โกวิทย์ ขันธศิริ นักดนตรี ๒ วิญญาณ

โกวิทย์ ขันธศิริ
นักดนตรี ๒ วิญญาณ
เรื่อง : พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ : ภูมิพงษ์ คุ้มวงศ์

ค่ำวันหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ภายในหอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พร้อมๆ กับเสียงปรบมือที่ดังขึ้นหลังเสียงโน้ตตัวสุดท้ายค่อยแผ่วลง ทุกคนต่างตะลึงงันและตั้งข้อสงสัยต่อชายวัยหลังเกษียณที่เพิ่งเดี่ยวซอด้วงจบไปหมาดๆ ว่าเขาสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยชิ้นนี้ได้สุดยอดเพียงนี้เชียวหรือ โดยเฉพาะเพลงกราวในที่เขาบรรเลงในค่ำนั้น สามารถตรึงใจผู้ชมให้สยบยอมต่อฝีมือขั้นสูงที่สำแดงออกมาอย่างที่เรียกได้ว่า “ถึงใจพระเดชพระคุณ”

ขณะเดียวกันหากมองย้อนกลับไปในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ บนเวทีมหกรรมเดี่ยวเพลงไทยชัยมงคล ณ โรงละครแห่งชาติ ชายคนเดียวกันนี้เองที่เดี่ยวไวโอลินเพลงลาวแพนต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และต่อสายตาธารกำนัลนับร้อยคู่ด้วยลีลาอันอ่อนช้อยงดงาม

นี่คือสองความสามารถ ต่างกรรมต่างวาระ แต่เป็นความพิเศษเฉพาะที่หลอมรวมเสียงจากโลกตะวันออกและโลกตะวันตกไว้ในคนๆ เดียวกันของนักดนตรีที่ชื่อ โกวิทย์ ขันธศิริ ซึ่งปัจจุบันน้อยคนนักที่จะทราบว่าเขาเคยศึกษาดนตรีไทยอย่างยิ่งยวดจากครูผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน เพราะช่วงหนึ่งได้หันหน้าศึกษาดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังและอยู่กับมันถึงค่อนชีวิต แต่ทว่าก็ไม่ได้หลงลืมหรือละทิ้งดนตรีไทยที่เลือกศึกษามาแต่ต้น และนี่คงเป็นคำตอบได้ดีว่า ในค่ำนั้น ทำไมฝีมือซอของเขาถึงเข้าขั้นชั้นครู

“คนไม่รู้เลยว่าครูเล่นดนตรีไทยได้ เพราะเพิ่งมารื้อฟื้นตอนที่เดี่ยวกราวในถวายสมเด็จพระเทพรัตน์ คนยังงงว่าครูมาเดี่ยวได้อย่างไร แต่พระองค์ท่านก็มีกระแสรับสั่งว่า ‘เก่งมาก’ แค่นี้ก็ปลื้มใจเป็นล้นพ้น”

อารัมภบท

“ครูเกิดที่จังหวัดธนบุรี คุณพ่อคุณแม่เป็นชาวอยุธยา คุณพ่อเป็นเสมียนศาลรับเรื่องร้องทุกข์ แต่ก่อนท่านเป็นเด็กรับใช้ที่บ้านปรีดี พนมยงค์ จนกระทั่งย้ายมาอยู่ตลาดพลู คุณแม่มีอาชีพค้าขาย คนรู้จักกันดีในฐานะทำขนมเบื้องอร่อย บอกตามตรงว่าสมัยนั้นยากจนมาก

“สิ่งสำคัญที่ทำให้ครูได้เรียนดนตรี เพราะอย่าลืมว่าบ้านครูใกล้ตลาด คุณพ่อจึงไม่อยากให้ไปเที่ยวเกกมะเหรกเกเร อีกอย่างหนึ่ง คุณพ่อท่านเป็นช่างและพอเล่นดนตรีได้บ้าง ถ้าท่านอยากเล่นซออู้ ก็เที่ยวไปหาวิธีประดิษฐ์มาทำเอง ก่อนนอนก็สีให้ลูกฟัง หรือลูกอยากเล่นเครื่องไหนท่านก็ทำให้

“หลังจากเรียนดนตรีได้สักพัก ครูชนะเลิศเดี่ยวซอด้วงรายการแมวมอง สถานีวิทยุ ททท. จำนง รังสิกุลเป็นผู้จัด ปีนั้นก็เป็นที่เลื่องลือ ท่านจัดให้ครูกับน้องสาว (อรวรรณ บรรจงศิลป์ – ผู้เขียน) ไปเดี่ยวขิมสลับซอด้วงทุกวันอาทิตย์ที่สถานีวิทยุ ททท. แถมได้เล่นซอประกอบละครช่อง ๔ บางขุนพรหม สมัยนั้นคุณอารีย์ นักดนตรี คุณประกอบ ชัยพิพัฒน์ คุณสัมพันธ์ พันธุ์มณี คุณพิชัย วาศนาส่ง คุณกำธร สุวรรณปิยะศิริ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ก็เคยร่วมงานกันมา

“หลังจากที่คุณพ่อวางพื้นฐานด้านดนตรีให้แล้ว ครูกับน้องสาวจะซ้อมดนตรีทุกวัน ช่วงเย็นๆ จะมีผู้ใหญ่เดินมาดูหลายท่าน แต่ครูไม่รู้นะว่าใครเป็นใคร สุดท้ายมีผู้ใหญ่ ๒ ท่านเรียกเข้าไปพบ แล้วก็เพราะสองท่านนี่แหละที่ทำให้ครูเป็นนักดนตรีจนกระทั่งทุกวันนี้ คือ หลวงไพเราะเสียงซอ กับนายจำนงราชกิจ”

นายจำนงราชกิจ, หลวงไพเราะเสียงซอ
ครูผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

“นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์ – ผู้เขียน) รองราชเลขาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน มีชีวิตตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เชื้อสายญวน เป็นเกลอและเป็นผู้อุปธรรมหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน – ผู้เขียน) เล่นดนตรีได้เพราะใจรัก

“ท่านเรียนดนตรีจากใครไม่ทราบ แต่ภายหลังเรียนกับหลวงไพเราะฯ โดยเฉพาะ นายจำนงฯ เป็นคนที่รู้ลีลารู้ทางเพลง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นนักฟังและนักสะสมตัวยง สมัยนั้นไม่มีใครเก็บทางหลวงไพเราะฯ ได้มากเท่าท่าน เพราะไม่ว่าหลวงไพเราะฯ จะสีเพลงอะไร หรือแม้กระทั่งเวลาออกงาน ท่านจะบันทึกเสียงไว้ทั้งหมด

“นายจำนงฯ เปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างหลวงไพเราะฯ กับครู จริงๆ แล้วหลวงไพเราะฯ มีความเป็นศิลปินมากกว่า เพราะเวลามาที่บ้านท่านจะสีซอไปเรื่อยๆ ถามก็บอก ไม่ได้มาจำจี้จำไช แต่ถ้าเล่นผิดนี่ตาเขียวนะ ส่วนใหญ่นายจำนงฯ เป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงต่างๆ แก่ครู แต่เป็นทางของหลวงไพเราะฯ ทั้งสิ้น บางครั้งนายจำนงฯ จะให้ครูสีให้หลวงไพเราะฯ ฟัง เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด นั่งสีตั้งแต่ ๕ โมงเย็นถึง ๖ ทุ่มทุกวัน

“นายจำนงฯ มาสอนดนตรีให้ครูที่บ้านทุกอาทิตย์ บางทีพาไปบ้านท่านแถวภาษีเจริญ ครูกับน้องสาวจะเรียกท่านว่าคุณพ่อ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านพาครูกับน้องสาวไปพักที่พระราชวังไกลกังวล ยังมีโอกาสสีซอถวายในหลวง นอกจากนี้ยังพาครูไปเล่นดนตรีตามงานและบ้านผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร บ้านคุณพระ หรือเจ้าพระยา พอถึงเวลาจะมีรถมารับที่บ้านเป็นประจำ

“ตอนนั้นนายจำนงฯ ยังไม่เกษียณ อายุยังไม่ถึง ๖๐ ดี ส่วนหลวงไพเราะฯ ประมาณ ๗๐ กว่าๆ ครูเรียกหลวงไพเราะฯ ว่าปู่ ท่านเป็นคนเรียบร้อย ไม่ค่อยพูด จะเน้นเรื่องการเล่นดนตรีเป็นสำคัญ เวลาไปงานที่ไหนมีวินัยและจรรยาบรรณมาก ไม่เคยเรียกร้องเงินทอง

“แต่แปลกอย่างหนึ่งนะ เวลาร่วมวงกับท่าน ตอนใกล้จบเพลงท่านจะสีเร็วจี๋ เร็วจนกระทั่งเราทำไม่ทัน บางคนบอกว่าท่านไม่ไหว ไม่จริงเลย เพลงการต่างๆ ก็ยังแม่นยำแม้อายุจะมากขนาดนั้น ที่เป็นตัวเป็นตนได้กระทั่งวันนี้ก็เพราะ ๒ ท่านนี่แหละ”

ครูชิน หงษ์รัตน์, ครูแสวง อภัยวงศ์
ในห้วงคำนึง

“ขณะที่ครูเรียนกับนายจำนงฯ ครูมีครูอีกหนึ่งท่าน คือ ครูชิน หงษ์รัตน์ นายดาบทหารม้า คนซอคนหนึ่งที่แม่นเพลงมาก จำได้ว่าท่านเป็นนักดนตรีประจำวงหนุ่มน้อยของเจ้าคุณมไหสวรรค์ แต่นิ้วก้อยมือซ้ายท่านเสีย รู้สึกจะโดนม้าเหยียบ จึงต้องเล่นซอ ๓ นิ้ว อาศัยใช้นิ้วนางรูดเอา

“ครูชินจะมาเขียนโน้ตเพลงไทยเดิมให้ครูที่บ้านทุกเช้า นั่งกินกาแฟถ้วยนึงกับปาท่องโก๋ แล้วท่านก็นั่งเขียนไป เขียนให้ประมาณ ๗ ปี รวมแล้ว ๗๐๐-๘๐๐ เพลงเห็นจะได้ เขียนโดยไม่ต้องมานั่งคัดลอก แต่ท่านเขียนจากความจำล้วนๆ เป็นเพลงหมู่ทางธรรมดา เรียบๆ แต่ไม่อายใคร

“หลังจากนั้นก่อนหน้าที่ครูจะไปเมืองนอก ตอนนั้นอยากได้เพลงใหม่ๆ ที่มันท้าทาย หรือสามารถไปแสดงได้ ก็ปรารถกับคุณพ่อคุณแม่ว่า อยากเรียนกับครูแสวง อภัยวงศ์ ซึ่งท่านทั้งสองรวมถึงนายจำนงฯ ก็อนุญาต

“สมัยนั้นไปเรียนที่บ้านท่านแถวราชเทวี เย็นๆ นั่งรถเมล์ไปกับคุณแม่ อาทิตย์ละ ๒-๓ วัน ส่วนใหญ่ไปต่อเพลงเดี่ยวโดยเฉพาะ เลือกแต่เพลงที่เรียกว่าโชว์ได้จริงๆ ให้แต่ความรู้และทักษะที่ดีที่สุด เพราะรู้ว่าครูเคยเป็นศิษย์หลวงไพเราะฯ มาก่อน

“ตอนนั้นครูแสวงยังทำงานที่โรงงานยาสูบ อายุประมาณ ๕๐-๖๐ ปีเห็นจะได้ แต่ก็เช่นเดียวกัน ท่านเป็นศิลปินเต็มตัว เพราะถ้าครูสีอย่างที่ท่านสอนไม่ได้ ท่านจะโกรธ แต่มีคุณแม่ประคอง (นางนิภา อภัยวงศ์ ภรรยาครูแสวง อภัยวงศ์ – ผู้เขียน) ที่คอยประคบประหงมเรา ท่านก็จะปลอบว่า ‘เอาน่าเดี๋ยวลูกชายก็ได้’

“ครูแสวงเป็นคนตรงๆ ใช้ชีวิตราบเรียบ ไม่แสดงเนื้อแสดงตัว บางทีนุ่งผ้าขาวม้าทานข้าว ครูก็นั่งซ้อมไป ถ้าเราทำไม่ได้ท่านก็จะบอกว่า อันนี้ไม่ได้เดี๋ยวเอาใหม่ พอทานข้าวเสร็จก็จะมาต่อให้ แม้แต่ครูฉลวย จิยะจันทน์ ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ หรือครูระวีวรรณ ทับทิมศรี ก็ไปซ้อมไปต่อเพลงที่นั่น

“ครูเรียนอยู่ประมาณ ๖ ปี ตั้งแต่อายุไม่เท่าไหร่จนกระทั่งเรียนจบ ป.กศ. สูงที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา แล้วไปสอนที่โรงเรียนสาธิต จุฬาฯ จนกระทั่งไม่อยากทำอะไร เพราะอยากจะเล่นแต่ดนตรี ก่อนที่ครูจะไปต่างประเทศ ครูแสวงจะต่อเพลงเชิดนอกให้แต่ก็ไม่มีโอกาส ครูยังเสียดายถึงทุกวันนี้”

ลิขิตรักไวโอลิน
แรงบันดาลใจจากสุทิน เทศารักษ์

“ตอนครูเด็กๆ ครูไม่ได้เล่นเฉพาะดนตรีไทยอย่างเดียว สมัยก่อนยังไปแข่งร้องเพลงที่งานวัด เพลงวิวาห์น้ำตา ได้รางวัลชนะเลิศ สมัยนั้นที่ตลาดพูลจะมีวิกสูงวิกเตี้ยอยู่ในย่านเดียวกัน วิกสูงชั้น ๒ เป็นโรงหนัง ชั้นล่างเป็นตลาดย่อมๆ ส่วนวิกเตี้ยจะมีลิเกมีตลก พรภิรมย์ เสน่ห์ โกมารชุน มาเล่นที่นี่บ่อยๆ สมัยที่ครูมีวงสากลยิ่งสนุกใหญ่ เพราะคุณพ่อคุณแม่ซื้อทั้งกลอง ทรัมเป็ต แซ็กโซโฟน เบส กีต้าร์ มาให้ ก็ได้ไปเล่นที่นั่นด้วย

“ก่อนที่ครูจะเริ่มเรียนไวโอลิน มีคนรู้จักพาคุณสุทิน เทศารักษ์ มาโชว์ไวโอลินที่บ้าน เขาเป็นนักไวโอลินที่โด่งดังคนแรกของไทย ทำให้ครูเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเรียนขึ้นมา เพราะหลงไหลทั้งน้ำเสียง ลีลาการบรรเลง รูปทรงของมัน พูดง่ายๆ ว่า ได้ฟังครั้งแรกก็ชอบเลย ต่อมาได้ไปเรียนกับครูชด (ไม่ทราบนามสกุล) นักไวโอลินเอกของกรมศิลปากร ไปนั่งเรียนจนกระทั่งครูไล่กลับบ้านเพราะเรียนดึกเกินไป

“ในที่สุดมีโอกาสเรียนกับอาจารย์ชูชาติ พิทักษากร พอได้เรียนกับท่านมันมีระบบฝรั่งเข้ามาเลย เช่น เธอต้องรู้ว่าทฤษฏีดนตรีเป็นอย่างนี้ บันไดเสียงมาอย่างนี้ ก่อนจะซ้อมต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม จากที่เราเคยใช้ความจำเป็นหลักก็เริ่มมีโน้ตเข้ามา

“ท่านเป็นคนมีวินัยมาก ทุกอย่างเป็นระบบระเบียบเพราะเป็นนักเรียนอังกฤษ ขนาดครูไปเรียนสาย ๕ นาทียังถูกไล่กลับ ต้องไปขอขมากันยกใหญ่ แต่พออายุมากขึ้นท่านก็เพลาลง สุดท้ายครูเดินทางไปเรียนที่ต่างประเทศ ท่านยังภูมิใจ เพราะนึกไม่ถึงว่าเราจะเรียนจริงจังขนาดนี้”

เดินทางสู่ต่างแดน
แตกต่างแต่ไม่แตกแยก

“ครูเดินทางไปเนเธอร์แลนด์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ติดตามหลวงดิฐการภักดี (จรูญ บุณยรัตพันธุ์ – ผู้เขียน)เอกอัครราชทูตไทย เพราะตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีที่เรียนไวโอลินอย่างจริงจัง ตามจริงแล้วครูไปทำงานในสถานทูตก่อน ต้องล้างจาน ดูแลแขก หรือท่านทูตใช้อะไรก็ทำ

“ระยะแรกๆ จะหนักหน่อย ต้องทำงานเก็บเงินค่าเรียนกับค่าเครื่องบิน นานๆ จะได้กลับบ้านสักครั้ง เพราะครูไม่ได้มีเงินมากมายอะไร แต่ขอสู้ชีวิต ไปอยู่ที่นั่นดีอยู่อย่างหนึ่ง คือครูไม่ค่อยได้ไปไหน จึงมีโอกาสซ้อมดนตรีมากขึ้น ทุกวันต้องซ้อมตั้งแต่ ๑ ทุ่ม ไปจนถึงเที่ยงคืน หรือตอนกลางวัน ๔-๕ ชั่วโมง ถ้าจัดเวลาได้

“ครูไปเรียนเดี่ยวไวโอลิน ที่ Royal Conservatory of music กรุงเฮก เรียนดนตรีปฏิบัติเป็นหลัก มีเรียนประวัติศาสตร์ดนตรีบ้าง แต่ก็เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะเขาสอนเป็นภาษาดัตช์ซึ่งส่วนใหญ่ครูใช้ภาษาอังกฤษ พอพูดดัสได้งูๆ ปลาๆ ที่นี่เขาเรียนเป็นวิชาชีพอย่างเพาะช่าง แต่เป็นเพาะช่างด้านดนตรี เวลาไปเรียนต้องขี่จักรยานไป หนาวก็หนาว เรียนอยู่ประมาณ ๗ ปี

“สิ่งที่ภูมิใจ ครูไปตั้งวงดนตรีไทยวงแรกให้แก่เนเธอร์แลนด์ ตอนนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อคุณอนุนาถ เอนสโดเต้น คนไทยที่ไปแต่งงานกับคนดัตช์ เขาอยากมีวงดนตรีไทยที่เล่นโดยคนดัตช์หรือคนไทยที่อยู่ที่นั่น ครูจึงไปสอนให้เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ สอนจนกระทั่งสามารถไปแสดงตามเมืองต่างๆ บางทีสถานทูตมีงานก็ยกวงไปช่วย ออกวิทยุจนกระทั่งคนรู้จัก

“แปลกอยู่อย่างหนึ่ง เพราะคนที่เรียนดนตรีคลาสสิกเก่งๆ เขาไม่แคร์ที่จะมาเรียนดนตรีไทย ทั้งๆ ที่เขาเล่นในวงออร์เคสตรานี่เยี่ยมเลยนะ เขาบอกว่ามันเป็นบรรยากาศ เป็นความคิด เป็นมิติใหม่ บางทีตามมาขอเรียนถึงบ้าน ครูก็สอนให้ สรุปแล้วชีวิตที่นั่นมีความสุขมาก เพราะทั้งได้เรียนไวโอลินแล้วก็เล่นดนตรีไทยที่เรารัก”

ฟันเฟืองเล็กๆ
ผู้ขับเคลื่อนสังคมดนตรี

“ครูกลับมาจากต่างประเทศ ตัดสินใจไปช่วยอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ช่วงบุกเบิกสยามกลการใหม่ๆ ในฐานะผู้จัดการและอาจารย์ใหญ่ แต่ไม่ไหว เพราะครูไม่สันทัดด้านบริหาร ชอบสอนและเล่นดนตรีมากกว่า ทำได้ประมาณ ๒-๓ ปี ก็ขอลาออก

“สุดท้าย อาจารย์อรวรรณเรียนกับคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในสมัยนั้นว่า อาจารย์โกวิทย์จบด้านดนตรีมาโดยตรง สามารถเปิดเป็นวิชาเอกและวิชาโทได้ ท่านคณบดีก็ส่งเสริม จึงได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ที่นั่น และร่วมเป็นผู้ก่อตั้งสาขาวิชาเอกดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก โดยมีครูอาจารย์ท่านอื่นๆ ช่วยเป็นกำลังสำคัญ เช่น ครูมนตรี ตราโมท ครูเตือน พาทยกุล ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ อาจารย์ชูชาติ พิทักษากร อาจารย์ปัญญา รุ่งเรือง อาจารย์อรวรรณ บรรจงศิลป์ อาจารย์มาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช และอีกหลายท่าน

“จากนั้นครูได้รับทุน Fulbright ศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์วรรณคดีตะวันตกและดนตรีวิทยาที่อเมริกา ช่วงแรกไปอยู่สักประมาณ ๓ ปี แต่มีข้อผูกมัดว่าต้องไปก่อตั้งวงดนตรีไทยที่นั่น ที่สถาบัน Kent State University มีฝรั่งลงเรียนหน่วยกิจเป็นเรื่องเป็นราว ครูเป็นนักดนตรีไทยรุ่นแรกที่ไปบุกเบิกที่นั่น

“ปี ๒๓ ครูกลับมาประเทศไทยเพื่อก่อตั้งและเขียนหลักสูตรให้แก่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ภายหลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าภาควิชาดุริยางคศิลป์ที่นั่นด้วย ทั้งสองหลักสูตรเราแบ่งเป็นสาขาชัดเจน อย่างครุศาสตร์ก็จะแบ่งเป็นสาขาหนึ่ง เน้นหนักไปทางด้านครูดนตรี ศิลปกรรมศาสตร์จะต้องเป็นศิลปินให้ได้ เรียกว่าศิลปินบัณฑิต

“ครูได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทย ทำหน้าที่สอนไวโอลินแก่เอเซียนมิวสิค อบรม ณ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และได้รับทุน Fulbright Scholar เดินทางไปบรรยายด้านดนตรีในมหาวิทยาลัยกว่า ๑๐ แห่ง ที่สหรัฐอเมริกา

“พูดได้เต็มปากว่า ครูเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างวิชาดนตรีให้เป็นวิชาที่มีเกียรติ ไม่ได้เป็นวิชาเต้นกินรำกินอย่างที่คนอื่นกล่าวกัน เพราะครูประทับใจคนต่างประเทศที่เขาให้เกียรตินักดนตรี ถ้าบอกว่าเขาเป็นนักดนตรีเขาจะภูมิใจและได้รับความเคารพนับถือจากคนรอบข้าง ซึ่งในบ้านเมืองเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“ยุคของครูเป็นยุคดนตรีใต้ดิน อย่างที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สมัยก่อนตึกที่จะซ้อมยังไม่มี เด็กดนตรีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยังต้องไปนั่งแอบๆ ซ้อมในสวน เพราะผู้หลักผู้ใหญ่สมัยนั้นยังไม่สนับสนุนเท่าที่ควร”

ประสบการณ์ชีวิต
ไวโอลินตัวละล้านหาย

“เรื่องมีอยู่ว่า ไวโอลินตัวโปรดของครูชำรุด อาจารย์ฝรั่งที่สอนด้วยกันที่ราชมงคลธัญบุรีก็อาสาไปซ่อมให้ แต่ปรากฏว่า ๓ วันต่อมาเขาบอกว่าไวโอลินหาย เพราะลืมไว้บนรถไฟ ครูช้ำใจมาก เพราะเป็นไวโอลินตัวโปรด

“ครูไม่รู้ว่ามันหายจริงหรือเปล่า หรือเขาขโมยไป ทั้งลงหนังสือพิมพ์ ประกาศทางวิทยุ สอบถามไปตามที่ต่างๆ ก็ไม่มีใครรู้ ในที่สุดมีคนแจ้งเบาะแส ว่าไวโอลินของครูยังอยู่ในเมืองไทย อาจารย์ฝรั่งคนนั้นไม่ได้ต้มครูหรอก เพราะมีคนขโมยไปขายที่โรงจำนำ แล้วมีคนรับซื้อไปอีกที

“ไวโอลินตัวนี้ราคาไม่ต่ำกว่าล้าน ครูซื้อที่เนเธอร์แลนด์ แต่ราคาตอนนั้นยังไม่แพง เรื่องราคามันไม่สำคัญเท่าความผูกพันที่มีหรอก เพราะครูใช้ไวโอลินตัวนี้สอบและแข่งขันมาตลอด มีบ้านมีรถก็เพราะไวโอลินตัวนี้

“ตอนนั้นพยายามค้นหาไวโอลินตัวใหม่มาแทน แต่ก็ไม่ถูกใจ จนกระทั่งไปเจอตัวหนึ่งที่เมืองมิวนิก เยอรมนี เราก็ว่าทำไมไวโอลินตัวนี้มันเข้าท่า เสียงอะไรต่างๆ ก็ดี มองไปมองมาคนที่ซ่อมไวโอลินตัวนี้เป็นคนๆ เดียวกับที่สร้างไวโอลินตัวที่หาย

“๖ ปีผ่านไป ครูก็ถอดใจแล้ว ตอนแรกคิดว่าจะฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้รอด เพราะหาสิ่งทดแทนไม่ได้ จนกระทั่งครูไปตามเบาะแสทั้งที่พิษณุโลก นครสวรรค์ เที่ยวไปด่อมๆ มองๆ ตามหมู่บ้านเหมือนคนเสียสติ แต่ก็ไปเจอที่บ้านหนองสะเดา จังหวัดพิจิตรโน้น

“ชาวบ้านแถวนั้นบอกว่า มีคนหนึ่งไม่ว่าแกจะไปไหนก็หิ้วไวโอลินตัวนี้ไปด้วย แต่พอครูไปถามเข้าจริงๆ เขาก็ทำบ้าๆ บอๆ บอกว่าขี้ยามันขโมยไป เขารู้นะว่าไวโอลินตัวนี้เป็นของครู แต่ยังแกล้งบอกว่า สงสารอาจารย์โกวิทย์นะ ไวโอลินหาย ความจริงเขานั่นแหละที่เอาไป

“ครูไปตามอยู่หลายครั้ง บอกกับเขาว่าคืนผมเถอะแล้วจะไม่เอาเรื่อง แกก็ไม่ยอม จนคนที่พาครูไปชี้ต่อหน้าเลยว่า เป็นไปได้ไง คุณเอาไวโอลินมาเก็บแล้วจะให้ขี้ยาที่ไหนไป สุดท้ายแกก็กลัว เพราะทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านรู้เรื่องนี้ทั้งหมด แกก็เลยตกลงคืนให้แต่มีข้อแลกเปลี่ยนมากมาย ที่จริงแกอยู่กรุงเทพฯ นะ แต่เพราะไวโอลินตัวนี้แกเลยหนีไปพิจิตรเลย”

แลหน้าเหลียวหลัง
กับชีวิตปัจจุบัน

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ครูนำเพลงกราวในมาเล่นกับไวโอลิน จุดประสงค์ที่ทำเพราะคิดว่า คนเล่นไวโอลินก็จะเล่นแต่คลาสสิก ส่วนคนซอก็จะเล่นแต่เพลงไทย ไม่มีใครนำสองสิ่งนี้มาหลอมรวมกัน ครูคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันเกิดการผสมผสานระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีคลาสสิก แต่เราต้องไม่ทิ้งของไทยนะ เพียงแต่นำสีสัน สำเนียง ซุ่มเสียง แล้วก็เทคนิคขั้นสูงมาใช้อย่างเหมาะสม

“อีกครั้งครูไปเล่นคู่กับครูเติม (ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ – ผู้เขียน) ครูเติมสีซอด้วงครูสีไวโอลินเพลงพญาโศก มันก็เข้ากันได้อย่างไพเราะ จุดนี้เองที่ครูอยากให้มันเป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา โดยที่ไม่ได้ทำลายให้เสียหาย คล้ายๆ กับว่า ฝรั่งฟังได้ คนไทยก็ฟังได้

“ตอนนี้ครูดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต บุกเบิกและดูแลวงดนตรีกับการแสดงต่างๆ สอนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางรายวิชา แต่ส่วนใหญ่เป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ส่วนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไปช่วยก่อตั้งวงดนตรีคลาสสิก และเป็นศิลปินแห่งมหาวิทยาลัยที่นั่น มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรีครูก็ไปสอน ที่ราชบัณฑิตทุกวันนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้านดนตรีไทย

“อนาคตอยากเห็นการศึกษาดนตรีมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ดนตรีไทยก็มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ สามารถแสดงความสามารถ ความลึกซึ้ง และเทคนิคต่างๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ ส่วนดนตรีสากลก็อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก

“คาดหวังไว้ว่า นักดนตรีนอกจากเล่นเก่งแล้วต้องมีจรรยาบรรณ คือไม่อิจฉาริษยา มีความสามัคคีในหมู่คณะ เพราะอย่าลืมว่าดนตรีต้องพึ่งพากันและกัน ถ้ากีดกันกัน ชั้นก็เก่งเธอก็เก่งมันไปไม่รอด ผู้เรียนดนตรีต้องรักจริง ซ้อมจริง จนเกิดพุทธิปัญญา

“ส่วนตัวไม่หวังอะไรอีก เล่นดนตรีให้มีความสุขเท่าที่ทำได้ เพราะนี่อายุ ๗๐ แล้ว แต่ไม่ทิ้งนะ เพราะถ้าทิ้งก็หมายความว่าตาย ในสังคมดนตรีครูกล้ารับรองว่า หาคนที่มีความรู้และมีทักษะทั้งดนตรีไทยและดนตรีคลาสสิกยาก ถึงมีก็มีน้อย คนถึงตั้งฉายาให้ว่า ‘นักดนตรี ๒ วิญญาณ’”

โกวิทย์ ขันธศิริ

เกิดวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ ชาวกรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายสมบุญ ขันธศิริ มารดาชื่อ นางสมจิตต์ ขันธศิริ (สุคันธลักษณ์) มีน้องสาวหนึ่งคน คือ รองศาสตราจารย์อรวรรณ บรรจงศิลป์ มีบุตร ๑ คน คือ นายปิยะวิทย์ ขันธศิริ หรือแชมป์ นักไวโอลินรุ่นใหม่อนาคตไกล

การศึกษา

ปี ๒๕๐๖ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา วิชาเอกคณิตศาสตร์ ปี ๒๕๐๘ ประกาศนียบัตรทางการเล่นไวโอลิน เกรด ๘ จาก Royal school of music ประเทศอังกฤษ ปี ๒๕๑๓ จบปริญญาตรี K.C.M. จาก Royal Conservatory of music กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เอกการแสดงและการสอนไวโอลิน ปี ๒๕๒๓ จบปริญญาโท M.A. จาก Musicology-Ethnomusicology Kent State University, Ohio USA. Research Ph.D. (Music) จาก Sussex College U.K.

ผลงานด้านดนตรี

นอกจากผลงานแสดงดนตรี (ดนตรีไทย, ดนตรีคลาสสิก) ทั้งในและต่างประเทศ ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าวงดนตรีต่างๆ เช่น Fantasia Light Orchestra, จามจุรี Chamber Music, กรุงเทพมหานครฟีลฮาโมนิกออร์เคสตร้า เป็นต้น

ผลงานตำราและงานวิจัย

ผู้ร่วมวิจัย การวิเคราะห์ดนตรีไทยในสมัยรัตนโกสินทร์โดยทุนรัชดาภิเษกสมโภช, ตำราสอนดนตรีระดับมัธยมร่วมกับกรรมการของกระทรวงศึกษา, ตำราสอนดุริยางคศิลป์ปริทรรศน์ และใช้สอนวิชาดนตรีเบื้องต้นในสถาบันต่างๆ, วิจัยการวิเคราะห์เพลงไทยด้วยคอมพิวเตอร์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยทุนรัชดาภิเษกสมโภช, ผู้ร่วมวิจัย ภูมิปัญญาไทย ดุริยางคศิลป์ ทุนรัชดาภิเษกสมโภช, ดำเนินการวิจัยดนตรีเปรียบเทียบ ซอไทยและไวโอลิน, ตำราประวัติดนตรีตะวันตก ระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังเขียนบทความด้านดนตรีลงในวารสาร นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ต่างๆ อีกด้วย

เกียรติคุณที่ได้รับ

ปี ๒๕๔๑ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก ปี ๒๕๒๔ ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปี ๒๕๓๖ ได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


(ตีพิมพ์ลงวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔)

โกวิทย์ ขันธศิริ อรวรรณ บรรจงศิลป์

โกวิทย์ ขันธศิริ อรวรรณ บรรจงศิลป์

อ.โกวิทย์ ขันธศิริ (18)

tle 009

อ.โกวิทย์ ขันธศิริ (13)

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *