ปี่พาทย์บ้านหนองไทร จ.บุรีรัมย์ คุณค่าวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น หรือจะถูกกลืนหายไปในอนาคต

ปี่พาทย์บ้านหนองไทร จ.บุรีรัมย์
คุณค่าวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น หรือจะถูกกลืนหายไปในอนาคต
เรื่อง/ ภาพ: พิชชาณัฐ ตู้จินดา

พร้อมกับเสียงเม็ดฝนเข้าพรรษาที่วัดหนองไทร อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เสียงประโคมปี่พาทย์ทุกเย็นวันโกนและเช้าวันพระตลอด ๓ เดือน ไม่เคยเงียบหายจากที่นี่ ความผูกพันระหว่างวัด ชุมชน กับวัฒนธรรมมโหรีปี่พาทย์ของผู้คนย่านนี้ยังแน่นแฟ้น เป็นวัตรปฏิบัติสืบต่อจนคุ้นเคยและไม่มีทีท่าว่าจะขาดช่วง โดยเฉพาะ “ทางเพลง” ดั้งเดิมที่นักเล่นเพลงอย่าง นายสนั่น ปราบภัย ครูใหญ่ปี่พาทย์บ้านหนองไทรรักษาไว้ได้อย่างภาคภูมิ

จากคำเล่าฉบับมุขปาฐะ ก่อนความรู้ดนตรีปี่พาทย์จะเดินทางถึงที่นี่ พร้อมลงหลักปักฐาน มรดกความรู้เดิมสาวขึ้นได้ ๓ ชั่วคน มีชื่อและตัวตนจริงในอดีต จากครูม่วงถึงครูล่ำ [ไม่สามารถค้นนามสกุลได้] คนบ้านเขว้า ความรู้ถูกส่งผ่านยังบ้านหนองไทรโดยคนตระกูลปราบภัย ดนตรีวงแรกที่นี่เกิดขึ้นเมื่อกว่า ๘๐ ปีก่อน นายอ๊อฟ ปราบภัย คือผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมร้องรำทำเพลงสร้างเครื่องรวมคนสมัยนั้น

นายสนั่นเล่า “ครูล่ำ คนบ้านเขว้า ครูใหญ่ปี่พาทย์นางรอง บุรีรัมย์ เขตนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก อ.นางรอง กินถึงละหานทราย ปะคำ หนองกี่ ชำนิ โนนดินแดง โนนสุวรรณ รวมอำเภอเดียว ยังไม่แยกอย่างเดี๋ยวนี้ ครูล่ำเป็นลูกครูม่วง ถ่ายทอดวิชากันมา แถบนี้มีอาชีพทำนาเหมือนกันหมด มีงานปี่พาทย์ก็ไป ที่ใกล้ตัวผมที่สุดคือพ่ออ๊อฟ แกเล่าว่าชอบปี่พาทย์ ข้ามทุ่งไปเรียนถึงบ้านครูล่ำ เรียนเสร็จสร้างบ้านให้ครูล่ำหนึ่งหลังเป็นค่าครู

“นักเพลงรุ่นแรกบ้านหนองไทร มีปู่บุญ นามนาค ปู่ราช ศิริโชติ นายผล นายเกิด นายกอง นายเริญ นายข้อง นายภัค พวกนี้ปราบภัยทั้งนั้น พ่ออ๊อฟคุมวงเพราะฝีมือดีความรู้มาก เมื่อก่อนเครื่องปี่พาทย์หายาก บ้านหนองไทรสร้าง ๒ ครั้ง ๒ ชุด ชุดแรกเครื่องวัด ฝีมือสร้างช่างนุ่ม แพงพวย ชุดสองเครื่องพ่ออ๊อฟ ฝีมือช่างทัด เครื่องวัดยังอยู่แต่พุพัง ซ่อมหลายครั้งถึงใช้ได้ เครื่องบ้านผมสภาพดี อยู่ทั้งเครื่องทั้งเพลง”

รายละเอียดชีวิตครูม่วงครูล่ำ คนบ้านเขว้า ค่อนข้างเลือนราง แต่ที่น่าสนใจคือชุดความรู้ดนตรีปี่พาทย์ของท่านทั้งสองที่ส่งต่อถึงปัจจุบัน หากพิจารณาทางฆ้องและทางบรรเลงเครื่องดนตรี รวมถึงคลังเพลงและระเบียบวิธีบรรเลง จากคำเล่านายสนั่นที่ว่า ตนต่อทางเพลงดังกล่าวจากนายอ๊อฟ [บิดา] อีกทอดหนึ่ง ก็น่าจะยืนยันภูมิรู้และหลักวิชาของท่านทั้งสองได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะคลังเพลงทางฆ้องวงใหญ่ที่นักเล่นเพลงย่านนี้ต่างยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเพลงพิธีกรรม[๑] เพลงชุด[๒] เพลง ๓ ชั้น และเบ็ดเตล็ด[๓] หรือเพลงนางหงส์[๔] ทั้งหมดเป็นเพลงบรรเลงรวมจำนวนแล้วกว่าครึ่งร้อย หลายเพลงมีรูปแบบการบรรเลงและชื่อคล้ายเพลงในวัฒนธรรมปี่พาทย์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่การแจกมือ ลูกตก ความสั้นยาว ทั้งการเรียงเพลงต่างกัน อย่าง “เพลงชุด” ที่มีรูปแบบการบรรเลงคล้ายเพลงเรื่อง เช่น มอญแปลงออกเพลง บุหลันออกชกมวย อาหนูออกเอี่ยวหนู ทองย่อนออกแขก สามเส้าออกแขก มอญลูกบวบออกแขก เขมรปี่แก้วออกแขก [คำแขกหมายถึงเพลงเร็ว] เป็นต้น

นายสนั่นเล่า “พ่ออ๊อฟเป็นคนฆ้อง เป็นหลักความรู้เพราะแม่นมือแม่นเพลง พ่อเรียนอย่างไรก็สอนผมอย่างนั้น สาธุการตีเที่ยวเดียวไม่ออกเปิดโลก มือคล้ายเขมร บางเพลงมีหน้าทับพิเศษ อย่างมอญลูกบวบหรือแขกผีมอญ โหมโรงเย็นใช้ตระนอน ต้นเข้าม่านแล้วไปปราสาททอง กราวในออกมอญกราวใน โหมโรงเช้ามีกราวใน เชิดชั้นเดียว ปลายเข้าม่านลงลา นางหงส์ที่นี่มีทางเฉพาะ นางนาค ๕ ท่อน คนแถวนี้เรียก ‘ทางพื้น’ หรือ ‘ทางบ้าน’”

หลายท่านพยายามสันนิษฐาน ว่าชุดความรู้ดังกล่าวมีต้นเค้าจากที่ใด/อย่างไร บ้างก็ว่ามาพร้อมการอพยพของนักเล่นเพลงชาวเขมรต่ำกัมพูชา บ้างก็ว่าก่อนหลวงประดิษฐไพเราะ [ศร ศิลปบรรเลง] ตามเสด็จรัชกาลที่ ๗ เยือนกัมพูชา ได้แวะพำนักและสอนปี่พาทย์คนย่านนี้ แต่เมื่อเฉลี่ยและคำนวณอายุ ๔ ชั่วคน [นายม่วง นายล่ำ นายอ๊อฟ นายสนั่น] เทียบปีที่หลวงประดิษฐไพเราะเดินทางเยือนกัมพูชา [๒๔๗๓] พบว่าปีดังกล่าวถอยห่างจากช่วงชีวิตนายม่วงร่วมร้อยปี

หากอธิบายแง่วัฒนธรรมร่วม โดยไม่ขังตนเองอยู่กับข้อกำหนดเรื่องเขตพื้นที่ จะเห็นว่า ไม่มีใครรับของใครมาและใครเป็นเจ้าของแท้จริง [ดังเกิดปัญหาช่วงชิงการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในหลายเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของประเทศย่านภูมิภาคนี้] นั่นหมายถึงส่วนกลางไม่ใช่เจ้าของวัฒนธรรมปี่พาทย์ผูกขาดเพียงแห่งเดียว อย่างหนังสือเล่มหนึ่งบอก “อีสานใต้ได้การเล่นมโหรีไปจากส่วนกลางตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕” เป็นการลากทุกเรื่องหาส่วนกลางอย่างขาดความเข้าใจ

นายสนั่นเล่า “คนนอกบอกที่นี่เป็นปี่พาทย์เขมร คนเล่นว่าไม่ใช่ แต่เขตนี้บางบ้านมีญาติอยู่เขมราฐ กัมพูชา เพราะไม่ได้อพยพกลับหลังแบ่งดินแดน เรียก ‘ปี่พาทย์ไทยนางรอง’ แล้วกัน หมดปู่ม่วงปู่ล่ำ พ่ออ๊อฟก็สานต่อ คนตามให้พ่อไปสอนโน้น บ้านกุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา อยู่นานจนผมได้แม่เพิ่มอีกคน ทางเพลงที่นี่ยังไปถึงเขตปะคำ บ้านโคกมะค่าโหลน บ้านนิคมเขต อีกบ้านคือบ้านจะบวก แต่จะบวกกระเดียดไปทางเมืองแล้ว”

ครูต้อม หรือนายศุภนิมิตร ฤาไชยสา ครูดนตรี ร.ร.ละหานทรายรัชดาภิเษก จ.บุรีรัมย์ นักเล่นเพลงรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมทุกกิจกรรมของปี่พาทย์บ้านหนองไทร อีกปากเสียงที่ช่วยสร้างความเข้าใจและอธิบายความรู้นักเล่นเพลงที่นี่แก่คนทั่วไป โดยเฉพาะจากประสบการณ์คลุกคลีกับนักเล่นเพลงเก่าใหม่อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง กระทั่งยืนยันได้ว่า ปี่พาทย์บ้านหนองไทร เป็นแห่งสุดท้ายในเขต อ.นางรอง ที่ยังคงวิธีบรรเลงในแบบพื้นบ้านดั้งเดิม

นายศุภนิมิตรเล่า “ปี่พาทย์พื้นบ้านนางรอง หลักๆ เหลือที่นี่กับบ้านจะบวก แถบนี้หลายวงใช้ชื่อจะบวก แต่ไม่มีผู้สืบทอด ทางนั่นเรียนกับครูกรุง ผมกล้าพูดได้เต็มปาก ว่าจะบวกกลายแล้ว เพราะไปเป่าปี่ให้บ่อย ถ้าเทียบภาคกลาง ของเก่าบ้านเรามีขาดเกิน จะบวกฟังภาคกลางแล้วปรับหา ทั้งตัวเพลง วิธีการเล่น เคยถามคนระนาดบ้านจะบวกปัจจุบัน แกว่าเมื่อก่อนตีทางบ้านนี่แหละ เพิ่งปรับเป็นทางเมืองเมื่อไม่นานนี้

“อีกเรื่องได้ยินคนเล่า แต่ไม่เคยฟังจากปากเจ้าตัว ครูแมว มงคลชาติ มือระนาดเก่าบ้านจะบวก เคยประชันเพลงกับลุงสนั่น ทางโน้นชนะฝีมือ แต่แพ้ความรู้เพลงทางนี้ ครูแมวเป็นพี่ลุงไม่กี่ปี ตีระนาดถือว่าใช้ได้ ลักษณะการตีแบบภาคกลาง ไปงานถ้าตั้งสองวง เราขึ้นเพลงก่อนเขาลำบากใจ เพราะเพลงเรามากกว่า แต่ไม่ได้บาดหมาง เจอก็ชวนกันเล่น ขาดคนก็ดึงกันไป”

เหตุที่ปี่พาทย์ย่านนี้ “กลายทาง” “กลายสำเนียง” ปัญหาคงไม่ใช่ความสั้นยาวขาดเกินของตัวเพลง หากอยู่ที่ความภูมิใจในรากเหง้าดั้งเดิมและการให้คุณค่ากับวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ทั้งจากคนในและคนนอก โดยเฉพาะเริ่มต้นจากคนในระบบการศึกษา สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นควรอุ้มชูและให้ความสำคัญกับคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ ก่อนที่คุณค่า “ความต่าง” หรือ “ความเป็นอื่น” จะถูกกลืนโดยวัฒนธรรมกระแสหลัก

นายศุภนิมิตรเล่า “เด็กฝึกจากเราไป คำแรกที่โดนคือ ‘ปี่พาทย์บ้านนอก’ ‘ปี่พาทย์งานวัด’ ขอไม่เอ่ยชื่อมหาวิทยาลัย โทรศัพท์มาร้องไห้ผมก็ปลอบ จะเรียนทางไหนขออย่าลืมทางบ้าน ถ้าเล่นทางเมืองกันหมด ทางบ้านก็สูญ ระนาดแถวนี้มีเก็บมีโปรย ยึดบางลูกตามลูกฆ้อง ไม้ระนาดแข็งพอกระเทิน [ไม่แข็งมาก] ชาวบ้านชอบ ไม่แสบหู จากที่ถามส่วนใหญ่ ไม่ชอบแบบภาคกลาง เพราะเร็วจัด ฟังไม่รู้เรื่อง”

เชื่อว่านี่เป็นตัวอย่างสำเนียงปี่พาทย์ดั้งเดิมที่ยังหาฟังได้ในปัจจุบัน ก่อนถูกปรับตามรสนิยมการบรรเลงและการฟังอย่างสำเนียงปี่พาทย์ในวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา [หรือแบบราชสำนัก] เช่นไม่นิยมวิธีการตีระนาดเอกแบบที่เรียก “โขยก” หรือ “เสียงกระชอก” [หมายถึงไม่เรียบ] หากทางตรงกันข้าม วิธีตีลักษณะดังกล่าวอาจถูกจริตและได้รับความนิยมจากชาวบ้านมากกว่า ทั้งเป็นวงดนตรีรับใช้วิถีชีวิตผู้คนและประโคมพิธีกรรม ก่อนถูกพัฒนาเป็นดนตรีเพื่อการฟังอีกชั้นหนึ่ง

นายศุภนิมิตรเล่า “ตอนนี้มีเครื่อง ๒ ชุด ผมชุดลุงสนั่นชุด หางานกับใครก็ได้ เพราะใช้คนชุดเดียวกัน แถบนี้กินเรียบทั้งนางรอง ปะคำ โนนดินแดง ไปถึงตาพระยา สระแก้ว โคราชเขตนอก กระโทก ครบุรี เสิงสาง วงปี่พาทย์อื่นมี อย่างโคราช แต่ที่เขานึกถึงคือค่าใช้จ่าย เพราะเราประหยัดกว่า ไม่ได้ตัดราคา เป็นอย่างนี้นานแล้ว จากคืนสองพันห้า ขยับเรื่อยเป็นห้าพัน บางทีขนเครื่องกลับยังไม่ทันขึ้นบ้าน เขารับไปงานต่อก็มี

“ที่นี่ปี่พาทย์ใช้เฉพาะงานพิธีกรรม เช่นงานศพ งานบวช ฉลองอัฐิ งานบุญ ส่วนงานแต่งใช้มโหรี[๕] เท่านั้น มโหรีใช้เพลงเหมือนปี่พาทย์ แต่ตัดเพลงสั้นลง ดำเนินทำนองตามลักษณะซอ สีจาวๆ เกาะลูกฆ้อง ไม่ว่างานมงคลหรืออวมงคล ไปถึงเวลาไหนต้องโหมโรงเย็นก่อน บูชาครู แล้วใช้เพลงชุดเดียวกัน งานบ้านคืองานศพ เพราะคนเอาศพไว้บ้าน งานศพเพิ่มแต่เพลงนางหงส์

“อย่างงานศพ โหมโรงเย็นแล้วต้องตั้งนางหงส์ เสร็จจึงพัก บรรเลงอีกต้องตั้งนางหงส์ใหม่ แล้วเล่นเพลงสองสามชุด พักเสร็จแล้วทำอย่างเดิม เพลงชุดอะไรก็ว่าไป เมื่อก่อนเล่นทั้งวันทั้งคืน เวลานอนคืองีบเดียว ผมยังทัน สนุกเพราะคนเฝ้าศพเยอะ เผาศพที่ป่าช้าก็นางหงส์นี่แหละ ใส่ไฟเสร็จถึงกลับ ตีลาโรงรู้กันว่าปี่พาทย์จะกลับ เตรียมรับเงิน”

ทุกวันนี้ นักเล่นเพลงวงปี่พาทย์บ้านหนองไทร[๖] นอกจากสองพี่น้องตระกูลปราบภัย คือนายสนั่น และนายอาง [น้องชาย] ที่เป็นหลักความรู้ รวมทั้งนักเล่นเพลงอายุอ่อนแก่หลายวัย ยังมีอีกกองหนุนที่เป็นนักเล่นเพลงฝึกหัดในโครงการเรียนรู้ปี่พาทย์ที่นายอางดูแล อาศัยบริเวณวัดหนองไทรเป็นที่ดำเนินการ เป็นอีกความตั้งใจของคนในชุมชนที่ต้องการเห็นดนตรีปี่พาทย์มีที่อยู่ที่ยืน โดยเฉพาะเป็นกิจกรรมชุมชนที่ไม่เคยพึ่งพาหน่วยงานใด

นายสนั่นเล่า “สอนทุกเสาร์อาทิตย์ ที่นี่สอนแบบโบราณ ตั้งต้นตั้งแต่สาธุการ เรียนจนครบเพลงโหมโรงเย็น จบโหมโรงเย็นคือจบหนึ่งรุ่น รุ่นใหม่เข้ามาแทน ใครสนใจก็ตามเรียนเอง มาบ้านผมบ้าง ไปหาน้องชายบ้าง บางคนก็เลิกไป เด็กหัดหนึ่งรุ่นประมาณสามสิบ เหลือที่สนใจต่อสักสิบก็คุมแล้ว ถามว่าปี่พาทย์บ้านหนองไทรมีคนสืบสานไหม หลานในบ้านผมมันเอา อ.ต้อม ช่วยอีกแรง คิดว่าไม่หมด”

หากกล่าวอย่างนายสนั่น ที่ว่าปี่พาทย์ที่นี่เป็น “ปี่พาทย์ไทยนางรอง” นอกจากภาษาพูด อาหารการกิน และวิถีความเป็นอยู่ ปี่พาทย์บ้านหนองไทรถือเป็นตัวแทนความหลากหลายและแสดงอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราช [ไทยนางรอง] เขต อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้เป็นอย่างดี

เป็นคุณค่าวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ที่ไม่ควรปล่อยให้ถูกกลืนหายไปในอนาคต

เชิงอรรถ
[๑]เพลงพิธีกรรม เช่น โหมโรงเย็น [สาธุการ ตระนอน รัว ๓ ลา ต้นเข้าม่าน ปราสาททอง ปฐม ลา เสมอ รัวน้อย เชิดชั้นเดียว กลม ชำนาญ กราวใน มอญกราวใน ชุบ ลา] โหมโรงเช้า [กราวใน เชิดชั้นเดียว ปลายเข้าม่าน ลา] ชุดลาโรง [กราวใน ปลายเข้าม่าน ลา] กราวนอก แขกผีมอญ [สำหรับเลี้ยงผีโรงหรือผีบรรพบุรุษ] เป็นต้น

[๒]เพลงชุด เช่น มอญแปลงออกเพลง สีนวลออกเพลง บุหลันออกชกมวย เขมรโพธิสัตย์ออกแขกพระปทุม ทองย่อนออกแขก สามเส้าออกแขก มอญลูกบวบออกแขก สร้อยสนธ์ออกแขก สะบัดสะบิ้งออกแขก เขมรปี่แก้วออกแขก บังใบออกแขก จีนแสออกแขก เป็นต้น

[๓]เพลง ๓ ชั้น และเบ็ดเตล็ด เช่น ไอยเรศ แขกมอญ ๓ ชั้น ใบ้คลั่ง เขมร ๔ ท่อน แป๊ะ จีนเลียบเมือง ลมพัดชายเขา นกขมิ้น นางนาค ๕ ท่อน เทพนิมิต แขกมอญบางช้าง แสนเสนาะ นางครวญ เขมรปากท่อ นาคเกี้ยว จระเข้หางยาว เทพบรรทมภิรมย์สุรางค์ แอ่วหนู [เอี่ยวหนู] เป็นต้น

[๔]เพลงนางหงส์ เช่น นางหงส์ ๒ ชั้น นางหงส์ ๓ ชั้น ออกอกทะเล เพลงชุดสิบสองภาษา เป็นต้น

[๕]มโหรีบ้านหนองไทร ประกอบด้วยปี่ ซอกลาง ซอยอด ซออู้ โทน-โทนขัด [โทน-โทนขัด เครื่องดนตรีพื้นบ้าน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โทน-โทนขัด หรือ “ป๊อง” [เรียกตามเสียงที่ได้ยิน] ทำหน้าที่เป็นเครื่องจังหวะในวงมโหรี คล้ายโทน-รำมะนา ภาคกลาง พบที่ อ.นางรอง และ อ.พิมาย จ.บุรีรัมย์ [ปัจจุบันที่ อ.พิมาย ไม่ใช้เเล้ว] ใช้เล่นในมโหรีงานเเต่ง มโหรีเลี้ยงผีใช้ตะโพนบรรเลงเเทน]

[๖]จักรกฤษ์ ดวงนิล [๒๒ ปี] ระนาดเอก, โรจน์ศักดิ์ ปราบภัย [๑๙ ปี] ระนาดทุ้ม, สนั่น ปราบภัย [๖๑ ปี] ฆ้องวงใหญ่, อาง ปราบภัย [๕๗ ปี] ฆ้องวงเล็ก, ทรงวุฒิ คงสืบ [๒๕ ปี] ปี่ใน, เริ่ม ปราบพยัคฆา [๘๐ ปี] ปี่นอก, สิทธิกร จันทน์เทศ [๒๒ ปี] ตะโพน, บังอร ปราบภัย [๔๗ ปี] ศุภนิมิตรร ฤาไชยสา [๓๐ ปี] เครื่องประกอบจังหวะ

รายการอ้างอิง
พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ. (๒๕๕๐). จดหมายเหตุดนตรี ๕ รัชกาล. กรุงเทพ: โรงพิมพ์เดือนตุลา.

สัมภาษณ์
ศุภนิมิตร ฤาไชยสา. สัมภาษณ์. ๒๓ พฤศจิกายน ๕๖, ๒๓ ตุลาคม ๕๗.
สนั่น ปราบภัย. สัมภาษณ์. ๒๓ พฤศจิกายน ๕๖, ๒๓ ตุลาคม ๕๗.

ปี่พาทย์บ้านหนองไทร ประโคมงานศพย่าน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: บันทึกภาพ, วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖]

ปี่พาทย์บ้านหนองไทร ประโคมงานศพย่าน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: บันทึกภาพ, วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖]

นายสนั่น ปราบภัย ครูใหญ่ปี่พาทย์บ้านหนองไทร อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ กับมรดกเครื่องดนตรีชุดเเรกของบ้านหนองไทร [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: บันทึกภาพ, วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖]

นายสนั่น ปราบภัย ครูใหญ่ปี่พาทย์บ้านหนองไทร อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ กับมรดกเครื่องดนตรีชุดเเรกของบ้านหนองไทร [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: บันทึกภาพ, วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖]

นายสนั่น ปราบภัย [ขวา] นายศุภนิมิต ฤาไชยสา [ซ้าย] สาธิตวิธีตีโทน-โทนขัด [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: บันทึกภาพ, วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๗]

นายสนั่น ปราบภัย [ขวา] นายศุภนิมิต ฤาไชยสา [ซ้าย] สาธิตวิธีตีโทน-โทนขัด [พิชชาณัฐ ตู้จินดา: บันทึกภาพ, วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๗]

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *