บันทึกภาคสนาม: เล่าเรื่องมโหรีอีสานใต้ คณะนายเผย ศรีสวาท จังหวัดสุรินทร์

บันทึกภาคสนาม: เล่าเรื่องมโหรีอีสานใต้
คณะนายเผย ศรีสวาท จังหวัดสุรินทร์
เรื่อง/ภาพ: พิชชาณัฐ ตู้จินดา

เดือนพฤษภาคม ปี ๕๕ ผมมีโอกาสเดินทางไปภาคสนามร่วมกับหน่วยวิจัยวัฒนธรรมดนตรีไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เรื่อง “มโหรีอีสานใต้” ที่ จ.ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และสระแก้ว

แม้ครั้งนั้นจะไม่ใช่การทำงานภาคสนามครั้งแรก แต่สำหรับผมถือเป็นการเริ่มต้นเก็บข้อมูลและสัมผัสดนตรีอีสานใต้อย่างใกล้ชิดและจริงจังที่สุด ที่สำคัญทำให้ผมรู้จักวงมโหรีอีสานใต้ระดับแนวหน้า จ.สุรินทร์ คือ คณะนายเผย ศรีสวาท ซึ่งผมได้ไปเก็บข้อมูลเชิงลึกที่นั่นอีกหลายครั้งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

โดยส่วนตัวยอมรับว่า แม้ครั้งนั้นผมไม่มีข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับดนตรีอีสานใต้ เพราะที่มีอยู่ในมือ คือเบอร์โทรศัพท์เจ้าของวงมโหรีที่ได้จากวัฒนธรรมจังหวัด ทั้งจินตนาการว่า อีสานใต้กับอีสานเหนือคงมีวัฒนธรรมคล้ายกัน แต่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ที่กำลังมาถึง ไม่ให้ตรงสุภาษิตหนึ่งของเซ็น คือ “ชาล้นถ้วย” ซึ่งก็ได้ผลน่าพอใจ

และด้วยความเป็นคนดนตรีไทยคนหนึ่ง สิ่งที่ได้คือการเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมส่วนกลางกับท้องถิ่น (เขมร) ไม่เฉพาะเรื่องมโหรีอีสานเท่านั้น (ต่อมาได้สัมผัสวงดนตรีอื่นอีก) แต่ครอบคลุมเพลงดนตรีอีกหลายประเภท ทั้งปี่พาทย์ ตุ้มโมง กันตรึม เจรียง รวมถึงภาษาวัฒนธรรม ซึ่งมีความใกล้เคียงกันอย่างแยกออกไม่ได้

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า มโหรีที่ผมพูดถึง หาใช่มโหรีแบบแผนราชสำนักที่นำเครื่องปี่พาทย์ (ย่อส่วน) ผสมกับเครื่องสาย โดยเฉพาะต้องมี “ซอสามสาย” ในวง หรือมโหรีเครื่องสี่ เครื่องหก ฯลฯ แต่ผมหมายถึงวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดีดสีตีเป่า ไม่จำกัดประเภท จำนวนชิ้น และการจัดวง ยืดหยุ่นไม่ตายตัวตามสถานการณ์บริบทแวดล้อม ร้องเล่นเพื่อขับกล่อมบันเทิงใจ ต่างจากปี่พาทย์รูปแบบตายตัว เล่นเพื่อประกอบพิธีกรรม

ตัวอย่างรูปธรรม ได้แก่ มโหรี บ.ปางลาง จ.สระแก้ว ประกอบด้วยขิม ขลุ่ย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ (กระปือ) กลองกันตรึม เครื่องประกอบจังหวะ ขณะเดียวกันมโหรี อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ใช้ปี่แทนขลุ่ย ไม่มีขิม แต่มีกระจับปี่ (จับเปย) และจะเข้ มโหรี จ.สุรินทร์ ใช้ปี่ในปี่กลางผสมกับซอด้วง ซออู้ ซอกลาง กลองกันตรึม เครื่องประกอบจังหวะ มีกลองมโหรีหรือกลองสองหน้า แต่ไม่พบกลองชนิดนี้ที่ บ.ปางลาง จ.สระแก้ว หรือมโหรี ต.ตะเคียนราม จ.ศรีสะเกษ ใช้แต่กลองมโหรีโดยไม่มีกลองกันตรึม

ทั้งคำ “พื้นบ้าน” “อีสาน” “อีสานใต้” ที่ต่อท้ายคำมโหรี ก็เป็นคำที่คนส่วนกลางเรียกเพื่อให้ต่างจากมโหรีแบบแผนของตน คล้ายการเรียกมโหรีแขกมโหรีมอญ ต่างจากผู้คนแถบนี้ที่เรียกวงดนตรีนี้ว่า มโหรี โดยไม่มีคำใดต่อท้าย

กลับมาที่มโหรีอีสานใต้ คณะนายเผย ศรีสวาท ตั้งอยู่เลขที่ ๒๓ ห.๑๕ บ.ระไซร์ ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของคณะ คือ นายเผย ศรีสวาท อายุ ๘๓ ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอาวุโสและหลักความรู้มโหรีอีสานแก่นักดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ นายเผยยังเป็นบุคคลต้นแบบด้านวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ ปี ๕๔ และเป็นศิลปินภูมิบ้านภูมิเมือง สาขาคีตศิลป์ จ.สุรินทร์ ปี ๕๕ อีกด้วย

ชายชราสูงผอมผิวคล้ำกร้านแดด ผมสั้นสีดอกเลา ส่งยิ้มทุกครั้งพร้อมฟันหน้าสองซี่ ชุดประจำวันคือเสื้อเนื้อบางสีขาวแขนสั้นกับกางเกงขาสั้น วันไหนมีงานมโหรีจึงใส่ชุดพื้นบ้านเต็มยศ เสื้อเชิ้ตขาวแขนยาวกับโสร่งไหมคลุมเข่าตาหมากรุก แม้ภาษาจะเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ด้วยพูดเขมรถิ่นไทย แต่สัมผัสได้ถึงความโอบอ้อมอารีจากแววตาสีหน้าและท่าที ท่านนี้คือนายเผย ศรีสวาทที่ผมพูดถึง

จากการจับเข่านั่งคุยที่บ้านที่แวดล้อมไปด้วยกิจกรรมทางการเกษตร นายเผยเล่าให้ฟังผ่านลามสรุปได้ว่า ครอบครัวศรีสวาทร้องรำทำเพลงตั้งแต่รุ่นปู่ คือ นายรีกและพี่น้องร่วมท้องอีก ๓ คน มีอาชีพเล่นร้องรับส่งละคร (นัยว่าเรื่องรามเกียรติ์) ประจำวงพระยาสุรินทร์ เจ้าเมืองสุรินทร์สมัยนั้น

นายตู (บิดา) เล่นทั้งมโหรีปี่พาทย์ เมื่อมีใครจ้างวานหรือขอแรงจึงรวมสมาชิกเป็นการเฉพาะกิจ ทั้งเล่นประโคมที่วัดในวันสำคัญทางศาสนา นับจากนายรีกนักดนตรีรุ่นแรกจนถึงปัจจุบันที่นายเผยเล่าว่า เหลนชายของตน คือพีรศักดิ์ ร่าเริง ที่เล่นดนตรีออกงานกับตนได้แข็งขัน ตระกูลศรีสวาทจึงสืบเชื้อสายนักดนตรีนับได้ ๖ ชั่วคน

ก่อนเป็นมโหรีสมบูรณ์พร้อมดังปัจจุบัน นายเผยยอมรับว่า บ.ระไซร์เคยสิ้นเสียงมโหรีปี่พาทย์แล้วครั้งหนึ่ง เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาสมัยนั้น “เครื่องขยายเสียง” ทำให้ความนิยมดนตรีพื้นบ้านแถบนี้ถดถอยกระทั่งหมดลง นิมิตดีที่สมภารวัดนาสม (วัดประจำหมู่บ้าน) ให้ข้อคิดเตือนสติว่า “เผย หมู่บ้านเราสิ้นคนดีแล้วหรือ” นายเผยจึงรวมคนฝึกหัดฝึกซ้อมมโหรี ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ร่วม ๔๐ ปี

วงมโหรีอีสาน คณะนายเผย ศรีสวาท เล่นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานฉลองสระน้ำหมู่บ้าน งานบวชนาค และงานศพ เหตุที่เล่นงานศพเพราะเพลงมโหรีส่วนใหญ่มีทำนองหวานปนเศร้าไม่เร่งเร้า อีกประการคือไม่นิยมนำกันตรึมเล่นงานศพ เพราะมีจังหวะสนุกสนานเร้าใจ (เว้น บ.สวาย จ.สุรินทร์ ใช้กัน ตรึมเล่นงานศพ ไม่เล่นงานมงคล) ยิ่งหน้างานช่วงสงกรานต์ตารางงานทั้งเดือน

ถามว่าวงนี้ทำไมถึงได้รับความนิยมจากคนใน จ.สุรินทร์และใกล้เคียง นอกจากอัธยาศัยใจคอความเรียบง่ายของนักดนตรี ทั้งการแต่งตัวเรียบร้อยไม่กินเหล้าเมายา คงเป็นเพราะทุกครั้งที่ออกงานจะยกเครื่องดนตรีไปทั้งหมด จึงเล่นได้ทั้งมโหรี ปี่พาทย์ และกันตรึม พูดง่ายๆ ว่าเสียกระสุนนัดเดียวได้นกสามตัว
เรื่องค่าตอบแทนก็พิเศษกว่าวงอื่น เพราะนายเผยโต้โผไม่เคยเรียกร้องกะเกณฑ์ แล้วแต่เจ้าภาพจะจัดการให้ บางงานเล่นสามวันสามคืนได้ห้าพันบาท นายเผยก็ไม่ปริปากบ่น

เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นในวงมโหรีอีสาน คณะนายเผย ศรีสวาท กลุ่มเครื่องดำเนินทำนองได้แก่ สไล (ปี่) ตรัวแหบ (ซอด้วง) ตรัวทม (ซออู้) และตรัวกลาง กลุ่มเครื่องประกอบจังหวะได้แก่ กลองสองหน้า (กลองใหญ่หรือกลองมโหรี) กลองกันตรึม ฉิ่ง ฉาบ และกรับไม้ ไม่มีเครื่องดนตรีประเภทดีด บางชิ้นมีลักษณะรูปร่างคล้ายเครื่องดนตรีไทยมาตรฐาน (Thai Classical Music)

นายเผยและนักดนตรีในวงบางคนให้ความรู้เรื่องเพลงมโหรี สรุปได้ว่า เพลงที่ใช้บรรเลงแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ เพลงครู (ชุดไหว้ครู) เพลงแห่ เพลงทั่วไป (เบ็ดเตล็ด) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหน้าที่การใช้งาน จังหวะ และท่วงทำนองเป็นสำคัญ

โดยเฉพาะเพลงครูถือเป็นหลักสำคัญทั้งแง่พื้นฐานดนตรีและความเชื่อ เพราะนักดนตรีทุกคนต้องผ่านเพลงชุดไหว้ครูนี้เป็นปฐม ก่อนเรียนเพลงอื่นๆ ตามสมควร เพลงชุดไหว้ครูยังใช้บรรเลงเริ่มต้นเป็นเพลงแรกหลังทำพิธียกครูทุกครั้งที่ออกงาน เพลงชุดไหว้ครูประกอบด้วยเพลงต้นฉิ่ง หางยาว ปีนตลิ่ง ทรงปราสาท สมัย ตะนาว

สำหรับเพลงแห่และเพลงทั่วไป เพลงแห่มักมีลีลาท่วงทำนองสนุกสนาน จังหวะกระชับกระฉับกระเฉง ใช้บรรเลงเมื่อต้องนำขบวนแห่ตามวาระโอกาส ได้แก่ เพลงแฮฮอมฉลอมเบาะ โอละหน่าย โฮลำปั่น จีน ตาพูน ตารินทร์ ตาทึก ขยอย และที่ค้นชื่อไม่ได้อีกประมาณ ๑๕ เพลง

ส่วนเพลงทั่วไปแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ เพลงบรรเลงงานมงคล ได้แก่ เพลงแขกมอญ ธรณีสมิงทอง นกขมิ้น กรอม พระโพธิ์ สกาโจลเดจ กะมาชา ชุดเรือมอันเร สร้อยสน และเพลงบรรเลงงานอวมงคล ได้แก่ เพลงอิเหนา ธรณีกรรแสง ลอยเลื่อน นางหงส์ (พื้นบ้าน) ดาวทอง ลาวครวญ ทั้งนี้ นักดนตรีจะพิจารณาจากท่วงทำนองและลีลาเพลงเป็นสำคัญ แน่นอนว่าเพลงบรรเลงงานอวมงคลควรมีลีลาจังหวะเนิ่นช้า ท่วงทำนองให้อารมณ์โศก

นอกจากนี้ ยังนิยมจับคู่เพลงเบ็ดเตล็ดเพื่อบรรเลงเฉพาะกรณีอีกด้วย เช่น ชุดสร้อยสน/แขกมอญ นกขมิ้น/จระเข้หางยาว ใช้บรรเลงพระฉัน (ทั้งเช้าเพล) และยังมีเพลงสำหรับพิธีเข้าทรง “โจลมะม็วด” โดยเฉพาะอีก ๔ เพลงอีกด้วย แต่ค้นชื่อเพลงไม่ได้

ลืมเล่าไปว่า บรรดานักดนตรีวงนายเผยกว่า ๑๐ ชีวิต ทั้งขาจรขาประจำ ถ้าไม่นับนักดนตรีรุ่นกลาง/รุ่นเล็กที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี คือ กัมพล ช่อทับทิม (๒๐ ปี) อดิศักดิ์ ชมดี (๒๐ ปี) พีรศักดิ์ ร่าเริง (๑๖ ปี) ฐิตินันต์ ดุจจานุทัศน์ (๑๔ ปี) กำลังเรียนอยู่ชั้นปริญญาตรีและมัธยมศึกษา ทุกคนล้วนอายุอานามขึ้นต้นไม่ต่ำกว่าเลขห้า และมีอาชีพ “ทำนา” เป็นหลัก

หลายครั้งที่ผมลงพื้นที่สัมภาษณ์โดยไม่นัดล่วงหน้า (จู่โจมถึงบ้าน แต่ไม่แนะนำว่าเป็นวิธีที่ดี) ผมจึงเห็นวิถีชีวิตและตัวตนเหล่านักมโหรีอีกมุมหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพิทักษ์ ชมดี หรือชัยวัฒน์ เปล่งชัย ที่ใช้เถียงนากลางทุ่งและกระบะรถใต้ร่มไม้เป็นพื้นที่พูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ เพราะเมื่อไปถึง คนแรกกำลังดำนาและจูงควายลงคู อีกคนยืนกลางแดดกล้าใช้เครื่องตัดหญ้าตัดวัชพืชริมคันนาของเขา

นอกจากเสียงมโหรีอีสานใต้ที่สร้างประสบการณ์สุนทรียะไม่รู้ลืมแก่ผมเมื่อแรกฟัง วิถีชีวิตและไมตรีจิตผู้คน ทุ่งนา อากาศบริสุทธิ์ที่หาไม่ได้ในเมืองกรุง ผมยังประทับใจเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นซอกระดองเต่า ซอเขาควาย การใช้ยางตะเคียนแทนยางสน การใช้เสี้ยนลำต้นตาลแทนหางม้าทำคันสีซอ การใช้หนังคางคกทำหน้าซอที่ให้เสียงดังใสไม่แพ้หนังงู

ท้ายนี้ ผมตั้งข้อสังเกตคำอธิบาย “มโหรีอีสาน” บางตอน ในหนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ที่เขียนว่า “วงมโหรีพื้นบ้านและวงมโหรีปี่พาทย์ในจังหวัดสุรินทร์นิยมแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงและข้าราชการจากส่วนกลางมาปกครองภาคอีสานในสมัยรัชกาลที่ ๕ และการเล่นมโหรีก็ได้แพร่หลายสู่ชาวบ้านในเวลาต่อมา” (กรมศิลปากร, ๒๕๕๐: ๑๕๔)

อีกเล่มเขียนว่า “มโหรีพื้นบ้านเป็นวงดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางตั้งแต่สมัยที่รัฐบาลกลางส่งข้าหลวงมาปกครองภาคอีสาน” (กรมศิลปากร, ๒๕๕๐: ๖๐)

ดูเหมือนหนังสือทั้งสองเล่มกำลังพยายามอธิบายความว่า มโหรีอีสานใต้ที่เห็นในปัจจุบันได้รับอิทธิพลและเผยแพร่จากส่วนกลางเป็นสำคัญ อาจเป็นเพราะความเหมือนของคำ “มโหรี” และเครื่องดนตรีในวง จึงอธิบายเหมารวมอย่างฉาบฉวย

แต่ถ้ามองมโหรีในปัจจุบันตามเป็นจริงจะเห็นว่า ไม่ว่ากิจกรรมเคลื่อนไหวในสังคม ปริมาณวงมโหรี (ที่ไม่ใช่สมบัติของสถาบันการศึกษา) และบทบาทรับใช้วิถีชีวิตผู้คน ความเข้มข้นของประเด็นเหล่านี้วัฒนธรรมมโหรีส่วนกลางเทียบไม่ได้กับสังคมอีสานใต้ นี่ยังไม่นับนักเล่นมโหรีที่กระจายตัวอยู่แทบทั่วพื้นที่แถบนี้ (ที่ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แต่กรุงเทพฯ ถ่ายเดียว)

หรือแท้จริงการเล่นมโหรีมีอยู่แล้วช้านานอย่างเข้มแข็งในสังคมอีสานใต้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เขมร ลาว ไทย มีวัฒนธรรมร่วมกัน

อ้างอิง
กรมศิลปากร. (๒๕๕๐). ประวัติศาสตร์ เมืองสุรินทร์. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
กรมศิลปากร. (๒๕๕๐). นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

สัมภาษณ์
กัมพล ช่อทับทิม. สัมภาษณ์. ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๖.
เผย ศรีสวาท. สัมภาษณ์. ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖. ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๖.
สนอง คลังพระศรี. สัมภาษณ์. ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖.

(เผยเเพร่ในชั้นเรียนปฏิบัติดนตรีพื้นบ้าน สาขาวิชาดนตรีไทยเพื่อการอาชีพ คณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา)

วงมโหรีอีสานใต้ คณะนายเผย ศรีสวาท จ.สุรินทร์

วงมโหรีอีสานใต้ คณะนายเผย ศรีสวาท จ.สุรินทร์

นายเผย ศรีสวาท บุคคลต้นแบบด้านวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ ปี ๕๔ และศิลปินภูมิบ้านภูมิเมือง สาขาคีตศิลป์ จ.สุรินทร์ ปี ๕๕

นายเผย ศรีสวาท บุคคลต้นแบบด้านวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ ปี ๕๔ และศิลปินภูมิบ้านภูมิเมือง สาขาคีตศิลป์ จ.สุรินทร์ ปี ๕๕

 

 

Comment

  1. Kayden says:

    Great common sense here. Wish I’d thhguot of that.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *