สัมภาษณ์วิเศษดนตรี:
เบื้องหลังความคิด อาณาจักรเครื่องดนตรีหลังประตูไม้
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: ภูมิพงศ์ คุ้มวงษ์, พิชชาณัฐ ตู้จินดา
มิถุนายน ๒๕๕๓ ณัฐพันธุ์ นุชอำพันธ์ เปิดช่องเพลงไทย เว็ปไซด์ YouTube.com ภายใต้ชื่อ wisetdontree เผยแพร่เพลงไทยหลากอารมณ์ ถึงวันนี้จำนวนอัปโหลด ๒๒๕ วีดิโอ ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับช่องอื่น แต่เน้นคุณภาพ ต่างจากยอดผู้ติดตาม ๑,๖๘๙ คน ที่ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ
เขาเป็นเจ้าของเรือนไทยสองหลังและเรือนประยุกต์อีกหนึ่ง ตั้งชื่อประภา วิเศษดนตรี และลีลาภิรมย์ บนพื้นที่กว่า ๔ ไร่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี นี่คืออาณาจักรส่วนตัวเก็บเครื่องดนตรีไทยชิ้นงาม และของสะสมโบราณ ที่ใครหลายคนอยากไปเยือนสักครั้ง
โลกสังคมออนไลน์อย่าง Facebook.com ณัฐพันธุ์เปิดเว็ปเพจ เรือนวิเศษดนตรี*เรือนประภา บอกเล่ากิจกรรมดนตรีและผลงานส่วนตัว ทั้งเล่นดนตรีและสร้างเครื่องศิราภรณ์ละครโขน จนเริ่มเป็นที่รู้จัก
เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งบนเครื่องบิน เพราะเป็นพนักงานต้อนรับบริษัทการบินไทย อีกส่วนหนึ่งขับรถไปกลับ กรุงเทพฯ-สระบุรี เพื่อดูแลและทำกิจกรรมดนตรีกับผองเพื่อนที่เรือนไทยดังกล่าว
เราเปิดประตูไม้เรือนวิเศษดนตรี และนั่งสนทนากับเขา
…………..
ทำไมต้องวิเศษดนตรี
“วิเศษดนตรีเกิดพร้อมเรือนหลังสองของบ้าน ปี ๒๕๕๒ เรือนหลังแรก ชื่อ ประภา (ตั้งชื่อตามชื่อยาย) ไม่รู้เป็นอะไรชอบตั้งชื่อบ้านชื่อข้าวของ ความผูกพันกับดนตรี คงหนีไม่พ้นศัพท์ดนตรี สังคีต ดุริยางค์ ดุริยะ วาทิต วาทิน แต่รู้สึกห่างไกล ดนตรีก็คือดนตรี มันจะไพเราะเสนาะอย่างไรก็คำวิเศษ ความหมายตรงตัว จึงเกิดคำ ‘วิเศษดนตรี’ ขึ้นมา”
คิดแทนคนส่วนใหญ่ถ้าได้ยินคำนี้นึกถึงอะไร
“ส่วนหนึ่งคือช่องเพลงยูทูปและเครื่องดนตรีที่สร้าง ถ้าพูดถึงวิเศษดนตรี คนคงนึกถึงเครื่องดนตรีอลังการ เพราะสร้างแล้วไม่ได้เก็บดูคนเดียว แต่แชร์ภาพ ลงขั้นตอน ให้เห็นว่ากว่าจะได้แต่ละชิ้นไม่ใช่วันสองวัน บางชิ้นต้องเสาะหาไม้ วัสดุ หรือช่างชำนาญการและประณีต เอาเข้าจริงก็ไม่ทราบว่าคนรู้จักเรามากน้อยแค่ไหน”
วิเศษดนตรีเป็นที่รู้จักเมื่อไหร่
“รู้จักทางช่องยูทูปมากกว่า เฟสบุ๊คเล่นเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา แต่มีส่วนอย่างมาก เพราะใช้สื่อตรงนี้เผยแพร่เพลง ผลงานส่วนตัวให้คนอื่นเห็น หลังจากนั้นก็กลายเป็นนามแฝงนามปากกา ไม่ว่าโพสข้อความที่ไหนพยายามใช้ชื่อนี้ คนก็เริ่มรู้จัก
“สิ่งสำคัญคือแฟนเพลง ถ้าเขาไม่ติดตามงานวิเศษดนตรี คงไม่มีเราวันนี้ ฉะนั้นต้องรักษาฐานแฟนเพลงไว้ และไม่ใช่แค่วิเศษดนตรีที่อัปเพลงลงยูทูป ช่องอื่นก็มี หลังๆ เป็นเครือข่ายกัน ต่างคนต่างรู้จัก บางคนเป็นนักดนตรี นักเรียน ครูอาจารย์ ไปเล่นหรือดูดนตรีที่ไหนก็บันทึกมาแชร์กัน ประทับใจที่ทุกคนช่วยกัน เป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน”
คล้ายว่าเป็นสื่อกลางคนรักดนตรี
“หลายคนพูดอย่างนั้น คนเห็นว่าเราเป็นนักสะสมเครื่องดนตรี นักดนตรีสมัครเล่น พอสบโอกาสรวมเพื่อนหรือคนคอเดียวกันมาเล่นดนตรี เราก็เป็นศูนย์กลางโดยอัตโนมัติ เวลามีงานเฉพาะกิจจะชวนคนนั้นคนนี้มาช่วย ยิ่งมีช่องวิเศษดนตรีในยูทูปหรือแฟนเพจในเฟสบุ๊ค ยิ่งดึงคนสนใจมาร่วมกิจกรรมมากขึ้น
“ไม่เฉพาะนักดนตรี แต่ลามถึงศิลป์แขนงอื่นด้วย เขาเห็นเราทำเครื่องศิราภรณ์ คนสนใจก็ขอเป็นเพื่อนในเฟสบุ๊ค มาถามมาคุยสนทนาความรู้ด้านนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรา อยากเรียนรู้ อยากทดลอง อยากสะสม”
เคยรวมกลุ่มทำกิจกรรมบ้างไหม
“มีบ้างบางครั้ง คุยกันว่าอยากไปเที่ยวที่นั่นที่นี่หาความรู้ เราก็เหวี่ยงคำถามไปในสังคมออนไลน์ ถ้าจัดอย่างนี้มีใครสนใจ ที่ผ่านมาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพาทยโกศล มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เสียงตอบรับไม่ได้มากเลย แต่พอมาเข้าจริงผิดคาด ส่วนหนึ่งอาจารย์อานันท์ นาคคง ผู้ให้ความรู้และนำทีม เขาพานักศึกษามาด้วย ถ้านับเฉพาะกลุ่มที่มากับเราก็มากกว่าที่คาดไว้ ‘ผมอยากมาร่วม มาแจม’ คนอายุมากก็มี คนอายุน้อยที่ไม่นึกว่าจะมาก็มี”
ไหว้ครูดนตรีที่บ้านสระบุรีล่ะ เพราะเป็นกิจกรรมหนึ่งของวิเศษดนตรี
“จริงๆ ตั้งใจไว้อย่างนั้น พยายามดึงเพื่อนที่ไม่ได้เจอในหนึ่งปีมาสังสรรค์พูดคุย งานเราเหมือนศูนย์กลางผองเพื่อนสนิทโดยปริยาย คนมาร่วมเพิ่มขึ้นทุกครั้ง เริ่มแรกคิดว่า บ้านเรามีเครื่องดนตรีมาก สะสมหัวโขน ก็ควรทำบุญถวายครูสักครั้ง พอบ้านเสร็จก็คิดทำบุญบ้าน รวมงานไหว้ครูไว้คราวเดียว
“มีเรื่องเล่าอยู่เหมือนกัน ถ้าเราทำกิจกรรมอะไรด้านดนตรี จะบอกเล่าให้ใครๆ ฟัง ไม่ว่าโดยส่วนตัวหรือสื่อออนไลน์ รวมถึงผืนระนาดเอกที่ได้รางวัลจาก มศว.ด้วย เพราะตีบันทึกไว้ว่าผืนนี้ได้รางวัล น้องคนหนึ่งเป็นนักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย เรียนระนาดเอก คงเปิดเจอเข้าเลยขอเป็นเพื่อนในเฟสบุ๊ค
“เมื่อจะไหว้ครูเขาถามว่า จะเดินทางมาที่บ้านอย่างไร เป็นเด็กนะ เด็กชายว่าอย่างนั้นเถอะ เขาบอก อยากมาร่วมงาน อยากลองผืนระนาด พอวันงานก็มาจนได้ พาพ่อพาพี่ชายมา เรารู้สึกว่า การที่เราทำไปเหมือนหว่านเมล็ด วันหนึ่งออกดอกผลให้เห็น เราก็ชื่นใจ”
คุยเรื่องอดีตบ้าง เป็นคนจังหวัดอะไร
“คนกรุงเทพฯ ตาคนสิงห์บุรี ปู่อยู่ชัยนาท ย่ามาจากสุโขทัย ยายเข้าใจว่าเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เดิม พี่ชายคุณตามีวงปี่พาทย์ คณะละครลิเกอยู่แถวหลานหลวง”
จบการศึกษาจากไหน
“คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาษาฝรั่งเศส โทไทยศึกษา”
ด้านดนตรีล่ะ
“เริ่มเรียนดนตรีไทยตอนประถม ๓ ถึง ๔ ทางโรงเรียนให้เรียนขลุ่ย ขลุ่ยพลาสติกสีเทา จำได้ ครูสอนชื่อ สงวน พวงเพ็ชร์ แกเขียนโน้ตให้อ่านตาม พวกรักเมืองไทย แหลมทอง สยามานุสสติ หรือสนต้องลม ให้เรียนก็เรียนไม่ได้คิดอะไร แต่เป็นความชอบลึกๆ มันคงดีกว่าไปนั่งเรียนเลขหรือวิชาการที่ไม่รู้สึกสนุก”
ชีวิตมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมดนตรีอะไรบ้าง
“เข้าชมรมดนตรีไทย สจม. ตั้งแต่ปี ๑ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ยังสอนอยู่ แต่มาเฉพาะช่วงมีงาน เพราะสุขภาพท่านไม่อำนวย ท่านจะมาติชมครั้งสุดท้ายก่อนออกงาน ว่าควรแก้ไขหรือปรับปรุงอะไร บางครั้งมาร่วมเล่นด้วย หลายครั้งมีบันทึกเพลงถวายพระพรในโอกาสสำคัญ ท่านจะเป็นคนสีซอสามสายในวง
“ตอนนั้นเข้าปี ๑ ได้ ก็เข้าชมรมฯ เลย เพราะตั้งใจอยู่แล้ว นอกจากชมรมของคณะอักษรฯ สจม. เป็นเหมือนศูนย์กลางดนตรีไทยจุฬาฯ ทุกคณะมาร่วมเล่นกันได้ แทนที่จะเล่นอยู่ที่คณะอย่างเดียว ซึ่งคนจำนวนน้อยกว่า โลกอาจแคบ มาเจอคนคอเดียวกันน่ะ สนุกกว่ามาก”
เคยคิดอยากเป็นนักดนตรีอาชีพไหม
“ไม่ เพราะไม่ได้เรียนเอกดนตรี ฉะนั้นความรู้ความสามารถย่อมไม่เท่าคนเรียนโดยตรง แต่เป็นความชอบโดยปกติ จำได้ว่า แต่ไหนแต่ไรไม่มีวันไหนที่ไม่ฟังเพลงไทย อย่างน้อยในรถสักช่วง ๕ นาที ๑๐ นาที ที่ได้ฟัง มองกลับกัน ถ้าเราเป็นนักดนตรีอาชีพ วันนี้อาจไม่มีทุนทรัพย์พอสร้างเครื่องดนตรีอย่างที่เป็นอยู่ก็ได้”
เครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิต
“คงเป็นขลุ่ยสีเทาทำจากท่อน้ำสมัยนั้น แต่หลังจากเข้าเรียนมัธยมโรงเรียนสามเสน เริ่มจับดนตรีจริงๆ ประมาณ ม. ๒ อยากเรียนซอด้วง ไปซื้อซอด้วงจากศึกษาภัณฑ์คันละ ๘๐๐ บาท แต่ครูที่โรงเรียนไม่ได้เอกซอ ประมาณว่าสอนได้ เพราะเป็นคนปี่พาทย์ เลยไม่ค่อยได้เรียนเท่าไหร่ ซื้อหนังสือหัดซอมาฝึก ลงนิ้ว ๐ ๑ ๒ ๓ ๔ ถ้าจะวิจารณ์ตอนนั้น เราเป็นคนสีซอแย่มาก โน้ตเพี้ยน กดเพี้ยน
“ช่วงหลังครูจับเรียนระนาดเอก ม. ๒ ถึง ม. ๓ จึงอยู่กับซอด้วงและระนาดเอกเป็นหลัก มีพี่ที่โรงเรียนคนหนึ่งตีขิมเก่งมาก พอเห็นรู้สึกว่าขิมไม่ได้ยากอะไร ก็แค่ตีให้โดน ถูกเสียง ต่างจากความคิดบางคนว่า สายเยอะ งง ตีไม่ถูก เลยได้เรียนขิมอีก โรงเรียนสามเสนมันใกล้กับมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ ได้เรียนขิมกับครูชนก สาคริก จนได้รางวัลชนะเลิศประกวดศรทอง”
นอกจากครูชนก สาคริก ได้เรียนกับครูดนตรีไทยท่านใดอีก
“เรียนระนาดเอกกับครูอุทัย แก้วละเอียด สมัยนั้นครูสอนที่คณะอักษรฯ มาถึงครูปรับไม้ปรับมือใหม่ทั้งหมด ได้เพลงจากครูมาก แต่ลืมไปมากเหมือนกัน เพราะไม่ค่อยได้ใช้ สมัยนั้นหัวสมองเรารับได้ ครูชอบมากถ้าได้สอนเด็กอักษรฯ หรือหมอ เพราะความไวในการรับสาสน์จากท่าน บอกแล้วทำได้ ครูจะมีความสุขมาก เราฝีมือไม่เก่ง แต่เราจำได้ พวกที่เรียนดนตรีอาชีพ เขาฝีมือดีเพราะทักษะมาก แต่อาจไม่ทันเวลาครูบอกแก้หรืออะไรต่างๆ ซึ่งมันดีคนละอย่าง”
จากขลุ่ยพลาสติกเลาแรกกลายเป็นเครื่องดนตรีที่เห็นทุกวันนี้ได้อย่างไร
“เครื่องดนตรีไม่ได้มาตูมเดียว จากซอด้วงไม้ชิงชันคันแรกใช้ตั้งแต่มัธยม เข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มเก็บเงินหยอดกระปุก ซอด้วงคันสองไม้มะเกลือ ซื้อสมัยเรียนมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ สยามวาทิต คันใหญ่มากก็เอาไปประดับมุก จากนั้นมีพัฒนาการเรื่อยๆ เมื่อมีหนึ่งเครื่อง ก็อยากจะมีอีกหนึ่งเครื่อง เครื่องที่สองที่ดีกว่า เครื่องที่สาม จนกระทั่งเครื่องที่ดีที่สุดถึงหยุดสร้าง”
ภูมิใจเครื่องดนตรีชิ้นไหนมากที่สุด
“เครื่องที่ได้มามีหลายวิธี ทั้งซื้อเอง ไปหาช่างโดยตรง ออกแบบเองก็มี รวมถึงเครื่องมรดก พูดถึงเครื่องที่ภูมิใจที่สุดน่าจะเป็นรางระนาดเอกที่ได้มรดกมา เคยเขียนเล่าไว้หลายที่แล้วว่าได้มาอย่างไร
“ตอนนั้นไม่คิดว่าเขาจะให้เรา แต่เผอิญบ้านเราอยู่ที่นี่ ญาติใกล้กันเป็นลูกหลานนักดนตรีเก่า ไม่มีใครรับช่วงต่อ เครื่องดนตรีก็แยกกันไปคนละชิ้นสองชิ้น คนได้ไปไม่ใช่นักดนตรีก็เอาไปกองกลางดินคว่ำกลางทราย ตากแดดลม ตอนที่ได้มาเป็นซากเครื่องดนตรี แต่มองแล้วว่าทำให้กลับมางามได้ จึงรู้สึกรักเป็นพิเศษ เจ้าของเดิมมาเห็นก็ภูมิใจ”
ความสุขหรือความสนุกในการทำเครื่องดนตรี
(หัวเราะ) “จะว่าเป็นความสนุกก็ไม่สนุก อาจเครียดด้วยซ้ำ ที่ได้ดังใจมีความสุขแน่ แต่เวลาช่างทำไม่ได้ดังใจเรามันก็ไม่สนุก มันเป็นความท้าทายมากกว่า กับการที่เราได้สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ เพราะคนทั่วไปเห็นเครื่องดนตรีไทยลักษณะเก่าจนเจนตา”
อย่างฝาฉลุปิดกระบอกซอด้วงงา
“มันไม่ได้มีข้อห้าม ดนตรีเป็นเรื่องเสียง วัสดุผลิตเสียงอาจเป็นอะไรก็ได้ ที่ไม่เสียคุณภาพเสียงเดิมที่ดีไป เรื่องซอด้วงที่คิดแผ่นปิดกระบอกเสียง ทีแรกคิดว่าจะมีผลต่อคุณภาพเสียงไหม แต่พอลองทำมันไม่ต่างจากเดิม ซ้ำเป็นยี่ห้อบอกฉลากตัวเรา ใส่ พ.ศ. ให้รู้ว่าคันนี้ทำเสร็จเมื่อไหร่
“แนวคิดง่ายๆ เมื่อซออู้แกะลายได้ ซอด้วงจะมีเอกลักษณ์ลวดลายบ้างไม่ได้หรือ เรื่องนี้ซอจีนเขาทำนานแล้ว ปิดช่องเสีย ตัวแมลงหรือสัตว์จะไม่ได้เข้าไปในกระบอก ในส่วนลึกที่เราล้วงทำความสะอาดไม่ได้”
สะสมความรู้เรื่องลายไทยและการออกแบบอย่างไร
“เราไม่ได้มีความรู้เฉพาะเครื่องดนตรีเท่านั้น เพราะชอบงานศิลป์คู่กับดนตรีตั้งแต่เด็ก ชอบดูของสวยของงาม ทีนี่เวลาไปพิพิธภัณฑ์ งานไหนที่เราประทับใจเป็นพิเศษ ตู้วัดเชิงหวายก็เป็นหนึ่งในนั้น พอเห็นก็รู้สึกว่ามันน่าปรับใช้กับเครื่องดนตรีของเราได้ เอาต้นเค้าความคิดมาใช้
“คนดนตรีไทยอาจยึดติดรูปแบบมากเกินไป เช่นว่าโขนซอด้วงต้องเอน ลูกบิดซอด้วงต้องปลายแหลม ซออู้ต้องเป็นแท่งกลมกลึง จริงๆ ซอด้วงซออู้คืออะไร มันคือเสียงใช่ไหม ทวนรูปทรงอย่างไรก็ให้มันเป็นไป เราไม่น่าหยุดความคิด ทำไมขิมถึงพัฒนาได้ จากขิมโป๊ยเซียนหรือขิมผีเสื้อ ตอนนี้เป็นขิมคางหมู ๑๑ หย่อง ๑๕ หย่อง สายทองเหลืองเป็นสายสแตนเลส คนยอมรับ ร้อยปีที่แล้วซอด้วงหน้าตาอย่างนี้ อีกร้อยปีหน้าก็จะเป็นอย่างนี้อีกหรือ”
อยากฟังประสบการณ์เชิดหุ่นกระบอก
“เริ่มจากแรงบันดาลใจ แน่นอนยุคนี้คงเป็นใครไม่ได้นอกจากอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤษ ตั้งแต่เด็กเห็นรูปถ่ายสมุดโทรศัพท์สีเหลือง ปีหนึ่งหน้าปกเป็นหุ่นกระบอกรูปพระอภัยมณีของอาจารย์ ชอบจึงตัดเก็บ ชอบกระทั่งแม่เล่าว่า เราเอาโฟมมาแกะเป็นหัวหุ่น เอาไม้เสียบลูกชิ้นหนาๆ เสียบหัว ทำมือทำชุด ตัดกระดาษทองปะ เชิดเล่นตามภาษาเด็ก จากนั้นก็เลือนหายไป
“พอเข้าปี ๑ คณะอักษรฯ เผอิญรุ่นพี่ที่คณะเชิดหุ่นกับอาจารย์จักรพันธ์ ภาควิชาละครมีหุ่นซ้อมวางหลังตู้ ความทรงจำเราก็กลับมา ว่าเคยชอบหุ่นกระบอก เราก็แสดงความอยากเล่นอยากจับ พี่คนนั้นก็พาไปเรียนกับคุณยายชื้น สกุลแก้ว บ้านเราอยู่ลาดพร้าวแต่ต้องนั่งรถลงเรือสองต่อสามต่อ เพื่อจะได้เรียนกับคุณยายที่ฝั่งธน
“ไปเรียนทุกอาทิตย์ ถี่ช่วงแรกๆ จนเรียนจบ พอทำงานก็เริ่มห่าง เพราะไม่มีเวลา ตอนนั้นคุณยายอายุ ๗๐ กว่าแล้ว งานเชิดหุ่นอย่างชาวบ้านยังมี งานหลักประมาณว่าไปสาธิตตามโรงเรียน ก็ไปกับคุณยาย บางทีไปถึงต่างจังหวัด เล่นเหมือนโบราณจริงๆ ไมค์อยู่หลังฉาก ร้องตะโกนกันไป ขณะที่ข้างๆ เป็นโรงโขนโรงลิเก ประโคมแข่งกัน”
ความเมตตาที่คุณยายมอบให้คืออะไร
“เยอะนะ วิชาความรู้ทุกวันนี้ ต้องบอกว่าได้จากคุณยายประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เรียนต่อกับอาจารย์จักรพันธุ์ทีหลังก็มี ใช่ว่าอาจารย์จะไม่สอน แต่พื้นฐานที่ได้จริงๆ ต้องบอกว่าได้มาจากคุณยายชื้น สกุลแก้ว”
สร้างเครื่องศิราภรณ์เป็นได้อย่างไร
“มันต่อเนื่องจากทำหัวหุ่นกระบอก ตอนเรียนเชิดก็ไม่ได้เกิดความเป็นช่าง ครั้งหนึ่งได้รู้จักอาจารย์เล็ก กฤดากร สดประเสริฐ อาจารย์เคยทำงานบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ ได้เรียนวิธีทำหัวหุ่น แกะหินสบู่ เรียนเพื่อรู้ว่า เขาใช้วิธีขั้นตอนอย่างไรในการประดิษฐ์ เราเป็นคนชอบทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว
“เป็นคนชอบละครฟ้อนรำ แต่ไม่ชอบลงมือรำเอง ดูเสื้อผ้า ดูเครื่องประดับแต่งกาย มันมีมนต์ขลัง อยากเห็นอยากมี เดินดูพาหุรัต ราคาแพงมาก นอกจากแพงแล้วยังวิจารณ์ในใจว่า แพงก็แพง สวยก็ไม่เท่าไหร่ ถ้าเราทำเองคงมีศักยภาพทำได้ดีกว่านี้
“ครั้งแรกไปหาคุณลุงสำเนียง ผดุงศิลป์ ท่านให้ยืมหุ่นชฏาไม้สำหรับปิดกระดาษ ทางช่างเป็นที่รู้ว่าเขาไม่ให้ใครยืมกันง่ายๆ แล้วเราไม่ได้สนิทกับท่านมาก แต่อาจเห็นความตั้งใจ มาลองปิดลองทำแล้วให้คุณลุงวิจารณ์ แต่ด้วยท่านไม่ได้เป็นคนติใครง่ายๆ ก็บอกว่าดีแล้วๆ แต่รู้ว่า ฝีมือตอนนั้นกับตอนนี้มันต่างกัน
“ความคิดตอนนั้นคือ ใส่ลายเข้าไปให้ดูละเอียด ดูวิบวับยิบยับ ในขณะที่ของคุณลุงเป็นลายใหญ่ที่มองเห็นชัดเจน เพราะเราใช้หินสบู่ที่ใช้กับหัวหุ่นมาใช้กับงานหัวโขนศิราภรณ์ จึงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จะสวยก็ต่อเมื่อมองใกล้ๆ ถ้าไกลมองไม่รู้เรื่อง
“หลังจากนั้นเริ่มทำโดยดูงานเก่าของครู อาศัยครูพักลักจำ แอบเปิดดูของที่คุณลุงทำ พอเปิดดูชั้นกำมะหยี่หุ้ม มันมีเหล็กดามข้างใน จากนั้นหลายปีได้พบอาจารย์วรวินัย หิรัญมาศ อาจารย์ตู่ ที่เพาะช่าง เอาผลงานที่เคยทำให้ท่านดู เขียนแบบจอนหูต่างๆ ให้ครูวิจารณ์ ว่าดีไม่ดีอย่างไร ครูว่าผ่านเราถึงลงมือทำ ความรู้ส่วนมากศึกษาด้วยตัวเอง สงสัยแคลงใจจึงถามครู”
ตัวตนณัฐพันธุ์ นุชอำพันธ์ เป็นอย่างไร
“คนธรรมดา ค่อนข้างสันโดษ งานไหนคนมากจะไม่ชอบ เป็นตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบที่ที่คนมากๆ แออัด แต่ถ้าคนคอเดียวกัน นักดนตรีมาเล่นดนตรี มาสังสรรค์ มาพูดคุย มาสนุกสนาน โอเค
“เป็นคนชอบความเป็นไทย นั่นคือธรรมชาติเรา ไม่ใช่ปั้น ไม่ใช่ว่าความเป็นไทยชั้นต้องรักษาไว้ ชั้นต้องอย่างนั้นอย่างนี้ มันเกิดจากตัวตน มันเป็นชีวิตที่ไม่ใช่การรณรงค์ หรือมีใครบอก เธอต้องรักความเป็นไทยนะ ไม่ใช่”
วันว่างที่เรือนไทยส่วนใหญ่ทำอะไร
“คงไม่พ้นเรื่องดนตรี ด้วยความที่เครื่องมันเยอะ กลับมาถึงไม่มีอะไรทำ นั่งเปิดตู้ค่อยๆ หยิบออกมาทีละเครื่อง ออกกำลังกายให้เครื่องดนตรี แทนที่จะตั้งอยู่เฉยๆ หน้าซอมันไม่ได้ออกกำลัง ระนาดตั้งไว้นานๆ ไม่เคยถูกตี ก็จับมาสีมาตี พยายามหมุนเวียนให้ครบทุกเครื่อง บางทีเบื่อกับการจัดตู้จัดห้องหับแบบเดิมก็เปลี่ยนเสียใหม่ เรื่อยเปื่อย”
มีสมบัติมากๆ นี่ทุกข์ไหม
“ไม่ทุกข์ มีด้วยความสุข เพราะถ้าทุกข์แล้วก็คงไม่ทำ”
จะทำอะไรต่อไปกับเครื่องดนตรีเหล่านี้
“เท่าที่ประเมินศักยภาพตัวเอง อาจมีไม่กี่คนที่สร้างเครื่องดนตรีอย่างเรา แล้วสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ซ้ำ ฉะนั้นปริมาณของจึงเพิ่มตามอายุ วันหนึ่งมันอาจกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ นี่คิดเล่นๆ ไม่ได้วางแผนว่าปีนั้นปีนี้ ซึ่งเครื่องเราไปเปรียบกับเครื่องเก่าไม่ได้ เครื่องเก่าเขามีประวัติความเป็นมา เขามีความสวยงามมาแต่โบราณ ของเรามันเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว คือไม่ได้เก่าแก่ในแง่คุณค่ากาลเวลา ความเป็นมา แต่ว่ามีคุณค่าทางศิลป์”
ความฝันในอนาคต
“อยากทำหนังสือภาพเครื่องดนตรีไทยสักเล่ม น่าสนใจที่ว่า วงการดนตรีไทยให้ความสำคัญเรื่องตัวเพลงอันดับหนึ่ง แต่หลงลืมคนอยู่เบื้องหลังเครื่องดนตรีเหล่านั้น ดนตรีไม่ได้เป็นเรื่องเสียงอย่างเดียว หนังสือภาพนี้ คนเสพความงามของดนตรีด้วยสายตา ด้วยศิลป์ที่ปรากฏ โดยเอาเครื่องดนตรีที่เรามีนี่แหละ ผ่านการตีความของช่างภาพ คิดว่ายังไม่มีใครทำหนังสือแนวนี้ อาจเป็นเล่มแรกที่เป็นจริงเป็นจัง
“คงไม่ฝันอะไรมากไปกว่าดำเนินชีวิตแต่ละวันให้มีความสุข ที่เป็นอยู่ความฝันของเรามันเกินกว่าฝันในวัยเด็กแล้วล่ะ มีเรือนไทย มีเครื่องดนตรีงาม มีอะไรที่เสาะหายาก รู้สึกว่าชีวิตเต็มที่แล้ว สุขมากแล้ว”
(ติดตามผลงานและความเคลื่อนไหว “วิเศษดนตรี” ได้ที่ YouTube.com โดยพิมพ์คำว่า wisetdontree
และ Facebook.com เว็ปเพจ เรือนวิเศษดนตรี*เรือนประภา)
ชอบเทศนิคในการเดี่ยวขิมเพลงลาวแพนมากค่ะ
ได้เข้ามาอ่านรายละเอียดของเรื่องเนื่องจากเปิดดูคลิปไหว้ครูเรือนประภา ด้วยความสนใจว่าเรือนประภาอยู่ที่ไหนก็ถามอากู๋ จนพบความวิเศษของดนตรี ได้ติดตามอ่านเรื่องราวจนทราบว่าเรามีปู่เป็นชาวชัยนาทเหมือนกัน ปู่เป็นคนอ.สรรค์บุรี ย่าเป็นสาวสรรพยาค่ะ ขอบคุณที่สร้างสรรสิ่งดีงามให้คนรักดนตรีไทยได้ชื่นชม ถ้ามีโอกาสจะแวะมาเยี่ยมเยือนเรือนประภา และอีกสองเรือนให้จงได้ ขอบอกว่าได้เห็นใบหน้าแล้วรู้เลยว่าใบหน้าอิ่มบุญค่ะ
สงสัยว่าจะเขียนผิดช่องหรือไม่คะ จะcopyข้อมูลที่เขียนไว้ด้านบนก็ทำไม่ได้ค่ะ