เสี้ยวหนึ่งในบทสนทนาชีวิต
ครูประมวล ครุฑสิงห์
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
“บ้านนอก” เป็นคำพูดของคนเมืองหรือคนที่อาศัยอยู่ในศูนย์กลางความเจริญ ใช้เรียกผู้คนที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดตามเขตบ้านชานเมืองหรือต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองหลวง อีกนัยหนึ่งเป็นคำเย้ยหยันคนมีพฤติกรรมเปิ่นเทิ่นออกจะเชย หรือทำอะไรโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ก็มักได้รับการตราหน้าว่า “บ้านนอกเข้ากรุง”
สังคมดนตรีไทยทั้งคนเครื่องสาย ปี่พาทย์ หรือมโหรี มักใช้คำนี้กล่าวเสียดสีในเชิงลบ สำหรับนักดนตรีที่มีทางบรรเลงที่แปลกเเปร่ง ผิดเพี้ยน หรือไม่เข้าท่าเข้าทาง มักโดนซุบซิบนินทาว่าบรรเลงอย่าง “บ้านนอก” ได้เช่นกัน
แต่โปรดอย่าตีขลุมครอบคลุมไปเสียทั้งกระบวนความ เพราะใช่จะหมายความว่าสำนักดนตรีที่มีถิ่นพำนักอยู่ต่างจังหวัด หรือนักดนตรีที่ร่ำเรียนวิชามาจากบ้านนอกนั้น ทุกท่านจะด้อยความรู้ด้อยทักษะ หรือบรรเลงทางขี้เท่อกันเสียทุกคน เพราะส่วนใหญ่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นักดนตรีเลื่องชื่อลือนามมีฝีไม้ลายมือโลดแล่นในวงการดนตรีปี่พาทย์ ล้วนมีพื้นเพเดิมจากต่างจังหวัดทั้งนั้น
ครูประมวล ครุฑสิงห์ นักดนตรีไทยอีกท่านที่มีถิ่นกำเนิดและจุดเริ่มต้นด้านดนตรีจากต่างจังหวัด ท่านได้รับการบ่มเพาะความรู้จากเบ้าหลอมสำคัญอย่างสำนักปี่พาทย์ครูรวม พรหมบุรี จังหวัดราชบุรี ต่อมามีโอกาสเข้ารับราชการที่กรมศิลปากร กระทั่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากสังคมดนตรีไทย ว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีวิชาความรู้และฝีมือด้านเครื่องดนตรีปี่พาทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือการบรรเลงระนาดทุ้มที่จัดจ้านโดดเด่น
ผมใช้เวลาบ่ายวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ นัดสัมภาษณ์และเดินทางไปหาครูประมวล ครุฑสิงห์ ที่บ้านในบริเวณชุมชนวัดมหาธาตุสมังคี ย่านท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
เมื่อพบท่าน คำถามแรกที่ผมถามขึ้นคือเรื่องสุขภาพ เพราะสัมผัสได้ว่าท่านไม่แข็งแรงเท่าที่ควร สังเกตได้จากอาการเดินเหินและการพูดจาที่ช้าลงผิดปกติ ไม่คล่องแคล่วว่องไวอย่างแต่ก่อนที่เคยพบกันเมื่อหลายปีก่อน จึงทราบจากปากท่านว่ามีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องข้อขาข้อเข่า
เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยเท้าความถึงรกรากและชาติกำเนิด “ผมเกิดวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ชื่อดิ้นเป็นชื่อเล่นที่ผู้ใหญ่บ้านตั้งให้ เพราะตอนเด็กออกจะเกเร คนก็เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คุณพ่อของครูชื่อนายมาก ครุฑสิงห์ คุณแม่ชื่อนางชิต (สกุลเดิมร่วมชาติ-ผู้เขียน) บ้านเดิมที่ครูเกิดอยู่แถววัดโรงช้าง จังหวัดราชบุรี
“แม่ของครูสมัยก่อนเป็นข้าหลวงในวัง วังที่คนเก่าเขาเล่าให้ฟังว่าต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าพระจันทร์ เลยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวังหน้า แต่ก็ไม่แน่ใจ แกเป็นคนตีขิม แต่คงได้อะไรไม่มาก แม่เสียชีวิตตอนครูอายุประมาณ ๑๐ ขวบ พ่อขายขนมอยู่ที่ท่ายายต่วน ท่ายายต่วนเป็นที่ที่คนงานเอาถ่านมาลงและร่อนเพื่อแยกขนาด พ่อครูหาบไปขายที่นั่น”
แม้นว่าการศึกษาสายสามัญ ครูจะจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนเทศบาล ๒ วัดช่องลม แต่หากกล่าวถึงประสบการณ์และความรู้ด้านดนตรีไทยที่อัดแน่นอยู่ในตัว ถือได้ว่าอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญและมีสติปัญญาเข้าขั้นมุโตแตกเลยทีเดียว
ครูประมวล ครุฑสิงห์ เริ่มเรียนดนตรีไทยเมื่ออายุ ๑๒ ปี ได้รับการจับมือฆ้องวงใหญ่จากครูรวม พรหมบุรี เริ่มเรียนเพลงในชุดสวดมนต์เย็นฉันเช้าจากนักดนตรีอาวุโสในสำนัก ไม่ว่าจะเป็นครูละเอียด เผยเผ่าเย็น ครูปลิว (ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้) ครูแย่ง ทางมีศรี ทั้งยังได้รับการดูแลเรื่องการฝึกซ้อมดนตรีจากครูพุ่ม เผยเผ่าเย็น ศิษย์รุ่นใหญ่ในสำนัก
“เวลาฝึกซ้อมจะไปที่บ้านลุงเอียด ตื่นตั้งแต่ตี ๔ แต่ว่าครูรวมท่านไม่ได้มาคุมนะ เราอยากได้ดีก็ต้องอาศัยซ้อมมาก สมัยก่อนมันมีตะเกียงกระป๋อง แล้วก็มีโทนเก่าอยู่ใบหนึ่ง ก็เอาตะเกียงตั้งบนโทน เลิกซ้อมเราก็ดับ ตอนนั้นถ้ามีหนังก็พากันไปดู หนังขายยาอย่างสมัยก่อน
“เราเล่นเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้รอบวง เครื่องหนังก็ได้ เพราะสมัยก่อนตีระนาด พอมีคนระนาดเข้ามาก็เปลี่ยนไปตีฆ้อง พอมีคนฆ้องก็เลื่อนไปประจำระนาดทุ้ม บางครั้งไปบรรเลงงานศพ ครูรวมท่านก็ให้เป่าปี่ แต่ถ้าจะพูดว่าจับฉ่ายนี่ไม่ค่อยจะดี มันดูไม่มีคุณค่า”
นอกจากองค์ความรู้ที่ครูประมวลได้รับการถ่ายทอดจากสำนักครูรวม พรหมบุรี ครูยังได้รับการอบรมและเน้นย้ำเรื่องมารยาทต่างๆ ทางดนตรีจากครูรวม เพราะสิ่งหนึ่งที่ผมสามารถสัมผัสได้ระหว่างการพูดคุย ครูมักพูดจาถ่อมเนื้อถ่อมตัว ไม่คุยโวโอ้อวด สิ่งนี่เองที่ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ครูรวมได้มอบให้กับศิษย์ทุกคนของท่าน
“การวางตัวของท่านดีมาก สมที่ได้รับการอบรมและเคยเป็นนักดนตรีในวังมาก่อน ท่านไม่ค่อยดุนะ เวลาท่านจะเอ็ดจะว่าใครถ้าอยู่ที่งานท่านไม่ทำ มาที่บ้านแล้วถึงพูด ว่าอย่างนี้ถูกอย่างนี้ไม่ถูก อย่าประพฤติอีกนะ เช่นว่าถ้ารับสตางค์ค่าตอบแทนมา ท่านบอกว่ารับมาแล้วอย่าไปนับต่อหน้าเจ้าภาพนะ เราเป็นนักดนตรีมันเสียมารยาท มานับต่อหน้าตะโพนมันไม่ดี ท่านจะสอนอย่างนี้ ได้มาเท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น ให้กลับบ้านเรา เรื่องมารยาทนี่แหละที่เราได้รับมานอกเหนือจากวิชาดนตรี
“เรื่องความเรียบร้อย เวลาบรรเลงเพลงอะไรท่านจะมองคนเครื่องหลังเสมอ เพื่อดูความพร้อมของลูกวง คนนี้ได้เพลงอะไร คนนั้นได้เพลงอะไร ก็จะบรรเลงเพลงนั้น แต่ถ้าคนที่ไม่ได้เพลงจริงๆ ท่านสามารถตีระนาดให้คนตามเพลงท่านได้ นี่ทุกคนพูดอย่างนั้น อย่างมโหรีนี่สบายมาก คนแก่คนเฒ่าชอบท่านมาก”
ครูประมวลเข้ารับราชการอยู่ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ตำแหน่งสุดท้าย คือ ดุริยางคศิลปิน ๗ ว และหลังจากมรณกรรมของครูรวม พรหมบุรี ครูประมวลรับหน้าที่เป็นผู้ต่อเพลงและดูแลการฝึกซ้อมภายในบ้านต่อจากครูรวมเป็นเวลาระยะหนึ่ง
“ตอนนั้นรับราชการเราอยู่วง ๒ นะ สมาชิกในวงมีครูกมล ปลื้มปรีชา ระนาดเอก เราตีทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ครูชัยยะ ทางมีศรี เครื่องประกอบจังหวะจะเป็นพวกผู้หญิงเขา คนเครื่องหนังชื่อจรัล ตันมีสุข ตีตะโพน กลองทัดก็เรียกเข้ามาประสม ส่วนมากไปงานพระราชพิธีเป็นส่วนใหญ่ ออกงานเยอะพอสมควร”
หากมีคำกล่าวว่า ลักษณะการบรรเลงดนตรีเป็นเช่นไร อุปนิสัยของผู้บรรเลงก็ย่อมเป็นไปเช่นนั้น ทางบรรเลงระนาดทุ้มของครูประมวลคงเป็นเครื่องยืนยันได้ดี เพราะด้วยเทคนิควิธีและแนวทางการบรรเลงที่ออกรสออกชาติสนุกสนาน ตรงและสอดคล้องกับอุปนิสัยครูประมวลอย่างเด่นชัด เพราะสืบทราบว่า โดยส่วนตัวครูเป็นคนอารมณ์ดีชอบพูดจาขบขันอยู่เสมอ
เหมือนเป็นพรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบรรเลงระนาดทุ้มของครูมีสีสันเพราะท่านเป็นคนถนัดซ้าย และมีรสมือในการบรรเลงดี หรือที่เรียก “อร่อย” ทำให้คนระนาดเอกที่ร่วมบรรเลงด้วยกันต่างชื่นชอบและวางใจเสมอเมื่อครูรับหน้าที่บรรเลงระนาดทุ้มในวง และพรสวรรค์ดังกล่าวถูกผ่องถ่ายสู่ทายาทของครูในเวลาต่อมา
ชีวิตครอบครัว ครูประมวล ครุฑสิงห์ สมรสกับนางองุ่น พรหมบุรี (บุตรสาวคนที่ ๓ ของครูรวม พรหมบุรี) มีบุตรชายด้วยกัน ๓ คน คือ นายวิภาส ครุฑสิงห์ ส.อ.สมเจตน์ ครุฑสิงห์ นายรัชพล ครุฑสิงห์ ทั้งสามมีความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทยเป็นอย่างดี ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้เป็นพ่อและศิษย์รุ่นพี่ โดยเฉพาะบุตรชายคนโต ในอดีตนำวงออกงานประชันครั้งสำคัญ สร้างชื่อเสียงมาสู่สำนักหลายครั้งด้วยกัน
ก่อนกลับผมถามถึงเครื่องดนตรีปี่พาทย์ที่ครูใช้ฝึกซ้อมยามว่าง ครูเมตตานำผมชมเครื่องด้วยตนเอง เครื่องดนตรีปี่พาทย์ของครูเก็บรักษาอยู่บนบ้าน มีวงปี่พาทย์เครื่องคู่ตั้งอยู่กลางห้อง ๑ ชุด และอื่นๆ ผมขอให้ครูบรรเลงระนาดทุ้มให้ฟัง ๑ เพลง พร้อมกันนั้นผมหยิบกล้องถ่ายภาพขึ้นทันทีเพื่อบันทึก หวังใจว่าจะนำภาพลงประกอบบทความและอวดท่านผู้อ่าน
ชีวิตนักดนตรีชื่อ ประมวล ครุฑสิงห์ แม้ว่าเป็นนักดนตรีธรรมดาคนหนึ่ง แต่บทบาทหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมและสังคมดนตรีไทยให้เดินหน้าต่อไป และไม่ควรประมาทหรือหลู่ความเป็นนักดนตรีภูธรอย่างท่านเด็ดขาด ดังคำพูดที่ครูทิ้งท้าย
“นักดนตรีไทยบ้านนอกเนี่ยนะ บางคนยังมองไม่เห็นความสำคัญ ยังมีอีกหลายท่านที่มีความรู้ความสามารถ แต่ทุกคนมักมองข้าม คนบ้านนอกเก่งๆ มีเยอะนะ อย่างเพลงบางเพลงคนกรุงเทพฯ ไม่ได้ แต่คนบ้านนอกได้ก็มี แต่ทุกคนไม่คิดอย่างนั้น มักดูถูกดูแคลนกัน นักดนตรีบ้านนอกนี่ประมาทเขาไม่ได้”
(จากวารสารเพลงดนตรีปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓)