สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง (๕)

สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว
คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง
(๕)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง

(๔)
รอนแรมเรียนปี่พาทย์

ครูเท สุขนันข์

ฝนตกเมื่อไหร่ไม่ทันตั้งตัว ครูอ่วนดีดลุกจากโซฟาตรงไปปิดประตูและหน้าต่างด้วยท่าทีกระฉับกระเฉง เพราะฝนเม็ดใหญ่กำลังสาดเข้าบ้านอย่างหนักหน่วง ส่วนผมได้แต่เอื้อมมือไปเปิดสวิตซ์ไฟที่อยู่ไม่ห่างอย่างเดาสุ่ม เปิดผิดๆ ถูกๆ จนครบปุ่ม สุดท้ายไฟในบ้านก็สว่าง

ผมนั่งคิดเล่นๆ ระหว่างรอครูจัดการเรื่องในบ้านว่า สำหรับคนอายุวัยเยียบเลขแปดอย่างท่าน โดยส่วนใหญ่ประสาทการรับรู้มักเสื่อมลง โดยเฉพาะหูและตา ความทรงจำมีอันต้องถดถอยจนกระทั่งปลายทางคือความหลงลืม ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทั้งกิน เดิน นั่ง หรือแม้กระทั่งระบบขับถ่ายที่ไม่อาจบังคับได้ ฯลฯ

แต่สำหรับครูอ่วน ครูยังเดินเหินด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาไม้เท้าหรือคนพยุง สายตาและหูทั้งสองข้างยังทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความทรงจำที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต

ยิ่งประสบการณ์ดนตรีที่ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปพำนักและร่ำเรียนดนตรีปี่พาทย์จากครูเท สุขนันข์ ด้วยแล้ว ยิ่งแจ่มชัดและมั่นคง

ครูเท สุขนันข์ ที่ครูอ่วนเอ่ยถึง คือใคร

หลังเสร็จกิจธุระ ครูอ่วนให้ข้อมูลที่น่าสนใจแก่ผมว่า ครูเท สุขนันข์ เป็นโต้โผและครูใหญ่ทางดนตรีปี่พาทย์คนหนึ่งของอัมพวา มีที่พำนักอยู่แถววัดปากน้ำ ย่านปากแม่น้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ครูเทเรียนดนตรีและฆ้องวงใหญ่ร่วมรุ่นกับนายรวบ นายยิ้ม นายเล็กด้วน (แขนขาหนึ่งโดนฟันเพราะเมาแล้วระรานชาวบ้าน) นายพัน นายสอน (สามคนแรกเป็นคนระนาดเอก ส่วนสองคนหลังเป็นคนเครื่องหนัง) ทั้งหมดเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ครูปาน นิลวงศ์

ครูเทเป็นบุตรลำดับที่ ๔ ของนายจันทร์ (ไม่สามารถสืบค้นชื่อมารดาได้) ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๕ คน คือ นางเฟื้อ นายผาด นางเซ็ก ครูเท นายสวัสดิ์ (มีความสามารถด้านแตรวงและปี่พาทย์)

นายจันทร์พ่อครูเท ภายหลังบวชเป็นสมภารวัดปากน้ำ ไม่มีความรู้เรื่องดนตรี แต่สามารถสร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้ทั้งวง ปรากฏฝีมือเป็นเครื่องปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ๑ สำรับ สลักปีที่สร้าง พ.ศ. ๒๔๗๐ พร้อมกลองทัดขุดมือ ๖ คู่ นอกจากนี้ยังมีฝีมือสร้างเมรุลอยที่มักสร้างประชันขันแข่งกับวัดบางกระพ้อมอยู่เสมอ

ชีวิตครอบครัว ครูเทสมรสกับนางลิ้ม กาญจนประดิษฐ์ มีบุตรธิดา ๕ คน คือ นางมณฑา นางประทิณ นางประเทือง นายธวัช นางรุ่งทิพย์

“ตอนนั้นครูอายุ ๑๔ ปี ส่วนครูเทอายุประมาณ ๖๐ ปี ท่านให้ครูเรียกท่านว่าเตี่ยเท เตี่ยเทเกิดปีเดียวกับพ่อรวม พรหมบุรี แต่แก่กว่า ๑ รอบ นิสัยดี ใจกว้าง เสียงดัง ไว้หนวดยาว ไปไหนมาไหนมีแต่คนนับถือยำเกรง เพราะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ถ้าใครไม่รู้จักจะกลัวทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ยังมีรูปอยู่ที่บ้านท่าน ถ่ายที่งานโรงเลื่อยเพชรรัตน์ นั่งบนเรือสองชั้น เท่ชะมัด

“บ้านเตี่ยเทใหญ่มาก กระดานไม้แดงนี่เรียบเลย หลังใหญ่ไม่มีใครอยู่ มีฝากั้นแบ่งออกเป็น ๒ ห้อง มีเฉลียงยื่นออกไปหน่อย มีหลังกลางหนึ่งหลัง หอเครื่องดนตรีอยู่ริมน้ำ พื้นเตี้ยกว่าเพื่อน เรือกสวนอีกหลายขนัด

“ครูเป็นศิษย์รุ่นสุดท้อง ไปเรียนอยู่คนเดียว เตี่ยเทเริ่มต่อเพลงเสมอทางฆ้องวงใหญ่ เพราะเป็นเพลงแรกในชุดโหมเช้า ต่างจากปัจจุบัน เพราะที่อัมพวา สมัยก่อนปี่พาทย์จะตีเพลงเสมอ รัวลาเดียว เชิด ๒ ชั้น เชิดชั้นเดียว กลม ชำนาญ กราวใน ชุบ ลงลา นี่โหมเช้าแบบโบราณ เตี่ยไม่เคยนั่งต่อตัวต่อตัวหรอก อาศัยนอยปากเอา

“ต่อถึงเพลงชำนาญ เตี่ยถามพ่อว่า ‘พี่ๆ มันเคยเรียนหรือเปล่า’ พ่อตอบว่า ‘ได้แต่ตีระนาดอยู่ที่บ้าน’ ‘ทำไมมันต่อเร็วจริง ตีไม่ผิดด้วย’ ต่อได้สักพัก พ่อก็ให้กลับบ้านพร้อมกับเขา ก่อนกลับเตี่ยสั่งว่า ‘คราวหน้าให้เอาเรือเล็กมาเอง คิดถึงบ้านจะได้พายกลับ’ ครูเพิ่งรู้ทีหลังว่าพ่อต่อเรือบดเตรียมไว้แล้ว หัวแหลมท้ายแหลม นั่งได้คนเดียว” ครูอ่วนกล่าว

ด้วยความสัมพันธ์เกลอเก่าระหว่างครูเทกับพ่อเชื่อม ครูอ่วนจึงได้การรับรองความเป็นศิษย์จากครูเทอย่างที่หวังใจ ทั้งยังได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปถึง หลังจากนั้นเป็นต้นมา ครูอ่วนปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านครูเทเสมือนบ้านหลังที่สองของตน

สำหรับกิจวัตรประจำวันเมื่อครั้งครูอ่วนพำนักบ้านครูเท นอกจากต่อเพลงดนตรีที่ครูอ่วนมักจดชื่อเพลงที่ฝากั้นห้องทุกครั้งเมื่อต่อจบตามคำแนะนำของผู้เป็นครู ช่วงเช้าจรดบ่ายครูอ่วนยังช่วยแม่ลิ้มทำสวนมะพร้าวและงานบ้านอีกตามสมควร

ในห้วงเวลาไม่นานนัก ครูอ่วนจึงเป็นที่รักและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสุขนันข์ โดยเฉพาะครูเทและแม่ลิ้มที่มอบความรักแก่ศิษย์คนนี้ประดุจบุตรคนหนึ่ง

“บ้านเตี่ยเทสอนให้เป่าแตรวงด้วยนะ คนสอนชื่อครูแหล่น ครูจากวัดคริสเตียน บางนกแขวก เข้ามาปรับวงให้ศิษย์รุ่นใหญ่ ครูถึงเล่นได้ทั้งปี่พาทย์และแตรวง ตีระนาดด้วย เป่าปี่ดำ (คลาลิเน็ต) ด้วย คนปี่พาทย์เก่าๆ ลูกวงเตี่ยเททำงานได้สองอย่างทั้งนั้น ไม่ต้องใช้คนมาก

“พูดถึงฝีมือของเตี่ย มือท่านโขยกทั้งฆ้องทั้งระนาด เดี่ยวฆ้องได้ แต่ไม่ค่อยชำนาญ ตีได้และแม่นเพลง ส่วนใหญ่ตีแขกมอญ พญาโศก เพลงหน้าพาทย์ไม่เคยเห็นท่านตี เพราะแถวนั้นไม่มีใครไหว้ครูดนตรีเลย บ้านเตี่ยก็ไม่เคยไหว้

“เตี่ยได้เพลงจากปู่ปานเอาไว้เยอะ เพลงเก่าๆ ก็งัดขึ้นมาต่อให้ เป็นร้อยเพลงที่ครูได้จากท่าน ‘เอ็งเอาไปเถอะ ไม่ได้กันหรอก’”

เมื่อครูอ่วนเล่าถึงตรงนี้ ผมขัดจังหวะด้วยประเด็นคำถามเรื่องครูปาน นิลวงศ์ ที่ครูเรียกขานว่า “ปู่ปาน” ครูตอบทันควันว่า “ครูเคยพบท่านครั้งหนึ่งที่บ้านเตี่ยเท”

พร้อมเล่าต่อไปอย่างประทับใจว่า “ท่านมาหาเตี่ยที่บ้าน ลูกสาวท่านพายเรือมาส่ง รุ่นราวคราวทวดแล้ว อายุประมาณ ๘๐ – ๙๐ ปี ผอม ขาว หูไม่ค่อยได้ยิน ครูกำลังนั่งตีฆ้อง มาถึงท่านก็นอนพัก บ่นว่าเมื่อย ท่านถามเตี่ยว่า ‘มีเด็กๆ บ้างไหม’ เตี่ยถามว่า ‘ครูจะธุระอะไร’ ‘ข้าจะให้มันมาทุบตัวกู’ เด็กก็ทุบตามแขนขา ทุบตามจังหวะที่ครูตีฆ้องนั่นแหละ ครูยังบอกว่า อย่าไปทุบแรง เพราะมีแต่กระดูก”

ผมขอแทรกข้อมูลเรื่องครูปาน นิลวงศ์ ตรงนี้สักน้อยหนึ่ง ก่อนจะเล่าประสบการณ์ดนตรีของครูอ่วนต่อไป ครูปาน นิลวงศ์ท่านนี้ ในหนังสือสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บันทึกว่า

“บุตรนายเป๋ากับนางบ๊วย ชาวสมุทรสงคราม บิดาเป็นนักดนตรี นายปาน นิลวงศ์ เป็นนักดนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหัวหน้าวงวังบางขุนพรหมวงแรก เนื่องจากเมื่อจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต มาประทับที่วังบางขุนพรหมนั้น มีพระประสงค์ให้มีวงปี่พาทย์ประจำวัง จึงทรงใช้วงของตระกูลนิลวงศ์”

ระนาดลิเก

สังคมดนตรีไทยมีคำคำหนึ่งใช้กล่าวเสียดสีเชิงดูถูกเย้ยหยัน สำหรับคนระนาดที่มีทางหรือลักษณะการบรรเลงผิดแปลกจากขนบ? ว่า “ระนาดลิเก”

ถ้าผมกล่าวอย่างนี้ผู้อ่านอาจสงสัย ในเมื่อ ระนาดลิเก เป็นคำกล่าวเชิงลบ แต่ทำไมถึงตั้งหัวเรื่องด้วยคำนี้

ผมไม่มีเจตนากล่าวร้ายครูอ่วน หนูแก้ว ว่าทางบรรเลงท่านเป็นระนาดลิเกดอกนะครับ

แต่ที่จงใจใช้คำนี้ เพราะช่วงชีวิตหนึ่งท่านเป็นคนระนาดบรรเลงประกอบลิเกและละครชาตรีมาก่อน เรียกว่าคลุกคลีตีโมงกับศิลปินนักฟ้อนนักรำในอัมพวาและใกล้เคียงไม่เคยขาด จึงมีประสบการณ์ด้านนี้อยู่ไม่น้อยและน่าสนใจ

โดยเฉพาะคนระนาดลิเกสมัยก่อนต้องมีไหวพริบปฏิภาณฉับไวรู้เท่าทันนักแสดง และที่สำคัญต้องมีเพลงเป็นทุนในคลังสมองจำนวนมาก เหตุเพราะเมื่อลิเกหรือละครร้องทำนองเพลงแล้วปี่พาทย์บรรเลงรับไม่ได้ หรือที่เรียกว่า “จน” พลาดท่าเสียทีจะเป็นที่อับอายแก่คนดูและหมู่ศิลปินด้วยค่าที่เรียนมาน้อย
ฉะนั้นจึงจะดูถูกระนาดลิเกไม่ได้

ครูอ่วนร่ำเรียนปี่พาทย์จากครูเทตั้งแต่อายุ ๑๔ ถึง ๑๗ ปี รวมระยะเวลา ๓ ปีเต็มที่ได้รับการถ่ายทอดเพลงดนตรี ซึมซับวิถีชีวิตนักดนตรีอาชีพ ทั้งยังได้ร่วมบรรเลงกับศิษย์อาวุโสของครูเทอีกหลายท่าน ทั้งนายโหมด คนปี่ นายส่ง นายแก้ว คนระนาด นายพลับ คนฆ้องวงใหญ่ นายธน คนฆ้องวงเล็ก และนายรวม แก้วอ่อน หรือที่ครูอ่วนเรียก พ่อรวมล่าง (พ่อรวมบน คือ ครูรวม พรหมบุรี ราชบุรี)

“ระยะหลังครูออกงานกับเตี่ยเทมากขึ้น เตี่ยคงเห็นว่าไอ้นี่เริ่มเข้าท่า น่าจะตีระนาดได้ เตี่ยบอกว่า ‘เอ็งต้องไล่ระนาดบ้างแล้วนะ’ ครูตอบไปว่า ‘ผมจะตีเพลงอะไรล่ะครับ’ ‘แล้วข้าจะต่อให้’ จากนั้นเตี่ยต่อมู่ล่งทางระนาดให้ไล่มือ ครูตื่นไล่ระนาดตั้งแต่ตี ๔ ตอนนั้นเตี่ยสั่งให้ทำอะไรครูทำตามทั้งหมด

“เตี่ยฉลาดนะ ท่านใช้ให้ครูตีระนาดลิเก ละคร เพลงพวกนี้เขาไม่สอนกันหรอก ออกงานบ่อยๆ ก็ตีได้ ‘เตี่ยตีฆ้องให้ เอ็งไม่ต้องกลัวจน’ สมัยนั้นมีงานประจำปีที่วัดปากน้ำ กลางเดือน ๓ มีงาน ๓ วัน ๒ คืน มีหนัง มีลิเก มีเพลงบางหวาย เพลงบางหวายก็เพลงฉ่อยนี่แหละ แต่คนเล่นอยู่บางหวายเลยเรียกเพลงบางหวาย มีละครชาตรีด้วย

“เจ้าของคณะละครชื่อครูมานพ เป็นครูรุ่นใหญ่ รุ่นน้องเตี่ยเท ท่านเรียนมาจากแม่ ลูกหลานเป็นละครทั้งบ้าน ส่วนลิเกมีคณะไพฑูรย์ บันเทิง แสดงเป็นตัวโกง เมียเป็นนางเอก ละแวกนั้นเป็นลูกศิษย์เขาทั้งนั้น

“อายุ ๑๕ ถึง ๑๖ นี่ออกงานสบายแล้ว ช่วงเดือน ๔ เดือน ๕ หน้าแล้งงานชุกมาก มีแต่งานลิเก ถ้าเล่นวิก ต้องโหมตั้งแต่ ๑ ทุ่ม สมัยก่อนวิกลิเกมีประกวดใบไม้ยาวด้วย ลิเกเล่นได้ครึ่งหนึ่งก็หยุดพัก คั่นด้วยประกวดใบไม้ ลิเกเขาจะประกาศว่า คืนนี้จะประกวดใบไม้อะไร ชาวบ้านก็ไปหากันมา ใบไม้ใครยาวที่สุดก็ชนะ รางวัลน้ำมันก๊าด ๑ ปีบ”

ครูอ่วนถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องลิเกเพิ่มเติมอีกว่า สมัยก่อนการแต่งตัวของลิเก ถ้าเป็นผู้ชายจะใส่เสื้อคอจีนแขนสั้นไม่จำกัดสีทับใน ด้านนอกใส่เสื้อกั๊กปักลาย ศีรษะคาดผ้าโพกประดับเพชรกระจกและเสียบดอกเลาที่ด้านหลัง ช่วงล่างนุ่งผ้าม่วงยกกลีบ และใส่ถุงเท้าขาวถึงหน้าแข้ง

ตัวนางใส่เสื้อรัดรูปแขนกระบอก แขนสั้นหรือแขนยาวไม่จำกัดสี นุ่งผ้าถุงสีธรรมดาแบบชาวบ้าน บางคนพาดสไบเฉียงห้อยข้าง ตัวเจ้ามักใส่ชฎายอดแหลมห้อยดอกไม้ นุ่งผ้าพื้นปักลายด้วยด้ายสีเงินสีทองหรือที่ครูอ่วนเรียก “ผ้าปุม” พร้อมคล้องสังวาล

ตัวพระเอกสมัยนั้นที่ขึ้นชื่อลือชา ชื่อสมาน บ้านอยู่ปากท่อ ราชบุรี ผิวพรรณดำคล่ำ แต่แต่งตัวลิเกขึ้นและแสดงบทบาทดีคนจึงติด จับคู่กับนางเอกชื่อทองดี บ้านอยู่แถววัดราชคาม ราชบุรี ผิวขาวรูปร่างท้วม เสียงเพราะและแสดงดีมีระดับ

ตลกตัวดังชื่อวิเชียร ชื่อเล่นนายเปีย บ้านอยู่แถววัดปากน้ำ ใกล้บ้านครูเท สุขนันข์ เพียงแค่แง้มฉากออกโรงไม่ทันแสดงคนดูก็หัวร่องอหาย เพราะแต่งหน้าทำตาบิดเบี้ยว เขียนคิวแหลมขึ้นเป็นหน้าจั่ว ตัวโกงชื่อไพฑูรย์ บันเทิง คนนี้เป็นหลานครูเท นอกจากแสดงแล้วยังเปิดวิกและเป็นเจ้าของคณะลิเกอีกด้วย

โรงลิเกสมัยก่อนเจ้าภาพจะปลูกเตรียมไว้ให้เสร็จ ถ้าแสดงที่วัดมักแสดงบนศาลาการเปรียญ กลางโรงลิเกจะตั้งเตียงตั่งสำหรับแสดง ด้านหลังขึงฉากวาดภาพรโหฐานเต็มเวที คณะใหญ่มักมีฉากเหลือบห้อยสองข้างโรงลิเก เวลาตัวลิเกจะออกโรงจะออกที่ฉากเหลือบหรือฉากผ้าขนาดเล็กนี้ เดิมโรงลิเกปลูกเฉพาะพอแสดงได้ ต่างจากปัจจุบันที่ครูอ่วนบอกว่าปลูกใหญ่อย่างกับโรงโขน

“สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์ ชาวบ้านเขาว่างงานก็มาดูลิเก งานปีหนึ่งๆ จะมีงานสลากภัตร แต่งงาน โกนเปียโกนจุก เงินทองเขาพอใช้ก็จะมีลิเก ถ้าปิดวิกเสียสตางค์คนละ ๓ บาท เจ้าของวิกส่วนใหญ่เป็นคนแถวนั้น ครูจำชื่อไม่ได้ เป็นคนจีนฐานะดี มีห้องแถวอยู่ในตลาด

“วันไหนปิดวิก ครูต้องไปแห่ป้ายโฆษณา ประกาศว่าคืนนี้จะเล่นเรื่องอะไร แห่ทุกวัน พอบ่าย ๓ โมงเรือจ้างจะมารับ ครูก็ขนระนาดกับกลองทัดอีกลูก ครูตีระนาด เด็กๆ ตีกลองทัด ประกาศว่าคืนนี้จะเล่นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เข้าคลองเล็กคลองน้อย ถึงบ้านอาแย้ง (นายแย้ง ทางมีศรี) โน้น สมัยก่อนสนุกมาก

“ส่วนใหญ่ลิเกจะเล่นเรื่องชาวบ้านท้องถิ่น เขาจะเตรียมเรื่องตั้งแต่อยู่ในโรง สมัยครูทำปี่พาทย์มีอยู่หนึ่งคน ชื่อตาแคล้ว คนกรุงเทพฯ ต้องยกให้แกเลย เพราะเตรียมเรื่องดี ก่อนออกแสดงเขาจะเล่าเรื่องให้ลิเกทุกตัวฟัง ตัวนั้นเล่นอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนทำนองร้องกับบทเจรจาไปด้นเอาหน้าโรง ถ้าจะตบรางวัลก็ยื่นเงินให้เลย ไม่มีการคล้องพวงมาลัย

“รับส่งปี่พาทย์บางทีก็จน แต่เตี่ยเทได้เพลงหมดแหละ ครูอาศัยตีตามท่านเอา บางทีลิเกร้องผิด เตี่ยว่า ‘อย่าเพิ่งไปรับมัน อย่าไปช่วย เดี๋ยวต้องไปว่า’ ก็ว่ากันหน้าโรงเลย ‘มึงร้องขาด กูจะไปรับมึงยังไง’ น่าดู แต่ว่าไม่ทะเลาะนะ เพราะเตี่ยเป็นครูรุ่นใหญ่ ใครก็เกรง”

ครูอ่วนเล่าเรื่องค่าแรงทำปี่พาทย์ลิเกเป็นการปิดท้ายว่า “ถ้าไปทำงานบวชสี่เวลาได้ ๘๐ บาท สมัยก่อนซื้อเสื้อใส่ได้แล้วนะ หนึ่งวันก็หนึ่งเวลา งานโบราณเขาจะตั้ง ๒ วัน ๒ คืน มีสุกดิบน้อย สุกดิบใหญ่ สุกดิบน้อยก็ทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ พวกทองหยิบทองหยอด เพราะใช้เวลามาก

“ครูไม่เคยขอสตางค์พ่อแม่เลยนะ ทำงานได้ก็เก็บ ไปอยู่ครั้งแรกได้ ๕ บาท ตีระนาดได้ ๑๐ บาท ตอนหลังขึ้น ๑๕ และ ๒๐ บาท เตี่ยเทเป็นคนจ่าย วิกหนึ่งได้ไม่เท่าไหร่หรอก แต่ทำทุกคืน เวลาให้สตางค์ท่านจะบอกว่า ‘ให้ค่าขนมเอ็งนะ ค่าตัวเอ็งยังไม่มีหรอก’ เพราะกลัวเราจะเหลิง”

(ต้นฉบับจบเเค่นี้ เพราะยังไม่ได้เขียนต่อ)

รุ่งทิพย์ สุขนันข์ บุตรีครูเท สุขนันข์

รุ่งทิพย์ สุขนันข์ บุตรีครูเท สุขนันข์

เพลงเขมรน้อย ต้นฉบับลายมือครูอ่วน หนูเเก้ว เพลงที่ครูได้รับถ่ายทอดจากครูเท สุขนันข์

เพลงเขมรน้อย ต้นฉบับลายมือครูอ่วน หนูเเก้ว เพลงที่ครูได้รับถ่ายทอดจากครูเท สุขนันข์

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *