ครูบุญชู รอดประสิทธิ์
“สุภาพสตรีคีตศิลป์ไทย”
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ปี่พาทย์นายจ่าง
ร่วม ๘๐ ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบริเวณพื้นที่สำนักดนตรีของนาย “กระจ่าง ทองเชื้อ” สำนักปี่พาทย์มีชื่อ ที่รับใช้วิถีชีวิตชาวบ้านร้านถิ่นย่านบางกะปิในอดีต ปัจจุบันจะกลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร อย่างไม่หลงเหลือร่องรอยความรุ่งเรืองของการดนตรีในยุคนั้น ด้วยวิถีชีวิตของคนเมืองกรุงที่เปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภาพความทรงจำในอดีตที่เคยเกิดขึ้น ครั้งที่ครูบุญชูยังวัยเยาว์ ยังคงตรึงอยู่ในห้วงความรู้สึกเสมอมา
“วงปี่พาทย์นายจ่าง ตรงปากคลองบางกะปิ ในสมัยก่อนใครๆ ก็รู้จัก คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านของท่านเปิดสอนดนตรีให้กับเด็กๆ ที่มาจากต่างจังหวัด ก็เหมือนว่าเปิดเป็นสำนักดนตรี ลองคิดเอาดูนะ ขนาดข้าวที่กินต้องหุงกันเป็นกระทะๆ กินฟรี อยู่ฟรี สอนฟรี เป็นวิทยาทาน เด็กผู้หญิงที่เป็นลูกหลานในบ้าน มีตั้ง ๘ คน ๙ คน ก็เป็นดนตรีทั้งหมด
“บ้านสมัยก่อนสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เป็นเรือนไทยแบบโบราณ มีนอกชานไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เนื้อที่ตรงนี้เป็นของคุณปู่ฟัก คุณพ่อของพ่อจ่าง ซึ่งท่านเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี ตอนหลังได้ย้ายมากับคุณย่าเทียบ มาอยู่ที่ริมคลองแสนแสบ”
สืบความถามไถ่ถึงภูมิหลังนายกระจ่าง ทองเชื้อ ผู้เป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ ได้ความจากปากผู้เป็นบุตรสาวว่า
“เท่าที่รู้คุณพ่อมีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน มีป้าจี่ ป้าแจ่ม ลุงใย แล้วก็คุณพ่อ คุณพ่อท่านเป็นทหารเรือ ท่านเรียนดนตรีกับคุณครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ตามจริงแล้วท่านเก่งทุกอย่าง แตรที่ว่าไม่เคยเป่าก็เป่าได้ ท่านเป็นนายแตรอยู่กรมทหารที่ศาลาแดง และเป็นนักดนตรีในวังของเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาท่านรักคุณพ่อมาก คุณแม่ชอบเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่า บุญชู เห็นอย่างนี้นะ คุณพ่อเขาเป็นคนถือเชี่ยนหมากให้เจ้าพระยานะลูก”
ในขณะที่นายกระจ่างเปรียบเสมือนช้างเท้าหน้า มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขคนในครอบครัว รวมทั้งบรรดาศิษย์ที่ต่างเดินทางมาฝากกาย เพื่อร่ำเรียนวิชาดนตรีปี่พาทย์ นางสังวาล ทองเชื้อ (พุ่มเครือวัลย์) ผู้เป็นภรรยา ก็ทำหน้าที่เป็นช้างเท้าหลังเคียงบ่าเคียงไหล่เสมอมา ทั้งเป็นแม่แบบสำคัญให้บุตรทั้ง ๙ คน ที่ตั้งชื่อให้อย่างสอดคล้องว่า ชำนอง ชำนาญ จำนง จำเนียร เสมียน บุญชู สายหยุด มะลิ ซ่อนกลิ่น ดำเนินรอยตามในเรื่องกิริยามารยาทและการวางตัว ตามอย่างที่นางสังวาลเคยได้รับการขัดเกลา และเคยเป็นกุลสตรีชาววังมาก่อน
“เรื่องมารยาทนี่ไม่ได้เลย คุณแม่จะสอนเสมอ ยิ่งเราเป็นผู้หญิงด้วยแล้วต้องเรียบร้อย คุณแม่ท่านเคยทำงานอยู่ในวังสระปทุมมาก่อน สมัยนั้นพอมีละครในวัง เขาก็จับให้คุณแม่เป็นตัวพระเอก ทั้งศรีธนญชัย ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม พวกนี้แม่เล่นมาหมดแล้ว
“คุณพ่อท่านอยู่วังนั้น คุณแม่ท่านอยู่วังนี้ เขาก็มาปิ้งกัน เพราะเวลาวังนี้มีงาน ก็ต้องขอดนตรีจากวังที่คุณพ่อท่านอยู่ไปบรรเลง หรือบางครั้งก็ขอละครจากวังที่คุณแม่อยู่ไปแสดงเช่นกัน ตอนหลังที่ท่านทั้ง สองแต่งงานแล้ว ก็ออกจากวังมาสร้างครอบครัว แล้วมาตั้งวงปี่พาทย์นายจ่างนี่แหละ”
วิถีคน วิถีดนตรี
“ไหนๆ ก็เรียนมาทางด้านดนตรีแล้ว ตอนอยู่ ม. ๒ ปรากฏว่าคุณพ่อให้ออกจากโรงเรียน เราก็เชื่อท่าน เพราะเรารักท่านมาก คนอื่นจะว่าอย่างไรชั่ง” ครูบุญชูกล่าวเปิดฉากชีวิตด้านดนตรี กับความต้องการของบิดา ที่ปรารถนาให้ตนร่ำเรียนดนตรีไทยอย่างจริงจัง
ด้วยความที่มีแววทางดนตรีตั้งแต่เด็ก คุณพ่อจ่างมักพาครูบุญชูไปออกงานดนตรีปี่พาทย์ด้วยเสมอ โดยมีหน้าที่หลักคือตีเครื่องประกอบจังหวะให้กับวง จนกระทั่งอายุได้ ๘ ปี จึงเริ่มเรียนดนตรีอย่างจริงจังกับบิดา เรียนฆ้องวงใหญ่เพลงสาธุการเป็นอันดับแรก หาใช่จะพับเพียบพับขิงนั่งตีขิมอย่างเด็กผู้หญิงทั่วๆ ไป เพราะตามความจริงแล้ว ครูสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้รอบวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องหนังประเภทต่างๆ
“เรื่องเครื่องหนังนี่ไม่ต้องห่วงครูเลย ลิกงลิเกครูผ่านมาหมด เพราะชอบออกงานกับพ่อ พ่อไปไหนฉันไปด้วย ตอนนั้นมีวิกลิเกอยู่วิกหนึ่ง เป็นที่ของผู้ใหญ่สงวน ถ้าใครมาปิดวิกที่นี่ ก็ต้องหาปี่พาทย์นายจ่างไปเล่น คุณพ่อตีระนาด พี่จำเนียรตีฆ้อง ตะโพนกลองทัดครูควบคนเดียว ไอ้เราก็หวดไม่เลี้ยง”
ไม่ช้าไม่นาน ครูบุญชูก็มีความรอบรู้ในเรื่องเพลงการต่างๆ ทั้งทางเครื่องและทางขับร้อง สามารถออกทำเพลงเล่นปี่พาทย์กับบิดาของตนได้อย่างช่ำชอง แต่นี่ก็ยังไม่สมแก่ความตั้งใจของนายกระจ่าง ที่ต้องการให้บุตรสาวของตนมีความรู้ความสามารถด้านดนตรียิ่งขึ้น จึงส่งตัวครูบุญชูไปต่อยอดความรู้ด้านเพลงมอญที่บ้านนายเปีย (ไม่ทราบนามสกุล) ตามความต้องการของตน
“ลุงเปียท่านเป็นลูกผู้พี่ของคุณพ่อ ท่านไม่เป็นดนตรี แต่สร้างเครื่องมอญเครื่องปี่พาทย์แยะไปหมด เครื่องลิเกก็มีให้คนเขาเช่า รวมถึงเครื่องละครด้วย ตอนที่ไปอยู่บ้านลุง ลุงจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ‘มาอยู่บ้านข้า เอ็งต้องเชื่อฟังข้า หกโมงเย็นห้ามเอ็งออกนอกเขตนี้ ถ้าเอ็งไม่เชื่อ ข้าจะจับเอ็งตัดผมม้า’ ไอ้เราก็กลัวสิ เพราะสมัยก่อนคนที่ตัดผมม้ามันน่าตลกนะ แต่ลุงเขาคงเป็นห่วงเรา เพราะเราเป็นเด็กผู้หญิง”
ถึงแม้ว่านายเปียจะไม่มีความรู้ด้านดนตรีปี่พาทย์ แต่ด้วยฐานะระดับเศรษฐี ท่านจึงลงทุนเชิญครูดนตรีไทยจากอำเภอปากเกร็ด คือ นายอ๊อด นายตุ๊ และนายสะอาด มาถ่ายทอดความรู้เรื่องปี่พาทย์มอญให้กับลูกหลานภายในบ้าน จนกระทั่งสามารถตั้งวงปี่พาทย์มอญหญิงล้วนรับงานบรรเลงต่างๆ ได้หนึ่งวง
ชีวิตการเรียนดนตรีของครูบุญชูยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะครูยังใช้เวลาในช่วงค่ำเดินทางไปเรียนขับร้องเพลงไทยกับ “ครูจำลอง วัชรีกุล” ซึ่งในทุกๆ วัน ครูต้องเดินเท้าจากบ้านนายเปียที่ตั้งอยู่ย่านเชิงสะพานสูง บางซื่อ ไปหาครูจำลองที่บ้านในเขตคลองประปา โดยมีพี่ชายคอยดูแลความปลอดภัยระหว่างการเดินทาง ตามที่ได้รับมอบหมายจากบิดา
“ครูจำลอง วัชรีกุล ท่านเป็นสหายของครูบุญยงค์ บุญยัง เกตุคง ท่านทำงานอยู่ที่กรมสื่อสาร ครูจำลองท่านไม่เป็นปี่พาทย์นะ เป็นแต่เฉพาะเครื่องสาย สีซอเก่งมาก ออร์แกนนี่ ขิมนี่เป็นหมด ขับร้องก็มีฝีมือ ครูจำลองท่านร้องเพลงแบบนิ่มนวล ซึ่งในสมัยนั้นจะมีนักร้องชายร่วมรุ่นอีกหนึ่งท่าน ก็คือนายเหนี่ยว ดุริยพันธ์
“ตอนนั้นที่เรียน จำได้ว่าพอเรียนๆ ไป ท่านก็บอกว่า ‘เฮ้ย!!! วันนี้ไม่สอนโว้ย ข้าปวดฟัน เอ็งไม่ต้องมาแล้ว’ แต่เราก็ยังไม่กลับ อยู่มันอย่างนั้นแหละ รู้สึกโกรธครูอยู่ในใจ คิดว่าจะไม่ไปเรียนอีกแล้ว แต่พอรุ่งเช้าก็ไปดักรอท่าน เพราะรู้ว่าท่านต้องออกไปทำงาน พอเจอหน้าก็ก้มลงกราบเลย แล้วก็บอกว่า ถ้าครูหายเมื่อไหร่หนูจะไปเรียนนะคะ ตอนหลังท่านคงใจอ่อนน่ะ ก็เลยตกลงสอนเรา เรียนกับท่านอยู่ประมาณ ๕ ปีเศษ”
หลังลงแรงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก ครูบุญชูในวัย ๑๙ ปี ก็ถึงคราวต้องเผชิญสู่โลกของการทำงาน การทำงานที่เสมือนเป็นการเก็บดอกผลจากสิ่งที่ครูได้ลงทุนไว้
นักร้องเสียงทอง
ครูบุญชูเข้ารับราชการเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยเป็นนักร้องประจำกองดุริยางค์กรมตำรวจ ถึงแม้ว่าในสมัยนั้น ครูจะเป็นเพียงนักร้องรุ่นน้อง ที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานด้านดนตรีไทย ชื่อเสียงและศักดิ์ศรีอาจไม่เทียบเท่านักร้องและนักดนตรีรุ่นใหญ่ แต่ทว่าด้วยพลังเสียงในการขับร้อง และทุนความรู้เดิมที่เพียรสั่งสมมา ทำให้ครูสามารถยืนหยัดอยู่ในอาชีพนี้อย่างไม่อายใคร
“ตอนที่ครูอยู่กรมตำรวจ ครูไม่ได้ร้องแต่เพลงไทยอย่างเดียวนะ เพลงสากลครูก็ร้องด้วย ครูออกงานบ่อยมากตอนนั้น หนึ่งอาทิตย์มี ๗ วัน ก็ร้องมันทั้ง ๗ วันนั่นแหละ ร้องกับวงโยธวาทิตบ้าง กับวงดนตรีไทยบ้าง
“งานประชันปี่พาทย์ก็มีเข้ามาไม่ได้ขาด แต่ที่ตื่นเต้นก็ต้องที่วัดมหาบุตร ประชันกับวงนายเจือ คือตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจจะประชันกันนะ แต่เมื่อปี่พาทย์ ๒ วงมาเจอกันมันก็อดไม่ได้ วงของเขามีนักร้องตั้ง ๕-๖ คน แต่วงของครูมีครูร้องอยู่คนเดียว เขาร้องมาเราก็ร้องตอบ ถ้าร้องเพลงธรรมดามา เราก็ร้องเพลงธรรมดาตอบไป ถ้าจะเดี่ยวก็เดี่ยวกัน
“วงของครูมีครูกาหลง พึ่งทองคำ กับคุณนกเล็ก เป็นคนระนาด ทางวงนั้นเขาเอานายสุรเดช กิ่มเปี่ยม มาตี ตอนจะเลิกเขาวางรางระนาดเอกไว้กลางเวที แล้วก็ผลัดกันเดี่ยวคนละเพลง ถ้าจะพูดกันจริงๆ วงของเขาเล่นไหวกว่า เพราะมันปู้ดป้าด แต่ของเราจะอึดแล้วก็นิ่ง รู้ไหมว่าผลสุดท้ายคืออะไร ตอนเลิกมีคนยิงปืนขึ้นฟ้าดังปัง คนที่ยิงเขาพูดว่า ดนตรีแพ้แต่คนไม่แพ้โว้ย!!!”
ครูบุญชูรับราชการอยู่ที่กรมตำรวจรวมระยะเวลา ๘ ปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ย้ายเข้ามารับราชการอยู่ที่วงดนตรีไทยของเทศบาลกรุงเทพมหานคร และทำงานอยู่ที่นี่จนกระทั่งเกษียณอายุ
“ครูเข้าไปสอบที่ กทม. ในใจก็คิดว่า หรือเราจะไม่ไปสอบดี เพราะเราก็ทำงานอยู่ที่กรมตำรวจอยู่แล้ว ที่สอบตอนนั้นมีผู้หญิงทั้งหมด ๒ คน อีกคนหนึ่งเขาเป็นถึงรองนางงามนะ มีครูบุญยงค์ เกตุคง กับครูช่อ อากาศโปร่ง เป็นกรรมการ ก็แปลกใจเหมือนกันว่า พอประกาศผลออกมาแล้ว มีครูได้อยู่คนเดียว”
และคงไม่ต้องเดาให้ยากว่า เมื่อครูบุญชูย้ายมาทำงานอยู่ที่ใหม่แล้ว ครูยังคงมีงานขับร้องเพลงไทยมากอยู่เหมือนเดิม เพราะด้วยเหตุผลที่ว่า ครูมีแนวทางในการร้องเพลงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีความแม่นยำในเรื่องระดับเสียง ประกอบกับสมาชิกนักดนตรีในวงขณะนั้น นับว่ามีแต่ผู้เยี่ยมยุทธ์ด้านดนตรีแทบทั้งสิ้น
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ครูบุญชูได้แสดงฝีมือขับร้องเพลงไทยต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประลองวงปี่พาทย์ ระหว่างวง “เทศบาลกรุงเทพมหานคร” กับวง “บ้านบางลำพู” จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
“แหม… วงดุริยประณีตเขามีแต่นักร้องดีๆ ทั้งนั้น ครูไม่อยากไปเลย แต่เพราะเป็นงานราชการ ก็ต้องจำใจสู้ พอเริ่มงานสมเด็จฯ ท่านก็จับฉลาก ว่าวงไหนจะเริ่มบรรเลงก่อน แต่มีกติกาว่า ถ้าวงตั้งร้องท่อนหนึ่ง วงรับก็ต้องร้องท่อนสอง สลับกันจนกว่าจะจบเพลง
“วงดุริยประณีตได้เป็นวงตั้ง ส่วนวงของครูเป็นวงรับ ครูต้องตั้งสติแทบแย่นะ มันไม่ค่อยสบายใจเลย ถ้าวิ่งหนีออกไปได้ก็จะทำด้วยซ้ำ งานนั้นบรรเลงอยู่หลายเพลงเหมือนกัน เป็นงานที่ครูประทับใจมาก เพราะถือเป็นโอกาสที่ดี ที่เราได้ขับร้องเพลงถวายสมเด็จฯ ท่าน”
ตลอดระยะเวลาที่ครูบุญชูได้ประกอบอาชีพที่ครูรัก นอกจากผลงานขับร้องเพลงไทยที่ครูกล่าวว่า “ในชีวิตนี้ออกงานร้องเพลงมานับไม่ถ้วน” แล้ว ครูยังมีผลงานบันทึกเสียงเพลงไทย ที่ล้วนแต่มีคุณภาพอีกนับไม่ถ้วนเช่นกัน
บันทึกไว้ในแผ่นดิน
“ผลงานศิลปะชั้นเยี่ยม เมื่อสำแดงขึ้นครั้งใด ย่อมสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้เสพเมื่อนั้น” คำกล่าวนี้คงไม่เกินเลยนัก หากจะเทียบกับผลงานบันทึกเสียงของครูบุญชูในอดีต
ครูบุญชูมีผลงานบันทึกเสียงขับร้องเพลงไทยกับวงดนตรีต่างๆ ทั้งวงของภาครัฐและเอกชน เช่น วงดนตรีไทยของเทศบาลกรุงเทพมหานคร วงดนตรีไทยคณะปิยมิตร วงดนตรีไทยของ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ วงดนตรีไทยคณะมธุรส ฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงดนตรีไทยคณะ “เสริมมิตรบรรเลง” ที่ครูบุญชูกล่าวว่า “เพลงที่บันทึกเสียงกับเสริมมิตรมีเป็นร้อยๆ ทั้งเพลงเก่าและเพลงแต่งใหม่” ย่อมแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และกำลังทุนทรัพย์ของผู้เป็นหัวหน้าวง นั่นก็คือ คุณเสริม ศาลิคุปต์ อดีตรองอธิบดีกรมที่ดินผู้มีใจรักในเสียงดนตรี และทำให้นึกถึงภาพการทำงานของกองทัพนักดนตรีไทย ที่ต่างตบเท้าเข้าร่วมสร้างผลงานกับวงเสริมมิตรอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ครูชิด แฉ่งฉวี ครูเติม แฉ่งฉวี ครูเจียน มาลัยมาลย์ ครูยรรยงค์ แดงกูร ครูศุภชัย แดงกูร ครูประสงค์ พิณพาทย์ ครูรำพึง โปร่งแก้วงาม ครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ ครูสุธาร บัวทั่ง เรือเอกแสวง วิเศษสุด นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ฯลฯ ทั้งนี้ โดยมีครูเฉลิม บัวทั่ง เป็นผู้ควบคุมวง
“ตอนนั้นครูทำงานอยู่ที่ กทม. คุณเสริมเขาก็ขึ้นไปหาครู เพื่อให้ครูไปช่วยอัดเสียง คุณเสริมท่านสร้างห้องเทปขึ้นที่บ้านของท่าน ซึ่งคนควบคุมในการอัดเสียง ก็คือน้องชายของท่าน ที่ชื่อคุณตุ๋ย ครูจะเข้าไปที่บ้านคุณเสริมทุกๆ วันเสาร์ ซ้อมดนตรีแล้วก็อัดเสียงกันตั้งแต่เช้า จนถึง ๕-๖ โมงเย็นนั่นแหละ ถึงจะกลับ
“ส่วนมากเพลงที่อัดก็จะมีทั้งเก่าและใหม่ ถ้าเป็นเพลงใหม่จะเป็นผลงานของครูเฉลิมทั้งนั้น เช่น เพลงถอยหลังเข้าคลอง ๒ ชั้น ท่านก็ทำเป็นเถา บางทีรีบๆ ท่านนั่งรถเมล์มาบ้านคุณเสริม ก็ได้แล้วหนึ่งเถา ครูเฉลิมท่านว่า ‘ฉันไม่ใช่นักร้องนะ’ แล้วก็โยนเนื้อเพลงมาให้ครูทำทางร้อง ทำกันเดี๋ยวนั้น อัดกันเดี๋ยวนั้น สุดท้ายพอคุณเสริมเสียชีวิต ก็เลิกรากันไป”
แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ผลงานขับร้องเพลงไทยของครูบุญชู ในปัจจุบันถือว่าเป็นของดีที่หาฟังได้ยาก เพราะผลงานเหล่านั้นไม่ได้แพร่หลายสู่ท้องตลาดมากนัก เท่าที่พอจะหาฟังได้ก็มีเฉพาะบางบทเพลงเท่านั้น
ตัวอย่างผลงานขับร้องเพลงไทย ที่ครูบุญชู รอดประสิทธิ์ ได้ร่วมบันทึกเสียงกับวงดนตรีไทยคณะต่างๆ ดังนี้
คณะเสริมมิตรบรรเลง
๑. เพลงแปดบท ๒ ชั้น (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๒. เพลงเขมรโพธิสัตย์ ๒ ชั้น (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๓. เพลงจระเข้หางยาวทางสักวา ๓ ชั้น (วงเครื่องสายผสมออร์แกน)
๔. เพลงจีนแส ๒ ชั้น (วงมโหรี)
๕. เพลงตับมอญกละ(วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๖. เพลงตับอุณรุฑตามกวาง (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๗. เพลงนกเขาขะแมร์ เถา (วงเครื่องสายผสมขิม)
๘. เพลงไอยเรศ ๓ ชั้น (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๙. เพลงตับวันทองห้ามทัพ (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๑๐. เพลงเขมรพายเรือ เถา (วงสายเครื่องผสมปี่พาทย์)
คณะ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์
๑. เพลงชมแสงทอง เถา (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๒. เพลงน้ำลอดใต้ทราย ๒ ชั้น (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
คณะมธุรส
๑. เพลงบุหลันลอยเลื่อน ๒ ชั้น (วงมโหรี)
๒. เพลงสิงโตเล่นหาง ๒ ชั้น (วงมโหรี)
๓. เพลงแขกอาหวังทางชวา เถา (วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ไม้นวม)
คณะปิยมิตร
๑. เพลงเขมรเหลือง เถา (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
วงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร
๑. เพลงระบำไกรลาสสำเริง (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๒. เพลงจีนรำพัด (วงปี่พาทย์ไม้นวม)
๓. เพลงทยอยเขมร ๓ ชั้น (วงปี่พาทย์ไม้แข็ง)
๔. เพลงบุหลัน ๓ ชั้น (วงปี่พาทย์ไม้แข็ง)
๕. เพลงเขมรโพธิสัตย์ เถา(วงปี่พาทย์ไม้แข็ง)
๖. เพลงแป๊ะ เถา(วงปี่พาทย์ไม้แข็ง)
๗. เพลงแขกมอญ เถา (วงปี่พาทย์ไม้แข็ง)
๘. เพลงพม่า เถา (วงปี่พาทย์ไม้แข็ง)
ครูผู้ให้
ครูบุญชูมีคติประจำใจว่า “ผู้ให้ย่อมสุขใจกว่าผู้รับ”
สิ่งที่ครูให้หาใช่สิ่งของหรือทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นคลังความรู้ทางด้านดนตรีไทย ที่ครูเปิดโอกาสให้ศิษย์ได้เรียนรู้ตามความสามารถของตน ด้วยหวังว่า “ศาสตร์แขนงนี้คงไม่สูญหายไปจากสังคมไทย” และในขณะเดียวกัน เมื่อครูเป็นผู้ให้ ครูจะได้รับความสุขกลับคืนมาเสมอ เมื่อเห็นศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าเจริญเติบโตในอาชีพของตน และนำความรู้ไปต่อยอดถ่ายเทให้กับลูกศิษย์หลานศิษย์ในรุ่นต่อๆ ไป
“ครูเริ่มสอนตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ลูกศิษย์รุ่นแรกของครู คือรุ่นของคุณประพาส ศกุนตนาถ ตอนนั้นครูไปสอนพร้อมกับจ่าทรัพย์ วิเศษประภา สมัยนั้นข้าราชการทหาร เขาจะมีวงเครื่องสายออร์แกนเล็กๆ หนึ่งวง หมวดเชษฐ์เป็นคนริเริ่ม ครูเข้าไปสอนร้อง ส่วนจ่าทรัพย์จะสอนเครื่องสาย
“ต่อมาก็สอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งแต่ผู้อำนวยการคนแรก คือ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู แล้วก็มาคุณหญิงสุชาดา คุณหญิงพรรณชื่น ตอนนั้นเป็นอาจารย์พิเศษนะ โรงเรียนบดินทร์เดชา วิทยาลัยเกริก โรงเรียนสันติราชบำรุง สาธิตจุฬา พวกนี้ผ่านมือครูมาหมด
“สอนที่จุฬา คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ แต่ที่ครูไปสอนมันแยกออกมาต่างหาก เพราะเด็กที่นี่มาจากโรงเรียนเตรียมอุดมทั้งนั้น พวกนี้ชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ เขาให้ครูไปช่วยตั้งวง ครูก็บอกว่าเอาสิ แต่เธอต้องซื้อเครื่องดนตรีกันเองนะ เชื่อไหมว่าครูไม่ได้คิดค่าสอนเลย สอนฟรีอยู่ประมาณ ๔ ปี
“ครูเริ่มมาสอนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปลายปี ๔๒ อาจารย์พินิจ ฉายสุวรรณ เป็นคนบอกว่า ‘ถ้าเกษียณแล้วไม่ต้องไปไหน เธอมาอยู่กับฉันที่นี่’ ตอนแรกครูก็บอกว่าไม่ไป เพราะเราจะพักแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ สอนตั้งแต่ดุริยางคศิลป์ยังอยู่ที่คณะอินเตอร์ มีแค่ ป.ตรี กับ ป.โท เท่านั้น อาจารย์ก็มีไม่กี่ท่าน พอมาอยู่ที่นี่ก็สอนเฉพาะเด็กเตรียมอุดม เขาบอกว่าให้ลง ม. ๔- ม. ๖ นะ จะได้เป็นแม่พิมพ์ให้กับเด็กๆ” ครูบุญชูร่ายยาวเกี่ยวกับประสบการณ์สอนดนตรีไทยของครู ก่อนจะลงเอยใช้ชีวิตหลังเกษียณราชการที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้ ครูบุญชูในวัย ๗๑ ปี ยังคงทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้” อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
และเมื่อถามครูว่า “เมื่อไหร่ครูจะพัก”
ครูบุญชูตอบและยืนยันเสียงแข็งว่า ถึงอายุจะย่างเข้าเลข ๗ แต่กำลังใจเกินร้อย ครูขอทำหน้าที่เป็นผู้ให้ต่อไป เพราะครูเชื่อเสมอว่า “ผู้ให้ย่อมสุขใจกว่าผู้รับ”