ณรุทธ์ สุทธจิตต์
ว่าด้วยดนตรีศึกษาและระบบการศึกษาไทย
เรื่อง : พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ : ภูมิพงศ์ คุ้มวงษ์
ในบรรดาหนังสือ Music Education ที่ถูกเขียนขึ้นโดยคนไทย จำนวนไม่น้อยเป็นผลงานการเขียนและเรียบเรียงของ ณรุทธ์ สุทธจิตต์
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือชุดดนตรีศึกษา ๕ เล่ม (สังคีตนิยม : ความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก พฤติกรรมการสอนดนตรี กิจกรรมดนตรีสำหรับครู จิตวิทยาการสอนดนตรี ดนตรีคลาสสิก : บทเพลงและการขับร้อง) สังคีตกวีเอกของโลกยุคคลาสสิก หลักการของโคดายสู่การปฏิบัติ (หนังสือแปล) หรือจะเป็นดนตรีศึกษา: หลักการและสาระสำคัญ ฯลฯ
นี่ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ณรุทธ์ สุทธจิตต์ เป็นนักการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Music Education อย่างลึกซึ้งคนหนึ่งของประเทศ และไม่เพียงแต่ผลงานด้านวิชาการที่เป็นตัวชี้วัดความสามารถของเขา หากแต่ในทางปฏิบัติ เขายังเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดานิสิตนักศึกษาว่า มีวิธีการสอนหนังสืออย่างชาญฉลาด สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่มีความซับซ้อนได้อย่างง่ายดาย
ณรุทธ์ สุทธจิตต์ จบครุศาสตรบัณฑิต และครุศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบ Ph.D. (Curriculum and Music Education) จาก Indiana University. U.S.A. และศึกษาวิธีการสอนแบบโคดาย ณ Zoltán Kodály Pedagogical Institute of Music เมือง Kecskemét ประเทศฮังการี ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในฐานะเป็นผู้คร่ำหวอดและอยู่ในวงการ Music Education กว่าค่อนชีวิต ทั้งยังเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมผลักดันและพัฒนาวงการนี้อย่างต่อเนื่องจริงจัง จึงไม่แปลกเลยที่เขาจะให้ทัศนะเกี่ยวกับระบบการศึกษาและ Music Education ในไทยอย่างเฉียบขาดคมคาย ด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่มั่นอกมั่นใจ ซึ่งเนื้อหาของบทสัมภาษณ์ทั้งหมดบรรจุบนพื้นที่หน้ากระดาษต่อไปนี้…
ในทัศนะให้คำจำกัดความคำว่า “ดนตรีศึกษา” อย่างไร
“ดนตรีศึกษาเป็นเรื่องที่อยู่ในคณะครุศาสตร์ เป็นการเตรียมตัวผู้เรียน เพื่อที่จะออกไปเป็นครูดนตรีที่ดี ทั้งในระดับปฐมวัยจนกระทั่งถึงระดับอุดมศึกษา การศึกษาดนตรีจึงมี ๒ ส่วน คือ ในส่วนของ Music Education และการศึกษาทางด้านดนตรีทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นในเชิงทฤษฏี หรือทักษะการปฏิบัติ
“สมมุติว่าเราอยู่ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่เราต้องจัดการศึกษาให้คนที่เรียนวิชาเอกดนตรี คือมองในแง่ Music Education ว่า คุณมีวัตถุประสงค์การเรียนการสอนถูกต้องไหม คุณจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ได้เป็นการเตรียมตัวผู้เรียนเพื่อไปเป็นครู แต่คุณต้องมีความรู้ด้วยว่า คุณจะจัดหลักสูตรอย่างไร คุณจะทำการสอนอย่างไร ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของ Music Education ทั้งสิ้น”
คิดเห็นอย่างไรกับคำว่า “การศึกษาไทยล้มเหลว”
“ถ้าจะพูดคำว่าล้มเหลว ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เราคิดว่าเรื่องดนตรีของเราไม่เคยล้มเหลว แต่ถ้าจะกล่าวโดยภาพรวม แล้วในภาพรวมหมายถึงอะไร หรือถ้าเราจะดูเป็นจุดๆ ไปก็ได้ แล้วทำเป็นค่าสถิติ หาว่าภาพรวมมันเป็นอย่างไร
“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปัจจุบันมีเด็กจบปริญญาตรีเยอะขึ้น แต่เรื่องตกงานหรือไม่ตกงานนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วอย่างนี้จะว่าการศึกษาไทยล้มเหลวได้อย่างไร แต่ถ้าจะพูดคำว่าล้มเหลว ผมว่ามันล้มเหลวทางด้านคุณภาพมากกว่า คือมันอ่อนลง อย่างนี้เห็นชัดเจน เพราะคุณภาพของเด็กปริญญาตรีที่จบมันยังไม่เจ๋งจริง
“อย่างนักเรียนเรียนจบ ป. ๔ หรือ ป. ๖ เขียนได้แต่ชื่อของตัวเอง ถ้าจะถามว่า ตกลงแล้วคุณภาพการศึกษาของไทยมันไม่ดีทั้งหมดเลยใช่ไหม มันก็ไม่ใช่นะ เพราะอย่างจุฬาหรือมหิดลก็ติดระดับโลก แต่ที่อื่นเราไม่รู้ อย่างมหาวิทยาลัยทางภาคอีสานที่มีข่าว ที่ขาย ป.บัณฑิต รัฐควบคุมอย่างไรล่ะ อย่างนี้มาตรฐานก็ต่างกันแล้ว”
มองเรื่องหลักสูตรครู ๖ ปี อย่างไร
“ไม่ชอบเลย แต่ก็ยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง รู้สึกว่ามันพัฒนามาจาก ๔ ปี เป็น ๕ ปี ซึ่ง ๕ ปีมันก็ยังโอเคอยู่ แต่ถ้าหลักสูตร ๖ ปีคุณถึงจะได้เป็นครู มันนานเกินไปสำหรับสังคมไทย คือมันอาจจะเหมาะกับบริบทของสังคมประเทศอื่นๆ ที่เขาพัฒนามากแล้ว เช่นประเทศฟินแลนด์ ระบบการศึกษาของเขาเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะทุกคนมีการศึกษาสูงทั้งหมด เขาก็ทำให้มันสูงยิ่งขึ้น
“ในรายละเอียดหลักสูตร ๖ ปี ก็ต้องทำวิจัยอย่างกับจะจบปริญญาโท แล้วถ้าเด็กบางคนเกิดไม่พร้อมที่จะทำงานวิจัย เพราะงานวิจัยมันไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วจะทำได้นะ มันต้องมีพื้นฐานอะไรมาเยอะมาก ซึ่งจะมาบังคับว่าทุกคนต้องจบภายใน ๖ ปี อย่างหลักสูตรปริญญาโทของเราในปัจจุบัน หลักสูตร ๒ ปี แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่จบ ๒ ปี เพราะยังไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน
“ฉะนั้นคุณรับประกันได้ไหม ว่าเด็กจะจบภายใน ๖ ปีที่กำหนด ดีไม่ดีเด็กจะต้องเรียนถึง ๖ ปีครึ่ง เป็น ๗ ปี อย่างนี้มันไม่คุ้มนะ เด็กกว่าจะออกไปเป็นครูเสียเวลาตั้ง ๖ – ๗ ปี แล้วถ้าเด็กบอกว่าไม่เอาแล้ว เกิดไม่เรียนขึ้นมาจะทำอย่างไร ใช่ไหม
“ฉะนั้น ๔ ปีสำหรับปริญญาตรี ต่อ ๒ ปีปริญญาโท และ ๓ ปีสำหรับปริญญาเอก มันเป็นหลักสูตรที่ดีกว่า แล้วมันก็เหมาะกับสังคมที่การศึกษายังไม่สูง เด็กเราหลายคนยังไม่ได้รับการศึกษาที่ดี แต่ถ้าในอนาคตทุกคนจบปริญญาตรีทั้งประเทศ แล้วมานั่งคิดกันใหม่ว่าควรขยับเป็น ๖-๗ ปีดีไหม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่จะยุบจากเดิม ๕ ปี ทำเป็น ๖ ปีแล้วได้ปริญญาโท ก็หมายความว่าคุณกลับมาใช้หลักสูตรอย่างเดิมน่ะสิ”
ถ้าในอนาคตนโยบายหลักสูตรครู ๖ ปี ได้ใช้ขึ้นมาจริงๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
“ต้องมีการทดลองหรือทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ถ้าคิดด้วยประสบการณ์ ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่ามันจะถูกหรือผิดนะ คือในเรื่องทักษะปฏิบัติเด็กที่เข้าใหม่เก่งแน่นอน แต่ในเรื่องวิชาการที่จะต้องศึกษาเชิงทฤษฏีทั้งหมด แม้แต่เรื่องประวัติศาสตร์ดนตรีเอง บางคนก็ยังไม่ไหว แล้วกว่าจะมาถึงงานวิจัยอีก มันเหนื่อยมาก
“เพราะกว่าเขาจะหาเรื่องวิจัยได้ โดยจะต้องไม่ซ้ำกับใคร ซึ่งมันก็มีคุณภาพอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะเป็นการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี มันไม่เหมือนระดับปริญญาโท ที่จะต้องมีการสอบโครงร่างจริงๆ มีกรรมการสอบ ซึ่งปริญญาตรีจะทำอย่างนั้นไม่ได้
“ปริญญาตรีก็รับรู้ได้ในระดับของเขา แต่พอมาเรียนปริญญาโทมันวางแนวคิดใหม่ทั้งหมด วาง Concept การวิจัยที่ลึกซึ้งมากกว่า แต่ถ้าบอกว่า อย่างนั้นก็ทำวิจัยง่ายๆ สิ จะทำวิจัยยากๆ กันไปทำไม ต่อไปนี้ใครจบครุศาสตร์บัณฑิต หรือครุศาสตร์มหาบัณฑิตทำวิจัยแบบง่ายๆ แล้วมาตรฐานล่ะอยู่ที่ไหน พูดง่ายๆ คือ ควรเอาสมองคิดเรื่องหลักสูตร ๖ ปี ไปคิดและพัฒนาเรื่องอื่นจะดีกว่า”
ในความคิดควรปรับปรุงและพัฒนาเรื่องอะไรเป็นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาไทย
“ควรไปทำการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แข็งแกร่งกว่านี้ เงินลงทุนต้องมากกว่านี้ มันอาจจะมากแล้ว แต่ต้องมีระบบการจัดการและการบริหารที่ดีด้วย คือให้คนในประเทศนี้คิดว่า เกิดเป็นคนไทยแล้วได้เรียนหนังสือ และจบ ม.๖ จริงๆ อย่างมีคุณภาพมันเป็นอย่างไร
“ไม่ว่าเด็กจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ เด็กควรเรียนรู้และได้รับอะไรที่มันเท่าเทียมกัน ซึ่งมันจะเพิ่มศักยภาพความเป็นคนไทย จะทำอย่างไรให้ทุกพื้นที่มีความแตกต่างน้อยกว่านี้ เช่นเราอยู่ต่างจังหวัด จริงอยู่มีคอมพิวเตอร์มีอินเทอร์เน็ต แต่ในความเป็นจริงมันใช่ไม่ค่อยได้นะ อย่างนี้รัฐควรไปลงตรงนั้นให้ระบบมันสมบูรณ์ไม่ดีกว่าหรือ
“ประเทศฟินแลนด์ เรื่องของสื่อ เรื่องของเทคโนโลยี เด็กนักเรียนไม่ว่าจะเรียนอยู่ที่ไหนของประเทศ เขารับรองเลยว่ามาตรฐานเท่าเทียมกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ต้องขวนขวายว่าชั้นจะต้องเข้ามาเรียนจุฬา ธรรมศาสตร์ หรือมหิดล ชั้นจะไปเรียนที่ไหนชั้นไม่สนใจ เขาก็เลือกที่เรียนที่ใกล้บ้านของเขา
“หรือคุณจะไปพัฒนาลงทุนทางด้านอาชีวะ เพราะสายอาชีวะก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยทั้งประเทศ จบออกมาก็ไม่ยอมทำงาน อย่างนี้มันไม่ถูก คือให้เด็กมีความภาคภูมิใจได้ว่า แม้จะจบจากวิทยาลัยทางด้านอาชีวะ แต่ก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน”
มองเรื่องหลักสูตรศิลปะและดนตรีในระดับประถมและมัธยมอย่างไร
“ถ้าพูดไปตามธรรมชาติ ศิลปะกับดนตรีมันมีความสำคัญ เพราะมันพัฒนาสมอง คนโดยส่วนใหญ่ก็รู้กันอย่างนี้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ คนที่จัดหลักสูตรไม่เคยให้ความสำคัญเลย เรียกร้องไปก็ได้เท่านี้ เพราะคนคิดเขามีวิธีคิดแตกต่างจากเรา
“ถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ถ้าเพิ่มเวลาได้มันก็จะดีเป็นอย่างยิ่ง แต่เรื่องดนตรีโดยทั่วไปมันก็มีทางออกของมัน เพราะสำหรับเด็กที่มีความสนใจ เขาก็เรียนหลักสูตรพิเศษคือช่วงเช้าหรือช่วงเย็น อย่างในห้องเรียนมันก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป เด็กได้เรียนดนตรี ได้เรียนศิลปะ ได้เรียนรำ มันก็โอเคในระดับหนึ่ง
“แต่ถ้าจะปรับ คุณต้องปรับตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลยนะ เพราะชั้นอนุบาลนี่สำคัญมาก และควรมีครูสอนที่มีความรู้อย่างถูกต้อง บางโรงเรียนบอกว่าโรงเรียนของชั้นมีดนตรี แต่ลองเข้าไปดูสิ ร้องเพลงก็ร้องกันแบบตะโกน ปรบมือบ้าง เล่นเครื่องดนตรีหน่อย วิ่งอีกนิดจบแล้ว มันไม่ใช่ เด็กอนุบาลมันต้องอ่านโน้ต อ่านภาษามือง่ายๆ ตบจังหวะง่ายๆ พอให้เด็กได้ Concept
“ในปัจจุบันมีสถาบันที่เปิดสอนดนตรีเยอะขึ้น แล้วก็เปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น เดี๋ยวนี้ที่เชียงใหม่เขาก็เริ่มมีแล้ว อย่างเวลาสอบเข้าปริญญาตรี เรารู้เลยว่ามาตรฐานสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปีที่แล้ว โดยเฉพาะบางเครื่องมือ เข้ามาแบบที่ว่ามันเจ๋งน่ะ เช่นเปียโนหรือขับร้องสากล ซึ่งนี่ก็แสดงว่าพื้นฐานจากประถมหรือมัธยมเขาต้องมีพื้นมาดี”
การเรียนการสอนดนตรีศึกษาในสังคมไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง
“ประเทศไทยตามประเทศอื่นอยู่ไกลนะ เพราะดนตรีศึกษาที่ต่างประเทศเขาเกิดก่อนเราเป็นร้อยปี แล้วต้องเข้าใจว่าเขามีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ แต่ถ้าเราบอกว่า เราก็มีการเรียนการสอนมานานแล้วนะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นานแล้วก็จริง แต่มันก็เป็นแบบอยู่ไปอย่างนั้น ความสำคัญก็แค่นั้น สิ่งที่ได้มันก็มีสาระในตัวของมันเอง แต่มันไม่กว้าง ไม่ยิ่งใหญ่ มีความลึกซึ้งของมันอยู่แค่นั้น
“แต่อย่างเมืองนอกเขามีกลุ่มมีอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เช่นที่ประเทศอเมริกาเรื่องดนตรีศึกษาที่นี่มันกว้างไกลมาก มีสมาคมที่มีอธิพล มีการจัดประชุม มีการออกวารสาร มีการออกระบบระเบียบอะไรต่างๆ ถ้าจะอยู่วงการดนตรีแล้วต้องทำอะไรร่วมกัน อย่างนี้แลดูมันก็เยอะน่ะสิ ของเรามันต่างคนต่างทำ ตัวใครตัวมัน”
ปัจจุบันงานวิจัยด้านดนตรีศึกษาในประเทศไทยเพียงพอหรือยัง
“เพียงพอไหม พูดไปแล้วงานวิจัยมันไม่เคยพอ มันเป็นการค้นคว้าหาความรู้ที่ไปได้เรื่อยๆ งานวิจัยเป็นเรื่องของรายละเอียด เป็นการมองในเชิงลึก ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริง งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรีศึกษา ยังขาดงานในระดับนโยบาย ตัวหลักสูตร ตัวครู และตัวนักเรียน พูดได้เลยว่านิสิตไม่ชอบทำ ตัวอาจารย์เองก็ไม่ชอบทำเท่าไหร่
“งานวิจัยที่ออกมาส่วนใหญ่จะเป็นแนวเจาะลึกมากกว่า เช่น เรื่องการสอน นิสิตจะชอบทำกันมาก แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์หลักสูตร หรือทำเกี่ยวกับการรับรู้ของผู้เรียน ว่าในตัวเด็กเขาเรียนอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้ตัวเขาเรียนได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องจิตวิทยาการรับรู้ นิสิตจะไม่ชอบทำกัน
“ในระดับนโยบายก็เช่นกัน การมองอะไรในมุมกว้างๆ ดูอะไรที่มันใหญ่ๆ ในเชิงนโยบาย ตัวอย่างก็คือ ดนตรีศึกษามันจะไปทางไหน หรือมองการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครหรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างนี้เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ยังขาดอยู่มาก
“โดยส่วนตัวที่อยากเห็นมากๆ ก็คือ การทำ Music Education ที่เกี่ยวกับดนตรีไทย เพราะถ้าจะพูดถึงเรื่องดนตรีไทย ด้วยความที่มีการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนใคร ในฐานะที่เราเป็นนักการศึกษา เราอยากเข้าไปดูว่าเขาทำอะไรกัน แล้วนำมาตีแผ่เป็นงานวิจัย ซึ่งต้องทำหลายแง่มุม ทั้งด้านผู้เรียน ผู้สอน และหลักสูตรการสอน
“เรื่องการสอนคิดว่าทำง่าย เพราะแค่เก็บข้อมูล แต่เรื่องหลักสูตรจะยาก เพราะถ้าเราเข้าไปถามเขาว่า การเรียนการสอนของเขามีหลักสูตรไหม เขาจะตอบว่าไม่มี ที่จริงมันมีนะ แต่มันอยู่ในหัวสมองของเขา แค่ไม่ได้เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือเท่านั้น ฉะนั้นมันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเข้าไปถามเขาว่า ความรู้ที่อยู่ในหัวสมองของเขามันคืออะไร
“ดนตรีไทยเรามีสิ่งดีๆ เยอะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรา แล้วเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นมานาน ไม่มีใครที่จะไปดึงออกมาให้มันเป็น Music Education ซึ่งถ้าจะทำต้องทำให้ถูกต้องด้วย เพราะถ้าคุณทำผิด มันจะไม่เป็น Music Education ที่แท้จริง แต่มันจะกลายเป็น Ethnomusicology อยู่ดี”
ครูดนตรีในอุดมคติของอาจารย์จะต้องเป็นอย่างไร
“ถ้าเป็นครูดนตรีขั้นพื้นฐานนี่ต้องเก่งนะ จะมาอ้อๆ แอ้ๆ ไม่ได้ ต้องเก่งในด้านที่เขาสอน ถ้าเขาสอนทฤษฎีเขาก็ต้องเก่งทฤษฎี ถ้าสอนปฏิบัติเขาก็จะต้องเก่งปฏิบัติ นอกจากนั้นก็ต้องทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย อย่างเช่นวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งมันอาจจะไม่หนักเท่ากับในระดับมหาวิทยาลัย แต่คุณต้องทำไม่อย่างนั้นคุณเจริญยาก
“สำหรับระดับอุดมศึกษาก็ต้องคิดเป็น จะมานั่งสอนแต่ทักษะอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องอ่านงานวิจัยควบคู่ไปกับการสอนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องก้าวไปมากกว่าลูกศิษย์ ฉะนั้นในความที่คุณเป็นครูในระดับมหาวิทยาลัย แม้ว่าคุณจะสอนวิชาทักษะ โอเค ฝีมือคุณเก่ง ไม่อย่างนั้นคุณแย่ แต่คุณต้องค้นคว้าหาความรู้ในเชิง Pedagogy ที่คุณจะต้องนำมาสอนลูกศิษย์ของคุณด้วย
“ไม่ใช่ว่าชั้นรู้มาอย่างนี้ชั้นก็จะสอนแบบนี้ มันไม่ใช่ แต่คุณจะมีวิธีการอย่างไรในการถ่ายทอด ที่จะให้ลูกศิษย์ของคุณมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น หรือง่ายขึ้น ไม่ใช่ว่าพูดหมดไปหนึ่งเทอมแล้ว ถึงจะเข้าใจว่าเราต้องการสื่อสารอะไรกับเขา ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมทั้งสิ้น
“ประการต่อมา คุณต้องมีทักษะในการทำวิจัย เพราะในอดีตสัก ๕ ปี ๑๐ ปี หรือในอนาคต คุณอยู่ไม่รอดนะถ้าคุณไม่ทำวิจัย หรือเขียนตำราไม่เป็น คนในระดับอุดมศึกษามันต้องคิด มันต้องทำ คุณต้องคิดว่า ถ้าคุณจะเขียนงานวิจัย คุณจะเขียนอย่างไรให้ดี หรือต้องเขียนตำรา คุณจะเขียนอย่างไรให้มันออกมาดี ไม่ใช่จะไม่ทำท่าเดียว
“การที่คุณนำความรู้เรื่องทักษะปฏิบัติมาเขียนเป็นตำรา มันเป็นประโยชน์ต่อไปในวงกว้างเลยนะ เพราะถ้าผู้อ่านเขาไม่ได้เจอตัวคุณ แต่เขาอ่านตำราเขาก็ได้อะไรไปมาก แล้วถ้าวันหนึ่งเขาได้มาเรียนกับคุณจริงๆ ความรู้ความเข้าใจมันก็จะเพิ่มพูนขึ้นไปอีก
“แต่ถ้าจะบอกว่า ไม่เขียน ไม่ทำ มาเรียนกับชั้นก็แล้วกัน ลองคิดดูถ้าคุณตายไป วิชาความรู้ของคุณก็จะตายตามไปด้วย สมมุตผมเป็นคนแรกที่เรียนเรื่องโคดาย แต่ผมไม่เขียนหนังสือ มันก็จบ เพราะจะไม่มีใครรู้เลยว่าโคดายคือใคร โคดายเคยทำอะไร เป็นต้น”
(จากวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔)