สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง (๓)

สารคดีชีวิตและผลงาน ครูอ่วน หนูแก้ว
คนดนตรีลุ่มน้ำแม่กลอง
(๓)
พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง

(๒)
เครือญาติชาติกำเนิด

ลูกหลานชาวสวน

ย้อนเวลากลับไป ๘๐ ปี บ้านหมู่ ๔ ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้คนแถบนี้ยึดอาชีพชาวสวนเป็นหลัก ไม่ว่าจะมองไปทางไหนล้วนอุดมไปด้วยพืชพันธุ์เขียวชอุ่ม โดยเฉพาะมะพร้าว ตาล และหมาก ที่นิยมปลูกมากในแถบนี้

อาณาบริเวณนี้เอง ณ สวนมะพร้าวหลายขนัดริมคลองเขาควาย คลองเกร็ดที่แพรกตัวจากคลองกลางและคลองบางน้อย คือที่ตั้งครอบครัว “คงสมุทร”

ครอบครัวคงสมุทร รกรากบรรพบุรุษเป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่ เรือนที่พักปลูกติดริมคลองเขาควาย เป็นเรือนล่องถุนสูงสองหลังใหญ่มีนอกชานแล่นกลางและมีเฉลียงยื่นออกจากตัวเรือนทั้งสองข้าง ปลูกสร้างด้วยไม้แดงอย่างดี ในสมัยที่เสาไม้แดงต้นละ ๑๐๐ บาท กลมกลึงอย่างเล่มเทียน ล่องถุนเป็นที่พักน้ำฝนที่บรรจุในตุ่มตั้งเรียงราย และเป็นที่ตั้งเตาใหญ่สำหรับเคี่ยวตาล

ครูอ่วนเปิดเผยว่า เรือนหลังนี้คือเรือนเกิดของท่าน

“คลองเขาควายมันแพรกจากคลองกลางอีกที มันเข้ามาช่องเดียวกันจากคลองบางน้อย แพรกออกเป็นสามสาย มีคลองกระดังงา คลองกลาง คลองเขาควาย ขนาดคลองไม่ใหญ่หรอก พอดีเรือพายไปมาได้สะดวก

“ช่วงเย็นๆ จะมีเจ๊กพายเรือมาขายหมูเป็นประจำ พายมาจากวัดคริสเตียน บางนกแขวก เป่าเขาควายดังปู๊นๆ ชาวบ้านแถวนั้นรู้แล้วว่าหมูมา ขายขีดละ ๒ บาท หรือไม่ก็มีเรือมาขายกับข้าว ปลานึ่งมะดันบางทีเขาทำมาเสร็จ อร่อยนัก แต่ก่อนนั้นใช้ถุงกระดาษ หรือไม่ก็ห่อใบตอง ถ้าซื้อปลาทูต้องเอาชามไปใส่

“บ้านสมัยก่อนไม่มีรั้วหรอก แต่ละหลังเดินถึงกันได้หมด เพราะเป็นญาติกันทั้งนั้น ไปไหนมาไหนใช้วิธีเดิน เวลาจะไปตัวเมืองแม่กลองต้องไปเรือไฟหรือเรือเเท็กซี่ที่วิ่งผ่านคลองบางน้อย เวลากลับก็เหมือนกัน” ครูอ่วนกล่าวพลางทอดสายตาผ่านช่องหน้าต่างไปยังถนนหน้าบ้าน

สมาชิกครอบครัวคงสมุทรในห้วงเวลานั้น ประกอบด้วยตาแฉ่ง ยายผัน สองสามีภรรยาผู้เป็นเจ้าของเรือนและเจ้าของสวนมะพร้าว และเป็นตายายแท้ๆ ของครูอ่วน นางคำ นางสาวลออ นางสาวจีบ นายศรี นายสู และนายสา ลูกๆ ทั้งหกของตาแฉ่งและยายผัน นอกจากนี้ยังมีหลานๆ อีกจำนวนหนึ่ง

ครูอ่วน หนูแก้ว เกิดปีชวด วันเสาร์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนเจ็ดคนของพ่อเชื่อม หนูแก้ว และแม่คำ คงสมุทร พ่อเชื่อมหลังจากแต่งงานได้ย้ายตนเองมาอยู่กับแม่คำที่เรือนหลังนี้ ทั้งหมดอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขภายใต้ชายคาเดียวกัน

พ่อเชื่อม แม่คำ

หลังเล่าย้อนบรรยากาศเก่าๆ ที่เกิดขึ้นที่เรือนริมคลองเขาควาย ครูอ่วนเว้นวรรคบทสนทนา แล้วลุกเดินขึ้นบันไดหายไปบนบ้านครู่ใหญ่ ก่อนกลับมาพร้อมรูปเก่าขาวดำในกรอบไม้สีเหลืองอ่อนติดมือลงมาด้วย ครูยื่นภาพนั้นให้ผมพลางชี้ชวนให้ดูบุคคลที่อยู่ในภาพ

“คนนี้คือพ่อเชื่อม หนูแก้ว” ครูอ่วนบอกแก่ผม

รูปภาพที่ครูนำมาอวด เป็นภาพบรรยากาศงานอุปสมบทนายสะอาด หนูแก้ว ภายในศาลาการเปรียญ วัดบางคลที อัพวา สมุทรสงคราม ในภาพ พ่อเชื่อม หนูแก้ว นั่งให้ช่างถ่ายภาพร่วมกับแม่คำ หนูแก้ว ภรรยา และนาคสะอาด หนูแก้ว ลูกคนสุดท้อง ทั้งสามนั่งบนเสื่อโดยมีเครื่องอัฐบริขารและดอกไม้ประดับเป็นพื้นหลัง

ครูอ่วนนั่งโซฟาสีแดงตัวเดิมอีกครั้ง ค่อยๆ เอนหลังชิดพนักพิงพร้อมเท้าแขนอย่างสบายอารมณ์ ก่อนจะเผยให้ฟังว่า “พ่อเชื่อมเป็นชาวสวน เป็นช่างไม้ช่างจักสาน จักสานทำได้ตั้งแต่หนุ่มๆ สมัยยังอยู่กับปู่กับย่า คือ ปู่นาค ย่าฉาบ

“พ่อสานกระบุง ตระกล้า ขะนาดวิดน้ำ ทำส่งขายร้านในอำเภอดำเนินสะดวก ตรงปากคลองก่อไผ่ บรรทุกไปเต็มลำเรือทุกครั้ง มีเท่าไหร่เขารับหมด

“ใครมาจ้างทำบายศรีใบตอง บายศรีกระดาษ สร้างบ้าน ต่อเรือแกก็ทำ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นช่างชาวบ้าน เรือแปะเรือบดทำได้หมด ฝีมือปลูกเรือนไทยยังอยู่หลายหลัง พ่อหาเงินตัวเป็นเกลียว เพราะลูกยังเล็กหลายคน”

ในแต่ละวัน หลังเหน็ดเหนื่อยจากงานช่าง พ่อเชื่อมมักใช้เวลาที่เหลือช่วงเย็นถึงค่ำหมดไปกับการเล่นดนตรีไทยที่ท่านรัก ไม่ว่าจะตีระนาดเอก สีซอด้วง หรือเป่าขลุ่ย สับเปลี่ยนไปตามอารมณ์อย่างทั่วถึง ไม่ให้เครื่องดนตรีชิ้นไหนต้องน้อยเนื้อต่ำใจ

พ่อเชื่อมเล่นดนตรีไทยเพื่อความบันเทิงใจอยู่ที่เรือนเท่านั้น ไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหรือเล่นรวมวงกับใคร แต่ทว่าท่านก็รู้จักมักจี่กับนักดนตรีมืออาชีพในย่านนั้นอยู่ไม่น้อย อาทิ ครูเท สุขนันข์ โต้โผและครูปี่พาทย์ย่านวัดปากน้ำ อัมพวา ที่เป็นเกลอกับท่านมาตั้งแต่ครั้งยังหนุ่ม

“เย็นๆ ก็จะสีซอให้ลูกฟัง พ่อชอบเล่นซอด้วงมาก แต่ถนัดซ้าย ตีระนาดเอกด้วย แกเหลาผืนระนาดเอกไว้ตั้งแต่ครูยังไม่เกิด เหลาไว้ ๒ ผืน ผืนใหญ่หนึ่งผืน ผืนเล็กสำหรับเล่นมโหรีหนึ่งผืน ลูกเล็กนิดเดียว ต่อรางเอาไว้ ๒ ราง ซออู้ซอด้วงก็ทำเอง

“ตอนนั้นครูอายุประมาณ ๓-๔ ขวบ พอเริ่มจะฟังดนตรีและตีจังหวะได้แล้ว ก็อยากจะเล่นได้บ้าง ครูเอาหย่องเชียรหมากแต่งงานของแม่คำ หย่องที่ใส่ยาฉุนนี่แหละ ทำด้วยทองเหลืองสองฝาประกบ เวลาตีมันดังเหมือนฉิ่ง เอามาตีจังหวะ เล่นกันสองคนพ่อลูก

“ไม่เคยถามเหมือนกันว่าแกเรียนดนตรีมาจากใคร เกินจะคาดเดา โน้ตซอสมัยโบราณแกสามารถอ่านและเขียนได้ ทุกวันนี้ครูยังเก็บสมุดโน้ตที่แกจดเพลงไทยเอาไว้เลย มีอยู่หนึ่งเล่ม ครูเอามานั่งดูนั่งอ่าน สำเนียงเก่าๆ ของเขาเพราะนะ เข้าท่า”

สมุดโน้ตเพลงไทยต้นฉบับลายมือเขียนของพ่อเชื่อมที่ครูอ่วนกล่าวถึง ถือเป็นสมบัติส่วนตัวที่ครูอ่วนหวงแหนและทะนุถนอมมากที่สุด เพราะเป็นของรักของหวงนอกเหนือจากเครื่องดนตรีบางชิ้นที่พ่อเชื่อมมอบให้ครูอ่วนเก็บรักษา

เป็นสมุดโน้ตเก่าอายุกว่า ๗๐ ปี ที่ดัดแปลงจากสมุดบันทึกนักเรียนในสมัยนั้น ปกพิมพ์ลายเส้นรูปกนกอย่างไทยๆ บนพื้นสีฟ้าอมเขียว

เมื่อเปิดออก ปรากฏโน้ตตัวเลขสองบรรทัดลายมือเขียนด้วยดินสออย่างประณีต สะท้อนความตั้งใจของผู้บันทึกเป็นอย่างดี

รายชื่อเพลงที่พ่อเชื่อมบันทึก ได้แก่ ขึ้นนาคเกี้ยว ขึ้นเขมรปี่แก้ว ขึ้นลมพัดชายเขา ขึ้นแขกไทร ขึ้นไอยเรศ ขึ้นครอบจักรวาล ออกม้าย่อง ขึ้นสารถี ขึ้นสุดสงวน และขึ้นนางครวญ

น่าสังเกตว่า ชื่อเพลงทุกเพลงที่ปรากฏอยู่ในสมุดเล่มนี้จะมีคำว่า “ขึ้น” นำหน้า ถามที่มาที่ไปในเรื่องนี้ ครูอ่วนตั้งข้อสันนิษฐานว่า เหตุที่มีคำว่า “ขึ้น” นำหน้าชื่อเพลง อาจเป็นการเขียนแบบเก่าของคนในสมัยนั้นก็เป็นได้

แต่ครูก็ไม่มั่นใจต่อข้อสันนิษฐานนี้นัก

ครูอ่วนร่ายยาวถึงเรื่องพ่อเชื่อมจนสุดทาง พ่อเชื่อมเสียชีวิตด้วยโรคกระเพาะเรื้อรัง สิริอายุ ๙๓ ปี ผมจึงเปลี่ยนประเด็นคำถามไปที่เรื่องแม่คำ ครูอ่วนให้ข้อมูลแต่เพียงว่า แม่คำเป็นคนรูปร่างสมน้ำสมเนื้อ เป็นพี่สาวคนโตจึงต้องทำงานหนักกว่าใครๆ เช้าออกไปทำสวนตกเย็นจึงกลับ ขึ้นมะพร้าวขึ้นตาลอย่างคล่องแคล่ว แม่คำทำสวนจนเก็บเงินซื้อสวนจากพ่อของท่านได้ ๑ ไร่ เสียชีวิตอายุ ๙๒ ปี เพราะนอนหลับไปเฉยๆ

ภาพถ่ายที่ครูอ่วน หนูเเก้ว นำมาอวดผม

ภาพถ่ายที่ครูอ่วน หนูเเก้ว นำมาอวดผม

หน้าปกสมุดเขียนโน้ตนายเชื่อม หนูเเก้ว

หน้าปกสมุดเขียนโน้ตนายเชื่อม หนูเเก้ว

ภายใน ข้อความเขียนว่า "ทีนี้ขึ้นเเขกไทรสามชั้น"

ภายใน ข้อความเขียนว่า “ทีนี้ขึ้นเเขกไทรสามชั้น”

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *