จักรี มงคล นักซอสามสาย

จักรี มงคล
นักซอสามสาย
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: กันต์ อัศวเสนา

จักรี มงคล บุคคลที่ไม่เคยห่างหายจากงานและเวทีบรรเลงดนตรีไทย ทั้งรับเชิญในฐานะนักดนตรี ผู้ฟัง และกรรมการตัดสิน มีฝีมือสร้างซอสามสายประณีตให้เสียงดังถูกใจนักเล่น ไม่แพ้รสมือสีซอสามสาย “อร่อย” ถูกใจนักฟัง โดยเฉพาะเดี่ยวชั้นสูงอย่างเชิดนอก กราวใน ทยอยเดี่ยว ที่นักเลงปี่พาทย์ดีกรีศิลปินแห่งชาติ ครูบุญยัง เกตุคง ยังเคยเอ่ยปากชมมาแล้วครั้งหนึ่ง

กล่าวโดยย่อก่อนเจียรนัยให้ฟังย่อหน้าถัดไป จักรีเกิดที่ จ.นครศรีธรรมราช บิดามารดาเป็นแพทย์และพยาบาล เริ่มสนใจเรียนรู้โลกดนตรีไทยจากรายการวิทยุโทรทัศน์เมื่อ ๔๐ ปีก่อน เข้าศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังรับทุนไปเรียนซ่อมสร้างเครื่องสายฝรั่งที่อังกฤษ เป็นศิษย์ซอสามสายเพียงไม่กี่คนของ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ที่ฝึกฝีมือและต่อยอดความรู้กระทั่งมีเอกลักษณ์สีซอสามสายเฉพาะตน

“อยู่ ม. ๒ ยังไม่มีพื้นซอสามสาย ตีระนาดก่อนด้วยซ้ำ เราเป็นแฟนเพลงดนตรีไทยทุกรายการ ช่องโทรทัศน์ ดร.อุทิศ แนะนำเพลงไทย บ่ายเสาร์เว้นเสาร์ สลับรายการดนตรีคราสสิกของ อ.ชูชาติ พิทักษากร ทิพวาทิต ช่อง ๙ อาทิตย์เย็น อังคารเครื่องสายผสม คณะเจ้าพระยารามฯ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยมีทั้งเช้า กลางวัน เย็น กลางคืน ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต แนะนำฝึกร้องเพลงไทย ร้องเองตีระนาดเอง เสริมมิตรบรรเลงคลื่น ๙๔ ส่วน ดร.อุทิศ มีทุกวัน

“เอาเข้าจริงต้องแม่ แม่ซื้อเทปมาม้วนหนึ่ง ครูหลวงไพเราะฯ สีซอสามสายแทนร้อง เพลงตับวิวาห์ รับวงปี่พาทย์ไม้นวม สีหวานจนหลงรัก เวลาไปเรียนก็เอาเครื่องเล่นเทปไปด้วย รถโรงเรียนเทียวรับคนอื่นเราก็เปิดฟัง จุดนั้นจึงหันมาเรียนซอสามสายกับ ดร.อุทิศ เพราะบ้านท่านอยู่ปากซอย บ้านเราอยู่ท้ายซอย หลังๆ เรียนฟรี ท่านคงเห็นแวว

“ดร.อุทิศ ดุ! ดุจนน้ำตาไหล หนักๆ ขว้างของด้วย ด่าใครด่า พูดจาโผงผาง อ.แก้ว (ดุษฎี สว่างวิบูลย์พงศ์) มาร์ค (มารุธ วิจิตรโชติ) ก็เรียน พอท่านรู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็ง ตีห้าก็ให้ไปสีซอหน้าห้องท่านเกือบทุกวัน ไม่สบายหนักก็เว้น ต่อวันละคำ สอนๆ ก็นอนพัก ตื่นขึ้นมาเปลี่ยนทางอีกต่างหาก แต่กราวในนี่ไม่เปลี่ยน เพลงนี้ท่านสีทื่อมาก สีโต้งๆ เหมือนตีฉาก รู้ทีหลังว่าหลายเพลงเป็นแบบฝึกหัด ต้นเพลงฉิ่ง นกขมิ้น ปลาทอง เรียนกับท่าน ๓ ปี ปี ๒๕ ก็เสีย”

ขณะที่ชีวิตนักซอสามสายของจักรีเริ่มต้นขึ้น ความสนใจและความสามารถงานช่างเครื่องดนตรีไทยของเขาก็ดำเนินไปพร้อมกัน จากซอกระป๋องฝึกทำกับรายการโทรทัศน์ มาถึงแยกชิ้นส่วนซอสามสายเลี่ยมงาคันแรก ราคา ๖,๕๐๐ บาท เพื่อศึกษาอย่างกล้าได้กล้าเสีย กระทั่งสร้างซอสามสายงาทั้งคันด้วยตนเองตั้งแต่ยังไม่เข้าปริญญาตรี ปัจจุบัน เขาถือเป็นช่างซอสามสายชั้นแนวหน้าในจำนวนน้อยที่นับคนได้

“ช่างแต่ก่อนไม่สอนกัน เราเอาซอไปทำบ้านช่างจรูญ คชแสง ช่างกรมศิลปากร แถวพรานนก ใกล้บ้านครูจิรัส อาจณรงค์ ไปทีก็แอบดูที นั่งจนแกว่า ‘เฝ้าอย่างนักโทษ’ หลังๆ ไปถึงแกเก็บเครื่องมือหมด กินเหล้าแทน เราเรียนรู้โดยวิธีสังเกต สยามวาทิต ดุริยบรรณ ตกเย็นเดินไปขึ้นรถ ผ่านหลังร้านก็มอง ตากหนังอย่างไร ขึ้นหน้าและกลึงอย่างไร

“โทนรำมะนาซอสามสาย ขึ้นหนังตึงสำคัญสุด เสียงโทนต้องวงวัชรบรรเลง ฟังตั้งแต่เด็ก เพราะกินใจ ครูผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า ‘สามสายดังได้แค่นั้น เอาไว้ประดับวง’ เรานี่ฉุนเลย แรงผลักดันได้จาก ดร.อุทิศ เพราะเราซื้อซอไม่บอกท่าน บ่นทุกวัน สั่งสมความรู้จากตรงนั้น แต่ก่อนไปหาทุกช่าง ขึ้นไม่ดัง คุยกันจัง ซื้อมาถ้าขึ้นหน้าไม่ตึงก็เจาะทะลุ ซอเรา อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน สีครั้งแรกสะดุ้งนะ”

จักรีเผยว่า เขาได้แรงบันดาลใจเรื่องสัดส่วนกระสวนซอจากภาพซอสามสายในมือผู้หญิงชุดไทยปฏิทินปี ๒๑ หลังพบซอคันดังกล่าวที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด พร้อมถอดลักษณะและวัดสัดส่วนจากภาพถ่ายเพื่อใช้เป็นต้นแบบ ภายหลังได้ปรับตามรสนิยมตน โดยเพิ่ม “เอว” ทวนล่างทวนบนเพื่อความอ่อนช้อยเมื่อมองจากด้านตรง และสร้างซอลักษณะ “อาจ” แต่ไม่ “แอ่น” เมื่อมองจากด้านข้าง ที่เขาบอกว่ามีผลโดยตรงต่อการบรรเลง

“โบราณสร้างซออาจ คืออาจรับอุ้งมือ ถ้าโค้งงอเสียงจะลอย หนังไม่ตึงต้องเพิ่มหย่องให้สูง เหยียบหน้าซอแล้วดัง แต่อาจแค่ไหนไม่รู้ก็กลายเป็นแอ่น สมมุติตั้งท่าถูก ชายตา ซอปักชัน วางซอบนมือโดยปล่อยนิ้ว ถ้าอาจพอดีซอจะไม่พลิก อิสระ ถ่ายน้ำหนักซ้ายขวาสะดวก ลงนิ้วแค่แตะ ถ้าซอแอ่นทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะนิ้วโป้งต้องหนีบ ไม่อย่างนั้นซอพลิก หลุดมือ ไม่อิสระเพราะคอนซอลำบาก”

ปี ๓๘ จักรีเขียนบทความ เรื่อง “ศาสตร์แห่งการปรุงแต่งซอสามสาย” ลงหนังสือเพราะพร้องซอสามสายร่ายลำนำ ที่ระลึกไหว้ครูดนตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าวิธีสร้างซอจากประสบการณ์ส่วนตัว เปรียบเทียบวัสดุขึ้นหน้าแต่ละชนิดว่าให้เสียงต่างอย่างไร นอกจากนี้ เขายังเป็นช่างที่นำหนังแพะกลับมาใช้ขึ้นหน้าซออีกครั้ง หลังช่วงหนึ่งหลายช่างนิยม “หนังกลองแต๊ก” ด้วยให้เสียงดังกว่า กระทั่งครูเฉลิม ม่วงแพรศรี เคยให้ทัศนะในข้อเขียน “เครื่องสายบ่น” ว่า “ซอสามสายใช้หนังกลองแต๊กกันหมด หนังสดไม่มีแล้ว”

“หนังกลองแต๊กมันดัง เพราะบางกว่าหนังสัตว์ ซอทวนนากถึงดังขนาดนั้น ซอครูประเวช กุมุท ที่สีเพลงทะแยอัดเสียงของกรมศิลป์ ก็หนังกลองแต๊ก ช่างจรูญ คชแสง เป็นคนทำ จุดนั้นช่างจึงหามาขึ้นกัน แต่เราสันนิษฐานว่า ทูลกระหม่อมบริพัตรเป็นคนเริ่ม หนังนำเข้าจากเยอรมัน ชุบน้ำก่อนขึ้น เดี๋ยวนี้ตัวหนังไม่ผลิตแล้ว เข้าใจว่าช่างสมชัย ชำพาลี ยังมีอยู่ เพราะซื้อตุนไว้มาก

“บางรองลงมาคือหนังท้องแพะ ที่ว่าขึ้นแล้วขาดเพราะไม่ได้ดามหนัง ดามที่เกี่ยวตะปู พูดอย่างนี้ช่างด้วยกันคงรู้ ก่อนขึ้นหน้าต้องยืดหนังให้สุด ขึ้นสดไม่ทันตึงก็ขาด ยำหนังก็เอาสากตำหนังกับพื้น ที่ว่ายำกับเครื่องแกงไม่จริง อย่าไปเชื่อ ไม้แก้วแตกง่ายสุด ก่อนทำต้องปล่อยแตกให้เสร็จ แล้วเลือกใช้ โบราณเรียกไม้มันหาว ตอนนี้เราหันมาทำทวนกัดกรด เพราะนิยมมาก่อนทวนมุก ทำกระจับปี่ แต่โทนรำมะนาซอสามสายยังไม่ทิ้ง เอาเข้าจริงงานช่างต้องเรียน ความรู้จากกระดาษไม่เท่าลงมือจริง”

เครื่องดนตรีไทยจากผลงานสร้างของจักรี ไม่เพียงความรู้และประสบการณ์ครูพักลักจำจากช่างไทยที่เขาบรรจุลงไปเท่านั้น หากแต่ได้ผสานความรู้งานช่างเครื่องสายตะวันตกลงไปด้วย โดยเฉพาะเวลา ๑ ปี ที่เขารับทุนไปศึกษางานช่างดังกล่าวที่อังกฤษ มีผลให้มุมมองด้านงานช่างไทยบางอย่างของเขาเปลี่ยนไป กระทั่งช่วงหนึ่งเคยเลิกสร้างซอสามสายแล้วหันไปซ่อมไวโอลินแทน

“อ.ชูชาติ พิทักษากร เป็นคนส่งไป ตื่นเช้าก็นั่งเหลาไม้เหลาหย่อง เรียนรู้ความละเอียดลออของเขา เข้าไม้ ใช้กาว ฝีมือช่างทางโน้นลากเป็นสาแหลกเลยนะ คนดนตรีไทยไม่ค่อยรู้ว่าเราทำทางนี้ได้ เคยซ่อมไวโอลินจนมีชื่อ วง BSO ลูกค้าเราทั้งนั้น อ.ชูชาติ พิทักษากร ทุกวันนี้ก็ยังไว้วางใจ ตอนนี้ยังซ่อมอยู่ร้านแถวอรุณอัมรินทร์ งานคอหัก คอหลุด หน้าแตก ที่สุดคือประสานรอยแตกไม่ให้เห็น รับน้ำหนักได้ นั่นแหละสุดยอดการซ่อม”

นอกจากนี้ เครื่องดนตรีประเภทซอที่สร้างจากเรซิ่น จักรียังคิดวิธีไม่ให้งอหักตามอายุใช้งานอย่างสำเร็จเป็นรายแรกๆ โดยใส่แกนอลูมิเนียมขณะหล่อก่อนกลึงเป็นคันซอ และสร้างกะโหลกซออู้จากวัสดุดังกล่าวที่ให้เสียงดังไม่แพ้กะลามะพร้าว ประโยชน์เหมาะใช้งานในต่างแดน เพราะให้ผลน้อยเมื่อเทียบเครื่องดนตรีไม้จริงที่อาจแตกรานหากอุณหภูมิเปลี่ยน ทั้งเป็นวัสดุทางเลือกสำหรับอนาคต

เพิ่มเติมเรื่องรกรากและเส้นทางนักซอสามสายของจักรี ก่อนเข้าศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอยู่บ้านซอยจักรี นวมินทร์ ๑๑๑ กรุงเทพฯ อย่างปัจจุบัน จักรีเคยศึกษาที่ ร.ร.อนุบาลสระบุรี ร.ร.ไผทอุดมศึกษา หลักสี่ กรุงเทพฯ และ ร.ร. สวนกุหลาบ ด้วยต้องใช้ชีวิตและเข้าเรียนยังจังหวัดที่บิดาย้ายไปประจำการ หากแต่พื้นเพเดิมครอบครัวมงคลอยู่ จ.พัทลุง

“ปู่คนรองชื่อพิทยา ผู้พิพากษาศาลฎีกา คนนี้ซอขิมหัดเอง สั่งโน้ตจากดุริยบรรณ พี่น้องปู่ ๕ คน ตั้งวงเครื่องสายสมัครเล่น เด็กๆ เราทันเห็น เอาโน้ตเกี่ยวพนักพิงเก้าอี้ โน้ตลายมือปู่ยังอยู่ แรกเริ่ม ครูนิยม มดแสง ครู ร.ร.สรกิจพิทยา ศิษย์บ้านสมเด็จฯ มาสอนที่บ้าน แม่เรียนขิม เราเรียนซอด้วง เข้าสวนกุหลาบได้พบครูอีกหลายท่าน ครูโองการ กลีบชื่น ครูเมธา หมู่เย็น ครูจันทร์ โตวิสุทธิ์ ช่วงนี้แหละที่เรียนกับ ดร.อุทิศ

“ขึ้นปี 1 จุฬาฯ ชีวิตยังไม่เปลี่ยน ลูกคุณหมอใช้ซองา สียันกราวใน ก็เท่ย์สิ เรียนซอสามสายกับครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ปี่ในปี่ชวาด้วย ต่อสดบ้าง ครูเขียนโน้ตให้บ้าง เพลงทยอยเดี่ยวไม่ได้ขอท่านนะ ปีนั้นไหว้ครู ครูเนียรชอบแกงเนื้อ เราก็ทำ กินกันขอดหม้อ เสร็จงานครูตามตัว ‘ดีเว้ย! มีฝีมือ ขาดอะไรบ้างล่ะ’ วิฉันท์ บัวจุม รุ่นพี่บอก เขาไม่ได้ทยอยเดี่ยวครับ รุ่งขึ้นครูยื่นโน้ตให้เลย ครูน่ารัก ถ่อมตัวมาก”

ภาพความจำของหลายคน จักรีเป็นซอ “ไหว” มากกว่าซอ “หวาน” ด้วยเพลงที่เลือกเล่นมักอวดฝีมือ มีลีลาจังหวะกระชั้นกระชับ อย่างปี ๔๔ ที่เดี่ยวซอสามสายเพลงเชิดนอก งาน ๑๒๐ ปี ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โรงละครแห่งชาติ และอีกหลายงานเป็นต้น แต่เจ้าตัวบอกปฏิเสธ เพราะสามารถสีหวานได้ดีไม่แพ้กัน สีพญาโศกถูกใจจักรพันธุ์ โปษยกฤต (ศิลปินแห่งชาติ) กระทั่งรับเชิญให้เป็นคนซองานหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายของมูลนิธิจักรพันธุ์ฯ ถึงวันนี้กว่า ๑๐ ปี

“ครูเนียรเคยบอกเรา ‘จักรี เธอสีซอโศกเหมือนทศกัณฐ์ร้องไห้ โฮๆ’ เราสีได้หมด คลอร้องอย่างหนึ่ง สีพื้นเข้าเพลงอย่างหนึ่ง ถ้าคนร้องแม่น เราไปอีกทาง คนฟังต่างกลุ่มยังสีต่างกัน สิ่งนี้ได้จาก ดร.อุทิศ ท่านบอกอันนี้แบบฝึกหัด ช่ำชองแล้วไปเปลี่ยน อย่าเรียน ก.ไก่ อยู่อย่างนั้น บุหลันลอยเลื่อนเมื่อร้อยปีก็ลูกนี้ ร้อยปีหน้ายังลูกนี้ไหม อย่าว่าแต่คนฟังเบื่อ คนเล่นยังเบื่อตัวเอง ลอกครูยังไงก็ไม่เหมือน นักดนตรีต้องฝึกคิดพร้อมฝึกฝีมือ

“เห็นเดี่ยวซอสามสายหลายงาน เราไม่ได้โชว์นะ เจ้าภาพไม่ขอไม่เคยสี คนไม่เข้าใจว่าเราอหังการ เดี่ยวอย่างนี้คือให้เกียรติเจ้าภาพ สีเพลงใหญ่ แล้วใช่ว่าทำไม่ถึง ครูเนียรสั่งไว้ เก็บเป็นสมบัติเหมือนนาฬิกาพก ถึงเวลาค่อยหยิบดู อย่างไหว้ครูบ้านจรรย์นาฏย์ เราสีเพลงอื่นอยู่ เจ้าภาพขอทยอยเดี่ยว ครูบุญยัง เกตุคง ว่า ‘ได้ยินว่าเด็ดจังพ่อคุณ อยากฟัง ร้ายๆ’ ก็ต้องสี เดี๋ยวว่าจักรีสีเพลงอื่นไม่ได้”

ทุกวันนี้ จักรีใช้เวลาส่วนหนึ่งที่ ม.เกษตรศาสตร์ เพราะเขาไปเป็นครูซอสามสายที่นั่น นอกจากนี้ ยังติดตามงานดนตรีไทยทั้งหน้าเวทีและโลกเสมือนจริงอย่าง Youtube.com และ Factbook.com อีกส่วนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่โรงช่างและห้องเครื่องดนตรีที่บ้าน สะสมเครื่องดนตรีเก่าและสร้างใหม่ทั้งเครื่องสายปี่พาทย์ แบ่งปันความรู้งานช่างและสอนทักษะซอสามสายแก่ผู้สนใจ

“เด็กรุ่นใหม่สนใจเล่นมากกว่าทำเครื่อง มีมาบ้างแต่ไม่เอาจริง ทำได้มักดื้อ บอกอย่างนี้ทำอย่างนั้น แหม… คนเป็นครูผิดมาก่อน กลึงรำมะนานิ้วแหก เราก็ไม่อยากให้แหกตาม ดนตรีไทยทุกวันนี้ เด็กส่วนใหญ่เรียนเพื่อสอบเข้า หรือไม่ก็เข้าระบบแข่งขัน น้อยคนที่เรียนเพราะสุนทรีย์ รวมถึงหลายคนไม่รู้กาลเทศะ ลำดับความสำคัญไม่ถูก เสียไม่ได้ก็ต้องรับเป็นศิษย์ เพราะคนฝาก อันนี้ปัญหาหนักใจของคนเป็นครู

“อนาคตไม่ฝันอะไร ทุกข์น้อยลงก็พอ อยู่กับดนตรีไม่เหงา เพราะดนตรีไม่มีพิษภัย แต่คนเล่นบางทีเกินพอดี ครูหรือช่างที่ดีเขาไม่ด่ากัน ช่างซอสามสายมีอยู่เท่านี้ ถูกกันหมด นักดนตรีไทยนับหัวได้ ทะเลาะกันพอให้เกิดกิเลส เพื่อสร้างงาน

“เหมือนซอสามสาย ตึงไปนี่เสียงไม่ออก หย่อนก็ไม่ดี เหลือไว้น้อยหนึ่ง ใช้ไปแล้วมันพอดี”

จักรี มงคล เกิด ๖ เมษายน ๒๕๐๖ บิดามารดาชื่อนิมิตและเกษมศรี มงคล (สกุลเดิมศรีจันทร์สุข) มีน้องสาวร่วมท้องหนึ่งคน ตั้งแต่เด็กมีความสนใจซอสามสายเป็นพิเศษ ทั้งปฏิบัติ ทฤษฎี และงานช่าง เป็นศิษย์ซอสามสายและเครื่องดนตรีอื่นๆ ของ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ มีความรู้ความชำนาญซ่อมเครื่องสายตะวันตก และเป็นศิษย์ไวโอลิน อ.ชูชาติ พิทักษากร เคยประพันธ์โหมโรงสหัสวรรษและโหมโรงพิรุณสร่างฟ้า บรรเลงในคอนเสิร์ตครุศาสตร์จุฬาฯ

(เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์จักรี มงคล เมื่อ ๒๗ มีนาคม และ ๘ มิถุนายน ๕๗)

จักรี มงคล นักซอสามสาย (กันต์ อัศวเสนา ถ่ายภาพ ๘-๖-๒๕๕๗)

จักรี มงคล นักซอสามสาย (กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, ๘-๖-๒๕๕๗)

ภาพเก่า จักรี มงคล เรียนเเละซ้อมดนตรีไทยพร้อมคุณเเม่เกษมศรี มงคล (กันต์ อัศวเสนา ถ่ายภาพ ๘-๖-๒๕๕๗)

ภาพเก่า จักรี มงคล เรียนเเละซ้อมดนตรีไทยพร้อมคุณเเม่เกษมศรี มงคล (กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, ๘-๖-๒๕๕๗)

ต้นเเบบสัดส่วนกระสวนซอที่จักรี มงคล ยึดเป็นมาตรฐานถึงปัจจุบัน (พิชชาณัฐ ตู้จินดา ถ่ายภาพ ๒๗-๓-๒๕๕๗)

ต้นเเบบสัดส่วนกระสวนซอที่จักรี มงคล ยึดเป็นมาตรฐานถึงปัจจุบัน (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ, ๒๗-๓-๒๕๕๗)

บัญชีรายการสร้างซอสามสายของจักรี มงคล ยุคเเรกๆ (พิชชาณัฐ ตู้จินดา ถ่ายภาพ ๒๗-๓-๒๕๕๗)

บัญชีรายการสร้างซอสามสายของจักรี มงคล ยุคเเรกๆ (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ, ๒๗-๓-๒๕๕๗)

ฝีมือเเกะ คันชักซอสามสายงาของจักรี มงคล (พิชชาณัฐ ตู้จินดา ถ่ายภาพ ๘-๖-๒๕๕๗)

ฝีมือเเกะ คันชักซอสามสายงาของจักรี มงคล (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ, ๘-๖-๒๕๕๗)

ซอสามสายงา ฝีมือสร้างคันเเรกของจักรี มงคล (พิชชาณัฐ ตู้จินดา ๒๗-๓-๒๕๕๗)

ซอสามสายงา ฝีมือสร้างคันเเรกของจักรี มงคล (พิชชาณัฐ ตู้จินดา: ถ่ายภาพ, ๒๗-๓-๒๕๕๗)

โรงช่างบ้านจักรี มงคล นวมินทร์ ๑๑๑ กรุงเทพฯ (กันต์ อัศวเสนา ถ่ายภาพ ๒-๓-๕๗)

โรงช่างบ้านจักรี มงคล นวมินทร์ ๑๑๑ กรุงเทพฯ (กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, ๒-๓-๕๗)

 

 

 

 

 

Comment

  1. วินัย ขวัญยืน says:

    คนดีศรีกรุงเทพทวาราวดีคือจักรีคนนี้ขอให้เจริญๆยิ่งๆขึ้นไปครับ

Leave a Reply to วินัย ขวัญยืน Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *