเรือ ล่องลม
พม่าห้าท่อน แขกมอญบางขุนพรหม ปวะหลิ่ม ปฐม เพลงชมสมุทร
จระเข้หางยาว ตะนาว เบ้าหลุด เพลงพระยาครุฑ แสนสุดสวาท
พราหมณ์ดีดน้ำเต้า พระเจ้าลอยถาด เพลงชมตลาด ประพาสเภตรา
เพลงแขกอาหวัง ฝรั่งจรกา เขมรซองซา สดายงแปลง
โอ้ลาว โอ้โลม เพลงโสมส่องแสง ขยะแขยง แมลงเม่าทอง
เพลงต้อยตลิ่ง เพลงกิ้งก่าทอง เพลงมาลัยกรอง ม้าย่อง ม้ารำ
เพลงกระทงนิล เพลงกินนรรำ เหราเล่นน้ำ เขนงรำกิ่งไม้
มังกรดั้นเมฆ ขิมเล็ก ขิมใหญ่ ม้วนใบ กางใบ สามไม้ สามม้า
เพลงชะนีน้อย เพลงสร้อยนางร้า ทะแยหงสา ตุ๊กตาแกว่งฉลาก
นภาอับแสง แมลงภู่นาค นกเอี้ยง นกจาก นาคบริพัตร
เพลงผกาฝัน วิลันดาตัด เพลงพม่าวัด ลมพัดชายเขา
สาลิกาเขมร กบเต้น เส้นเหล้า ฝรั่งรำเท้า นกเขาขะแมร์
สร้อยประดับสอ ดิลกซอร์ขะแมร์ จีนขลุ่ย จีนแส อะแซหวุ่นกี้
ประพาสมหรณพ แขกลพบุรี สกุลราชปักษี จีนบัดกรีกระทะ
นเรศชนช้าง คางคกปากสระ เพลงแขกไหว้พระ เนระคันโยก
สระภัญญะ เพลงพระยาโศก เขมรไทรโยค เพลงโฉลกแรก
เพลงงูรัดเขียด กะเดียด ดันแดก พุดซากระแทก เพลงแขกสาหร่าย
ดาราไขแสง แมลงภู่กลาย ทองลิ่ม ทองพราย กระต่ายกินน้ำค้าง
เทพบรรทม ภิรมย์สุรางค์ อินทรีย์คาบช้าง เพลงคางคกทอง
นางนาคน้อย-ใหญ่ พิไสน้ำทอง กัลยาเยี่ยมห้อง เพลงสองกุมาร
เพลงฝรั่งแดง แสงชัชวาลย์ เพลงจีนเข้าม่าน มหากาล มหาชัย
ฉลัดเฉลย เย้ยพระอภัย จำปาทองไทย มอญใหม่ มอญครวญ
เพลงละห้อยหา เพลงพญาครวญ กินนรลงสวน แขกหวล แขกช้า
พฤกษาสวรรค์ รามัญหรรษา เขมรสักวา ลีลากระทุ่ม
คุทราดเหยียบกรวด แขกสวด แขกสุ่ม เขมรพระประทุม ชุมนุมเทวราช
เพลงหงส์คาบแก้ว เพลงแมวเย้ยสุม ………. ……….
มณีสอดสี สกุณีนุชนาฏ บำเรอบรมบาท ลีลาศกินรา
จันทร์แรม จันดิน สุบินเทพา เทพนิทรา จำปานารี
เพลงจอมปราสาท พระยาราชปักษี เพลงสารถี ราตรีชมจันทร์
ทยอยนอก-ใน ดอกไม้โอด-พัน เพลงจีนลั่นถัน แมลงวันทอง
มอญเริง มอญคลั่ง เพลงมังกรทอง พระยาลำพอง พวงทอง พวงร้อย
เพลงจีนลากไม้ แรมไพร ไทรย้อย เพลงกระทงน้อย เพลงสร้อยสนตัด
เพลงต้นยะวา พระยาโศกตัด เขมรโพธิสัตว์ จีนรำพัด จีนเนาว์
ระวังระไว น้ำไหลซอกเขา พระยาสี่เสา สามเศร้า สามสี
ขึ้นพลับพลานอก ดอกไม้ตานี เนระปาตี สาลีออกรวง
สามไม้ใน-นอก เพลงดอกไม้ร่วง เพลงสร้อยทับทรวง เพลงพวงสุวรรณ
เทพหาวเหิน สรรเสริญพระจันทร์ ปะโต่งโอด-พัน เพลงดั้นวารี
บุบผาสวรรค์ อัญชันสามสี เพลงกล่อมนารี เพลงศรีวิลัย
น้ำค้างตะวันตก ขับนก ขับไม้ สังข์เล็ก สังข์ใหญ่ นางไห้ นางหงส์
แฝงใบโอด-พัน สุวรรณหงส์ ญวนเคล้า เขาวง อนงค์สุชาดา
การะเวกเล็ก วิเวกเวหา จีนเก็บบุบผา จำปาเจ็ดกลีบ
สาลิกาลอยเลื่อน เพลงเยือนประทีป ม้าสะบัดกีบ เพลงประทีปฉาย
เพลงพาดแสงนิล พิณประสานสาย ลงสรงสุหร่าย โอ้ร่าย โอ้บางช้าง
นางลอย นางร่ำ ญวนรำกระถาง เขนง น้ำค้าง ช้างประสานงา
โอ้ปี่ ช้าปี่ กระบี่ลีลา เพลงทะเลบ้า มยุราลำแพน
เพลงทยอยลาว เพลงสาวสอดแหวน ขึ้นแท่น ช้อนแท่น เพลงแสนเสนาะ
พม่าบังศรี คีรีไพเราะ เพลงวา เพลงเหาะ แขกเงาะ แขกโอด
เพลงหรุ่ม เพลงโล้ มโนราห์โอด เพลงพราหมณ์เข้าโบสถ์ ลิงโลด ลิงลาน
นาคาม้วนหาง เพลงกลางนอกชาน อับสรเยี่ยมวิมาน หอมหวน หอมหวาน
พระยารำพึง ลาวคลึง ลาวครวญ เทพรัญจวน กำสรวลสุรางค์
พระรามคืนนคร อัปสรสำอาง เพลงงูกินหาง ช้างกินใบไผ่
ทะวาย ทะแย กระแตไต่ไม้ ขอมเล็ก ขอมใหญ่ อรทัยกรรแสง
วนาเหมันต์ ตะวันทอแสง เพลงต้นมอญแปลง แมลงภู่ทอง
พระรามเป่าสังข์ ถอยหลังเข้าคลอง มะละกาน้ำทอง เพลงกรองดอกไม้
ลาวแพน ลาวพวน สุดสงวน สุดใจ เสภานอก เสภาใน ดอกไม้กลันต้น
เพลงตะทะล่า มณฑาสวรรค์ เพลงเหลื่อมแสงจันทร์ รามัญรันทด
เพลงพม่าเห่ เทวกำสรด เขมรชนบท ระทดระทวย
แขกแดง แขกขาว ค้างคาวกินกล้วย เพลงเทพอำนวย ชมมวยผสม
แหวนประดับก้อย เพชรน้อย ลอยลม เพลงเทพประนม ปฐมดุสิต
จำปาทองเทศ เทเวศร์นฤมิต เทวาประสิทธิ์ ย่องหงิด บ้าบ่น
ลาวดำเนินทราย แม่หม้ายสามคน สร้อยเพลง สร้อยสนธ์ เพลงมณฑาทอง
จีนช้วน จีนแป๊ะ เพลงกระแจะทอง จระเข้ขว้างคลอง วิสูตรสองไข
เพลงขอมน้ำเต้า เพลงเต่าฟักไข่ กุลาตีไม้ แขกไทร แขกมอญ
สุรางค์จำเรียง สำเนียงอรชร วังแวงอัมพร เพลงมอญร้องไห้
หนุมานลองเล็บ จีนเก็บดอกไม้ เพลงบรรทมไพร เพลงสายวารี
ลาวใหญ่ ลาวเล็ก วิเวกราตรี เพลงมาลัยศรี เพลงพิกุลทอง
เพลงมะลิลา สาลิกาทอง ยานี ปี่กลอง ลาวทอง ลาวลับเดือน
ปราสาทสวรรค์ บุหลันลอยเลื่อน สาลิกาชมเดือน ซ่อนเงื่อน เขื่อนเพชร
เพลงสาวลืมทอ แขกวรเชษฐ์ เพลงระบำเทศ การะเกดทอง
เพลงต้นเพลงฉิ่ง เพลงสิงห์ลำพอง เพลงกะลิอ่อง ขอมทองขอมเงิน
นางนาฏ นางนก ระหกระเหิน เพลงพราหมณ์ดำเนิน สรรเสริญบารมี
รายการอ้างอิง
หนังสือ
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สูจิบัตรพิธีไหว้ครูดนตรีไทย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ, ๒๕๕๓. (อัดสำเนา)
บทความในวารสาร
พิชชาณัฐ ตู้จินดา. ครูสุเชาว์ หริมพานิช “ชีวิตนี้อุทิศให้กับดนตรีไทย”. วารสารเพลงดนตรี ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ : ๖๘-๗๓.
สัมภาษณ์
สุเชาว์ หริมพานิช. สัมภาษณ์, ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓.