สุเชาว์ หริมพานิช
“ชีวิตนี้อุทิศให้ดนตรีไทย”
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
เปิดฉากชีวิตที่พระประแดง
“สมัยก่อนเขาเรียกว่า ‘จังหวัดพระประแดง’ แต่เวลาต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอำเภอพระประแดง เพราะขึ้นไปรวมกับจังหวัดสมุทรปราการ พูดถึงความสำคัญของพระประแดงแล้ว มีความสำคัญอยู่นะ เพราะเป็นที่ตั้งของ “ป้อมแผลงไฟฟ้า” ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ป้อมนี้อยู่ใกล้ๆ กับสถานีตำรวจอำเภอพระประแดง ส่วนชาวบ้านในละแวกนี้ก็เป็นคนมอญทั้งนั้น” ครูสุเชาว์บอกเล่าเรื่องราวอำเภอบ้านเกิดของตนอย่างภูมิใจ
ครูสุเชาว์ หริมพานิช หรือ ครูหมู เป็นคนอำเภอพระประแดงโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๑ บิดาชื่อ นายชื่น หริมพานิช ประกอบอาชีพเป็นโต้โผวงปี่พาทย์ หารายได้เลี้ยงชีพและครอบครัวด้วยเสียงดนตรีเสมอมา ใช้ชื่อวงดนตรีว่า “วงครูชื่น ปากลัด” ส่วนมารดาชื่อ นางละมูล หริมพานิช (สกุลเดิม เจริญบุญ) ผู้เป็นแม่บ้านแม่เรือน มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรธิดาทั้ง ๑๑ คน พร้อมทั้งหารายได้พิเศษจากอาชีพรับจ้างซักรีดอยู่กับบ้าน และนัยว่านางละมูลท่านนี้ มีความรอบรู้เรื่องการตระเตรียมเครื่องไหว้เครื่องบูชาในงานพิธีต่างๆ
แต่เดิมบรรพบุรุษในสายสกุล “หริมพานิช” และสกุล “เจริญบุญ” ล้วนประกอบอาชีพอยู่ในวงการดนตรีปี่พาทย์และวงการนาฏศิลป์ไทยทั้งสิ้น นับตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาแล้ว ดั่งคำบอกเล่าของครูสุเชาว์ว่า
“ตัวครูเองเกิดท่ามกลางสายดนตรี ๒ สายนะ ปู่ย่าของครูประกอบอาชีพดนตรีไทย ส่วนทางสายคุณแม่เป็นคนมอญ มีคุณตาชื่อสังข์ เจริญบุญ เป็นหัวหน้าวงดนตรีคณะ ‘นายสังข์ เจริญบุญ’ อยู่ที่พระประแดง เป็นวงดนตรีปี่พาทย์มอญนะ ในสมัยก่อนอำเภอพระประแดงมีวงดนตรีไม่กี่วงหรอก มีวงตาเอี่ยม วงตาหงส์ วงลุงเลี่ยม แล้วก็มีครูจีบ ครูท่านนี้เป็นครูผู้ใหญ่ที่คนดนตรีในอำเภอพระประแดงให้ความเคารพนับถือ
“ส่วนน้องของพ่อ ชื่ออาชม เล่นลิเกเมรุปูนอยู่ที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นลิเกเมรุปูนเป็นลิเกมาตรฐานที่สุด แต่งกายอย่างลิเกทรงเครื่อง นุ่งใส่ผ้าไหมอย่างดี ใช้ตัวแสดงผู้ชายล้วน ตอนนั้นอาของครูจะแสดงเป็นตัวนาง แต่มาระยะหลังพออายุมากเข้า ก็เลยต้องเปลี่ยนมาเล่นบทผู้ชาย แสดงบทตัวเจ้าบ้าง ตัวพ่อบ้าง อะไรอย่างนี้ ตอนหลังตั้งคณะชื่อว่า ‘ชื่นชมนาฏศิลป์’ ”
จากที่ครูสุเชาว์ได้เล่ามาทั้งหมดนี้ จึงไม่เป็นเรื่องแปลกเลย ที่พี่น้องของครูทั้ง ๑๑ คนสามารถเล่นดนตรีและร้องรำทำเพลงตามที่บรรพบุรุษของท่านได้เคยปฏิบัติมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ชายและน้องชายของครูสุเชาว์ คือ นายวินัย หริมพานิช และนายเสรี หริมพานิช ที่ในปัจจุบันท่านทั้งสองได้กลายมาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการดนตรีไทย และตัวของครูสุเชาว์เอง หลังจากบิดาของท่านสิ้นบุญลง ครูก็รับหน้าที่สืบสานและดูแลวงปี่พาทย์ต่อจากบิดาสืบมาถึงปัจจุบัน
จากความรู้ด้านดนตรีในเขตภูธร
สู่การต่อยอดองค์ความรู้ในเมืองกรุง
ถ้าจะว่ากันไปแล้ว การเดินทางเข้าสู่เส้นทางสายดนตรีของครูสุเชาว์ หริมพานิช ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับนักดนตรีไทยทั่วๆ ไป เพราะโดยส่วนใหญ่มักเกิดและเติบโตมาในท่ามกลางเสียงดนตรีปี่พาทย์
“ตอนที่ครูอายุยังไม่ถึง ๘ ขวบ ก็ได้แต่ตีฉิ่ง ตีฉาบ จำพวกเครื่องประกอบจังหวะให้ชินก่อน เพราะเวลานั้นมีคนมาต่อเพลงกับพ่อ ครูก็ฟังจนชินแล้ว ยกตัวอย่างเพลงกลม ตั้งแต่เด็กครูก็รู้แล้วว่ามีทำนองอย่างไร เพราะครูก็ฟังอยู่ทุกวี่ทุกวัน ฟังจนเบื่อ” ครูสุเชาว์ทบทวนเหตุการณ์ครั้งวัยเยาว์ พร้อมเล่าถึงวิธีการเรียนการสอนดนตรีระหว่างครูกับพ่อของท่านว่า
“อย่างเวลาครูจะต่อเพลง พ่อแกก็จะเรียกครูให้มานั่งตีฆ้อง แล้วแกก็จะบอกครูด้วยปากอย่างเดียว ไม่ได้มาตีระนาดตัวต่อตัวอย่างสมัยนี้หรอก ถ้าครูตีผิดก็โดนแล้ว เคาะที่หัวเลย แต่ถ้าบางเพลงมือมันยากมาก ถ้ามีระนาดทุ้มวางอยู่ ก็จะตีให้ฟังแทนการบอกปาก แล้วก็จะให้ท่องเพลงไป พ่อก็ไปหั่นหมาก ไปเคี้ยวหมาก จดโน้ต ทำโน่นทีทำนี่ที เดี๋ยวก็มาต่อวรรค ๒ วรรค ๓ จนกระทั่งหมดเวลา
“ครูจะซ้อมดนตรีกับพ่อในเวลาช่วงเย็นนะ เพราะเวลากลางวันพ่อไม่เคยให้ครูหยุดเลย จะให้ไปเรียนหนังสือตลอด แล้วก็ห้ามหยุดด้วย มีงานก็ไม่ให้ครูไป ให้ไปเรียนหนังสือ กลับมาบ้านแล้วค่อยท่องเพลง สมัยนั้นส่วนมากครูก็เป็นคนฆ้องประจำวง อย่างเพลงตระในโหมโรงเย็น เป็นเรื่องเชิดหน้าชูตาเลยนะ ตระ ๓ ตัวครูสามารถตีได้สบายๆ เวลาครูไปบรรเลงงานไหนก็มีแต่คนชื่นชม”
เมื่อระยะเวลาผ่านไป หลังจากที่ครูสุเชาว์จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนวัดทรงธรรม (ส.ป.๓) แล้ว ครูได้ตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพอื่น ที่ไม่ใช่อาชีพนักดนตรีไทย เพราะด้วยเหตุผลว่า “มันรันทดมากนะ จริงๆ แล้วครูอยากจะเลิกด้วยซ้ำ เพราะว่ามันไม่คุ้มเลย สมัยก่อนค่าตอบแทนแค่ ๒๐ บาท ครูก็ว่าไม่ไปดีกว่า ครูมาทำงานอย่างอื่นมันจะได้มากกว่า แถมสบายกว่าอีก ถ้าครูไปงานก็ตีแล้วตีอีก กว่าจะเลิกก็ ๒ ยาม ตื่นเช้ามาตี ๕ ก็บรรเลงอีกแล้ว”
และด้วยการชักนำของเพื่อนฝูง ครูสุเชาว์จึงเข้าทำงานเป็นพนักงานที่โรงงานท่อน้ำไทยญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา ๑ ปีเต็ม จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เข้าทำงานเป็นช่างประจำการรถไฟ ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง
“ครูสอบเข้าทำงานที่การรถไฟ ตอนนั้นที่ครูทำงานมันไม่เกี่ยวกับดนตรีแล้วนะ มันคนละเรื่องกันเลย ทำงานเป็นช่างไฟฟ้าประจำรถไฟ ก็ดูแลเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าทั้งหมด แรกเริ่มเลยครูรับตำแหน่งต่ำสุด เขาเรียกว่าคนการช่าง ทำไปจนกระทั่งไต่เต้าถึงตำแหน่งสูงสุด ได้เป็นหัวหน้าช่าง เขาจะขึ้นเงินเดือนให้ครูขั้นละ ๕ สตางค์นะในสมัยนั้น และ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นปีที่ครูออกมาจากที่นั่น รวมแล้วทำงานรถไฟได้ ๓๓ ปีพอดี”
แต่แล้วชีวิตของครูสุเชาว์ก็ได้แวะเวียนเข้าสู่วงการดนตรีไทยอีกครั้ง เมื่อพบจุดหักเหสำคัญในชีวิต คือ ได้รับความเมตตาด้านวิชาความรู้เรื่องดนตรีปี่พาทย์จาก “ครูบุญยงค์ เกตุคง” (ศิลปินแห่งชาติ) และ “ครูบุญยัง เกตุคง” (ศิลปินแห่งชาติ) จึงทำให้ครูสุเชาว์มุมานะเรียนเพลงการต่างๆ โดยอาศัยช่วงเวลาเลิกงานจากสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อเดินทางไปขอต่อเพลงจากครูทั้งสองท่าน
“ครั้งแรกที่ครูเข้าไปกราบท่านทั้งสอง มันผิดคาดนะ เพราะท่านไม่ดุและไม่เมินเฉยเราเลย ท่านบอกว่า ‘พ่อคุณมาช่วยกันหน่อยนะ’ เราก็ว่าเราเป็นนักดนตรีจากบ้านนอก ครูเก่งระดับประเทศไทย แล้วมาพูดกับเราอย่างนี้ เราก็เกิดอาการปลาบปลื้มแล้ว ท่านก็บอกว่ามาช่วยๆ กันหน่อย ครูท่านก็ให้กำลังใจเรานะ ท่านบอกว่าไม่มีใครมันเป็นมาก่อนหรอก
“ตั้งแต่นั้นมา ครูก็อาศัยเวลาตอนเลิกงานเดินทางไปเรียนกับท่านทุกๆ วัน ถ้าเจอใครก็จะเรียนกับท่านนั้น บางทีตอนกลางวันไม่มีรถไฟเทียบ ก็จะไปเรียนเสมอๆ เสร็จแล้วครูก็จะลากลับไปทำงาน เทียวไปเทียวมาอย่างนี้ตลอด” ครูสุเชาว์เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีต พร้อมตบท้ายเรื่องคุณวิเศษในตัวของครูบุญยงค์ว่า
“เรื่องความสามารถก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญ คือ ‘ใจของท่านมีแต่ให้’ ครูบุญยงค์ท่านก็อยากจะให้ความรู้แก่ทุกๆ คน โดยเฉพาะกับครู แล้วท่านให้โดยไม่ปิดบังเลย ให้ทุกโอกาสที่มี บางทีเราไปงานบ่อยๆ เพราะท่านชอบเรียกใช้เรา แต่เพลงเราไม่ได้ ท่านก็จะต่อให้ นี่คือสิ่งที่เราประทับใจในความเป็นครูของท่านอย่างเต็มเปี่ยม”
มรดกโน้ตเพลงไทย
กับงานสืบสานปณิธานของพ่อ
“พ่อชื่น” ตามคำบอกเล่าของครูสุเชาว์ หริมพาณิช นอกจากมีความรู้ความสามารถด้านการปฏิบัติเครื่องดนตรีจำพวกเครื่องปี่พาทย์แล้ว พ่อชื่นยังมีความรู้เรื่องการบันทึกโน้ตเพลงไทยอีกด้วย (แต่ไม่สามารถสืบเสาะได้ว่าท่านร่ำเรียนมาจากครูท่านใด) และด้วยความสามารถที่มีอยู่ในตัว พ่อชื่นจึงจดบันทึกองค์ความรู้เรื่องเพลงการต่างๆ ที่ท่านได้รับถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและครูของท่าน เพื่อเก็บรักษาและทรงความรู้ด้านทางเพลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งประกอบด้วยเพลงเถา เพลงสองชั้น เพลงเกร็ด และเพลงมอญทางปากลัด
ครูสุเชาว์เล่าถึงพ่อชื่นว่า “นี่ครูไม่ได้ยกย่องพ่อตัวเองจนเกินไปนะ แต่พ่อของครูเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าคนอื่นๆ ในย่านนั้น ในสมัยที่ครูอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ กลางวันครูก็ไปเรียนตามปรกติ กลางคืนครูก็ไปเที่ยวที่ตลาด ไปดูหนังบ้างอะไรบ้าง ตามภาษาวัยรุ่นในสมัยนั้น
“แต่ว่าพ่อจะไม่ไปไหน ท่านจะอยู่กับบ้าน พ่อของครูพิการเรื่องขา ขาท่านลีบทั้งสองข้าง แต่ว่าเดินได้นะ พ่อไม่ไปไหนเพราะท่านจะนั่งจดโน้ตเพลงตลอดทุกวัน สมัยก่อนนั้นมันมีไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ว่าวิทยุมันต้องใช้ถ่าน ใส่ถ่านก้อนใหญ่ลงกระบะลักษณะคล้ายๆ กับกล่อง และปิดฝาพร้อมกับเอาสายต่อกับวิทยุ แล้วพ่อก็จะบันทึกโน้ตเพลงไทยจากรายการที่เขาส่งคลื่นกระจายเสียงมา
“ประมาณปี พ.ศ. ๙๗ – ๙๘ สมัยนั้นเวลา ๒ ทุ่มครึ่ง จะมีรายการเพลงไทย แต่รายการอะไรครูจำไม่ได้แล้ว มีทั้งวงมโหรี วงปี่พาทย์ พ่อก็จะเสียบหูฟัง ฟังแทบทุกคืน จะว่าไปแล้ว มันเป็นวิธีที่นักดนตรีจะได้เพลงอีกทางหนึ่ง เพราะที่บ้านของครูเป็นปี่พาทย์บ้านนอก อย่างเพลงดีๆ ที่เขาเล่นกัน เราจะไปหาได้ที่ไหน เพราะครูผู้ใหญ่ที่อยู่แถวนั้นก็ตายไปหมด พอพ่อฟังแล้วก็จะจดโน้ตเพลงทันที แต่เป็นโน้ตไทยนะ” ครูสุเชาว์เล่าถึงที่มาที่ไปเรื่องโน้ตเพลงของพ่อชื่น พร้อมกับโชว์หลักฐานสมุดโน้ตเพลงไทย ซึ่งเป็นต้นฉบับลายมือของพ่อชื่น เพื่อเป็นการยืนยันในคำพูด
รูปลักษณ์ของสมุดที่ครูสุเชาว์นำมาให้ดูนั้น เป็นสมุดบันทึกเล่มกะทัดรัดธรรมดาๆ หน้าปกมีรอยฉีกขาดเว้าแหว่งด้วยอายุอานามมากกว่า ๕๐ ปี และเมื่อเปิดดูเนื้อหาภายใน ก็ปรากฏโน้ตเพลงไทยประเภทต่างๆ ซึ่งโน้ตแต่ละตัวถูกเขียนอย่างบรรจงเรียบร้อย บ่งบอกถึงความตั้งอกตั้งใจของผู้บันทึกได้เป็นอย่างดี
ครูสุเชาว์เปิดเผยความในใจเกี่ยวกับมรดกโน้ตเพลงไทยของพ่อชื่นว่า “ครูเคยรับปากกับพ่อไว้ ว่าครูจะสืบสานงานของท่าน เพราะระยะหลังๆ มานี้ พ่อของครูป่วยเป็นมะเร็งที่คอ อาจเป็นเพราะท่านกินหมากมากเกินไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เราก็เห็นว่ามันมีโน้ตเพลงอยู่ แล้วอีกอย่างมันก็ไม่มีใครแล้ว เพราะครูเองก็เรียนโน้ตมาจากพ่อด้วย ทั้งวิธีบันทึกทางร้องและทางบรรเลง
“ครูตั้งใจจะบันทึกโน้ตเพลงทั้งหมดที่มีอยู่นะ รวมทั้งคัดลอกสมุดโน้ตเพลงของพ่อเพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติ สมมุติว่าเพลงเถา ๑๕๐ เถา เพลงเรื่อง ๔๐ เรื่อง เพลงฉิ่ง เพลงมอญ เพลงนางหงส์ เพลงเกร็ด เพลงหางเครื่อง เพลงเดี่ยวทุกชนิด ๔ ชิ้น รวมถึงทางร้องเพลงเถา เพลงตับ เพลงระบำรำฟ้อน เพลงโขนละครด้วย ถ้าเขียนขึ้นมาแล้วอาจจะมอบให้กับสถาบันเพื่ออนุชนรุ่นหลังต่อไป
บทบาท “โต้โผ” วงดนตรีปี่พาทย์
กับงานหุ่นกระบอกเรื่อง “ตะเลงพ่าย”
สำหรับท่านที่ชื่นชอบเรื่องระบำรำฟ้อนแบบไทยๆ ควรหาโอกาสเดินทางไปชมการฝึกซ้อมหุ่นกระบอกเรื่อง “ตะเลงพ่าย” ด้วยตาของตนเอง ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ซอยสุขุมวิท ๖๓
เพราะนอกจากความวิจิตรบรรจงของหุ่นกระบอกแต่ละตัว พร้อมทั้งลีลาการเชิดอันแสนอ่อนช้อย ที่ทำเอาผู้ชมทั้งหลายต่าง “ตะลึงพรึงเพริด” แล้ว เสียงดนตรีจากวงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบหุ่นกระบอกในทุกๆ ครั้ง โดยการควบคุมของครูสุเชาว์ หริมพานิช เมื่อใครต่อใครได้ยินได้ฟัง ก็ต้องกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ของเขาดีจริงๆ”
“ครูไปร่วมงานหุ่นกระบอกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แล้วนะ บรรเลงประกอบหุ่นเรื่องสามก๊ก ตอนนั้นคนที่ควบคุมเรื่องดนตรีก็คือ ครูบุญยงค์ ครูบุญยัง เกตุคง เพราะท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ครูมีโอกาสเป็นลูกวงเขา มีหน้าที่บรรเลงฆ้องวงใหญ่” ครูสุเชาว์เล่าประสบการณ์ครั้งร่วมงานกับคณะหุ่นกระบอกของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ระยะเวลาต่อมา เมื่อสองครูดนตรีไทยผู้เป็นหลักสำคัญทางดนตรีของคณะหุ่นกระบอกได้เสียชีวิตลง คือ ครูบุญยงค์ เกตุคง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และครูบุญยัง เกตุคง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ทำให้ทางคณะขาดผู้นำและผู้สานต่องานดนตรีปี่พาทย์ สำหรับบรรเลงประกอบหุ่นกระบอก และในฐานะที่ครูสุเชาว์เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญา และมีส่วนร่วมบรรจุเพลงลงในบทหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่าย จึงทำให้ครูสุเชาว์ หริมพานิช ได้รับทาบทามให้เป็นผู้ปรับวงและควบคุมการฝึกซ้อมต่อจากครูทั้งสองท่าน
“ปี พ.ศ. ๔๑ เป็นปีที่แม่ของครูตาย อาจารย์จักรพันธุ์เขาก็ยกขบวนมาที่งานศพ เขาก็มาทาบทามครู เพราะหลังจากที่ครูบุญยังท่านตายแล้ว เขาอยากให้มีคนมาสืบสานงานปี่พาทย์ต่อจากครูทั้ง ๒ ท่าน อย่างแรกเลยต้องทำเพลงในเรื่องตะเลงพ่าย และต่อเพลงให้กับคุณต๋อง (วัลลภิศร์ สดประเสริฐ) เขาก็ปรึกษาคนนั้นคนนี้ว่าจะเอาใครดี เพราะไม่มีใครแล้ว ตอนหลังผลปรากฏว่าทุกคนก็เพ่งเล็งมาที่ครู
“ในครั้งแรกครูปฏิเสธนะ ครูก็บอกไปว่าลองหาดูก่อนเถอะ เพราะคนที่เก่งๆ มีเยอะ จนกระทั่งคุณต๋องเขาโทรมาบอกอีกว่า พี่หมูเป็นลูกศิษย์ครูบุญยงค์ ครูบุญยัง มาช่วยหน่อยเถอะ ครูก็บอกว่าผมไปช่วยได้ครับ แต่อย่าเอาผมไปเปรียบเทียบกับครูนะ
ครูสุเชาว์ยังเล่าเสริมต่อไปอีกว่า “สำหรับเรื่องตะเลงพ่ายนี้ มีเพลงที่บรรดาครูๆ ท่านวางเอาไว้แล้ว พร้อมทั้งอัดเสียงเก็บไว้แล้วด้วย แต่บางทีครูท่านให้ไว้ดิบๆ ยังไม่ได้กลั่นกรองย่อมมีคลาดเคลื่อนบ้าง แล้วครูก็แค่เข้าไปเกลาเพลงเท่านั้น ช่วยได้ก็ช่วยกันไป ทำให้มันน่าฟังขึ้น ตอนนั้นอาจารย์จักรพันธุ์กับคุณต๋องก็มาช่วยครูปรับด้วย
“ตอนนี้ครูมีหน้าที่คุมเรื่องดนตรี เป็นหัวหน้าวง เพลงทั้งหมดครูจะเป็นคนปรับ รวมถึงเรื่องหน้าทับด้วย เพราะตอนนั้นเพลงที่วางกันไว้มันยังไม่มีหน้าทับ สมัยก่อนนั้นไปซ้อมกันทุกๆ อาทิตย์ แต่ตอนหลังซ้อมเฉพาะวันอาทิตย์สิ้นเดือนเท่านั้น”
เบื้องหลังความสำเร็จกับผลงานบนเวที
“เซ็ทเทรด เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย”
ว่ากันว่า สนามแข่งขันดนตรี อย่าง “เซ็ทเทรด เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย” ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ ความเข้มข้นการแข่งขันแต่ละปีเปรียบเสมือนยาขมหม้อใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะเวทีนี้เขาตัดสินกันที่ “สมอง” เพื่อประลองคมคิดในเรื่องทางเพลง และประชัน “ความเป็นเลิศ” สำหรับนักดนตรีที่เข้าร่วมชิงความเป็นหนึ่ง
ครูสุเชาว์ หลิมพานิช ในฐานะผู้ควบคุมและดูแลการฝึกซ้อมให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เคยเข้าร่วมประกวดชิงชัยในสนามนี้ และสามารถคว้ารางวัลในหลายรายการมาเชยชมได้สมใจ อาทิเช่น
๑. นายชาคริต ฉ่ำคล้อย เครื่องดนตรี จะเข้ ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประกวดเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๔
๒. นายรณชัย ศรีสุข เครื่องดนตรี ระนาดทุ้ม ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประกวดเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
๓. นายศรัญญู ศรัญไพบูลย์ เครื่องดนตรี ฆ้องวงเล็ก ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประกวดเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๐
๔. นายวิศรุต ทรัพย์เจริญ เครื่องดนตรี ฆ้องวงใหญ่ ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองอันดับ ๒ ประกวดเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๑
๕. นายอาทิตย์ ปิยสันติวงศ์ เครื่องดนตรี ระนาดทุ้ม ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองอันดับ ๓ ประกวดเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๑
และ ๖. นายพารณ ยืนยง เครื่องดนตรีระนาดเอก ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประกวดเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เป็นต้น
ครูเปิดเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จว่า “สังคมนี้มันไม่ใช่ธรรมดานะ ถ้าเราไปเล่นแบบเกณฑ์มาตรฐานเราอาจจะร่วงได้ เราต้องตีโจทย์ว่าเขาต้องการอะไร กรรมการคือใคร เขาต้องการความแปลกใหม่และแนวเพลงที่แหวกแนวออกไป บางเพลงเป็นของเก่าก็จริง แต่ครูก็มาปรับปรุงใหม่”
ครูสุเชาว์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “เราต้องดูลูกศิษย์ของเราก่อน ว่าเขามีความพร้อมกับเราหรือไม่ ถ้าเขามีความพร้อม แต่อาจขาดคนที่จะกระโดดเข้าไปหาเขา แล้วเราต้องดูอีกว่า ในตัวเขามีทุนเรื่องความขยันหรือไม่ และต้องมีระเบียบวินัย มีความเรียบร้อยในตัว มีความสนอกสนใจ ที่สำคัญคือ ต้องพูดจากันรู้เรื่องด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
“ส่วนวิธีการฝึกซ้อม เราก็ต้องให้เขาไล่ เพราะมันต้องมีกำลังมาก่อน แนวเพลงมันถึงจะวิ่ง เราก็บอกกับเขาว่า ถ้าพวกเธอไล่จนมีกำลังแล้ว เดี๋ยวครูคิดอะไรออกมาเธอก็สามารถทำได้ เพราะถ้าไม่มีทุนเรื่องกำลังมันก็ลำบาก เขาก็ไล่ก็ซ้อมกันทุกเย็น อย่างน้อยต้องไล่เพลงมุล่งวันละ ๒ ชั่วโมง”
ตัวอย่างผลงานและรางวัลสำคัญ
ในชีวิตด้านดนตรีของครูสุเชาว์ หริมพานิช
๑. ร่วมบรรเลงวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่ เพลงชุดโหมโรงกลางวัน ในงาน “การบรรเลงปี่พาทย์เสภาที่วังหน้า” ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ ลานพระบวรราชานุสาวรีย์ โรงละครแห่งชาติ
๒. ได้รับมอบเกียรติบัตร “ผู้มีผลงานทางด้านวัฒนธรรม” จากสภาวัฒนธรรมอำเภอพระประแดง ในโอกาสสัปดาห์ส่งเสริมอนุรักษ์มรดกไทยประจำปี ๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙
๓. ได้รับมอบเกียรติบัตร “ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ โดย สถาบันศิลปะและวัฒนธรรม เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐
๔. ได้รับรางวัลโล่เกียรติคุณ “รางวัลสุกรี เจริญสุข” โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นบุคคลที่ปฏิบัติงานและมีผลงานดีเด่นเพื่อสังคมในสาขาส่งเสริมดนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล
แนวคิด “ขนบนิยม” กับ “ขบถนิยม”
ทางออกหรือทางตันของดนตรีไทย
“ในปัจจุบันคนไม่ฟังดนตรีไทยเพราะอะไร เรายกวงไปบรรเลง เราตีเพลงย่ำค่ำ ย่ำเที่ยง ตีเพลงตับ อะไรต่อมิอะไรสารพัด แต่คนทั่วไปเขาฟังไม่รู้เรื่อง อีกวงหนึ่งบรรเลงเพลงสร้อยแสงแดง คนปรบมือกันยกใหญ่ จริงๆ แล้วทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทยอยนอกเราตีแทบตาย แต่ตลาดมันฟังไม่รู้เรื่อง แล้วเรามัวแต่ไปเล่นอะไรกันอยู่”
ครูสุเชาว์ถกประเด็นสนทนาด้วยความเห็นต่อสภาพปัญหาวงการดนตรีไทยในปัจจุบัน พร้อมยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ตนเองสามารถบรรเลงดนตรีไทยได้ทั้งแนวทางที่เป็นแบบแผน หรือตาม “ขนบนิยม” ตามที่ครูได้รับการสั่งสอนมาอย่างเคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกัน ครูก็สามารถบรรเลงดนตรีไทยแนวสร้างสรรค์ ที่ “ฉีก” ขนบเดิมได้อย่างไม่ขวยเขินเช่นกัน
เพราะทั้งนี้ทั้งนั้น “ครูจะยึดถือผู้ฟังและผู้เสพดนตรีเป็นหลัก”
“เราต้องดูก่อนว่า ‘ใครเป็นผู้ฟัง’ คุณจะให้ผมเล่นเพลงอะไร ถ้าเขาบอกว่าอิสระตามสบาย อย่างนั้นเราต้องเตรียมเพลงกลางๆ ไป ถ้าเป็นงานแบบชาวบ้านธรรมดาๆ มันก็ต้องโหวกเหวกโวยวาย ถ้าเป็นงานข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มันก็ต้องช้าๆ นิ่มนวลๆ ลดอายุผู้ฟังลงมาเป็นวัยรุ่น เราก็ต้องแบบไทยสากลหรือไทยประยุกต์ แต่ถ้าเป็นงานของคนดนตรีไทยด้วยกัน ก็ต้องแบบมาตรฐาน ครูเป็นได้ทั้งผู้อนุรักษ์และผู้แหกคอก ถ้าจะพูดว่า เราทำให้มันเข้ากับสมัยนิยมก็ได้นะ” และนี่อาจเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่สามารถต่อลมหายใจอันแผ่วเบาของวงการนี้ให้ยืนหยัดต่อไปได้
เมื่อถามถึงเสียงต่อต้านและเสียงตอบรับต่อแนวคิดของครู ครูตอบอย่างทันท่วงทีว่า “ต้องมีบ้างแหละ แต่เขาไม่ได้มาบอกเรา เราต้องปรับซิ ต้องทำใจให้กว้างก่อน บางคนเขาไม่คิดว่ามันต้องพัฒนาต่อ เพราะมีความยึดติด ขนาดเราเป็นนักดนตรีไทยเองแท้ๆ เวลาไปงานตามที่ต่างๆ เราฟังแล้วยังเบื่อเลย”
พร้อมกับเสนอต่อไปว่า “อย่างแรกเลย เราต้องมองให้ไกล มองให้กว้าง แล้วคนที่มารองรับเราก็สำคัญ นักดนตรีเห็นด้วยกับเราหรือไม่ รับกับเราได้หรือไม่ ถ้ารับได้ก็ไปด้วยกันอย่างสะดวก ถ้าเขารับไม่ได้เขาก็ไม่ไปกับเรา อย่างนักร้องที่ไปด้วยกัน บางครั้งครูอยากให้ร้องเพลงแนวไทยสากล เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย แต่ถ้าร้องบ่อย บางทีเขาก็ไม่ร้อง หุบปากเลยก็มี ต้องถือว่าพวกนี้ยังไม่หลุด เขาถือว่าเขาไม่มาทำอย่างนี้ เขาก็สามารถหากินได้ แต่ว่าครูไม่ได้สนใจเขานะ และไม่ได้คิดอย่างนั้นด้วย
“เพราะคิดแต่เพียงว่า เราจะทำอย่างไร ดนตรีไทยจึงสามารถเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนทั่วๆ ไป ให้ได้ก็เท่านั้น”