พิจารณา “เพลงตระ” ในหน้าพาทย์ไหว้ครู*
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
หน้าพาทย์ เพลงที่ใช้ประกอบกิริยาและอารมณ์ตัวละครในการแสดงต่างๆ โดยจำลองการกระทำ พฤติกรรม และอากัปกิริยา (Behavior) มนุษย์ ถ่ายทอดผ่านทำนองเพลงที่จินตนาการหรือสื่อไปในกิริยาและอารมณ์นั้นๆ อีกนัยยะหนึ่ง การบรรเลงหน้าพาทย์ถือเป็นการแสดงความภักดีด้วยศิลปะ เพื่อใช้ต้อนรับสิ่งเหนือธรรมชาติในพิธีไหว้ครูดนตรีนาฏศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าพาทย์ชั้นสูงที่เรียกว่า เพลงตระ
พระตำราครอบโขนละคอน ฉบับหลวง ครั้งรัชกาลที่ ๔ ที่เชื่อว่าเป็นของครูเกษ โขนข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๓ จากหนังสือศิลปะละคอนรำ ธนิต อยู่โพธิ์ ผู้เขียน ปรากฏรายชื่อหน้าพาทย์ไหว้ครูจำนวน ๑๕ เพลง (๑) และพระราชพิธีไหว้ครูครอบโขนละคอนและปี่พาทย์ครั้งใหญ่ ในรัชกาลที่ ๖ จากเล่มเดียวกัน ใช้หน้าพาทย์สำหรับไหว้ครูพิณพาทย์จำนวน ๙ เพลง (๒) ทั้งหมดนี้พบชื่อเพลงที่ส่อเค้าว่าเป็นเพลงตระ ได้แก่ ประโคนทับ (ตระพระปรคนธรรพ) และเชิญเทวดา (ตระเชิญ)
จากผู้เขียนท่านเดียวกัน โขน หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล กล่าวถึงพิธีและลำดับหน้าพาทย์ไหว้ครูในสมุดไทย พบคำวินิจฉัยบางประการที่เกี่ยวข้องกับเพลงตระ ดังความว่า “เพลงตระที่ใช้ในการไหว้ครูก็มีตระเชิญ ตระสันนิบาต และตระพระปรคนธรรพ”
จากหลักฐานเอกสารดังกล่าว แน่นอนว่าการบรรเลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครูคงมีมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ หรือก่อนหน้า แต่ที่น่าสนใจ คือการใช้หน้าพาทย์ในพิธีสมัยนั้นยังไม่ซับซ้อนเท่ายุคหลัง สังเกตได้จากความน้อยของจำนวนเพลง และเพลงที่ใช้เชื้อเชิญหรือบูชาเทวดาชั้นสูง (๓) ยังไม่ใช่เพลงตระอย่างปัจจุบัน
สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของครูสำราญ เกิดผล ครูพินิจ ฉายสุวรรณ และครูพิชิต ชัยเสรี ที่ต่างให้ข้อมูลตรงกัน ว่าเดิมพิธีไหว้ครูดนตรีไม่ใช้หน้าพาทย์ในพิธี หากมีก็ใช้เพลงจากโหมโรงเย็นเป็นหลัก ดังสำนักพาทยโกศลที่ยังคงไม่ใช้หน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครูกระทั่งปัจจุบัน (ช่วงหนึ่งเคยถูกใช้แต่จำนวนน้อยเพลง) หรือคำให้สัมภาษณ์ของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ในหนังสือสาธุการ พิธีกรรมไหว้ครูดนตรีไทย ที่กล่าวถึงครูสิน ศิลปบรรเลง และครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่แต่เดิมก็ไม่ใช้หน้าพาทย์ในพิธีเช่นกัน
ข้อมูลอีกด้าน ได้จากหนังสือหน้าพาทย์ไหว้ครู ตำรับครูทองดี ชูสัตย์ ของครูสำราญ เกิดผล บันทึกโน้ตหน้าพาทย์ไหว้ครูพร้อมประวัติและหน้าที่ใช้งานจำนวน ๔๔ เพลง ในจำนวนนี้เป็นเพลงตระ ๒๑ เพลง หลายเพลงกล่าวถึงครูทองดี ชูสัตย์ (๔) ว่าเป็นผู้ประพันธ์และเป็นต้นเค้าความรู้ ซึ่งแต่เดิมหาใช่ประพันธ์ขึ้นเพื่อนำไปใช้ในพิธีไหว้ครู หากแต่เพื่อนำไปบรรจุในเพลงตับ ดังที่ครูพินิจ ฉายสุวรรณ กล่าวถึงครูช่อ อากาศโปร่ง ที่เล่าว่า “ตระพวกนี้มันอยู่ในปางต่างๆ” ซึ่งปางในที่นี้หมายถึงเรื่องนารายณ์ ๑๐ ปาง นั่นเอง อาทิ
– ตระลงสรงพระพรหม ใช้บรรเลงในตับนารายณ์สิบปาง ตอน สังข์อสูรให้นางผีเสือไปลักคัมภีร์ไตรเวทย์ ขณะที่พระพรหมลงสรงน้ำและนำคัมภีร์วางไว้
– ตระมัฆวาน ใช้บรรเลงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ตอน พระอินทร์ไปช่วยสังข์ศิลป์ชัยขึ้นจากเหว หรือใช้ประกอบการแสดงโขนละครตัวพระอินทร์โดยเฉพาะ
– ตระไตรตรึงษ์ ใช้บรรเลงในตับพระร่วง ตอน พระร่วงสร้างเมือง
– ตระพระพิฆเนศ ใช้บรรเลงในการแสดงโขน ตอน พระพิฆเนศเสียงา
– สาธุการชั้นเดียว ใช้บรรเลงในตับอุณรุท ตอน บวงสรวงพระไทร
การเรียกหน้าพาทย์ไหว้ครูจึงมีการวิวัฒน์ขึ้นเป็นลำดับจากอดีต เพราะจากเอกสารข้างต้นและที่ครูพิชิต ชัยเสรี กล่าวว่า “หน้าพาทย์ไหว้ครูที่ศึกษาจากพ่อพริ้ง ดนตรีรส ใช้เพียงตระ ๙ เสมอ ๖ และพราหมณ์ ๓” (๕) กระทั่งในที่สุดเพลงตระเข้ามามีบทบาทในการเชิญเทวดาและเป็นเพลงประจำองค์ครบถ้วนเกือบทุกองค์ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะอิทธิพลจากหน้าพาทย์ของครูทองดี ชูสัตย์ ที่เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อ ๔๐ ปี ก่อน โดยครูเอื้อน กรเกษม (๖) เป็นผู้นำความรู้ดังกล่าวออกเผยแพร่และถ่ายทอดแก่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ ครูบุญยงค์ เกตุคง และวงปี่พาทย์วัดเศวตฉัตร ฯลฯ กระทั่งใช้บรรเลงแพร่หลายทั่วไปดังปัจจุบัน
นอกจากหน้าพาทย์ไหว้ครูที่มีแต่เดิม รวมถึงเพลงตระจำนวนหนึ่งที่ประพันธ์โดยครูทองดี ชูสัตย์ ระยะต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันได้มีครูอาจารย์ประพันธ์หน้าพาทย์ไหว้ครูและเพลงตระเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายเพลง ดังได้รวบรวมไว้ ณ ที่นี้
– จางวางทั่ว พาทยโกศล ได้แก่ ตระไตรตรึงษ์ สาธุการชั้นเดียว
– ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้แก่ ตระเทวาประสิทธิ์
– ครูพุ่ม บาปุยวาทย์ ได้แก่ ตระพระวิษณุกรรม
– ครูสมาน ทองสุโชติ ได้แก่ ตระพระวิสสุกรรม (อีกสำนวนหนึ่ง) ตระพระปัญจสิงขร เสมอลิง
– ครูบุญยงค์ เกตุคง ได้แก่ ตระนาฏราช
– ครูสำราญ เกิดผล ได้แก่ ตระพระปัญจสิงขร (อีกสำนวนหนึ่ง) ตระพระศิวะเปิดโลก ตระนาง (ตระมณโฑหุงน้ำทิพย์) ตระถวายพระกระยาหาร ตระนวมินทราธิราช ตระพระแม่แห่งแผ่นดิน ตระทูลกระหม่อมบริพัตร ตระพระบรมโอรสาธิราช ตระสมเด็จพระเทพรัตน์
– ครูพินิจ ฉายสุวรรณ ได้แก่ ตระพระสยามเทวาธิราช เสมอพญาวานร ลาสังเวย
– ครูวิจักขณ์ เย็นเปี่ยม ได้แก่ ตระพระพิรุณประทานพร ตระฤๅษีร้อยแปด ตระนารายณ์ทรงสุบรรณ
– ครูเดชน์ คงอิ่ม ได้แก่ ตระพระตรีมูรติ ตระพระพิฆเณศประทานพร ตระพระขันธกุมาร ตระพระลักษมี ตระพระสุรัสวดี ตระอัมรินทร์ เสมอฤๅษีอาคมอุดมโชค เสมอฤๅษี เสมอปัญจฤๅษี จตุโลกบาลทั้งสี่
– ครูขุนอิน โตสง่า ได้แก่ ตระจักรพงษ์ภูวนาถ
โบราณจารย์ได้วางแบบแผนการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนหน้าพาทย์ชั้นสูง โดยเฉพาะเพลงตระ ว่าควรมีอายุครบบวชหรืออายุ ๓๐ ปี ขึ้นไป (กรณีต่อองค์พระพิราพเต็มองค์) หรือควรผ่านการบวชเรียนและศึกษาดนตรีสูงถึงจุดหนึ่ง ประพฤติดีรู้ผิดชอบและมีลักษณะเป็นหัวหน้าคน จึงอนุญาตให้ศึกษาและทำการถ่ายทอดให้ โดยผ่านขั้นตอนพิธีกรรมและความเชื่อ ดังครูสำราญ เกิดผล กล่าวถึงครูช่อ สุนทรวาทิน ที่เล่าให้ตนฟังว่า เมื่อต่อองค์พระพิราพเต็มองค์จากครูทองดี ชูสัตย์ ได้มีพิธีไหว้ครูก่อน จากนั้นจึงเข้าไปต่อในโบสถ์วัดกัลยาณมิตร
ซึ่งแต่เดิมเพลงเหล่านี้ถือเป็นเรื่องลับปกปิดและเป็นที่หวงแหนมากในหมู่นักดนตรีไทย ดังที่ครูสำราญ เกิดผล เล่าว่า ตนทำหน้าพาทย์ที่โบสถ์พราหมณ์กับครูช่อ สุนทรวาทิน พราหมณ์เรียกตระพระพิฆเนศ ครูช่อให้ตีตระโหมโรงตัวต้น รัวสามลา เข้าม่าน หรือตระพระปรคนธรรพ ท่านให้ตีตระนอน โดยตัดทำนองต้นออกหนึ่งไม้ เพื่อเป็นวิธีแก้ แต่ไม่ต่อตัวเพลงให้ หรือที่ครูพิชิต ชัยเสรี กล่าวถึงครูพริ้ง ดนตรีรส ที่เล่าว่า สมัยเด็กอยู่วงดนตรีวังจันทร์ หน้าพาทย์ขึ้นเมื่อไหร่ พระยาประสานดุริศัพท์มักกดคอตนให้ลงกราบเสมอ นัยว่าไม่ประสงค์ให้จดจำทำนอง
ถ้ามองในด้านนักวัฒนธรรม เกณฑ์หรือความเคร่งครัดดังกล่าวถือเป็นกระบวนการปกป้องวัฒนธรรมไม่ให้กลายหรือเสื่อมสลาย เพราะจำเป็นต้องคัดคนที่เหมาะสมเพื่อการสืบทอดอย่างเต็มที่ และแน่นอนว่า ผู้นั้นจะต้องไม่ทำลาย บิดเบือน หรือใช้ศิลปะในทางเสื่อม ด้วยมีข้อห้ามและบทลงโทษที่เข้มงวด ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะความเชื่อหรือคำบอกเล่า เช่น ถ้าบรรเลงหน้าพาทย์ชั้นสูงผิดหรือกระทำด้วยความไม่สำรวมก็จะเป็นไปในอาการต่างๆ
แต่ถ้ามองในด้านรหัสนัย ครูพิชิต ชัยเสรี กล่าวว่า “เชื่อว่าหน้าพาทย์ชั้นสูงเป็นทิพยดล เป็นสิ่งที่เทวดาให้แรงบันดาลใจ มนุษย์จึงรังสรรค์ออกไป ฉะนั้นจึงเป็นของเทวดา เวลาเราบรรเลงก็ควรต้องอาศัยบริบทที่มีพลังบางอย่างพอที่จะรับสิ่งนั้น ตัวอย่าง เครื่องทรงพระมหากษัตริย์ หรือจีวรพระ ถามว่าเอามาใส่นี่ดีไหม มันเป็นวิธีการหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเราเหมาะสมที่จะรับสิ่งนั้น มันก็สอดรับกันไม่เป็นอันตราย”
หรือด้านการบรรเลง หากนำเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาก็อาจเป็นไปได้ว่า ผู้ศึกษาดนตรีสูงถึงจุดหนึ่งหรือมีอายุครบ ๓๐ ปี ย่อมสามารถแยกแยะและเข้าใจการปฏิบัติที่เหมาะสมกับทำนองเพลงในหลายลักษณะ โดยเฉพาะหน้าพาทย์ชั้นสูงที่ต้องการการสำแดงอารมณ์ผ่านการตีความและเข้าถึงอารมณ์ของบทเพลง เพราะแน่นอนว่าผู้นั้นต้องเคยประสบสุขทุกข์จนกระทั่งเข้าใจชีวิต ดังอาจารย์บุญเหลือ เทพยสุวรรณ กล่าวว่า “เด็กมัธยมจะอ่านอิเหนารู้เรื่องได้อย่างไร เพราะไม่เคยผ่านความคมแสบอะไรเลยในชีวิต”
ทั้งนี้ ความพิเศษของเพลงตระ นอกจากจะกล่าวถึงความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติแล้ว หากพิจารณาทำนองเพลงจะพบว่า สังคีตาจารย์ได้วางรูปแบบมือฆ้องเฉพาะอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งต่างจากมือฆ้องปกติ ไม่ว่าจะเป็นเพลงเรื่อง เพลงเสภา หรือกระทั่งหน้าพาทย์ทั่วไป ด้วยความลึกซึ้งของทำนองเพลงและสำนวนเพลงลักษณะ “ปิด” แม้ความยาวจะไม่มาก แต่ก็ใช่ว่าจะใช้ฝีมือบรรเลงได้เท่านั้น เพราะจะปฏิบัติอย่างไรจึงเข้าลักษณะ ตีหน้าพาทย์ต้องตีให้กลัว
นอกจากเกณฑ์บังคับและข้อห้ามต่างๆ ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อคงไว้ซึ่งความ “ศักดิ์สิทธิ์” โบราณจารย์ยังได้วางกรอบที่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าพาทย์ชั้นสูง (๗) เพื่อความเรียบร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในวงดนตรี หรือผู้บรรเลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครูที่ถูกสงวนไว้สำหรับเพศชายโดยเฉพาะ (๘) แม้ว่าจะไม่ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในหมู่นักดนตรีไทย ว่าหน้าที่ปฏิบัติหน้าพาทย์ไหว้ครูควรเป็นของเพศชายจึงเหมาะสม อาจเป็นเพราะสรีระเพศหญิงไม่อำนวยต่อการปฏิบัติดนตรีที่ต้องใช้แรงอย่างเครื่องปี่พาทย์ และยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงการต่อองค์พระพิราพเต็มองค์ที่ต้องผ่านการบวชเรียนเป็นภิกษุก่อนด้วยซ้ำ
กระทั่งความเหมาะควรในการประพันธ์เพลงตระขึ้นใหม่ โดยอาศัยการพิจารณาจากหน้าที่ใช้งาน คุณวุฒิ วัยวุฒิ และภูมิธรรมความรู้ของผู้ประพันธ์ หรือชาติวุฒิของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญตามแต่ที่อนุชนรุ่นหลังจะน้อมนำไปปฏิบัติอย่างเคารพและมีวิจารณญาณ และอีกหลายประเด็นที่ฝากใคร่ครวญเพื่อทำความเข้าใจกันต่อไป
ท้ายนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักเกณฑ์หลายอย่างในการศึกษาหน้าพาทย์ไหว้ครู โดยเฉพาะเพลงตระ ได้รับการปรับให้สมสมัย แม้ความเชื่อบางอย่างก็ถูกลดทอนและท้าทายด้วยความล้ำสมัยของเทคโนโลยี ดังปรากฏว่ามีผู้นำเพลงองค์พระพิราพเต็มองค์ไปเปิดขยายเสียงในงานฌาปนกิจศพด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือนี่จะเข้าลักษณะธรรมดาของศิลปะที่จะต้อง “คลี่คลาย” และ “เสื่อมสลาย” ไปตามกาลเวลา
บรรณานุกรม
ชิ้น ศิลปบรรเลง. (๒๕๔๑). สาธุการ พิธีกรรมไหว้ครูดนตรีไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ปิ่นเกล้าการพิมพ์.
เดชน์ คงอิ่ม. (๒๕๔๕). “๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ เพลงหน้าพาทย์ไหว้ครู”. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เสมาธรรม.
ธนิต อยู่โพธิ์. (๒๕๓๑). ศิลปะละคอนรำ หรือคู่มือนาฏศิลป์ไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล. (๒๕๐๐). โขน พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร: ร.พ. บริษัท สหอุปกรณ์การพิมพ์ จำกัด.
ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๖). สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดอรุณการพิมพ์.
สำราญ เกิดผล. (๒๕๔๘). เพลงหน้าพาทย์ไหว้ครู ตำรับครูทองดี ชูสัตย์. เอกสารสำเนาเย็บเล่ม.
อภินันท์ จุลดิษฐ์. (๒๕๕๖). ดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรี-นาฏศิลป์. กรุงเทพมหานคร: อักษรสยามการพิมพ์.
สัมภาษณ์
เดชน์ คงอิ่ม. สัมภาษณ์. ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗.
พิชิต ชัยเสรี. สัมภาษณ์. ๘ มิถุนายน ๒๕๕๗.
พินิจ ฉายสุวรรณ. สัมภาษณ์. ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗.
สำราญ เกิดผล. สัมภาษณ์. ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗.
เชิงอรรถ
(*) ปรับปรุงและเพิ่มเติมจากบทความ เรื่อง พิจารณา “เพลงตระ” ในหน้าพาทย์ไหว้ครู ตีพิมพ์ลงในสูจิบัตรงานไหว้ครูดนตรีไทย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พฤหัสที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗
(๑) (สะกดตามต้นฉบับ) ๑. สาธุการ ๒. ประโคนทับ ๓. เชิญเทวดา ๔. เหาะ ๕. โหมโรง ๖. ลงสรง ๗. เชิด ๘. เซ่นเหล้า ๙. พราหมณ์เข้า ๑๐. รำดาบ ๑๑. โปรยข้าวตอกดอกไม้ ๑๒. เสมอสามลา ๑๓. มหาชัย ๑๔. เวียนเทียน ๑๕. กราวรำ
(๒) (สะกดตามต้นฉบับ) ๑. เชิด ๒. พราหมณ์เข้าม่าน ๓. เสมอผี ๔. เสมอมาร ๕. นั่งกิน ๖.เซ่นเหล้า ๗. มหาฤกษ์ ๘. เพลงโปรยข้าวตอก ๙. เสมอ ๓ ลา
(๓) เพลงเหาะ เชิญพระอิศวร เพลงแผละ เชิญพระนารายณ์ เพลงกลม เชิญเทวดาอื่นๆ เพลงโหมโรง เชิญครูละคอน เพลงช้าเพลงเร็ว สำหรับครูมนุษย์ เพลงกราวนอก สำหรับครูพานร เพลงเชิดฉิ่ง สำหรับครูนาง เพลงคุกพาทย์ สำหรับครูยักษ์
(๔) ครูทองดี ชูสัตย์ เป็นครูใหญ่ของสำนักดนตรีพาทยโกศล มีศักดิ์เป็นน้าของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และปู่ของจางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นนักดนตรีที่ทรงภูมิความรู้ด้านดนตรีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพลงหน้าพาทย์ ได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นผู้บอกเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ แก่นักดนตรีประจำกรมมหรสพ เมื่อทำพิธีไหว้ครูครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗
(๕) ตระ ๙ หมายถึง ตระนอน ตระนิมิต ตระบรรทมสินธุ์ ตระบรรทมไพร ตระพระปรคนธรรพ ตระประทานพร ตระสันนิบาต ตระเชิญ ตระเทวาประสิทธิ์ เสมอ ๖ หมายถึง เสมอผี เสมอมาร เสมอเถร เสมอเข้าที่ เสมอข้ามสมุทร เสมอตีนนก พราหมณ์ ๓ หมายถึง พราหมณ์เข้า พราหมณ์ออก ดำเนินพราหมณ์
(๖) ครูเอื้อน กรเกษม เป็นลูกศิษย์ครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ต่อเพลงกับศิษย์รุ่นพี่ภายในสำนัก เช่น ครูฉัตร ครูช่อ สุนทรวาทิน ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นายพังพอน แตงสืบพันธุ์ นายละม้าย พาทยโกศล ฯลฯ เป็นนักดนตรีประจำวงพาทยโกศล และได้เป็นครูดนตรีสอนศิษย์รุ่นหลังของวงต่อมา ครูสำราญ เกิดผล เล่าว่า “ครูเอื้อนเป็นคนสนิทครูช่อ สุนทรวาทิน แต่ท่านเป็นคนอาภัพ มือไม้ไม่ดี แต่ตีกลองทัดดี โดยเฉพาะกลองทัด ๓ ใบ ได้ร่ำเรียนหลักวิชาไว้มาก ครูช่อท่านว่า ‘เอื้อน ฝีมือมึงตีหมาไม่ตาย ต่อหน้าพาทย์มากๆ ต่อไปจะได้เป็นครูคน’ ท่านจึงได้หน้าพาทย์จากครูช่อเอาไว้มาก”
(๗) ครูพินิจ ฉายสุวรรณ กล่าวว่า “หน้าพาทย์ชั้นสูงเป็นเพลงมงคล ฆ้องเล็กระนาดทุ้มไม่ควรใช้ทาง แต่เมื่อปรับทางให้เหมือนกัน ระนาดก็ดันออกนอกลู่เสียแล้ว ระนาดตีไหว้ครูต้องอย่าทิ้งทำนอง ใครจะว่าไม่มีทางตีก็ช่างเขา เราต้องรักษาทำนองเพลงเอาไว้เพื่อความเรียบร้อย” ครูสำราญ เกิดผล กล่าวว่า “ครูช่อ สุนทรวาทิน ท่านบอกว่า ลู่ทางระนาดตีหน้าพาทย์ชั้นสูงต้องลงเสียงต่ำๆ หาวิธีตีข้างล่างให้มาก เสียงสูงมันแหววๆ ไม่หนักแน่น เพราะท่านว่าหน้าพาทย์ชั้นสูงเหมือนกับเจ้าใหญ่นายโตมีอำนาจวาสนา เป็นถึงเจ้าพระยานะ ผู้ใหญ่เสียงเล็กนี่ใช้ไม่ได้ ผู้ใหญ่มีบารมีต้องเสียงใหญ่ เสียงเล็กคบได้อย่างไร”
(๘) บันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยใช้นักศึกษาผู้หญิงบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครูตั้งแต่เริ่มต้นกระทั่งเสร็จสิ้นพิธี

วงปี่พาทย์บรรเลงหน้าพาทย์ไหว้ครู พิธีไหว้ครูดนตรีไทย คณะครูรวม พรหมบุรี (รวมศิษย์บรรเลง) วัดมหาธาตุวรวิหาร จ.ราชบุรี วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ)
ดีครับ
ตระ/กระ/กละ ทางเขมรก็มี ถือเป็นเพลงครู หรืออยูในกลุ่มเพลงครู เช่นกัน
มีประเด็นที่ติดอยู่คือ ตระหรือกระ แปลว่า หรือมีที่มาอย่างไร (ผมยังไม่เจอชัด)
จากชื่อเพลงตระ ผมนำเสนอที่มาเบื้องต้นคือ
1) เพลงกำกับการเชิญองค์ทพต่างๆ ตามชื่อทั้งระบุและไม่ระบุ
2) เพลงกำกับกิจกรรมหรือพิธี/ช่วงของพิธี เช่น นิมิต นอน ประธานพร บรรทมไพร เป็นต้น