จุดเริ่มต้นชีวิตดนตรี
ของครูขำคม พรประสิทธิ์
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
“คิดว่าความโชคดีน่าจะเกิดจากเรามีคุณพ่อที่มีระเบียบเป็นจุดเริ่มต้น คุณพ่อของครูเป็นคนเพชรบุรี เป็นคนเข้มงวด พูดคำไหนคำนั้น ต้องรักษาคำพูด พูดแล้วต้องทำให้ได้ ต้องต่อสู้ จะเหลวไหลไม่ได้ จะโดนตี เป็นคนที่ปลูกฝังระเบียบวินัยต่างๆ ให้ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว คุณพ่อจะให้ลูกทุกคนตื่นขึ้นมาอ่านหนังสือตั้งแต่ตี ๕ ทุกวัน คิดว่าจุดแรกคือคุณพ่อ”
ถ้อยคำที่เผยเบื้องหลังอันเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในชีวิตปัจจุบัน ของ ครูขำคม พรประสิทธิ์ หรือที่นิสิตนักศึกษาและคนในวงการดนตรีไทยเรียกอย่างติดปากว่า ครูน้อง ผู้หญิงเก่งที่รับบทบาททั้งนักวิชาการ นักวิจัย นักดนตรี และครูผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีไทย
ครูขำคม พรประสิทธิ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๒ เกิดแต่นายสมปองและนางลักขณา พรประสิทธิ์ (สกุลเดิม สว่างศรี) บิดาเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี ส่วนมารดาเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน คือ ๑.นายพัสกร พรประสิทธิ์ ๒.นางสาวขำคม พรประสิทธิ์ ๓.นางสาวชงโค พรประสิทธิ์ ๔.นายปุณณลักขณ์ พรประสิทธิ์
วัยเด็ก เนื่องจากบิดารับราชการในกรมชลประทาน ครูขำคมจึงมีความจำเป็นต้องย้ายตามครอบครัวไปตามจังหวัดต่างๆ จนกระทั่งเมื่อเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ บิดาจึงตัดสินใจโอนย้ายมาประจำการที่จังหวัดนนทบุรีเป็นการถาวร
ครูขำคมเล่าย้อนความหลังถึงช่วงวัยเยาว์ว่า “ตอนเด็กๆ คุณแม่ของครูจะสอนให้อ่านหนังสือเอง พอเราไปสอบเข้าอนุบาลก็ท่องสูตรคูณได้แล้ว ตัวหนังสือเราก็อ่านออกหมดแล้ว ที่โรงเรียนเขาจึงให้เราเข้า ป.๑ ได้เลย อนุบาลก็เลยไม่ต้องเรียน ครูเรียนเร็วกว่าปกติ ๑ ปี ตอนนั้นเรียนอยู่ที่โรงเรียนชลประทานวิทยา เรียนอยู่ที่นี่จนถึงชั้น ป.๖”
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูขำคมได้มีโอกาสเรียนรู้ดนตรีไทย เพราะด้วยความที่คุณพ่อสมปองมีความคิดว่า “เกิดเป็นคนไทย ต้องฟังเพลงไทยเป็น และจะต้องเล่นเครื่องดนตรีไทยได้อย่างน้อย ๑ ชิ้น” บุตรธิดาของท่านทุกคนจึงมีโอกาสเรียนดนตรีไทยตามที่ท่านได้ตั้งใจไว้ โดยฝากให้ครูขำคมเรียนขิมกับครูสว่าง นักดนตรีซึ่งเป็นข้าราชการที่อาศัยอยู่ที่บ้านพักราชการของกรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แต่เรียนได้เพียง ๒ – ๓ เดือนเท่านั้น ครูสว่างได้แนะนำให้ครูขำคมไปต่อยอดความรู้จากบ้านครูฟุ้งและครูองุ่น บัวเอี่ยม
ครูขำคมเล่าถึงบรรยากาศในครั้งนั้นว่า “ตอนนั้นที่ไปเรียนบ้านครูฟุ้ง พี่ชายของครูเรียนซออู้ ครูเปลี่ยนมาดีดจะเข้ เพราะครูฟุ้งท่านบอกว่านิ้วเรายาว น้องสาวครูไปเรียนขิม แล้วก็มีลูกของลุงไปเรียนออร์แกน นั่งรถไปเฉพาะพี่ๆ น้องๆ ผลสุดท้ายเหลือเราเพียงคนเดียวที่เอาจริงๆ จังๆ”
ครูฟุ้งและครูองุ่น บัวเอี่ยม สองสามีภรรยา บ้านของท่านมีวงเครื่องสายผสมออร์แกนและวงเครื่องสายผสมขิมเหล็ก ครูฟุ้งและครูองุ่นท่านเป็นลูกศิษย์โดยตรงของคุณครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครูฟุ้งท่านเป็นคนเครื่องหนัง ตีโทนรำมะนาได้สนุก และยังเป็นหัวหน้าแผนกกองดุริยางค์กรมตำรวจอีกด้วย ภายหลังครูฟุ้งสูญเสียการมองเห็นของดวงตาทั้งสองข้าง ส่วนครูองุ่นท่านเป็นนักร้องประจำวงบ้านบาตร ต่อมามีอาชีพเหลาอังกะลุงขาย อังกะลุงของท่านมีชื่อเสียงมาก
บ้านครูฟุ้งและครูองุ่น บัวเอี่ยม ถือได้ว่าเป็นที่ปลูกฝังความรู้และประสบการณ์ด้านดนตรีไทยให้กับครูขำคมอย่างเข้มข้น เพราะในแต่ละวันจะมีนักดนตรีไทยอาชีพแวะเวียนมาเยี่ยมครูฟุ้งเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นครูประมวล อรรถชีพ ครูฉลาก โพธิ์สามต้น ครูสุบิน จันทร์แก้ว และศิษย์จากสายสำนักครูสกล แก้วเพ็ญกาศ เช่น ครูสุรเดช กิ่มเปี่ยม ฯลฯ ครูขำคมจึงมีโอกาสต่อเพลง ซ้อมดนตรี และคลุกคลีกับครูดนตรีเหล่านั้นเป็นประจำ
ต่อมาครูขำคมได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพมหานคร ได้รับวิชาความรู้เรื่องการดีดจะเข้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจากครูทองดี สุจริตกุล โดยเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปตั้งแต่ชั้นต้นปีที่ ๑ (ม.๑) จนกระทั่งถึงชั้นกลางปีที่ ๓ (ม.๖) ในขณะเดียวกันได้เรียนดนตรีที่บ้านครูฟุ้งควบคู่ไปด้วย เมื่ออายุ ๑๔ ปี ครูขำคมได้มีโอกาสต่อเพลงเดี่ยวกราวในทางจะเข้กับครูบรรเลง สาคริก
ครูขำคมเล่าว่า “ปกติจะตื่นเช้ามาก ตั้งแต่ตี ๔ ก็ต้องลุกขึ้นมาไล่มือ พอสายเราก็ไปเรียน ตอนเย็นๆ กลับมาก็จะมาซ้อมกันอีก ตอนนั้นตัวครูจะเป็นมือเดี่ยวประจำบ้าน เวลาครูพาไปงานที่ไหนครูก็จะให้เราเดี่ยวตลอด ซ้อมหนักมากเรื่องดนตรีตอนนั้น และเพราะการเรียนหนักซ้อมหนัก จึงทำให้ตอนเรียนอยู่ที่นาฏศิลปทั้ง ๖ ปี สอบทักษะเครื่องมือเอกไม่เคยดีดผิดแม้แต่ครั้งเดียว กล้าพูด และเป็นความภาคภูมิใจ เพราะตอนนั้นจะแม่นเพลงมาก”
ครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นจุดหักเหสำคัญของชีวิตครูขำคม คือ ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนวงดนตรีครูฟุ้ง (ศิษย์ศรทอง นนทบุรี) ไปบันทึกเสียงเดี่ยวจะเข้เพลงลาวแพน ในโครงการบันทึกข้อมูลเพลงไทย ของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บ้านครูประสิทธิ์ ถาวร ซึ่งการบันทึกเสียงเพลงเดี่ยวครั้งนั้น ครูขำคมได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดาครูที่ได้เข้าร่วมดูแลคุณภาพในการบันทึกเสียงครั้งนั้น
ต่อมาในภายหลังได้รับการชักชวนจากครูบุญช่วย โสวัตร ว่า “ถ้าอยากจะเรียนดนตรีอย่างจริงจัง ก็ให้มาสอบเข้าเรียนที่คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อครูขำคมเรียนจบชั้นกลางปีที่ ๓ ที่วิทยาลัยนาฏศิลปแล้ว จึงตัดสินใจสอบเข้าเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามคำชักชวนของครูบุญช่วย โสวัตร และคณาจารย์จากสาขาวิชาดุริยางค์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทันที
เมื่อเข้าสู่รั้วสถาบันการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ครูขำคมได้รับการฝึกฝนด้านดนตรีไทยอย่างจริงจัง จากครูผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีไทยหลายท่าน เช่น ครูประสิทธิ์ ถาวร ครูบุญช่วย โสวัตร ครูปกรณ์ รอดช้างเผื่อน
ครูขำคมได้เล่าถึงช่วงเวลาที่เป็นนิสิตว่า “ตอนที่ครูเข้ามา เป็นช่วงที่จุฬาฯ มีโครงการบรรเลงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จะมีการเข้าค่ายกันอย่างจริงจังมาก ในปีหนึ่งๆ มีการเข้าค่ายกันถึง ๖ เดือน กินนอน ๓ – ๖ เดือน เกือบทุกปีอาจารย์จะเรียกมาเข้าค่าย คุมซ้อมแล้วก็ไล่มือกันตั้งแต่ตี ๕ ซ้อมหลายงานมาก แต่ผลสุดท้ายแล้วพุ่งไปที่งานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ แล้วก็เป็นช่วงสร้างเครื่องปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ด้วย เป็นช่วงที่เฟื่องฟูมากที่สุด เป็นโชคดีของเรา เพราะตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของที่นี่เลยก็ว่าได้”
ชีวิตการเป็นนิสิตปริญญาตรีที่ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูขำคมได้เข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีไทย ไม่ว่าจะเป็นการประกวดบรรเลงดนตรีไทย จัดโดยกรมประชาสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ใช้ชื่อวงว่า “จุฬาวาทิต” (ซึ่งเป็นชื่อที่สมเด็จพระเทพรัตน์ทรงพระราชทาน) เป็นสมาชิกในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดี่ยวจะเข้เพลงสุดสงวนในงานมหกรรมเดี่ยวชัยมงคล ต่อหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตน์ และได้รับคัดเลือกให้ร่วมบรรเลงดนตรีกับวงครูอาวุโสหลายครั้ง
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เมื่อครูขำคมจบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีแล้ว เดือนมกราคมปีถัดมาได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ครูขำคมได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้มีโอกาสเรียนจะเข้เพิ่มเติมกับครูนิภา อภัยวงศ์ ซึ่งครูขำคมเป็นนิสิตปริญญาโทคนแรกที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรของสาขาวิชานี้ โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษา ๒ ปี
นอกจากผลงานวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหนังสือ เขียนบทความด้านดนตรี และงานด้านวิจัย ครูขำคมยังมีโอกาสไปบรรเลงดนตรีไทยเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมตามประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเทศฟิลแลนด์ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ
เนื่องจากครูขำคมได้รับองค์ความรู้ทางด้านการดีดจะเข้จากครูอาจารย์หลายท่าน กอปรกับมีประสบการณ์การสอนดนตรีอย่างยาวนาน ครูขำคมจึงมีแนวทางและวิธีการเลือกใช้ทางเพลงต่างๆ ที่จะถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์อย่างเหมาะสม ดังคำให้สัมภาษณ์ว่า
“ตัวเองจะสอนให้เด็กมีวิสัยทัศน์ที่กว้าง การเรียนดนตรีไทยเรื่องของทางเพลงนั้น ถูกต้อง มันควรที่จะเป็นทางใครๆ มีสายและมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน แต่ก็ต้องมีการเลือกใช้อย่างเหมาะสม มีการแยกแยะได้ วิเคราะห์ได้ มิฉะนั้นเราจะกลายเป็นคนแคบ
“เช่นเพลงที่ดำเนินทำนอง มันไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนครูก็ได้ อาจจะแปรทางได้ แต่มันต้องแม่นหลัก ต้องรู้หลัก รู้โครงสร้างที่ถูกต้อง ไม่ผิด แล้วต้องรู้บันไดเสียง เพื่อเวลาเราแปรทางแล้วจะได้ไม่ผิดแนวทาง ถ้าพูดว่าเล่นไม่เหมือนครูแล้วต้องผิด ไม่ใช่ครูแน่นอน เพราะมันควรจะมีคำอธิบาย
นอกจากนี้ ยังได้ทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับทัศนะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทนักปฏิบัติกับบทบาทนักวิชาการของคนดนตรีไทย ว่า
“จริงๆ ก็ต้องไปพร้อมกันนะ แล้วก็จำเป็นมาก ถ้าเราบรรเลงได้ก็ควรที่จะพูดได้ด้วย แต่ถ้าเราบรรเลงไม่ได้เราก็จะเป็นนักวิชาการที่ดีไม่ได้ เพราะว่ามันไม่แน่น แล้วนักวิชาการที่เก่งพูดอย่างเดียว แต่ปฏิบัติไม่ได้ ก็จะพูดแบบน้ำไหลไฟดับ มันก็จะไม่แน่นเช่นกัน เพราะฉะนั้น ต้องปฏิบัติเก่งและต้องอธิบายได้ จะดีมาก อันนี้คิดว่าสำคัญ และจะได้ไม่หลงทางด้วย”
(ปัจจุบัน ครูขำคม พรประสิทธิ์ ตำแหน่งทางวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร. ดำรงตำแหน่งประธานสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
(ตีพิมพ์ลงวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)